เนื้อหาวันที่ : 2011-11-06 14:15:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5689 views

แผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตอนที่ 2)

ในทุก ๆ ครั้ง เมื่อจำเป็นต้องมีการถ่ายเทวัตถุอันตรายหรือสารเคมีอันตรายจากภาชนะบรรจุเดิมไปสู่ภาชนะบรรจุอื่น ๆ ก่อนเริ่มดำเนินการนั้น ควรให้ความใส่ใจกับขนาดของภาชนะบรรจุเดิมและภาชนะบรรจุใหม่

แผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตอนที่ 2)
(Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Control Plans)

ศิริพร วันฟั่น

          ในตอนแรกนั้นได้กล่าวถึง องค์ประกอบแรกของแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย คือ มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสำหรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Precaution Measures) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ (Storage) และการขนส่ง (Transportation) กันไปแล้ว

          ในตอนแรกนั้นได้กล่าวถึง องค์ประกอบแรกของแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย คือ มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสำหรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill/Leak Prevention and Precaution Measures) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ (Storage) และการขนส่ง (Transportation) กันไปแล้ว

ดังนั้นในตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือคือ การเคลื่อนย้าย (Transfers) การดำเนินการและใช้งาน (Handling & Usage) และการกำจัด (Disposal) นอกจากนี้แล้ว ก็จะขอกล่าวต่อไปถึงองค์ประกอบที่สองของแผนงานฯ นั่นก็คือ มาตรการควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill/Leak Control Measures)

1.3 การเคลื่อนย้าย (Transfers)
          ในที่นี้จะหมายถึง การถ่ายเท (Decanting) วัตถุอันตรายหรือสารเคมีอันตรายจากภาชนะบรรจุเดิมไปสู่ภาชนะบรรจุอื่น เช่น ถ่ายเทปริมาณสารเคมีทั้งหมดจากถังบรรจุเก่าที่ใกล้เสื่อมสภาพไปยังถังบรรจุใหม่ที่มีขนาดเท่าเดิมหรือมีขนาดใหญ่กว่า หรือเป็นการถ่ายเทปริมาณสารเคมีเพียงบางส่วนจากภาชนะบรรจุเดิมที่มีขนาดใหญ่ไปยังภาชนะบรรจุที่มีขนาดเล็กกว่า

          - ในทุก ๆ ครั้ง เมื่อจำเป็นต้องมีการถ่ายเทวัตถุอันตรายหรือสารเคมีอันตรายจากภาชนะบรรจุเดิมไปสู่ภาชนะบรรจุอื่น ๆ ก่อนเริ่มดำเนินการนั้น ควรให้ความใส่ใจกับขนาดของภาชนะบรรจุเดิมและภาชนะบรรจุใหม่ ซึ่งต้องสามารถและมีความเหมาะสมที่จะรองรับการถ่ายเทนั้นได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการไหลล้น และยังต้องตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของภาชนะบรรจุเดิมและภาชนะที่มารองรับโดยต้องไม่ให้มีรูรั่วและทำด้วยวัสดุโครงสร้างที่เข้ากันได้กับสารอันตราย (Compatibility) รวมถึงพึงกระทำอย่างระมัดระวัง และเฝ้าติดตามอยู่ตลอดจนเสร็จสิ้นกระบวนการถ่ายเท

          - การถ่ายเทวัตถุอันตรายหรือสารเคมีอันตรายจากจากภาชนะบรรจุเดิมไปสู่ภาชนะบรรจุอื่น ๆ ควรพิจารณาใช้ปั๊ม (Pumps) หรือกาลักน้ำ (Siphoning) หรือเครื่องมือกลไกอื่น ๆ มากกว่าการใช้วิธีริน (Pouring) โดยตรงไปยังภาชนะบรรจุใหม่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระเพื่อมจนกระเด็นหรือกระฉอกใส่ผู้ปฏิบัติงาน หรือหกเลอะได้

          - ถ้าจำเป็นต้องใช้วิธีรินจากภาชนะบรรจุที่มีขนาดใหญ่ (เช่น ถังบรรจุ) ก็ต้องมีอุปกรณ์ช่วยประคองรองรับน้ำหนักเพื่อให้มีความมั่นคงไม่เคลื่อนไหวไปมา รวมถึงมีอุปกรณ์รองรับการหกเลอะไว้ข้างใต้ เช่น ถาดรอง (Spill Trays) (ดูรูปประกอบ)

การถ่ายเทสารอันตรายโดยใช้การรินจากภาชนะบรรจุที่มีขนาดใหญ่ ควรมีอุปกรณ์ช่วยประคองรองรับน้ำหนัก และมีอุปกรณ์รองรับการหกเลอะไว้ข้างใต้ เช่น ถาดรอง (Spill Trays)

          - ไม่ควรมีการแบ่งบรรจุสารเคมีอันตรายภายในคลังสินค้า ควรให้มีการเบิกจ่ายไปทั้งภาชนะบรรจุแล้วทำการแบ่งใช้ในบริเวณหน่วยผลิตหรือหน่วยงานที่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีการควบคุมที่ดีกว่า

          - เมื่อจะมีการถ่ายเทของเหลวไวไฟ (Flammable Liquid) จากถังบรรจุ ต้องมั่นใจว่าทั้งถังบรรจุเดิมและภาชนะบรรจุที่มารองรับนั้น มีการต่อสายดินและพ่วงกัน (Grounded & Bonded) เพื่อป้องกันการระเบิดที่มีสาเหตุเริ่มมาจากการสปาร์กของไฟฟ้าสถิตย์ (Static Electric Spark)

1.4 การดำเนินการและใช้งาน (Handling & Usage)
          - ก่อนเริ่มทำงานทุกครั้ง ควรมีการวางแผนงานล่วงหน้าเสมอ ตรวจสอบความพร้อมทั้งตัวผู้ปฏิบัติงาน เครื่องมือ ระบบกลไก อุปกรณ์ และรับรู้ประเภท อันตรายและวิธีป้องกันจากสารอันตรายที่ต้องใช้งานหรือเกี่ยวข้อง มีเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) มั่นใจว่ารับทราบและสามารถที่จะเข้าถึงตำแหน่งที่เก็บชุดอุปกรณ์ควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) รับรู้และปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นตอนปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย (Standard Operating Procedures: SOP) อย่างเคร่งครัด รวมถึงรับรู้ขั้นตอนรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Procedures)

          - พื้นที่ปฏิบัติงานต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ไม่มีสิ่งของหรือภาชนะบรรจุสารอันตรายวางระเกะระกะบนทางเดินหรือวางหมิ่นเหม่บนโต๊ะทำงาน ที่อาจทำให้เกิดการสะดุด หรือภาชนะบรรจุตกหล่น จนแตกหรือพลิกคว่ำ อันอาจนำมาซึ่งการหกเลอะหรือรั่วไหลได้

          - เลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้งานกับสารอันตรายที่มีความคงทน สามารถลดความเสี่ยงจากการแตกหักได้ เช่น ภาชนะเครื่องแก้วที่ทนไฟ (Pyrex)

          - คำนวณปริมาณสารอันตรายเท่าที่จำเป็นต่อการใช้งานในแต่ละช่วงระยะเวลาการทำงาน (เช่น รายสัปดาห์) ไม่ควรเก็บสำรองไว้ในพื้นที่งานเกินความจำเป็น

1.5 การกำจัด (Disposal)
          - ต้องมีการวางแผนงานตั้งแต่ต้นโดยการจะนำสารอันตรายชนิดใด ๆ มาใช้งานนั้น ต้องรับทราบวิธีการกำจัดหรือทิ้งสารอันตรายชนิดนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสมตามที่ผู้ผลิตหรือทางการระบุไว้อย่างแน่ชัดเสียก่อน และควรจัดทำแผนงานกำจัดสารอันตรายที่เป็นของเสียหรือของเหลือใช้ ที่ระบุถึงวิธีการปฏิบัติโดยละเอียด ตั้งแต่การรวบรวม การคัดแยกประเภท การขนส่ง และการทำลายที่เหมาะสม

มีการกำหนดตารางเวลาในการตรวจสอบปริมาณและการกำจัดตามลำดับความเหมาะสมสำหรับสารอันตรายแต่ละชนิดที่จะถูกกำจัด รวมไปจนถึงมาตรการจัดการกับภาชนะบรรจุที่ไม่ปรากฏฉลากติดอยู่ และข้อควรระวังในการใช้สารอันตรายระหว่างการทำงานตามปกติ เช่น การใช้ถังขยะ หรือการทิ้ง หรือชะล้างสารเคมีลงท่อระบายน้ำ เป็นต้น

          - จัดเก็บสารอันตรายที่รอการกำจัดหรือรอทิ้งให้แยกออกจากวัสดุเหลือใช้หรือขยะทั่วไป และอยู่ในสถานที่จัดเก็บที่มีหลังคาหรือสิ่งกำบัง เพราะการปล่อยทิ้งไว้เผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงภายนอก (เช่น ฝนตก อากาศร้อน น้ำท่วม) อาจมีผลต่อการเสื่อมสภาพของภาชนะบรรจุแล้วรั่วไหลออกมาได้

          - เลือกภาชนะบรรจุที่ทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมสำหรับบรรจุสารอันตรายที่รอการกำจัดหรือรอทิ้ง เพื่อป้องกันการกัดกร่อนที่จะทำให้ภาชนะบรรจุรั่วได้ มีฝาปิดสนิท (อย่าทิ้งกรวยไว้ที่ปากภาชนะบรรจุ) รวมถึงปิดฉลากบนภาชนะบรรจุสารอันตรายทุกชิ้นที่รอการกำจัดให้ชัดเจน และจัดทำป้ายเตือนให้รับรู้

          - หากต้องการเก็บสารอันตรายที่รอการกำจัดโดยการเทผสมรวมกัน ควรแน่ใจว่าสารอันตรายที่จะเทผสมลงไปนั้นเข้ากันได้ โดยจะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องใด ๆ ที่จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นมา

          - แยกกำจัดสารเคมีที่ละลายน้ำได้ออกจากสารเคมีอินทรีย์ เนื่องจากสารเคมีที่ละลายน้ำได้มักจะสามารถกำจัดได้ในระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงงานโดยทั่วไป ส่วนสารเคมีอินทรีย์ที่ไม่ละลายน้ำมักจะต้องใช้วิธีการกำจัดแบบพิเศษ

          - สำหรับขวดที่ใช้บรรจุของเหลวที่รอการกำจัด ควรมีพื้นที่ว่างในขวดเหลืออยู่อย่างน้อย 20 % เพื่อรองรับการขยายตัวของไอระเหยที่เกิดขึ้นภายในขวด และเพื่อลดโอกาสจากการหกไหลอันเนื่องมาจากการพลั้งเผลอเติมจนไหลล้นขวด

2. มาตรการควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazardous Materials Spill / Leak Control Measures)
          จะมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ 2 ส่วนคือ การเตรียมความพร้อมรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Preparation) และขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Procedures)

2.1 การเตรียมความพร้อมรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Preparation)
ประกอบไปด้วยองค์ประกอบย่อย 5 ประเด็นด้วยกันคือ

2.1.1 บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ (Roles & Responsibility) ควรมีกำหนดตัวบุคคลและระบุถึงบทบาทภาระหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันและลดความวุ่นวายสับสนในยามที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

• หน่วยงาน (Departments)
          - ดำเนินมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงต่อการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย

          - พัฒนาขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล ที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ (Site-specific) ที่มีการใช้หรือจัดเก็บวัตถุอันตรายที่แสดงถึงความเสี่ยงเฉพาะอันขึ้นอยู่กับการสัมผัส เช่น หน่วยงานการผลิต หน่วยงานคลังสินค้า หน่วยงานซ่อมบำรุง ฯลฯ

          - ระบุตัวบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นสมาชิกของทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazmat Spill Response Team) และพร้อมให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

• ผู้ปฏิบัติงานทั่วไป (Workers)
          - ผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ส่วนที่มีโอกาสเกิดเหตุหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย ควรมีบทบาท ภาระหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย ด้วยความระมัดระวังในแต่ละช่วงของกิจกรรมการทำงาน เพื่อที่จะมีส่วนช่วยในการป้องกันและลดโอกาสหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย (ตามที่ได้กล่าวไว้ในส่วนของมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสำหรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย)

          - ให้ความร่วมมือกับหัวหน้างานและทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ในการที่จะดำเนินการตามแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายในพื้นที่งานของตนเอง

• หัวหน้างานตามสายงาน (Line Supervisors)
          - มั่นใจว่ามีจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมในการรับมือกับเหตุหกรั่วไหลอย่างเพียงพอสำหรับพื้นที่งานที่รับผิดชอบ

          - จัดสรรการฝึกอบรมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับพื้นที่งานที่รับผิดชอบ (Site-specific Training)

          - มั่นใจว่ามีอุปกรณ์รับมือเหตุหกรั่วไหลที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับพื้นที่งานที่รับผิดชอบ

          - ดำเนินการในทุกขั้นตอนที่จำเป็นต่อการลดโอกาสการเกิดเหตุหกเลอะหรือรั่วไหล เมื่อยามที่ต้องทำงานกับวัตถุอันตราย (ตามที่ได้กล่าวไว้ในส่วนของมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสำหรับการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย)

          - ให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน และทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ในการที่จะดำเนินการตามแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายในพื้นที่งานที่รับผิดชอบ

• ทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย (Hazmat Spill Response Team)
          - จัดตั้งและรวบรวมทีมงาน โดยมีการคัดเลือกหัวหน้าทีม รองหัวหน้า ผู้ประสานงาน และสมาชิกที่มาจากแต่ละหน่วยงานที่มีโอกาสเกิดเหตุหกรั่วไหล (ควรพิจารณาถึงบุคคลสำรองในแต่ละตำแหน่งไว้ด้วย) ทั้งนี้อย่างน้อย ๆ ควรมีสมาชิกทีมงานฯ 2 คน ในแต่ละกะทำงานหรือพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ปฏิบัติงาน และผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกของทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ จะต้องประสานความช่วยเหลือในยามเกิดเหตุขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการเรียกกำลังเสริมและการเตรียมพร้อมในช่วงของการทำงานล่วงเวลาด้วย

          - ทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานรับมือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Response Teams) โดยมีหน้าที่หลักในการเข้าระงับเหตุฉุกเฉินประเภทการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย ให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน หรือพื้นที่งานที่เกิดเหตุ

โดยขอบเขตภาระหน้าที่ของทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใด ๆ ในการรับมือกับวัตถุอันตรายที่หกรั่วไหลนั้น อาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามแต่นโยบายและข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน (เช่น จำนวนบุคลากรในหน่วยงาน ระดับของการฝึกอบรมลักษณะงาน ความเสี่ยง หรือชนิดของวัตถุอันตราย) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยทั่วไปแล้วจะจำกัดอยู่ที่ระดับความเสี่ยงของเหตุการณ์และขีดความสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างปลอดภัย

ซึ่งถ้าพิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าอยู่นอกเหนือขีดความสามารถที่จะควบคุมไว้ได้ เช่น ระดับความเสี่ยงเชื่อมโยงกับโอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้ ระเบิด ปฏิกิริยาเคมีที่ไม่ทราบ การรั่วไหลอย่างต่อเนื่องจากท่อส่งสารอันตราย หรืออันตรายใด ๆ ที่มีวี่แววว่าไม่สามารถที่จะควบคุมไว้ได้ ก็ต้องรีบติดต่อประสานงานขอคำชี้แนะจากผู้ชำนาญการหรือส่งมอบภารกิจให้หน่วยงานระงับเหตุอุบัติภัยสารอันตรายจากภายนอก (อาจเป็นหน่วยงานเอกชนหรือของรัฐฯ) เข้าดำเนินการแทนอย่างเร่งด่วน

          - จัดสรรการฝึกอบรมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับพื้นที่งานที่รับผิดชอบ (Site-specific Training) ให้กับบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติการกับวัตถุอันตรายและผู้ที่มีความเสี่ยงในการเข้ามาข้องเกี่ยวในเหตุการณ์หกรั่วไหลหรือเหตุฉุกเฉิน

          - ดำเนินการตรวจสอบตามปกติสำหรับพื้นที่งานต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีความเหมาะสมกับวัตถุหรือสารอันตรายที่ใช้ดำเนินการในพื้นที่นั้น ๆ

          - จดบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ การฝึกอบรม และการบำรุงรักษาชุดอุปกรณ์ควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits)

          - ทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ทุกคนต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะในยามที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงนั้นอาจจะต้องใช้ทั้งสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง และการตัดสินใจที่เด็ดขาด ถูกต้อง (โดยอยู่บนพื้นฐานของความมีสติ รอบคอบและมีไหวพริบ)

เพราะถ้ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular System) หรือการทำงานของปอด (Pulmonary Function) ก็อาจประสบปัญหาในยามที่จำเป็นต้องใช้เครื่องป้องกันระบบหายใจ (Respiratory Protection) ได้ ดังนั้นจึงควรดำเนินการทดสอบและพิจารณากลั่นกรองด้วยความรอบคอบในการคัดเลือกสมาชิกของทีมงานฯ ทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อความมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยของทีมงานนั่นเอง

          • หน่วยงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Occupational Safety Health & Environment: OSHE Department)
          - จัดสรรการฝึกอบรมให้กับบุคลากรในแต่ละหน่วยงานที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกของทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ และผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ที่อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมในระดับนี้ ซึ่งประเด็นในการฝึกอบรมจะเกี่ยวข้องกับการทบทวนแนวทางดำเนินการตามแผนงานป้องกันและควบคุมการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตราย

การประเมินอันตราย การใช้และการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การฝึกอบรมตามขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล ขั้นตอนการรายงานสถานการณ์ และการทบทวนบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ

          - ให้ความช่วยเหลือต่อหน่วยงานและทีมงานรับมือกับเหตุหกรั่วไหลฯ ในการพัฒนาขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหลเฉพาะพื้นที่ (Site-specific Spill Response Procedures) และชุดอุปกรณ์ควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits)

          - เข้าดำเนินการทันทีเมื่อเหตุหกรั่วไหลอยู่นอกเหนือขีดความสามารถของบุคลากรในแต่ละพื้นที่หรือหน่วยงานใด ๆ ที่จะระบุถึงรายละเอียดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

          - ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์เพื่อค้นหาสาเหตุทางตรง ทางอ้อม และสาเหตุมูลฐาน (Root Causes) และให้ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมการป้องกันล่วงหน้า (Preventative Recommendations) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก

2.1.2 ข้อมูลบ่งบอกอันตราย (Hazard Information) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ก่อนที่จะมีการดำเนินการใด ๆ กับวัตถุหรือสารอันตรายทุก ๆ ส่วนของพื้นที่งาน ควรที่จะมีการเรียนรู้และรับทราบถึงอันตรายของวัตถุหรือสารอันตรายนั้น ๆ ที่สามารถปรากฏออกมาในแต่ละช่วงกิจกรรมดำเนินการของผู้ปฏิบัติงานและในช่วงปฏิบัติการของทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ

โดยต้องมีการชี้บ่งอันตราย (Hazard Identification) หรือคุณสมบัติ (Properties) ของอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นของสารอันตรายชนิดนั้น ๆ รวมถึงมีการประเมินผลลัพธ์ (Consequence Evaluation) ของการหกเลอะหรือรั่วไหลของวัตถุอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในการวางแผนก่อนเริ่มทำงานและการเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนั้น ยังต้องมีการพิจารณากลุ่มอันตราย (Hazard Class) ของสารอันตรายทั้งหมดที่จะใช้ดำเนินการด้วยเช่นกัน โดยคุณสมบัติของสารอันตรายที่มักจะเป็นสิ่งที่ควรตระหนักมากที่สุดในยามที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุหกรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้น นั่นก็คือ ความไวไฟ (Flammability) ความสามารถในการทำปฏิกิริยากับอากาศหรือน้ำ (Reactivity to Air or Water) การกัดกร่อน (Corrosion) และความเป็นพิษสูง (High Toxicity)

          แหล่งที่มาของข้อมูลบ่งบอกอันตรายอาจจะได้มาจากหลาย ๆ ทาง เช่น ผู้ผลิต หนังสืออ้างอิง ผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐฯ รวมทั้งสถิติที่ผ่านมาของอุบัติเหตุหกรั่วไหลในแต่ละหน่วยงานหรือพื้นที่งาน เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) สัญลักษณ์ (Signs) ฉลากบรรจุภัณฑ์ (Container Labels) โปสเตอร์ (Posters) หรือเอกสารอ้างอิง (Reference Sheets) ฯลฯ ต้องมีการตรวจสอบ ปรับปรุงให้มีความทันสมัยและพร้อมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกเมื่อ รวมทั้งมีการสื่อสารข้อมูลอันตรายเหล่านี้ไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้รับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงกัน

2.1.3 จัดเตรียมความพร้อมใช้งานของวัสดุและอุปกรณ์ (Make Materials and Equipment Available) โดยทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ ต้องรับผิดชอบในการที่จะมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้รับมือการหกรั่วไหล (Spill Response Equipment) มีอย่างเพียงพอและถูกเก็บรักษาไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมของแต่ละหน่วยงานหรือพื้นที่งาน

โดยอุปกรณ์ที่กล่าวถึงนี้ยังจะรวมไปถึงอุปกรณ์ปฐมพยาบาล (First-aid Equipment) อุปกรณ์ขจัดสิ่งปนเปื้อนผู้ประสบเหตุ (เช่น อ่างล้างตาฉุกเฉิน ฝักบัวฉุกเฉิน) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) อุปกรณ์ทำความสะอาดสารหกรั่วไหล (Spill Cleanup Supplies) อุปกรณ์จำกัดการเข้าพื้นที่เกิดเหตุ และวัสดุ/อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยเอื้ออำนวยการควบคุมหรือวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดหรือตรวจจับก๊าซแบบพกพา (Portable Gas Monitor)

แผนผังสถานที่ปฏิบัติงานหรือพื้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่แสดงถึงตำแหน่งที่ตั้งและปริมาณทั้งหมดของสารอันตราย เส้นทางอพยพ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อพร้อมรายชื่อทีมงานรับมือเหตุฉุกเฉิน หน่วยงานกลางทีมงานรับเหตุฉุกเฉินและหน่วยงานระงับเหตุอุบัติภัยสารอันตรายจากภายนอก ตำแหน่งที่ตั้งของสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด คู่มือขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล รวมถึงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) เป็นต้น

รวมทั้งตรวจสอบระบบการควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Control Systems) ว่ายังมีประสิทธิภาพในการทำงานอยู่หรือไม่ (เช่น ระบบระบายอากาศทั่วไป ระบบระบายอากาศเฉพาะแห่ง หรือตู้ดูดควัน) ทั้งนี้ชนิดของชุดอุปกรณ์ควบคุมการหกรั่วไหล (Spill Kits) ควรที่จะปรับใช้ให้เหมาะสม โดยพิจารณาอยู่บนลักษณะเฉพาะของอันตรายและข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงานหรือพื้นที่งาน

2.1.4 การฝึกอบรม (Training) ในการจัดฝึกอบรมนั้น ดำเนินการโดยหน่วยงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมของสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีหรือเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานผู้ชำนาญการภายนอก (เช่น หน่วยงานระงับเหตุอุบัติภัยสารอันตราย) มาฝึกอบรมให้ โดยผู้ที่ควรจะได้รับการฝึกอบรมคือ ทีมงานรับมือเหตุหกรั่วไหลฯ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุหกรั่วไหลขึ้นได้

ทั้งนี้หลักสูตรการฝึกอบรมอาจจะมีได้หลายระดับ เช่น ฝึกอบรมพื้นฐานความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัตถุหรือสารอันตรายที่ใช้ดำเนินการในสถานที่ปฏิบัติงาน ฝึกอบรมขั้นตอนการเข้าระงับเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายในระดับพื้นฐานหรือระดับผู้ชำนาญการ และฝึกอบรมขั้นตอนดำเนินการเข้าระงับเหตุหกรั่วไหลของสารอันตรายที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับพื้นที่งานที่รับผิดชอบ (Site-specific Training) เป็นต้น

ทั้งนี้การฝึกอบรมควรจะมีทั้งแบบการถ่ายทอดความรู้ (Hand-on Training) และการจำลองสถานการณ์ (Mock Spills Training) รวมถึงควรมีการฝึกอบรมซ้ำเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจในเนื้อหา (Refresher Training) และมีการฝึกฝนปฏิบัติการ (Drills) อยู่เป็นระยะ ตลอดจนจดบันทึกผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมในแต่ละครั้งด้วย ส่วนเนื้อหาในการฝึกอบรมนั้น ควรรวมถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย เช่น

          - ลักษณะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุหกรั่วไหลของสารอันตราย

          - ตำแหน่งที่ตั้งหรือที่จัดเก็บของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้รับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Equipments) เช่น เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) อุปกรณ์ทำความสะอาดสารหกรั่วไหล (Spill Cleanup Supplies) ฯลฯ

          - วิธีใช้งานและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ได้อย่างเหมาะสม

          - วิธีดำเนินการอพยพ (Evacuation) ออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ และศึกษาเส้นทางอพยพ (Evacuation Routes)

          - กรรมวิธีในการติดต่อสื่อสารในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Communication Methods)

          - การใช้อุปกรณ์ดับเพลิงและการปฐมพยาบาล

          - การตรวจสอบ (Inspection) และการบำรุงรักษา (Maintenance) อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้รับมือเหตุหกรั่วไหล

          - ขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Procedures)

          - วิธีจำกัดการเข้าพื้นที่เกิดเหตุ โดยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เชือกหรือสายเทป ป้ายเตือน

          - วิธีการทำความสะอาด (Cleanup) สารหกรั่วไหลและพื้นที่เกิดเหตุ การขจัดสิ่งปนเปื้อน (Decontamination) ทั้งอุปกรณ์และตัวผู้สัมผัสได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการกำจัด (Disposal) ภาชนะบรรจุวัสดุที่ใช้ในการทำความสะอาดสารหกรั่วไหลและกากที่เหลือ (Residue)

          - เทคนิควิธีในการควบคุมเหตุหกรั่วไหล (Spill Control Techniques) เช่น การจำกัดวง (Containment) การดูดซับ (Absorption) การทำให้เป็นกลาง (Neutralization) และการเจือจาง (Dilution)

          - ศึกษาและเรียนรู้เหตุหกรั่วไหลในอดีตทั้งที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงาน หรือภายนอกที่มีการดำเนินการกับสารอันตรายตัวเดียวกับที่ใช้งานอยู่หรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน รวมถึงพิจารณาความเหมาะสมของวิธีดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหลนั้นที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

2.1.5 เขียนขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Write Spill Response Procedures) ซึ่งจะอธิบายถึงการกระทำ (Actions) ในแต่ละขั้น (Step) ตามลำดับ และอาจจะเขียนแผนภูมิ (Flowchart) แสดงหัวข้อขั้นตอนดำเนินการตามลำดับตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นกระบวนการ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น

โดยขั้นตอนดำเนินการที่เขียนขึ้นนี้ อาจจะมีเฉพาะขั้นตอนดำเนินการพื้นฐานในการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Basic Spill Response Procedures) หรือเพิ่มเติมขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหลเฉพาะพื้นที่ (Site-specific Spill Response Procedures) ด้วยก็ได้ (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) ทั้งนี้ควรมีการทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหลให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ

2.2 ขั้นตอนดำเนินการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Spill Response Procedures) เมื่อเกิดเหตุหกรั่วไหลของวัตถุหรือสารอันตราย บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์หรืออยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุต้องดำเนินการอย่างว่องไว เพื่อที่จะเป็นการลดความรุนแรงหรือความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการกระทำใด ๆ ในการรับมือเหตุหกรั่วไหล จะขึ้นอยู่กับขอบเขต (Magnitude) ความซับซ้อน (Complexity) และระดับ (Degree) ของความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการหกรั่วไหลนั้น

ขั้นตอนดำเนินการพื้นฐานในการรับมือเหตุหกรั่วไหล (Basic Spill Response Procedures)

1. ถอยห่างในระยะปลอดภัยจากที่เกิดเหตุและแจ้งเตือนผู้อยู่ใกล้เคียง (Stay Clear and Warn Others) เมื่อสังเกตเห็นหรือประสบเหตุหกเลอะหรือรั่วไหลของสารอันตราย (เช่น จากภาชนะบรรจุ ถังบรรจุ หรือจากอุปกรณ์ที่ดำเนินการ) ควรถอยห่างอยู่ในระยะที่ปลอดภัย (พึงระลึกไว้เสมอว่า สารอันตรายบางประเภทสามารถที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นการหกรั่วไหลปริมาณน้อยก็ตาม) และรีบแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในที่เกิดเหตุหรือพื้นที่ใกล้เคียงโดยทันที

ในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นต้องเปิดสัญญาณเตือนภัยเพื่ออพยพออกนอกพื้นที่งานไปตามเส้นทางอพยพ (Evacuation Routes) ไปสู่พื้นที่ปลอดภัยหรือจุดรวมพล (Assembly Point) ดังที่เคยฝึกซ้อมและมีระบุไว้ในแผนงานอพยพซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานรับมือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Response Plan)

นอกจากนี้อาจต้องพยายามปิดการทำงานหรือเคลื่อนย้ายแหล่งจุดติดไฟ (Ignition Sources) (ถ้าสามารถกระทำได้โดยปลอดภัย) ให้ห่างจากที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการหกรั่วไหลของสารไวไฟ (Flammable Substances) หรือสารอันตรายที่ลุกไหม้ได้ (Combustible Substances) และหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดการสปาร์ก (Spark) หรือไฟฟ้าสถิตย์ (Static Electricity)

และถ้าสารอันตรายที่หกรั่วไหลเป็นสารระเหย (Volatile Substances) หรือสามารถก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งอากาศ (Airborne Dusts) ก็ต้องปิดประตู หน้าต่าง และเพิ่มการทำงานของระบบระบายอากาศเฉพาะแห่ง (เช่น ปล่องดูดควัน-Fume Hoods) เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของไอระเหยและฝุ่นไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และในบางกรณีก็อาจมีความจำเป็นต้องหยุดการทำงานทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ถ้าพิจารณาแล้วว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นส่อเค้าจะมีความรุนแรง และเพื่อลดความโกลาหลและเอื้ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการของทีมงานรับมือเหตุฉุกเฉิน

          (2.) ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือปนเปื้อนจากสารอันตรายที่หกรั่วไหล (Assist injured or Contaminated Persons) ทำการเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บหรือปนเปื้อนออกจากที่เกิดเหตุ ให้การปฐมพยาบาล (First-Aid) โดยทีมงานหรือผู้ที่ผ่านหลักสูตรการปฐมพยาบาลมาแล้ว

ส่วนผู้ได้รับการปนเปื้อนก็ทำการขจัดการปนเปื้อนตามความเหมาะสม (เช่น ใช้อ่างล้างตาฉุกเฉินกรณีที่สารอันตรายกระเด็นใส่ตา หรือใช้ฝักบัวฉุกเฉินกรณีที่สารอันตรายหกรด หรือกระเด็นตามเนื้อตัว) ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือปนเปื้อนในที่เกิดเหตุนั้น ต้องพิจารณาอยู่บนหลักการที่ว่า การกระทำเช่นนั้นต้องไม่เป็นการนำตัวเองเข้าไปเผชิญอันตรายและตกเป็นเหยื่อเสียเอง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

อันเนื่องมาจากปราศจากความรู้และเข้าใจถึงอันตรายของสารที่หกรั่วไหลนั้น รวมทั้งไม่ได้มีการป้องกันตัวเองจากอันตรายนั้นอย่างเพียงพอ เช่น สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และถ้ามีการพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical) ก็ต้องรีบแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินจากภายนอกอย่างเร่งด่วนทันทีที่เกิดเหตุ

เอกสารอ้างอิง
          - Spill or Leak-Emergency Preparedness; Canada Center for Occupational Health and Safety (CCOHS) 2008

          - Leak Detection Methods for Underground Storage Tanks by Gerald Musy, Jul 2008

          - Storage Tank Spill Prevention; Mott Tank Inspection, INC., March 2008

          - Chemical Spill Response Guideline; Office of Environmental Health & Safety, Occupational Hygiene & Chemical Safety Division, 2004

          - การจัดการความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี โดย รศ.ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2543

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด