ประเมินสถานการณ์ ถ้าบุคคลแรกที่สังเกตเห็นหรือประสบเหตุหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายนั้นอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยและพร้อมแจ้งเหตุ ก็ต้องรีบแจ้งเหตุโดยทันที
แผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตอนที่ 3)
(Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Control Plans)
ศิริพร วันฟั่น
ในบทความตอนที่แล้ว เราได้ว่ากันไปถึงเรื่องมาตรการควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill/Leak Control Measures) ในส่วนของการดำเนินการขั้นพื้นฐานเพื่อรับมือเหตุหกรั่วไหล (Basic Spill Response Procedures) คือ ถอยห่างในระยะปลอดภัยจากที่เกิดเหตุและแจ้งเตือนผู้อยู่ใกล้เคียง ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือปนเปื้อนจากสารอันตรายที่หกรั่วไหล ส่วนในบทความนี้ ก็จะขอพูดต่อไปถึงลำดับขั้นที่เหลืออยู่ทั้งหมด ซึ่งได้แก่
3. ประเมินสถานการณ์ (Assess the Situation) ถ้าบุคคลแรกที่สังเกตเห็นหรือประสบเหตุหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายนั้นอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยและพร้อมแจ้งเหตุ ก็ต้องรีบแจ้งเหตุโดยทันที เพราะว่าเหตุหกรั่วไหลฯ ในบางกรณีสามารถที่จะทวีความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นยิ่งแจ้งเหตุ (Notify) ได้เร็วเท่าไหร่ก็จะทำให้การเข้าระงับเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
โดยในกรณีที่ผู้ประสบเหตุไม่ได้เป็นสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ หรือไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมการรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ก็ต้องรีบแจ้งให้สมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ หรือหัวหน้างานในพื้นที่โดยทันที แต่ถ้าในขณะนั้นสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ของหน่วยงานที่เกิดเหตุไม่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องรีบแจ้งไปตามเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่ติดไว้ ณ หน่วยงานนั้น ๆ ทันทีเช่นกัน
ในการแจ้งเหตุหกรั่วไหลฯ นั้น ผู้แจ้งเหตุควรที่จะมีข้อมูลรายงานสถานการณ์เบื้องต้น ซึ่งควรเป็นข้อความที่สั้นและได้ใจความดังนี้ คือ ชื่อและหน่วยงานของผู้แจ้งเหตุ เบอร์โทรติดต่อกลับของผู้แจ้งเหตุ วัน-เวลา-ระยะเวลาที่เกิดเหตุ สาเหตุและลำดับเหตุการณ์
ประเภทของการหกรั่วไหล เช่น สารเคมีหก ก๊าซรั่ว สถานที่หรือตำแหน่งที่เกิดเหตุที่ชัดเจน จำนวนผู้บาดเจ็บหรือปนเปื้อน ชื่อและชนิดของสารอันตรายที่หกรั่วไหล (ถ้าทราบ) จำนวนหรือปริมาณที่หกรั่วไหลโดยประมาณ ขอบเขตการแพร่กระจาย ปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุที่อาจขยายความเสี่ยง เช่น แหล่งจุดติดไฟ สารที่เข้ากันไม่ได้ และลักษณะของเหตุการณ์ร่วม เช่น ไฟไหม้ การระเบิด
เมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว ผู้ที่ได้รับแจ้งไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ของหน่วยงานที่เกิดเหตุ หรือทีมงานรับเหตุฉุกเฉินส่วนกลาง (Emergency Response Teams Center) ก็จะเข้าทำการประเมินสถานการณ์โดยทันที และถ้าผู้ประสบเหตุเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมในการรับเหตุหกรั่วไหลมาก่อน หรือเป็นสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ อยู่แล้ว ก็สามารถที่จะเข้าประเมินสถานการณ์ได้ทันทีเช่นกัน
ในการประเมินสถานการณ์นั้นถ้ามีความถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุด ก็จะเป็นปัจจัยหลักหรือข้อมูลที่สำคัญยิ่งในการเข้าระงับเหตุหกรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้
ดังนั้นผู้ทำการประเมินควรมีพื้นฐานหรือมีความรู้ ความเข้าใจถึงคุณลักษณะ (Characteristics) ของสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชนิด (Type) หรือชื่อ (Name) ของสารอันตรายนั้น เช่น จากฉลากบนภาชนะบรรจุ (Label) ปริมาณ (Volume) คุณสมบัติ (Properties) หรืออันตราย (Hazards) ของสารที่หกรั่วไหล
ตัวอย่างเช่น ความไวไฟ (Flammability) เช่น จุดวาบไฟ (Flash Point) และความดันไอ (Vapor Pressure), ความเป็นพิษ (Toxicity) เช่น อันตรายต่อการสูดดม (Inhalation Hazard), การกัดกร่อน (Corrosiveness) เช่น กรด (Acid) เบส (Base) ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) เป็นต้น
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สามารถหาข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ของสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้น ทั้งนี้สมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ของหน่วยงานที่เกิดเหตุ จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประเมินสถานการณ์ เพราะว่าจะมีความคุ้นเคยกับสถานที่และรู้จักสารอันตรายที่ใช้ในหน่วยงานเป็นอย่างดี
ในบางสถานการณ์ที่ไม่ทราบชัดเจนว่าสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้นเป็นชนิดใด ก็มีความจำเป็นในการชี้บ่ง (Identify) เพื่อที่จะยืนยันให้แน่ชัด และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการประเมินสถานการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความเหมาะสมในการเข้าระงับเหตุ
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะทำการชี้บ่งต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องไม่นำตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับอันตรายจนได้รับบาดเจ็บ ปนเปื้อนหรือเสียชีวิต และพึงหลีกเลี่ยงการชี้บ่งโดยการสัมผัสหรือ สูดดมสารที่หกรั่วไหลนั้น รวมทั้งอาจมีความจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ให้เหมาะสมในการเข้าไปชี้บ่งในที่เกิดเหตุนั้นด้วย โดยในบางครั้งอาจต้องเลือกสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่สามารถป้องกันอันตรายได้สูงสุดถ้าไม่ทราบเลยว่าเป็นสารอันตรายชนิดใด
ในการประเมินสถานการณ์ของเหตุหกรั่วไหลนั้น จำเป็นที่จะต้องทราบว่าเป็นการหกรั่วไหลในระดับใดหรือประเภทใด เพื่อที่จะได้นำมาประกอบการพิจารณาวางแนวทางในการเข้าระงับเหตุหกรั่วไหลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หรือใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินความพร้อมและขีดความสามารถของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งประเภท (Types) ของการหกรั่วไหลฯ ได้ 2 แบบ คือ ขนาดเล็ก (Minor Spills) และขนาดใหญ่ (Major Spills) ซึ่งแต่ละแบบจะมีข้อสังเกตดังนี้ คือ
(A) การหกรั่วไหลของสารอันตรายแบบขนาดเล็ก (Minor Spills) เป็นการหกรั่วไหลชนิดที่ไม่มีความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ (Simple Spills) โดยพิจารณาแล้วจะมีคุณลักษณะทั้งหมดตามนี้ คือ
- เกิดขึ้นเฉพาะจุด (Localized Spills) ไม่กระจัดกระจายและไม่แพร่กระจาย (Spread) อย่างรวดเร็ว
- ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของผู้คนอย่างเฉียบพลัน (Immediately Dangerous to Life or Health: IDLH) หรือไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม/ทรัพย์สิน ยกเว้นเป็นการสัมผัสโดยตรง
- อาจมีความจำเป็นในการอพยพออกนอกพื้นที่งานที่เกิดเหตุ หรือหยุดปฏิบัติงานเฉพาะส่วนที่เกิดเหตุเป็นการชั่วคราว
- สารที่หกรั่วไหลมีปริมาณน้อย ไม่เกินปริมาณที่ถูกระบุว่าเป็นขีดอันตราย (The Threshold Quantity) และสามารถที่จะทำความสะอาด (Cleanup) ได้อย่างปลอดภัย ในบางกรณีอาจใช้จำนวนคนไม่มาก แค่เพียง 1-2 คน ซึ่งอาจเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน หรือเป็นสมาชิกทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ที่ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่เกิดเหตุนั้น หรือบางกรณีอาจใช้บุคลากรทั้งหมดของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ จากส่วนกลาง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทีมงานรับเหตุฉุกเฉินจากภายนอก
- ง่ายต่อการควบคุมหรือจัดการสารที่หกรั่วไหล ให้ห่างจากท่อระบายน้ำ แหล่งจุดติดไฟ และสารที่ไม่เข้ากัน (Incompatible Substances)
- ไม่ปรากฏโอกาสที่จะก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิด
- มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสม และพร้อมใช้งาน รวมถึงผู้ที่จะใช้งานได้มีการทดสอบความกระชับ (Fit Test) และผ่านการฝึกอบรมในการใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้ว
- มีชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ที่เหมาะสมและพร้อมใช้งาน รวมถึงผู้ที่จะใช้งานได้ผ่านการฝึกอบรมวิธีใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้ว
(B) การหกรั่วไหลของสารอันตรายแบบขนาดใหญ่ (Major Spills) เป็นการหกรั่วไหลชนิดที่มีความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ (Complex Spills) โดยมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ
- แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดขึ้นหลายจุดอย่างกระจัดกระจายหรือพร้อม ๆ กัน
- ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรืออาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน
- ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของผู้คนอย่างเฉียบพลัน (IDLH) หรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม/ทรัพย์สิน
- จำเป็นต้องอพยพออกนอกสถานที่ปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วน หรือหยุดการปฏิบัติงานทั้งหมด
- มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิด หรือเป็นอันตรายต่อการสูดดม
- มีการปนเปื้อน (Contamination) ในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้คน เช่น สารกัมมันตรังสี (Radioactive Materials)
- สารที่หกรั่วไหลมีปริมาณมากหรือเกินปริมาณที่ถูกระบุว่าเป็นขีดอันตราย (The Threshold Quantity) และไม่อาจที่จะทำความสะอาด (Cleanup) ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งจำเป็นต้องใช้ทีมงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอกเข้ามาดำเนินการ
- ยากต่อการควบคุมหรือจัดการสารที่หกรั่วไหล และมีโอกาสที่จะถูกปลดปล่อยไปในอากาศ หรือไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ หรือรั่วไหลปนเปื้อนกับพื้นดิน/แหล่งน้ำธรรมชาติ
- ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสม หรือไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้ที่จะใช้งานไม่ได้มีการทดสอบความกระชับหรือผ่านการฝึกอบรมในการใช้งานมาก่อน
- ไม่มีชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ที่เหมาะสม หรือไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้ที่จะใช้งานไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมวิธีใช้งานมาก่อน
ซึ่งในการพิจารณาว่าเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายที่เกิดขึ้นเป็นแบบขนาดเล็ก (Minor Spills) หรือว่าเป็นแบบขนาดใหญ่ (Major Spills) นี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดสำหรับการรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ เลยก็ว่าได้ เพราะผู้ประเมินจำเป็นที่จะต้องทราบถึง
(1) อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการหกรั่วไหลฯ
(2) ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการหกรั่วไหลฯ
โดยที่ปัจจัยทั้งสองส่วนนี้จะถูกพิจารณาจากขนาดของเหตุหกรั่วไหลฯ (Spill’s Size) ทั้งนี้ข้อมูลที่จะช่วยประกอบการพิจารณายังจะรวมถึง ชนิด (Type) ของสารที่หกรั่วไหล จำนวน (Amount) คุณลักษณะอันตราย (Hazardous Characteristics) ของสารที่หกรั่วไหล สถานที่เกิดเหตุ (Location) วิธีที่เหมาะสมในการทำความสะอาด (Cleanup) สารที่หกรั่วไหล ความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ความพร้อมใช้งานของชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) และการฝึกอบรม (Training) ของบุคลากร
ทั้งนี้จะมีขั้นตอนพื้นฐาน (Basic Steps) 3 ประการ ที่ควรนำไปประกอบการพิจารณาว่าเป็นเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายแบบขนาดเล็ก (Minor Spills) หรือเป็นแบบขนาดใหญ่ (Major Spills) ดังนี้คือ
3.1 ประเมินความเสี่ยง (Evaluate the Risks) เป็นขั้นตอนแรกของการประเมินสถานการณ์ เพื่อที่จะคาดการณ์ (Estimate) ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการหกรั่วไหลนั้น ซึ่งในการรับมือกับเหตุหกรั่วไหลของสารอันตราย จะมีความเสี่ยงหลัก ๆ ที่ต้องพิจารณา ก็คือ
3.1.1 ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ (Human Health Effects) โดยโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์นั้น จัดว่าเป็นประเภทของอันตราย (Hazard Category) ที่สำคัญที่สุดในการพิจารณา เมื่อต้องตัดสินใจว่า ควรที่จะเข้าดำเนินการทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหลดีหรือไม่
ซึ่งสารอันตรายบางชนิดที่หกรั่วไหลนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้ดำเนินการได้ เช่น สารที่มีความเสี่ยงให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิด ในขณะที่สารอันตรายอื่น ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะว่าสารอันตรายซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วนั้น อาจจะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์อย่างรวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการหกรั่วไหลของสารอันตรายจะไม่ใช่เป็นแบบขนาดเล็ก (Minor Spills) ตราบใดที่ยังปรากฏอันตรายเหล่านี้อยู่
และถ้าสารเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิดได้ ก็มีความจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของทีมงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอก (Outside Emergency Responders) ซึ่งการหกรั่วไหลของสารไวไฟ (Flammable Substances) ไม่ว่าจะเป็นแบบของเหลวหรือของแข็ง ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงของเพลิงไหม้หรือการระเบิดขึ้นได้
เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ คือ ไอระเหย (Volatile Vapors) สารทำปฏิกิริยากับน้ำหรืออากาศ (Water Reactive or Air Reactive Substances) มีแหล่งจุดติดไฟ (Ignition Sources) หรือตัวออกซิไดซ์ (Oxidizers) และสารลุกไหม้ได้ (Combustible Substances)
ไอพิษ (Toxic Vapors) และฝุ่น (Dust) ก็ถือว่ามีอันตรายด้วยเช่นกัน พึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับอันตรายเช่นที่ว่านี้ เพราะว่าทั้งไอพิษและฝุ่นสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้อย่างง่ายดาย และอาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อที่สัมผัสได้ ทั้งนี้สารอันตรายที่หกรั่วไหลจะไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ถ้ามีความเป็นพิษ (Toxicity) อยู่ในระดับต่ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่สารระเหยหรือฝุ่น หรือการกัดกร่อน (Corrosive) ไม่สูง และไม่ใช่ตัวออกซิไดซ์แก่ (Strong Oxidizers) ซึ่งการหกรั่วไหลของสารเช่นที่ว่านี้ อาจถูกพิจารณาว่าเป็นแบบขนาดเล็กเฉพาะกรณีที่ไม่ปรากฏความเสียหายทางกายภาพหรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อใดที่ไม่ทราบความเป็นพิษของสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้น ก็พึงสังวรว่าการหกรั่วไหลนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสและพึ่งพาความช่วยเหลือของทีมงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอก
3.1.2 ความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน (Physical Damage to Property) ความสามารถที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สิน เช่น อุปกรณ์ อาคาร โครงสร้าง หรือวัสดุที่ใช้ทำความสะอาดนั้น ก็ถือว่ามีความสำคัญด้วยเช่นกัน เมื่อต้องพิจารณาตัดสินใจว่าเป็นการหกรั่วไหลแบบขนาดเล็กหรือไม่ ทั้งนี้ถ้าสารที่หกรั่วไหลสามารถที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สิน ก็ย่อมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหลนั้นได้เช่นกัน
ดังนั้นพึงรักษาความปลอดภัยของมนุษย์มากกว่าปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน โดยเฉพาะถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิด ซึ่งสารที่มีฤทธ์กัดกร่อนสูงและเป็นตัวออกซิไดซ์แก่ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของสารประเภทนี้ ดังนั้นถ้าปรากฏว่ามีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ก็อาจพิจารณาว่าการหกรั่วไหลนั้นเป็นแบบขนาดใหญ่ หรือมีความสลับซับซ้อนและพึ่งพาความช่วยเหลือของทีมงานรับมือเหตุฉุกเฉินภายนอก
3.1.3 การคุกคามสิ่งแวดล้อม (Environmental Treats) ในบางสถานที่ มีโอกาสที่สารหกรั่วไหลนั้นจะเล็ดลอดไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม โดยอาจปนเปื้อนไปในอากาศ ท่อระบายน้ำสาธารณะ หรือปนเปื้อนไปกับพื้นดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคุกคามสิ่งแวดล้อมและมีความจำเป็นที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานรัฐฯ ที่กำกับดูแลอยู่ให้ได้รับทราบ ถ้าปล่อยไว้เนิ่นนานจะเป็นการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแบบที่ไม่อาจคาดคิดได้
และถ้าตัดสินใจว่าสามารถที่จะดำเนินการสกัดกั้นการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมเองได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องมั่นใจได้ในมาตรการชั่วคราว (Interim Measures) ที่ใช้ดำเนินการก่อนที่ทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลภายนอกจะมาถึง เช่น การสกัดกั้นการแพร่กระจายด้วยวัสดุดูดซับ (Absorbents) หรือการใช้วัสดุคลุมปากท่อระบายน้ำ
ทั้งนี้สารอันตรายบางชนิดแม้เพียงปริมาณน้อยก็อาจสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมได้ แต่ความเสี่ยงที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยมากแล้วมักพบว่าเกิดขึ้นจากสารรั่วไหลในปริมาณมาก ซึ่งถือว่าไม่ใช่การหกรั่วไหลแบบขนาดเล็ก และต้องดำเนินการรับมืออย่างรอบคอบโดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่านั้น
3.2 ประเมินปริมาณ (Evaluate Quantities) เป็นขั้นตอนต่อไปของการประเมินสถานการณ์ ซึ่งปริมาณขั้นต่ำที่จะถูกระบุว่าเป็นขีดอันตราย (The Threshold Quantity) สำหรับสารที่หกรั่วไหลนั้น (ถ้าเกินขีดอันตรายนี้ก็จะถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน) จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Properties) และอันตราย (Hazards) ของสารที่หกรั่วไหลชนิดนั้น ๆ รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมของสถานการณ์ด้วย
เช่น การฝึกอบรมและประสบการณ์ของผู้ที่ดำเนินการรับมือกับสารที่หกรั่วไหล ความพร้อมของชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และแผนผังของสถานที่เกิดเหตุซึ่งจะมีผลต่อความสะดวกในการดำเนินการ ทั้งนี้ สารที่หกรั่วไหลจำพวกสารพิษ สารลุกไหม้ได้ สารไวไฟ อาจถูกพิจารณาว่า ไม่ใช่เป็นการหกรั่วไหลแบบขนาดเล็กแม้จะมีปริมาณที่น้อยก็ตาม
ซึ่งปริมาณที่เป็นขีดอันตรายสำหรับสารไวไฟ ทั้งแบบของเหลวหรือของแข็ง หรือสารพิษที่ระเหยได้ ควรจะอยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำ และการดำเนินการรับมือการหกรั่วไหลของสารที่ทำปฏิกิริยา (Reactive Substances) ควรจะเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณที่เป็นขีดอันตรายของการหกรั่วไหลแบบขนาดเล็กสำหรับของเหลว (Liquids) จะต่ำกว่าของแข็ง (Solids) ในทำนองเดียวกันกับปริมาณขีดอันตรายของสารระเหยจะต่ำกว่าสารที่ไม่ระเหย
ตารางแสดง ตัวอย่างปริมาณขีดอันตราย (The Threshold Quantity) โดยประมาณ สำหรับสารอันตรายแต่ละประเภทที่หกรั่วไหล
หมายเหตุ: ปริมาณขีดอันตรายที่ระบุนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกันด้วย ซึ่งแต่ละพื้นที่ปฏิบัติงานอาจมีค่าแตกต่างกันไปได้ แล้วแต่ความพร้อมและขีดความสามารถที่มีในการรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ
3.3 ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Evaluate Potential Impacts) เป็นขั้นตอนที่สามของการประเมินสถานการณ์ ถ้าการหกรั่วไหลเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีโอกาสว่าความเสี่ยงจะถูกขยายเพิ่มขึ้น จากลักษณะเฉพาะของสถานการณ์นั้น เช่น ลักษณะทางกายภาพ หรือมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานมาก ก็ไม่ควรที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงการหกรั่วไหลแบบขนาดเล็ก
ตัวอย่างเช่น การเกิดเหตุหกรั่วไหลของอะซีโตน (Acetone) จำนวน 1 แกลลอน (ประมาณ 4.5 ลิตร) ในพื้นที่งานที่มีภาชนะบรรจุสารเคมีประเภทอื่น และมีแหล่งจุดติดไฟอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ย่อมพิจารณาได้ว่าลักษณะเฉพาะของสถานการณ์เช่นนี้ มีโอกาสที่จะขยายผลกระทบของเหตุหกรั่วไหลได้
ประกอบกับอะซีโตนเป็นสารไวไฟสูงและระเหยได้ง่าย ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้ตีความได้ว่า สามารถที่จะเป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันต่อสุขภาพมนุษย์และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ และการทำความสะอาดควรที่จะกระทำการโดยทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจขยายผลกระทบของเหตุหกรั่วไหลฯ นี้ ยังรวมไปถึง โอกาสที่ไอหรือฝุ่นของสารอันตรายอาจจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบระบายอากาศของอาคาร และแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่น ตลอดจนโอกาสที่ของเหลวที่หกรั่วไหลนี้ อาจจะไหลล้นไปสู่พื้นที่อื่นได้ นั่นก็จะเป็นการขยายภาวการณ์คุกคามของอันตราย เช่น ไหลเข้าถึงแหล่งจุดติดไฟ สัมผัสผู้คน สร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ และการเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible Substances)
อาจสรุปได้ว่า การที่จะประเมินสถานการณ์ว่า การหกรั่วไหลของสารอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ควรพิจารณาจากภาพรวมว่า มีความเสี่ยงต่อผู้คน (Persons) ทรัพย์สิน (Property) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ในระดับใด และถ้าตีความว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน คือมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ทราบความเสี่ยงที่แน่ชัด ก็ต้องรีบแจ้งเตือนผู้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และอาจมีความจำเป็นต้องอพยพออกนอกสถานที่ปฏิบัติงาน มีการกันแยกส่วนพื้นที่เกิดเหตุ (Isolate Spill Area) โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ
เช่น เชือกหรือริบบิ้นล้อมรอบ รวมถึงมีป้ายเตือนห้ามเข้า แล้วรีบแจ้งทีมงานรับเหตุฉุกเฉินส่วนกลาง (Emergency Response Teams Center) เพื่อขอรับคำแนะนำและจัดสรรทีมงานรับเหตุฉุกเฉินให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เช่น ส่งทีมผจญเพลิงไปพร้อมกับทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลสารอันตราย ในกรณีรับแจ้งเหตุหกรั่วไหลสารอันตรายที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้ เช่น การหกรั่วไหลของสารไวไฟ
ทั้งนี้เมื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีความพร้อมในการรับมือ ก็จะสามารถลดความรุนแรงของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าวิธีการเข้าระงับเหตุไม่มีความเหมาะสมก็จะเปลี่ยนการหกรั่วไหลฯ แบบขนาดเล็กให้กลับกลายเป็นแบบซับซ้อนหรือขนาดใหญ่ได้เช่นกัน
4. จัดแจงให้ความช่วยเหลือแต่ต้องไม่เกินขีดความสามารถที่มี (Get Help for all but not beyond the Capability) โดยเมื่อมีผู้แจ้งเหตุ และมีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือปนเปื้อนออกจากพื้นที่เกิดเหตุแล้ว รวมทั้งได้มีการประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้วว่าเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายเป็นแบบใด ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการจัดแจงให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของเหตุการณ์ ซึ่งภาระหน้าที่นี้จะตกอยู่ที่ทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย (HazMat Spill Response Team)
ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วว่าเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายนั้น มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง เป็นแบบขนาดเล็ก (Minor Spills) หรือสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้นมีความเป็นพิษในระดับต่ำ และ/หรืออัตราการระเหยต่ำ ก็สามารถที่จะเข้าระงับเหตุได้เอง โดยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี หรืออาจได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ในพื้นที่
แต่ถ้าเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายนั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือมีจำนวนปริมาณใกล้เคียงกับขีดอันตราย (The Threshold Quantity) ที่ประมาณการณ์ไว้ล่วงหน้า ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ แต่ทั้งนี้ทีมงานฯ ต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน รอบคอบถึงศักยภาพและขีดความสามารถที่จะเข้าระงับเหตุได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
แต่ในกรณีที่เหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายนั้น เป็นแบบขนาดใหญ่ (Major Spills) มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ทราบความเสี่ยงอย่างแน่ชัด หรือสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้นมีความเป็นพิษในระดับสูง อัตราการระเหยสูง ไวไฟสูง กัดกร่อนสูง และทำปฏิกิริยากับอากาศหรือน้ำอย่างรุนแรง หรือมีปริมาณเกินขีดอันตรายที่ประมาณการณ์ไว้ล่วงหน้า
รวมทั้งพิจารณาแล้วว่าเกินขีดความสามารถของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ที่จะสามารถเข้าระงับเหตุได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องรีบแจ้งทีมงานรับเหตุฉุกเฉินจากภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานฉุกเฉินของเอกชนหรือของรัฐฯ เช่น หน่วยงานระงับเหตุอุบัติภัยสารอันตราย เจ้าหน้าที่ดับเพลิง หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของปัจจัยร่วมในเหตุการณ์ เช่น เพลิงไหม้ ระเบิด
ในการที่จะพิจารณาว่า การรับมือกับเหตุหกรั่วไหลนั้น ๆ เกินขีดความสามารถของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ หรือไม่ ควรพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความพร้อมในการรับมือของทีมงานฯ ประกอบกันด้วย เช่น จำนวนบุคลากรและการฝึกอบรมที่จำเป็นและเพียงพอต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนและความเหมาะสมของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits)
ลักษณะของการหกรั่วไหลนั้น เช่น ปริมาณ อันตราย ข้อจำกัดของสถานที่ การปนเปื้อน ขอบเขตการหกรั่วไหล ความเสี่ยงและความยาก-ง่ายในการเข้าควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหล เป็นต้น
5. เริ่มต้นควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหล (Commence Control & Cleanup the Spilled) เมื่อได้ประเมินสถานการณ์ของเหตุหกรั่วไหลฯ นั้น และสามารถระบุได้แล้วว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน โดยถ้าประเมินว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ต้องพึ่งพาทีมงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอก
แต่ถ้าประเมินว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ฉุกเฉิน เป็นการหกรั่วไหลฯ แบบขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทีมงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอก และได้พิจารณาถึงขีดความสามารถและความพร้อมในการรับมือของผู้เข้าระงับเหตุหกรั่วไหลฯ เช่น ผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน หรือสมาชิกทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ในพื้นที่ หรือทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ส่วนกลาง แล้วพบว่าสามารถที่จะเข้าระงับเหตุนั้นได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ก็เริ่มต้นดำเนินการควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหลนั้นทันที ตามวิธีการดังนี้คือ
5.1 วางแนวทางในการเข้าควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหล หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าวัตถุหรือสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้นเป็นชนิดใด ก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ของสารอันตรายที่หกรั่วไหลนั้น และถ้าจะให้ดีควรที่จะมีคู่มือที่ระบุถึงขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายแต่ละชนิดที่ใช้ดำเนินการอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน
ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จะเข้าดำเนินการได้ทราบถึงข้อมูลบ่งบอกอันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และข้อควรระวังในช่วงระหว่างดำเนินการควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหลนั้น นอกจากนี้ยังได้รับรู้ถึงชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ที่เหมาะสมสำหรับดำเนินการกับสารที่หกรั่วไหลชนิดนั้นด้วย
5.2 สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และจัดเตรียมชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ให้เหมาะสม โดยผู้ที่จะเข้าดำเนินการต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็นและเหมาะสมกับสารที่หกรั่วไหล และควรทำการกันแยกส่วนพื้นที่เกิดเหตุ (ถ้ายังไม่มีผู้ใดกระทำ) เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ
ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลโดยทั่วไปแล้ว ก็จะมีชุดคลุมป้องกัน (Protective Clothing) ถุงมือ (Gloves) รองเท้าบูท (Boot) แว่นครอบตา (Safety Goggles) หรือกระบังหน้า (Face Shields) และในบางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (Respirator)
ทั้งนี้ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะมีความพิเศษเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน ก็จะสัมพันธ์เชื่อมโยงหรือขึ้นอยู่กับลักษณะอันตรายของสารที่หกรั่วไหลนั้น เช่น ตัวทำละลายที่ระเหยได้ (Volatile Solvents) และเป็นกรด (Acids) ก็จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจแบบมีตลับกรอง 2 ชั้น (Dual Cartridge) ชนิดที่สามารถป้องกันไอระเหยหรือก๊าซที่เป็นกรดได้ หรือหน้ากากครอบแบบเต็มหน้า (Full Face Mask) ก็จำเป็นต้องใช้สำหรับสารที่ไอระเหยมีฤทธิ์ระคายเคือง กัดกร่อน หรือเป็นพิษ เป็นต้น
ส่วนชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ก็ต้องพิจารณาใช้ให้เหมาะสมกับสารที่หกรั่วไหลนั้น ซึ่งควรจะมีเก็บไว้อย่างเพียงพอและพร้อมใช้งานในแต่ละหน่วยงานที่มีความเสี่ยง รวมถึงบางส่วนก็ยังต้องเก็บไว้ในคลังอุปกรณ์ฉุกเฉินส่วนกลางด้วย โดยทั่วไปแล้ว ชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหลจะประกอบไปด้วย
(1) อุปกรณ์จำกัดการแพร่กระจาย (Spill Containment Equipment) ได้แก่ วัสดุดูดซับต่าง ๆ (Absorbent Materials) ซึ่งจะใช้ดูดซับสารที่หกรั่วไหลนั้น เช่น Spill Socks, Spill Pillows, Paper Towel, Spill Pads, Spill Mat, Vermiculite, Pet Litter and Sand และบางชนิดสามารถใช้ทำเป็นทำนบกั้นแบบดูดซับ (Absorbent Dike) เช่น Spill Socks, Vermiculite, Pet Litter and Sand หรือยังสามารถใช้วัสดุบางชนิดจำกัดวงโดยทำเป็นทำนบกั้นแบบไม่ดูดซับ (Non-absorbent Dike) ได้อีกด้วย เช่น แท่งทำนบกั้นทำด้วยพลาสติกโพลีเอธิลีน นอกจากนี้ยังรวมถึงสารทำให้เป็นกลาง (Neutralizing Agent) เช่น Citric Acid, Sodium Bicarbonate, Sodium Thiosulfate เป็นต้น
(2) อุปกรณ์ทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหล (Spill Cleanup Equipment) เช่น ไม้กวาดพื้น ไม้ถูพื้น ฟองน้ำ ถุงมือ ที่ตักผงทำด้วยพลาสติก ถังชนิดหิ้ว ถุงพลาสติก สายเทปรัด พลั่ว ช้อนตักหรือโกยทำด้วยพลาสติก แปรง น้ำยาทำความสะอาดพื้นหรือผงซักฟอก และกระดาษพีเอช (pH Test Papers) เป็นต้น
ทั้งนี้ชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) สามารถที่จะเก็บรวบรวมอุปกรณ์แต่ละชิ้นมาจากแต่ละส่วนงาน หรือสั่งซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหลแบบสำเร็จรูปที่จัดไว้สำหรับสารอันตรายแต่ละประเภทจากบริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนิดนี้โดยตรง
5.3 เข้าดำเนินการควบคุมและทำความสะอาดสารหกรั่วไหล โดยผู้ดำเนินการต้องพยายามจำกัดวงการแพร่กระจายของสารที่หกรั่วไหล โดยการเข้าไปหยุดแหล่งที่ก่อให้เกิดการหกรั่วไหล เช่น ปิดวาล์ว-ปั๊ม อุดรูรั่ว ใช้เทปพันสายยางที่รั่ว เป็นต้น พร้อมกันนี้ก็เคลื่อนย้ายแหล่งจุดติดไฟ และปิดการทำงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ (โดยเฉพาะถ้าเป็นการหกรั่วไหลของสารไวไฟหรือสารที่ลุกไหม้ได้) และถ้าเป็นสารระเหยได้ก็ต้องปิด ประตู หน้าต่างและเพิ่มการทำงานของระบบระบายอากาศเฉพาะแห่ง
ในขณะเดียวกันก็เริ่มจำกัดวงสารที่หกรั่วไหลให้มีพื้นที่น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้โดยการสร้างทำนบกั้น (Dike) รอบ ๆ สารที่หกรั่วไหลนั้น โดยใช้วัสดุที่เป็นตัวดูดซับสร้างเป็นทำนบกั้นแบบดูดซับ (Absorbent Dike) เช่น Spill Socks, Vermiculite, Pet Litter and Sand หรือใช้แท่งพลาสติกโพลีเอธิลีนต่อกันทำเป็นทำนบกั้น เพื่อป้องกันการขยายวงการแพร่กระจายและไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ
จากนั้นก็เริ่มดำเนินการกับสารหกรั่วไหลที่อยู่ในวงนั้น ซึ่งมีหลายวิธีแล้วแต่ความเหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่หกรั่วไหลนั้น เช่น ใช้วิธีดูดซับ (Absorption) โดยเริ่มโรยสารหรือวัสดุดูดซับ (Absorbent Materials) ที่เข้ากันได้ไปยังสารที่หกรั่วไหลนั้น พึงระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้สารหรือวัสดุดูดซับที่เข้ากันไม่ได้เพราะอาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาที่เป็นอันตราย
เช่น การใช้ขี้เลื่อยดูดซับสารออกซิไดซ์แก่ (Strong Oxidizer) อาจทำปฏิกิริยาแล้วก่อให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้ ทั้งนี้ในบางกรณีอาจต้องใช้วัสดุดูดซับแบบพิเศษ เช่น กรณีการหกรั่วไหลของกรดไฮโดรฟลูโอริกและกรดซัลฟูริกชนิดเข้มข้น
หรืออาจใช้วิธีทำให้เป็นกลาง (Neutralization) เช่น เติมเบสใส่กรด หรือตัวรีดิวซ์ไปยังตัวออกซิไดซ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมั่นใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากวงนอกก่อนแล้วค่อย ๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง และพึงใส่สารลงไปอย่างระมัดระวังด้วยจำนวนน้อย ๆ เพราะถ้าใส่จำนวนมากอาจเกิดความร้อนแล้วปล่อยไอพิษหรือก๊าซไวไฟออกมาได้ รวมถึงคอยดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยใส่สารซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งปฏิกิริยาเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก็ทดสอบค่าความเป็นกลางโดยใช้กระดาษพีเอช (pH Test Papers) ซึ่งควรจะมีค่า pH อยู่ในช่วงระหว่าง 6 ถึง 8
โดยทั่วไปแล้ว การดูดซับสารเคมีประเภท ตัวทำละลาย กรด หรือด่าง มักใช้วัสดุดูดซับที่มีความเฉื่อยหรือไม่ว่องไวในการทำปฏิกิริยาเคมี เช่น ทรายหรือขี้เลื่อย ส่วนสารเคมีประเภทโซเดียมคาร์บอเนต โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือปูนขาว มักใช้ได้ดีสำหรับการดูดซับสารเคมีที่เป็นกรดเนื่องจากทำลายฤทธิ์กรดได้ ในทำนองเดียวกันกับสารเคมีประเภทโซเดียมไบซัลเฟต หรือกรดซิตริก ก็สามารถใช้ดูดซับสารเคมีที่เป็นด่างได้ดีเช่นกัน
หรืออาจใช้วิธีเจือจาง (Dilution) โดยการเติมสารหรือวัตถุที่เข้ากันได้ (บางครั้งอาจเป็นน้ำ) ไปยังสารที่หกรั่วไหล ซึ่งการเจือจางจะช่วยลดปฏิกิริยาของสารที่หกรั่วไหล อย่างไรก็ตามก็มีความเหมาะสมสำหรับสารบางชนิดเท่านั้น ส่วนการใช้ลมดูด (Vacuuming) เป็นวิธีที่นิยมใช้จัดการกับของแข็งที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสูดดม แต่ต้องระมัดระวังเครื่องดูดไฟฟ้าอาจจะเป็นแหล่งการจุดติดไฟของวัตถุไวไฟได้
ในบางสถานการณ์ที่มีการหกรั่วไหลของสารไวไฟ แต่ยังไม่เกิดการติดไฟ ก็สามารถใช้อุปกรณ์ในการฉีดโฟมเข้าไปเพื่อระงับยับยั้งไอระเหย (Vapor Suppression by Aqueous Foams) โดยใช้โฟมเป็นตัวกั้นทำให้ไอของสารไวไฟมีความเข้มข้นไม่ถึงจุดติดไฟ (LEL) นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้โฟมกับสารที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงได้อีกด้วย เช่น แอมโมเนีย คลอรีน ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ และโอเลียม อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการใช้โฟมเพื่อการนี้อาจประสบปัญหาบางประการ อันเนื่องมาจากความไม่เสถียรต่อความเป็นกรดหรือด่างของโฟมที่สูงหรือต่ำเกินไป
หลังจากที่สารหกรั่วไหลทั้งหมดถูกดูดซับเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปก็เริ่มทำความสะอาด โดยใช้พลั่วตักหรือแปรงปัดเอาเศษขยะที่เหลือ (Residue) ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงวัสดุดูดซับที่ใช้แล้ว ใส่ที่ตักผงแล้วนำใส่ลงไปในถุงพลาสติก มักเป็นถุงทำจากวัสดุโพลีเอธิลีน (Polyethylene) อาจจะใช้ถุงซ้อนกันหลายชั้นแล้วใช้เทปรัดให้แน่น
แต่ถ้ามีจำนวนมากขึ้นก็ใส่ลงไปในถังพลาสติกมีหูหิ้วหรือถังใหญ่แล้วปิดฝาให้สนิท ทั้งนี้พึงระมัดระวังการสปาร์กในระหว่างการใช้พลั่วตักโดยเฉพาะกรณีเป็นเศษขยะของสารไวไฟ และการกวาดสารประกอบออกซิไดซ์แก่ เพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาได้ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดยังต้องสามารถต้านทานสารที่หกรั่วไหลนั้นได้ด้วย
เช่น สารกัดกร่อน จากนั้นก็ติดป้ายที่ภาชนะบรรจุนั้นโดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นขยะอันตราย (Hazardous Waste) และระบุเพิ่มเติมถึงสิ่งที่อยู่ในภาชนะบรรจุนั้น (เช่น วัสดุดูดซับและสารที่หกรั่วไหล) วันที่เกิดเหตุและทำความสะอาด สถานที่เกิดเหตุ รวมถึงวัสดุที่เข้ากันไม่ได้ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงขึ้นมาได้ในระหว่างขั้นตอนการกำจัด แล้วนำภาชนะบรรจุขยะอันตรายนี้ไปไว้ยังที่จัดเก็บที่แยกออกจากขยะทั่วไปเพื่อรอการกำจัดหรือทิ้ง
รูปแสดง: การเข้าดำเนินการควบคุม (Containment) และทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหล (Cleanup the Spill) โดยผู้เข้าดำเนินการต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (PPE) ที่เหมาะสม และเริ่มจำกัดการแพร่กระจายของสารที่หกรั่วไหล โดยใช้วัสดุดูดซับ (Absorbent Material) เช่น Spill Sock (ดังในรูป) สร้างเป็นทำนบกั้นรอบ ๆ สารที่หกรั่วไหลนั้น แล้วใช้วัสดุดูดซับแบบเม็ด (Granular Sorbent) ที่เข้ากันได้ (Compatible) กับสารที่หกรั่วไหล โดยค่อย ๆ โรยใส่สารหกรั่วไหลที่เป็นของเหลว (Liquid) นั้น จากวงรอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง จนกระทั่งดูดซับสารที่หกรั่วไหลนั้นได้ทั้งหมด จากนั้นก็ใช้แปรงกวาดใส่ที่ตักผงและนำไปใส่ในถุงหรือถัง (รวมทั้งวัสดุดูดซับที่ใช้แล้วทั้งหมด) แล้วรัดถุงหรือปิดฝาให้มิดชิดพร้อมกับติดป้ายที่ภาชนะบรรจุนั้นโดยระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นขยะอันตราย (Hazardous Waste) |
6. ทำความสะอาดพื้นที่หกรั่วไหล (Cleanup the Spill Area) โดยพื้นผิวที่เกิดเหตุหกรั่วไหลต้องถูกทำความสะอาดเพื่อขจัดการปนเปื้อนหลังจากเก็บกวาดสารที่หกรั่วไหลนั้นแล้ว ซึ่งควรมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมและใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เข้ากันได้กับสารที่หกรั่วไหลนั้น เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาขึ้นมาอีก เช่น ไอพิษ ก๊าซไวไฟ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ทำความสะอาด บางครั้งอาจจะใช้แค่น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานกับน้ำเปล่าและใช้ฟองน้ำซับก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
แต่ในบางกรณีมีคราบฝังแน่นก็อาจเลือกใช้น้ำยาซักผ้าขาวทั่วไปที่ใช้ในบ้าน (Ordinary Household Bleach) ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 30 : 70 แต่ไม่ควรใช้น้ำยานี้ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการหกรั่วไหลของสารประกอบจำพวกแอมโมเนีย เอมีนต์ สารออกซิไดส์ และกรด
นอกจากนี้ยังอาจใช้ปูนขาวผสมน้ำ (Hydrated Lime) ก็ได้ แต่ห้ามใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับปูนขาวเพราะจะเกิดอันตรายได้ แล้วกวาดพื้นด้วยไม้กวาดชนิดหยาบ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้วัสดุดูดซับใหม่ซ้ำอีกครั้ง และชำระล้างด้วยน้ำเปล่าซ้ำ ๆ จนแน่ใจว่าพื้นผิวที่เกิดเหตุหกรั่วไหลนั้นได้ถูกขจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจนหมด แล้วจึงปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
ทั้งนี้ก่อนที่จะใช้น้ำชำระล้างพื้นผิวพึงระมัดระวังและแน่ใจว่าสารที่หกรั่วไหลนั้นจะไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ และน้ำชำระล้างทั้งหมดนี้ควรไหลไปสู่บ่อบำบัด รวมถึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการชำระล้างพื้นผิวที่ขรุขระหรือซึมผ่านได้ ซึ่งอาจมีการตกค้างหลงเหลืออยู่ของสารที่หกรั่วไหลนั้นได้
ส่วนการขจัดสิ่งปนเปื้อนจากกรณีมีการหกรั่วไหลเปียกชุ่มบนพื้นดินนั้น ก็ต้องเปิดหน้าดินที่ปนเปื้อนนั้นลึกลงไปประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วโรยปูนขาวลงไปให้หนาอย่างน้อย 2 นิ้ว และนำหน้าดินใหม่มาถมทับ และในกรณีที่มีการปนเปื้อนบนพื้นดินจากการหกรั่วไหลของสารแบบขนาดเล็ก ก็ยังสามารถขจัดการปนเปื้อนได้โดยใช้ผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) โรยลงไปยังหน้าดินนั้นทันทีที่เกิดเหตุหกรั่วไหล ซึ่งจะช่วยดูดซับสารที่หกรั่วไหลนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่สามารถใช้กับการหกรั่วไหลของสารแบบขนาดใหญ่ได้
เมื่อแน่ใจว่าพื้นผิวที่เกิดเหตุได้ทำความสะอาดและขจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปหมดแล้ว ก็อาจมีความจำเป็นต้องระบายอากาศพื้นที่เกิดเหตุนั้น โดยเปิดหน้าต่าง ประตู หรือใช้พัดลม เว้นเสียแต่ว่าพื้นที่นั้นอยู่ภายใต้ความดันอากาศลบ (Negative Pressure) และในบางครั้ง ก็อาจมีความจำเป็นต้องมีการทดสอบอากาศเสียก่อน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าไอระเหยที่เป็นอันตรายได้ถูกขจัดออกไปจนหมดแล้ว
7. ขจัดสิ่งปนเปื้อนจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด (Decontaminate Tools & Equipment Used in Cleaning) เมื่อมีการทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหลและพื้นที่เกิดเหตุแล้ว ก็ต้องนำเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดทั้งหมดมาขจัดสิ่งที่ปนเปื้อนออก โดยการขจัดสิ่งปนเปื้อน (Decontamination) นั้น เป็นกระบวนการในการนำสิ่งปนเปื้อนออกโดยทางกายภาพ (Physical Removing) หรือการทำให้สิ่งปนเปื้อนมีสภาพเป็นกลาง (Neutralizing Contaminants)
ทั้งนี้สิ่งที่ได้รับการปนเปื้อนจากสารที่หกรั่วไหล มีดังต่อไปนี้คือ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เช่น ที่ตักผง ไม้กวาด พลั่ว ฟองน้ำ ฯลฯ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ชุดคลุมป้องกัน ถุงมือ รองเท้าบูท อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ฯลฯ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุที่อาจได้รับการปนเปื้อนแต่ไม่ทันสังเกต เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงาน เครื่องแก้ว ฯลฯ
ความเป็นไปได้และขอบเขตของการซึมผ่าน (Permeation) จะเชื่อมโยงโดยตรงกับช่วงระยะเวลาในการสัมผัส ซึ่งถ้าสัมผัสเป็นระยะเวลายาวนานนั้น ก็ต้องอาศัยความพยายามมากขึ้นในการที่จะขจัดการปนเปื้อนนั้นออกไปได้หมด โดยทั่วไปแล้วก็ต้องอาศัยการพิจารณาวิธีการขจัดการปนเปื้อนตามความเหมาะสม เช่น
- สิ่งปนเปื้อนแบบหลวม ๆ (Loose Contaminants) เช่น ฝุ่น หรือไอ อาจจะขจัดออกโดยการขัด ชำระล้าง และรินน้ำผ่าน
- สิ่งปนเปื้อนแบบฝังแน่น (Adhering Contaminants) เช่น เรซิ่น อาจจะขจัดออกโดยใช้แรง เช่น ใช้แปรงขัดและเช็ดถู ซึ่งประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งปนเปื้อนออกอาจจะเพิ่มขึ้นโดยประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ เช่น การทำให้แข็ง (Solidifying) การทำให้เย็นจนแข็ง (Freezing) และการดูดซับ (Adsorpting)
- สารระเหย (Volatile Substances) อาจจะขจัดออกโดยการทำให้ระเหยไปพร้อมกับการชำระล้างและรินผ่าน แต่ต้องป้องกันอันตรายจากการสูดดมเข้าไป
ในการขจัดสิ่งปนเปื้อนโดยการชำระล้างนั้น อาจใช้น้ำยาทำความสะอาด เช่น น้ำยาซักผ้าขาวทั่วไปที่ใช้ในบ้าน (Ordinary Household Bleach) ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 30 : 70 หรือใช้น้ำยาล้างจาน แต่ห้ามน้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับน้ำยาล้างจาน เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ทั้งนี้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดที่ไม่แน่ใจว่าจะขจัดสิ่งปนเปื้อนได้หมด เช่น ไม้กวาด ฟองน้ำ ถุงมือ ชุดคลุม ก็ต้องนำทิ้งใส่ถุงและระบุว่าเป็นขยะอันตรายเหมือนกัน
8. กำจัดขยะ-วัสดุจากเหตุหกรั่วไหล (Disposal of any Waste Materials) โดยขยะและวัสดุทุก ๆ ชิ้นที่ปนเปื้อนจากกระบวนการทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหลและชำระล้างพื้นที่เกิดเหตุ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในภาชนะปิดมิดชิดและระบุว่าเป็นขยะอันตราย (Hazardous Waste) ต้องได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสมตามวิธีการและตารางเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงาน ทั้งนี้วิธีการกำจัดต้องเป็นไปตามแบบแผนของกฏหมายและระเบียบข้อบังคับที่ทางการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
9. จัดทำรายงานภายในหรือภายนอก (Internal or External Report) ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหลแล้ว ต้องมีการสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident Investigation) เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำรายงาน ซึ่งจะเป็นการอธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเหตุหกรั่วไหลของวัตถุหรือสารอันตรายนั้นจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม ในการจัดทำรายงานนั้น นอกจากจะจัดทำขึ้นมาเป็นการภายในแล้ว
ในบางครั้งก็มีความจำเป็นต้องจัดทำขึ้นมาเพื่อส่งไปยังหน่วยงานรัฐฯ ที่กำกับดูแลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นการหกรั่วไหลของวัตถุหรือสารอันตรายแบบขนาดใหญ่ (Major Spill) และพึ่งพาหน่วยงานฉุกเฉินจากภายนอก ทั้งนี้ก็จะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่ทางการระบุไว้ว่าลักษณะความรุนแรงในระดับใดที่ต้องมีการรายงานให้ทราบ
โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาในรายงานนั้นควรที่จะรวมถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย เช่น ชื่อผู้จัดทำรายงาน ชื่อผู้แจ้งเหตุหรือประสบเหตุ สถานที่เกิดเหตุ วัน-เวลาที่เกิดเหตุ ประเภทของการหกรั่วไหล เช่น สารเคมีหก หรือก๊าซรั่ว ชื่อของสารที่หกรั่วไหล ทั้งชื่อทางการค้า ชื่อทางเคมี และหมายเลขรหัสสารเคมีตามระบบของ CAS ปริมาณสารที่หกรั่วไหล ลำดับเหตุการณ์ สาเหตุ จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ปนเปื้อนหรือเสียชีวิต ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลักษณะอันตราย เช่น ไอระเหยเป็นพิษ เพลิงไหม้ หรือกัดกร่อน
ลำดับขั้นตอนและวิธีการเข้าระงับเหตุ วิธีการทำความสะอาดสารหกรั่วไหลและพื้นที่เกิดเหตุ วิธีการขจัดสิ่งปนเปื้อนและกำจัดขยะ-วัสดุจากเหตุหกรั่วไหล รายชื่อบุคคลหรือสมาชิกของทีมงานที่เข้าดำเนินการระงับเหตุ เช่น ทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลฯ ทีมงานผจญเพลิง ชื่อหน่วยงานฉุกเฉินภายนอก (กรณีแจ้งขอความช่วยเหลือ) ผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการเข้าระงับเหตุ รวมถึงมาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการจัดรายงานขึ้นมานั้น ไม่ควรที่จะพุ่งเป้าหาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ควรเป็นไปในแนวทางที่จะชี้บ่งถึงประสิทธิภาพและความเพียงพอของมาตรการรับมือที่ใช้อยู่ เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำเดิมได้ในอนาคต
10. เติมสต็อกอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหล (Restock PPE and Spill Kits) ต้องมีการตรวจสอบว่า เหตุหกรั่วไหลครั้งนี้มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหลชนิดใดไปบ้าง จำนวนเท่าไรที่ต้องทิ้ง และมีจำนวนเท่าไรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายหลังจากผ่านกระบวนการขจัดสิ่งปนเปื้อนจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดแล้ว และเมื่อได้ทราบชนิดและจำนวนของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและชุดอุปกรณ์สำหรับควบคุมการหกรั่วไหลที่ขาดพร่องไปแน่นอนแล้ว ก็ต้องจัดหามาเติมให้ครบดังเดิม
11. ทบทวนแผนงานรับมือเหตุหกรั่วไหล (Review Spill Response Plan) เมื่อได้รับรายงานที่จัดทำขึ้นแล้ว ต้องมีการจัดประชุมเพื่อพูดคุยและปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิกของทีมงานรับเหตุหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย โดยนำรายงานที่จัดทำขึ้นมานั้นมาเป็นเอกสารประกอบการประชุม เพื่อที่จะทบทวนและประเมินผลถึงประสิทธิภาพในการเข้าระงับเหตุ และผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติของแผนงานรับเหตุหกรั่วไหลที่เขียนไว้
รวมถึงข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะนำมาสู่การแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของแผนงานฯ เพื่อให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับสถานการณ์จริงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทีมงานควรพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของหนทางเลือกและขั้นตอนดำเนินการใหม่นั้น อย่างไรก็ตามก็ควรที่จะมุ่งไปที่การลดโอกาสที่จะนำไปสู่เหตุหกรั่วไหลเช่นเดียวกับการลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
12. ให้ข้อแนะนำป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ (Recommendations for Preventing Reoccurrence) เมื่อได้ทบทวนแผนงานรับเหตุหกรั่วไหลและรับทราบข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการให้ข้อแนะนำป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอยเดิมอีก โดยระบุไว้ในแผนงานฯ และต้องมีการสื่อสารให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมถึงมีการฝึกอบรมใหม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Spill or Leak-Emergency Preparedness; Canada Center for Occupational Health and Safety (CCOHS) 2008
- Leak Detection Methods for Underground Storage Tanks by Gerald Musy, Jul 2008
- Storage Tank Spill Prevention; Mott Tank Inspection, INC., March 2008
- Chemical Spill Response Guideline; Office of Environmental Health & Safety, Ocupational Hygiene & Chemical Safety Division, 2004
- การจัดการความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี โดย รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2543
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด