มาตรฐาน ISO 50001 มีจุดประสงค์ที่จะให้องค์กรได้พัฒนาระบบการทำงาน และกระบวนการทำงานที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
ในปัจจุบันปัญหาทางด้านพลังงานนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นไปทั่วทั้งโลก มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ทรัพยากรทางด้านพลังงานกลับลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในหลาย ๆ พื้นที่ รวมถึงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่สงครามเพื่อแย่งชิงแหล่งพลังงาน
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ได้สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้ทุก ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการ และการอนุรักษ์พลังงานต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นทางคณะกรรมการเทคนิคของ ISO (International Organization for Standardization) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลในการจัดทำมาตรฐานสากลระดับโลก ได้กำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน โดยกำหนดให้เป็นมาตรฐาน ISO 50001 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของฉบับร่างของคณะกรรมการ (Committee Draft: CD) โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการประมาณปลายปี 2010
ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะให้องค์กรได้พัฒนาระบบการทำงาน และกระบวนการทำงานที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน รวมถึงความมีประสิทธิภาพ และปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิต (Energy Intensity) นอกจากนั้น ยังช่วยในการลดต้นทุน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการบริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบ
มาตรฐาน ISO 50001 นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรในทุกประเภท และทุกขนาด โดยไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม หรือสภาพทางสังคม โดยความสำเร็จของการนำไปใช้งาน จะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของบุคลากรในทุกระดับ และทุกหน้าที่งานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
สาระสำคัญของข้อกำหนดระบบการจัดการพลังงาน (ฉบับร่าง)
ในการจัดทำระบบการจัดการพลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตามมาตรฐาน ISO 50001 นี้องค์กรจะต้องมีการจัดสร้าง จัดทำเป็นเอกสาร มีการนำไปใช้งาน และดูแลรักษาระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System: EnMS) ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐาน จากนั้นกำหนด และจัดทำเอกสารที่ระบุขอบเขต และพื้นที่ทางกายภาพที่เกี่ยวข้องสำหรับ EnMS รวมถึงทำการกำหนด และจัดทำเอกสารสำหรับแนวทางในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐาน นำไปสู่การปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะต้องแสดงถึงความมุ่งมั่น และให้การสนับสนุนต่อระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการปรับปรุงความมีประสิทธิผลของระบบอย่างต่อเนื่อง โดยการ
1. กำหนดนโยบายพลังงาน รวมถึงมีการนำไปใช้ และดูแลรักษาไว้
2. จัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการจัดทำ การนำไปใช้ การดูแลรักษา และการปรับปรุงระบบการจัดการพลังงาน
3. กำหนดผู้แทนของฝ่ายบริหาร รวมทั้งอนุมัติในการจัดตั้งทีมงานสำหรับดูแลระบบการจัดการพลังงาน
4. กำหนดขอบเขต (Scope) และพื้นที่ทางกายภาพที่เกี่ยวข้อง (Boundaries) ของระบบการจัดการพลังงาน
5. สื่อสารให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการพลังงาน
6. ดูแลให้มีการจัดทำวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน
7. กำหนดเกณฑ์ในการวัด และวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน และการควบคุมระบบการจัดการพลังงาน
8. กำหนดประเด็นทางด้านพลังงานไว้ในการวางแผนระยะยาว (Long-term Planning) ขององค์กร
9. ดูแลให้มีการวัดและรายงานผลลัพธ์ต่าง ๆ
10. ทบทวนระบบโดยฝ่ายบริหาร
นอกจากนั้น ผู้บริหารระดับสูง จะต้องกำหนดให้มีผู้แทนฝ่ายบริหาร ที่มีความรู้ ทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสม โดยให้มีความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ในการ
1. ดูแลให้มีการจัดทำ นำไปใช้ และดูแลรักษาระบบการจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐาน
2. รายงานผลการดำเนินงานของระบบการจัดการพลังงานให้กับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
3. รายงานถึงการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงานให้กับผู้บริหารระดับสูง
4. กำหนดบุคลากรที่ได้รับการอนุมัติโดยผู้บริหาร ในการทำงานสนับสนุนต่อกิจกรรมด้านการจัดการพลังงาน
5. วางแผน และควบคุมกิจกรรมการจัดการพลังงาน ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนต่อนโยบายพลังงาน
6. กำหนด และสื่อสารถึงความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การจัดการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
รูปที่ 1 แสดงรูปแบบระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System Model)
จากรูปแสดงถึงองค์ประกอบหลัก ๆ ของระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐาน ซึ่งจะประกอบด้วย
1. นโยบายพลังงาน (Energy Policy)
2. การวางแผน (Planning)
3. การนำไปใช้งาน และการปฏิบัติการ (Implementation and Operation)
4. การตรวจสอบและการปฏิบัติการแก้ไข (Checking and Corrective Action)
5. การเฝ้าติดตามและการวัด (Monitor and Measure)
6. การปฏิบัติการแก้ไข และการป้องกัน (Corrective and Preventive Action)
7. การตรวจประเมินภายใน (Internal Audit)
8. การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร (Management Review)
1. นโยบายพลังงาน (Energy Policy)
บทบาทหนึ่งที่สำคัญของผู้บริหารระดับสูง คือการกำหนดนโยบายพลังงาน (Energy policy) โดยนโยบายพลังงานจะแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรที่มีต่อการจัดการด้านพลังงาน ทั้งนี้นโยบายพลังงานจะต้อง
1. กำหนด และจัดทำเป็นเอกสารที่แสดงถึงขอบเขต และพื้นที่ทางกายภาพสำหรับระบบการจัดการพลังงาน
2. เหมาะสมกับสภาพ และขนาด รวมถึงผลกระทบที่มีต่อการใช้พลังงานขององค์กร
3. ครอบคลุมถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
4. ครอบคลุมถึงการสร้างความพร้อมของข้อมูลสารสนเทศ และทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์
5. ครอบคลุมถึงการดำเนินการสอดคล้องตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. ใช้เป็นกรอบการทำงานในการจัดทำ และทบทวนวัตถุประสงค์ รวมถึงเป้าหมายทางด้านพลังงาน
7. สนับสนุนต่อการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ และบริการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. จัดทำเป็นเอกสาร สื่อสาร และทำความเข้าใจอย่างทั่วถึงในองค์กร และ
9. ได้รับการทบทวน และปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
2. การวางแผน
เมื่อมีการกำหนดนโยบายพลังงานแล้ว ขั้นตอนถัดมาจะเป็นการวางแผนระบบการจัดการพลังงาน โดยในการวางแผน จะต้องมีการกำหนด
1. รายละเอียดพลังงาน (Energy Profile)
2. พลังงานอ้างอิง (Energy Baseline)
3. ดัชนีวัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance in Dicator)
4. ข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ
5. วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติการ
* รายละเอียดพลังงาน (Energy Profile)
รายละเอียดพลังงาน หรือ Energy Profile จะหมายถึงสถานะของสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน โดยองค์กรจะต้องมีการกำหนด ดูแลรักษา และจัดทำบันทึกรายละเอียดพลังงานขององค์กร ทั้งนี้ ในการจัดทำจะต้อง
1. ทำการวิเคราะห์การใช้พลังงานที่ได้จากการวัด และจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ โดย
* ระบุถึงแหล่งพลังงานในปัจจุบัน และในอนาคต
* ประเมินถึงการใช้พลังงานทั้งในอดีตที่ผ่านมา และในปัจจุบัน
* ประมาณการณ์ความต้องการในการใช้พลังงานในอนาคต
2. จากการวิเคราะห์การใช้พลังงาน จะทำการระบุถึงส่วนที่มีการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Use) ซึ่งหมายถึง
* ระบุถึงสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ ระบบ กระบวนการ และบุคลากรที่ทำงาน หรือเป็นตัวแทนขององค์กรที่มีผลกระทบต่อการใช้พลังงาน
* ระบุถึงตัวแปรอื่น ๆ ที่มีผลต่อการใช้พลังงาน
* กำหนดสมรรถนะปัจจุบัน (Current Performance) ของสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ ระบบ และกระบวนการที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Use)
3. ระบุ และจัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน รวมถึงการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
* พลังงานอ้างอิง (Energy Baseline)
พลังงานอ้างอิง หรือ Energy Baseline จะจัดทำขึ้นโดยการใช้ข้อมูลจากรายละเอียดพลังงาน (Energy Profile) ที่มีข้อมูลอย่างน้อย 12 เดือน โดยการเปลี่ยนแปลงในผลการดำเนินงานด้านพลังงานจะต้องมีการวัดเทียบกับพลังงานอ้างอิง (Energy Baseline) ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนระดับของการอ้างอิงจะเกิดขึ้น เมื่อดัชนีวัดสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน ไม่สะท้อนถึงการใช้พลังงานจริงขององค์กร รวมถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นกับกระบวนการ รูปแบบการทำงาน หรือระบบพลังงานที่ใช้
* ดัชนีวัดสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน
องค์กรจะต้องมีการกำหนดดัชนีวัดสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน (Energy Performance Indicators: EnPIs) เพื่อใช้ในการกำหนดสมรรถนะด้านพลังงาน และประเมินความก้าวหน้าของวัตถุประสงค์ และเป้าหมายทางด้านพลังงาน ทั้งนี้ วิธีการที่ใช้ในการกำหนด และปรับปรุง EnPIs ให้ทันสมัย จะต้องมีการบันทึกไว้ รวมถึงจะต้องมีการทบทวน และเปรียบเทียบกับพลังงานอ้างอิงอย่างสม่ำเสมอด้วย
* ข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ
องค์กรจะต้องมีการกำหนด และสามารถเข้าถึงข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ของหน่วยงานที่องค์กรเป็นสมาชิกอยู่ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน รวมถึงจะต้องกำหนดแนวทางในการนำข้อกำหนดต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้งาน
* วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติการ
องค์กร จะต้องมีการจัดทำวัตถุประสงค์ และเป้าหมายทางด้านพลังงาน รวมถึงการนำไปใช้งาน และดูแลรักษา ในหน้าที่งาน ระดับงาน กระบวนการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร ทั้งนี้วัตถุประสงค์และเป้าหมายพลังงานจะต้องสามารถวัดได้ และมีกรอบระยะเวลาของความสำเร็จอย่างชัดเจน
วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดจะต้องสอดคล้องกับนโยบายพลังงาน รวมถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานทางด้านพลังงาน และสอดคล้องกับข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ของหน่วยงานที่องค์กรเป็นสมาชิก
เมื่อทำการกำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายแล้ว องค์กรจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการจัดการพลังงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนด โดยแผนปฏิบัติการในการจัดการพลังงาน จะประกอบด้วย การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ แนวทาง และกรอบเวลาที่แต่ละเป้าหมายจะประสบความสำเร็จ รวมถึงรายละเอียดของวิธีการที่ใช้ในการทวนสอบการปรับปรุงสมรรถนะทางด้านพลังงาน
3. การนำไปใช้งาน และการปฏิบัติการ
ในขั้นตอนของการนำระบบไปใช้งาน และการปฏิบัติการ จะประกอบด้วยกระบวนการย่อย ๆ ได้แก่
* ความสามารถ การฝึกอบรม และจิตสำนึก
* เอกสารในระบบการจัดการพลังงาน
* การควบคุมการปฏิบัติการ
* การสื่อสาร
* การออกแบบ และ
* การจัดซื้อพลังงาน ผลิตภัณฑ์และการบริการด้านพลังงาน
* ความสามารถ การฝึกอบรม และจิตสำนึก
องค์กรจะต้องดูแลให้บุคลากรที่ปฏิบัติงาน หรือเป็นตัวแทนขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน มีความสามารถ จากการศึกษา การฝึกอบรม ทักษะ หรือประสบการณ์ที่เหมาะสม โดยองค์กรจะต้องระบุถึงการฝึกอบรมที่จำเป็นที่เกี่ยวกับการควบคุมการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Uses) และการปฏิบัติการของระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรม หรือการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ได้ตามความจำเป็นที่ได้ระบุไว้
นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมั่นใจได้ว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงาน หรือเป็นตัวแทนขององค์กร มีจิตสำนึกใน
1. ความสำคัญของการดำเนินงานตามนโยบายพลังงาน วิธีการปฏิบัติงาน และข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงาน
2. บทบาท ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามข้อกำหนด
3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
4. การใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Uses) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของความเบี่ยงเบนไปจากวิธีการปฏิบัติงานเฉพาะ
* เอกสารในระบบการจัดการพลังงาน
เอกสารในระบบการจัดการพลังงาน จะประกอบด้วย
1. นโยบายพลังงาน
2. วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน
3. เอกสาร และบันทึกที่กำหนดโดยข้อกำหนดในมาตรฐาน
4. เอกสาร และบันทึกที่กำหนดโดยองค์กรตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความมีประสิทธิผลของการวางแผน การปฏิบัติการ และการควบคุมกระบวนการ รวมถึงเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Uses)
ทั้งนี้เอกสารต่าง ๆ ในระบบ EnMS จะต้องได้รับการควบคุม โดยองค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาวิธีการปฏิบัติงานในการ
1. อนุมัติความเพียงพอของเอกสารก่อนที่จะนำไปใช้งาน
2. ทบทวน และปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ
3. ดูแลให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลง และสถานะของเอกสารรุ่นล่าสุดได้รับการระบุ
4. ดูแลให้มั่นใจว่ามีเอกสารที่ใช้งานรุ่นล่าสุดในสถานที่ที่มีการนำระบบการจัดการพลังงานไปใช้งาน
5. ดูแลให้เอกสารสามารถอ่านออกได้ และมีการชี้บ่งอย่างชัดเจน
6. ดูแลให้เอกสารจากภายนอกที่องค์กรเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการวางแผน และการปฏิบัติงาน ได้รับการชี้บ่ง และควบคุมการแจกจ่าย
7. ป้องกันการนำเอกสารที่ยกเลิกแล้วไปใช้งานโดยไม่ตั้งใจ หรือมีการชี้บ่งอย่างเหมาะสม ถ้าจะต้องมีการเก็บไว้เพื่อจุดประสงค์ใด ๆ
นอกจากนั้น องค์กรจะต้องจัดทำ และดูแลรักษาบันทึกต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงาน และความสำเร็จของสมรรถนะด้านพลังงาน โดยบันทึกจะต้องสามารถอ่านออกได้ มีการชี้บ่งอย่างชัดเจน และสามารถสอบกลับไปยังกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ ตลอดช่วงเวลาในการจัดเก็บที่ได้กำหนดไว้
* การควบคุมการปฏิบัติการ
องค์กรจะต้องกำหนดและวางแผนการปฏิบัติการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Uses) และมีความสอดคล้องกับนโยบายพลังงาน วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอยู่ภายใต้สภาวะที่กำหนดโดยกำหนดให้มี
1. การจัดทำ และการกำหนดเกณฑ์สำหรับความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติการ และการบำรุงรักษาของการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Uses)
2. การปฏิบัติการ และการดูแลรักษาเครื่องมือ กระบวนการ และระบบให้สอดคล้องกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน
3. การสื่อสารเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการปฏิบัติงาน ไปยังบุคลากรที่ปฏิบัติงาน และบุคลากรที่ทำงานในฐานะตัวแทนขององค์กร
* การสื่อสาร
องค์กรจะต้องกำหนดให้มีวิธีการปฏิบัติงานสำหรับการสื่อสารภายในองค์กร ในประเด็นที่เกี่ยวกับสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance) ตามความเหมาะสมกับขนาดขององค์กร รวมถึงจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก ความเข้าใจ ความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วม รวมถึงกระบวนการในการจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานโดยบุคลากรในทุกระดับภายในองค์กรด้วย นอกจากนั้น จะต้องมีการกำหนดวิธีการที่ใช้ในการสื่อสารกับภายนอกองค์กรเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน และสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน
* การออกแบบ
องค์กรจะต้องดำเนินการในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานผ่านการออกแบบ การปรับเปลี่ยน (Modification) และการปรับปรุงใหม่ (Renovation) ของสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) อุปกรณ์ ระบบ และกระบวนการที่มีการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy) ทั้งนี้ผลของการประเมินสมรรถนะการดำเนินงานด้านพลังงาน จะนำมาเชื่อมโยงเข้ากับข้อกำหนดเฉพาะ (Specification) การออกแบบ และการจัดซื้อของโครงการที่เกี่ยวข้อง
* การจัดซื้อพลังงาน สินค้า และการบริการด้านพลังงาน
เมื่อมีการจัดซื้อการบริการ ผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือทางด้านพลังงานที่มีการใช้พลังงานที่สำคัญ (Significant Energy Use) องค์กรจะต้องมีการแจ้งให้กับผู้ส่งมอบได้ทราบว่าการจัดซื้อจะถูกประเมินบนพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) รวมถึงจะต้องสร้างความพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ หรือการเช่าการบริการ ผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่เกี่ยวกับการจัดการพลังงาน
ในส่วนของการจัดซื้อพลังงาน องค์กรจะต้องมีการกำหนดข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการจัดซื้อพลังงาน โดยพิจารณาจาก คุณภาพของพลังงาน (Quality) ความพร้อมใช้งาน (Availability) ขีดความสามารถ (Capacity) ความเบี่ยงเบนเกินกว่าเวลาที่กำหนด ตัวแปรในการเรียกเก็บเงิน (Billing Parameters) และต้นทุน รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ใหม่ และอื่น ๆ
4. การตรวจสอบสมรรถนะการดำเนินงาน (Checking Performance)
ในส่วนของการตรวจสอบสมรรถนะการดำเนินงาน จะประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่
* การเฝ้าติดตามผล การวัด และการวิเคราะห์
* การตรวจประเมินภายใน และ
* การปฏิบัติการแก้ไข และการป้องกัน
* การเฝ้าติดตามผล การวัด และการวิเคราะห์
องค์กรจะต้องจัดให้มีการเฝ้าติดตาม วัด และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณลักษณะที่สำคัญ (Key Characteristics) ของการปฏิบัติการ ที่ใช้ในการกำหนดสมรรถนะด้านพลังงาน และความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย โดยจะต้องมีการบันทึกผลลัพธ์ที่ได้จากการเฝ้าติดตาม และการวัดคุณลักษณะที่สำคัญไว้ด้วย
นอกจากนั้น องค์กรจะต้องดูแลเครื่องมือที่นำมาใช้ในการเฝ้าติดตาม และการวัดคุณลักษณะที่สำคัญ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้ โดยจะต้องมีการจัดเก็บรักษาบันทึกของการสอบเทียบเครื่องมือต่าง ๆ ไว้ด้วย
* การตรวจประเมินภายใน (Internal Audit)
องค์กรจะต้องจัดให้มีการตรวจประเมินภายในตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการจัดการพลังงาน (EnMS) สอดคล้องตามสิ่งที่ได้เตรียมการไว้สำหรับการจัดการพลังงาน รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐานสากลนี้ รวมถึงมีการดำเนินการและดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้แผนการตรวจประเมิน และตารางเวลาการดำเนินการ จะจัดทำขึ้น โดยคำนึงถึงสถานะและความสำคัญของกระบวนการ และพื้นที่ที่จะทำการตรวจประเมิน รวมถึงผลของการตรวจประเมินที่ผ่านมาด้วย
* การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
องค์กรจะต้องกำหนดแนวทางในการจัดการกับความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น และที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกันของระบบการจัดการพลังงาน โดยจะประกอบด้วย
1. การทบทวนความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น หรือที่อาจจะเกิดขึ้น
2. การระบุถึงสาเหตุของความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น หรือที่อาจจะเกิดขึ้น
3. การประเมินความจำเป็นในการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจะไม่เกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำ
4. การดำเนินการตามที่จำเป็นภายหลังจากการประเมิน
5. การทบทวนความมีประสิทธิผลของการดำเนินการที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน จะต้องมีความเหมาะสมกับขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านพลังงาน
5. การทบทวนระบบการจัดการพลังงานโดยผู้บริหารระดับสูง
ผู้บริหารระดับสูง จะต้องทำการทบทวนผลการดำเนินงานของระบบการจัดการพลังงานขององค์กรตามช่วงเวลาที่ได้มีการกำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความเหมาะสม ความเพียงพอ และความมีประสิทธิผลของระบบอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมีการจัดทำ และดูแลจัดเก็บบันทึกของการทบทวนโดยฝ่ายบริหารไว้ด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่จะนำมาทบทวนโดยฝ่ายบริหาร จะประกอบด้วย
1. การติดตามการดำเนินงานจากการทบทวนโดยฝ่ายบริหารที่ผ่านมา
2. การทบทวนนโยบายพลังงาน
3. การทบทวนสมรรถนะการดำเนินงานทางด้านพลังงาน
4. การประเมินความสอดคล้องตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ของหน่วยงานที่องค์กรเป็นสมาชิก
5. ระดับความสำเร็จของวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย
6. ผลของการตรวจประเมินระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
7. สถานะของการปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
8. แนวโน้มสมรรถนะทางด้านพลังงานจากช่วงเวลาที่ผ่านมา
9. ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงระบบ
ผลลัพธ์ที่ได้จากการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร จะประกอบด้วยการตัดสินใจ และการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับ
1. การปรับปรุงสมรรถนะทางด้านพลังงานขององค์กร จากการทบทวนครั้งล่าสุด
2. การเปลี่ยนแปลงในนโยบายพลังงาน ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และทิศทางขององค์กร
3. การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ของระบบการจัดการพลังงาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นขององค์กรในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
4. การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน และการปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานอย่างต่อเนื่อง
จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเป็นสาระสำคัญของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่ายังอยู่ในขั้นตอนของฉบับร่าง และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเมื่อมีการประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม องค์กรต่าง ๆ สามารถนำเนื้อหาฉบับร่างนี้ไปศึกษา และดำเนินงาน เพื่อให้สามารถพัฒนาแนวทางการจัดการพลังงานได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอการรับรองมาตรฐานนี้ในอนาคตต่อไป
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด