เนื้อหาวันที่ : 2011-09-19 10:42:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8665 views

กลยุทธ์สู่องค์กรสีเขียว (ตอนจบ)

SCG Do It Green โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของเครือซิเมนต์ไทย ที่มุ่งย้ำเตือนจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในเครือ

โกศล ดีศีลธรรม

          ในส่วนของโครงการ “SCG Do It Green” เป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของเครือซิเมนต์ไทย ที่มุ่งย้ำเตือนจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในเครือ โดยยึดหลัก 3R คือ ลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Reuse/Recycle) การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้มีใช้เพียงพอและคงอยู่อย่างยั่งยืน (Replenish) โครงการนี้ยังมีเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การสร้างฝายชะลอน้ำ 10,000 ฝาย (ปี 2552) เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนสู่สมดุลด้วย

ปัจจุบันเอสซีจีร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำได้ครบ 10,000 ฝายในจังหวัดต่าง ๆ  เช่น ลำปาง เชียงใหม่ น่าน แพร่ ระยอง นครศรีธรรมราช เป็นต้น พร้อมทั้งส่งมอบสมุดบอกตำแหน่งหรือพิกัดฝายชะลอน้ำให้มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อนำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป เอสซีจีเป็นองค์กรไทยรายแรกในประเทศที่จัดทำนโยบายการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกำหนดแนวปฏิบัติการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Guidelines for Green Procurement) ตั้งแต่ปี 2547 นอกจากจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการเลือกใช้สินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดแล้ว ยังผลักดันให้ผู้ผลิตเกิดการปรับปรุงและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสิ่งแวดล้อมออกสู่สังคมมากยิ่งขึ้น ในปี 2549 ได้จัดทำทะเบียนการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวม 108 รุ่น จาก 32 ยี่ห้อ มียอดการสั่งซื้อประมาณ 22 ล้านบาท

และปี 2550 คณะกรรมการการพัฒนาสู่ความยั่งยืนมองเห็นถึงความสำคัญการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ต้องครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เริ่มให้ผนวกโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานเข้ากับแนวปฏิบัติการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งมอบ (Suppliers) ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มีการปรับปรุงแก้ไขและดูแลสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เครือซิเมนต์ไทย คือองค์กรเดียวของไทยที่ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 บริษัทเอเชียด้านการเปิดเผยข้อมูล CSR จาก CSR Asia แสดงถึงการบริหารงานด้วยความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยเอสซีจีได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้านการเปิดเผยข้อมูล CSR เป็นอันดับ 1 ของไทยและอันดับ 6 ของเอเซียจากการสำรวจบริษัทจดทะเบียน 80 แห่งในฮ่องกง มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ โดยพิจารณาจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทใน 6 ด้าน คือ นโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัท, กลยุทธ์ CSR และการสื่อสาร, ตลาดและห่วงโซ่อุปทาน, สถานที่ทำงานและพนักงาน, สิ่งแวดล้อม, การลงทุนในชุมชนและการพัฒนาสังคม

นอกเหนือจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เอสซีจียังให้ความสำคัญกับการรายงานผลและเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท โดยเฉพาะการจัดทำรายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Report) ประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัดของ GRI (Global Reporting Initiative) เป็นแนวทางแสดงความโปร่งใสการดำเนินงาน ตลอดจนความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เครือซิเมนต์ไทยยึดหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและมุ่งสร้างคุณค่าให้ลูกค้า พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและระบบสิ่งแวดล้อมที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ

โดยยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เครือซิเมนต์ไทยประกาศวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี พ.ศ.2558 เครือซิเมนต์ไทยจะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมและเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาล รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้คุณภาพการบริหารงานระดับโลกสอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล โดยมุ่งเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่อาเซียนและชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน

เอสซีจียึดหลักดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเปิดตัวฉลาก SCG Eco Value เป็นกลยุทธ์หลักในการรับรองว่านวัตกรรมของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประกาศ SCG ECO Value แนวคิดโลกสีเขียวที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นการวางมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของเอสซีจีเพื่อรองรับสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นการยกระดับการดำเนินความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) สู่การสร้างนวัตกรรมใหม่

เอสซีจีเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสินค้าหรือ บริการที่สามารถใช้ฉลาก SCG Eco Value ได้ จะต้องผลิตจากกระบวนการพิเศษที่ต่างจากกระบวนการปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14021 และต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการของเอสซีจี  SCG Eco Value เกิดขึ้นจากการที่ SCG ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา SCG ได้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งในกระบวนการผลิตสินค้า การให้บริการ รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืน หลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐาน SCG Eco Value แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

          1. ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบ หรือมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Process) โดยมุ่งออกแบบให้สามารถแยกประกอบใหม่ได้ (Designed for Disassembly) การใช้ทรัพยากรลดลง (Reduced Resource Use) สามารถนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ (Recovered Energy)และลดของเสีย (Waste Reduction)

          2. ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยหรือไม่มีผลกระทบจากการใช้งาน (Eco Use) เพื่อให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น (Extended Life Product) และออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Product) โดยใช้พลังงานลดลง สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือบรรจุใหม่ได้ (Reusable & Refillable)และความสามารถในการย่อยสลาย

          3. ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาเวียนกลับใช้ใหม่ได้ หลังจากสิ้นอายุผลิตภัณฑ์ หรือมีส่วนประกอบของวัสดุที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ (Eco Recycle) 

รายงานจัดอันดับบริษัทสุดยอด CSR

          โดยสินค้าที่นำออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระดาษ Idea Green ลดการใช้ต้นไม้ 30% โดยใช้เยื่อ EcoFiber ที่ได้จากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากผลิตผลทางเกษตรหรือ Green Series ที่ไม่ได้ใช้เยื่อจากไม้ใหม่ สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง ไม้สมาร์ทวูด แผ่นผนังและฝ้าสมาร์ทบอร์ด เป็นผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ใช้เยื่อเซลลูโลสและปราศจากแอสเบสตอสในกระบวนการผลิต

นับเป็นตัวอย่างการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมที่สร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าที่เป็นจุดขาย ฉลาก “SCG Eco Value”จัดทำขึ้นเพื่อรับรองว่าสินค้าและบริการที่ติดฉลากนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เพี่อเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ส่วนในต่างประเทศมีการออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรหรือสถาบันระดับประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ EU มีสัญลักษณ์ EU Flower สหรัฐอเมริกามีสัญลักษณ์ Green Seal และญี่ปุ่นมีสัญลักษณ์ Eco Mark

ส่วนประเทศไทยมีฉลากเขียว บริษัทผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกยังกำหนดมาตรฐานรับรองสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองเช่นกัน เอสซีจี ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าหรือบริการที่สามารถใช้ฉลาก SCG Eco Value ได้จะต้องผลิตจากกระบวนการพิเศษที่มุ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14021 โดยมีคณะกรรรมการเฉพาะด้าน SCG Eco Value พิจารณาให้การรับรองเพื่อออกสลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การให้บริการจัดส่งสินค้าของเอสซีจี โลจิสติกส์ ด้วยการใช้พาหนะที่มีอัตราการบริโภคน้ำมันน้อย ลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการรวมเที่ยวส่งสินค้าเพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะและปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 3,240 เมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 108,000 ต้นต่อปี ด้วยปริมาณการขนส่ง 27,000,000 ตัน รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 300,000 เมตริกตันหรือเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้พนักงานใหม่ทุกคนมีจิตสำนึก คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม เชื่อมั่นในคุณค่าสังคม มุ่งมั่นในความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยมีศูนย์รวมตัวแทนระดับบริหารทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเป็นกลไกควบคุมทิศทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกภาพ คือ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Committee) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและติดตามความคืบหน้า คณะกรรมการ ฯประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอสซีจี เป็นประธาน และสมาชิกคณะกรรมการจากกรรมการผู้จัดการใหญ่แต่ละกลุ่มธุรกิจ

รวมถึงการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับธุรกิจ และระดับบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและแผนดำเนินงานต่าง ๆ มีการนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล คณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ได้จัดตั้งคณะกรรมการย่อย (Working Committee) หลายคณะเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานเฉพาะด้านเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับแผนงานที่กำหนดไว้ อาทิ คณะกรรมการพลังงาน คณะทำงานจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม คณะทำงานจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะทำงาน SCG Eco Product คณะอนุกรรมการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการประหยัดพลังงาน ในปี 2552 คณะกรรมการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญใน 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

          1. การพัฒนาประสิทธิผลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การตรวจประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (Safety and Environmental Performance Assessment Program) และการสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติเหตุ (Incident Investigation Program)

          2. กิจกรรมและโครงการเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต อาทิ ระบบการให้การรับรองความปลอดภัย โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ฉลาก SCG Eco Value โครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับองค์กร (Stakeholder Engagement)

          3. กิจกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจไปยังประเทศในอาเซียน อาทิ การขยายผลการตรวจประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของเอสซีจี (Safety and Environmental Performance Assessment Program for Overseas Operations)

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ได้ดำเนินการกำกับดูแลประสิทธิผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม ประเด็นสาธารณะและความยั่งยืนของบริษัทในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานกับคณะกรรมการบริษัทในการเฝ้าดูแลประเด็นสำคัญที่อาจกระทบกับความยั่งยืนของบริษัท กำหนดทิศทางและการขยายผลในเชิงนโยบายอย่างยั่งยืนผ่านทางแผนงานระยะกลาง ความสัมพันธ์ของระบบการกำกับดูแลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและกิจกรรมการดำเนินงานในแต่ละส่วน

สำหรับกรณีกลุ่มธุรกิจกระดาษเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี เปเปอร์ได้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิตและระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากยูคาลิปตัส โครงการแรก คือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสาธารณูปโภคจากเชื้อเพลิงชีวมวล มูลค่าเงินลงทุน 1,400 ล้านบาท ด้วยการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่เก่าและประสิทธิภาพการทำงานต่ำ

โดยติดตั้งอุปกรณ์ 2 ชุด คือ หม้อผลิตน้ำยาเคมีกลับคืน เทคโนโลยีสูงสุดจากประเทศฟินแลนด์ กำลังการผลิตไอน้ำ 108 ตัน/ชั่วโมง และกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 9.62 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม มูลค่าเงินลงทุน 800 ล้านบาท ซึ่งมีหลายโครงการย่อย อาทิเช่น การเปลี่ยนเครื่องออกซิเจนใหม่ การติดตั้งระบบเพื่อลดการใช้สารเคมีในการฟอกเยื่อ การติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซที่มีกลิ่นจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ การติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซจากเปลือกไม้ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผากากปูนขาว การติดตั้งเตาเผากากปูนขาว

ทั้งนี้ ประโยชน์โครงการดังกล่าวจะลดกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ลดกากเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษโดยไม่ต้องกำจัด ด้วยวิธีการฝังกลบภายในโรงงานอีกต่อไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากโรงงานให้มีคุณภาพ ด้วยการลดใช้ทรัพยากรจากสารเคมีที่ใช้กระบวนการฟอกเยื่อ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานมักได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทางเอสซีจีเปเปอร์จึงอนุมัติงบลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อกำจัดกลิ่น โดยมองว่าการดำเนินกิจการของโรงงานจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านอย่างมีความสุข

โดยการลงทุน 2 โครงการนี้ บริษัทได้เตรียมเชิญชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างโปร่งใส เพื่อเตรียมวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA-HIA) เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางบริษัทดำเนินโครงการอย่างโปร่งใส หลังติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลและโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานเพิ่มขึ้นและลดการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก โดยคาดว่าจะลดการใช้น้ำมันเตาที่เคยมีการใช้ 5.3 ล้านลิตร/ปี ลดใช้ถ่านหินได้ปีละ 8,000 ตันและสามารถลดกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษลงร้อยละ 70-80
 

ตัวอย่างสินค้า SCG Eco Value
(ที่มา: http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/3067-scg-eco-value)

          นอกจากนี้ เอสซีจี เปเปอร์ ดำเนินโครงการ “ค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มุ่งปลูกฝังทัศนคติและจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนไทยเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเริ่มต้นปลูกฝังสำนึกรักสิ่งแวดล้อมนั้นต้องเริ่มตั้งแต่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังหลักในอนาคต หากมองผิวเผินคงไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้หรือสร้างป่า

แต่การดำเนินธุรกิจของ เอสซีจี เปเปอร์ ได้มีส่วนช่วยให้เกิดความห่วงใยสิ่งแวดล้อมถือเป็นพันธกิจหลักภายใต้แนวคิด “Green Inspiration” บริษัทนำเสนอทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) โดยให้ความสำคัญกับการมุ่งสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม (Green Mind) ให้ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

ดังนั้นค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงแค่การเข้าค่ายเพื่อปลูกต้นไม้สร้างป่า โดยคาดหวังผลระยะยาวจากการปลูกต้นไม้และสร้างป่าให้เข้าไปอยู่ในใจเยาวชนที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่จะวัดผลสำเร็จเพื่อใช้เป็นแบบอย่างให้กับโรงงานเครือซิเมนต์ไทยทั่วประเทศในการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนไทยและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนในชุมชน

แนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

          ปัจจุบันกระแสแนวคิดธุรกิจสีเขียวในประเทศไทยยังคงเป็นกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้เป็นกลยุทธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับตราสินค้าทั้งด้านสังคมและธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ผลกำไรทางการค้า แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและตราสินค้าที่ดึงดูดใจผู้บริโภคยุคใหม่ให้ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น องค์กรมหาชนชั้นนำทางด้านพลังงานอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตในโรงงานไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยยึดถือนโยบายสีเขียว (Green Policy) ได้แก่ Green Plant, Green Process, Green People, Green Product และ Green Project เป็นมาตรฐานร่วมกันทั้งกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่ม ปตท. ได้รับการยอมรับระดับชาติจนถึงระดับสากลในฐานะกลุ่มบริษัทพลังงานแห่งชาติและผู้นำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย เช่น ระบบการจัดการพื้นที่ปฏิบัติงานสีเขียว (Green Plant) ที่ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ (ISO9001) และระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO14001)

รวมทั้งได้เริ่มนำหลักการ “ระบบนิเวศเศรษฐศาสตร์” ขององค์การสหประชาชาติมาเป็นแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบจัดการกระบวนการผลิตสีเขียว (Green Process) อย่างการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันและสถานีบริการเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพลูกค้าและพนักงาน รวมทั้งมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศภายในโรงงาน รวมทั้งชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความปลอดภัยการทำงานของพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรหลักขององค์กร (Green People) กลุ่ม ปตท.ดำเนินงานตามระบบจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจนผ่านการรับรองระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มอก./OHSAS18001) ทุกพื้นที่ ด้วยความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต ทำให้เกิดแนวคิดผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product)

อาทิ น้ำมันไร้สารตะกั่ว ก๊าซเอ็นจีวี น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันดีเซลปาล์ม น้ำมันหล่อลื่นที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ (Biodegradability) และการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตไปผลิตน้ำแข็งแห้งแทนการปล่อยสู่บรรยากาศ รวมทั้ง Green Plastic นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเมืองไทย กลุ่ม ปตท.กล้าประกาศว่าเม็ดพลาสติกของกลุ่ม ปตท.เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล

กลุ่ม ปตท. นอกจากนโยบายสีเขียวจะกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังครอบคลุมถึงการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นดำเนินโครงการที่เป็นโครงการสีเขียว (Green Project) อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลูกโลกสีเขียว โครงการปลูกหญ้าแฝก การสร้างสาธารณประโยชน์ การจัดสร้างอาคารเรียนและห้องสมุด การสร้างชุมชนเข้มแข็งตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
 

องค์ประกอบความรับผิดชอบต่อสังคม

          ด้วยกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกของกลุ่ม ปตท. ที่จะมีปริมาณสูงถึง 1.65 ล้านตันต่อปี กลุ่ม ปตท. เปิดศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกใหญ่ที่สุดในอาเซียน บริษัท พีทีที  โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (PTTPL) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร

โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัยและต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจของกลุ่ม ปตท. พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในการสนับสนุนการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก โดยมีความสามารถรองรับปริมาณเม็ดพลาสติกรวมทั้งสิ้น 1 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายการบริการเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ถึง 1.5 ล้านตันต่อปี

พร้อมด้วยระบบการลำเลียงผลิตภัณฑ์ทางท่อ การบรรจุด้วยเครื่องจักรและระบบควบคุมที่ทันสมัยทั้งซอฟแวร์ การบริหารคลังสินค้า และการกระจายตู้สินค้าทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางเรือ สามารถจัดส่งผลิตภัณฑ์ได้ถึง 300 ตู้ต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณ 4,500 ตันต่อวัน  ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพกระจายสินค้าของกลุ่ม ปตท.แล้ว ศูนย์กระจายสินค้า ตั้งอยู่ในเขต จ.ระยอง ยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และนำความเจริญสู่ท้องถิ่นระยอง ด้วยการดำเนินงานที่ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นที่จะให้ชุมชนอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

ห่วงโซ่ธุรกิจกลุ่ม ปตท.

           นอกจากนี้การดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.จังหวัดระยอง ได้แบ่งโซนนิ่งพื้นที่ชุมชนโดยรอบทั้งในส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีอยู่ 33 ชุมชน รวมถึงพื้นที่บ้านฉางอีก 14 กลุ่ม เรียกว่า โครงการ “เพื่อนชุมชน” เป็นความร่วมมือของอุตสาหกรรมเพื่อแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตชาวระยองเพื่อให้เป็นต้นแบบของเมืองน่าอยู่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่การดูแลชุมชนผ่านความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กลุ่มเพื่อนชุมชนมุ่งมั่นแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Safety-Health-Environment) หรือ SHE กลุ่มผู้ประกอบการต้องร่วมกันทำให้ดีกว่ากฎหมาย เช่น การรวมกลุ่มของบริษัทเครือ ปตท. มีเป้าหมายสูงสุดที่การให้ชุมชนอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมภายใต้ 3 แนวทาง คือ

          1. พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวระยอง 'กินดี อยู่ดี มีสุข' เรื่องมาตรฐานควบคุมความปลอดภัย พัฒนาสุขภาวะ กีฬา วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยว โรงพยาบาลชั้นดี เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดระยอง กินดี อยู่ดี และมีสุข

          2. พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เมืองระยองน่าอยู่ เพื่อเป็น Green Town โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้มี PTT Group Park

          3. เพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนระยอง มุ่งสู่ 'เด็กดี เด็กเก่ง' โดยพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ จัดตั้งมหาวิทยาลัย สร้างเยาวชนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

          โดยจัดกิจกรรมให้อยู่ภายใต้กรอบสร้างคนเก่ง คนดี เช่น โครงการพาน้องเข้ามหาวิทยาลัย ค่ายเยาวชนวิทย์/พลังงาน ทุนการศึกษา ชุมชนเข้มแข็งอย่าง การดูแลสภาพพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่รัศมีรอบสถานประกอบการ ปตท. บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมอนุรักษ์/ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม การดูแลสภาพพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในรัศมี ปตท. บนพื้นฐานความมีส่วนร่วม สร้างคุณภาพชีวิต พื้นที่สีเขียว ส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัย การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อม จิตอาสาเพื่อสังคม สร้างเครือข่ายพนักงานอาสาสมัครให้มีโอกาสทำงานทางสังคมและพัฒนาเครือข่ายสังคม

หากการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนและคืนภาพลักษณ์ที่ดีให้ระยองเป็นเมืองที่น่าอยู่ ด้วยโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ 3 ขา ที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการบริการ เป็นระยองเมืองสีเขียว (Green Industrial Town) อย่างแท้จริง

โดยทำข้อตกลงเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานสูงทัดเทียมกัน ลดผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งเป็นการรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยีทุกโรงงานเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การร่วมมือภาคอุตสาหกรรมนี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในการร่วมแก้ปัญหาให้เกิดการขยายผลทั่วประเทศ

ช่วงที่ผ่านมาการทำงานของกลุ่มเพื่อนชุมชนได้ประชุมหารือและตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนและตรวจสอบดูแลกันเองทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยให้ดีกว่าข้อบังคับตามกฎหมาย โดยมีแผนงานเร่งด่วนในการลดสารอินทรีย์ระเหยง่าย การควบคุมกลิ่น และควบคุมการปล่อย Flare Gas รวมทั้งจัดทำแนวป้องกันด้วยการปลูกพันธุ์ไม้กันมลพิษระหว่างโรงงานและชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลเอาใจใส่ชุมชนด้วยความจริงใจแบบ Beyond CSR

โดยศึกษาความต้องการแท้จริงของชุมชนเพื่อมุ่งแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ช่วงแรกจะเน้นพัฒนาการศึกษาและสุขภาพคนในชุมชน โดยจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพชุมชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย กลุ่มเพื่อนชุมชนจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปิดตัวศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อนชุมชนเพื่อทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการสื่อสารระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งเป็น Call Center รับข้อร้องเรียน แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่าอุตสาหกรรมมีความจริงใจพร้อมรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้ยังได้เตรียมการปรับปรุงและจัดซ้อมแผนฉุกเฉินร่วมกับชุมชนและหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่าง โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล ดับเพลิง โดยตั้งเป้าที่จะทำแผนการสื่อสารและเสนอแนวทางปฏิบัติให้ครบทุกชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนมั่นใจมาตรการแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน

ด้วยเหตุนี้กลุ่มเพื่อนชุมชนเป็นความร่วมมือผู้ประกอบการไทยเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความจริงใจ จริงจัง มุ่งมั่นแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระยะเริ่มต้นมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมกลุ่มแล้วทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี โกลว์ ดาว เคมิคอล อนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรายอื่นให้มากที่สุด รวมทั้งเชิญชวนภาครัฐและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้ระยองเป็นบ้านที่น่าอยู่ของชุมชน

          ล่าสุดภาคสถาบันการศึกษาไทยได้ตื่นตัวต่อกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม ดังกรณีสถาบันชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศปรับจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ (Repositioning) เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงกระแสโลกสอดคล้องกับความคาดหวังสังคมยุคใหม่ที่ต้องการเห็นองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตจึงตระหนักต่อพันธกิจในการให้ความรู้และพัฒนาปัญญาแก่นักศึกษาเพื่อให้เป็นคน “เก่งและดี” มิใช่เพียงการสอนให้ตามตำรา นี่คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัย (CSR-in Process)

          ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้นักศึกษาใหม่ทุกคนต้องเรียนวิชาบังคับ (3 หน่วยกิต) รหัส มธ.100 ชื่อวิชา“พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม” มิเพียงแต่การฟังบรรยายอย่างวิชาทั่วไป แต่ต้องมีการลงพื้นที่สัมผัสปัญหาสังคมและศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้อย่างมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึกสร้างคุณค่าต่อสังคมและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังแก่คนรุ่นใหม่ วิชานี้น่าจะสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การมีดีเอ็นเอที่ดีต่อประเทศชาติต่อไป ขณะเดียวกันที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังจะเริ่มต้นความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) เป็นต้นแบบที่จะขยายการดำเนินการไปยังศูนย์ลำปางและศูนย์พัทยาต่อไป

โดยไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ย่างเข้ามาหรือใช้ชีวิตในธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตอย่างการแก้ไขปัญหาจราจรภายในมหาวิทยาลัยเพื่อลดความคับคั่งรถยนต์ที่วิ่งเข้าออกมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีที่จอดรถสำหรับนักศึกษาและผู้มาติดต่อ รวมทั้งใช้ระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัย เช่น รถรางและรถจักรยาน ซึ่งจะทำช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานเพิ่มเติม

ทั้งนี้คำนึงถึงจำนวนผู้ผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัยในอนาคตเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อสร้างเสร็จ สำหรับการปรับภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยตลอดแนวรั้วด้านนอกของถนนพหลโยธินจะสร้างทางเดินเท้าขนาดกว้างมีการตกแต่งกลมกลืนกับธรรมชาติ พร้อมสร้างทางข้ามถนนเพื่อให้ประชาชนที่มาจากฝั่งตรงข้าม

รวมทั้งผู้ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์สามารถเดินเข้าสู่โรงพยาบาลได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ภายในมหาวิทยาลัยจะมีสวนหย่อมเพื่อความร่มรื่นตามจุดต่าง ๆ และขุดลอกคูคลองปรับปรุงตลิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันน้ำท่วมของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งจัดทำทางเดินเชื่อม พื้นที่ใช้สอยเพื่อการสันทนาการ และพักผ่อนหย่อนใจ ในประเด็นสุขภาวะนั้นนอกจากการมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดตาและอากาศบริสุทธิ์ด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่น ยังเกิดจากการจัดการขยะซึ่งนับว่าเป็นภาระของชุมชนขนาดใหญ่

ศูนย์รังสิตได้รณรงค์เรื่องการแยกขยะ ทิ้งให้ถูกถัง การจัดโครงการธนาคารขยะ ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างจิตสำนึก โดยมุ่งแนวคิดให้ศูนย์รังสิตมีขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) คือ มีการนำกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่เป็นขยะอินทรีย์ทั้งจากเศษอาหารหรือเศษใบไม้กิ่งไม้ จะนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้บำรุงต้นไม้ในมหาวิทยาลัย ขยะอินทรีย์อีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้าต้นแบบขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะนำไฟฟ้ามาใช้กับบ่อบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย โรงไฟฟ้าต้นแบบยังใช้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชนรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ส่วนบทบาทการส่งเสริมสังคมภายนอกนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมกันดำเนินโครงการ “หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัด” เริ่มมาตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2553 ประเด็นสำคัญ คือ การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดปทุมธานี ให้สอดคล้องและตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด โดยผนึกกำลังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันเป็นเครือข่ายร่วมกันเป็นฐานการเรียนรู้และช่วยพัฒนาชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่

เอกสารอ้างอิง
          1. Buchholtz, Ann K., Business and Society, South-Western Cengage Learning, 2009.
          2. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
          3. Philip Kotler, Nancy Lee, Corporate Social Responsibility, John Wiley & Sons, 2005.
          4. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.
          5. Timothy O’Riodan, Environmental Science for Environmental Management, Prentice Hall, 2000.
          6. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.
          7. โกศล ดีศีลธรรม, องค์กรทำดีเพื่อสังคม, สำนักพิมพ์ MGR 360°, 2554.
          8. เครือซีเมนต์ไทย, รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SCG), 2552.
          9. http://admin.thanachartsec.co.th/upload/research/T110228.pdf
          10. http://www.arip.co.th
          11. http://www.brandage.com
          12. http://www.bangkokbiznews.com
          13. http://www.carbonfootprint.com
          14. http://www.csri.or.th
          15. http://www.csrthailand.net
          16. http://www.energythai.com/2010/tgo-meeting/
          17. http://www.green.in.th
          18. http://www.greenbizthai.com
          19. http://www.greennet.or.th
          20. http://www.greennetworkthailand.com/system/?p=94
          21. http://www.hsbc.co.th
          22. http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000025231
          23. http://www.marketeer.co.th/
          24. http://www.prachachat.net
          25. http://www.prthaiairways.com/
          26. http://www.pttplc.com
          27. http://www.siamcement.com/
          28. http://www.tgo.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=305&Itemid=18

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด