เนื้อหาวันที่ : 2007-04-11 11:57:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7334 views

การเฝ้าติดตามกิจกรรมธุรกิจ Business Activity Monitoring (BAM)

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา KPI ในวงการธุรกิจการจัดการของเมืองไทยดูเหมือนว่าความเข้าใจไม่ค่อยจะตรงกับการปฏิบัติในวงการจัดการธุรกิจเท่าไรการพัฒนา KPI ของวงการธุรกิจในเมืองไทยนั้นยังขาดความเข้าใจในความเป็นมาของการสร้างตัววัด จนทำให้ทุกคนต้องมี KPI ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมี KPI ไปกันทำไม

ความรู้ด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่ผู้ใช้รถยนต์ควรรู้ เพื่อการใช้งานรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า KPI (Key Performance Indicators) ในวงการธุรกิจการจัดการของเมืองไทยมามาก แต่ดูเหมือนว่าความเข้าใจของผมในเรื่อง KPI นั้นไม่ค่อยจะตรงกับการปฏิบัติในวงการจัดการธุรกิจเท่าไรนัก เพราะการพัฒนา KPI ของวงการธุรกิจในเมืองไทยนั้นยังขาดความเข้าใจในความเป็นมาของการสร้างตัววัดเหล่านั้น คิดแต่เพียงว่าธุรกิจจะต้องมี KPI แล้วทุกคนจะต้องไปหา KPI มาให้ได้ จนทำให้ทุกคนต้องมี KPI ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมี KPI ไปกันทำไม คำตอบง่าย ๆ สำหรับผม คือ KPI มีไว้สำหรับวัดสมรรถนะของกระบวนการ (Process) และ KPI นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management: BPM) โดยผ่านกระบวนการเฝ้าตรวจสอบกระบวนการ (Business Activity Monitoring: BAM)

.

ความท้าทายใหม่

ความสำเร็จของธุรกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กรธุรกิจในการดำเนินการกระบวนการธุรกิจที่เป็นจุดสำคัญอย่างไม่มีจุดบกพร่องและอย่างสม่ำเสมอ ในอดีตนั้นการจัดการกระบวนการธุรกิจก็มีความซับซ้อนในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่เรายังไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการทำงาน หนทางที่พอจะช่วยลดความซับซ้อนของปัญหาลงได้ คือ การแบ่งปัญหาออกเป็นปัญหาย่อย ๆ ทำให้การแก้ปัญหาย่อย ๆ นั้นง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถบูรณาการจากต้นชนปลาย (End to End Processes)

.

เป้าหมายของการจัดการธุรกิจ คือ การควบคุมพฤติกรรมของกระบวนการธุรกิจให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ดังนั้นเพื่อที่จะให้การควบคุมเป็นไปตามที่ต้องการนั้น เราจะต้องมีความสามารถในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมในลักษณะอย่างทันทีทันใดของกระบวนการธุรกิจทั้งหมดในขณะที่กระบวนการธุรกิจนั้นดำเนินการอยู่ เพื่อที่จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกระบวนการธุรกิจได้คาดการณ์และวางแผนหรือบ่งชี้หนทางหรือการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ของกระบวนล่วงหน้าก่อน (Proactively) แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากปัญหาเกิดขึ้นแล้ว (Reactively) การที่มีการเฝ้าติดตามตลอดทั่วกระบวนการธุรกิจนั้น ยิ่งทำให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจได้ครบและทันเวลามากเท่าไร ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการตัดสินใจก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น

.

BAM (Business Activity Monitoring)

การเฝ้าติดตามกิจกรรมธุรกิจ (BAM ) เป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของกระบวนการธุรกิจ แบบทันทีทันใด (Real Time) รวมถึงการวิเคราะห์และการเตือนถึงเหตุการณ์ที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งจะประสบสำเร็จได้โดยการเก็บข้อมูลของตัววัดสมรรถนะต่าง ๆ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ฟังดูแค่คำนิยามแล้วก็ดูง่าย เหมือนกับที่เคยปฏิบัติกันมาแต่อดีต แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินงานของ BAM คงจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะในกระบวนการธุรกิจของวิสาหกิจต่าง ๆ มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากส่วนต่าง ๆ ขององค์กรธุรกิจ และส่วนใหญ่ของเหตุการณ์เหล่านั้น บางครั้งก็ไม่ได้ถูกรายงานอย่างทันทีทันใด หรือบางครั้งก็ไม่ได้รับข้อมูลเหล่านั้นเลย การได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้คงจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือบ้างพอสมควร

.

สำหรับในส่วนการผลิตก็มีหน้าที่ในการทำให้การผลิตไหลไปอย่างราบเรียบ ฝ่ายสนับสนุนลูกค้าก็พยายามติดตามการบริการลูกค้าอย่างทันทีทันใด โดยการใช้ระบบติดตามเหตุการณ์ทางธุรกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบปัจจุบัน คือ การเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ระบบที่ตอบสนองแบบทันทีทันใดก็จะไม่ค่อยจะยืดหยุ่นเท่าใดนักและยากที่จะเปลี่ยนไปตรวจจับข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ใหม่หรือ รับข้อมูลสารสนเทศจากภายนอกขอบเขตที่กำหนดไว้ ดังนั้นระบบ BAM จะคอยเฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่ถูกกำหนดไว้และส่งสัญญาณเตือนออกมาว่าเหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว แน่นอนว่าองค์ประกอบที่สำคัญ คือ KPI (Key Performance Indicators) ที่จะถูกนำมาสร้างเป็นตัวกำหนดสถานะของเหตุการณ์ต่าง ๆ  

.

BAM คงไม่ได้ใช้ KPI ในการติดตามตรวจจับปัญหาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสต่าง ๆ ด้วย คุณลักษณะของการจัดกระบวนการธุรกิจเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะแนวคิดเบื้องต้นนั้นมีมากับการจัดการธุรกิจในอดีตอยู่แล้ว สิ่งที่แตกต่างกันออกไป คือ ความเร็ว (Speed) ซึ่งเกิดจากความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของภาวะธุรกิจ ดังนั้นเราจึงต้องปรับความเร็วในการจัดการธุรกิจทั้งทางด้านการจัดเก็บข้อมูล การตัดสินใจต้องมุ่งสู่การจัดการกระบวนการธุรกิจอย่างทันทีทันใด (Real Time)

.

BPM/BAM

อาจจะมีคนถามว่าแล้ว BPM และ BAM ต่างกันอย่างไร ในมุมมองของผมนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ที่ BAM นั้นเป็น BI (Business Intelligence) แบบหนึ่งที่ทำหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานหรือสมรรถนะการทำงาน กิจกรรมการรายงานผลการทำงานที่มี KPI ของกระบวนการธุรกิจเหล่านี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม BPM หรือ การจัดการกระบวนการธุรกิจ แต่แนวคิดของ BAM ในปัจจุบันเน้นที่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT เข้ามาเพิ่มความเร็วในเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์มูลเบื้องต้น ถ้ามองในด้านโครงสร้างและระบบคงจะเป็นระบบ BI แบบหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงลงไปในกระบวนการธุรกิจโดยเฉพาะการเก็บข้อมูลสมรรถนะของกระบวนการธุรกิจหลัก (Core Process)

.

ในตลาดของผลิตภัณฑ์ BPM และBAM ส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้ IT ทั้ง Hardware และ Software  ในการนำเสนอข้อมูลได้อย่างทันทีทันใด ส่วนการวิเคราะห์คงจะทำได้ในเชิงการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น   แต่การวิเคราะห์ข้อมูลให้กระบวนการเกิดการทำงานที่เหมาะสม (Optimal)นั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการจัดการในกระบวนการธุรกิจ สำหรับตลาดของ BAM นั้นผมเปรียบว่าเป็นการพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งทางด้าน Hardware และ Software เพื่อที่จะสนับสนุนกระบวนการจัดการธุรกิจ ดังนั้นเมื่อท่านผู้อ่านพบบทความทางด้าน BPM ที่ใดแล้ว คงจะต้องประเมินเสียก่อนว่าเป็น BPM ในมุมไหน เป็น BPM ในเชิงเทคนิคการจัดการกระบวนการธุรกิจ เช่น Supply Chain Management, Lean Manufacturing,  Six Sigma, Balanced Scorecard ซึ่งกิจกรรมที่เกิดจากกลยุทธ์การจัดการเหล่านี้นั้นจำเป็นจะต้องนำมาปฏิบัติด้วย IT    สำหรับ BPM เช่น ระบบ BAM หรือบางคนก็เรียกว่า BPMS (Business Process Management System)

.

BAM ได้สร้างภาวะแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนจากกระบวนการแบบดั้งเดิม BAM สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหรือกระบวนการธุรกิจ BAM ทำให้การจัดการเปลี่ยนแปลงอยู่ในการควบคุมของเจ้าของกระบวนการมากกว่าอยู่กรอบของเทคโนโลยีสารสนเทศแต่เพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีสารสนเทศกลับเป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้เจ้าของกระบวนการหรือผู้จัดการธุรกิจสามารถที่จะเปลี่ยนกฎของธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขโดยการเขียนโปรแกรมใหม่ BAM เป็นการจัดการเปลี่ยนแปลงโดยการผลักดันโดยธุรกิจ การที่จะติดตามการสภาพการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น เจ้าของกระบวนการธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการปรับและหาจุดที่เหมาะสมที่สุดขององค์ประกอบในกระบวนการธุรกิจ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ BAM จะทำให้วิสาหกิจ (Enterprise)มีความคล่องตัว (Agile) และสามารถที่จะทำให้การไหลของงาน (Workflow) เป็นไปอย่างอัตโนมัติ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมในการบูรณาการ BAM เข้าสู่ระบบอย่างช้า ๆ เพื่อให้เกิดยอมรับและไว้วางใจจากผู้คนในระบบซึ่งหมายถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒธรรมของบุคคลในองค์กรด้วย และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรีเอ็นจิเนียริ่ง ผู้จัดการ IT และผู้พัฒนาระบบน่าจะหันมาต้อนรับกับแนวคิดของ BAM เพราะ BAM นั้นไม่ได้มีการเข้าไปแก้ไขระบบมากมายอย่างที่คิดเพียงแต่เข้าไปจับเอาข้อมูลมา (Tapping) จากเหตุการณ์ต่าง ๆ เท่านั้น ยังไม่มีการแก้ไขระบบใด ๆ ทั้งสิ้น แนวคิดนี้จะช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการจัดการกระบวนการธุรกิจ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแต่ละจุดในโซ่คุณค่าได้มีการเก็บข้อมูลแบบทันทีทันใดอยู่แล้วโดยใช้เครื่องมือเฉพาะอย่าง แต่ก็ยังมีต้องการที่จะแบ่งปันเหตุการณ์ กฎทางธุรกิจต่าง ๆ และเตือนในกระบวนการธุรกิจตั้งต้นจนจบตลาดทั้งโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน

.

สรุป

คุณค่าของการจัดการกระบวนการธุรกิจ คือ การควบคุมและการมีความสามารถในมองเห็น (Visibility) ในทุกชนิดของกระบวนการการธุรกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงความซับซ้อน (Complexity) การจัดการนี้ทำให้เกิดการจัดอย่างทันทีทันใดและการวิเคราะห์ปรับปรุงกระบวนการธุรกิจ ส่วนการเฝ้าติดตามกิจกรรมธุรกิจสามารถประยุกต์ได้กับกระบวนธุรกิจที่ต้องการ การเฝ้าติดตามและเตือนให้กระบวนการธุรกิจตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลเป็นพื้นฐาน BAM จะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หัวใจของ BAM จะเกี่ยวข้องกับการเตือน (Alert) การกระตุ้น (Trigger) ตัวตรวจจับ (Sensors) และตัวเอเจนท์ (Agent) ที่จะกำหนดว่าเหตุการณ์ใดมีประโยชน์ มีความหมายและตอบสนองอย่างไร     อะไรควรจะดำเนินการก่อน พบกันฉบับหน้าครับ!

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด