ทุก ๆ วันในสถานประกอบการทุกแห่ง มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ใช้อยู่ มีผลในทางปฏิบัติหรือไม่
บริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างไร ให้เกิดผล ? (ตอนที่ 1)
(Effective Occupational Heath and Safety Management Systems)
ศิริพร วันฟั่น
ทุก ๆ วันในสถานประกอบการทุกแห่ง มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันออกไป ตามแต่ความเสี่ยงของงานที่ทำ แต่ที่เหมือน ๆ กันก็คือ นำมาซึ่ง ‘ความเจ็บปวดและทุกข์ระทม’ อันประเมินค่าไม่ได้ของผู้ประสบเหตุและครอบครัว ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาว่าระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ใช้กันอยู่ มีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะจะช่วยลดขนาดและความรุนแรงของการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน เป็นการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนที่สูญเสียไปจากการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์อีกด้วย
แต่...คำถามก็มีอยู่ว่า ระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลนั้น เราจะนำไปปฏิบัติ (Implementation) ดำรงรักษาไว้ (Maintain) และประเมิน (Evaluation) ได้อย่างไรกัน คำตอบก็คือ ผู้บริหารต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอต่อการดำเนินการและดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบ อันหมายรวมถึง การสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ ข้อมูลเชิงเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการมอบหมายภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมทั้งอำนาจในการดำเนินการอย่างชัดเจนและเพียงพอ ต่อการตรวจสอบการทำงานตามลำดับชั้น ชี้บ่งอันตรายอย่างเป็นระบบ ป้องกันและควบคุมอันตรายอย่างเหมาะสม ตลอดจนประเมินระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเป็นกลาง
ทุก ๆ องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ เพื่อให้พนักงานทุกระดับ มีความตระหนัก และแข็งขันในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านความปลอดภัยฯ โดยอาศัยระบบบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผล ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริหารระดับสูงมีภาวะผู้นำ (Leadership) และเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินระบบ พนักงานทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของระบบ ดำเนินการตามระบบอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจและใฝ่เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัยมากขึ้น ตลอดจนมีวุฒิภาวะในการรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
ระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ที่มีประสิทธิผล คือ ชุดขององค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน เปรียบเสมือนภาพจิ๊กซอว์ ที่จะขาดชิ้นหนึ่งชิ้นใดไปไม่ได้ ถ้าชิ้นหนึ่งบกพร่องก็จะส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยองค์ประกอบที่ว่านี้จะช่วยจัดตั้ง ส่งเสริมและสนับสนุน นโยบาย รวมถึงวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นกลไกในการบรรลุเป้าหมายของการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลนั้น จะตั้งอยู่บนรากฐานของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและขจัดสาเหตุที่ซ่อนเร้น หรือต้นตอที่แท้จริงของข้อบกพร่องอย่างเป็นระบบ เช่น ถ้าพบเครื่องจักรที่ไม่มีเครื่องป้องกันอันตราย จะไม่เพียงแค่ระบุว่า ‘พบเครื่องจักรที่ไม่มีเครื่องป้องกันอันตราย’ แต่จะมีกระบวนการในการค้นหาที่มาว่าทำไมจึงมีเครื่องจักรที่ไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายอยู่ในที่ทำงาน และขจัดเหตุอย่างเป็นระบบ
โดยอาจจะพบว่า มีพนักงานถอดเครื่องป้องกันออก เพราะทำงานไม่สะดวก จากนั้นก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนไปใช้เครื่องป้องกันอันตรายที่ออกแบบได้เหมาะสมกว่าเดิม หรืออาจเลยไปถึงการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรที่มีอันตรายน้อยกว่า เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า กระบวนการที่เป็นระบบจะเป็นการเสาะหาวิธีแก้ไขปัญหาในระยะยาวมากกว่า แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
องค์ประกอบของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผล
1. ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Management Leadership and Employee Involvement) ทั้ง 2 สิ่งนี้จะผูกติดเข้าไว้ด้วยกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะว่าสิ่งหนึ่งจะไม่มีประสิทธิภาพถ้าปราศจากอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้าผู้จัดการโรงงานได้ให้พันธะสัญญา (Commitment) ไปแล้ว แต่ถ้าผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างขาดการไตร่ตรองข้อมูล หรือไม่เข้ามามีส่วนร่วมเลย ก็จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น รอวันปะทุขึ้นมาอีก หรืออาจลุกลามมากกว่าเดิม
1.1 การแสดงออกถึงการมีภาวะผู้นำของผู้บริหาร (Management Leadership) ก็คือ การให้พันธะสัญญาที่จะสร้างแรงจูงใจ และจัดสรรทรัพยากรสำหรับการจัดแจงและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร การจัดลำดับความสำคัญ และภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานจะมีความปลอดภัยในการทำงานและมีสุขภาพที่ดี ซึ่งการมีภาวะผู้นำนี้ จะเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งระบบที่มั่นใจได้ว่าจะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และดำรงรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ในขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตามปกติ
ผลงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น มักมีข้อสรุปว่า พันธะสัญญาของผู้บริหารที่มีต่อระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นตัวควบคุมหลักที่มีอิทธิพลต่อการประสบผลสำเร็จ ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดให้กับการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย จะขึ้นอยู่กับการจัดการกับตัวแปรด้านบุคลากร ส่วนการมีภาวะผู้นำก็คือ การที่ผู้บริหารได้แสดงถึงความรู้อันลุ่มลึก เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และการมีส่วนร่วมในเชิงรุก รวมถึงมีความปรารถนาในการแก้ไขสิ่งที่ผิด
ผู้บริหารที่ชาญฉลาดจะเข้าใจถึงคุณค่าในการสรรสร้าง และส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็งภายในองค์กร ซึ่งประเด็นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ควรที่จะถูกยกระดับ เป็นคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญยิ่งขององค์กร ไม่ใช่เป็นแค่เพียงบางสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
การบูรณาการระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ให้เข้ากับการบริหารจัดการทั่วไปขององค์กร ดังเช่น การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการตลาด จะเป็นการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันอุบัติเหตุ และแสดงออกถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงานให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร ทั้งนี้ ผู้บริหารอาวุโส รวมถึงผู้บริหารสูงสุดในแต่ละส่วนงาน จะต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับพนักงานทั้งหมดได้สังเกตและรับรู้ว่า ควรที่จะทำงานอย่างไรเพื่อสรรสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย
ภาวะผู้นำในเชิงรุก ประกอบไปด้วย
* เขียนและแถลงนโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้มีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่งาน ได้เข้าใจถึงความสำคัญในการป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ที่สัมพันธ์กับคุณค่าในส่วนอื่น ๆ ขององค์กร (เช่น การผลิต VS ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย) โดยที่นโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจะเป็นการให้ทิศทางและวิสัยทัศน์ทั้งหมด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งกรอบการทำงานจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์จำเพาะ
* จัดตั้งและสื่อสารเป้าหมาย ตลอดจนวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด สำหรับโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กำหนดวัตถุประสงค์บนพื้นฐานของความเป็นจริงและสามารถบรรลุผลได้ โดยผลการดำเนินงานสามารถวัดผลและพิสูจน์ยืนยันได้ ตัวอย่างเช่น “จะมีการตรวจพื้นที่งานทุกสัปดาห์ และแก้ไขปัญหาที่พบภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง” หรือ “จะมีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอันตรายในงาน และพฤติกรรมความปลอดภัย (โดยใช้แบบฟอร์มการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย: Job Safety Analysis) ก่อนเริ่มทำงาน” เป็นต้น
* ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ในการดำเนินโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เมื่อผู้ปฏิบัติงานเห็นตัวอย่างจากผู้บริหารสูงสุด พวกเขาก็จะใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ‘ห้องทำงานของผู้บริหาร’ ก็ควรจะเป็นหัวข้อหนึ่งในการตรวจความปลอดภัยและอาชีวอนามัยทั่วทั้งโรงงานด้วย ซึ่งผู้บริหารเองก็ต้องหยุดกิจกรรม หรือการกระทำ หรือสภาพการณ์ที่มีอันตรายจนกว่าจะได้รับการแก้ไขเสียก่อน ตลอดจนควรจะมีการกำหนดภาระหน้าที่รับผิดชอบให้ผู้บริหารเป็นการเฉพาะ และมีส่วนร่วมหรือให้การช่วยเหลือในการฝึกอบรม รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอีกด้วย
* ระบุบทบาท มอบหมายภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ โดยทุก ๆ คนในองค์กรควรที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งการมอบหมายอย่างชัดเจนนี้ จะช่วยหลีกเลี่ยงการคาบเกี่ยวหรือช่องว่างในการดำเนินการ ควรปลูกฝังความคิดที่ว่า เรื่องของความปลอดภัยและอาชีวอนามัยไม่ใช่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่อาชีวอนามัยฯ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ถือเป็นความรับผิดชอบของทุก ๆ คน ในขณะที่เจ้าหน้าที่อาชีวอนามัยฯ เป็นเพียงหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเท่านั้น ไม่ใช่ยอดมนุษย์
* จัดตั้งระบบตรวจสอบการทำงาน (Accountability system) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้จัดการ หัวหน้างาน และผู้ปฏิบัติงาน ได้เข้าใจว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของตนเอง โดยต้องมีการตั้งมาตรฐานในลักษณะของนโยบายของบริษัท วิธีปฏิบัติงาน หรือกฏระเบียบข้อบังคับ ที่จะนำพามาตรฐานของผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ชัดเจน ไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน ควรมีการชื่นชม ยกย่อง และมอบรางวัลให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีความพยายามในการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และพิจารณาหาเหตุผลที่แท้จริงถ้าผลดำเนินงานออกมาเป็นไปในทางลบ
โดยทั่วไปแล้วหัวหน้างานมักจะมีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อถูกผู้บริหารวัดผลการดำเนินงาน แต่ถ้าผลการดำเนินงานบางส่วนถูกปกปิดไว้ ก็มักจะถูกเปิดเผยในท้ายที่สุดเสมอ (เช่น การปกปิด ไม่รายงานอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ จนกระทั่งอันตรายได้พัฒนาระดับจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ) ทั้งนี้ ต้องมั่นใจว่าการวัดผลถูกดำเนินการด้วยความถูกต้อง ยุติธรรม โปร่งใส และยืนอยู่บนหลักการและเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว
* จัดสรรผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการและทรัพยากรที่จำเป็น ซึ่งการมอบหมายภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงนั้น ต้องควบคู่กับอำนาจในการตัดสินใจในส่วนที่จำเป็นต้องมี ประกอบกับการมีทรัพยากรที่เพียงพอ นอกจากนี้แล้วยังรวมถึงบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมและมีอุปกรณ์พร้อมสรรพ เช่นเดียวกับการมีงบประมาณที่เพียงพออีกด้วย
* บูรณาการเป้าหมายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเข้ากับระบบและกระบวนการทางธุรกิจ
* เข้าร่วมถกปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการและการปรับปรุง ในเรื่องของความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเปิดเผยในระหว่างการประชุม
* ประเมินความสำเร็จของการดำเนินโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอยู่เป็นระยะ
* กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีส่วนร่วม ในโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยฯ ของพนักงาน
* ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนดำเนินโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่จัดตั้งไว้อย่างเข้มงวดโดยไม่มีสิทธิพิเศษในการขอยกเว้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้บริหารสูงสุดต้องให้พันธะสัญญาและมีภาวะผู้นำที่สังเกตเห็นได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดต้องได้รับการป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเทียบเท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด
1.2 การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Employee Involvement) เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้พัฒนาและแสดงออกถึงพันธะสัญญาของตนเอง ที่มีต่อระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยระบบที่มีประสิทธิผลนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ระดับขององค์กร เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานจะมีความใกล้ชิดกับอันตราย และเป็นบุคคลแรก ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ในการชี้บ่งและแก้ไขปัญหา เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผน การดำเนินการ ไปจนถึงการประเมิน แก้ไข และป้องกัน
การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน จะเป็นการเริ่มต้นป้องกันอันตรายที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีใครที่จะเสี่ยงอันตรายมากไปกว่าผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องเผชิญกับการได้รับบาดเจ็บอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และผู้ปฏิบัติงานบางคนยังเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงาน จึงถือได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับอันตรายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ดังนั้นจึงสมควรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
ทีมงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย จะมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นถ้ามีบุคลากรส่วนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งผลงานวิจัยมักแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานจะให้การสนับสนุนและดำเนินการตามแผนงานที่พวกเขาได้มีส่วนในการให้ข้อมูล การที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระบบความปลอดภัยฯ จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นในพื้นที่งาน และจะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นต้นเหตุได้อย่างไร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับรู้และเข้าใจก็จะทำให้เกิดความตระหนัก และท้ายสุดก็จะส่งผลให้วัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กรมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้ปฏิบัติงานหรือตัวแทน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ มีดังนี้
* เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหรือทีมงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
* การสอบสวนอุบัติการณ์ และการรายงานอุบัติการณ์ อุบัติเหตุ และเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ
* การตรวจพื้นที่งาน และการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย
* การตรวจประเมิน และการสำรวจด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
* การพัฒนาและการดำเนินการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
* การให้ข้อมูลและข้อแนะนำ สำหรับวิธีดำเนินการจำเพาะที่สามารถป้องกันอันตราย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
* การชี้บ่งปัญหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
* การพัฒนาและทบทวนกฎระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนการทำงาน
* การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในสิ่งที่สามารถส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน
ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานและตัวแทน มีดังนี้
* คณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Safety and Health Committees) ระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลนั้น จะมีคณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการฯ คือทีมงานที่มีสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกันทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของทุก ๆ คนในองค์กร คณะกรรมการฯ จะเป็นช่องทางหนึ่งในการรับข้อแนะนำและความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานหรือจากการตรวจสถานที่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ประเภทและสมาชิกของคณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจะขึ้นอยู่กับขนาดและโครงสร้างขององค์กร
* สิ่งจูงใจและการประกวดด้านความปลอดภัย (Safety Contests and Incentives) สามารถดึงดูดความสนใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมในการดำเนินระบบความปลอดภัยฯ ได้ แต่ต้องตระหนักไว้ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนระบบได้ แต่อาจช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้กับผู้ปฏิบัติงาน ช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและเพิ่มความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงานให้มากยิ่งขึ้น
การประกวดควรจะได้รับการออกแบบมา เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การตรวจความปลอดภัย การตอบปัญหาและการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ทั้งนี้ สิ่งจูงใจ (Incentives) ไม่ควรจะมุ่งเน้นไปที่การลดอุบัติเหตุแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะทำให้เกิดการปกปิด ไม่รายงานการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยตามความเป็นจริง
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกใช้สิ่งจูงใจ และการประกวดด้านความปลอดภัย มีดังนี้
- การประกวดอยู่บนพื้นฐานอะไร เช่น การรายงานเหตุการณ์เฉียดที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือการตรวจพื้นที่งานด้านความปลอดภัยฯ เสร็จตามกำหนดเวลา
- ใครมีส่วนร่วมในการประกวด เช่น เฉพาะแผนก ฝ่าย หรือทั่วทั้งโรงงาน
- ถ้าการประกวดอยู่ระหว่างกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่คล้ายคลึงกัน จะนำความแตกต่างนี้ไปพิจารณาอย่างไร เช่น พิจารณาที่สัดส่วนอันตรายสูง–ต่ำของแต่ละพื้นที่งาน
- จะหาข้อยุติสำหรับผู้ชนะได้อย่างไร เช่น วัดที่จำนวนอันตรายที่ได้รับการแก้ไข แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อหาข้อบกพร่องในกรณีที่ 2 กลุ่มได้ผลงานที่เหมือนกัน
- จะให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณสำหรับผู้ชนะอย่างไร เช่น ของรางวัลเป็นอะไร ถึงจะเหมาะสม
* ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นความรับผิดชอบของทุกคน (Safety & Health is Everyone’s Responsibility) ไม่มีใครต้องการให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บจากการทำงาน ดังนั้นจึงต้องมีการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ได้มีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานหรือสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยอาจอาศัยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ใช้บัตรสีแดง (Red Card) และบัตรสีเขียว (Green Card) เพื่อกระตุ้นการสื่อสารของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ยื่นบัตรสีแดงให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกสังเกต แล้วพบว่าได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บขึ้นได้ ส่วนบัตรสีเขียวจะถูกใช้เมื่อผู้ปฏิบัติงานได้ทำสิ่งที่น่าชื่นชม ทั้งนี้ การกระทำที่ถูกเตือนด้วยบัตรสีแดง จะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะมีการถกกันในการประชุมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
- จัดให้มีการประชุมของผู้ปฏิบัติงานเพื่อหาหนทางในการสร้างความแตกต่าง (Make a Difference) ในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงการพูดถึงความสำคัญของความปลอดภัยฯ ในฐานะที่เป็นความรับผิดชอบของทุก ๆ คน
- จัดเตรียมวีดีโอเพื่อฉายให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมา จากการที่ต่างคนต่างละเลยไม่สนใจหรือมองข้ามความสำคัญของความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
* โปสเตอร์ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Safety & Health Posters) เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิธีการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี ทั้งนี้ควรมีการพิจารณาเนื้อหาและสถานที่ที่จะติดโปสเตอร์ มีการบำรุงรักษา ทำความสะอาด ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้น่ามองและอ่านได้ง่าย
* ระบบรับข้อเสนอแนะ (Suggestion System) ถ้ามีการจัดตั้งระบบและมีการจัดการที่ดี จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ปฏิบัติงาน ในการนำเสนอวิธีปรับปรุงการทำงานและลดอันตรายได้ แต่เป็นการน่าเสียดายที่บ่อยครั้งความคิดดี ๆ เหล่านี้มักจะหายไปกับสายลมเพียงเพราะไม่มีช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่จะนำเสนอ อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาเมื่อออกแบบระบบรับข้อเสนอแนะ เช่น
- ผู้ปฏิบัติงานจะนำเสนอความคิดของตนให้กับใคร (ให้กับคณะกรรมการความปลอดภัยฯ หรือหัวหน้างาน)
- ควรจะใช้วิธีการกรอกแบบฟอร์มข้อเสนอแนะเป็นการเฉพาะหรือไม่ รูปแบบเป็นเช่นไร
- ความถี่ในการรับข้อเสนอแนะ และดำเนินการตามข้อเสนอแนะนั้น
- ใครจะเป็นผู้ทบทวนข้อเสนอแนะ และใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณาความเหมาะสมของข้อเสนอแนะ
การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน ควรได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะจะเป็นการส่งเสริมพนักงานให้ปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และบูรณาการความปลอดภัยฯ เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงานที่พวกเขาทำ ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน และการมีพฤติกรรมความปลอดภัย จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเชิงบวกให้กับระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แต่ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน ก็เป็นการยากที่จะป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น และการป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัยฯ ให้กับผู้ปฏิบัติงาน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุก ๆ คนในพื้นที่งานร่วมกันป้องกัน
2. การวิเคราะห์พื้นที่งาน (Worksite Analysis) เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบพื้นที่งาน (Worksite Examinations) ในหลากหลายประเด็น เพื่อชี้บ่งไม่เพียงแต่เฉพาะอันตรายที่มีอยู่ แต่รวมถึงสภาพการณ์และปฏิบัติการที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ด้วย คำถามหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ก็คือ “คุณรับรู้ถึงอันตรายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานของคุณหรือไม่”
ถ้าคิดว่าผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการป้องกันจากอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน อันตรายทั้งหมดที่มีก็ต้องได้รับการชี้บ่ง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการชี้บ่งอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ เพื่อที่อันตรายต่าง ๆ จะถูกขจัดก่อนที่จะลุกลามจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประกอบกับถ้ามีหลากหลายช่องทางที่ปัญหาต่าง ๆ จะถูกนำเสนอไปสู่ผู้บริหารด้วยแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นแม้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งในระบบได้ล้มเหลวลง
เหตุผลหนึ่งที่มักจะใช้วิธีผสมผสาน ในการวิเคราะห์พื้นที่งานอย่างเป็นระบบ ก็เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่จำเป็น และครอบคลุม ต่อการรับรู้และเข้าใจถึงอันตรายต่างๆ ในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลนั้น จะต้องมีความแข็งขันในการวิเคราะห์งานและพื้นที่งาน เพื่อคาดการณ์และป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บ
วิธีผสมผสานในการชี้บ่งอันตรายในพื้นที่งาน ได้แก่
(1) การสำรวจแบบองค์รวม (Comprehensive Survey) เป็นวิธีพื้นฐานที่สุดที่ใช้เพื่อจัดตั้งคลังข้อมูลอันตรายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในพื้นที่งาน (Worksite Safety & Health Hazards Inventories) ซึ่งในขั้นต้นก็จะได้ข้อมูลพื้นฐานปัจจุบัน (Baseline) หลังจากนั้น จำเป็นต้องดำเนินการสำรวจอยู่เป็นระยะ (Periodic Surveys) เพื่อที่จะได้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอันตรายที่มีอยู่เดิม หรือเป็นอันตรายใหม่ และทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน กระบวนการหรือวัตถุดิบ ก็ควรทำการวิเคราะห์อันตรายทั้งหมดก่อนที่จะมีการใช้งานจริง ถ้าเป็นไปได้กระบวนการสำรวจเอง ก็ควรที่จะได้รับการตรวจประเมินเพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วย
การสำรวจแบบองค์รวม ไม่เหมือนกับการตรวจพื้นที่งาน (Worksite Inspections) โดยการสำรวจแบบองค์รวมควรจะถูกดำเนินการโดยบุคลากรซึ่งสามารถเปิดมุมมองใหม่ ๆ และให้ความรู้ที่กว้างไกลในประเด็นสุขภาพ ความปลอดภัย หรือสุขศาสตร์อุตสาหกรรมของพื้นที่งานได้ เช่น ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นักการยศาสตร์ เป็นต้น
ในการสำรวจสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Survey) นั้น อย่างน้อย ๆ สารเคมีและวัสดุอันตรายทั้งหมดในโรงงาน ควรที่จะถูกจัดทำเป็นคลังข้อมูลอันตราย โปรแกรมสื่อสารถึงอันตราย (Hazard Communication Program) ควรที่จะมีการทบทวน และตัวอย่างอากาศก็ต้องมีการวิเคราะห์ ในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภทนั้น การสำรวจระดับเสียง การทบทวนโปรแกรมเครื่องป้องกันระบบหายใจ และปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์ก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
ในการสำรวจนี้ ควรมีความรอบคอบ เข้าใจและรับรู้ถึงโอกาสความเป็นได้ของการสัมผัสกับอันตรายหลากหลายประเภทในคราวเดียวกัน และให้ความใส่ใจในเรื่องของการป้องกันอย่างเพียงพอสำหรับระดับสูงสุดของแต่ละอันตราย โดยมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินอันตราย ดังนี้
- ความรุนแรง: อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความหนักหนาสาหัสหรือไม่
- ความถี่หรือโอกาสความน่าจะเป็น: มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน สามารถที่จะเกิดรายวันหรือครั้งเดียวในรอบหลายปี
- ชนิดของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย: การบาดเจ็บประเภทใดที่ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องประสบ
- ขนาดของการใช้: มีเครื่องจักรหลาย ๆ ตัวถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ หรือมีเพียงแค่เครื่องจักรบางตัวที่ถูกใช้งานในบางโอกาส
- การบำรุงรักษาและการซ่อมแซม: มีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ หรือกระทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
- การฝึกอบรม: ประสบการณ์/การฝึกอบรมระดับใดที่จำเป็นสำหรับการเดินเครื่องจักร มีผู้ปฏิบัติงานใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือไม่
เป็นต้น
ควรพัฒนากลไกอย่างเป็นทางการ (Formalized Mechanism) เพื่อกระตุ้นการรายงานปัญหาแบบเป็นกิจวัตร โดยผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องได้รับความสะดวกในการรายงานปัญหา โดยปราศจากความกังวลว่าจะกลายเป็นเพียงแค่คนบ่นพึมพำหรือคนชอบตำหนิไปเสียทุกเรื่อง โดยระบบการจัดการความปลอดภัยฯ ที่มีประสิทธิผลนั้น จะไม่เพียงแต่กระตุ้นให้มีการรายงานเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างประโยชน์ขึ้นมาจากรายงานนั้น ๆ ด้วย
ผู้ปฏิบัติงานเองก็จำเป็นต้องเข้าใจว่า การรายงานปัญหาอย่างตรงไปตรงมา จะได้รับคำชมมากกว่าการไม่รายงาน ในขณะที่ผู้จัดการและหัวหน้างานเอง ก็จำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ เมื่อประสบผลสำเร็จในการจัดตั้งระบบรายงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผู้บริหารจะต้องมีกลไกในการชี้บ่งอันตรายแบบเชิงรุกอย่างเป็นระบบก่อนที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เรายืนอยู่ในตำแหน่งที่จะป้องกันการสูญเสียได้ และเมื่อวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กรเข้มแข็งขึ้น กระบวนการรายงานก็จะเป็นระบบมากขึ้นด้วย
(2) การวิเคราะห์ประวัติอุบัติเหตุที่ผ่านมา (Analysis of Past Accident History) เมื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ประวัติอุบัติเหตุที่ผ่านมา ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะทำให้เราสามารถชี้บ่งการแทรกแซงเบื้องต้น (Initial Intervention) ที่จำเป็นได้ เช่น การปกป้องดวงตา อุปกรณ์ช่วยในการยกของ ฯลฯ โดยควรมีการเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Measures) เพื่อให้สามารถวัดความมีประสิทธิผลของการเปลี่ยนแปลงได้
(3) การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงก่อนใช้งาน (Pre–use and Change Analysis) ควรที่จะดำเนินการเมื่อใดก็ตามที่มีการปรับปรุง ดัดแปลงหรือเพิ่มเติมสิ่งใด ๆ ที่มีมีนัยสำคัญต่อกระบวนการทำงาน หรือในทุก ๆ ครั้งที่เกิดสิ่งแปลกใหม่ในสถานที่ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ วัสดุที่แตกต่างไปจากเดิม กระบวนการใหม่ๆ สร้างหรือเช่าอาคารหลังใหม่ หรือเริ่มต้นกระบวนการใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร ฯลฯ ซึ่งอันตรายใหม่ ๆ อาจจะถูกนำเข้าสู่พื้นที่งานได้อย่างไม่ตั้งใจ โดยก่อนที่จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่งาน ก็ควรมีการวิเคราะห์พื้นที่งานอย่างละเอียดไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจะช่วยจัดการปัญหา ก่อนที่จะลุกลามพัฒนาใหญ่โต
โดยทั่วไปแล้ว องค์กรหรือกระบวนการมีลักษณะคล้ายกับเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่งานหนึ่ง ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่งานส่วนอื่น ๆ ได้ หรือที่เรียกว่า “ปฏิกิริยาระลอกคลื่น (Ripple Effect)” ซึ่งการที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้นั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัติ และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด พร้อม ๆ ไปกับการมีทีมงาน อันประกอบไปด้วยผู้ปฏิบัติงาน วิศวกร และเจ้าหน้าที่อาชีวอนามัยฯ มาร่วมกันวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนการใช้งานอุปกรณ์หรือสาธารณูปโภคใหม่ เพื่อขจัดปัญหาก่อนที่จะลุกลามจนเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าใจขึ้น ซึ่งการตามแก้ปัญหาจะยุ่งยากและใช้งบประมาณมากกว่าการตามติดปัญหาและแก้ไขข้อบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้น
ขั้นตอนสำคัญในการจัดเตรียมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คือ การพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งทีมบริหารจัดการสำหรับการเปลี่ยนผ่าน (Transition Management Team: TMT) เพื่อช่วยกันดูแลการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยทีมงานนี้ จะเป็นทีมเฉพาะกิจอันประกอบไปด้วยผู้นำที่มีทักษะและความสามารถสูงในการสานฝันขององค์กรให้เป็นความจริง ส่วนสมาชิกของทีมงานก็ควรมีความรู้ ความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้แสดงความมีภาวะผู้นำสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทีมงานเองจะต้องมั่นใจว่าเข้าใจเป็นอย่างดีถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่าน และเมื่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น และเคลื่อนเข้าสู่ช่วงของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ทีมงานเฉพาะกิจก็ต้องสลายตัวไป
(4) การวิเคราะห์อันตราย (Hazard Analysis) เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็มีความจำเป็น โดยหนึ่งในเทคนิคที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis) สำหรับในแต่ละงาน แรกเริ่มเดิมทีนั้นนอกจากจะได้รับการออกแบบโดยการคำนึงถึงความปลอดภัยแล้ว ก็ยังควรที่จะพิจารณาอันตรายและวิธีปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องรวมเข้าไปด้วย เมื่อดำเนินการวิเคราะห์อันตรายในทุก ๆ งานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังต้องทำการวิเคราะห์อยู่เป็นระยะ เพื่อจะช่วยผลักดันให้กระบวนการทำงานกลับเข้าร่องเข้ารอยของความปลอดภัยอีกด้วย
(4.1) การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยหรือการวิเคราะห์อันตรายในงานแบบเป็นกิจวัตร (Routine Job Safety Analysis: JSA/Job Hazard Analysis: JHA) เริ่มจากการแตกย่อยงานให้เข้าสู่แต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ซึ่งในการดำเนินการนี้ จะดีที่สุดหากมีการวิเคราะห์ร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบในแต่ละขั้นตอน ลำดับถัดไป ก็คือ ทำการตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนเพื่อพิจารณาอันตรายและพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังมีอยู่หรือมีโอกาสเกิดขึ้น
จากนั้นจะทำการทบทวนในแต่ละขั้นตอนการทำงาน และอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงออกมาจากงานที่ทำ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจดบันทึกรายการอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมถึงเป็นหนทางที่ดีในการให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับความเสี่ยงที่มี และยังได้รับรู้ถึงความต้องการของผู้ปฏิบัติงานโดยตรงอีกด้วย ส่วนมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานที่เขียนขึ้นมานั้น สามารถที่จะช่วยพัฒนาพฤติกรรมความปลอดภัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในการพิจารณาว่างานใดควรได้รับการวิเคราะห์เป็นลำดับแรก ก็ต้องอาศัยการทบทวนรายงานการบาดเจ็บและเจ็บป่วยในงานนั้น ๆ โดยงานที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บอย่างร้ายแรงสูงสุดเป็นลำดับแรก จะเป็นงานที่ต้องทำการวิเคราะห์ก่อน รวมถึงงานที่หวุดหวิดที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็สมควรได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน ส่วนการวิเคราะห์งานใหม่และงานที่มีการเปลี่ยนแปลงก็ควรทำเป็นลำดับถัดไป ท้ายสุดแล้ว การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ควรที่จะถูกดำเนินการในทุก ๆ งานที่มี
ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บขึ้นกับงานที่มีลักษณะเฉพาะ การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยก็ควรได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาว่าควรเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ และเมื่อใดก็ตามที่มีการทบทวนการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย ก็ควรมีการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้รับทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานแบบใหม่ รวมถึงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยชนิดใหม่ ๆ และหากมีพนักงานเข้ามาใหม่ ก็ควรมีการอบรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นเดียวกัน
อันตรายในทุก ๆ สถานประกอบการ จะอยู่ในหลาย ๆ รูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ขอบเหลี่ยมมุมที่แหลมคม วัตถุที่ร่วงหล่นลงมา วัตถุที่ปลิวว่อน สารเคมีอันตราย เสียงดัง และสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าต้องการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานจากอันตราย ก็ต้องเข้าใจว่าอันตรายเหล่านี้ คืออะไรบ้าง และรับรู้ถึงอันตรายทั้งหมดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในสถานประกอบการ หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการงานที่ได้รับมอบหมาย และสร้างโอกาสในการชี้บ่งถึงวิธีการป้องกันหรือควบคุม และลดการสัมผัสกับอันตรายได้อีกด้วย
ส่วนเทคนิคอื่น ๆ ในการวิเคราะห์อันตรายที่ซับซ้อนมากกว่านี้ เช่น WHAT–IF Checklist, Hazard and Operability Study, Failure Mode and Effect Analysis และ Fault Tree Analysis ก็อาจมีความจำเป็นเมื่อมีความเสี่ยงที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
(5) การตรวจสอบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Safety and Health Inspections) สามารถใช้รายการตรวจสอบ (Checklist) ที่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่งานของตนเอง โดยอาศัยข้อมูลปัญหาที่เคยพบ มาตรฐานที่ประยุกต์ใช้กับประเภทอุตสาหกรรมของตนเอง ข้อมูลจากทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติหรือกฎระเบียบความปลอดภัยขององค์กร
แต่มีสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อจะทำการตรวจ ได้แก่ การตรวจควรที่จะครอบคลุมทุก ๆ ส่วนของพื้นที่งาน ควรกระทำในช่วงเวลาปกติ ผู้ตรวจที่เป็นบุคลากรภายในองค์กรควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อที่จะเข้าใจ และรับรู้ในการควบคุมอันตราย รวมถึงอันตรายที่ถูกชี้บ่งควรที่จะถูกติดตามเพื่อทำการแก้ไข นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจ ควรที่จะถูกใช้เพื่อปรับปรุงโปรแกรมการป้องกันและควบคุมอันตราย
(5.1) การตรวจแบบเป็นกิจวัตร (Routine Inspections) เป็นการเดินตรวจความปลอดภัยซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นรายสัปดาห์ สามารถดำเนินการโดยผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่อาชีวอนามัยฯ สมาชิกของคณะกรรมการความปลอดภัย ฯลฯ โดยการตรวจชนิดนี้ถือว่าเป็นการตรวจประเมินระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอีกแบบหนึ่ง และสามารถชี้บ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ความพยายามในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ มีความเป็นรูปธรรม มองเห็นได้เด่นชัดขึ้น และยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีความตระหนักถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตรวจแบบรายวันในพื้นที่งานเฉพาะได้เช่นกัน
(5.2) การตรวจจับอันตรายที่หลุดรอดจากการควบคุม (Catching Hazards that Escape Controls) หลังจากที่อันตรายที่รับรู้ได้ถูกควบคุมแล้ว เครื่องมือวิเคราะห์เพิ่มเติมสามารถที่จะช่วยให้มั่นใจว่า การควบคุมนี้จะยังคงใช้งานอยู่และอันตรายอื่น ๆ จะไม่ปรากฏ ซึ่งเครื่องมือวิเคราะห์เพิ่มเติม จะรวมถึง การรายงานอันตรายโดยผู้ปฏิบัติงาน การสอบสวนอุบัติการณ์ และการวิเคราะห์แนวโน้มของการบาดเจ็บและเจ็บป่วย
(5.2.1) การรายงานอันตรายโดยผู้ปฏิบัติงาน (Employee Reports of Hazards) ผู้ปฏิบัติงานมีบทบาทสำคัญในการค้นพบและควบคุมอันตรายที่ยังคงมีอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน และอาจพัฒนาจนเกิดเป็นอุบัติเหตุได้ ความน่าเชื่อถือของระบบการรายงานโดยผู้ปฏิบัติงาน คือองค์ประกอบสำคัญของระบบการจัดการความปลอดภัยฯ โดยองค์กรต้องไม่เพียงกระตุ้นให้มีการรายงาน แต่ต้องมองเห็นคุณค่าด้วย
การมีช่องทางหลายช่องทางในการรายงาน ก็จะทำให้ได้รับรายงานที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลักษณะขององค์กร โดยระบบการรายงานที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีนโยบายในการกระตุ้น ส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานให้ทำการรายงานสิ่งที่เป็นกังวลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และมีการตอบสนองที่เหมาะสมและทันเวลาต่อรายงานของผู้ปฏิบัติงาน การติดตามการแก้ไขอันตรายที่จำเป็น ตลอดจนการปกป้องผู้ปฏิบัติงานที่รายงานจากการถูกคุกคาม แก้แค้นหรือรังควาน ก็สำคัญเช่นเดียวกัน
(5.2.2) การสอบสวนอุบัติเหตุ/อุบัติการณ์ (Accident/Incident Investigations) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสำหรับการค้นหาและควบคุมอันตราย ที่อาจพลาดจากตอนเริ่มต้นหรือผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากแผนงาน หรือการควบคุมที่วางไว้ แต่จะมีประโยชน์เมื่อมีกระบวนการในเชิงบวกที่มุ่งเน้นไปที่การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ใช่การตำหนิแต่เพียงอย่างเดียว
อุบัติเหตุและอุบัติการณ์ในทุก ๆ กรณีควรที่จะมีการสอบสวน เพราะจะเป็นการป้องกันการลุกลามของปัญหา โดยในการสอบสวนนั้น จะมีคำถาม 5 ข้อที่จะต้องหาคำตอบเพื่อบันทึกไว้ในรายงาน อันได้แก่ “ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร” โดยการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จุดประสงค์แรกของการสอบสวนก็คือ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ ดังนั้นผลของการสอบสวนก็ควรที่จะถูกใช้ในปฏิบัติการแก้ไข
(5.2.3) การวิเคราะห์แนวโน้มของการบาดเจ็บและเจ็บป่วย (Analysis of Injury and Illness) เป็นวิธีสุดท้ายที่ใช้ภายใต้การวิเคราะห์พื้นที่งาน เพื่อใช้วิเคราะห์แนวโน้ม (Trends) ของการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย โดยอาจใช้แบบฟอร์มแสดงรายการ เพื่อความสะดวกในการจดบันทึกและวิเคราะห์ ซึ่งอาจจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ
(1) การวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย (Injury and Illness Records Analysis) ต้องใช้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ โดยพื้นที่งานเล็ก ๆ อาจต้องอาศัยการทบทวนในช่วง 3 – 5 ปี ในขณะที่พื้นที่งานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องวิเคราะห์แนวโน้มเป็นรายปี รายไตรมาส หรือรายเดือน เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย ควรมองหาลักษณะการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะบ่งชี้ได้ถึงการขาดการควบคุมอันตราย นอกจากนี้ก็ควรมองหาสถานที่ที่เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วย รวมถึงระบุว่าเป็นงานประเภทใด เวลาใดของวัน หรืออุปกรณ์ชนิดใด
(2) การวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ (Analysis of Other Records) ถ้าอันตรายเกิดซ้ำ เช่น การบาดเจ็บและการเจ็บป่วยซ้ำ ๆ นั่นหมายถึง การควบคุมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ ข้อมูลบันทึกการชี้บ่งอันตรายสามารถที่จะแสดงให้เห็นได้ และการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมนั้น อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เช่น การพัฒนาการสื่อสารถึงอันตราย หรือระบบตรวจสอบการทำงาน เป็นต้น
อันตรายต่าง ๆ ที่พบในระหว่างการวิเคราะห์พื้นที่งาน (Worksite Analysis) ควรที่จะทบทวนเพื่อพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นข้อบกพร่องที่ทำให้เกิดอันตรายขึ้นมา โดยระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ล้มเหลวควรที่จะได้รับการแก้ไขเพื่อมั่นใจได้ว่าอันตรายที่คล้ายคลึงกันนี้จะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก
เอกสารอ้างอิง
* Effective Workplace Safety and Health Management Systems; OSHA Fact Sheet 2008
* Safety & Health Management Systems eTool; U.S. Department of Labour 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด