เนื้อหาวันที่ : 2011-10-23 17:46:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6979 views

การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจด้วยแผนธุรกิจเชิงรุก

บทความนี้จะนำเสนอกลยุทธ์การสร้างแผนธุรกิจเชิงรุก เพื่อให้ผู้บริหาร ผู้ประกอบการองค์กรธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการทำแผนธุรกิจ เพื่อเริ่มกิจการ หรือขยายกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างมองรอบด้าน

สนั่น เถาชารี

          บทความนี้กระผมจะนำเสนอกลยุทธ์การสร้างแผนธุรกิจเชิงรุก เพื่อให้ผู้บริหาร ผู้ประกอบการองค์กรธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการทำแผนธุรกิจ เพื่อเริ่มกิจการ หรือขยายกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างมองรอบด้านทั้งที่เป็นปัจจัยภายในองค์กร และปัจจัยภายนอกองค์กร อันจะนำมาซึ่งความสามารถ ศักยภาพในการแข่งขัน

ตลอดจนทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรีอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนเป็นตลาดเดียว ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงานได้อย่างเสรี และส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง

          หลักการเขียนแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงเชิงรุก ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 9 ขั้นตอนด้วยกันคือ

ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์ภาพรวมของกิจการ
          ขั้นตอนที่ 1.1 ภาพรวมของกิจการ เป็นการสรุปภาพรวมเดิมของกิจการว่า
          * มีแนวคิดหรือความเป็นมาในการดำเนินธุรกิจอย่างไร

          * จัดตั้งธุรกิจในรูปแบบไหน โดยรูปแบบในการดำเนินธุรกิจหากเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจผู้ประกอบการอาจเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของคนเดียวและอาจพัฒนารูปแบบไปเป็นแบบอื่น ๆ ได้ เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบริษัทมหาชนก็ได้

          * มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบเดิมอย่างไร เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจากปัจจัยใดอีก ทั้งมีแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน

          * หากธุรกิจดำเนินการมานานแล้วให้สรุปผลการดำเนินงานย้อนหลังอีก 3 ปี หรือทำการประเมินผลการดำเนินการเบื้องต้น

          * เป็นแผนธุรกิจใหม่จะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดค่าใช้จ่ายและกิจกรรมในการเริ่มต้นดำเนินโครงการ หรือกำหนดงบลงทุนคร่าว ๆ จากการดำเนินการก่อน

          ขั้นตอนที่ 1.2 การวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจ
          * การสรุป (รายงานประจำปี)
          * การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร

ขั้นตอนที่ 2 การสร้างทางเลือกและการกำหนดแนวทางในการทำแผนธุรกิจ
          ขั้นตอนที่ 2.1 การสร้างทางเลือกในการกำหนดแผนธุรกิจเชิงลกยุทธ์ โดยใช้ TOWS Matrix ดังแสดงในตารางที่ 1 ข้างล่างนี้

ตารางที่ 1 แสดงการสร้างทางเลือกในการกำหนดแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ โดยใช้ TOWS Matrix

          ขั้นตอนที่ 2.2 การกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจ สามารถแสดงดังในตารางที่ 2 ข้างล่างนี้

ตารางที่ 2 แสดงการกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแผนการตลาด
          ขั้นตอนที่สำคัญในการวางแผนการตลาด
          ขั้นตอนที่ 3.1 การวิเคราะห์ตลาดและการแข่งขัน เป็นการวิเคราะห์ถึงการแข่งขันของแต่ละผลิตภัณฑ์ในตลาดทั้งในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต

          ขั้นตอนที่ 3.2 การวิเคราะห์ลูกค้า (Customer Analysis) มีวิธีการที่สำคัญ 7 วิธีด้วยกันคือ

          1. ลูกค้าเป็นใครหรือใครคือลูกค้า (Who) เป็นการกำหนดหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือเราต้องการนำเสนอขายสินค้า และบริการให้ลูกค้ากลุ่มไหน ซึ่งการวิเคราะห์ลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Occupants) ช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมในการซื้อและการใช้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แท้จริง

          2. ลูกค้าต้องการซื้ออะไร (What) เป็นการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ลูกค้าซื้อ (Objects) เพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงซึ่งลูกค้าต้องการจากผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจขายตรง เมื่อมีการแบ่งส่วนตลาดที่ดีและเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ชัดเจน ก็จะทำให้ง่ายต่อการศึกษาถึงความต้องการของลูกค้าจากสิ่งที่เขาซื้อ เช่น ลูกค้าบางคนซื้อสินค้าของธุรกิจเพราะคุณภาพของสินค้าและบริการ หรือบางคนซื้อสินค้าเพราะความเกรงใจเนื่องจากเป็นญาติกับนักขายตรง หรือบางคนซื้อเพราะความสะดวกในด้านช่องทางการจำหน่าย

          3. ทำไมลูกค้าถึงซื้อ (Why) เป็นการวิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์ของการซื้อ (Objectives) จะช่วยให้ทราบว่าทำไมลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อสามารถนำมาเป็นแนวทางในการวางแผนนำเสนอและจูงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้สามารถตอบสนองเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ

          4. ลูกค้าซื้อสินค้าเมื่อไร (When) เป็นการวิเคราะห์โอกาสที่จะซื้อของลูกค้า (Occasions) ซึ่งลูกค้าจะมีพฤติกรรมในการบริโภคหรือตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการในแต่ละประเภทแตกต่างกันตามโอกาสที่จะใช้หรือซื้อ และปัจจัยเรื่องช่วงเวลาก็มีผลให้ความต้องการของลูกค้าแตกต่างกันออกไป

          5. ลูกค้าซื้อที่ไหน (Where) เป็นการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าว่านิยมซื้อสินค้าชนิดนั้น ๆ ที่ไหน (Outlets) อาจจะเป็น ที่บ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร หรือสถานที่อื่น ๆ

          6. ใครมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซื้อ (Who) เป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้มีบทบาทในการซื้อ (Organizations) ซึ่งการตัดสินใจซื้ออาจมีบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ซื้ออาจไม่ใช่ผู้ใช้สินค้าโดยตรง หรือบางครั้งคนตัดสินใจซื้อไม่ได้มีแค่คนเดียว อาจใช้ร่วมกันหลายคน ผู้ซื้ออาจไม่มีความรู้หรือความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสินค้ามากนัก จำเป็นต้องใช้ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้กลุ่มลูกค้าที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

          7. ลูกค้าซื้ออย่างไร (How) เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ถึงวิธีการซื้อ (Operations) ซึ่งลูกค้าแต่ละคนอาจจะมีกระบวนการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกันออกไป โดยจะต้องทราบถึงขั้นตอนการซื้อของลูกค้า ว่ามีการรับรู้ปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับการตอบสนองของสินค้าหรือบริการ แล้วลูกค้าทำการค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพื่อที่จะประเมินทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้อย่างไร

          ขั้นตอนที่ 3.3 การวิจัยตลาด (Market Research) คือ กระบวนการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ ตีความ และรายงานข้อมูลทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการ เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนและการตัดสินใจทางการตลาดของผู้ผลิต ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการทำให้สินค้าหรือบริการของตนสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าเป้าหมายได้สูงสุด ซึ่งวิธีการทำวิจัยตลาดที่นิยมใช้มีอยู่ 3 วิธี คือ

          1. การสำรวจความคิดเห็น (Surveys) เป็นการสอบถามเพื่อหาข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า เป้าหมาย ซึ่งอาจทำได้โดยการจัดทำแบบสอบถามส่งให้กลุ่มเป้าหมายทางไปรษณีย์ การสัมภาษณ์ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ก่อนลงมือสำรวจความคิดเห็น ควรปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบแบบสำรวจความคิดเห็นหรือแบบสอบถามเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าครอบคลุมทุกอย่างที่ต้องการทราบ และใช้วิธีการถามที่เข้าใจง่าย ตอบง่าย และได้คำตอบที่ชัดเจนเชื่อถือได้

          2. การสังเกตพฤติกรรม (Observation) คือ การให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเฝ้าสังเกต พฤติกรรมของลูกค้าเป้าหมาย เช่น ขณะที่ลูกค้ากำลังซื้อหรือใช้สินค้า การสังเกตพฤติกรรมในร้านค้ามีประโยชน์มากเพราะเป็นสถานที่ที่มีสินค้าวางขายอยู่ ผู้สังเกตการณ์สามารถรายงานสภาพการจัดเรียงสินค้าในร้าน สินค้าอื่นที่ลูกค้าซื้อ เป็นต้น ข้อด้อยของการวิจัยแบบสังเกตพฤติกรรม คือ เราจะไม่ทราบเหตุผลในการซื้อหรือลักษณะอื่น ๆ ของผู้ตัดสินใจซื้อสินค้า

          3. การทดลอง (Experimentation) แม้จะเป็นวิธีการวิจัยที่ให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดแต่ยังคงเป็นวิธีที่ใช้เงินลงทุนสูง การทำวิจัยตลาดวิธีนี้เราสามารถจัดสถานการณ์ ทางการตลาดให้เหมือนจริงและสามารถควบคุมปัจจัยผันแปรอื่น ๆ ที่เราต้องการวิจัยได้ (เช่น รูปแบบการซื้อ ราคา เป็นต้น)

          ขั้นตอนที่ 3.4 การกำหนดเป้าหมายทางการตลาดและการประมาณการยอดขาย เป็นการกำหนดเป้าหมายในส่วนที่เป็นกลุ่มลูกค้า รายได้ - กำไรที่จะสามารถทำได้ทางการตลาด

          ขั้นตอนที่ 3.5 การกำหนดนโยบายทางการตลาด เป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้า ส่วนแบ่งทางการตลาดโดยใช้นโยบายเชิงรุกหรือเชิงรับตามความเหมาะสมขององค์กร เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งทางตลาดได้มากที่สุด

          ขั้นตอนที่ 3.6 การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด เป็นการกำหนดแนวทาง กลยุทธ์เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาด

          ขั้นตอนที่ 3.7 การกำหนดยุทธวิธีทางการตลาด เป็นการกำหนดวิธีตามกลยุทธ์ทางการตลาด

          ขั้นตอนที่ 3.8 การประเมินผลทางการตลาด เป็นการประเมินผลของยุทธวิธีทางการตลาดว่าได้ผลดีหรือไม่โดยใช้ปัจจัยที่สำคัญคือ ส่วนแบ่งการตลาด รายได้ กำไรทางการตลาด

          ขั้นตอนที่ 3.9 การกำหนดงบประมาณทางการตลาด เป็นการกำหนดรายจ่ายที่จะใช้ในกิจกรรมทางการตลาด เช่น งบประมาณการประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ให้เข้าสู่ตลาด เพื่อให้ลูกค้ารู้จักและเลือกซื้อไปใช้ในที่สุด

ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแผนบริหารจัดการหรือแผนคน
          ประเด็นหลักที่จะนำมาใช้ในการจัดทำแผน
          1. ชนิดของโครงการองค์กรในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาจจัดแผนผังองค์กรให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรได้อย่างเหมาะสมกับการออกแบบและการวางระบบงาน หากแบบองค์กรไม่ดีผู้ประกอบการสามารถจัดทำแผนผังองค์กรใหม่ให้มีความกระชับ แบ่งงานอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมชัดเจน 

          2. บริษัทควรจัดโครงสร้างแบบใด โดยอาจจัดโครงสร้างตามหน้าที่ ตามประเภทของสินค้า หรือตามลักษณะทางภูมิศาสตร์

          3. ผู้ประกอบการมีการกำหนดความชัดเจนของอำนาจ ความรับผิดชอบ และสายบังคับบัญชาหรือไม่

          4. ขั้นตอนในการตัดสินใจขององค์กร ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาได้จากแผนผังขององค์กร

          5. ระดับและรูปแบบการจัดองค์กร โดยผู้ประกอบการอาจเน้นรูปแบบการจัดการแบบรวมอำนาจ หรือแบบกระจายอำนาจ

          6. รูปแบบการบริหารงาน (Management Styles) ผู้ประกอบการอาจมีวิธีการในการบริหารงานที่แตกต่างกัน อาจเป็นรูปแบบการบริหารงานที่เน้นงาน หรือผู้ประกอบการบางคนอาจเน้นที่คนก็ได้

          การวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการจัดการและการบริหารคน
          1. กลยุทธ์ในการวางแผนการจัดการและแผนคนโดยเน้นต้นทุนที่ต่ำ

          2. กลยุทธ์ในการวางแผนการจัดการและแผนคน โดยเน้นการสร้างความแตกต่างที่เหนือคู่แข่งขัน และภายใต้นโยบายของบริษัท

          3. กลยุทธ์ในการวางแผนการจัดการและแผนคน โดยเน้นการตอบสนองลูกค้าหรือพนักงานที่เหนือคู่แข่งขัน และภายใต้นโยบายของบริษัท

ขั้นตอนที่ 5 การจัดทำแผนการผลิต หรือแผนการดำเนินการต้นทุนในการผลิต
          * ต้นทุนคงที่คือ เป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการเริ่มต้น เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าผู้ประกอบการจะผลิตมากหรือน้อยต้นทุนประเภทนี้ยังคงเสียเท่าเดิม

          * ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนที่มีผันแปรไปตามปริมาณการผลิต นั่นคือ ผลิตมากก็ย่อมเสียต้นทุนประเภทนี้หากผลิตน้อยก็เสียน้อย เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต่าง ๆ ระบบการผลิต

          * ปัจจัยนำเข้า (Input) คือปัจจัยการผลิต

          * กระบวนการแปรสภาพ (Process) เป็นวิธีการในการแปรสภาพ หรือเป็นกระบวนการในการแปลงจากปัจจัยการผลิตไปเป็นผลผลิต 

          * ผลผลิต (Output) เป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการทำการผลิตเป็นสินค้าหรือบริการของบริษัทแผนงานในผลิตประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ 10 ประการคือ

          1.  คุณภาพ คือ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องการ โดยสินค้าหรือบริการนั้นสร้างความพอใจให้กับลูกค้า และมีต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสมได้เปรียบคู่แข่งขัน ลูกค้ามีความพึงพอใจ และยอมจ่ายตามราคาเพื่อซื้อความพอใจนั้น ซึ่งมิใช่เรื่องที่ประเมินจากสิ่งของที่จับต้องได้ หรือเป็นรูปธรรมเพียงด้านเดียว แต่จะต้องนำปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นนามธรรมมาประกอบการพิจารณาด้วย

          2.  การออกแบบสินค้าและบริการ ปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการ ต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มต้นที่จะนำสินค้า และบริการออกสู่ตลาดก็คือ 1. สินค้าและบริการใหม่ของผู้ประกอบการตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ สินค้าและบริการใหม่นี้ง่ายต่อการใช้ เข้าใจง่าย หรือเกิดประโยชน์ตรงกับที่ลูกค้าคาดหวังหรือไม่นั่นเอง

2. สินค้าและบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับความสามารถเดิมของบริษัทหรือไม่ นั่นคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ควรคำนึงถึงศักยภาพเดิมของบริษัทด้วยนั่นเอง และ 3. เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการมีความต้องการ ความรู้ ความสามารถและความเข้าใจต่อสินค้าและบริการใหม่มากน้อยเพียงใด เพราะหากเข้าใจและต้องการแล้ว โอกาสที่นำสินค้าและบริการใหม่ออกสู่ตลาดก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้สูงขึ้น

          3. กำลังการผลิต (Production Capacity) หมายถึงความสามารถสูงสุดที่กำลังการผลิต โดยทั่วไปมีหน่วยเป็นปริมาณผลผลิตต่อเวลา เช่น ตัน/ปี คัน/วัน เป็นต้น ผู้บริหารการผลิต จะต้องสนใจกำลังการผลิต ด้วยเหตุผล 3 ประการ 1.เพื่อทำการผลิตสินค้า และบริการให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า

2.กำลังการผลิตที่มีอยู่ มีผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการ ตลอดจนการจัดลำดับการผลิต และต้นทุนการผลิต และ 3.การที่จะให้ได้มาซึ่งกำลังการผลิต จะต้องมีการลงทุน การตัดสินใจว่าจะขยายกำลังการผลิตไปมากหรือน้อยเพียงใดจึงจะให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงที่สุด

          4. การออกแบบงานและการจัดการแรงงาน เป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายนี้ได้มีผลกระทบต่อกระบวนการบริหารธุรกิจของนายจ้าง มีผลต่อการทำงานและความเป็นอยู่ของลูกจ้างรวมทั้งมีผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติด้วย

          5. สถานที่ตั้ง การเลือกทำเลที่ตั้งควรพิจารณาปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกันมากกว่ามุ่งเน้นแต่ปัจจัยเดียวเพราะต้นทุนที่ต่ำในทางหนึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้ต้นทุนรวมต่ำสุดก็ได้ อย่างไรก็ดีปัจจัยที่จะใช้พิจารณาควรเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานธุรกิจ

กล่าวคือ ถ้าดำเนินกิจการคลังสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ควรอยู่ในภาคตะวันออก เช่นระยอง เพราะใกล้โรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งงานคลังสินค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนัก และเบา การบริการซึ่งรวมถึงการค้าปลีก ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์

การเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการคลังสินค้าไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปัจจัยต่าง ๆที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า คือ แหล่งสินค้า เส้นทางคมนาคม แหล่งแรงงาน บริการสาธารณะ และสิ่งแวดล้อม

          6.  การออกแบบผังโรงงาน เป็นงานหรือแผนการในการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัตถุต่าง ๆ ที่จำเป็นในกระบวนการผลิต ภายใต้ข้อจำกัดของโครงสร้าง และการออกแบบของอาคารที่มีอยู่ เพื่อทำให้การผลิตมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด 

          7.  การจัดการโซ่อุปทาน เป็นการนำกลยุทธ์ วิธีการ แนวปฏิบัติ หรือทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการจัดการ การส่งต่อ วัตถุดิบ สินค้า หรือบริการจากหน่วยหนึ่งในโซ่อุปทานไปยังอีกหน่วยหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนรวมในโซ่อุปทานต่ำที่สุด และได้รับวัตถุดิบ สินค้า หรือการบริการตามเวลาที่ต้องการ พร้อมกันนี้ ยังมีการสร้างความร่วมมือกันในการแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร  ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการส่งต่อของวัตถุดิบ สินค้า หรือการบริการนี้ นำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายด้วย

          8.  การจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งสินค้าคงคลัง (Inventory) จัดว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ชนิดหนึ่งซึ่งกิจการต้องมีไว้เพื่อขายหรือผลิต ดังนั้นสินค้าคงคลัง จึงหมายถึง วัตถุดิบ (Raw Material) หรือสิ่งของชิ้นส่วน ที่ซื้อมา เพื่อใช้ในการผลิต ฉะนั้นในการจัดการสินค้าคงคลัง จึงต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. วัตถุดิบ (Raw Material) คือชิ้นส่วนที่องค์กรได้ทำ การซื้อหามา เพื่อใช้ในการผลิต 2. งานระหว่างผลิต คือชิ้นงานที่อยู่ในขั้นตอนของการ ผลิต หรือรอคอยที่จะผลิตในขั้นต่อไป โดยที่ยังผ่านกระบวนการ ผลิตไม่ครบทุกขั้นตอน 3.วัสดุซ่อมบำรุง คือชิ้นส่วน หรืออะไหล่ของเครื่องจักร ที่สำรองไว้เพื่อเปลี่ยน เมื่อชิ้นส่วนเดิมเสียหาย หรือหมดอายุการใช้งาน

4.สินค้าสำเร็จรูป คือปัจจัยการผลิตที่ผ่านทุกกระบวน การผลิตที่ครบถ้วน พร้อมที่จะนำไปเสนอขายให้แก่ลูกค้าได้ และ 5.ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ แรงงาน (Labour) เงินลงทุน (Capital) เครื่องมือ (Tools) เครื่องจักร (Machine) และอุปกรณ์ (Equipment)

          9. การกำหนดตารางการผลิต ซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการวางแผนและกำหนดตารางการผลิตที่สำคัญ คือ การสร้างตารางการผลิตหลักที่เป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ การกระจาย BOM ในการคำนวณหาปริมาณวัสดุ และเวลาที่ต้องการ และเพื่อการทวนสอบถึงความพร้อมด้านกำลังการผลิต และความพร้อมของทรัพยากรด้านต่าง ๆ รวมทั้งการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตารางการผลิตหลัก

          10. การบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ โดยควรใช้กลยุทธ์การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM) ที่เป็นการบำรุงรักษาที่มุ่งเน้นเชิงป้องกันก่อนที่เครื่องจักรจะเสีย และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายภายในองค์กร โดยเริ่มตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง

ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำแผนการเงิน สถานะทางการเงิน
          * แนวโน้มทางด้านการเงินของธุรกิจในปัจจุบันเป็นเช่นไร โดยพิจารณาผลของการวิเคราะห์งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์งบดุล งบกำไร-ขาดทุน โดยพิจารณาการวิเคราะห์งบการเงิน

          * พิจาณาแนวโน้มจากหน้าที่สำคัญของทางด้านการเงิน และการเงินมีหน้าที่หลัก 2 หน้าที่คือ

          * การหาเงินทั้งที่จากการขายสินค้า ระดมเงินลงทุนเพิ่ม หรือการกู้เงินเพื่อใช้ในการขยายกิจการ

          * นำเงินที่มีอยู่ไปใช้จ่ายอะไรบ้าง (การจัดสรรทุน)

          การจัดทำแผนการเงิน
          ขั้นตอนที่ 6.1 ประมาณการเงินลงทุนในโครงการ
          ขั้นตอนที่ 6.2 สมมติฐานทางด้านการเงินและบัญชี
          ขั้นตอนที่ 6.3 ประมาณการงบกำไร-ขาดทุน
          ขั้นตอนที่ 6.4 ประมาณการงบดุล
          ขั้นตอนที่ 6.5 ประมาณการกระแสเงินสด
          ขั้นตอนที่ 6.6 การวิเคราะห์และสรุปภาพรวมงบการเงินจากการประมาณการณ์
          ขั้นตอนที่ 6.7 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ

ขั้นตอนที่ 7 จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์
          ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ จะเป็นการรวบรวมแผนจากทุกแผนกมารวมไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติจริง ในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม

ตารางที่ 3 แสดงแบบฟอร์มแผนการปฏิบัติการรวม


ขั้นตอนที่ 8 การจัดทำแผนฉุกเฉินและการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ
          พิจารณาเป็น 2 ขั้นตอนย่อยคือ
          ขั้นตอนที่ 8.1 ประเด็นความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อมจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก โดยจะทำการวิเคราะห์แยก เพื่อศึกษารายละเอียดของปัญหา ข้อมูลที่เป็นสัญญาณเตือน ผลกระทบ มาตรการในการดำเนินการแก้ไข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมผู้รับผิดชอบ

          ขั้นตอนที่ 8.2 การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ

ขั้นตอนที่ 9 การจัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร
          แบบฟอร์มบทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ประโยชน์ที่องค์กร ธุรกิจจะได้รับจากการสร้างแผนธุรกิจเชิงรุก
          1. องค์กร ธุรกิจมีแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นการบริหาร จัดการความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกองค์กรเชิงรุก

          2. องค์กร ธุรกิจมีแนวทางในการวางแผนการตลาด ทำให้สามารถวิเคราะห์การแข่งขัน ส่วนแบ่งทางการตลาด ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์ ยุทธวิธีเพื่อครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม

          3. ผู้บริหารองค์กร ธุรกิจเห็นการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด งบดุลต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที (Real Time) ทำให้สามารถ จัดสรรงบประมาณไปใช้ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

          4. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีศักยภาพและประสิทธิภาพการแข่งขันสูงในตลาดการค้าเสรีอาเซียน

          5. องค์กร ธุรกิจสามารถขยายฐานการผลิต เพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะการแข่งขัน และทรัพยากรที่องค์กรนั้นมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน แรงงาน เครื่องจักร

เอกสารอ้างอิง
          1. สนั่น เถาชารี. องค์กรเชิงรุก เดินด้วยกลยุทธ์, เทคนิค เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ 2551; 25(289): 127-130.

          2. สนั่น เถาชารี. องค์กรเชิงรุก เดินด้วยกลยุทธ์, เทคนิค เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ 2551; 25(290): 136-139.

          3. สนั่น เถาชารี. การประยุกต์ใช้สารสนเทศกับกลยุทธ์ธุรกิจ.Industrial Technology Review 2551; 13(174): 149-155.

          4. สนั่น เถาชารี. แนวทางปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศในการบริหารจัดการความเสี่ยง. Industrial Technology Review 2553; 16(205): 139-145.

          5. สนั่น เถาชารี. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์.Industrial Technology Review 2553; 16(215): 126-131.

          6. http://en.wikipedia.org/wiki/
          7. http://business-online.tht.in/customer.html
          8. http://www.siaminfobiz.com/mambo/content/view/1481/37/
          9. http://www.oknation.net/blog/uriyalanews/2009/08/20/entry-1

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด