เนื้อหาวันที่ : 2011-10-22 23:10:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 20440 views

ทำความรู้จักกับชนิดของใบสกรูลำเลียงวัสดุปริมาณมวล

สกรูลำเลียง เป็นอุปกรณ์เชิงกลที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับขนถ่ายวัสดุต่าง ๆ ส่วนมากจะนิยมใช้ในการขนถ่ายวัสดุปริมาณมวล

ธีรศักดิ์ ศรีมิตรรุ่งโรจน์
ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

          สกรูลำเลียง เป็นอุปกรณ์เชิงกลที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับขนถ่ายวัสดุต่าง ๆ ส่วนมากจะนิยมใช้ในการขนถ่ายวัสดุปริมาณมวล (Bulk Materials) สกรูลำเลียงจะมีชิ้นส่วนประกอบหลักที่สำคัญอยู่หลายส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย ใบสกรู ตัวแขวน ราง และชุดขับ การออกแบบสร้างสกรูลำเลียงจำเป็นต้องศึกษารูปร่างลักษณะของส่วนประกอบและหลักการนำไปใช้งาน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าผู้ออกแบบจะนำสกรูไปใช้เพื่อการลำเลียงวัสดุประเภทใด ซึ่งคุณสมบัติของวัสดุปริมาณมวลชนิดต่าง ๆ นั้นได้ถูกจำแนกประเภทเอาไว้ตามมาตรฐานของ CEMA (Conveyor Equipment Manufacturers Association) ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ออกแบบสร้างสกรูลำเลียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับการนำไปใช้งานในรูแบบต่าง ๆ ซึ่งเนื้อหาของบทความนี้จะได้กล่าวถึงชิ้นส่วนที่สำคัญที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการลำเลียงวัสดุนั่นคือ “ใบสกรูลำเลียง”

ใบสกรู (Screw Flights)
          ใบสกรูนั้นถือว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของชุดสกรูลำเลียง ลักษณะของใบสกรูจะเป็นตัวบอกว่าจะนำไปใช้งานประเภทใด หรือเหมาะกับการขนวัสดุชนิดใด การพิจารณาออกแบบเลือกใบสกรูเพื่อนำไปใช้งานอย่างเหมาะสมนั้น จะต้องศึกษาชนิดลักษณะรูปร่างของใบสกรูและส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งใบสกรู สามารถแบ่งตามลักษณะรูปร่างแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตมาตรฐาน (Single Flight Standard Pitch) เป็นใบสกรูใบเต็มที่มี ระยะพิตเท่ากับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนอกสุดของสันใบ ใช้ขนถ่ายวัสดุทั่วไปเหมาะกับการขนถ่ายวัสดุในแนวนอน

รูปที่ 1 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตมาตรฐาน

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตเท่ากับครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางใบ (Single Flight Haft Pitch) เป็นใบสกรูที่มีระยะพิตเท่ากับครึ่งหนึ่งของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนอกสุดของสันใบ ใช้กับงานขนถ่ายวัสดุ แนวเอียง แนวดิ่ง เหมาะกับวัสดุที่ไหลตัวได้ดี

รูปที่ 2 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางใบ

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตสั้น (Single Flight Short Pitch) เป็นใบสกรูที่มีระยะพิตเท่ากับ 2/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางใบสกรู สามารถใช้ในการขนถ่ายวัสดุแนวเอียงที่ทำมุมมากกว่า 20 องศา หรือแนวดิ่ง และยังใช้สามารถลดการพุ่งของวัสดุเพื่อใช้ในการจ่ายวัสดุด้วย

รูปที่ 3 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตสั้น

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตยาว (Long Pitch Conveyor Screws) เป็นใบสกรูที่มีระยะพิตเท่ากับ 11/2 ใช้เป็นเครื่องตีกวนของเหลว หรือขนถ่ายวัสดุด้วยความเร็วสำหรับวัสดุที่ไหลได้ดี

รูปที่ 4 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตยาว

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตขยาย (Single Flight Variable Pitch) เป็นใบสกรูที่ระยะพิตของใบจะ ค่อย ๆ ขยายเพิ่มขึ้น ใช้ในสกรูจ่ายหรือป้อนวัสดุ เหมาะกับวัสดุที่ละเอียดไหลตัวง่าย การไหลของวัสดุต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอดความยาวของสกรู

รูปที่ 5 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตขยาย

          * ใบสกรูแบบที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นเป็นระดับขั้น (Stepped Pitch Conveyor Screw) ใบสกรูแบบนี้จะประกอบไปด้วยใบสกรูที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ต่างกัน แต่มีระยะพิตเท่ากันมาเชื่อมติดตั้ง เรียงกันบนแกนเพลาเดียวกันเป็นช่วง ๆ ส่วนมากจะใช้ในงานสกรูจ่ายวัสดุส่วนที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยจะติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งใต้ Hopper เพื่อใช้จ่ายวัสดุและควบคุมการไหลของวัสดุ

รูปที่ 6 ใบสกรูแบบที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นเป็นช่วง ๆ

          * ใบสกรูแบบใบเรียวระยะพิตมาตรฐาน (Single Tapered Flight Standard Pitch) เป็นใบสกรูที่มี ระยะพิตมาตรฐาน แต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางค่อย ๆ ขยายเพิ่มขึ้น ใช้ในงานสกรูจ่ายเหมาะกับการขนวัสดุที่เป็นก้อนหรือร่วนซุยออกจากถังเก็บ หรือ Hopper การไหลของวัสดุเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

รูปที่ 7 ใบสกรูแบบใบเรียวระยะพิตมาตรฐาน

          * ใบสกรูแบบใบเต็ม 2 ชั้น ระยะพิตมาตรฐาน (Double Flight Standard Pitch) เป็นใบสกรูแบบ มาตรฐานสองใบนำมาติดซ้อนกันบนเพลาเดียว ใช้ในการขนถ่ายวัสดุราบเรียบ การปล่อยวัสดุออกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ 

รูปที่ 8 ใบสกรูแบบใบเต็ม 2 ชั้น ระยะพิตมาตรฐาน

          * ใบสกรูแบบระยะพิตสั้นสองชั้น (Double Flight Shot Pitch Conveyor Screws) เป็นใบสกรูแบบที่นำใบสกรูระยะพิตสั้น 2 ใบมาติดตั้งซ้อนกันบนเพลาเดียว ระยะพิตจะสั้นมากทำให้แม่นยำในการจ่ายวัสดุ วัสดุที่ไหลออกจากสกรูจะไม่พุ่งไปไกล เหมาะกับงานป้อนวัสดุเข้าเครื่องผสมที่ต้องการส่วนผสมและการไหลสม่ำเสมอ

รูปที่ 9 ใบสกรูแบบระยะพิตสั้นสองชั้น

          * ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตมาตรฐานติดใบพาย (Standard Pitch with Paddles) ใบสกรูแบบนี้ จะเป็นแบบใบเต็มระยะพิตมาตรฐานติดใบพายตามเพลาเป็นช่วย ๆ ใบพายจะเป็นตัวกวาดช่วยในการไหลหรือ ผสมวัสดุ สามารถปรับมุมบิดใบพายได้ จะใช้กับวัสดุน้ำหนักเบา น้ำหนักปานกลาง มีลักษณะละเอียดเป็นเมล็ดหรือเป็นแผ่น

 

รูปที่ 10 ใบสกรูแบบใบเต็มระยะพิตมาตรฐานติดใบพาย

          * ใบสกรูแบบใบตัด (Single Cut Flight) ใบสกรูแบบนี้จะเป็นแบบใบสกรูมาตรฐาน แต่ขอบนอกสุดของสันใบสกรูจะมีการตัดบากเป็นช่อง รอยบากจะช่วยในการผสมกันของวัสดุในขณะขนถ่าย


รูปที่ 11 ใบสกรูแบบใบตัด

          * ใบสกรูแบบตัดและพับ (Cut and Folded Flight Conveyor Screws) เป็นใบสกรูที่มีรอยตัดและพับ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับการผสมและกวนวัสดุซึ่งจะทำให้วัสดุลอยตัวขึ้นในอากาศ เป็นผลให้เกิดการผสมกันของวัสดุได้ดีขึ้น ใบสกรูนี้จะใช้กับวัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีขนาดปานกลางหรือวัสดุละเอียด

รูปที่ 12 ใบสกรูแบบตัดและพับ

          * ใบสกรูแบบตัดและติดใบพาย (Cut Flight with Paddled) เป็นใบสกรูแบบตัดแล้วมีใบพัดติดอยู่ เป็นช่วง ๆ ซึ่งเป็นตัวขวางการไหลของวัสดุเพื่อทำให้เกิดการผสมกันของวัสดุมากขึ้นในขณะขนถ่ายวัสดุ

รูปที่ 13 ใบสกรูแบบตัดและติดใบพาย

          * ใบกรูแบบริบบอน (Ribbon Flights) ใบสกรูแบบนี้จะทำจากเหล็กแบนบิดม้วนเป็นเกลียวแล้วนำมายึดติดกับเพลาด้วยเหล็กเส้น ช่องว่างของใบสกรูกับเพลาจะทำให้วัสดุลอดผ่านได้ ทำให้วัสดุผสมกันไปด้วย เหมาะกับงานขนถ่ายวัสดุเหลวมีความหนืดและเหนียว

รูปที่ 14 ใบสกรูแบบริบบอน

          * ใบสกรูแบบริบบอนติดใบพาย (Ribbon Flight With Paddles) ใบสกรูแบบริบบอนติดใบพายนี้ จะนำใบพายมาติดระหว่างระยะพิตของใบใบพาย จะติดเป็นแนวเกลียวสวนการเคลื่อนที่ของวัสดุ ใบพายจะใช้วิธีเชื่อมติดกับเพลา เพื่อลดส่วนยื่นของใบพาย ใบสกรูชนิดนี้เหมาะกับการใช้ในงานผสมวัสดุขณะขนถ่าย ใช้ลำเลียงวัสดุแข็งมีน้ำหนักเบาถึงปานกลาง หรือวัสดุละเอียดเป็นเม็ดหรือเกล็ด

รูปที่ 15 ใบสกรูแบบริบบอนติดใบพาย

          * ใบสกรูแบบริบบอนหลายใบ (Multiple Ribbon Flight Conveyor Screws) ใบสกรูริบบอนแบบนี้ จะมีใบสกรูริบบอนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอกใบสกรูที่แตกต่างกันออกไป มายึดติดตั้งอยู่บนแกนเพลา การพาวัสดุของใบสกรูจะมีทิศทางตรงกันข้าม ใบหนึ่งจะพาวัสดุไปข้างหน้าอีกใบก็จะพาวัสดุกลับ วัสดุจะ คลุกเคล้ากันได้เป็นอย่างดี

 

รูปที่ 16 ใบสกรูแบบริบบอนหลายใบ

          * ใบสกรูแบบใบพาย (Van Paddle Conveyor) ใบพายจะทำจากเหล็กติดกับก้านที่สอดทะลุเพลา แล้วยึดด้วยนัต ใบพายนี้จะสามารถปรับมุมเอียงได้เพื่อควบคุมทิศทางการไหล เหมาะในการใช้กับงานผสม วัสดุใช้ได้ทั้งวัสดุแห้งหรือเหลว

 

รูปที่ 17 ใบสกรูแบบใบพาย

          * ใบสกรูลำเลียงแบบใบถ้วย (Cupped Pitch) ใบสกรูแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการผลักดันวัสดุ ให้เคลื่อนตัวไปช้า ๆ เพื่อให้การจ่ายวัสดุออกจาก Hopper ไหลตัวได้ง่าย เหมาะกับการจ่ายวัสดุในแนวเอียงทำ มุมและแนวดิ่ง เนื่องจากความสามารถอุ้มวัสดุได้ดีและขนาดของความยาวพิตจะค่อนข้างยาว

 

รูปที่ 18 ใบสกรูลำเลียงแบบใบถ้วย

          * สกรูแบบกรวยระยะพิตสม่ำเสมอ (Cone with Consistent Pitch) เพลาของสกรูจะเป็นรูปกรวย ใช้ในงานสกรูจ่ายวัสดุตามแนวราบตามความยาวที่ต้องการ เพลารูปกรวยจะให้วัสดุไหลออกจาก Hopper หรือถังเก็บได้ง่ายขึ้น

 

รูปที่ 19 สกรูแบบกรวยระยะพิตสม่ำเสมอ

          * สกรูแบบกรวยระยะพิตเพิ่มขึ้น (Cone with Varied Pitch) เพลาของสกรูจะเป็นรูปกรวย ใช้ในงานสกรูจ่ายวัสดุตามแนวราบไปตามความยาวที่ต้องการ เพลารูปกรวยจะให้วัสดุไหลออกจาก Hopper หรือถังเก็บได้ง่ายขึ้น

รูปที่ 20 สกรูแบบกรวยระยะพิตเพิ่มขึ้น

          * ใบสกรูแบบไม่มีเพลา (Shaft Less Flight) เป็นใบสกรูใบเกลียวที่ไม่มีเพลายึดใบเกลียว รับ แรงบิดสูงความเร็วในการขนถ่ายต่ำ เหมาะสำหรับการลากพาวัสดุหรือขนถ่ายวัสดุที่เกิดการอัดตัวกันง่าย เป็นเส้นใย

รูปที่ 21 ใบสกรูแบบไม่มีเพลา

          * ใบสกรูแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Screw Conveyors) ใบสกรูแบบนี้จะทำเหล็กกล้าสปริงหรือ สแตนเลสโดยที่ใบสกรูจะอยู่ภายในท่อที่เป็นทั้งท่ออ่อนหรือท่อแข็งทั้งพลาสติกหรือโลหะแข็งและมีชุดมอเตอร์ขับไฟฟ้า ซึ่งปกติจะติดตั้งที่ส่วนปลายของสกรูลำเลียง ใบสกรูแบบนี้จะสามารถโค้งไปตามรางแบบท่อมีทั้ง แบบกลม และแบบแบน

          1. ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบกลม ใช้แรงขับเคลื่อนวัสดุออกสู่ภายนอกโดยผ่านไปตามใบเกลียวกับท่อ ใบสกรูแบบนี้จะลดการเสียดสีกันระหว่างใบกับท่อ ใช้กำลังขับต่ำวัสดุจะค่อย ๆ กระจายตัว ภายในท่อมีการขวางการไหลในตัวช่วยในการผสมวัสดุ ใบสกรูแบบกลมจะมีประสิทธิภาพในการการขนส่ง และผสมวัสดุ อายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบบแบน

รูปที่ 22 ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบกลม

          2. ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบแบน ผลิตจากเส้นลวดสี่เหลี่ยม มีแรงขับเคลื่อนดีมากมีความจุเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เหมาะกับการขนวัสดุที่เบา วัสดุจะผสมกับอากาศได้ดี ใช้เมื่อต้องการให้วัสดุผสมกับอากาศ ซึ่งช่วยในการเคลื่อนที่ของวัสดุไปเมื่อไม่มีการไหลย้อยกลับ เหมาะกับวัสดุจำพวกแป้ง, ผงดับเพลิง รวมทั้งวัสดุที่ผ่านการกรองทั้งหลาย

รูปที่ 23 ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบแบน

          3. ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบมีขอบใบเอียง ออกแบบให้ขนถ่ายวัสดุที่ไหลยากประเภทที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ วัสดุมีการชุบสีย้อมสี วัสดุจะถูกพาไปตามและใบสกรู ไม่เหมาะที่จะขนถ่ายในงานที่ใช้ ที่งอ แต่ก็สามารถขนถ่ายวัสดุในแนวเอียงได้

รูปที่ 24 ใบสกรูยืดหยุ่นได้แบบมีขอบใบเอียง

เอกสารอ้างอิง
          1. ANSI/CEMA 350-2009, CEMA STANDARD No. 350, "SCREW CONVEYORS"

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด