เนื้อหาวันที่ : 2007-04-10 14:30:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 28947 views

วิศวกรรมยานยนต์: ยางรถยนต์

ยางและล้อรถยนต์มีความสำคัญในการขับขี่ปัจจุบันด้านเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ยางมีประสิทธิภาพ ผู้ขับขี่รถยนต์ควรทราบเกี่ยวกับยางรถยนต์ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้รถทุกท่านต้องหาความรู้เพิ่มเติมในการดูแลรักษา การเลือกใช้อย่างอย่างถูกวิธี เพื่อให้ท่านผู้ใช้รถทุกท่านใช้งานยางรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความปลอดภัยมากที่สุด

ยางและล้อรถยนต์มีความสำคัญในการขับขี่รถยนต์มาก อย่างเช่น การบังคับทิศทางรถ หรือแม้แต่การประหยัดเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ยางมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยทั่วไปยางรถยนต์จะทำหน้าที่ คือ การรองรับน้ำหนักรถ และน้ำหนักบรรทุก หรือเรียกว่าเป็นการรับแรงในแนวรัศมี ช่วยลดแรงกระแทก ช่วยให้เกิดความนุ่มนวล บังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ ซึ่งเป็นการเป็นการรับแรงทางด้านข้าง การยึดเกาะถนน และช่วยในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า และการหยุดรถ ซึ่งเป็นแรงในการขับ ดังแสดงในรูปที่ 1

.

.

รูปที่ 1 แสดงทิศทางของแรงที่กระทำต่อยางรถยนต์

. 

ส่วนประกอบ หรือสัดส่วนในโครงสร้างของยางรถยนต์ 

ยางธรรมชาติที่ผลิตได้ในโลกถูกใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายชนิด ซึ่งยางธรรมชาติในรูปยางแผ่นรมควัน และยางแท่งถึงร้อยละ 70 ที่ผลิตได้ในโลกใช้ในการผลิตยางรถยนต์ โดยในยางรถยนต์แต่ละชนิดจะมีปริมาณยางธรรมชาติในสัดส่วนที่แตกต่างกันระหว่าง ร้อยละ 636 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งในการผลิตยางรถยนต์มีบริษัทใหญ่ 3 บริษัท ที่สามารถสร้างอิทธิพลโดยการจับมือกันซื้อยางจากส่วนกลาง คือ บริตสโตน มิชลิน และกู๊ดเยียร์

 .

ตารางที่ 1 แสดงสัดส่วน ของส่วนประกอบของยางรถยนต์ประเภทต่าง ๆ (% โดยน้ำหนัก)

 .

 .

ที่มา : ข้อมูลทางวิชาการยางพารา 2542 สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

 .

กระบวนการผลิตยางรถยนต์

 .

 .

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของยาง

.

1.การผสม การผลิตยางรถยนต์เริ่มต้นด้วยการเอายางดิบ และส่วนผสมต่าง ๆ ผสมกันเข้าไป จนกระทั่งถึงความร้อนที่กำหนด ยางที่ผสมแล้วจะถูกนำมาปล่อยลงเครื่องบด ซึ่งจะบดยางที่ผสมแล้วออกเป็นแผ่น ๆ และตัดออกเป็นชิ้นยางยาว ปล่อยขึ้นไปบนสายพานเพื่อให้เย็นลง 

. 
2.การรีดยาง ยางที่ผสมเสร็จ สำหรับใช้เป็นส่วนนอก และส่วนกลาง จะถูกส่งไปยังที่บด เพื่อให้ร้อนแล้วส่งต่อไปที่เครื่องรีด ในเครื่องรีดจะมีเกลียวหมุน ซึ่งจะผลักดันยางให้ผ่านออกมาตามรูปที่ต้องการ และยางที่รีดแล้วจะถูกทำให้เย็นลง ก่อนที่จะตัดเป็นชิ้นตามต้องการ
.

3.การเคลือบยางลงบนผ้าใบไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ เส้นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ที่ใช้เป็นโครงชั้นในเป็นเส้นใยทางวิทยาศาสตร์ เส้นใย จะผ่านเข้าไปในลูกกลิ้งของเครื่องอัดยาง และเครื่องอัดยางก็จะอัดยางลงบนเส้นใยทั้งสองหน้า จำนวนของยางที่จะอัดลงบนเส้นใยนี้ จะต้องมีการควบคุม เพราะมีผลต่ออายุการใช้งานของยาง

. 

4.การตัดผ้าใบ เมื่อผ้าใบผ่านจากแผนกเคลือบยาง ก็จะถูกส่งมามายังแผนกตัด เพื่อตัดออกเป็นชิ้น ตามขนาดที่ต้องการ ชิ้นไนลอนที่ตัดแล้วจะถูกส่งต่อไปกับผ้าใบ สำหรับหุ้มเพื่อส่งไปประกอบเป็นโครงชั้นในของยางรถ

.

5. การทำขอบยาง ขอบยางเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะถ้าขอบยางเกิดเสียหาย ก็อาจเกิดความเสียหาย ดังนั้นวัตถุดิบที่ใช้ จะต้องดี และต้องประกอบอย่างดีที่สุด เส้นลวดที่ทำขอบยางเป็นเส้นลวดที่มีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ และถูกฉาบไว้ด้วยทองแดง นำมาพันวงล้อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่กำหนด จนครบจำนวนรอบที่ต้องการ แล้วหุ้มด้วยผ้าใบฉาบยางอีกทีหนึ่ง เพื่อเพิ่มความทนทานให้แก่ขอบยาง และติดสนิทดีกับโครงชั้นใน

.

6.การสร้างยางรถ ยางรถจะถูกประกอบขึ้นบนแบบที่หุบได้ ชิ้นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์จะถูกวางทับกันเป็นชั้น ๆ บนแบบ และจะพันกับขอบลวด หลังจากนั้นยางชั้นนอก และส่วนกลางก็จะประกอบเข้ามา เมื่อทำยางเสร็จแล้ว ก็จะหุบแบบเพื่อเอายางดิบออกจากแบบ ยางดิบนี้จะมีรูปร่างเหมือนถังที่ไม่มีฝาบนและล่าง แล้วยางดิบนี้จะถูกตรวจน้ำหนัก หรือซ่อมก่อนที่จะทำให้สุก

.

7. การอบยางรถให้สุก ยางรถดิบจะถูกใส่ลงในแม่พิมพ์ เมื่อแม่พิมพ์ปิดยางรถดิบ ก็จะได้รับแรงอัดจนมีรูปร่างเหมือนยางรถที่เราเห็นกัน ความร้อนจากไอน้ำในแม่พิมพ์ จะทำให้เนื้อยางไหลจนเต็มแบบ และความร้อนก็จะทำให้เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผสมกันอยู่เดิมรวมตัวกันเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน

.

โครงสร้างยางรถยนต์ (Tire Construction) 

.

โครงสร้างของยางรถยนต์ประกอบด้วย ส่วนต่าง ๆ หลายส่วน ดังรูปที่ 2

.

 

.

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของยางรถยนต์

.
1.หน้ายาง เป็นส่วนสัมผัสถนน หน้ายาง จะทำเป็น 3  ส่วน คือ ดอกยาง ร่องยาง และร่องเล็กบนดอกยาง  ดังแสดงในรูปที่ 3
.

.

รูปที่ 3 แสดงส่วนประกอบของหน้ายาง

.
1.1) ดอกยาง เป็นส่วนสัมผัสถนนทำหน้าที่ในการยึดเกาะถนน 
1.2) ร่องยาง ทำหน้าที่ในการระบายน้ำ และรีดโคลน 
1.3) ร่องเล็กบนดอกยาง ช่วยในการเกาะถนน เพิ่มความยืดหยุ่นในดอกยาง 
.

2. ไหล่ยาง ทำหน้าที่ในการระบายความร้อน

3. แก้มยาง ทำหน้าที่เพิ่มความยืดหยุ่น และให้เกิดความนุ่มนวล

4. ขอบยาง ทำหน้าที่รัดยางกับกระทะล้อ

.

ส่วนประกอบของยางรถยนต์                    

.

ส่วนประกอบของยางรถยนต์ ดังแสดงในรูปที่ 4

.

.

รูปที่ 4 แสดงส่วนประกอบของยาง

.

1. ผนังยาง (Sidewall) ทำหน้าที่ในการห่อหุ้มโครงชั้นผ้าใบ

2. ขอบลวด (Bead Wire) ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรงในการยึดยางกับกระทะล้อ

3. ปลอกใน (Inner Liner) ทำหน้าที่เก็บกักลม เป็นตัวกำหนด Tube Type/Tubeless

4. ดอกยาง (Tread) ทำหน้าที่ในการยึดเกาะถนน

.

ประเภทของยางรถยนต์

.

ประเภทของยางรถยนต์แบ่งตามการวางของชั้นผ้าใบ สามารถแบ่งได้ 3 แบบ คือ Bias Ply, Bias Belted และ Radial Ply ซึ่งลักษณะของยางแต่ละแบบ สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ชั้นผ้าใบวางเฉียงสลับกัน หรือโครงสร้างของยางแบบธรรมดา (Bias Ply) โครงสร้างภายในของยาง ประกอบด้วยชั้นผ้าใบวางซ้อนกัน แต่ละชั้นของผ้าใบจะวางเฉียงจากขอบข้างหนึ่งไปยังขอบอีกข้างหนึ่ง โดยทำมุม 35O กับแนวเส้นรอบวงขอบยาง และชั้นผ้าใบถัดมาจะวางตั้งฉากกับชั้นผ้าใบชั้นแรก และวางเฉียงอย่างนี้สลับกันไป  โครงสร้างแบบนี้จะเป็นโครงสร้างของล้อยางรถยนต์แบบ ธรรมดา ดังแสดงในรูปที่ 5

.

.

รูปที่ 5 แสดงโครงสร้างของยางแบบธรรมดา (Bias Ply)

.

โครงสร้างของยางแบบนี้จะแข็งแรงบริเวณแก้มยาง (Wall Rubber) และดอกยาง (Tread) สามารถรับแรงสะเทือนจากถนน ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ขับด้วยความสบายและนุ่มนวล รวมถึงการเกาะถนนได้ดี ทั้งในขณะเลี้ยว ออกตัวและเบรก แต่โครงสร้างแบบนี้จะเกิดความร้อนกับยาง เนื่องจากดอกยางที่แตะกับพื้นถนนจะได้รับการหดตัว หรือดิ้นได้ ส่งผลให้เกิดการสึกหรอของดอกยางเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าปกติ

.

2. โครงสร้างยางแบบเรเดียล (Radial Ply) โครงสร้างยางแบบนี้ จะประกอบด้วยชั้นผ้าใบ เพียง 2 ชั้น (Radial Plies) ซึ่งแต่ละชั้นจะวางเส้นใย ในแนวตั้งฉากกับขอบยาง ดังรูปที่ 6 ลักษณะการวางแบบนี้จะไม่มีเส้นใยยึดตามขวางของยางเลย จึงจำเป็นต้องมีขั้นผ้าใบ (Tread Bracing Layers) เป็นลักษณะเข็มขัด รัดตามแนวเส้นรอบวงของยาง 2-4 ชั้น แต่ละชั้นทำมุมกัน 10-12 องศา จากแนวเส้นรอบวงยาง เส้นใยพวกนี้อาจเป็น ไนล่อน  ผ้า หรือแม้แต่เส้นใยไฟเบอร์กลาส ซึ่งเหนียวและแข็งแรง แต่บางครั้งอาจเป็นลวดเหล็กเหนียวเส้นเล็ก ๆ ซึ่งใช้กับยางที่ใช้งานหนัก และความเร็วสูง ดังแสดงตัวอย่างของยางเรเดียลที่ใช้ผ้า และลวดเหล็ก เป็นตัวเข็มขัดรัดรอบวงยาง ดังแสดงในรูปที่ 7

.

.

รูปที่ 6 แสดงโครงสร้างของยางเรเดียล

.

.

รูปที่ 7 แสดงโครงสร้างของยางเรเดียล ที่ใช้ผ้า (Textile Belted Radial) และ เหล็กเหนียว (Steel Belted Radial) รัดตามเส้นรอบวงยาง

.

3. โครงสร้างยางแบบ Bias Belted  

.

ยางแบบ Bias Belted เป็นการการนำข้อดีของยางแบบธรรมดา และยางเรเดียล มารวมกัน โดยโครงยางเป็นเหมือนแบบยางธรรมดา คือ มีเส้นใยวางเฉียงเป็นมุม ประมาณ 33O เส้นใยอาจเป็น เรยอง ไนล่อน หรือ โพลิเอสเตอร์ วางสลับกัน 2 หรือ 4 ชั้น และมีชั้นผ้าใบรัดในแนวเส้นรอบวง เหมือนยางเรเดียล อีก 2 หรือ 4 ชั้น โดยวางเป็นมุม 29-30 องศา ดังแสดงในรูปที่ 8

.

.

รูปที่ 8 แสดงโครงสร้างยางแบบ Bias Belted

.

ยาง Bias Belted เป็นยางที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ายางธรรมดา เพราะชั้นผ้าใบที่รัดช่วยให้ไม่ให้ดอกยางดิ้น ขณะสัมผัสกับพื้นถนน ยางชนิดนี้จะวิ่งไม่เรียบในความเร็วต่ำ แต่ให้ความปลอดภัยมากกว่ายางธรรมดาถึง 2 เท่า จึงเหมาะกับการใช้ความเร็วสูง และยังเกาะถนนได้ดี ไม่ลื่นไถล และช่วยลดการสึกของดอกยางได้มากกว่ายางธรรมดา

.

การเลือกดอกยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน    

.

การเลือกใช้ดอกยางนอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว การเลือกคุณสมบัติที่เหมาะสมจะช่วยให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย สำหรับดอกยางในท้องตลาดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ

1. ดอกละเอียด (RIB PATTERN) มีลักษณะเป็นลายดอกและร่องที่คดโค้งหรือเป็นเหลี่ยม เป็นแถวยาวตามเส้นรอบวงของยาง ร่องยางที่ตื้น ช่วยในการระบายความร้อน เกาะถนนได้ดี ขับขี่บังคับเลี้ยวได้ง่าย ป้องกันการลื่นไถลออกด้านข้างได้ดีเยี่ยม ดอกยางชนิดนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับรถโดยสาร

.

2. ดอกบั้ง (LUG PATTERN) ยางดอกบั้งมีลักษณะลายดอกและร่องยางเป็นแนวขวางกับเส้นรอบวงของยาง โดยร่องยางจะมีความลึก เนื้อยางมีมาก เวลารถเคลื่อนจะเกิดแรงกรุยสูง และมีอายุการใช้งานทนทานกว่าดอกยางแบบอื่น ๆ เหมาะกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ (ล้อหลัง) รถจิ๊ป หรือรถที่วิ่งในอัตราความเร็วปานกลางจนถึงต่ำ

.

3.ดอกผสม (RIB-LUG PATTERN) ยางแบบดอกผสมเป็นการผสมระหว่างยางดอกละเอียดและลายดอกบั้ง โดยตรงกลางของหน้ายางจะเป็นลายแบบยางดอกละเอียด แต่ด้านซ้ายและขวาเป็นลายดอกบั้ง ยางดอกผสมนี้จึงทั้งเกาะถนน ป้องกันรถไถลออกด้านข้าง และมีแรงกรุยดี นำมาใช้ได้ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง วิ่งบนทางขรุขระหรือลาดยางก็ได้ เหมาะกับรถที่วิ่งด้วยความเร็วปานกลาง

.

4. ดอกบล็อก (BLOCK) ยางชนิดนี้มีหน้ายางเป็นลักษณะก้อนเหลี่ยมหรือโค้งมน เรียงตัวกันคล้ายอิฐบล็อกปูทางเดิน แต่จะมีช่องว่างระหว่างบล็อก ซึ่งถ้ามองตามเส้นรอบวงของยาง จะเห็นร่องเหมือนกับยางดอกละเอียด เหมาะที่จะใช้กับทุกสภาพถนน ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นทราย หรือโคลน มีสมรรถนะเกาะถนนได้ดีมาก ผู้ขับขี่บังคับเลี้ยวหยุดรถได้ง่าย ปัจจุบันนิยมใช้กับยางเรเดียลที่ใช้ความเร็วสูง โดยเฉพาะรถเก๋ง

.

.

รูปที่ 9 แสดงตัวอย่างของดอกยางที่มีใช้

.

คุณลักษณะเฉพาะของยางรถยนต์ (Tire Specifications)

.

คุณลักษณะของยางรถยนต์ ที่ขอกล่าวมี 2 ส่วน คือ อัตราส่วนของยาง (ซีรีส์ยาง) และ ขนาดยาง (Tire Size)

1.อัตราส่วนของยาง หรือซีรีส์ยาง เป็นการบอกสัดส่วนความสูง (Section Height) ต่อความกว้างของยาง (Section width) เป็นเปอร์เซ็นต์ ดังแสดงในสมการที่ 1 และรูปที่ 10 แสดงสัดส่วนของยาง

.

.

 

 

 

.

รูปที่ 10 แสดงสัดส่วนของยางรถยนต์

.

1. ขนาดยาง (Tire Size) เป็นการบอกค่า และคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาง ตัวอย่าง การบอกขนาดยางแบบเรเดียล (Radial tire)

.

.

เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์  ในส่วนของขีดจำกัดความเร็วของยางรถยนต์ สามารถเทียบได้ดังตารางที่ 2

.
ตารางที่ 2 แสดงความเร็วสูงสุด ของเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ ที่ปรากฏในส่วนของการบอกขนาดยางรถยนต์
.

.

การเกาะถนนของยางรถยนต์

การยึดเกาะถนนของยาง เป็นแรงที่กระทำต่อยางแล้วทำให้ยางเกิดการไถลลื่น เป็นมุม 1 องศา หรือเรียกว่า มุมไถลลื่น (Slip Angle) ดังแสดงในรูปที่ 11

.

.

รูปที่ 11 แรงกระทำต่อล้อ และมุมไถลลื่นของยาง

.

การยึดเกาะถนนของยางรถยนต์ มีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบ เพื่อทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ขับด้วยความปลอดภัย โดยองค์ประกอบที่มีผลต่อการยึดเกาะถนนของยางมีดังนี้

.

1. ความเร็วของของรถยนต์ เมื่อความเร็วของรถยนต์เพิ่มมากขึ้น กำลังการเกาะถนนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณการเพิ่มขึ้นของการยึดเกาะถนนมีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเร็วของรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น  หรืออาจกล่าวได้ว่า  เมื่อรถแล่นบนถนนโค้งที่มีรัศมีความโค้งค่าหนึ่ง ด้วยความเร็วสูงแล้วทำให้มีมุมลื่นไถลน้อยกว่าที่รถแล่นด้วยความเร็วต่ำ หรือต้องใช้แรงกระทำที่ทำให้ล้อเกิดมุมลื่นไถลมาก นั้นเอง

2. ลักษณะดอกยางของยางรถยนต์ โดยที่ดอกยางที่มีลักษณะกลมมนจะให้แรงขับเคลื่อนสูงกว่าดอกยางแบบกลมมน

3. ความดันลมยาง การเติมแรงดันลมมากขึ้นจะทำให้กำลังยึดการเกาะเพิ่มมากขึ้น แต่ความดันลมที่มากอาจทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกไม่สบาย ซึ่งเกิดจากการเต้นของยาง

4. มุมแคมเปอร์ของล้อ รถยนต์ที่ตั้งมุมแคมเปอร์ของล้อเป็นลบ จะมีกำลังยึดเกาะถนนมากว่ามุมแคมเปอร์บวก

5. ความกว้างของหน้ายาง โดยการเพิ่มหน้ายางให้มีขนาดกว้างขึ้นจะทำให้กำลังยึดเกาะถนนของล้อเพิ่มมากขึ้น

6. การวางเส้นใย การวางเส้นใย หรือผ้าใบทำมุมกับแนวเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นรอบวงน้อยจะทำให้ เพิ่มกำลังยึดเกาะถนนมากกว่าการวางผ้าใบทำมุมกับแนวเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นรอบวงมาก

7. การขับและการห้ามล้อ (Traction and Braking) โดยที่แรงขับที่ล้อมีค่ามากขึ้น หรือเพิ่มขึ้น จะทำให้กำลังการยึดเกาะถนนของยางลดลง แต่ในทางตรงข้าม ขณะข้ามล้อ จะเพิ่มกำลังยึดเกาะถนนของล้อมากขึ้น

8. น้ำหนัก (Load) ในการเพิ่มน้ำหนักให้กับยาง จะให้มุมลื่นไถลของยางลดลง นั้นหมายถึงการเพิ่มกำลังยึดเกาะถนนนั้นเอง ดังกราฟ ในรูปที่ 12

.

.

รูปที่ 12 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมุมไถลลื่น กับแรงกระทำด้านข้าง และแรงกระทำต่อยาง

.

ความรู้ทั่วไปในการใช้และบำรุงรักษายางรถยนต์

1. การถนอมยางรถยนต์เมื่อจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานาน เมื่อมีการจอดรถทิ้งไว้นานมาก เช่นจอดรถทิ้งไว้เป็นเดือน ควรปฏิบัติดังนี้

1.1 สูบลมยางเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 5 ปอนค์ต่อตารางนิ้ว เพราะการจอดรถไว้นาน ๆ ยางส่วนสัมผัสพื้นจะถูกน้ำหนักรถกดทับ อาจทำให้ยางเสียรูปได้ ทำให้โครงสร้างยางภายในชำรุด หรือ

1.2 ใช้แม่แรงยกรถยนต์ให้ลอยจากพื้น โดยให้ยางแตะพื้นน้อยที่สุด แต่อย่าให้ลอยจากพื้น เพราะถ้าล้อลอยจากพื้นอาจทำให้ระบบช่วงล่างของรถยนต์ เช่น ปีกนก หรือลูกหมาก เกิดความเสียหายได้ ทั้งนี้เพราะต้องรับน้ำหนักมากขึ้นและเสียหายจากน้ำหนักที่มากกว่าปกติ

.

2. เมื่อยางรถแบน หรือรั่ว หากยางรถยนต์เกิดรั่ว และแบนในขณะที่ขับรถบนท้องถนน ควรปฏิบัติดังนี้

2.1 ไม่ควรขับรถบดยางเป็นระยะทางไกล ๆ เพราะจะทำให้แก้มยางบดกับกระทะล้อ อาจทำให้ยางเกิดความเสียหายได้

2.2 ควรจอดรถเพื่อเปลี่ยนยาง อะไหล่ก่อน และควรมีโฟมสเปรย์ติดรถไว้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการซ่อมแซม กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถในการเปลี่ยนยางได้ หรือรอยรั่วไม่ใหญ่มากนัก ให้ฉีดโฟมสเปรย์เข้าในล้อจนหมดกระป๋อง ซึ่งโฟมสามารถปิดรอยรั่วได้รั่วคราว จากนั้นให้ขับรถไปอย่างช้า ๆ จนถึงร้านปะยางที่ใกล้ที่สุดเพื่อปะยาง

.

.

รูปที่ 13 แสดงลักษณะของยางที่แบน เกิดการทับของกระทะล้อต่อแก้มยาง

.

3. การรับน้ำหนัก และความเร็วยางรถยนต์ จากที่กล่าวมาแล้วว่า ยางแต่ละชนิดมีขีดความสามารถในการรับน้ำหนัก และความเร็วในการขับขี่ ดังนั้นการเลือกยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน จะเป็นการยืดอายุการใช้งานของยาง และยังเพิ่มความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งสามารถสังเกตขนาดของยางบนแก้มยาง และเลือกใช้งานให้เหมาะสม

.

4. การขับทางไกล ในกรณีที่ต้องเดินทางไกล ซึ่งการขับทางไกลด้วยความเร็วอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ยางเกิดความร้อนมากกว่าปกติ ทำให้ลมยางที่ร้อนเกิดการขยายตัว แรงดันลมเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนลดการลดการยึดเกาะถนน และทรงตัวไม่ดี ถ้ายางร้อนจัด และแรงดันเพิ่มขึ้นมาก ๆ แรงดันภายในล้อยางจะเพิ่มมากกว่า ซึ่งเป็นทั้งแรงดันที่สูงและเป็นลมร้อนจึงเสี่ยงต่อการระเบิดได้ง่ายยิ่งกว่า ดังนั้น ในการเดินทางไกล และขับรถอย่างต่อเนื่องจึงควรเติมลมยางให้มีแรงดันลมสูงกว่าปกติ 2-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อลดการบิดตัวของยาง จะทำให้เกิดความร้อนของยางน้อยกว่ายางอ่อน

.

5.การสลับยางรถยนต์ เพื่อยืดอายุการใช้งานของยางรถยนต์ ยางรถยนต์เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว ย่อมเกิดการสึกหรอได้ แต่ในการสึกหรอในแต่ละล้อยางอาจจะไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่มักจะสึกในคู่หนึ่งมากกว่าอีกคู่หนึ่ง การสลับยางจึงมีความจำเป็น เพื่อให้ยางทุกเส้นมีการสึกหรอใกล้เคียงกันที่สุด ใช้ได้จนเกือบหมด ถ้ายางอะไหล่มีขนาดเดียวกับยางหลัก ควรนำมาสลับใช้ด้วย แม้การเปลี่ยนยางพร้อมกัน 5 เส้น จะเสียเงินมากกว่าการเปลี่ยนยาง 4 เส้น แต่ก็จะสามารถใช้ยางทั้ง 5 เส้นได้เป็นระยะทางมากกว่า และทำการเปลี่ยนยางพร้อม ๆ กันทุกเส้น เมื่อระยะการใช้งานครบ 2 ปี และควรปฏิบัติตามรายละเอียดการสลับยาง ที่ระบุไว้ในคู่มือประจำรถยนต์อย่างเคร่งครัด หรือปรึกษากับช่างผู้ชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียเมื่อปฏิบัติผิดวิธี

.

โดยปกติ ยางรถยนต์จะมีทิศทางการหมุนตามลักษณะของลายดอกยาง ซึ่งทำให้การสลับยางแต่ละลักษณะแตกต่างกันบ้าง ถ้าเป็นดอกยางแบบ 2 ทิศทาง ลายดอกยาง 2 ด้านจะสวนทางกัน หมุนได้ทั้ง 2 ทิศทาง ดังนั้น ทุกล้อทั้งซ้ายขวาจะสลับกันได้หมด แต่หากเป็นดอกยางแบบทิศทางเดียว (UNI-DIRECTION) ลายของดอกยางจะบังคับให้หมุนได้เพียงทางเดียว โดยมีลูกศรบอกทิศทางอยู่ที่แก้มยางทั้ง 2 ข้าง กรณีนี้ปกติจะสลับได้ในด้านเดียวกันเท่านั้น เช่น สลับด้านหน้าขวากับด้านหลังขวา ยกเว้นจะถอดตัวยางออกจากกระทะล้อเดิม ไปใส่กับกระทะล้อฝั่งตรงข้าม พร้อมจัดวางทิศทางของดอกยางให้ถูกต้อง ก็จะสลับยางข้ามซ้ายขวาได้ ซึ่งจะยุ่งยากกว่าการสลับในด้านเดียวกัน

.

.

รูปที่ 14 แสดงทิศทางของการหมุนตามลักษณะของลายดอกยาง

.

สำหรับสภาวะการขับรถด้วยความเร็วปกติ ดอกยางแบบ 2 ทิศทาง จะให้ประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนนอย่างเพียงพอทั้งสภาพถนนแห้งและเปียกชื้น แต่ถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูงบนพื้นถนนเปียกแฉะ มีน้ำขัง หรือขณะฝนเทกระหน่ำ การรีดน้ำออกจากหน้ายางได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นถนนได้ดีเช่นเดิม โดยไม่มีน้ำมาขวางกั้นระหว่างผิวถนนกับหน้ายาง ซึ่งน้ำจะทำให้ยางลอยตัวขึ้นจากพื้น หรือที่เรียกว่า การเหินน้ำ (HYDROPLANING) ดอกยางแบบทิศทางเดียว (UNI-DIRECTION) จะทำให้ความสามารถในการรีดน้ำออกจากหน้ายางทำได้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้องใช้ความเร็วสูงบนถนนเปียกหรือขณะฝนตก

.

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหาการเหินน้ำ ก็คือ การขับรถให้ช้าลงในขณะฝนตกหรือบนสภาพถนนที่มีน้ำขัง และยางที่ใช้จะต้องมีความสึกร่องดอกยางเหลืออยู่ไม่น้อยเกินไป (ไม่ควรต่ำกว่า 2.0 ม.ม.) หรืออยู่ในสภาพค่อนข้างใหม่ ทั้งนี้ เมื่อยางรถยนต์วิ่งได้ระยะทางทุก ๆ 5,000–10,000 กิโลเมตร ควรมีการสลับตำแหน่งยาง เพื่อให้ยางของคุณสึกหรอสม่ำเสมอกัน รวมทั้งช่วยยืดอายุยางได้ด้วย

.

.

รูปที่ 15 แสดงลักษณะการสลับยางชนิดยางธรรมดา และยางเรเดียล แบบ 4 ล้อ และ 5 ล้อ สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลัง

.

1. การเปลี่ยนยางใหม่ การหมดอายุของยางรถยนต์ไม่ได้เกิดจากการสึกของดอกยางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่ายางรถยนต์ของคุณหมดอายุแล้ว อีก 5 ลักษณะ ดังนี้คือ ยางไม่เกาะถนน เนื้อยางแข็ง โครงสร้างกระด้าง เกิดเสียงดังขณะขับขี่ หรือแก้มยางบวม ซึ่งการแก้ปัญหาก็คงจะหนีไม่พ้นการเปลี่ยนยาง และควรเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางผ่านการใช้งานมาเท่ากัน ย่อมมีการสึกหรอและสภาพภายในที่ใกล้เคียงกัน โดยควรเลือกใช้ยางรุ่น และขนาดเดียวกันทั้ง 4 ล้อ

.

2. ในการเปลี่ยนยางใหม่ เราควรสังเกตเกี่ยวกับยาง ดังนี้ เพื่อการเลือกยางให้เหมะสมกับการใช้งาน และเพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่สามารถของการสึกหรอของยางรถยนต์

2.1 ชื่อผู้ผลิตยาง

2.2 ความกว้างของหน้ายาง

2.3 ความสูงของแก้มยาง ต่อความกว้างของหน้ายาง หรือ ซีรีส์ยาง ซึ่งมีหน่วยเป็น เปอร์เซ็นต์

2.4 เส้นผ่านศูนย์กลางของกระทะล้อ (นิ้ว)

2.5 การรับน้ำหนักของยาง

2.6 ดัชนีความเร็ว

2.7 ชื่อรุ่นยางของผู้ผลิต

2.8 การสึกหรอของดอกยาง

.

3. ความสำคัญของดอกยาง และร่องบนหน้ายาง ดอกยางและร่องบนหน้ายาง ทำหน้าที่ในการรีดน้ำขณะหน้ายางสัมผัสกับถนน ปัจจุบันยางมีประสิทธิภาพในการรีดน้ำสูงถึง 40 ลิตรต่อนาที ในขณะที่วิ่ง ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความลึกของดอกยางมีผลต่อการรีดน้ำ และการเกาะถนนขณะที่เปียก หากประสิทธิภาพการรีดน้ำต่ำ อาจทำให้เกิดการไถลได้ง่ายความลึกขั้นต่ำควรจะมีความลึกอย่างน้อย 1.6 มิลลิเมตร และหากดอกยางเหลือต่ำกว่า 2.0 มิลลิเมตร จะขาดประสิทธิภาพในการ รีดน้ำ และเกาะถนน

.
4. ลักษณะการสึกของดอกยาง
4.1 สึกบริเวณไหล่ยางทั้งสองข้าง เกิดจากการเติมลมอ่อนเกินไป ทำให้ไหล่ยางทั้งสองข้างสัมผัสกับถนนโดยตรง  
4.2 สึกไหล่ยางข้างใดข้างหนึ่ง เกิดจากศูนย์ล้อไม่ได้มาตรฐาน มุมแคมเบอร์เป็นบวก หรือลบมากเกินไป

4.3 สึกเหมือนเกล็ดปลา เกิดจากากรถ่วงล้อไม่สมดุล ทำให้ยางสั่น และหน้ายางสัมผัสไม่เท่ากัน

4.4 สึกเฉพาะตรงกลางของยาง เกิดจากเติมลงยางมากเกินไป ทำให้ยางสัมผัสถนนโดยตรง

4.5 สึกเป็นลายขนนก เกิดจากศูนย์ล้อไม่ได้มาตรฐาน ทำให้โทอิน หรือโทเอาท์ผิดปกติ

4.6 สึกเป็นจ้ำ ๆ รอบเส้น เกิดจากโช้กอัพเสื่อมสภาพ หรือระบบเบรกไม่สมดุล

.

.

รูปที่ 16 แสดงตัวอย่างการสึกหรอของยางแบบต่าง ๆ

.

5. การตั้งศูนย์ถ่วงล้อ คือ การปรับสภาพของระบบรับน้ำหนัก ให้ได้ค่ากำหนดของโรงงานที่ผลิต หรืออีกนัยก็คือการปรับมุมช่วงล่างเพื่อให้การขับขี่ และการบังคับพวงมาลัย เป็นไปอย่างถูกต้อง การเปลี่ยนยางใหม่ หรือการปะยางทุกครั้ง ต้องมีการถ่วงล้ออย่างสมดุล และมีศูนย์ล้อที่เที่ยงตรง

.

.

รูปที่ 17 แสดงตัวอย่างการทำสมดุลล้อ

.
6. การปะยาง : ข้อควรระวังในการปะยาง หรือซ่อมยาง

6.1 หากยางถูกตะปูตำ จะสามารถซ่อมแซมโดยการปะยางได้ เฉพาะในส่วนหน้ายางที่สัมผัสกับถนนเท่านั้น ไม่ควรปะยางบริเวณแก้มยาง ซึ่งยางอาจจะระเบิดได้ง่าย เนื่องจากไม่มีโครงสร้างของชั้นผ้าใบ และเส้นลวด

6.2  ยางที่สามารถจะปะ หรือซ่อมได้ ควรมีความลึกของดอกยางไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร และควรกว้างไม่เกิน 6 มิลลิเมตร

6.3 ไม่ควรปะยางเกิน 2 ครั้งบนยางเส้นเดียวกัน

6.4 ไม่ควรปะยางซ้ำรอยเดิม

.

.

รูปที่ 18 แสดงพื้นที่ที่ควรซ่อมแซม และพื้นที่ที่ไม่ควรซ่อมแซมของยางรถยนต์

.

สรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ขับขี่รถยนต์ควรทราบเกี่ยวกับยางรถยนต์ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้รถทุกท่านต้องหาความรู้เพิ่มเติมในการดูแลรักษา การเลือกใช้อย่างอย่างถูกวิธี เพื่อให้ท่านผู้ใช้รถทุกท่านใช้งานยางรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความปลอดภัยมากที่สุด และให้ประหยัดน้ำมันมากที่สุด เพื่อช่วยให้ชาติของเราลดการนำเข้าน้ำมันจากต่าง ๆ ประเทศ

.
เอกสารอ้างอิง

ชัยวุฒิ  เภาพัฒนา . วิศวกรรมยานยนต์ ม. วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน  กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์พิทักษ์อักษร, 2531

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด