หากคนเราสามารถสังเกตทราบว่าอะไรเป็นอันตราย และลักษณะไหนเป็นความเสี่ยง ก็จะสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นได้โดยสูญเสียหรือเสียหายน้อยที่สุด
การสร้างความสามารถสังเกตและเข้าใจอันตรายในงานอุตสาหกรรม
(Hazard Visualization in Industries)
รัตนากรณ์ กรณ์ศิลป
หลังจากเว็บไซต์ www.itstc.net ได้ถูกนำขึ้นทดลองใช้ได้ประมาณครึ่งปี ยังไม่ทันเปิดตัวเป็นทางการ ผู้เขียนได้ค้นหาคำว่า “Hazard Visualization” โดย Google พบว่าเว็บไซต์ itstc.net นี้ติดอันดับในหน้าแรก เป็นรายการที่ 2 ในแสนกว่ารายการ รายการใกล้ ๆ กันเป็นของมหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์และองค์การนาซ่า
จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ผู้เขียนตั้งใจพัฒนาเทคนิคของ “Hazard Visualization” โดยกำหนดเป้าหมายที่จะแข่งขันในระดับโลก อันที่จริงก่อนการก้าวมาอยู่หน้าแรกนี้ เว็บไซต์ได้ถูกออกแบบขึ้นโดยวัดเทียบ (Benchmark) ในระดับโลกมาแล้ว (ผู้สนใจการออกแบบเว็บไซต์โดยวัดเทียบในระดับโลก สามารถขอทราบวิธีการจากผู้เขียนได้ทางอีเมล)
เว็บไซต์ดังกล่าวสร้างขึ้นโดยใช้แขนงงานคมนาคมขนส่งเป็น Application Area แต่หลักการของ “Hazard Visualization” เป็นหลักการสากลที่ใช้ได้กับทุกแขนงงาน เราจะนำตัวอย่างที่ประยุกต์ใช้ในแขนงงานคมนาคมขนส่งมาแสดงก่อน แล้วค่อยกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่อไป
Hazard Visualization คืออะไร
Visualization คือ การจินตนาการ หรือสร้างภาพขึ้นในความคิด (ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจได้เป็นอย่างดี)
Hazard คือ
- สิ่งที่มีแนวโน้มจะสร้างความสูญเสียหรือเสียหาย
- อันตราย หรือความเสี่ยง
หากคนเราสามารถสังเกตทราบว่าอะไรเป็นอันตราย และลักษณะไหนเป็นความเสี่ยง ก็จะสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นได้โดยสูญเสียหรือเสียหายน้อยที่สุดเราจึงต้องสอนบุคลากรให้สามารถ สังเกต รับรู้ และ เข้าใจ อันตรายและความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจได้ในความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากอันตรายและความเสี่ยงหลาย ๆ ประเภท ไม่สามารถสังเกต รับรู้ และเข้าใจได้โดยง่าย จึงต้องมีเทคนิคเข้าช่วยสร้างความสามารถดังกล่าว โดยการ ทำให้เกิดภาพเกี่ยวกับเหตุและผลของอันตรายขึ้นในความคิด ซึ่งก็คือ Hazard Visualization นั่นเอง
การทำให้เกิดภาพเหตุและผลของอันตรายขึ้นในความคิด มีทางลัดคือ สร้างจินตนาการสำเร็จรูป (พร้อมใช้) ขึ้นภายนอก แล้วบรรจุเข้าไปในความคิด ซึ่งสื่อที่ใช้ถ่ายทอดได้ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ ภาพนั้น ๆ
จากนั้น ในการที่จะนำความสามารถสังเกตหรือรับรู้อันตรายและความเสี่ยงมาใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์ จะต้องอาศัยการจดจำและความสามารถย้อนระลึกถึงได้โดยฉับพลัน เมื่อพบสถานการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ดังนั้นสื่อในการทำ Visualization จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถติดอยู่ในความทรงจำ และดึงมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงได้ในทันที
ในการที่ “ภาพ” ซึ่งนำมาเป็นสื่อจะมีคุณสมบัติติดอยู่ในความทรงจำ และดึงมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงได้ในทันที มันต้องจูงใจและมีความใกล้เคียงสถานการณ์จริง
ในปัจจุบัน ภาพวิดีโอที่ถ่ายมาจากสถานที่หรือเหตุการณ์จริง หรือใช้คนจริง ๆ สถานที่จริง ๆ มาแสดง ก็จูงใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ภาพเคลื่อนไหวกราฟิก (Graphic Animation) นับเป็นสื่อที่จูงใจกว่า เนื่องจากมนต์เสน่ห์ของความเป็นภาพกราฟิก โดยภาพจะเป็นแบบมีความสูงความกว้างธรรมดา (2D) หรือแบบที่เห็นมิติเชิงลึกเพิ่ม (3D) ก็แล้วแต่จะลงทุน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วความสามารถของภาพกราฟิกในการจูงใจนั้น เกิดจาก
- สีสวย เส้นสวย
- องค์ประกอบดี เช่น แบคกราวด์ภาพ เสียงและดนตรี
- ความฉลาดคิดที่นำเสนอออกมา
สำหรับการยังผลให้เกิดการจดจำและย้อนระลึกถึงได้ จะต้องเพิ่มคุณสมบัติในการทำให้คนจดจำและระลึกถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาด้วย ดังนี้
- ตัดความสยดสยอง เพราะธรรมชาติบุคคลทั่วไปจะปฏิเสธสิ่งร้าย ๆ
- เข้าใจง่าย (แบบ “ใช่เลย”) จำง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะคนจะเลือกดำเนินการกับสิ่งที่ดำเนินการได้ง่ายก่อน
- มีความตลกขำขันในตัว เพราะความขันทำให้คนอารมณ์ดี เมื่ออารมณ์ดีกลไกร่างกายจะดีด้วย คนจึงมองหาที่จะเก็บสิ่งขำขันไว้ระลึกถึงใหม่ รวมทั้งหากนำไปถ่ายทอดต่อก็มีคนยินดีรับ จึงเป็นเสมือนทรัพย์สินอย่างหนึ่ง
สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ทราบว่าสิ่งใดเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง คือความสามารถระลึกถึงภาพตัวอย่างอันตรายหรือความเสี่ยงได้ในสถานการณ์จริงที่จะทำให้เกิดอันตรายนั้นๆ ในปัจจุบัน เรากำหนดสมมติฐานว่า การจำลองตัวอย่างจากสถานการณ์จริง เป็นวิธีดีที่สุด
ลองพิจารณาภาพสเก็ตช์หยาบ ๆ จากการจำลองสถานการณ์จริงสองภาพนี้
แต่ละภาพมีคุณสมบัติ ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องอธิบาย ติดในความทรงจำง่าย ส่วนผู้ดูจะสามารถเก็บไว้ระลึกถึงและเกิดความระมัดระวังตอนขับรถลงเนินหรือลงทางพิเศษตอนฝนตกทุกครั้งหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้อ่านแต่ละท่านสามารถไปทดสอบด้วยตนเอง เมื่อภาพสเก็ตช์สามารถสื่อแนวคิดได้เป็นที่เข้าใจดีแล้ว หากต้องการเพิ่มความชัดเจนและดึงดูดใจ ก็สามารถนำไปสร้างเป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก เติมสีสันและการเคลื่อนไหวต่อไป
ตัวอย่างต่อจากนี้ ได้ตัดมาเป็นบางภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกแบบเคลื่อนไหว เกี่ยวกับอันตรายจากการเสียสมาธิ (Distraction)
ในช่วงของการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจอันตราย ในบางครั้ง จะมีผู้ต้องการเห็นหลักฐานความเป็นจริงด้วยสายตาตนเอง ก่อนที่จะยอมรับไปเก็บในความทรงจำ ตามคำกล่าวที่ว่า “Seeing is Believing” ซึ่งมักเกิดในกรณีเรื่องที่บอกเล่าไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ในสถานการณ์แบบนี้ต้องนำเสนอโดยใช้ภาพจริงประกอบ จะเป็นภาพถ่ายหรือภาพวิดีโอก็แล้วแต่เหมาะสม
ยกตัวอย่าง การเตือนด้วยภาพกราฟิก บอกเล่าในประเด็น “ทางม้าลายขาดตอน เป็นความเสี่ยงในท้องถนน”
(ขอขอบคุณ http://www.webweaver.nu และ http://www.teacherfiles.com สำหรับส่วนประกอบของภาพ)
ประเด็นบอกเล่าข้างต้นได้รับการตอบสนองด้วยสายตาที่บอกความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง โดยผู้ฟังยอมรับในหลักการว่าลักษณะนั้นเป็นความเสี่ยง แต่ไม่คิดว่าทางม้าลายขาดตอนดังในภาพกราฟิกที่วาดขึ้นจะมีจริง จึงเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับที่จะนำเข้าไปเก็บในความทรงจำ
หากมีหลักฐานมาแสดง ก็จะยอมรับได้ทันที ดังภาพนี้
แม้ผู้ดูภาพจะเริ่มยอมรับ แต่ก็ยังคงถามต่อไปว่านี่ที่ไหน และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในการสื่อสารทางเดียว จะต้องเตรียมคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ไว้ให้ครบ มิฉะนั้นการลงทุนเพื่อสื่อความหมาย ก็ไม่อาจเกิดประสิทธิผลได้
สำหรับคำถามที่ว่า ในเมื่อมีภาพถ่าย จะใช้แต่ภาพถ่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอหรือ คำตอบคือ ภาพถ่ายใช้ในการสนับสนุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ภาพกราฟิกเหนือกว่าภาพถ่ายในแง่ของความจูงใจ และการเข้าไปบันทึกอยู่ในความทรงจำอย่างได้ผล ท่านผู้อ่านสามารถกลับไปทดสอบระดับการระลึกถึงด้วยตนเอง ว่าจะระลึกถึงภาพกราฟิกหรือภาพถ่ายได้มากกว่ากัน
การประยุกต์ใช้ Hazard Visualization ในงานอุตสาหกรรม
กิจการชั้นดีในภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลกระทบจากอันตรายและความเสี่ยงอาจมีมูลค่ามหาศาล (เพื่อความสะดวก ต่อไปนี้จะใช้คำว่า “อันตราย” แทนคำว่า “อันตรายและความเสี่ยง”) ดังนั้น เรามักจะพบเห็นเสมอว่า มีการติดป้ายแสดงตัวเลขการนับคืนนับวัน ว่าโรงงานเราปลอดอุบัติเหตุมานานเท่าไรแล้ว บุคลากรในโรงงาน หากไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานหรือสิ่งแวดล้อมที่มีอันตราย จะไม่ทราบว่าตรงไหนมีอันตราย และพฤติกรรมของบุคลากรแบบใดทำให้เกิดอันตราย ณ จุดนั้น ๆ
การ Visualize จะเริ่มต้นที่ภาพใหญ่ ด้วยข้อมูลชั้นที่ 1 ว่ามีอันตราย ประเภทใด และ อยู่ตรงไหน ในโรงงาน วิธีการคือ สร้างภาพกราฟิกโรงงานขึ้นมา จะเป็นแบบผัง 2D ธรรมดา หรือ 3D โมเดลไปเลยก็แล้วแต่จะลงทุน จะให้หมุนได้และเปิดประตูเข้าไปดูในแต่ละหน่วยงานได้ หรือจะให้พลิกได้ ดูไปถึงชั้นดินชั้นหินชั้นทรายอย่างไรก็แล้วแต่ความจำเป็นและงบประมาณ สำหรับจุดอันตรายในงานหรือการดำเนินกิจกรรม ต้อง สร้างภาพกราฟิกผังกระบวนการที่ครอบคลุมงานและกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งหมดของโรงงาน รวมทั้งการขนส่งด้วย
จากนั้น สำรวจประเภทและระดับความเสี่ยง ในแต่ละงาน แต่ละกิจกรรม และแต่ละพื้นที่ เก็บภาพและรายละเอียดให้มากพอที่จะทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจและเตรียมตัวระวังได้ ก่อนถึง จุดอันตราย โดยต้องไม่สรุปเอาเองว่าบางบริเวณมีเฉพาะผู้ชำนาญการที่ทราบถึงอันตรายดีอยู่แล้ว เพราะทุกบริเวณ มีโอกาสที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องในงานจะเข้าไปหรือบังเอิญเข้าไปได้เสมอ เช่น คนทำความสะอาด ผู้เยี่ยมชมหรือดูงาน นักศึกษาฝึกงาน รวมทั้งผู้บริหารที่ชอบทำตัวเป็นข้อยกเว้น ฯลฯ สถานะข้อมูลควรมีทั้งที่เป็นปัจจุบันและในอดีต
ต่อไปก็ กำหนดประเภทอันตรายเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ และ กำหนดระดับอันตรายเป็นสีต่าง ๆ โดยควรกำหนดตามหลักการทั่วไปของสากล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งในการทำความเข้าใจ โดยใช้กลุ่มสีแดง-เหลืองที่ลดหลั่นกันลงไปแทนอันตรายมากน้อย วางสัญลักษณ์ลงไปบนกราฟิกโรงงานและผังกระบวนการ โดยการวางสัญลักษณ์ลงไปครั้งหนึ่ง ๆ จะต้องวางบนทั้งสองกราฟิก เพื่อป้องกันการตกหล่น
หลังจากนั้นเป็นการ ถ่ายภาพจุดอันตราย และ รวบรวมรายละเอียด ที่มากพอให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจและเตรียมตัวระวังได้ ก่อนถึง จุดอันตราย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลอันตรายชั้นที่สอง (ข้อมูลระดับรายละเอียด) การดำเนินการในส่วนนี้ต้องมีเทคนิคพอสมควร (แต่ยังไม่กล่าวถึงในที่นี้) คนเตือนจุดอันตรายที่ไม่มีเทคนิค จะทำให้ผู้ได้รับการเตือนเคลื่อนผ่านจุดอันตรายไปโดยไม่รู้ตัว แล้วยังต้องคอยพะวงหันไปหันมาหาจุดอันตรายอยู่ตลอดทั้ง ๆ ที่ผ่านไปแล้ว ทำให้อันตรายมากขึ้นไปอีก
เมื่อได้ภาพและรายละเอียดแล้ว ก็จะต้อง หาวิธีการนำเสนอ เพื่อให้ผู้ได้รับการเตือนเข้าสู่วงจรต่อไปนี้
- ยอมรับ เกิดความรับรู้และเข้าใจ
- ระลึกถึงได้ในสถานการณ์จริง
- เพิ่มการยอมรับ ความรับรู้ ความเข้าใจ และความสามารถระลึกถึงได้ในสถานการณ์จริงที่แม่นยำและว่องไวขึ้น
ในส่วนนี้ของงานเตือนจุดอันตราย เป็นส่วนที่การสร้างสื่อ Visualization จะเข้ามามีบทบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ท้าทายที่สุด ซึ่งไม่ได้จบลงเมื่อผลิตกราฟิกเสร็จ
ผู้สร้างแนวคิดของเรื่องราวสำหรับผลิตกราฟิกเพื่อเป็นสื่อ Visualization เปรียบเสมือนครู เพราะต้องถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ แต่ครูคนนี้ต้องเก่งเป็นพิเศษ เพราะต้องทำให้ผู้ได้รับการถ่ายทอดเข้าใจจากการสื่อสารทางเดียวให้ได้ เนื่องจาก หากผู้ได้รับการถ่ายทอดไม่เข้าใจ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่ม
อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถคาดหวังให้ผู้วาดกราฟิกมือดี ๆ มีความเข้าใจเงื่อนไขและกระบวนการที่เป็นอันตรายในโรงงานหนึ่ง ๆ หรือสถานการณ์จำเพาะหนึ่ง ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องควบคุมงานอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้น จะถ่ายทอดออกมาในลักษณะไม่สื่อถึงอันตรายหรือสื่อผิดเพี้ยนไป หากสั่งแก้หลายครั้ง งานอาจล้มเหลวกลางคัน หรือเกิดความผิดพลาดแอบแฝงมากขึ้น ซึ่งอาจต้องตรวจหากันจนกลายเป็นปริมาณงานมหาศาล และหลาย ๆ ครั้งจะพบว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้แม้ในเรื่องซึ่งเป็นสามัญสำนึก
ขั้นสุดท้ายของการสร้างความรับรู้และเข้าใจอันตรายในงานอุตสาหกรรม คือ การเชื่อมสัญลักษณ์จุดอันตรายที่วางไว้บนภาพกราฟิกโรงงานและภาพกราฟิกผังกระบวนการ เข้ากับรายละเอียดและสื่อ Visualization ตรวจความใช้ได้ แล้วนำไปกำหนดเป็นข้อบังคับให้บุคลากรต้องเรียนรู้และนำไปใช้งาน (ไม่ใช่ให้เข้ารับการอบรมตามสมัครใจ)
รายละเอียดที่ผู้รับผิดชอบการทำ Hazard Visualization ควรจะต้องทราบเพิ่มเติม มีดังนี้:
- การแยกแหล่งที่มาของอันตราย: สถานที่และสิ่งแวดล้อม งานและกิจกรรม พฤติกรรม เหตุการณ์ เวลา
- ข้อกำหนดสำคัญของการระบุจุดอันตราย (เช่น Coverage, Consistency, ฯลฯ) และเงื่อนไขการใช้งาน
- การนำเสนอที่ทำให้ข้อมูลยังคงคุณสมบัติความใช้งานได้เสมอแม้จะ Update ไม่บ่อยและแสดงผลไม่ครบ
- เทคนิคการถ่ายภาพจุดอันตราย (เช่น การระมัดระวังไม่ให้การถ่ายภาพเข้าไปมีอิทธิพลต่อภาพ)
- รายละเอียดวิธีการสร้าง Graphic Animation ที่ตรงกับความจำเป็นในการใช้งาน การตรวจความใช้ได้ (Validate) เพื่อให้แน่ใจว่า Graphic Animation จะไม่สร้างความเสี่ยงเพิ่มให้กับผู้เข้ามาเรียนรู้ และการประเมินประสิทธิผลของ Graphic Animation เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข
- Animation แบบไม่ต้องลงทุนสูง
- การเพิ่มความตระหนักรู้ในอันตราย (Hazard Perception) ด้วย Graphic Hazard Checklist
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด