การปฏิบัติทางด้านแรงงานขององค์กร จะประกอบด้วยนโยบาย และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยองค์กร หรือผู้แทนขององค์กร รวมถึงการทำงานรับจ้างช่วงด้วย
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com
3. การปฏิบัติทางด้านแรงงาน
การปฏิบัติทางด้านแรงงานขององค์กร จะประกอบด้วยนโยบาย และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยองค์กร หรือผู้แทนขององค์กร รวมถึงการทำงานรับจ้างช่วงด้วย ทั้งนี้ การปฏิบัติด้านแรงงาน จะมีขอบเขตที่ครอบคลุมที่ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ขององค์กร กับลูกจ้างโดยตรง หรือที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรในสถานที่ปฏิบัติงานเป็นขององค์กรเอง หรือสามารถควบคุมได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงกระบวนการสรรหา การเลื่อนระดับงาน การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยและการร้องทุกข์
การโอนและโยกย้ายพนักงาน การเลิกจ้าง การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะในการทำงาน การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสุขอนามัยทางอุตสาหกรรม รวมถึงการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน เช่น ชั่วโมงเวลาในการทำงาน หรือการจ่ายค่าตอบแทน
นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน การเป็นตัวแทน หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรด้านลูกจ้างและนายจ้างในการเจรจาต่อรอง การสานเสวนาทางสังคม หรือการเจรจาแบบไตรภาคี ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงาน
ทั้งนี้ การสร้างงาน รวมถึงการจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่น ๆ จากการทำงาน จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และการเพิ่มผลผลิต จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการจ้างงานอย่างเต็มที่และมีความมั่นคง จะช่วยสร้างให้เกิดมาตรฐานการครองชีพที่ดี การละเลยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นสาเหตุเบื้องต้นของปัญหาสังคม นอกจากนั้น การปฏิบัติทางด้านแรงงานที่รับผิดชอบต่อสังคม ยังส่งผลกระทบต่อการเคารพหลักนิติธรรม และความรู้สึกของการดำรงอยู่ในสังคมอย่างเป็นธรรม
หลักการพื้นฐานที่ระบุในปฏิญญาฟิลาเดลเฟีย ปี 1944 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าแรงงานไม่ใช่สินค้า หมายความว่า แรงงาน ไม่ควรถูกปฏิบัติในฐานะของปัจจัยสำหรับการผลิต และถูกกำหนดให้เป็นตัวผลักดันตลาดเช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ ซึ่งความด้อยโอกาสของแรงงาน และความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้อง ได้มีการแสดงไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยระบุถึงสิทธิของคนทุกคนในการใช้ชีวิตโดยเลือกการทำงานได้อย่างอิสระ และสิทธิในการกำหนดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมและดีต่อการทำงาน
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ซึ่งหน่วยงานจะมีหน้าที่หลักในการดูแลให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานลูกจ้างอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม โดยการ
* รับรองกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานแรงงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
* บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพัฒนาและการจัดสรรเงินทุนสำหรับระบบการตรวจสอบแรงงานของประเทศ และ
* ดูแลให้มั่นใจว่าแรงงาน และองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมที่จำเป็นได้
ในกรณีที่รัฐบาล ประสบความล้มเหลวในการออกกฎหมาย องค์กรควรจะปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานที่ระบุไว้ในเอกสารระหว่างประเทศ ในกรณีที่ข้อกฎหมายมีความเพียงพอ องค์กรควรจะปฏิบัติตามข้อกฎหมายนั้น ๆ ถึงแม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐจะไม่เข้มงวดพอก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างมากที่จะต้องแยกความแตกต่างให้ชัดเจนระหว่างบทบาทของรัฐ และบทบาทของนายจ้าง ซึ่งหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่มีรัฐเป็นเจ้าของ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องของการปฏิบัติทางด้านแรงงานเช่นเดียวกับองค์กรอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในหมวดการปฏิบัติทางด้านแรงงานนี้ จะประกอบด้วย ประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์
2. สภาพแวดล้อมในการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม
3. การสานเสวนาทางสังคม
4. สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
5. การพัฒนาบุคลากร และการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน
3.1 การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์
ในปัจจุบัน ความสำคัญของการจ้างงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ในฐานะของนายจ้าง องค์กรจะต้องมีส่วนสนับสนุนต่อวัตถุประสงค์ของสังคม นั่นคือ การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต (Living Standard) โดยการจ้างงานอย่างเต็มที่และมั่นคง รวมถึงมีสภาพในการทำงานที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นที่การทำงานทั้งหมด จะต้องเกิดขึ้นในรูปของความสัมพันธ์ของการจ้างงานเท่านั้น การทำงานและการให้บริการ ยังสามารถเกิดขึ้นโดยบุคคลที่เป็นการจ้างงานตนเอง (Self-employed) หรือประกอบอาชีพส่วนตัว ซึ่งในกรณีนี้ ส่วนต่าง ๆ จะมีความเป็นอิสระต่อกัน รวมถึงมีความเท่าเทียม และมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์การจ้างงาน และความสัมพันธ์ทางการค้า จะมีความแตกต่างกันที่ไม่ชัดเจนนัก ถ้ามีการระบุหรือแสดงไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลต่อแรงงานที่จะไม่ได้รับการดูแล ปกป้อง รวมถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้
ในบริบทนี้ แรงงาน จะเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการทำงานเพื่อค่าตอบแทน และจะไม่รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปแบบของอาสาสมัคร อย่างไรก็ตาม องค์กรก็ควรมีการกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางกฏหมาย และหน้าที่ในการดูแลงานอาสาสมัครไว้ด้วย
ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจ้างงาน และแรงงานสัมพันธ์ องค์กรควรจะ
* สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่าการทำงานทั้งหมดที่ดำเนินการโดยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะได้รับการยอมรับทางกฏหมายในฐานะของลูกจ้าง หรือฐานะของนายจ้างตนเอง
* ไม่แสวงหาช่องทางในการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของนายจ้างตามข้อกฏหมาย โดยการปิดบังความสัมพันธ์ของการจ้างงานไปใช้รูปแบบอื่น ๆ
* ยอมรับถึงความสำคัญของการจ้างงานที่มั่นคง ทั้งกับแรงงานแต่ละคนและกับสังคม โดยการวางแผนการใช้แรงงานแบบเชิงรุก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานที่เป็นลักษณะเป็นครั้งคราว หรือการใช้งานในลักษณะชั่วคราวที่เกินกว่าที่ยอมรับได้ ยกเว้น ลักษณะของการทำงานจะเป็นช่วงสั้น ๆ หรือเป็นตามฤดูกาล
* มีการแจ้งข้อมูลสารสนเทศให้รับทราบ ทันเวลา และเข้าร่วมกับผู้แทนแรงงาน ในการพิจารณาถึงแนวทางในการบรรเทาผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงาน เช่น การปิดกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน
* ดูแลให้พนักงานทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ในการปฏิบัติด้านแรงงาน
* ขจัดการดำเนินงานในการเลิกจ้างโดยการเลือกปฏิบัติ และกระทำตามอำเภอใจ
* ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัวของพนักงาน
* ดูแลให้มั่นใจว่า ควรจะมีการมอบหมายงานให้ผู้รับจ้างช่วงที่ได้รับการยอมรับตามกฏหมาย หรือองค์กรที่ให้การยอมรับต่อความรับผิดชอบของการเป็นนายจ้าง และมีการจัดให้มีสภาพในการทำงานที่ดี ทั้งนี้ องค์กรควรใช้ผู้จัดหาแรงงานที่ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น นอกจากนั้น ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน (Home Worker) ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับผู้รับค่าจ้าง หรือลูกจ้างอื่น ๆ
* หลีกเลี่ยงการได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติทางด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบ และการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จากหุ้นส่วน ผู้ส่งมอบ หรือผู้รับจ้างช่วง รวมถึงผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน โดยองค์กรควรมีการส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพล ให้มีการปฏิบัติด้านแรงงานด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะของอิทธิพล เช่น การสร้างภาระผูกพันตามสัญญากับผู้ส่งมอบและผู้รับจ้างช่วง การเข้าตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือการกำกับดูแลผู้รับจ้างช่วง และผู้จัดหาแรงงาน
* ควรมีการส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาอาชีพ การเลื่อนระดับงาน และความก้าวหน้าของแรงงานในประเทศที่ไปดำเนินการ ในกรณีที่มีการปฏิบัติงานในต่างประเทศ
3.2 สภาพแวดล้อมในการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม
สภาพแวดล้อมในการทำงาน จะประกอบด้วยค่าจ้าง และค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เวลาการทำงาน ช่วงเวลาในการพักผ่อน วันหยุด ข้อปฏิบัติทางวินัยและเลิกจ้าง การคุ้มครองความเป็นมารดา และสวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด สุขลักษณะที่ดี โรงอาหารและสถานพยาบาล เป็นต้น ซึ่งสภาพแวดล้อมในการทำงานต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน และครอบครัว รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
การคุ้มครองทางสังคม จะประกอบด้วย หลักประกันตามกฏหมายทั้งหมด รวมถึงนโยบาย และแนวปฏิบัติขององค์กร ในการบรรเทาผลที่เกิดจากการลดลงหรือการสูญเสียรายได้ ในกรณีที่มีการเจ็บป่วย บาดเจ็บในระหว่างการทำงาน การคลอดบุตร การเลี้ยงดูบุตร การแก่ชรา การว่างงาน การพิการทุพพลภาพ ภาวะขัดสนทางการเงิน การรักษาพยาบาล และผลประโยชน์ของครอบครัว ทั้งนี้ การคุ้มครองทางสังคม จะมีบทบาทที่สำคัญในการคุ้มครองเกียรติยศของมนุษย์ และก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นธรรมในสังคม โดยทั่วไป จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
ในการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม องค์กรควรจะ
* ดูแลให้มั่นใจได้ว่าสภาพแวดล้อมในการทำงาน สอดคล้องตามข้อกฏหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงมาตรฐานด้านแรงงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศด้วย
* จัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย เช่น จากการเจรจาร่วมกัน
* ดูแลให้มีการดำเนินการตามที่ได้มีการระบุไว้ในมาตรฐานแรงงานที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่ได้มีการออกกฏหมายมาบังคับใช้
* จัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทั้งค่าจ้าง ชั่วโมงในการทำงาน วันหยุดพักผ่อน สุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการคุ้มครองความเป็นมารดา และความสามารถในการผสมผสานการทำงานเข้ากับความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว
* ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ
* จัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่สร้างความสมดุลในชีวิตการทำงานให้เกิดขึ้นกับแรงงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีการเปรียบเทียบกับนายจ้างรายอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียง หรือมีลักษณะของการทำงานที่คล้าย ๆ กัน
* จ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ สอดคล้องกับข้อกฏหมาย กฎระเบียบหรือข้อตกลงร่วมกันที่จัดทำขึ้น โดยควรจ่ายค่าจ้างอย่างเพียงพอต่อความต้องการของทั้งแรงงานและครอบครัว ซึ่งการดำเนินการนี้ ควรคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคม รวมถึงการพิจารณาประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ความต้องการในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ระดับของผลิตภาพ และความต้องการในการสร้างและรักษาระดับของการจ้างงานที่สูง นอกจากนั้น องค์กรควรมีการเจรจากับแรงงาน หรือผู้แทนของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหภาพการค้า ในการกำหนดระดับค่าจ้าง และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม
* จ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับการทำงานที่ให้คุณค่าเท่าเทียมกัน
* จ่ายค่าจ้างโดยตรงกับแรงงาน ยกเว้นมีข้อจำกัดในการจ่ายค่าจ้าง หรือการหักค่าจ้างใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อกฏหมาย หรือข้อตกลงที่มีร่วมกัน
* ปฏิบัติตามข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดให้มีการปกป้องทางสังคมสำหรับแรงงาน ในประเทศที่มีการปฏิบัติงาน
* ยอมรับในสิทธิของพนักงานในการทำงานตามชั่วโมงการทำงานปกติ หรือที่เป็นที่ตกลงกันตามข้อกฏหมาย ตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงจัดให้แรงงานได้มีวันพักผ่อนประจำสัปดาห์ และมีการจ่ายค่าตอบแทนในวันหยุดประจำปี
* เคารพต่อความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัวของแรงงาน โดยการจัดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม การหยุดพักผ่อนสำหรับครอบครัว และควรจัดให้มีการดูแลเด็ก รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เพื่อให้แรงงานได้มีสภาพชีวิตการทำงานที่สมดุลด้วย
* จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลา ให้สอดคล้องตามข้อกฏหมาย หรือข้อตกลงที่มีร่วมกัน เมื่อมีความต้องการให้แรงงานต้องทำงานล่วงเวลา โดยองค์กรควรพิจารณาถึงความกังวลของแรงงานในส่วนของผลประโยชน์ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของแรงงาน รวมถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน
3.3 การสานเสวนาทางสังคม
การสานเสวนาทางสังคม จะประกอบด้วยรูปแบบต่าง ๆ ของการเจรจาต่อรอง การให้คำแนะนำ หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศระหว่างผู้แทนของหน่วยงานรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ในประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ และข้อกังวลต่าง ๆ ของสังคม โดยการสานเสวนาทางสังคม จะเป็นการดำเนินการระหว่างผู้แทนของนายจ้างและลูกจ้าง ในประเด็นที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ของตน ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ในกรณีที่ประเด็นดังกล่าวครอบคลุมไปถึง ข้อกฏหมาย หรือนโยบายทางด้านสังคมที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
หน่วยงานที่เป็นอิสระ อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสานเสวนาทางสังคม โดยมีผู้แทนของลูกจ้างที่ได้รับเลือกมาอย่างเป็นอิสระ หรือแรงงานที่เป็นไปตามข้อกฏหมาย หรือข้อตกลงร่วมกันที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของภาครัฐ หรือนายจ้าง โดยการสานเสวนาทางสังคม จะอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับจากนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งที่มีผลประโยชน์และความขัดแย้งร่วมกัน และจะมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรม การกำหนดนโยบาย และการกำกับดูแลกิจการ
การสานเสวนาทางสังคมอย่างมีประสิทธิผล จะช่วยให้กลไกในการจัดทำนโยบาย และหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลำดับความสำคัญ และความต้องการของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วม และหลักประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน สร้างความเข้าใจระหว่างองค์กรและแรงงาน รวมถึงลดข้อพิพาททางอุตสาหกรรมลงได้
ทั้งนี้ การสานเสวนาทางสังคม สามารถดำเนินการได้ในหลากหลายรูปแบบ และในระดับต่าง ๆ โดยแรงงานอาจจะต้องการให้มีการรวมกลุ่มตามสายอาชีพ โดยนายจ้างและลูกจ้างควรมีส่วนในการตัดสินใจร่วมกันถึงระดับที่เหมาะสมที่สุด ในขณะเดียวกัน การสานเสวนาทางสังคม อาจมีการโต้แย้งกันเกิดขึ้น ซึ่งทางกลุ่มสามารถกำหนดกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อโต้แย้งนั้น ๆ
ในการดำเนินการด้านการสานเสวนาทางสังคม องค์กรควรจะ
* ยอมรับถึงความสำคัญของการสานเสวนาทางสังคม รวมถึงในระดับระหว่างประเทศ และโครงสร้างการต่อรองร่วมกันที่นำมาใช้
* ยอมรับต่อสิทธิของแรงงาน ในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมในองค์กรของตนเอง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ หรือการเจรจาต่อรองร่วมกัน
* ไม่ขัดขวางแรงงานในการจัดตั้ง หรือเข้าร่วมกลุ่มในองค์กรของตนเอง เพื่อการเจรจาต่อรองร่วมกัน เช่น การปลดหรือไล่ออกจากงาน หรือการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน โดยการตอบโต้ คุกคามทั้งทางตรงหรือทางอ้อมด้วยการข่มขู่ หรือทำให้เกิดการหวาดกลัว
* มีการแจ้งให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้แทนลูกจ้างได้รับทราบอย่างเหมาะสม ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อทำการประเมินถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน และบรรเทาผลกระทบในด้านลบให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
* จัดให้มีผู้แทนของแรงงาน ที่สามารถเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจขององค์กร รวมถึงสถานที่ทำงาน แรงงานต่าง ๆ ที่เป็นผู้แทน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของผู้แทน
* ไม่ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ ในการจำกัดสิทธิต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในประเด็นเสรีภาพในการสมาคม และเจรจาต่อรอง เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการจัดหาจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการจำกัด หรือมีการห้ามเสรีภาพในการสมาคม หรือหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในโครงการที่ให้ประโยชน์ หรือให้สิ่งจูงใจที่มาจากข้อห้ามต่าง ๆ เหล่านั้น
องค์กร อาจจะมีการพิจารณาถึงการเข้าร่วมในองค์กรของนายจ้าง เพื่อสร้างโอกาสในการสานเสวนาทางสังคม และแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วย
3.4 สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
การมีสุขภาพที่ดี และมีความปลอดภัยในการทำงาน จะช่วยส่งเสริม และรักษาให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคมของแรงงาน รวมถึงเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน การปกป้องแรงงานจากความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการทางด้านร่างกาย และจิตใจของแรงงาน
ทั้งนี้ อุบัติเหตุ และมลภาวะที่รุนแรง รวมถึงอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงานรูปแบบต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลต่อแรงงานแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนั้น ประเด็นทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย ยังครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ กระบวนการ แนวทางการปฏิบัติงาน และสสารที่เป็นอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เช่น ทางเคมี ทางกายภาพและชีวภาพ
ในการดำเนินการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานนี้ องค์กรควรจะ
* พัฒนา นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษานโยบายทางด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน จากหลักการพื้นฐานที่มีการสนับสนุน และการส่งเสริมมาตรฐานทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างแข็งแรง
* ทำความเข้าใจ และนำหลักการพื้นฐานของการบริหารสุขอนามัย และความปลอดภัยมาประยุกต์ใช้ รวมถึงลำดับขั้นของการควบคุม ตั้งแต่ การกำจัด การทดแทน การควบคุมทางวิศวกรรม การควบคุมทางการจัดการ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
* วิเคราะห์และควบคุมความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากกิจกรรมต่าง ๆ
* สื่อสารถึงข้อกำหนดทางด้านความปลอดภัย ที่พนักงานทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามตลอดเวลา และดูแลให้มั่นใจได้ว่าพนักงานได้ปฏิบัติตามวิธีการทำงานที่เหมาะสม
* จัดให้มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่จำเป็น รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงาน การติดเชื้อ และอุบัติเหตุ รวมถึงการจัดการกับเหตุฉุกเฉินในรูปแบบต่าง ๆ
* บันทึกและสอบสวนถึงอุบัติการณ์ และปัญหาต่าง ๆ ทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยทั้งหมด เพื่อลดหรือขจัดอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น
* กำหนดแนวทางเฉพาะ สำหรับความเสี่ยงจากความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสตรี (เช่น ในกลุ่มสตรีที่มีครรภ์ หรือพึ่งให้กำเนิดบุตร หรืออยู่ในระหว่างเลี้ยงลูกด้วยนมแม่) และในกลุ่มผู้ชาย หรือแรงงานที่อยู่ในสภาพเฉพาะ เช่น บุคคลที่ทุพพลภาพ แรงงานที่ขาดประสบการณ์ หรือแรงงานที่เป็นเยาวชน
* จัดให้มีการปกป้องดูแลทางด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกันของลูกจ้างชั่วคราว หรือที่ทำงานล่วงเวลา รวมถึงลูกจ้างที่เป็นรับจ้างช่วง
* มุ่งเน้นการลดอันตรายทางด้านจิตใจในสถานที่ปฏิบัติงาน ที่มีส่วนหรือทำให้เกิดความตึงเครียด และการเจ็บป่วยได้
* จัดให้มีการฝึกอบรมอย่างเพียงพอกับพนักงานทั้งหมดในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
* เคารพในหลักการที่ว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยไม่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการเงินกับพนักงาน และ
* ตระหนัก และเคารพต่อสิทธิต่าง ๆ ของแรงงาน เกี่ยวกับระบบสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมของแรงงาน โดยสามารถ
- ได้รับข้อมูลสารสนเทศอย่างสมบูรณ์ ทันเวลา และถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงแนวทางที่ดีที่สุดที่นำมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงนั้น ๆ
- ค้นหาข้อมูลได้อย่างอิสระ และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
- ปฏิเสธการทำงาน ที่เห็นว่าเป็นหรืออาจเป็นอันตรายที่ร้ายแรงต่อชีวิต หรือต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน หรือต่อชีวิตและสุขภาพของบุคคลอื่น
- หาคำแนะนำภายนอก จากองค์กรทางด้านลูกจ้าง และนายจ้าง และบุคคลอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ
- รายงานเหตุการณ์ด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยให้กับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม
- มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงการสอบสวนอุบัติการณ์และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และ
- เป็นอิสระจากการถูกลงโทษ ตำหนิ หรือแก้แค้น จากการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
3.5 การพัฒนาบุคลากร และการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน
การพัฒนาบุคลากร จะประกอบด้วย กระบวนการในการสร้างทางเลือกให้กับบุคลากร โดยการพัฒนาศักยภาพ และหน้าที่การทำงาน เพื่อให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดี มีความรู้ และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสม ทั้งนี้ การพัฒนาบุคลากร ยังรวมไปถึงการเข้าถึงโอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมีความเคารพในตัวเอง มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และการช่วยเหลือต่อสังคม
ในการดำเนินการด้านการพัฒนาบุคลากร และการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน องค์กรควรจะ
* จัดให้พนักงานในทุก ๆ ระดับประสบการณ์ ได้สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะ การฝึกอบรม และการฝึกฝีมือ รวมถึงโอกาสในความก้าวหน้าที่อาชีพการงาน อย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
* ดูแลให้มั่นใจว่า พนักงานที่มีถูกปลดออก ได้รับการดูแลให้ได้รับความช่วยเหลือในการจ้างงานใหม่ การฝึกอบรม และการได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
* จัดทำโปรแกรมร่วมระหว่างฝ่ายบริหารและลูกจ้าง ในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
(โปรดติดตามต่อไปในฉบับหน้าครับ)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด