ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จขององค์กรก็คือ คนในองค์กร หากคนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ก็จะช่วยให้เกิดคุณภาพงานนำไปสู่คุณภาพของสินค้าและบริการขององค์กร
MS-QWL 1: 2008
มาตรฐานการจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จขององค์กรก็คือ คนในองค์กร ดังนั้นหากคนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ก็จะช่วยให้เกิดคุณภาพของงานที่ทำและนำไปสู่คุณภาพของสินค้าและบริการขององค์กรตามมา รวมถึงช่วยให้เกิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนทำงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำมาตรฐานการจัดการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานต่อไป
ในบทความนี้ ได้ทำการเรียบเรียงจากข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน โดยมุ่งหวังที่จะให้มีการเผยแพร่มาตรฐานนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีการนำไปใช้งานอย่างทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้คนที่จะได้ใช้ชีวิตในการทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร สังคม และประเทศชาติต่อไป หากผู้อ่านมีความสนใจในรายละเอียดและต้องการที่จะนำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติ สามารถดูได้จาก www.qwthai.com
มาตรฐาน MS-QWL
มาตรฐาน MS-QWL หรือ Management System of Quality of Work Life คือมาตรฐานการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงานที่จัดทำขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้องค์กรนำไปใช้ในการจัดการ ควบคุม และพัฒนาระบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตให้กับคนทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน คำว่า คุณภาพชีวิต (Well Being) ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ได้ระบุไว้ว่า คุณภาพชีวิต หมายถึง การดำรงชีวิตอยู่ด้วยการมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ และมั่นคง โดยครอบคลุมถึงสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน อันได้แก่
1. สุขภาวะทางกาย (Physical Well Being)
ภาวะการรับรู้ และดำรงรักษาสุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยมีการปฏิบัติกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์ไว้
2. สุขภาวะทางอารมณ์ (Emotional Well Being)
ภาวะการรับรู้ของสภาพอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น และสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม และสร้างสรรค์
3. สุขภาวะทางสังคม (Social Well Being)
ภาวะการรับรู้เรื่องการมีสัมพันธภาพของตนกับบุคคลอื่น ทั้งในกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมงานและต่อสาธารณะชน
4. สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Well Being)
ภาวะการรับรู้ของความรู้สึกสุขสงบและภูมิใจในงานที่ทำ มีความพึงพอใจในการดำรงชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของชีวิต รวมทั้งการมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่มีความหมายสูงสุดในชีวิต
มาตรฐาน MS-QWL นี้ พัฒนาขึ้นโดยอาศัยเครื่องมือในการวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL-100: World Health Organization Quality of Life) และข้อกำหนดในลักษณะของระบบการบริหารจัดการของระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS 18001) เป็นแนวทางในการจัดทำ
ข้อกำหนดระบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน
ในมาตรฐาน MS-QWL ได้มีการจัดแบ่งข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงานออกเป็น 6 ข้อกำหนดใหญ่ ๆ ประกอบด้วย
1. ข้อกำหนดทั่วไป
2. นโยบายด้านคุณภาพชีวิตการทำงาน
3. การวางแผน
4. การดำเนินการปฏิบัติ
5. การตรวจสอบ และการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ
6. การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร
1. ข้อกำหนดทั่วไป
ในข้อกำหนดทั่วไปนี้ จะระบุให้องค์กรมีการจัดทำเอกสารที่แสดงถึงการปฏิบัติ และดูแลรักษาระบบบริหารจัดการคุณภาพชีวิตในการทำงาน รวมถึงการปรับปรุงความมีประสิทธิผลของระบบอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้ในมาตรฐานนี้ โดยจะต้องไม่ขัดแย้งกับข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
2. นโยบายด้านคุณภาพชีวิตคนทำงาน
ข้อกำหนดนี้ จะระบุให้ฝ่ายบริหารขององค์กรทำการกำหนดนโยบายด้านคุณภาพชีวิตคนทำงาน เพื่อแสดงถึงแนวทางในการจัดการด้านคุณภาพชีวิตของคนทำงาน โดยจะต้องมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ลักษณะและประเภทขององค์การ
2. การปรับปรุงและพัฒนาในด้านคุณภาพชีวิต คนทำงานอย่างต่อเนื่อง
3. การสนับสนุนให้มีการดำเนินการจัดทำ และดูแลระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพชีวิตการทำงาน โดยจะต้องมีการสื่อสาร และทำความเข้าใจให้กับคนทำงาน และมีการเผยแพร่ให้แก่บุคคลภายนอกที่สนใจด้วย
ในการกำหนดนโยบาย จะพิจารณาถึง ขนาด ประเภทของธุรกรรมนั้น ๆ วิธีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ลักษณะ สภาพสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ค่านิยมของคนทำงาน กฎหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ โอกาส และความเป็นไปได้ในการปรับปรุง ทรัพยากร และปัจจัยความต้องการต่าง ๆ
3. การวางแผน
ในกระบวนการวางแผนจัดทำระบบบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน จะประกอบด้วยกระบวนการย่อย ๆ ดังนี้
3.1 การวิเคราะห์ผล และปัจจัยที่มีผลต่อคนทำงาน
3.2 การพิจารณาข้อกฏหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
3.3 การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงาน
3.1 การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคนทำงาน
ในข้อกำหนดนี้ ต้องการให้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคนทำงาน เพื่อพิจารณาระดับของความเสี่ยงจากแหล่งปัจจัย และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงาน โดยจะนำมากำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับแหล่งปัจจัยและสภาพแวดล้อมเหล่านั้น
ทั้งนี้จะทำการวิเคราะห์ถึงงานที่ทำ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องในงาน โดยวิธีการที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ จะต้องมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะของขนาดแหล่งปัจจัยและสภาพแวดล้อม ครอบคลุมทั้งในสภาวะปกติ สภาวะผิดปกติ และสภาวะฉุกเฉิน
3.2 การพิจารณาข้อกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของข้อกฏหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทำงาน ทั้งในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สุขภาพ และการจ้างงาน จะต้องมีการกำหนดวิธีการให้ได้มาและปรับปรุงให้ทันสมัย รวมถึงมีการดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกฏหมายและข้อกำหนดเหล่านี้ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะต้องมีการสื่อสารให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบด้วย
ข้อกฏหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานที่สอดคล้องกับธุรกรรมขององค์กร ข้อบัญญัติทางศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น จารีตประเพณี เจตนารมณ์ด้านคุณภาพชีวิตขององค์กร แนวทางปฏิบัติทางด้านคุณภาพชีวิตคนทำงานตามประเภทธุรกิจ (Code of Conduct) อนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ที่รัฐได้ลงนามสิทธิจรรยาบรรณ และคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.3 การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงาน
เมื่อองค์กรมีการกำหนดนโยบายของระบบบริหารจัดการแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดขึ้น จะต้องเหมาะสมกับผลการวิเคราะห์ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อคนทำงาน รวมถึงมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนด้วย
การกำหนดเป้าหมายในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนทำงาน จะแบ่งตามสุขภาวะทั้ง 4 ประกอบด้วย
1. สุขภาวะทางกาย ได้แก่ พนักงานมีสุขภาพแข็งแรง การลดลงของเกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วย การสร้างเสริมสุขภาพในองค์การ การมีหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นต้น
2. สุขภาวะทางอารมณ์ ได้แก่ พนักงานทำงานอย่างมีความสุข สนุกในการทำงาน พนักงานมีทักษะในการจัดการกับความเครียดของตนเองได้ พนักงานมีความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) มากขึ้น รับรู้ถึงช่องทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ลดสาเหตุของการเกิดความเครียด เป็นต้น
3. สุขภาวะทางสังคม ได้แก่ พนักงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีมิตรภาพในการทำงาน มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เป็นต้น
4. สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ได้แก่ การลด ละ เลิกอบายมุขและสิ่งเสพติด มีความรู้รักสามัคคี รักองค์การ และภูมิใจในงานที่ทำ มีสติและปัญญาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต่าง ๆ ด้วยเหตุ ด้วยผลและด้วยสันติวิธี ยึดมั่นในหลักศาสนธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม ใจกุศล พอใจในตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงาน เพื่อที่จะสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ โดยแผนงานจะต้องมีการระบุถึงวิธีการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ และระยะเวลาในการดำเนินงานแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจนด้วย
4. การดำเนินการปฏิบัติ
ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการปฏิบัติ จะแบ่งออกเป็นข้อกำหนดย่อย ๆ ประกอบด้วย
4.1 การกำหนดโครงสร้าง บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ
4.2 การให้คำปรึกษาและการสื่อสาร
4.3 การพัฒนาความรู้ และทักษะชีวิต
4.4 การจัดเก็บรักษาบันทึก ข้อมูล และเอกสาร
4.5 การดูแลคนทำงาน
4.1 โครงสร้างบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ
องค์กรจะต้องมีการกำหนดโครงสร้างบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยจะต้องมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน และมีการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจทั่วถึงทั้งองค์กร
ทั้งนี้ในการกำหนดโครงสร้างบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ จะพิจารณาจากขนาด ผังนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิต ผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มีต่อคนทำงาน โครงสร้างการบริหารงานและใบกำหนดหน้าที่งานขององค์การ กฎหมายและข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบัญชีรายชื่อคนทำงาน
นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนของฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล หรือคณะบุคคลก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพชีวิตที่ได้จัดทำขึ้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
4.2 การให้การปรึกษา และการสื่อสาร
ในข้อกำหนดนี้ระบุให้องค์กรมีการจัดทำวิธีการในการรับ และแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้กับคนทำงาน ได้รับทราบและเข้าใจ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการระบบการบริหารจัดการด้วย มีการเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ของคนทำงาน
นอกจากนั้นจะต้องจัดให้มีการให้คำปรึกษาทั้งจากคนทำงานต่อองค์กร จากองค์กรสู่คนทำงาน และระหว่างคนทำงานด้วยกันเอง เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ และช่วยในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น
4.3 การพัฒนาความรู้และทักษะชีวิต
องค์กรจะต้องจัดให้มีการพัฒนาความรู้ และทักษะชีวิตให้กับคนทำงานในระดับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าทั้งกับตนเอง สังคม และองค์กร โดยการพัฒนานี้จะไม่เฉพาะทักษะในการทำงานทั้งหมด แต่ยังรวมไปถึงคุณภาพของการใช้ชีวิตด้วย ทั้งนี้รูปแบบและเนื้อหาที่นำมาใช้ในการพัฒนา จะต้องเหมาะสมกับคนทำงานในระดับต่าง ๆ ด้วย
4.4 การรักษาบันทึก ข้อมูล และเอกสาร
บันทึก ข้อมูล และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ จะต้องได้รับการจัดเก็บดูแลรักษาเป็นอย่างดี โดยมีการกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือนำไปใช้งานอย่างไม่เหมาะสม นอกจากนั้น เอกสารต่าง ๆ ควรจะได้รับการควบคุมตั้งแต่การจัดทำ การตรวจสอบ การแก้ไข และการอนุมัติใช้งาน รวมถึงมีการดูแลการเข้าถึงเอกสาร การนำมาใช้งาน และการเก็บดูแลรักษาอย่างเหมาะสมด้วย
4.5 การดูแลคนทำงาน
ในข้อกำหนดนี้ต้องการให้องค์กรได้มีการกำหนดวิธีการทำงานในการดูแลคนทำงานที่ได้รับ หรืออาจจะได้รับผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อม ที่มาจากผลของการวิเคราะห์ในแต่ละกิจกรรม รวมถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยครอบคลุมถึงสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สิทธิอันพึงมีพึงได้ที่เหมาะสมกับเพศ วัย เชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา เป็นต้น
ทั้งนี้มาตรการ หรือวิธีการในการดูแลคนทำงานที่กำหนดขึ้น จะต้องครอบคลุมทั้งสภาวะปกติทั่วไปของการทำงาน สภาวะผิดปกติ รวมถึงสภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยพิจารณาตามลำดับความสำคัญสำหรับปัจจัยที่มีผลต่อคนทำงาน ในกรณีของปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ทำบันทึกไว้เพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป
5. การตรวจสอบและป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ
ในส่วนของการตรวจสอบและการป้องกันการเกิดซ้ำ ก็จะมีข้อกำหนดย่อย ๆ ประกอบด้วย
5.1 การเฝ้าระวัง ตรวจสอบและวิเคราะห์
5.2 การดำเนินการเมื่อเกิดความผิดปกติ หรือข้อบกพร่องที่มีผลต่อคนทำงาน
5.3 การตรวจสอบระบบ
5.1 การเฝ้าระวัง ตรวจสอบและวิเคราะห์
ในข้อกำหนดแรกของการตรวจสอบและการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำนี้ จะเริ่มต้นจากการที่องค์กรจะต้องมีการกำหนดวิธีการในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และวิเคราะห์ถึง
1. ปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนทำงานทั้งทางสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยจะต้องสอดคล้องกับผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคนทำงาน
2. ผลการดำเนินงานและความคืบหน้าของวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้จัดทำขึ้น ในกรณีที่มีการใช้เครื่องมือวัดเพื่อตรวจวัด เครื่องมือวัดเหล่านั้น จะต้องได้รับการสอบเทียบและหรือทวนสอบอย่างเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ในการเฝ้าระวังจะอาศัยการกำหนดตัวชี้วัด (Indicator) ที่พิจารณาผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มีต่อคนทำงาน โดยให้เป็นการดำเนินการในเชิงรุก (Proactive) และนำผลจากการเฝ้าระวังมาทำการวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป
5.2 การดำเนินการเมื่อเกิดความผิดปกติหรือบกพร่องที่มีผลต่อคนทำงาน
ในกรณีที่เกิดความผิดปกติ หรือข้อบกพร่องที่มีผลต่อคนทำงานเกิดขึ้น องค์กรจะต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ รวมถึงมีวิธีการที่จะนำมาใช้ในการสอบสวน และจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กระบวนการที่กำหนดขึ้นจะประกอบด้วยการวิเคราะห์สาเหตุของความผิดปกติและความบกพร่องที่พบ และกำหนดวิธีการในการแก้ไขและป้องการการเกิดขึ้นซ้ำ โดยมาตรการที่กำหนดขึ้นจะต้องมีความเหมาะสมกับปัญหา และมีประสิทธิภาพในการดำเนินการด้วย
5.3 การตรวจสอบระบบ
ในการประเมินถึงความมีประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการ ปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงโอกาสในการปรับปรุงระบบ องค์กรจะต้องจัดให้มีวิธีการในการตรวจสอบระบบ โดยผลที่ได้นอกจากจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และปรับปรุงระบบแล้ว ยังนำเสนอให้กับผู้บริหารระดับสูง เพื่อรับทราบและทบทวนความมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางที่นำมาใช้ในการตรวจสอบระบบจะต้องมีความเหมาะสมทั้งในส่วนของจำนวน และคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบ เวลา ขนาดขององค์กร และปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ในการตรวจสอบระบบ ยังทำการพิจารณาถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิต ผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มีต่อคนทำงาน เอกสารต่าง ๆ ที่มีจัดทำขึ้น ขนาด ที่ตั้ง และประเภทขององค์การ
6. การทบทวนของฝ่ายบริหาร
ในการดูแลให้มั่นใจได้ว่าระบบบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน ยังมีความเหมาะสมเพียงพอ และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ผู้บริหารขององค์กรจะต้องมีการทบทวนระบบเป็นระยะ ๆ โดยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ นำมาประกอบการพิจารณา เพื่อปรับปรุงนโยบาย วัตถุประสงค์ เป้าหมาย การนำข้อกำหนดไปใช้งาน รวมถึงการหาโอกาสในการปรับปรุงระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์
โดยข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาพิจารณาทบทวน จะประกอบด้วย ผลจากการวิเคราะห์ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มีต่อคนทำงาน กฎหมายและข้อกำหนดอื่น วัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิต ขนาด ที่ตั้ง และประเภทขององค์การ ผลของการตรวจสอบระบบ รายงานการตรวจสอบ เฝ้าระวังและผลการวิเคราะห์ รายงานการสอบสวนความผิดปกติ ความบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
จากที่อธิบายจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดต่าง ๆ ในมาตรฐานนี้มีพื้นฐานของระบบบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกันกับมาตรฐาน ISO 9001 และมาตรฐาน OHSAS 18001 โดยอาจมีการเพิ่มข้อกำหนดเฉพาะเข้าไป ดังนั้นองค์กรที่มีการดำเนินงานหรือได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้อยู่แล้ว ก็สามารถที่จะขยายการบริหารจัดการ ให้ครอบคลุมถึงมาตรฐานระบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตนี้ได้อย่างง่ายดาย และเป็นประโยชน์ทั้งกับบุคลากรในองค์กร และตัวองค์กรเอง
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด