เนื้อหาวันที่ : 2011-10-21 16:55:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5927 views

ยุทธศาสตร์สายการบินเพื่อการขนส่งทางอากาศ สู่การพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันท่าอากาศยานกลายเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการผลิตและการพาณิชย์ระดับโลก และเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ระดับภาค จนถึงระดับชาติ

ชมพูนุท ภู่เบญญาพงศ์
เจ้าหน้าที่ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และ
น.ศ.หลักสูตร MS. in Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม

การขนส่งทางอากาศไทย
          ปัจจุบันท่าอากาศยานกลายเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการผลิตและการพาณิชย์ระดับโลก และเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ระดับภาค จนถึงระดับชาติ นอกจากนี้ท่าอากาศยานยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินทุกประเภทในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยาน เช่น การผลิตและกระจายสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วน ศูนย์ขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

ท่าอากาศยานพาณิชย์ของไทยในปัจจุบันมีทั้งหมด 35 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 6 แห่ง และท่าอากาศยานภายในประเทศ 29 แห่ง เส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นและปลายทางอยู่ที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศทั้ง 6 แห่ง

          ท่าอากาศยานระหว่างประเทศทั้ง 6 แห่ง ที่เป็นจุดศูนย์รวมของการขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มีคลังสินค้าสำหรับทำการขนถ่ายสินค้าทางอากาศ อันได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ดังรูปที่ 1

โดยท่าอากาศยานที่มีสถิติการขนส่งมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2552 คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการถึง 9,444,558 คน และมีการขนส่งสินค้าถึง 214,125 ตัน ทั้งนี้ปริมาณสินค้าผ่านเข้าออกที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนสินค้าที่ผ่านเข้าออกสนามบินในประเทศไทย


ที่มา: Airports Council International

รูปที่ 1 แสดงตำแหน่งของท่าอากาศยานภายในประเทศ

โครงสร้างอุตสาหกรรมทางอากาศไทย
          จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางอากาศ เมื่อ 16 กันยายน ปี 2551 พบว่ามีผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศของไทยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการทั้งหมด 48 ราย เป็นสายการบินแบบประจำ (Schedule Airlines) 20 ราย ที่หากพิจารณาถึงโครงสร้างของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางอากาศที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้ดำเนินการที่มีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ราย เป็นการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างเดียว 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 41.67และร้อยละ 10.42 ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจนี้มีการเปิดสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบจำนวนสายการบินต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 100 สายการบิน ผู้ประกอบการไทย มีส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ (ตลาดของการขนส่งทางอากาศระหว่างไทยกับต่างประเทศ ทั้งผู้โดยสารและสินค้า) เพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงโครงสร้างของผู้ประกอบการธุรกิจการขนส่งทางอากาศ

 
ที่มา: กรมการขนส่งทางอากาศ

          การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศนั้น มักจะถูกมองว่าเป็นตลาดที่สามารถแข่งขันได้ง่าย (Contestable Market) แต่ทั้งนี้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศก็มีมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศหลาย ๆ ด้านอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมให้การบริการการขนส่งทางอากาศเป็นไปได้อย่างมีมาตรฐาน ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์เบื้องต้นของมาตรการต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางอากาศ

การขนถ่ายสินค้าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
          ปริมาณสินค้าเข้าออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปี 2550 มีจำนวน 1,209,720 ตัน เป็นสินค้าระหว่างประเทศจำนวน 1,178,000 ตัน และภายในประเทศจำนวน 31,720 ตัน การขนถ่ายสินค้าส่วนใหญ่เป็นการขนส่งที่มากับเที่ยวบินสำหรับผู้โดยสารในอัตราส่วนร้อยละ 77.90 ส่วนที่ทำการขนส่งโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ คิดเป็นร้อยละ 22.10

และสำหรับสายการบินที่ทำการขนส่งสินค้าสูงสุดยังคงเป็น Thai Airways International มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 41.99 รองลงมาได้แก่ EVA Air คิดเป็นร้อยละ 5.78 สำหรับการขนถ่ายโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้าอย่างเดียว สายการบินที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงสุดได้แก่ Nippon Cargo Airlines มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1.58 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด

การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อการขนส่งระดับโลก
          การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมทั้งเกิดความเข้าใจ และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การเพิ่มสมรรถนะ และขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7, 8, 9 และ 10

ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งที่อยู่ภายในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมและของหน่วยงานต่าง ๆ ได้พยายามบูรณาการแผนงานด้านระบบและบริการการขนส่ง รวมถึงงบประมาณเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมายังท่าอากาศยานและออกจากท่าอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลมีนโยบายและสนับสนุน โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการขนส่งและท่าอากาศยาน ที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้

โดยรัฐบาลจะขยายฐานภาคการบริการเพื่อสร้างรายได้ใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าใหม่ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพและทันเวลา สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดในทุกระดับ ซึ่งจะลดขั้นตอนการกระจายสินค้า มีระบบเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบทั้งทางรถ ทางเรือ ทางรถไฟและทางท่อ โดยให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นประตูสู่ตลาดโลก

          ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันแทบทุกประเทศได้ตั้งวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นควรมีการแปลงวิสัยทัศน์ให้เป็นมาตรการอันเป็นรูปธรรม และจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขันกันระหว่างท่าอากาศยานอื่น ๆ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของประเทศไทยก็เช่นเดียวกันจึงควรปรับปรุงในเรื่องต่อไปนี้

          1. ควรปรับปรุงและจัดระบบให้บริการผู้โดยสารและอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และประสานกับระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ ส่วนการจัดเก็บค่าบริการควรจะอยู่ในระดับคุ้มทุน ซึ่งไม่เป็นภาระต่อกิจการต่อเนื่อง และควรปรับปรุงระบบขนส่งทางถนนและการขนส่งด้านอื่น ๆ ที่เข้าสู่สนามบินให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งทางราง

          2. กฎระเบียบควรเอื้ออำนวยต่อการบริการและขั้นตอนการตรวจสอบสินค้า โดยเฉพาะในด้านพิธีการศุลกากรที่ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในช่วงเวลานอกเวลาราชการ หรือนอกช่วงเวลา 8.30-17.00 น. ที่สินค้ามีปริมาณสูง

          3. ควรสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนลงทุนในกิจการสนามบินภูมิภาค และการเชื่อมโยงการใช้สนามบินกับการขนส่งแบบอื่น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการส่งสินค้าระบบต่อเนื่องทางทะเลและทางอากาศ เพื่อพัฒนากิจการค้าด้านนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดการคมนาคมระหว่างสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

          4. ควรปรับปรุงลดขั้นตอน ระเบียบ พิธีการต่าง ๆ รวมทั้งพิธีการด้านศุลกากร เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัวและเหมาะสมในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น และควรนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ท่าเรือ กรมศุลกากร และส่วนของผู้ปฏิบัติการให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์พบว่ามีการพัฒนาใช้การชำระเงินเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์

          5. ควรหาแผนธุรกิจที่สามารถดึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลกให้มาตั้งศูนย์กระจายสินค้า โดยท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศสำคัญของโลกนั้น บางท่าอากาศยานมีปริมาณขนส่งผู้โดยสารค่อนข้างน้อยแต่กลับประสบผลสำเร็จมากในด้านการขนส่งทางอากาศ

เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริการธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลก อาทิ ท่าอากาศยานกวางโจว เพื่อเป็นศูนย์โลจิสติกส์ของ FedEx สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ท่าอากาศยานนานาชาติของนครเมมฟิส (อันดับ 1 ของโลก) เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าของบริษัท FedEx ท่าอากาศยานนานาชาติของนครหลุยส์วิลล์ (อันดับ 9 ของโลก) เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าของบริษัท UPS 

          6. ควรพิจารณาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ที่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือสู่ทางอากาศต้องรับภาระ ในขณะที่ในสิงคโปร์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะถือว่าเป็นการให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ

          7. ควรพิจารณาเพิ่มเติมการตั้งศูนย์ซ่อม และศูนย์อะไหล่ในประเทศ เพื่อสร้างแรงดึงดูดตลาดการบิน โดยปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวของภูมิภาคนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

          8. ควรผลักดันให้เกิดแหล่งอุตสาหกรรมที่ใกล้บริเวณท่าอากาศยาน หรือ โลจิสติกส์พาร์ค เพื่อสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเอกชนพยายามผลักดันในรูปแบบคลังสินค้าปลอดอากร อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรเข้าไปจัดสรรเรื่องพื้นที่และพัฒนาระบบการคมนาคม เช่น ถนนเข้า-ออกให้เพียงพอด้วย

          นอกจากนี้ควรนำข้อมูลอัตราต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อต้นทุนรวมทั้งหมดของสินค้าแต่ละประเภทมาร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทมีอัตราต้นทุนค่าขนส่งต่อต้นทุนรวมแตกต่างกัน เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของสินค้าแต่ละประเภทตามความเหมาะสม ป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรับภาระมากเกินไป อันจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะตลาดดอกไม้ที่ต้องการความรวดเร็วในขนส่งเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การจะตอบสนองต่อการจัดการท่าอากาศยานให้พัฒนาด้านการขนส่งมวลชนและสินค้านั้น คงต้องพึ่งพานโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาอย่างจริงจังและมีแบบแผนให้ทันกับนานาอารยะประเทศ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด