เนื้อหาวันที่ : 2011-12-06 10:47:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16852 views

รอบรู้เรื่อง เลนส์สายตา

ปัจจุบันความต้องการเลนส์สายตามีมากขึ้น เพื่อรักษาความผิดปกติทางสายตาของมนุษย์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเลนส์สายตาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ณัฏฐวี เปรมเล็ก, พัชรา ทัศนาธนชัย, นพคุณ แสนโพธิ์, จิระวุฒิ จันเกษม, และ ผศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล*
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ปัจจุบันความต้องการเลนส์สายตามีมากขึ้น เพื่อรักษาความผิดปกติทางสายตาของมนุษย์ เช่น สายตาสั้น ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการที่กระบอกตาหรือเบ้าตามีขนาดยาวเกินไป จึงจำเป็นต้องใช้เลนส์เว้ามาปรับแก้ให้การมองเห็นเป็นปกติ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเลนส์สายตาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับความต้องการของมนุษย์ จากเดิมที่มีการนำวัสดุจำพวกแก้วมาผลิตเป็นเลนส์

แต่เนื่องจากน้ำหนักและความเปราะแตกง่าย จึงทำให้เกิดการพัฒนาและเลือกใช้วัสดุโปร่งใสชนิดอื่นแทน เช่น พลาสติก เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์เลนส์หลายด้าน เช่น น้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก ไม่แตกง่าย ทำให้เลนส์พลาสติกได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต

เลนส์สายตา (Ophthalmic Lens)

รูปที่ 1 การส่องผ่านแสงของเลนส์สายตา

          ความผิดปกติของสายตามนุษย์เกิดขึ้นเมื่อแสงผ่านเลนส์ของตาและตกกระทบบนเรตินาในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ภาพที่ได้จากการมองนั้นผิดเพี้ยนไป ความผิดปกติทางสายตา (Optical Defect) ที่เกิดขึ้นมีหลายลักษณะ ได้แก่

          1. สายตายาว (Hypermetropia or Long-sightedness) จะเกิดขึ้นเมื่อกระบอกตาหรือเบ้าตามีขนาดสั้นเกินไป ทำให้จุดรวมแสง (Focus) เกิดขึ้นบริเวณด้านหลังของเรตินา จึงจำเป็นต้องใช้เลนส์ตาบวก (Addition) เพื่อช่วยปรับแก้ตำแหน่งของจุดรวมแสงให้เกิดขึ้นบนเรตินา

          2.   สายตาสั้น (Myopia or Short-sightedness) จะเกิดขึ้นเมื่อกระบอกตาหรือเบ้าตามีขนาดยาวเกินไป ทำให้เกิดการตกกระทบของแสงก่อนถึงเรตินา จึงจำเป็นต้องใช้เลนส์ตาลบ (Minus) มาใช้เพื่อปรับแก้ตำแหน่งของจุดรวมแสงให้เกิดขึ้นบนเรตินา

          3.  สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นความผิดปกติของตาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของเลนส์ตา หรือกระจกตา ที่มีลักษณะของผิวไม่เป็นทรงกลมที่สมบูรณ์ ส่งผลให้แสงที่ตกกระทบบนเรตินามีความเข้มไม่เท่ากันในทุกทิศทาง อาการนี้ สามารถแก้ไขได้โดยใช้เลนส์โค้ง (เลนส์ Cylindrical หรือ Toric)

ประเภทของเลนส์สายตา แยกตามประเภทวัตถุดิบ
          1. เลนส์ที่ทำจากแก้ว (กระจก) แก้วที่ใช้อาจจะมีค่าดัชนีหักเหแสงต่างกัน เช่น 1.523, 1.60 หรือ 1.70 ข้อดีในการนำแก้วมาเป็นวัตถุดิบคือ ทนรอยขีดข่วน มีความโปร่งใสสูง ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ส่วนข้อเสียได้แก่ เลนส์แตกได้ง่ายและมีน้ำหนักมาก ทั้งนี้อาจมีเลนส์แก้วบางประเภทที่เคลือบสารเคมีที่ผิว เพื่อให้เลนส์เกิดการเปลี่ยนสีเมื่อสัมผัสแสงสว่าง (Photochromic lenses)

          2. เลนส์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งแบ่งตามวิธีการผลิตหรือวิธีการขึ้นรูปได้เป็น 2 ประเภท
          2.1  เลนส์พลาสติกที่ขึ้นรูปโดยวิธีการหล่อแบบ (Casting Lens) โดยทั่วไปได้แก่เลนส์ที่ผลิตจาก วัตถุดิบประเภท Allyl Diglycol Carbonate Monomer หรือ Diethylene Glycol Bis (Allyl Carbonate), Methacrylate และ Thiourethane

          2.2  เลนส์พลาสติกที่ขึ้นรูปโดยวิธีการฉีดแบบ (Injection Molding) โดยทั่วไปได้แก่ พลาสติก หรือ โพลีเมอร์ประเภทโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ข้อดีของวัตถุดิบประเภทนี้คือ ทนแรงกระแทกได้ดี แต่ข้อเสียคือ คุณสมบัติในการโปร่งใสและความเรียบเนียนของผิวเลนส์ เลนส์ประเภทนี้ใช้มากในงานผลิตแว่นตารักษาความปลอดภัยในอุตสาหกรรม ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

ประเภทของเลนส์สายตา แบ่งตามระยะการมอง 
          1. เลนส์สายตาเดียว (Single Vision Lens) หมายถึง เลนส์สายตาที่มีจุดโฟกัสของเลนส์เพียงค่าเดียว

          2. เลนส์สายตาหลายระยะ (Multifocal Lens) หมายถึง เลนส์สายตาที่มีจุดโฟกัสตั้งแต่ 2 ค่า จนถึงหลายค่า (Progressive Lens)

          ซึ่งเลนส์สายตาในแต่ละประเภทจะประกอบไปด้วยเลนส์ Sphere และเลนส์ Cylinder (Toric Lens) เพื่อใช้ในการแก้ไขสายตาตามสภาพเชิงกายภาพของสายตามนุษย์

          • เลนส์ Sphere (Sph) หมายถึงเลนส์ที่ใช้ในการแก้ไขสายตาในกรณีที่ตาไม่มีลักษณะอาการผิดปกติ ด้านสายตาเอียง (Astigmatic) ซึ่งความหมายของเลนส์ Sph จะหมายถึงค่าโค้งของผิวเลนส์ทั้งสองด้านเป็นส่วนหนึ่งของทรงกลม

          • เลนส์ Cylinder (Toric หรือ Sphero-cylinder Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ไขปัญหาสายตาเอียง เลนส์ชนิดนี้จะมีลักษณะด้านหนึ่งเป็นผิวของทรงกลม ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นผิวของทรงกระบอก

อุตสาหกรรมเลนส์สายตา
          คำว่า Lens มาจากภาษาละติน โดยใช้คำว่า “Lentil“ เนื่องมาจากรูปร่างของเลนส์ที่มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่ว เมื่อหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลได้ขุดพบหลักฐานชิ้นหนึ่งเป็นผิวของแก้ว หรือ ผลึกหินคริสตัล ซึ่งมีลักษณะโค้งนูน ในยุคเริ่มแรกนั้นเลนส์ได้ถูกใช้เพื่อเป็นแว่นขยายเท่านั้น จนถึงต้นศตวรรษที่ 13 เลนส์ได้เริ่มถูกนำมาใช้ในปรับภาพเพื่อการมอง โดยเลนส์ในสมัยนั้นทำมาจากคริสตัลควอตซ์ซึ่งจะเรียกเลนส์นั้นว่า “Pebble Lenses” นับว่าเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการผลิตเลนส์เพื่อจำหน่าย

ต่อมาได้มีการทำเลนส์โดย ใช้แก้วสีน้ำตาลนำมาฝนจนมีลักษณะคล้ายแผ่นแก้วบาง ๆ และเมื่อแผ่นแก้วได้รับความร้อนก็จะถูกหลอมจนนิ่มแล้วนำไปเทใส่เบ้าเพื่อ ให้มีรูปร่างเป็นเลนส์ตามต้องการ
การผลิตแว่นตาเพื่อรักษาสายตา เชื่อกันว่าเริ่มผลิตในช่วงปี ค.ศ. 1214-1294 โดย  Mr. Roger Bacon ซึ่งทำการผลิตครั้งแรกในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

การทำเลนส์สำหรับผลิตเป็นแว่นสายตานั้น จะทำด้วยมือ โดยช่างฝีมือผู้ซึ่งมีประสบการณ์จากการเจียระไนคริสตัลสำหรับผลิตเป็นเครื่องประดับ ต่อมาได้เริ่มทำการผลิตแม่พิมพ์แบบกดขึ้นในช่วงกลางปี ค.ศ. 1500 นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของการปรับปรุงการผลิตเลนส์สายตา เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้งานที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน กลุ่มผู้ใช้งานที่มีปริมาณความต้องการมากที่สุดได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งนับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมด้านนี้มีการพัฒนาและขยายตัวอยู่ตลอดเวลา 

          ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ. 1930 ผู้ผลิตเริ่มมีความสนใจในการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการผลิตเลนส์สายตาจากแก้วมาเป็นพลาสติกชนิดต่าง ๆ โดยอาศัยจุดเด่นของวัสดุประเภทพลาสติก คือ น้ำหนักที่เบากว่าและมีความโปร่งใสมากกว่า นอกจากนั้นในการออกแบบวัสดุที่ใช้ผลิตนั้น ยังมีหัวใจสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือคุณสมบัติทางกายภาพ 3 ประการ คือ 1.ความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) 2.ดัชนีการสะท้อนแสง (Reference Index of Reflection) 3.เลข Abbe (Abbe Number)

ดังนั้นในการออกแบบเลนส์จึงต้องทำให้เลนส์ที่ได้มีน้ำหนักเบา บาง และมีค่า Abbe สูง การพัฒนาวัสดุประเภทพลาสติกที่ใช้ทำเลนส์เริ่มจาก สารประเภทเมทาคริเลต ซึ่งมักจะเกิดปัญหาเนื่องมาจากมีความทนทานต่อการขูดขีดต่ำ ภายหลังมีการหาวัสดุมาแทนที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จมากระดับหนึ่งของอุตสาหกรรมเลนส์สายตา คือ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สารตั้งต้นเพื่อผลิตเลนส์ได้เปลี่ยนเป็นพลาสติกในกลุ่มเทอร์โมเซต ชื่อทางเคมีคือ Diallyl Diglycol Carbonate ใช้ชื่อทางการค้าว่า ADC หรือ CR39® (จากบริษัทเครือ PPG) ซึ่งมีคุณสมบัติทนการขูดขีดได้ดี และมีน้ำหนักเบากว่าวัสดุชนิดอื่นที่ใช้ในการผลิตในเวลานั้น หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงวัสดุที่ใช้ทำเลนส์เรื่อยมาจนเป็นวัสดุประเภทโพลีคาร์บอเนต ซึ่งนับว่าเป็นเทอร์โมพลาสติกที่มีความโดดเด่นมาก เนื่องจากเลนส์ที่ผลิตได้จะบางกว่าเลนส์ทั่วไปมาก

          ในอนาคตอุตสาหกรรมจะมีการพัฒนาทั้งทางด้านการค้นคว้าหาวัตถุดิบใหม่ ๆ และกระบวนการขึ้นรูปเพื่อให้ได้เลนส์สายตาที่มีสมบัติดีทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติเชิงกล และคุณสมบัติทางแสง รวมไปถึงมีราคาที่เหมาะสม

วัตถุดิบ
          วัสดุที่ใช้ในการผลิตเลนส์สายตาจำเป็นต้องมีคุณสมบัติทางแสงดี มีความโปร่งใสและไม่มีสี ซึ่งพลาสติกหรือโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติโปร่งใสนั้นกำลังเป็นที่นิยมใช้ในการผลิตเลนส์สายตาเพื่อทดแทนแก้วหรือกระจก เนื่องจาก

          • พลาสติกมีน้ำหนักเบากว่าแก้ว 
          • ทนแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม 
          • ผลิตและขึ้นรูปได้ง่าย               
          • สามารถย้อมสีติดได้
          • เข้ากันกับสารเติมแต่งต่าง ๆ ได้ เช่น รงควัตถุ สารดูดซับแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าการละลายที่ใกล้เคียงกันของโมโนเมอร์และสารเติมแต่งนั้น ๆ
          • ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของพลาสติกหรือโพลีเมอร์โปร่งใสซึ่งสามารถนำมาเป็นวัสดุในการทำเลนส์สายตาได้แก่ “ค่าดัชนีการหักเหแสง” เมื่อทำการเปรียบเทียบที่ระยะโฟกัสเดียวกัน โพลีเมอร์ที่มีค่าดัชนีหักเหแสงสูงกว่าจะสามารถผลิตเป็นเลนส์ที่มีความหนาน้อยกว่าหรือบางกว่าโพลีเมอร์ที่มีค่าดัชนีหักเหแสงต่ำกว่าได้

          โพลีเมอร์ที่นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตเลนส์สายตาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
          • Diethylene Glycol Bis (Allyl Carbonate) เช่น CR-39R (โดยบริษัทเครือ PPG), NS-200R

          • Methacrylate เช่น SunSensorsTM (โดยบริษัทเครือ Corning)

          • Thiourethane เช่น TRIVEXTM (โดยบริษัทเครือ PPG)

          • Polycarbonate เช่น LEXANR (โดยบริษัทเครือ GE plastics)

1. Diethylene Glycol Bis (Allyl Carbonate) หรือ Allyl Diglycol Carbonate Monomer 
          สูตรโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีของโมโนเมอร์ชนิดนี้คือ

          การที่มีพันธะคู่ ทำให้สารชนิดนี้มีลักษณะเป็น Allylic Molecule และยังมีหมู่ฟังก์ชัน 2 หมู่ ทำให้สารตั้งต้นประเภทนี้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเลนส์พลาสติกชนิดเทอร์โมเซตได้ทั้งแบบที่เป็นโฮโมโพลีเมอร์และโคโพลีเมอร์ ซึ่งสารตั้งต้นชนิดนี้สามารถผลิตเป็นเลนส์พลาสติกเทอร์โมเซตแบบโมโนเมอร์หลายชนิด (โคโพลีเมอร์) ได้หลากหลาย

          จุดเด่น 
          • สารตั้งต้นที่นำมาใช้ร่วมในการผลิตกับวัตถุดิบประเภทนี้มีได้หลากหลาย เช่น ไวนิลอะซิเตต (Vinyl Acetate) และเมทิลเมทาคริเลต (Methyl Methacrylate) เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามต้องการ เช่น ความต้านทนแรงกระแทก ความทนต่อการเสียรูปด้วยความร้อน และความส่องผ่านของแสงที่ความยาวคลื่นเฉพาะ 

          • เลนส์พลาสติกเทอร์โมเซตแบบโมโนเมอร์เดียว (โฮโมโพลีเมอร์) ที่ได้จากสารตั้งต้นประเภทนี้จะมีค่าดัชนีการหักเหแสง 1.49-1.50  (คือ1.4980) ซึ่งจัดอยู่ในช่วงที่เป็นค่าดัชนีหักเหแสงต่ำ 

          • ใสและไม่มีสี 

          • เมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกโปร่งใสชนิดอื่นจะพบว่ามีความทนต่อการขัดถู, ทนรอยขูดขีด ทนความร้อนและทนทานต่อสารเคมี ได้ดีกว่า 

          • นอกจากนี้แล้วเมื่อผลิตเป็นเลนส์ยังได้วัสดุที่มีความแข็งแรงสูง มีความสามารถในการคงรูปและคงคุณสมบัติด้านการมองเห็นได้ดี

การขึ้นรูปเป็นเลนส์ 
          สำหรับสารตั้งต้นประเภทนี้จะใช้วิธีการหล่อแบบ (Casting Process) และในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสูตรสารเริ่มต้นที่หลากหลายเพื่อให้เกิดเป็นโพลีเมอร์ที่แสดงสมบัติหลัก ๆ ของสารตัวเดิม (เช่น CR-39®)

และในขณะเดียวกันก็แสดงสมบัติที่มีการปรับปรุงขึ้นตามต้องการ เช่น CR-39® LS ซึ่งให้สมบัติการหดตัวต่ำ, CR-39® LA ซึ่งให้สมบัติการยึดติดกับแม่แบบต่ำ ทำให้ง่ายต่อการขึ้นรูป, CR-307® ซึ่งสามารถทำเป็น Photochromic Lens (เลนส์ที่สามารถเปลี่ยนสีได้ เมื่อมีการสัมผัสกับแสง UV) ได้ภายหลังจากที่ขึ้นรูปเลนส์แล้วโดยการเคลือบสารที่มีส่วนผสมของ Photochromic Molecules ไว้ที่ผิวหน้าเลนส์ เป็นต้น

          ปฏิกิริยาการเกิดเป็นโพลีเมอร์ (Polymerization) ของโมโนเมอร์ชนิดนี้นั้นเป็นแบบควบแน่น (Condensation Polymerization) และปกติแล้วจะใช้ Diisopropyl Peroxydicarbonate หรือ Isopropyl Percarbonate (IPP) เป็นตัวริเริ่มปฏิกิริยา (Initiator) ซึ่งเป็นตัวริเริ่มปฎิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับปฏิกิริยาการเกิดเป็นโพลีเมอร์ของโมโนเนอร์ที่มีความไม่อิ่มตัว สูตรโครงสร้างทางเคมีของ IPP แสดงไว้ดังนี้

          คุณสมบัติของตัวเริ่มปฏิกิริยา IPP ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตเลนส์สายตา ได้แก่
          1. ปริมาณการใช้สามารถควบคุมคุณสมบัติของเลนส์สายตาทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิเช่นเลนส์ที่มีความแข็งที่ผิวต่างกัน หรือความต้านทานต่อการขัดถูที่ต่างกัน เป็นต้น
          2. สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนความเข้มข้นของปริมาณที่ใช้ในขั้นตอนการบ่ม โดยไม่ส่งผลต่อการขึ้นเหลืองหรือความแข็งที่ผิวหน้า
          3. ได้ผลิตภัณฑ์เลนส์ที่ให้คุณสมบัติการมองเห็นที่มีคุณภาพสูง
          4. อุณหภูมิที่ใช้ในการเกิดปฏิกิริยาต่ำ
          5. มีความปลอดภัยในการใช้และการเก็บรักษา

          ในการผลิตเลนส์นั้นอาจมีการใส่สารเติมแต่งจำพวก Protective Additive เช่น สารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV Protective) Uvinul ®M-40 ชื่อทางเคมี 2-hydroxy-4-methoxy-benzophenone ซึ่งมีสูตรโครงสร้างดังแสดงต่อไปนี้
 

2. Methacrylate
          สูตรโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีของโมโนเมอร์ชนิดนี้คือ


 
จุดเด่น 
          • มีความแข็งตึงดี
          • มีความทนแรงกระแทกและการขัดถูในระดับที่ยอมรับได้
          • ทนทานต่อสภาพอากาศ
          • ทนทานต่อสารเคมีทั่วไปได้ดี (ยกเว้นสารประกอบอินทรีย์บางตัว)
          • วัตถุดิบประเภทนี้สามารถผสม Photochromic Dyes ได้ตลอดเนื้อสารเพื่อให้ได้เป็น Photocromic Lens (ซึ่งแตกต่างจากเลนส์ที่ผลิตด้วยสารตั้งต้นประเภทอื่นที่สามารถเข้ากับ Photochromic Molecules ได้เฉพาะบริเวณพื้นผิว (เช่น CR-307®))

 

รูปที่ 2 แสดง Photochromic Molecules

          Photochromic Molecules จะถูกกระตุ้นด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งจะทำให้เลนส์แสดงสีที่เข้มขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้งและแสดงสีที่อ่อนลงอีกครั้งเมื่ออยู่ในที่ร่ม ทั้งนี้แสงและอุณหภูมิจะเป็นตัวกำหนดความเข้มของเลนส์ เลนส์ชนิดนี้สามารถป้องกันแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี คือ เมื่ออยู่ในสภาวะการแสดงสีเข้ม จะสามารถป้องกันรังสีอัตราไวโอเลตชนิดบีได้ทั้งหมดและป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอได้ถึงร้อยละ 98 นอกจากนี้ Photochromic Lens จะแสดงสีเข้มมาก เมื่ออยู่ที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 12 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น

รูปที่ 3 การเปลี่ยนระนาบของโมเลกุล (Spiro-Oxazine)

รูปที่ 4 การปรับสีของเลนส์ปรับแสง (Photochromic Lens)

รูปที่ 5 แว่นสายตาชนิดปรับแสงได้

          เนื่องจากสารประเภท Methacrylate ซึ่งสามารถผสมกับ Photochromic Dyes ได้ตลอดเนื้อสาร ส่งผลทำให้การส่องผ่านหรือการแสดงสภาวะสีเข้มลดลงเล็กน้อย เมื่อความหนาของเลนส์เพิ่มขึ้น

การขึ้นรูปเป็นเลนส์ 
          การขึ้นรูปเป็นเลนส์สายตาสำหรับโพลีเมอร์ประเภท Methacrylate เพื่อให้ได้คุณสมบัติทางแสงที่ดีและเหมาะสมนั้น มักจะใช้การหล่อแบบ (Casting Process) จากโมโนเมอร์ ซึ่งการขึ้นรูปเลนส์ปรับแสงจะเริ่มจากการเทเรซินลงในแม่แบบ จากนั้นจะทำการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อกระตุ้นตัวริเริ่มปฏิกิริยา ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาการเกิดโพลีเมอร์ขั้นที่หนึ่งจะเกิดขึ้นซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิและตัวริเริ่มปฏิกิริยาประเภทถูกกระตุ้นด้วยความร้อน

ต่อมาสถานะเจลจะเกิดมากขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการบ่มด้วยความร้อน (Thermal Curing) เรียกกระบวนการขั้นต้นของการเกิดเป็นโพลีเมอร์นี้ว่า Pregellation จากนั้นจึงผ่านกระบวนการบ่มอีกครั้งโดยปฏิกิริยาการเกิดโพลีเมอร์ขั้นที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นโดยตัวริเริ่มปฏิกิริยาประเภทถูกกระตุ้นด้วยแสง (Photo Curing) จากนั้นผ่านกระบวนการบ่มขั้นสุดท้ายด้วยความร้อน เพื่อให้ตัวริเริ่มที่ตกค้างอยู่หมดไป

3. Thiourethane
          สูตรโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีของโมโนเมอร์ชนิดนี้คือ

 

          R1, R2 คือ หมู่แทนที่ที่เป็นอนุพันธ์ของซัลเฟอร์ (S)

          การขึ้นรูปเลนส์จากวัตถุดิบประเภทนี้จะใช้วิธีการหล่อแบบ (Casting Process) เช่นเดียวกับ Diethylene Glycol Bis (Allyl Carbonate) และ Methacrylate

          จุดเด่น
          • มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี
          • ทนการขัดถูได้ดี
          • ทนต่อแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม 
          • บางและมีน้ำหนักเบามาก 
          • มีคุณสมบัติด้านแสงและการมองเห็นที่ดี

          สารเติมแต่งเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตสำหรับสารประเภทยูรีเทน เช่น Tinuvin 328 ซึ่งมีสูตรโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีเป็น

 

การขึ้นรูปเป็นเลนส์ 
          กระบวนการขึ้นรูปเป็นเลนส์นั้น เนื่องจากเป็นระบบที่เกิดปฏิกิริยาจึงต้องการความดันภายในแม่แบบที่ต่ำ ทำให้การขึ้นรูปต้องใช้วิธีการหล่อแบบ (Casting Process) แต่อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปใหม่ ๆ เช่น Reactive Injection Molding (RIM)

          ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเพื่อพัฒนาวัตถุดิบประเภทนี้ให้มีสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ซึ่ง “Trivex® นับเป็นวิวัฒนาการล่าสุดสำหรับวัตถุดิบประเภทยูรีเทนที่ใช้ในการผลิตเลนส์สายตา โดย Trivex® เป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเด่นอยู่ 3 ประการ ได้แก่ มีคุณสมบัติทางแสงและการมองเห็นที่ดี มีความทนแรงกระแทกดีเยี่ยม รวมทั้งบางและมีน้ำหนักที่เบามาก ทำให้ Trivex® เป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการผลิตเลนส์กันกระสุน

          อย่างไรก็ตามกระบวนการขึ้นรูปเลนส์สายตาจาก Trivex® นั้นใช้วิธีที่ต่างจากสารประเภท Thiourethane ตัวอื่น โดยกระบวนการ Reaction Injection Molding (RIM) ถูกนำมาใช้สำหรับการขึ้นรูปเลนส์จาก Trivex® โดยกระบวนการนี้จะใช้โพลีเมอร์เหลวที่ไวต่อปฏิกิริยาแทนการใช้โพลีเมอร์หลอมในการฉีดเข้าแม่แบบ

ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้สกรู เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการหลอมโพลีเมอร์ แต่จะมีถังสำหรับเก็บและจ่ายสารที่ว่องไวต่อปฏิกิริยาแทน โดยทั่วไปวัตถุดิบที่ใช้จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ซึ่งที่ปฏิกิริยาเมื่อถูกผสมเข้าด้วยกัน แต่ละองค์ประกอบจะถูกกำหนดปริมาณการใช้ต่อครั้ง และเข้าผสมกันที่ตำแหน่งผสมก่อนจะฉีดเข้าแม่แบบ

รูปที่ 6 ขั้นตอนการผลิตเลนส์ด้วยกระบวนการ Reaction Injection Molding (RIM)

4. Polycarbonate
          สูตรโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีของโพลีคาร์บอเนตคือ

         

          โพลีคาร์บอเนตถือเป็นโพลีเมอร์อสัณฐาน สายโซ่โมเลกุลของโพลีคาร์บอเนตจะไม่สามารถเกิดเป็นผลึกได้ แต่จะอยู่กันในลักษณะที่เป็นการขบกันของสายสปริง ทำให้มีความใสและสามารถดูดซับพลังงานได้สูง

จุดเด่น 
          • มีความโปร่งใส
          • มีความแข็งตึงและแข็งแรงสูง
          • มีน้ำหนักเบา ความถ่วงจำเพาะต่ำประมาณ 1.20 
          • มีค่าดัชนีหักเห 1.586 ซึ่งจัดอยู่ในช่วงที่เป็นค่าดัชนีหักเหแสงสูง
          • มีความเหนียว ทนแรงกระแทกดีมาก
          • ต้านทานการคืบได้ดีเยี่ยม (Creep Resistance)
          • การคงรูปได้ดี 
          • ดูดความชื้นได้น้อยมาก
          • ความได้เปรียบอีกข้อหนึ่งของเลนส์โพลีคาร์บอเนตคือ มีความสามารถในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตดีกว่า CR-39® เนื่องจากสามารถดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่า CR-39®  และเลนส์แก้ว

จุดด้อย 
          การมีผิวหน้าที่อ่อนนิ่มและความต้านทานต่อการขัดถูต่ำ ถือเป็นจุดด้อยของเลนส์โพลีคาร์บอเนต แต่ก็สามารถปรับแก้ข้อเสียเหล่านี้ได้ด้วยการเคลือบผิวหน้าเลนส์เพื่อเพิ่มความต้านทานและป้องกันการขัดถู

การขึ้นรูปเป็นเลนส์
          แม้ว่าจะเป็นโพลีคาร์บอเนตที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (25,000 – 50,000 กรัมต่อโมล) แต่เมื่อหลอมเหลวด้วยอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนักก็ยังจะมีความหนืดของโพลีเมอร์เหลวค่อนข้างสูง ทำให้การขึ้นรูปเป็นเลนส์สายตานั้นต้องใช้วิธีการฉีดเข้าแม่แบบ (Injection Molding) ซึ่งต้องใช้ความดันฉีดสูงและการออกแบบแม่แบบที่เหมาะสม โดยกระบวนการและคุณภาพของแม่แบบนั้นต้องสามารถทำให้ได้เลนส์ที่มีผิวหน้าดี รวมทั้งสามารถผลิตเป็นเลนส์สองระยะได้ด้วย

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบสมบัติของเลนส์พลาสติกชนิดต่าง ๆ

สมบัติทางแสงและการมองเห็นของเลนส์พลาสติก
           สมบัตินี้นับได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในการพิจารณาเลือกวัสดุที่จะนำมาผลิตเป็นเลนส์สายตา ซึ่งปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท

1. การหักเหแสง
           การหักเหแสง จะเกิดขึ้นตลอดพื้นผิวของเลนส์และทำให้แสงที่ส่องผ่านนั้นเกิดการเบี่ยงเบนแตกต่างกันที่ตำแหน่งหน้าเลนส์และหลังเลนส์ ปริมาณมากสุดของการเบี่ยงเบนแสงนั้นถูกกำหนดโดยกำลังการหักเหของวัสดุและลำแสงที่ตกกระทบบนแต่ละพื้นผิว

           1.1 ค่าดัชนีการหักเหของตัวกลางโปร่งใส
           คือ อัตราส่วนระหว่างความเร็วแสงในตัวกลางสุญญากาศต่อความเร็วแสงในตัวกลางนั้น ๆ (n = c/v) ค่านี้เป็นค่าที่ไม่มีหน่วยและจะมีค่ามากกว่า 1 เสมอ

           ความเร็วแสงในตัวกลางโปร่งใสนั้นแปรเปลี่ยนไปตามความยาวคลื่น ซึ่งค่าดัชนีหักเหแสงโดยทั่วไปจะแสดงโดยใช้ความยาวคลื่นอ้างอิงแตกต่างกันดังนี้ 

           • ประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น e = 546.07 นาโนเมตร (Mercury Green Spectral Line)

           • ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา d = 587.56 นาโนเมตร (Helium Yellow Spectral Line)

           อย่างไรก็ตามค่าทั้งสองนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากดัชนีหักเหที่คำนวณได้นั้นจะมีค่าต่างกันเพียงทศนิยมในตำแหน่งที่ 3

           1.2   ค่าการกระจายแสงสี (Chromatic Dispersion) หรือ ค่า Abbe 
           การเปลี่ยนไปของค่าดัชนีหักเหแสงอันเนื่องมาจากการแปรเปลี่ยนของความยาวคลื่นเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์การกระจายของแสงขาว ซึ่งค่ากำลังการกระจายของวัสดุจะนิยามต่างกันไปดังนี้

          

           ค่า Abbe เป็นตัวเลขแสดงความสามารถในการแยกแสงให้เป็นสีต่าง ๆ โดยเลนส์ที่มีค่า Abbe สูงจะทำให้ทำให้เห็นภาพได้คมชัดโดยทั้งสีและแสงจะไม่ถูกรบกวนเกิดเป็นวงแหวน เมื่อผ่านเลนส์สายตานั้น ๆ ค่า Abbe จะแปรผกผันกับค่าการกระจายแสงสีของวัสดุ ซึ่งถ้าวัสดุนั้นมีค่าดัชนีการหักเหแสงสูง ก็จะมีค่ากำลังการกระจายแสงสีที่สูงตามไปด้วยและทำให้มีค่า Abbe ต่ำ

2. การสะท้อนแสง
           ปรากฏการณ์การสะท้อนของแสงจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการหักเหแสง และจะเกิดขึ้นที่แต่ละผิวหน้าของเลนส์ ทำให้ความโปร่งใสของเลนส์ลดลง ซึ่งวัสดุที่มีค่าดัชนีการหักเหสูงจะมีการสะท้อนออกของแสงที่สูงตามไปด้วย ดังแสดงต่อไปนี้

          

           อย่างไรก็ตาม การสะท้อนแสงที่มากเกินไปนั้นสามารถลดน้อยลงได้โดยขั้นตอนการเคลือบผิวเลนส์ เช่น AR coating, Multicoat

3. การดูดซับแสง
           ปริมาณของแสงที่ส่องผ่านเลนส์สายตานั้นจะลดลงเนื่องมาจากการดูดซับแสงของวัสดุ แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้นั้นถือเป็นกลไกที่จำเป็นสำหรับเลนส์ย้อมสีหรือเลนส์ปรับแสง ซึ่งปริมาณการดูดซับแสงของเลนส์สายตาจะแปรเปลี่ยนไปตามความหนาของเลนส์นั้น ๆ

4. การกระจายและการเลี้ยวเบนของแสง
          การกระจายคือปรากฏการณ์ซึ่งเกิดจากการกระเจิงของแสงในทุกทิศทุกทาง และจะเกิดที่ผิวหน้ารวมถึงภายในวัสดุโปร่งใส (เลนส์) ซึ่งผิวหน้าของเลนส์ที่ดีนั้นต้องมีความเนียนเรียบซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการกระเจิงแสงที่ผิวหน้าเลนส์ ส่วนภายในเลนส์นั้น การกระเจิงแสงเกิดได้จำกัดแต่ในบางครั้งอาจทำให้ขุ่นหรือเห็นเป็นสีเหลือง อย่างไรก็ตาม การกระเจิงแสงสำหรับเลนส์สายตานั้นถือว่าเกิดขึ้นในปริมาณน้อย และโดยทั่วไปแล้วมักไม่ต้องพิจารณามากนัก

          ปรากฏการณ์ทางแสงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเลนส์สายตานั้นคือการเปลี่ยนทิศทางของคลื่นแสงอันเนื่องมาจากการชนกับอนุภาคหรือร่องรอยเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของแสง และด้วยปรากฏการณ์นี้ ทำให้การที่ผิวหน้าเลนส์ไม่เนียนเรียบหรือการมีรอยขีดข่วนที่ผิวหน้าเลนส์จะส่งผลให้สมบัติการมองเห็นหรือสมบัติทางแสงของเลนส์สายตาไม่ดีเท่าที่ควร

กระบวนการขึ้นรูปเลนส์สายตา
          การขึ้นรูปเลนส์สายตาโดยวิธีการหล่อแบบ (Casting Process) 
          การหล่อแบบ เป็นกระบวนการที่มีปฏิกิริยาการเกิดโพลีเมอร์จากเรซินเหลวไปเป็นผลิตภัณฑ์โดยตรง ดังนั้นเพื่อที่จะให้ความเค้นเกิดขึ้นกับเรซินและผลิตภัณฑ์น้อยที่สุด โดยทั่วไปจึงจะให้ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการหล่อแบบซึ่งจะเปลี่ยนจากเรซินที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำไปเป็นโพลีเมอร์มีน้ำหนักโมเลกุลสูง

รูปที่ 7 ขั้นตอนการผลิตเลนส์พลาสติกโดยวิธีการหล่อแบบ

          การที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นระหว่างการหล่อแบบนั้นบ่อยครั้งที่เกิดปัญหาการหดตัวของชิ้นงานเนื่องมาจากการบ่ม ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 20 ในกรณีของสารประเภทเมทาคริเลต นอกจากนี้ยังมีความร้อนเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะการเร่งปฏิกิริยาในตัวเอง โดยเฉพาะกับระบบสารที่มีความว่องไวหรือควบคุมได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวจึงทำการเตรียมโพลีเมอร์ขั้นต้นก่อนจะนำไปเทลงสู่แม่แบบ

          ในส่วนของแม่แบบ (Mold) ที่ใช้ในการหล่อแบบเพื่อขึ้นรูปเลนส์สายตา โดยทั่วไปจะทำจากกระจก (แก้ว) ที่มีความหนาประมาณ 2.00-7.00 มิลลิเมตร มี 2 ชนิดคือ
          1) โมลด้านนูน ใช้สำหรับประกอบเป็นเลนส์ด้านเว้า
          2) โมลด้านเว้า ใช้สำหรับประกอบเป็นเลนส์ด้านนูน

          ส่วนที่เป็น ปะเก็น (Gasket) ซึ่งเป็นส่วนที่มีหน้าที่ในการยึดโมลกระจกให้ติดกัน โดยใช้พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้ตอบสนองต่อการหดตัวของเลนส์อันเนื่องมาจากการบ่ม ซึ่งปะเก็นนี้จะผลิตโดยกระบวนการฉีดแบบ (Injection Molding)

          โดยทั่วไปกระบวนการหล่อแบบ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
          1. ชั่งน้ำหนักของสารตั้งต้นตามปริมาณที่ต้องการและเทลงในถังปฏิกิริยาที่แห้งและสะอาด

          2. เริ่มต้นการหมุนใบพัด จากนั้นเติมตัวเริ่มปฏิกิริยา (ถ้ามี) ตามปริมาณที่ได้คำนวณไว้ (สารดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต สารช่วยในการแกะแบบและสารเติมแต่งอื่น ๆ อาจเติมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการ)

          3. ทำการหมุนใบพัดต่อไปและเมื่อผสมจนเข้ากันได้ดีแล้วจึงทำการกรอง (ในขั้นนี้อาจทำการแยกแก๊สออก (โดยสุญญากาศ) หรือไม่ก็ขึ้นกับกระบวนการ แต่ทั้งนี้ไม่ควรผ่านกระบวนการแยกแก๊สนานเกินไปเพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นเจลก่อนกำหนด)

          4. เติมลงในแม่แบบที่สะอาด และนำเข้าสู่ขั้นตอนการบ่มเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาการเกิดเป็นโพลีเมอร์ ซึ่งขั้นตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ บ่มด้วยความร้อนและบ่มด้วยแสงอัตราไวโอเลต

          5. เมื่อชิ้นงานเกิดการแข็งตัวดีแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการแกะแบบ

          สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในกระบวนการปฏิกิริยาการเกิดโพลีเมอร์ ได้แก่
          • สมบัติทางแสงของโพลีเมอร์ที่ได้ต้องเป็นไปในทางเดียวกันและมีความเป็นหนึ่งเดียว นั่นหมายถึงต้องไม่มีความเค้น ไม่มีความเครียด ไม่มีรอยแตกร้าว และไม่มีการบิดเบี้ยวทางแสง
          • ความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาจะต้องคงที่
          • มีการหดตัวของผลิตภัณฑ์คงที่
          • อัตราการเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนเป็นโพลีเมอร์ต้องคงที่

          เนื่องจากความต้องการดังกล่าว ทำให้มีความจำเป็นต้องลดระยะเวลาของกระบวนการการเกิดโพลีเมอร์ ซึ่งทำให้มีความต้องการตัวเริ่มปฏิกิริยามากขึ้น ต้องการอุณหภูมิสิ้นสุดปฏิกิริยาสูงขึ้น (ประมาณ 95 องศาเซลเซียส) แต่ทั้งนี้ น้ำหนักและความหนาของเลนส์ที่ทำการหล่อแบบนั้นจะเป็นข้อจำกัดในการลดระยะเวลาของกระบวนการ

รูปที่ 8 อุณหภูมิภายในแม่แบบ

          ความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาจะแตกต่างกันไปตามประเภทของวัตถุดิบและชนิดของเลนส์ที่ทำการหล่อแบบ

          การฉีดแบบ (Injection Molding)
          หลักการของกระบวนการฉีดแบบ คือ การใช้แรงดัน (จากสกรู) เป็นตัวผลักของไหล (กรณีนี้คือโพลีเมอร์เหลว) เข้าสู่ช่องว่างภายในแม่แบบ (Mold) จากนั้นทำให้เกิดการแข็งตัวก่อนที่จะทำการถอดแบบ ดังนั้นส่วนประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ ส่วนการฉีด (Injection Unit) และส่วนการยึดแม่แบบ (Clamping Unit)

โดยทั้งสองส่วนนี้จะทำงานต้านกันในแง่ของการใช้แรง โดยส่วนการฉีดจะทำหน้าที่อัดโพลีเมอร์เหลวเข้าไปในแม่แบบด้วยแรงดันสูงเนื่องจากความหนืดของโพลีเมอร์เหลวมีค่าสูง ดังนั้นส่วนที่เป็นการยึดแม่แบบจะต้องทำการยึดแม่แบบที่ประกบกันอยู่ด้วยแรงที่มากพอที่จะไม่ทำให้พลาสติกหลอมดันแม่แบบเปิดหรือเกิดครีบ (Flashing) ขึ้นที่ผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนโดยทั่วไปของกระบวนการนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

          • ขั้นตอนการป้อนวัสดุเข้าสู่กระบวนการและการหลอมเหลวรวมถึงการผสมให้วัตถุดิบเข้ากันเป็นเนื้อเดียวเพื่อพร้อมสำหรับการฉีด

          • ขั้นตอนการฉีดโพลีเมอร์เหลวเข้าสู่แม่แบบ ในขั้นนี้หน้าที่ของสกรูคือการผลักหรือฉีดโพลีเมอร์เหลวเข้าสู่แม่แบบ

          • ขั้นตอนการทำให้โพลีเมอร์เหลวเกิดการแข็งตัว และขั้นการถอดแบบ

รูปที่ 9   กระบวนการฉีดแบบ

รูปที่ 10 กระบวนการขึ้นรูปเลนส์สายตาด้วยวิธีการฉีดแบบ

          การผลิตเลนส์สายตาให้มีคุณภาพดีนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบและกระบวนการที่ใช้ในการขึ้นรูปโดยต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป ทังนี้บทความนี้ครอบคลุมเพียงแค่ส่วนของเลนส์ดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการปรับปรุงผิวหน้าต่าง ๆ เช่น  การเคลือบผิวเลนส์เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการขูดขีด การย้อมสีเพื่อป้องกันดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตและลดความจ้าของแสงลงบางส่วนซึ่งเหมาะกับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือการเคลือบสารต่อต้านการสะท้อนแสงทั้งที่ผิวหน้าและด้านหลังเลนส์เพื่อช่วยให้การมองเห็นภาพและสีที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
          1. Tatsuhito Masuda, Yasuaki Funae, Ophtalmic lens Material Prepared by Unsaturated Nitrile-Polyfunctional Methacrylate-Styrenic Monomer Copolymerization, Journal of Applied Polymer Science, i vol. 68: 1227-1235, 1998

          2. Matsuda T, Funae Y, Yoshida M, Yamamoto T, High index optical materials prepared by copolymerization of novel bifunctional thiomethacrylates, Journal of Macromolecular Science – Pure and Applied Chemistry, vol. 37 (3): 239-257, 2000

          3. Yonemori, Shigeak i (Asahi Glass Co, Ltd);   Masui, Akio, Lens coloring and chemical structure of allyl diglycol carbonate CR-39 polymer, Journal of Applied Polymer Science: Applied Polymer Symposium, vol. 48:  523-532, 1991

          4. Matsuda T, Funae Y, Yoshida M, Yamamoto T, Takaya T, Optical material of high refractive index resin composed of sulfur-containing aromatic methacrylates, Journal of Applied Polymer Science, i vol. 76: 50-54, 2000

          5. Jean-Michel Charrier, Polymeric Materials and Processing, New York: Hanser; New York : Oxford Univ. Pr., 1990

          6. http://www.corning.com/ophthalmic/discovery_center

          7. http://www.saeurope.co.uk

          8. http://www.PPG.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด