เนื้อหาวันที่ : 2011-09-20 17:09:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17595 views

แนวคิดและการจำแนกต้นทุน (ตอนที่ 3)

การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึง ความสามารถในการระบุมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใดได้อย่างชัดเจนหรือไม่นั้น จำแนกออกเป็น 2 ประเภท

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ระดับความสามารถในการระบุเข้าสู่หน่วยผลิต
          การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึง ความสามารถในการระบุมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใดได้อย่างชัดเจนหรือไม่นั้น จำแนกออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือต้นทุนทางตรง และต้นทุนทางอ้อม

          1. ต้นทุนทางตรง
          ต้นทุนทางตรงเป็นต้นทุนที่สามารถทำการระบุมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นเข้าสู่หน่วยต้นทุนได้โดยง่าย ถ้าหน่วยผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตหนึ่ง ๆ เป็นหน่วยต้นทุนที่กล่าวถึง ดังนั้นแล้วต้นทุนทางตรงจึงแสดงถึงต้นทุนและทรัพยากรที่สามารถบอก หรืออธิบายได้โดยง่ายว่าใช้ไปในสินค้าสำเร็จรูปแต่ละหน่วยปริมาณเท่าใด มูลค่ากี่บาท ตัวอย่างเช่น วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายทางตรง

          2. ต้นทุนทางอ้อม
          ต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถบอก หรืออธิบายได้โดยง่ายว่าถูกใช้ไปในผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ จำนวนเท่าใด หรือคิดเป็นจำนวนเงินกี่บาท เนื่องจากต้นทุนเหล่านี้เป็นส่วนที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตัวอย่างของต้นทุนทางอ้อม เช่น วัตถุดิบทางอ้อม (น้ำมันหล่อลื่น จาระบี เศษวัสดุ) แรงงานทางอ้อม (เงินเดือนผู้ควบคุมโรงงาน เงินเดือนพนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง เงินเดือนพนักงานรักษาความปลอดภัย ) ค่าใช้จ่ายทางอ้อม (ค่าเช่า ค่าภาษีโรงเรือน ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าเสื่อมราคา) ต้นทุนทางอ้อมที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ บ่อยครั้งจะถูกกล่าวถึงในอีกชื่อหนึ่งว่า ค่าใช้จ่ายการผลิต โสหุ้ยการผลิต หรือ ค่าใช้จ่ายโรงงาน ต้นทุนทางอ้อมนี้จะถูกจัดสรรให้กับผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป

          ต้นทุนรายการหนึ่ง ๆ อาจจะเป็นต้นทุนทางตรง หรือต้นทุนทางอ้อมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าอะไรเป็นหน่วยต้นทุนที่ถูกกล่าวถึง นั่นคือ ต้นทุนบางรายการเป็นต้นทุนทางอ้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ แต่อาจจะเป็นที่สามารถบอก หรืออธิบายได้ง่ายว่าใช้ไปในแต่ละแผนก หรือแต่ละส่วนงานย่อย จำนวนเท่าใด คิดเป็นจำนวนเงินกี่บาท ซึ่งหมายถึงว่าต้นทุนรายการนี้จะเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนทางตรงของแผนกงาน หรือส่วนงานย่อยใด ๆ ที่กล่าวถึงได้อีกเช่นกัน

คำว่า ส่วนงานย่อยนี้ หมายความรวมถึง หนึ่งหน่วยย่อยของการแบ่งส่วนในองค์กร เช่น แผนกงาน ภาควิชา กรม กอง หมวดหมู่ ชั้น กระทรวง เขต จังหวัด กิจกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ เขตการขาย สาขา และการแบ่งส่วนในลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

          ก่อนที่จะทำการจำแนกต้นทุนออกเป็นต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบว่าหน่วยต้นทุนที่จะทำการอธิบาย ระบุ ถึงปริมาณการใช้ทรัพยากรและมูลค่าต้นทุนของทรัพยากรที่ใช้ไปนั้น กำลังพิจารณาถึงหน่วยต้นทุนใดอยู่ ตัวอย่างเช่น พนักงานขายคนหนึ่งทำการขายผลิตภัณฑ์หลายชนิด เงินเดือนของพนักงานขายนี้จะถูกจัดประเภทเป็นต้นทุนทางอ้อมสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด แต่เงินเดือนจำนวนเดียวกันนี้จะถูกจัดประเภทเป็นต้นทุน

การเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์
          การจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาถึง การถูกนับรวมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ สามารถต้นทุนในกลุ่มนี้ออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ และต้นทุนประจำงวด

          1. ต้นทุนผลิตภัณฑ์
          ต้นทุนผลิตภัณฑ์เป็นต้นทุนที่อธิบายได้ว่าถูกใช้ไปเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์และถูกคำนวณรวมไว้ในมูลค่าสินค้าคงเหลือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้นทุนที่นับรวมเป็นต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามต้องการถือเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ใด ๆ นั้น ต้นทุนการผลิตจะประกอบด้วยองค์ประกอบต้นทุน 4 ประเภทย่อยด้วยกัน ได้แก่ วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต หรือค่าใช้จ่ายโรงงาน ต้นทุนผลิตภัณฑ์นี้เป็นต้นทุนรวมทั้งสิ้นของโรงงาน

ก่อนที่จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นออกไป ต้นทุนผลิตภัณฑ์จะแสดงอยู่ในบัญชีสินค้าคงเหลือจนกระทั่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าคงเหลือเหล่านั้นได้แล้ว บัญชีสินค้าคงเหลือจะแสดงยอดดุลคงเหลือในงบแสดงฐานะการเงินและอยู่ในส่วนที่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน เมื่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ หรือสินค้าคงเหลือได้ถูกจำหน่ายออกไปแล้วนั้น ต้นทุนผลิตภัณฑ์จะถูกโอนต่อ โดยโอนจากบัญชีสินค้าคงเหลือไปเข้าบัญชีต้นทุนสินค้าขาย

ดังนั้นเมื่อต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นรวมอยู่ในต้นทุนสินค้าขายเมื่อใด จะถือว่าต้นทุนในส่วนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนประจำงวดที่จะต้องนำไปหักออกจากรายได้จากการขาย หรือยอดขายที่เกิดขึ้นในงวดเวลาเดียวกัน

          2. ต้นทุนประจำงวด
          ต้นทุนประจำงวดเป็นต้นทุนที่ไม่ถูกรวมคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าคงเหลือ หรืองานใด ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นรายการที่จะนำไปแสดงเป็นยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ ที่มีรายการต้นทุนประจำงวดนั้นเกิดขึ้น ดังนั้นต้นทุนส่วนนี้จะไม่โอนเข้าบัญชีสินค้าคงเหลือและไม่ถูกยกไปในรอบระยะเวลาบัญชีต่อไป

          ต้นทุนประจำงวดนี้เป็นต้นทุนที่จำเป็นต่อการทำให้เกิดรายได้ หรือยอดขายของกิจการ เพียงแต่ต้นทุนประจำงวดเหล่านี้นั้นไม่สามารถระบุ หรือบอก หรืออธิบายได้อย่างชัดเจนว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหน่วยผลิตภัณฑ์จำนวนมากน้อยเท่าใด ด้วยเหตุนี้การพิจารณาว่ารายการต้นทุนที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนประจำงวดหรือไม่ จึงยังคงมุ่งอยู่ที่ประเด็นของการรวมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าคงเหลือได้หรือไม่นั่นเอง หลักการที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ ต้นทุนประจำงวดนี้จะถูกพิจารณาในชื่อว่า ค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหาร ซึ่งควรจะแสดงเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด ด้วยเหตุผล ดังนี้

          1. เป็นเรื่องยากในการเลือกฐานการจัดสรรต้นทุนที่มีความเท่าเทียมกันในการจัดสรรต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ กล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ต้นทุนผลิตภัณฑ์สามารถโอนเข้าสู่ผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและสามารถทำการวัดมูลค่าหรือจัดสรรต้นทุนเข้าสู่หน่วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีการบางประการซึ่งเป็นหลักการที่ยอมรับกันโดยทั่วไปได้

          2. ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนรวมที่คงที่ มักจะไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการผลิตหรือกิจกรรมการผลิต

          3. เป็นการยาก หรืออาจจะไม่สามารถเป็นไปได้ในการที่จะประเมินความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างต้นทุนที่เกิดขึ้นกับปริมาณการผลิตแต่ละหน่วย

          4. เป็นการยากที่จะนำเหตุการณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตซึ่งเป็นผลที่ได้มาจากการมีต้นทุนประจำงวดเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาใด ๆ เช่น เงินเดือนของเสมียน ค่าตราไปรษณียากร วัสดุสิ้นเปลืองสำนักงานใช้ไป ค่าเช่าสำนักงาน ค่าโฆษณา ค่าบริการที่ปรึกษาค่าใช้จ่ายในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามรอบระยะเวลาที่ผ่านไป ซึ่งในบางครั้งอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า สามารถคาดการณ์ได้ว่าค่าใช้จ่ายประจำงวดดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในอนาคตได้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำการวัดมูลค่าของผลประโยชน์ที่มีความถูกต้องได้อย่างแน่ชัด

ผลกระทบของต้นทุนผลิตภัณฑ์และต้นทุนประจำงวด
          กำไรสุทธิของแต่ละองค์กร ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากต้นทุนผลิตภัณฑ์และต้นทุนประจำงวดด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พบโดยปกติทั่วไปว่า ในการจัดทำงบการเงินเพื่อการรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาในทางบัญชีนั้น มักจะทำการจำแนกต้นทุนออกเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์และต้นทุนประจำงวด ประการแรกคือ ด้วยลักษณะโดยธรรมชาติของต้นทุนผลิตภัณฑ์นั้นจะมีผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าสินค้าคงเหลือ

ดังนั้นต้นทุนผลิตภัณฑ์จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิเมื่อผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าคงเหลือที่มีองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตได้ถูกรายงานว่าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าส่วนนั้นออกไปแล้ว กล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ต้นทุนผลิตภัณฑ์ไม่ได้รายงานไปยังงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบเฉพาะกำไรขาดทุนโดยตรง และอาจจะไม่ได้รายงานในทันทีที่มีรายการต้นทุนผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น แต่จะรายงานในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบเฉพาะกำไรขาดทุนก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าคงเหลือที่มีส่วนประกอบต้นทุนการผลิตสะสมอยู่ได้ถูกจำหน่ายไปแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงลักษณะโดยธรรมชาติของต้นทุนประจำงวดแล้ว จะพบว่าต้นทุนประจำงวดเป็นรายการต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบในทันทีต่อกำไรสุทธิประจำงวดเวลานั้น ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นในงวดใดก็จะรายงานในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบเฉพาะกำไรขาดทุนทันที

อ่านต่อตอนต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด