เนื้อหาวันที่ : 2011-11-02 18:41:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17135 views

บริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างไร ให้เกิดผล? (ตอนที่ 2)

หลังจากอันตรายต่าง ๆ ได้รับการชี้บ่งแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ เราจะป้องกันและควบคุมอันตรายเหล่านั้นอย่างไร

บริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างไร ให้เกิดผล? (ตอนที่ 2)
(Effective Occupational Heath and Safety Management Systems)

ศิริพร วันฟั่น

          ในตอนแรกของบทความ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่หนึ่งและสองของระบบการจัดการความปลอดภัยฯ คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Management Leadership and Employee Involvement) และการวิเคราะห์พื้นที่งาน (Worksite Analysis) กันไปแล้ว ในตอนที่สองนี้ จะขอกล่าวต่อถึงองค์ประกอบที่สาม อันได้แก่ การป้องกันและควบคุมอันตราย (Hazard Prevention and Control) และองค์ประกอบสุดท้ายคือ การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Safety and Health Training)

          3. การป้องกันและควบคุมอันตราย (Hazard Prevention and Control) หลังจากอันตรายต่าง ๆ ได้รับการชี้บ่งแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ เราจะป้องกันและควบคุมอันตรายเหล่านั้นอย่างไร วิธีหนึ่งที่ได้ผลก็คือ การทบทวนสภาพแวดล้อมในการทำงานตลอดจนวิธีปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็ทำการควบคุมและป้องกันอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน

โดยการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างละเอียดและสม่ำเสมอ ใช้กระบวนการติดตามแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากอันตรายนั้น ๆ ที่ทุก ๆ คนจะได้รับรู้ว่าต้องใช้งานและบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างไร จะได้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีแผนงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมกับลักษณะของสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

          ควรจัดตั้งและดำเนินการชี้บ่งตามลำดับขั้นอย่างถูกต้อง เหมาะสมในการป้องกันและควบคุมอันตรายที่สัมพันธ์กับกระบวนการใหม่ ๆ หรือปฏิบัติการที่อยู่ในช่วงของการออกแบบ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปฏิบัติการ ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ โดยการออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ และสาธารณูปโภค ควรที่จะนำปัจจัยด้านตัวบุคคล (Human Factors เช่น คุณลักษณะและขีดความสามารถของบุคลากร) มาพิจารณาด้วย

ตัวอย่างเช่น ไฟเตือน (Warning Lights) ควรถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถทางสายตาของแต่ละบุคคลที่จะตรวจจับและตอบสนองต่อแสงไฟที่มีความถี่แตกต่างกัน หรือสถานีงานควรออกแบบมาเพื่อลดท่วงท่าการทำงานที่เก้งก้าง และการใช้แรงเกินควรให้เหลือน้อยที่สุด

          ระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลนั้น จะต้องมีความแข็งขันในการดำเนินการชี้บ่ง แก้ไขหรือควบคุมอันตรายได้อย่างทันท่วงที โดยทันทีที่อันตรายต่าง ๆ ได้ถูกชี้บ่งแล้วก็ต้องมีการออกแบบ แผนงานป้องกันและควบคุมอันตรายที่สอดรับกับอันตรายนั้น ๆ

ซึ่งองค์ประกอบตามลำดับชั้นของการควบคุมอันตราย (Hierarchy of Controls) มีดังนี้ คือ การขจัด (Elimination) การแทนที่ (Substitution) ด้วยวัสดุ กระบวนการ ปฏิบัติการ หรืออุปกรณ์ที่มีอันตรายน้อยกว่า การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Controls) การเตือน (Warnings) การควบคุมทางการบริหารจัดการ (Administrative Controls) เช่น การฝึกอบรม การวางแผนงาน การสับเปลี่ยนตารางเวลาทำงาน เปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน หรือดำเนินการป้องกันอันตรายในเขตพื้นที่งาน ท้ายสุดคือ การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment)

โดยการควบคุมเหล่านี้จะให้แนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ในการพิจารณาเลือกวิธีที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปได้มากที่สุด ในการลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการควบคุมอันตรายควรพิจารณาเรียงตามลำดับชั้นของการควบคุมจนกระทั่งพบวิธีการควบคุมที่มีความเป็นไปได้สูงสุด

          อย่างไรก็ดี ในการประยุกต์ใช้ลำดับชั้นของการควบคุมอันตรายนั้น มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรนำมาพิจารณา เช่น ลักษณะและขนาดของความเสี่ยงที่จะทำการควบคุม ระดับความต้องการในการลดความเสี่ยง ข้อกำหนดมาตรฐานตามกฏหมาย วิธีปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างในอุตสาหกรรมประเภทนั้น ๆ (Best Practice) เทคโนโลยีที่เกื้อหนุน การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรฐานภายในองค์กร เป็นต้น บ่อยครั้งที่การผสมผสานกันของแต่ละวิธีการควบคุมจะกลายเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

          ตัวอย่างวิธีป้องกันและควบคุมอันตราย เช่น  
          (A) การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Controls) เป็นยุทธวิธีแรกและดีที่สุดในการควบคุมอันตรายที่ต้นกำเนิด ซึ่งจะไม่เหมือนกับการควบคุมประเภทอื่น ๆ ที่โดยทั่วไปแล้ว จะมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสอันตราย แนวความคิดพื้นฐานของการควบคุมทางวิศวกรรมก็คือ สิ่งแวดล้อมในการทำงานและตัวงานควรที่จะได้รับการออกแบบมาเพื่อขจัดหรือลดการสัมผัสกับอันตราย

โดยในบางกรณีนั้น การควบคุมทางวิศวกรรมสามารถดำเนินการอย่างง่าย ๆ ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลักการดังนี้ คือ (1) ถ้าเป็นไปได้ ให้ออกแบบระบบสาธารณูปโภค อุปกรณ์ หรือกระบวนการ เพื่อเคลื่อนย้ายอันตราย และ/หรือ ทดแทนด้วยสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่า (2) ถ้าไม่สามารถเคลื่อนย้ายอันตรายได้ ก็ทำการปิดคลุมอันตรายเพื่อป้องกันการสัมผัสในช่วงเวลาทำงาน (3) ถ้าปิดคลุมอันตรายไม่ได้ ก็ต้องติดตั้งเครื่องกั้นหรือการระบายอากาศเฉพาะแห่ง เพื่อลดการสัมผัสอันตรายในช่วงเวลาทำงาน

          * การขจัดอันตรายผ่านทางการออกแบบ (Elimination of Hazards Through Design) เช่น การทบทวนแบบ การเปลี่ยนแปลง หรือแทนที่อุปกรณ์เพื่อเคลื่อนย้ายแหล่งกำเนิดอุณหภูมิ เสียง หรือแรงดันที่สูงเกิน การทบทวนแบบเพื่อใช้กระบวนการที่มีอันตรายน้อยกว่า หรือการทบทวนแบบของสถานีงานเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าและขจัดอันตรายด้านการยศาสตร์ และออกแบบการระบายอากาศทั่วไปด้วยอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอากาศภายใน และยังให้บรรยากาศที่ปลอดภัยด้วย

          * การปิดคลุมอันตราย (Enclosure of Hazards) เมื่อไม่สามารถเคลื่อนย้ายอันตรายและไม่สามารถทดแทนด้วยทางเลือกที่มีอันตรายน้อยกว่าได้ การควบคุมลำดับถัดไปก็คือ การปิดคลุม ซึ่งการควบคุมอันตรายด้วยวิธีนี้อาจจะควบคุมการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานในช่วงของการผลิตได้ดี แต่อาจจะไม่สามารถควบคุมการสัมผัสระหว่างการบำรุงรักษาได้

ตัวอย่างการออกแบบเพื่อปิดคลุมอันตราย เช่น การปิดคลุมอย่างสมบูรณ์ของชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร การจำกัดพื้นที่อย่างสมบูรณ์ของของเหลวที่เป็นพิษหรือก๊าซจากตอนเริ่มกระบวนการ หรือการผลิตที่ลดความเป็นพิษ การบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยในการขนส่ง หรือการขจัดผลิตภัณฑ์ของเสียที่เป็นพิษ การใช้ถุงมือติดผนังตู้เพื่อปิดคลุมงานที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย เรดิโอนิวไคลด์ หรือสารพิษ และการจำกัดพื้นที่อย่างสมบูรณ์ของเสียง ความร้อน หรือแรงดัน

          * เครื่องกั้นหรือการระบายอากาศเฉพาะแห่ง (Barriers or Ventilation) เมื่อไม่สามารถเคลื่อนย้าย ทดแทน หรือปิดคลุมอันตรายได้ ก็ต้องใช้เครื่องกั้นการสัมผัส หรืออย่างในกรณีของอากาศที่ปนเปื้อน ก็สามารถใช้การระบายอากาศเฉพาะแห่งเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศที่ปนเปื้อนออกไป ซึ่งการควบคุมทางวิศวกรรมประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับการสัมผัสที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน

แม้ในช่วงของการทำงานตามปกติก็ตาม และมักจะถูกใช้ร่วมกับการควบคุมประเภทอื่น ๆ เช่น วิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยจะได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่งานและ/หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังรวมถึง ปล่องระบายอากาศสำหรับงานในห้องทดลอง อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร ท่อดูดสารเคมีและเสียง เป็นต้น

          (B) การควบคุมทางการบริหารจัดการ (Administrative Controls) มีหลายวิธี เช่น วิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัย (Safe Work Practices) ซึ่งประกอบด้วยกฏระเบียบ ข้อบังคับทั่วไปและข้อบังคับเฉพาะของบริษัท เช่น แม้ว่าอันตรายจะถูกปิดคลุมแล้วก็ตาม การสัมผัสก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในตอนซ่อมบำรุง แต่ถ้ามีการกำหนดวิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยก็จะช่วยลดการสัมผัสอันตรายของผู้ปฏิบัติงานได้

          นอกจากนี้ การควบคุมทางการบริหารจัดการ ยังรวมไปถึง การสลับสับเปลี่ยนเวรของผู้ปฏิบัติงาน ยืดช่วงเวลาพัก และหมุนเวียนงานของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดความเครียดหรือท่วงท่าการทำงานที่ซ้ำ ๆ ซึ่งการควบคุมประเภทนี้โดยทั่วไปแล้วมักถูกใช้ร่วมกับการควบคุมประเภทอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันและควบคุมการสัมผัสกับอันตรายได้มากกว่า

          (C) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) เมื่อการควบคุมทางวิศวกรรมไม่สามารถควบคุมการสัมผัสอันตรายจากงานปกติหรือการบำรุงรักษาได้อย่างสมบูรณ์ หรือวิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยรวมถึงการควบคุมทางการบริหารจัดการในรูปแบบอื่น ๆ ก็ยังไม่สามารถให้การป้องกันเพิ่มเติมที่เพียงพอได้ ก็ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเสริมเข้าไป และยังสามารถใช้ในระหว่างที่การควบคุมทางวิศวกรรมและวิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยยังทำงานไม่สมบูรณ์ หรือยังติดตั้งไม่เสร็จด้วย ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น กระบังหน้า รองเท้าหัวเหล็ก หมวกนิรภัย อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ อุปกรณ์ป้องกันเสียง ถุงมือและแว่นตานิรภัย เป็นต้น

          ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องรับทราบถึงข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกันฯ รวมถึงการใช้งานและการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจและรับรู้ว่าอุปกรณ์นี้ไม่ได้ขจัดอันตราย ถ้าอุปกรณ์บกพร่องการสัมผัสก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อลดโอกาสล้มเหลว ต้องสวมใส่อุปกรณ์อย่างกระชับ และทำการบำรุงรักษาให้สะอาดพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

          (D) ระบบที่คอยติดตามการแก้ไขอันตราย (Systems to Track Hazard Correction) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย แม้ว่าจะมีแผนการป้องกันและควบคุมที่ครอบคลุมโดยรวมแล้วก็ตาม เอกสารบันทึกปฏิบัติการแก้ไขถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจจะใช้แบบฟอร์มจดบันทึกเพื่อความสะดวกและเป็นไปในแนวทางเดียวกันก็ได้ โดยเมื่อพบเจออันตรายก็จะมีการตามติดการแก้ไขอันตรายนั้น ๆ ซึ่งข้อมูลอันตรายที่ได้รับการแก้ไขสามารถถูกระบุไว้ในรายงานการตรวจสอบ ในปัจจุบันสามารถประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้โดยตามติดไปทุกขั้นตอนการทำงาน

          (E) ระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance Systems) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมอันตรายจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมถึงควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายใหม่ ๆ อันเนื่องมาจากอุปกรณ์ขัดข้อง ทั้งนี้ความน่าเชื่อถือของกำหนดการและเอกสารในการบำรุงรักษาเป็นสิ่งจำเป็น โดยกำหนดการจะขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความถี่ในการบำรุงรักษา วัตถุประสงค์หลักของการบำรุงรักษาเชิงป้องกันก็คือการทำให้งานไหลลื่นก่อนที่จะถึงวาระซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่

          (F) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Preparation) จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ในหลาย ๆ กรณี มักจะพบว่า ขณะเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีอันตรายที่ไม่เคยเจอมาก่อนในพื้นที่งาน โดยอาจจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือเกิดขึ้นภายในระบบต่าง ๆ ขององค์กร และเนื่องจากอันตรายเหล่านี้เป็นสิ่งไม่คาดฝัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นได้ จึงสมควรที่เราต้องตระหนักถึงเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาได้ และวางแผนงานหาหนทางที่ดีที่สุดในการควบคุมหรือป้องกันอันตรายที่จะปรากฏ

โดยตัวอย่างของการวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน เช่น การสำรวจเหตุฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดขึ้น วางแผนวิธีดำเนินการที่จะลดผลกระทบต่อสถานที่ปฏิบัติงาน การให้ข้อมูลและฝึกอบรมพนักงาน ตลอดจนการฝึกฝนปฏิบัติการรับเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

          (G) แผนงานด้านการแพทย์ (Medical Program) เป็นส่วนสำคัญของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผล สามารถป้องกันอันตรายที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วย สร้างความตระหนัก ให้การดูแลเยียวยา และช่วยจำกัดความรุนแรงของการบาดเจ็บและเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน

โดยขนาดและความซับซ้อนของแผนงานด้านการแพทย์จะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เป็นต้นว่า ชนิดของกระบวนการ วัสดุตลอดจนอันตรายที่เกี่ยวข้อง ชนิดของสาธารณูปโภค จำนวนพนักงาน คุณลักษณะของแรงงาน ตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละปฏิบัติการรวมถึงระยะห่างจากสถานพยาบาล

อาจกล่าวได้ว่า แผนงานด้านการแพทย์จะประกอบไปด้วยทุกสิ่ง ไล่ไปตั้งแต่การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและ CPR จนถึงวิธีการที่ซับซ้อนในการวินิจฉัยและแก้ปัญหาทางด้านการยศาสตร์ อย่างไรก็ดีก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่งาน ซึ่งอาจจะเป็นภายในองค์กรหรือโดยการบริการของสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง แต่ไม่ว่าจะเป็นแผนงานด้านการแพทย์ประเภทใด ก็สมควรที่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญในการจัดฝึกอบรม

          (H) การตรวจสอบอันตรายที่เกิดจากผู้รับเหมา (Contractor–created Hazards) เมื่อพิจารณาดูสถิติอุบัติเหตุในพื้นที่งาน บ่อยครั้งจะพบว่ามีสาเหตุมาจากความผิดพลาดของผู้รับเหมา หรือเป็นสาเหตุร่วม ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้รับเหมาจะไม่กลายเป็นจุดอ่อนของความปลอดภัยในพื้นที่งาน จึงต้องดำเนินการประเมินอย่างละเอียดถึงประวัติด้านการทำงานที่ปลอดภัยของผู้รับเหมาก่อนทำสัญญา

ซึ่งในสัญญาควรระบุลงไปถึงความคาดหวังด้านความปลอดภัยในงานเฉพาะ เมื่อตกลงทำสัญญา ผู้รับเหมาจำเป็นต้องได้รับทราบถึงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในพื้นที่งานขององค์กร และปรับแผนงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้สอดคล้องตรงกันก่อนที่จะเริ่มทำงาน ซึ่งผู้รับเหมาทุกรายจำเป็นต้องเข้าใจถึงความเอาจริงเอาจังของระบบการจัดการสุขภาพและความปลอดภัยภายในองค์กร หากมีปัญหาหรือข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามข้อกำหนด ก็ต้องทำการแก้ไขอย่างรวดเร็วและเหมาะสมเพื่อไม่ให้ถูกยกเลิกสัญญา

          ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการป้องกันและควบคุมอันตราย 
          * วิธีปฏิบัติและกฎระเบียบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย วิธีปฏิบัติและกฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรใด ๆ ก็ตาม เพราะว่าจะเป็นการอธิบายถึงพฤติกรรมและวิธีปฏิบัติที่นายจ้างคาดหวังจะได้เห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และควรสอบถามข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานเพื่อประกอบเข้ากับกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติ

ยกตัวอย่างประเด็นที่ควรพิจารณาเมื่อต้องการพัฒนากฏระเบียบและวิธีปฏิบัติ เช่น การฝึกฝนวิธีจัดการดูแลพื้นที่งาน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หลักการทางการยศาสตร์ การใช้และปฏิบัติตามขั้นตอนการ Lockout/Tagout หรือ การขออนุญาตเข้าพื้นที่อับอากาศ หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร

การแสดงให้เห็นถึงการละเลยต่อการใช้งานอุปกรณ์และวัสดุของบริษัทที่ถูกวิธี การหยอกล้อกันระหว่างทำงาน การขโมยทรัพย์สินบริษัท การเข้าไปมีส่วนหรือทำให้เกิดความรุนแรงกับผู้อื่น การดื่มของมึนเมาหรือสิ่งผิดกฏหมาย ตลอดจนการขับขี่ยานพาหนะของบริษัทอย่างไม่ปลอดภัย เป็นต้น

          ควรพัฒนาหรือทบทวนวิธีปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทบทวนอุบัติเหตุที่ผ่านมาและพิจารณาว่ามีเอกสารวิธีปฏิบัติงานฯ หรือไม่ ถ้าไม่ควรสอบถามข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานและนำมาจัดทำเป็นเอกสารวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และถ้ามีการนำไปใช้งานก็ควรทบทวนถึงความถูกต้องและยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานได้อีกทางหนึ่งด้วย

          4. การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Safety and Health Training) สามารถช่วยพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ทำให้พนักงานเข้าใจอันตรายทั้งหมดในสถานที่ปฏิบัติงานและรับทราบถึงขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานทุกคนควรสามารถที่จะอธิบายอันตรายทั้งหมดที่มีอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน และทราบว่าอันตรายประเภทใดที่ตนเองมีความเสี่ยงอยู่ และรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองและผู้ร่วมงานจากอันตรายเหล่านี้ รวมถึงสามารถที่จะอธิบายได้อย่างถูกต้องว่าต้องกระทำอย่างไรในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

          ก่อนที่การฝึกอบรมจะเริ่มต้น ควรมั่นใจว่านโยบายขององค์กรได้แถลงอย่างชัดเจนถึงพันธะสัญญาขององค์กรที่มีต่อระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยรวมถึงแผนงานฝึกอบรม ซึ่งพันธะสัญญานี้ต้องรวมถึงการอุทิศเวลาทำงานให้กับการฝึกอบรม โดยทั้งฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งมอบแผนงาน

          ควรมีการผนวกการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้ากับแผนงานการฝึกอบรมทั้งหมดขององค์กร โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานที่เป็นข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติงานสำหรับงานที่ได้รับมอบหมาย เนื้อหาสาระของแผนงานฝึกอบรมขององค์กรและวิธีการนำเสนอ ควรที่จะสะท้อนความจำเป็นและคุณลักษณะของแรงงานเฉพาะด้าน ดังนั้น การบ่งชี้ถึงความจำเป็นเป็นขั้นตอนสำคัญลำดับต้น ๆ ในการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม การมีส่วนร่วมของทุก ๆ คนในกระบวนการนี้และการสอนลำดับถัด ๆ มาสามารถที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

          หลักการ 5 ข้อของการสอนและการเรียนรู้ที่จะดำเนินการไปตามแนวทางของความมีประสิทธิผลมากที่สุดของแผนงานฝึกอบรม ได้แก่ 
          * ผู้เข้ารับการฝึกควรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม 

          * ข้อมูลควรที่จะถูกจัดแจงเตรียมการเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด 

          * ผู้ปฏิบัติงานจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาได้ฝึกปฏิบัติและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะที่จำเป็น ได้ 

          * หลังจากผู้เข้าอบรมฝึกหัดก็ควรมีการประเมินผลหลังจากฝึกอบรม และให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อพัฒนาหลักสูตรต่อไปด้วย

          * ผู้ปฏิบัติงานสามารถเรียนรู้ได้ในหลาย ๆ ช่องทาง ดังนั้นแผนงานฝึกอบรมที่มีประสิทธิผลควรจะรวบรวมวิธีฝึกอบรมอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

          การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีหลายแบบด้วยกัน เช่น การฝึกอบรมแบบปฐมนิเทศสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่งานและผู้รับเหมา การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (JSA) และการฝึกอบรมให้เข้าใจและรับรู้ถึงอันตรายอื่น ๆ การฝึกอบรมในส่วนที่กำหนดโดยมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงมาตรฐานการบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการ การฝึกอบรมสำหรับการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การฝึกอบรมในการสอบสวนอุบัติเหตุ และการฝึกฝนปฏิบัติการรับเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

          ตัวอย่างประเภทของการฝึกอบรมแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น 
          * การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับผู้จัดการ ฝึกผู้จัดการให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในส่วนของตน ว่าเป็นเรื่องจำเป็นต้องมั่นใจว่าให้การสนับสนุนในการดำเนินระบบความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่อง และมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงต้องรับผิดชอบในการสื่อสารเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของระบบการจัดการความปลอดภัยฯ ให้กับผู้ปฏิบัติงาน เช่นเดียวกันกับ การมอบหมายความรับผิดชอบและตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเน้นย้ำไปที่ความสำคัญของบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนระบบความปลอดภัยฯ ตลอดจนประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

          * การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับหัวหน้างาน หัวหน้างานอาจจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมในการตรวจจับอันตราย การสอบสวนอุบัติเหตุ บทบาทของตนเองในการควบคุมช่วงของการบำรุงรักษา การดำเนินการรับเหตุฉุกเฉิน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

นอกจากนี้แล้ว ควรได้รับการฝึกอบรมให้รับทราบถึงนโยบายของบริษัทและวิธีดำเนินการ เช่นดียวกับการตรวจจับและการควบคุมอันตราย การสอบสวนอุบัติเหตุ การรับเหตุฉุกเฉิน รวมถึงวิธีการฝึกอบรม ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการฝึกอบรม

          * การปฐมนิเทศงาน รูปแบบและขอบเขตของการฝึกอบรมแบบปฐมนิเทศ จะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของอันตรายและวิธีปฏิบัติงานที่จำเป็นต่อการควบคุม การปฐมนิเทศอาจจะประกอบด้วยการทบทวนอย่างรวดเร็วในส่วนของกฎระเบียบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพื้นที่งาน การฝึกอบรมในการสื่อสารอันตราย และการฝึกซ้อมวิธีปฏิบัติงาน

สำหรับสถานที่ปฏิบัติงานขนาดใหญ่ที่มีอันตรายและวิธีปฏิบัติงานที่ค่อนข้างซับซ้อนในการควบคุม อาจจะเริ่มที่การอธิบายลักษณะของอันตรายให้มีความชัดเจนก่อน แล้วตามด้วยการปรึกษาหารือว่าจะป้องกันอันตรายด้วยวิธีใด ผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับการฝึกอบรมจากการปฏิบัติงานจริงซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับประสบการณ์ในช่วงระยะเวลาอันสั้น

          การฝึกอบรมควรมีเป้าหมายที่ผู้ปฏิบัติงานใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝึกไม่เพียงแค่งานที่ทำอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงการที่เข้าใจ รับรู้ และหลีกเลี่ยงอันตรายที่มีในพื้นที่งานโดยตรงของพวกเขาและพื้นที่งานส่วนอื่น ๆ ในสถานที่ปฏิบัติงาน แรงงานของผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมด้วยเช่นกันเพื่อให้เข้าใจและรับรู้ถึงอันตรายในพื้นที่งานที่รับผิดชอบ และแม้แต่ผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์หรือทำงานมานานแล้ว ก็ยังต้องได้รับการฝึกอบรมถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานหรือชนิดวัสดุ/อุปกรณ์ใหม่

ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่มีความจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล รวมถึงบุคคลที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้จัดการและหัวหน้างานที่ควรถูกรวมเข้าไปอยู่ในแผนงานฝึกอบรมด้วย นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมย้ำเตือนในเนื้อหาสาระสำหรับการรับเหตุฉุกเฉินด้วยเช่นกัน

          ในพื้นที่ที่มีวิธีปฏิบัติงานที่ซับซ้อน รวมถึงพื้นที่ที่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นต้องจัดฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานอยู่เป็นระยะ ทั้งเพื่อรื้อฟื้นความจำและสอนวิธีการใหม่ ๆ ในการควบคุมอันตราย ซึ่งการฝึกอบรมใหม่ อาจจะรวมถึงข้อกำหนดตามกฏหมายไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือมาตรฐานใหม่ ๆ

          การฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวอาจจะเป็นวิธีฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยหัวหน้างานจำเป็นต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมดูแลของตนเป็นระยะ หลังจากนั้น ควรมีการพบปะผู้ปฏิบัติงานเพื่อพูดคุยถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย มอบความดีความชอบหรือยกย่องผู้ที่มีทำงานที่ปลอดภัย และให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยที่สังเกตเห็น

อย่างไรก็ดี การฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อประยุกต์ใช้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนภายใต้การควบคุมดูแล ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งคนใดเท่านั้น ทั้งนี้ ข้อมูลป้อนกลับในเชิงบวกที่ให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลานุภาพ ในการช่วยผู้ปฏิบัติงานให้ได้เรียนรู้ถึงรูปแบบพฤติกรรมที่ปลอดภัยและเกิดความตระหนัก รวมถึงเสริมสร้างพฤติกรรมอันพึงปรารถนาในท้ายสุด

          ควรมีการวางแผนงานในการประเมินแผนงานฝึกอบรมตั้งแต่เริ่มออกแบบการฝึกอบรม ซึ่งถ้าทำการประเมินอย่างถูกต้อง จะสามารถบ่งชี้จุดแข็งและจุดอ่อนของแผนงาน และให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงแผนงานในอนาคตได้

          การประเมินสามารถที่จะช่วยพิจารณาว่า การฝึกอบรมนั้นบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน หรือไม่ โดยแนวทางในการประเมินแผนงานฝึกอบรม มีดังนี้

          * ก่อนที่จะเริ่มต้นฝึกอบรม ควรพิจารณาว่าพื้นที่งานใดที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง โดยสังเกตจากผู้ปฏิบัติงานและขอความคิดเห็น เมื่อการฝึกอบรมสิ้นสุดลง ควรทำการทดสอบประสิทธิภาพการฝึกอบรม โดยสอบถามผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้อธิบายถึงอันตรายในงานที่ทำอยู่ มาตรการป้องกัน และทักษะหรือความรู้ใหม่ ๆ

          * ควรเฝ้าติดตามจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่เข้ารับการฝึกอบรม

          * เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม ควรถามผู้เข้ารับการฝึกเพื่อจัดอันดับหลักสูตรและวิทยากร

          * เปรียบเทียบผลก่อนและหลังฝึกอบรม เช่น อัตราการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ เหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ และเปอร์เซ็นต์ของพฤติกรรมความปลอดภัยที่แสดงออกมา

          ควรจัดเก็บข้อมูลบันทึกการฝึกอบรม ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจว่าทุก ๆ คนที่สมควรได้รับการฝึกอบรม ได้ผ่านหลักสูตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะใช้แบบฟอร์มบันทึกการฝึกอบรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน เพื่อความสะดวกและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

          แนวทางการฝึกอบรม (Training Guidelines) ประกอบไปด้วย

          (A) การพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องฝึกอบรมหรือไม่ (Determining if Training is Needed) ขั้นตอนแรกของกระบวนการฝึกอบรม ก็คือ การพิจารณาว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยการฝึกอบรมหรือไม่ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปฏิบัติงานแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง ก็มักมีข้อสันนิษฐานว่าการฝึกอบรมจะช่วยทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างถูกวิธี แต่อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่วิธีการอื่น ๆ เช่น การแก้ไขอันตรายหรือการควบคุมทางวิศวกรรม ก็สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการในงานที่รับผิดชอบได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

          ในทางอุดมคติแล้ว การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยควรที่จะถูกจัดสรร ก่อนที่ปัญหาหรืออุบัติเหตุจะเกิดขึ้น ซึ่งการฝึกอบรมนี้จะครอบคลุมถึงกฏระเบียบทั่วไปด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยรวมถึงวิธีปฏิบัติงาน และควรดำเนินการซ้ำถ้าอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุได้บังเกิดขึ้น

          ปัญหาต่าง ๆ ที่สามารถแก้ไขได้โดยการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ มักจะเร้นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดความรู้ในกระบวนการทำงาน การไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ การดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมจะมีประสิทธิภาพน้อย (แต่ยังสามารถใช้งานได้) สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดแรงจูงใจของผู้ปฏิบัติงาน หรือขาดการดูแลเอาใจใส่ต่องานที่ทำ แต่ไม่ว่าจะใช้เพื่อจุดประสงค์ใด การฝึกอบรมจะมีประสิทธิผลมากที่สุดเมื่อออกแบบมาให้สัมพันธ์กับเป้าหมายของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

          (B) การชี้บ่งความจำเป็นในการฝึกอบรม (Identifying Training Needs) ถ้าพิจารณาแล้ว เห็นว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ เป็นบางส่วนหรือทั้งหมดโดยอาศัยการฝึกอบรม ขั้นตอนต่อไปก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าการฝึกอบรมประเภทใดที่จำเป็น ต้องชี้บ่งได้ว่าผู้ปฏิบัติงานถูกคาดหวังในสิ่งใดและในแนวทางใด เพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้จากการวิเคราะห์งานซึ่งจะระบุชี้ชัดลงไปว่า อะไรที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เมื่อทำการออกแบบแผนงานฝึกอบรมพนักงานใหม่ หรือเตรียมความพร้อมในการให้ข้อแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนการทำงานหรือระบบ อาจใช้การวิเคราะห์งานและตรวจสอบข้อมูลทางวิศวกรรมสำหรับอุปกรณ์ชนิดใหม่หรือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารที่ไม่คุ้นเคย

ซึ่งเนื้อหาในการฝึกอบรมนั้น อาจพิจารณาได้จากหลายวิธี เช่น ประยุกต์ใช้มาตรฐานที่กำหนดโดยทางการ หรือใช้การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งสำหรับการศึกษาและจดบันทึกในแต่ละขั้นตอนการทำงาน มีการชี้บ่งอันตรายที่มีอยู่หรือมีโอกาสเกิดขึ้น และพิจารณาหาหนทางที่ดีที่สุดในการทำงานเพื่อที่จะลดหรือขจัดความเสี่ยง ข้อมูลที่ได้รับจากการวิเคราะห์อันตรายในงานนั้น สามารถถูกใช้เป็นเนื้อหาสำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่งเลยทีเดียว

          นอกจากนี้แล้ว เนื้อหาในการฝึกอบรมที่เหมาะสมสามารถได้รับการพัฒนาจากเครื่องมือเหล่านี้ เช่น 
          * ใช้ข้อมูลบันทึกอุบัติเหตุและการบาดเจ็บของบริษัทในการบ่งชี้ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างไร และสามารถดำเนินการอย่างไรเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการเกิดเหตุซ้ำ

          * ขอความร่วมมือผู้ปฏิบัติงานในการเขียนอธิบายลักษณะงานที่ทำอยู่ในแนวทางของตนเอง รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ และวัสดุที่ใช้ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถให้ข้อมูลที่มีคุณค่าในการฝึกอบรมในแบบฉบับที่เขาต้องการ

          * สังเกตผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่งานขณะกำลังทำงานอยู่ สอบถามรายละเอียดงาน และจดบันทึกคำตอบไว้ ซึ่งอันตรายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย สามารถบ่งชี้ผ่านทางการตอบสนองของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับงานแล้วทำให้ผวาตื่นกลัว หรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเชื่อว่างานของตนเองเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือสารที่อันตราย

          * ตรวจสอบแผนงานฝึกอบรมที่คล้ายคลึงกันของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน หรือได้รับข้อแนะนำจากองค์กรของรัฐฯ

          (C) บ่งชี้จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ (Identifying Goals and Objectives) เมื่อพิจารณาแล้วว่าการฝึกอบรมประเภทใดจำเป็น และผู้ปฏิบัติงานควรที่จะเข้าใจและรับรู้ขั้นตอนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงานหรือกระบวนการ ซึ่งการฝึกอบรมควรที่จะมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผลการดำเนินงานจำเป็นต้องมีการปรับปรุง หลีกเลี่ยงการฝึกอบรมที่ไม่จำเป็นและปรับการฝึกอบรมให้ตรงตามความจำเป็นของผู้ปฏิบัติงาน

          ทันทีที่ความจำเป็นในการฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงานได้รับการชี้บ่ง ผู้ประกอบการก็สามารถระบุวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ถ้าวัตถุประสงค์เชิงให้ข้อแนะนำ (Instructional Objectives) ถูกระบุอย่างชัดเจน ก็จะช่วยบอกผู้ประกอบการว่าสิ่งใด ที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานกระทำ สิ่งใดที่ต้องการให้ดีกว่าเดิม และสิ่งใดที่ต้องการให้หยุด

          วัตถุประสงค์เชิงการเรียนรู้ (Learning Objectives) ไม่จำเป็นที่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การฝึกอบรมจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ก็ต่อเมื่อวัตถุประสงค์มีความชัดเจนและสามารถวัดผลได้ วัตถุประสงค์ที่มีประสิทธิภาพนั้นควรที่จะชี้บ่งอย่างถูกต้อง แม่นยำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบุในสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนจะต้องทำเพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป หรือแสดงให้เห็นว่าการฝึกอบรมนั้น ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ โดยควรอธิบายสภาพการณ์ที่สำคัญภายใต้สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนควรที่จะแสดงออกมาให้เห็นถึงศักยภาพ และรวมถึงจำกัดความว่าผลการดำเนินงานที่ยอมรับได้เป็นอย่างไร

          การใช้ภาษา และถ้อยคำก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งวัตถุประสงค์เชิงให้ข้อแนะนำ (Instructional Objectives) นั้นควรอธิบายในเชิงภาคปฏิบัติหรือทักษะและพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ ตัวอย่างเช่น การระบุว่า “ผู้ปฏิบัติงานจะได้เข้าใจว่า จะใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (Respirator) ได้อย่างไร” จะไม่ชัดเจนเท่าการระบุว่า “ผู้ปฏิบัติงานจะสามารถอธิบายได้ว่า อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจทำงานอย่างไร และควรจะใช้เมื่อไหร่” เนื่องจากวัตถุประสงค์จะมีประสิทธิผลมากที่สุดเมื่อถ้อยคำที่ใช้มีรายละเอียดเพียงพอให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำความเข้าใจและไม่สับสนในแนวทางปฏิบัติ

          (D) การพัฒนากิจกรรมในการเรียนรู้ (Developing Learning Activities) ทันทีที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่า วัตถุประสงค์สำหรับแผนงานการฝึกอบรมคืออะไร กิจกรรมการเรียนรู้ก็สามารถถูกบ่งชี้และอธิบายได้ โดยกิจกรรมการเรียนรู้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงออกมาว่าได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นต่องานแล้ว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะส่งผ่านทักษะหรือความรู้จากกิจกรรมการเรียนรู้ไปสู่งานที่ทำ

ควรมีการจำลองสถานการณ์ให้ใกล้เคียงกับงานที่ทำจริงมากที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องจัดเรียงวัตถุประสงค์และกิจกรรมไปตามลำดับขั้นตอนของกิจกรรมในงาน ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องเรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องจักร ลำดับขั้นตอนก็อาจจะเป็นดังนี้ คือ (1) ตรวจสอบว่าแหล่งจ่ายพลังงานได้ถูกเชื่อมต่อ (2) มั่นใจว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยอยู่ในตำแหน่งและใช้งานได้จริง (3) รู้ว่าสวิตช์จะปิดเมื่อไรและอย่างไร เป็นต้น

          ปัจจัยที่จะช่วยพิจารณาชนิดของกิจกรรมการเรียนรู้ที่สมควรผนวกเข้ากับการฝึกอบรม ก็คือ (1) การเลือกใช้ทรัพยากรฝึกอบรมให้เป็นประโยชน์ เช่น แผนงานฝึกอบรมแบบเป็นกลุ่มสามารถใช้วิทยากรจากภายนอกและถ่ายวีดีโอไว้ได้หรือไม่ (2) ผู้ประกอบการควรจะฝึกผู้ปฏิบัติงานด้วยตัวเองในส่วนจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือไม่ และ (3) ประเภทของทักษะหรือความรู้ที่ต้องฝึกอบรม เช่น การเรียนรู้มุ่งตรงไปที่ทักษะทางกายภาพ (เช่นการใช้เครื่องมือพิเศษ) หรือมุ่งตรงไปที่กระบวนการคิดและทัศนคติ

ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อชนิดของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบโดยผู้ประกอบการ ซึ่งกิจกรรมฝึกอบรมสามารถที่จะแบ่งกลุ่มตามประเภทความสนใจได้ เช่น การบรรยาย บทบาทหน้าที่ และการสาธิต หรือออกแบบเป็นการเฉพาะให้เหมาะสมกับตัวบุคคลขึ้นอยู่กับความช้า–เร็วในการเรียนรู้ เป็นต้น

          การกำหนดวิธีการและสื่อการเรียนการสอนสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ประกอบการและทรัพยากรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยผู้ประกอบการอาจจะใช้แผนภูมิ แผนภาพ คู่มือ สไลด์ กล้องถ่ายรูป เครื่องฉายวีดีทัศน์ วีดีโอเทป เครื่องเสียง หรือแค่กระดานดำกับชอล์ก หรืออาจะใช้อุปกรณ์พร้อมกันหลาย ๆ อย่าง แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ควรได้รับการพัฒนาในวิถีทางที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาได้รับทักษะและความรู้ที่ต้องการแล้ว

          (E) ดำเนินการฝึกอบรม (Conduction the Training) เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นจนครบสมบูรณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะเริ่มต้นการฝึกอบรม ถ้าเป็นไปได้ควรมีการแถลงหรือติดประกาศแผนการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบโดยทั่วกัน

นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบการหรือหัวหน้างานควรที่จะ (1) ให้ภาพรวมของสื่อการเรียนการสอนที่จะได้เรียนรู้ (2) เชื่อมโยงข้อมูลใหม่หรือทักษะให้เข้ากับเป้าหมาย ความสนใจ หรือประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงาน และ (3) ตอกย้ำในสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้ โดยการสรุปวัตถุประสงค์ของแผนงานและประเด็นสำคัญของข้อมูลให้ครอบคลุม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแถลงแผนการฝึกอบรมได้อย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ
 ในการจัดเรียงเนื้อหาของการฝึกอบรมนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาโครงสร้างและรูปแบบของการฝึกอบรม

โดยเนื้อหาควรได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับแผนงานฝึกอบรม ทั้งนี้ ลักษณะของสถานที่ปฏิบัติงานหรือพื้นที่ฝึกอบรมอื่น ๆ และทรัพยากรที่เอื้ออำนวยสำหรับการฝึกอบรม จะช่วยผู้ประกอบการได้พิจารณาถึงความถี่ของกิจกรรมฝึกอบรม ช่วงระยะเวลาของการฝึกอบรม เทคนิคในการสอน และวิทยากรที่เชี่ยวชาญในการนำเสนอข้อมูล

          ในการจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานใส่ใจและเรียนรู้สื่อการเรียนการสอนที่ผู้ประกอบการหรือหัวหน้างานได้นำเสนอนั้น ต้องโน้มน้าวผู้ปฏิบัติงานให้เห็นถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงกับสื่อการเรียนการสอน ซึ่งมีแนวทางการสร้างแรงจูงใจดังนี้ คือ (1) อธิบายจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (2) เชื่อมโยงการฝึกอบรมเข้ากับความสนใจ ทักษะและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงาน

(3) เขียนเค้าโครงประเด็นสำคัญที่จะถูกนำเสนอระหว่างการฝึกอบรม และ (4) ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการฝึกอบรม เช่น ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการแจ้งข้อมูลที่ดีกว่า มีทักษะที่เพิ่มขึ้น และมีคุณค่ามากขึ้นทั้งต่องานและกับตลาดแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานจะสามารถทำงานโดยมีความเสี่ยงลดลง ถ้าประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม เป็นต้น

          แผนงานฝึกอบรมที่มีประสิทธิผลจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฝึกอบรมและฝึกหัดทักษะหรือความรู้ของพวกเขา ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาได้เรียนรู้ถึงความรู้หรือทักษะที่จำเป็นและสามารถทำการแก้ไขแผนงานฝึกอบรมได้ถ้าจำเป็น โดยผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฝึกอบรมด้วยการร่วมถก ถามข้อสงสัย ร่วมแบ่งปันความรู้และความชำนาญ เรียนรู้ผ่านทางการถ่ายทอดประสบการณ์ และการฝึกปฏิบัติจริง

          (F) การประเมินประสิทธิผลของแผนงานฝึกอบรม (Evaluating Program Effectiveness) เพื่อให้มั่นใจว่าแผนงานฝึกอบรมได้บรรลุจุดมุ่งหมาย ก็ต้องมีการประเมินการฝึกอบรม ว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ โดยแผนงานสำหรับการประเมินการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ควรจะได้รับการพัฒนาเมื่อวัตถุประสงค์และเนื้อหาของหลักสูตรฝึกอบรมได้รับการพัฒนา ซึ่งไม่ควรล่าช้าจนกระทั่งการฝึกอบรมได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ลง การประเมินจะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือหัวหน้างานได้พิจารณาถึงปริมาณการเรียนรู้ที่บรรลุผล และผลการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานว่า ได้มีการปรับปรุงงานที่ทำหรือไม่

โดยแนวทางในการประเมินการฝึกอบรมมีดังนี้ คือ (1) ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม (Student opinion) การใช้แบบสอบถามหรือการถกกันอย่างเป็นทางการกับผู้ปฏิบัติงาน จะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้พิจารณาความเกี่ยวข้องและความเหมาะสมของแผนงานฝึกอบรม (2) การสังเกตของหัวหน้างาน (Supervisors’ Observation) เนื่องจากหัวหน้างานสามารถสังเกตผลการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานทั้งก่อนและหลังฝึกอบรม

รวมถึงสังเกตการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และ (3) การปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงาน (Workplace Improvements) ผลสำเร็จท้ายสุดของแผนงานฝึกอบรมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสถานที่ปฏิบัติงานที่ยังผลในการลดอัตราการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุ

          ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมแบบใด การประเมินการฝึกอบรมสามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจว่า ผู้ประกอบการได้บรรลุผลที่พึงปรารถนาหรือไม่ และการฝึกอบรมควรจะจัดขึ้นอีกหรือไม่

          (G) การปรับปรุงแผนงานฝึกอบรม (Improving the Program) หลังจากการประเมิน ถ้าเป็นที่ชัดเจนว่าการฝึกอบรมไม่ได้ให้ความรู้และทักษะแก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับที่คาดหวังไว้ ก็จำเป็นต้องทบทวนแผนงานฝึกอบรมหรือจัดสรรการฝึกอบรมซ้ำอยู่เป็นระยะ ซึ่งควรสอบถามผู้ปฏิบัติงานและผู้ฝึกอบรมเพราะอาจจะต้องการความช่วยเหลือบางประการก็ได้

คำถามที่ควรซักถาม เช่น (1) มีเนื้อหาบางส่วนที่รับรู้อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอบรมอีก (2) มีสื่อการเรียนการสอนใดที่ชวนให้สับสนหรือทำลายสมาธิหรือไม่ (3) มีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากแผนงานฝึกอบรมหรือไม่ (4) สิ่งใดที่ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้บ้าง และสิ่งใดที่ไม่ประสบผลในการเรียนรู้
 โดยมีความจำเป็นต้องทวนซ้ำสำหรับขั้นตอนของกระบวนการฝึกอบรม นั่นก็คือ กลับไปสู่ขั้นตอนแรกและย้อนกลับไปทางเดิมผ่านกระบวนการฝึกอบรม เมื่อแผนงานได้รับการประเมินแล้ว

ผู้ประกอบการควรจะตั้งคำถามเหล่านี้ เช่น (1) การวิเคราะห์งานที่ได้ถูกดำเนินการไปแล้วมีความถูกต้องหรือไม่ (2) มีส่วนหนึ่งส่วนใดของงานถูกมองข้าม หรือไม่ (3) มีช่วงห่าง (Gap) ที่สำคัญของความรู้และทักษะหรือไม่ (4) มีสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานได้ทำการละเมิดอย่างตั้งใจ หรือไม่ (5) วัตถุประสงค์เชิงให้ข้อแนะนำได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมหรือไม่ (6) วัตถุประสงค์ได้ระบุถึงระดับของผลการดำเนินงานที่ยอมรับได้หรือไม่ (7) กิจกรรมการเรียนรู้ได้กระตุ้นงานที่ทำอยู่หรือไม่

(8) กิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสมสำหรับชนิดของความรู้และทักษะที่ต้องการสำหรับงานที่ทำหรือไม่ (9) เมื่อการฝึกอบรมได้ถูกนำเสนอ สื่อการเรียนการสอนขององค์กรและความหมายมีความชัดเจนหรือไม่ (10) ผู้ปฏิบัติงานมีแรงจูงใจให้เรียนรู้หรือไม่ (11) ผู้ปฏิบัติงานได้รับโอกาสอย่างแข็งขันในการเข้าร่วมกิจกรรมในกระบวนการฝึกอบรมหรือไม่ (12) การประเมินแผนงานฝึกอบรมได้ดำเนินการอย่างละเอียด ถี่ถ้วนหรือไม่

          การตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการฝึกอบรมจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการทบทวนหลักสูตรฝึกอบรม

          การเลือกใช้ชนิดของการฝึกอบรมให้เหมาะกับผู้ปฏิบัติงาน (Matching Training to Employees) แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกี่ยวกับอันตรายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสิ่งที่ตนเองสัมผัส และผู้ประกอบการควรทุ่มเทในการให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและให้ข้อแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน แต่บ่อยครั้งที่ ทรัพยากรในการฝึกอบรมกลับไม่เพียงพอหรือไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาตัดสินใจว่า บุคคลใดเป็นผู้ที่จำเป็นต้องได้รับข้อมูลและข้อแนะนำมากที่สุด

          หนทางหนึ่งในการจัดเรียงลำดับความจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งๆ ทำได้โดยการชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามความเสี่ยงของงานที่ทำ จากนั้นก็จะทราบว่า ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มใดควรจะถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับต้น ๆ ในการได้รับข้อมูลความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          * การชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานจากความเสี่ยง (Identifying Employees at Risk) วิธีแรกของการชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงจากงานที่ทำอยู่ในระดับสูง ก็คือ การชี้ชัดงานที่มีอันตรายสูง ๆ เพราะแม้แต่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ยังมีผู้ปฏิบัติงานบางส่วนทำงานเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว อันตรายจากการทำงานยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เสียง ความร้อน ความเย็น ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงแต่จะต้องทราบถึงวิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังต้องรู้ถึงวิธีปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่อันตรายอีกด้วย

          วิธีที่สองของการชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง ก็คือ ตรวจสอบลักษณะการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ทั้งที่เกิดภายในบริษัทและในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยถ้าผู้ปฏิบัติงานในหมวดอาชีพที่มีของอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บสูงกว่าผู้ปฏิบัติงานกลุ่มอื่น ๆ ก็ควรที่จะคาดหวังได้ว่า การฝึกอบรมอาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดอัตราเหล่านี้ นอกจากนี้แล้ว การสอบสวนอุบัติเหตุที่ละเอียด ถี่ถ้วน สามารถช่วยชี้บ่งไม่เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มใดที่จะได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสามารถชี้บ่งความจำเป็นในการฝึกอบรมทั่วทั้งบริษัทได้อีกด้วย

          งานวิจัยส่วนหนึ่งได้บ่งชี้ถึงตัวแปรที่มีผลต่อสัดส่วนของอัตราการบาดเจ็บและเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่งาน อันได้แก่ อายุของผู้ปฏิบัติงาน (ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวมักมีอัตราการเกิดอุบัติการณ์สูงกว่า) อายุงาน (ผู้ปฏิบัติงานใหม่มักมีอัตราการเกิดอุบัติการณ์สูงกว่า) ขนาดของโรงงาน (โดยทั่ว ๆ ไป แล้ว โรงงานขนาดกลางมักมีอัตราการเกิดอุบัติการณ์สูงกว่าโรงงานขนาดย่อมและขนาดใหญ่) ชนิดของงาน (งานที่มีความเสี่ยงสูงมักมีอัตราการเกิดอุบัติการณ์สูงกว่า) และการใช้สารอันตราย (โรงงานที่ใช้สารอันตรายที่มีระดับความเป็นอันตรายสูงมักมีอัตราการเกิดอุบัติการณ์สูงกว่า) ซึ่งตัวแปรเหล่านี้ควรนำมาพิจารณาในการจัดกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสำหรับการฝึกอบรม

          ข้อมูลที่พร้อมใช้งานจะช่วยผู้ประกอบการในการชี้บ่งว่า ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มใดควรได้รับข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ความรู้และฝึกอบรม และใครควรจะถูกพิจารณาเป็นลำดับแรก

          * การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง (Training Employees at Risk) การพิจารณาเนื้อหาของการฝึกอบรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงจากงานที่ทำในระดับสูง ก็คล้ายคลึงกับการพิจารณาว่า สิ่งใดบ้างที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้ แต่เน้นย้ำไปที่ข้อกำหนดของงานและความเป็นไปได้ของการบาดเจ็บ

หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการพิจารณาเนื้อหาของการฝึกอบรมจากข้อกำหนดของงาน ก็คือ การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA) ที่อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะใช้การตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน ชี้บ่งอันตรายที่มีอยู่และที่มีโอกาสเกิดขึ้น และพิจารณาหนหนทางที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงานเพื่อลดหรือขจัดอันตรายเหล่านั้น

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ (1) อธิบายลักษณะงาน (2) ตำแหน่งที่ตั้งของงานที่ทำ (3) ขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ (4) เครื่องมือ เครื่องจักร และวัสดุที่ใช้ (5) อันตรายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่แท้จริงที่สัมพันธ์กับขั้นตอนการทำงานเหล่านี้ และ (6) วิธีปฏิบัติงาน เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอนการทำงาน

          เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) สามารถให้ข้อมูลในการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานใช้วัสดุได้อย่างปลอดภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งเอกสารนี้ ได้ถูกพัฒนาโดยผู้ผลิตสารเคมีและผู้นำเข้า โดยจะเป็นส่วนเสริมจากข้อมูลการผลิต วัสดุที่ใช้ และอธิบายส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ อันตรายที่มี อุปกรณ์ป้องกันที่สมควรจะใช้ วิธีดำเนินการที่ปลอดภัย และการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน

ข้อมูลที่ถูกบรรจุอยู่ในเอกสารที่ว่านี้สามารถช่วยผู้ประกอบการในการชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานถึงความจำเป็นในการฝึกอบรม (เช่น ผู้ปฏิบัติงานใดที่เป็นคนดำเนินการเกี่ยวข้องกับสารเคมีก็จะถูกระบุไว้ในเอกสารนี้) และฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในการใช้งานสารเคมีได้อย่างปลอดภัย

เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) สามารถหาได้จากผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ใช้สารเคมีอยู่เป็นพื้นฐาน หรืออาจพัฒนาขึ้นโดยผู้ประกอบการหรือสมาคมการค้า ทั้งนี้ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการที่พัฒนาการฝึกอบรมเกี่ยวกับสารเคมีที่ถูกกำหนดไว้โดยมาตรฐานการสื่อสารถึงอันตราย (Hazard Communication Standard)

          บทสรุปสำหรับการฝึกอบรม แนวทางการฝึกอบรม (Training Guidelines) ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาแผนการเรียนการสอน (Instructional programs) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมและการให้ความรู้บุคลากรทั้งหมดขององค์กรได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถหาคำตอบได้ว่า ใครสมควรที่จะได้รับการฝึกอบรม เนื้อหาควรเป็นแบบใด และจะอบรมเพื่อวัตถุประสงค์ใด ตลอดจนช่วยพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้แผนงานฝึกอบรมมีประสิทธิภาพและสามารถชี้บ่งผู้ปฏิบัติงานที่มีความจำเป็นที่สุดสำหรับเข้ารับการฝึกอบรม และยังช่วยผู้ประกอบการในการพิจารณาเนื้อหาและรูปแบบของการฝึกอบรมของตนเองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม แนวทางการฝึกอบรมที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ หนทางที่ผู้ประกอบการจะสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่ถูกระบุไว้ในส่วนที่เชื่อมโยงกับการฝึกอบรม และช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยขององค์กร

เอกสารอ้างอิง
          * Effective Workplace Safety and Health Management Systems; OSHA Fact Sheet 2008.

          * Safety & Health Management Systems eTool; U.S. Department of Labour 2010.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด