อันตรายที่เกิดขึ้นในสถานที่อับอากาศ อาจส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งอุบัติเหตุหรือเหตุไม่คาดคิดที่มักจะเกิดขึ้น
ศิริพร วันฟั่น
อันตรายที่เกิดขึ้นในสถานที่อับอากาศ อาจส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งอุบัติเหตุหรือเหตุไม่คาดคิดที่มักจะเกิดขึ้น ก็เนื่องมาจากการไม่ตระหนักถึงความเป็นไปได้ของอันตรายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีอยู่ในทุก ๆ กรณีในที่อับอากาศ
โดยปกติแล้วการเข้าไปทำงานในที่อับอากาศนั้น มีจุดประสงค์หลายประการ ทั้งการสร้างที่อับอากาศขึ้นใหม่ การตรวจสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา ทำความสะอาดหรือทาสี รวมถึงปฏิบัติการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งมักจะทำกันเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อับอากาศเช่นกัน ก่อนที่จะไปคุยกันถึงรายละเอียด เราลองมาดูกันหน่อยว่า ที่อับอากาศ คืออะไร
ที่อับอากาศ (Confined Space) โดยทั่วไปจะหมายถึง ที่ซึ่งมีทางเข้า-ออก จำกัด และมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะและปลอดภัย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่อับอากาศจะมีช่องทางที่ผู้ปฏิบัติงานใช้สำหรับเข้า-ออก ซึ่งมีความกว้างพอที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าไปทำงานได้ เช่น ถัง ท่อ เตา หรือมีทางเข้า-ออกเพียงทางเดียว เช่น อุโมงค์
โดยที่อับอากาศนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสถานที่ทำงานตามปกติของผู้ปฏิบัติงานและไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน ๆ ซ้ำยังมีการระบายอากาศโดยวิธีการตามธรรมชาติแต่สภาพอากาศนั้นไม่ถูกสุขลักษณะ จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยจากที่อับอากาศนั้น ๆ ได้
ดังนั้น ที่อับอากาศ จึงไม่ได้จำกัดลักษณะอยู่แค่เฉพาะพื้นที่ที่เป็นอุโมงค์ โพรง ถ้ำ บ่อ หรือท่อเท่านั้น หากแต่บริเวณการทำงานใด ๆ ที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ หรือบรรยากาศที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานแม้ว่าจะมีลักษณะเปิดก็สามารถถือได้ว่าเป็นที่อับอากาศเช่นกัน ทีนี้เราลองมาดูกันบ้างว่าอันตรายในที่อับอากาศ มีลักษณะการเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ตัวอย่างเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในที่อับอากาศ
* ปี 2529
- เกิดอุบัติเหตุใต้ท้องเรือสินค้าเดินทะเลสัญชาติปานามา โดยคนงานลงไปล้างคอนเทนเนอร์บรรทุกน้ำมันละหุ่ง ไฟฟ้าขัดข้อง ส่งผลให้เครื่องปั๊มออกซิเจนไม่ทำงาน ทำให้คนงานถูกก๊าซพิษรม ตาย 5 ศพ
- ช่างรับเหมาก่อสร้างปั๊มน้ำมัน พบน้ำซึมเข้าไปในถังน้ำมันลึก 6 เมตร และลงไปซ่อมโดยไม่รอให้สูบน้ำมันออกไปให้หมดเสียก่อน ปรากฏว่าขาดอากาศหายใจเสียชีวิต 1 ศพ สาหัส 1 ราย
* ปี 2530
- บริษัท สหฟาร์ม เลี้ยงปลาไหลและไก่และได้นำมูลสัตว์มาทำก๊าซชีวภาพ โดยสร้างบ่อไว้ใต้ถุนตึก ก๊าซเกิดรั่วระเบิดตึกยุบทำให้คนงานบาดเจ็บจำนวน 23 ราย
- เกิดระเบิดที่โรงงานน้ำตาลไทยเอกรัตน์ อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์ เนื่องจากคนงานลงไปล้างหม้อเหล็กต้มน้ำอ้อย และต่อไฟขนาด 500 แรงเทียนลงไปด้วย ขณะล้างด้ามไม้กวาดไปกระทบหลอดไฟแตกทำให้เกิดประกายไฟไปถูกก๊าซที่ระเหยออกมาจากถัง คลอกคนงานรวม 30 คน โดยในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย นอกนั้นอาการสาหัส
* ปี 2532
- เกิดอุบัติเหตุคนเสียชีวิตในถังถ่ายน้ำมันเครื่อง โรงงานทำไอศครีมของบริษัทเจดีย์ดีทอง จำกัด อ. สามพราน จ. นครปฐม
* ปี 2533
- คนงานลงไปต่อลวดสลิงเครื่องตักดินที่ก้นหลุมลึก 15 เมตร ไม่มีอากาศหายใจเลยหมดสติ ไม่สามารถขึ้นมาได้ส่งผลให้เสียชีวิต
* ปี 2534
- คนงานเชื่อมฝาครอบถังน้ำมันเบนซินรถพ่วงที่ยังมีน้ำมันเบนซินเหลือที่ก้นถัง เลยเกิดระเบิดทำให้เสียชีวิต
* ปี 2535
- คนงานลงไปซ่อมปั๊มน้ำเสียใต้ถุนตึกสีลมคอมเพล็กซ์ ไม่มีอากาศหายใจ ยังผลให้คนงานเสียชีวิต 3 ราย
* ปี 2536
- คนงานลงไปทำความสะอาดบ่อน้ำเสียโรงงานกระดาษ จ. ฉะเชิงเทรา สูดก๊าซพิษ ไม่มีอากาศหายใจทำให้เสียชีวิต 3 ราย
* ปี 2537
- คนงานลงไปซ่อมเครื่อง เปิดก๊าซทิ้งไว้ขณะที่จุดเครื่องเชื่อมเลยเกิดระเบิด ส่งผลให้เสียชีวิต 1 ศพ และสาหัส 2 ราย
* ปี 2547
- ลูกจ้างได้รับก๊าซพิษจากถังเก็บปลาทำให้ตกลงไปในถัง เพื่อนร่วมงาน 3 คนเข้าไปช่วยเหลือ ปรากฏว่าเสียชีวิตทั้งหมด
- เกิดเหตุมีผู้ประสบเหตุจากสารพิษที่บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) อ.เมือง จ.อ่างทอง สาเหตุมาจากคนงานได้เข้าไปทำหน้าที่ตักกากตะกอนในบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยใช้รถแบ๊กโฮตักใส่รถสิบล้อ 5 คัน คนงานฉีดน้ำบนกากตะกอน ทำให้สูดดมก๊าซพิษเป็นเหตุให้เสียชีวิต 2 ศพ สาหัส 1 ราย
- เกิดเหตุคนงานของบริษัท ไฟเบอร์เทค จำกัด ลงไปซ่อมปั๊มน้ำในระบบบำบัดน้ำเสียของห้างคาร์ฟู สาขาบางบอน ทำให้เสียชีวิต 3 ศพ ซึ่งเป็นลูกจ้าง 2 คน และพลเมืองดี 1 คน
* ปี 2548
- เกิดเหตุคนงานผู้รับเหมาทำการซ่อมหม้อไอน้ำของบริษัท ไทยคาร์บอนแบล็ค จำกัด ซึ่งผลิตคาร์บอนแบล็ค จ. อ่างทอง โดยหม้อไอน้ำที่ซ่อมนั้นเป็นที่แคบและมีอุณหภูมิสูง จึงอาจมีก๊าซตกค้างอยู่ทำให้มีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้คนงานขาดอากาศหายใจ บาดเจ็บจำนวน 4 ราย
* ปี 2549
- 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุที่โกดังข้าวโพดอัดแห้ง แสงรัตน์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยคนงาน 2 คนมุดลงไปในช่องสายพานที่ใช้สำหรับตักข้าวโพด ขนาด 1.5 x 3 เมตร ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินเพื่อที่จะอัดจาระบีลูกปืนสายพาน ปรากฏว่าคนงานสูดก๊าซข้าวโพดเข้าไปจนขาดอากาศหายใจและหมดสติ
ในขณะเดียวกันมีเพื่อนคนงานอีก 2 คนเห็นเหตุการณ์ได้ลงไปช่วยแต่ก็หมดสติไปเช่นกัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการที่จะลงไปนำร่างที่ไร้สติของคนงานทั้ง 4 คนขึ้นมา แต่เป็นที่น่าเสียใจคนงานทั้ง 4 รายเสียชีวิตทั้งหมด มีการรายงานว่าโดยปกติแล้วก่อนที่คนงานจะลงไป 1 วันจะต้องเปิดช่องให้ก๊าซข้าวโพดที่อัดแน่นอยู่กระจายออกเสียก่อนแต่คราวนี้ประมาทพอเปิดฝาก็ลงไปทันที
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตรายในที่อับอากาศสูงกว่าที่เราคาด และใกล้ตัวกว่าที่เราคิด หลายเหตุการณ์เกิดจากการไม่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น หรือการมองข้ามความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อสังเกตจะพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ช่วยเหลือและถ้าเราพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าหลายเหตุการณ์สามารถที่จะดำเนินการป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
ถ้านายจ้างมีความใส่ใจ ตระหนัก และให้ความสำคัญเรื่องมาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานในที่อับอากาศ และถือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องกระทำถ้ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ได้กำหนดมาตรฐานการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ 27 เม .ย. 47 จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แนวทางในการบริหารจัดการความปลอดภัย
1. การระบุพื้นที่อับอากาศ (Initial Identification) ต้องมีการระบุพื้นที่อับอากาศหรือพื้นที่ที่ต้องมีการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน มีการสำรวจลักษณะโดยทั่วไป รวมถึงโครงสร้างและขนาดของพื้นที่ เปรียบเทียบกับแผนผังว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อความสะดวกและความถูกต้องในการวางแผนงาน และยังต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยหรือข้อจำกัดต่าง ๆ บนพื้นฐานของลักษณะความเป็นจริงของพื้นที่ เช่น แสงสว่าง ความกว้าง-แคบ ฯลฯ รวมถึงมีการวิเคราะห์ลักษณะงานที่ทำ (Job Analysis) วัตถุประสงค์และความจำเป็นที่ต้องเข้าไปในที่อับอากาศ และจำนวนผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีความเสี่ยงหรือความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร
2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องเผชิญกับอันตรายหรือประสบเหตุในขณะปฏิบัติงาน โดยความเสี่ยงที่มักจะพบมีลักษณะดังนี้คือ
2.1 สภาวะบรรยากาศอันตราย (Hazardous Atmospheres) เนื่องจากการระบายอากาศมีลักษณะจำกัด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้เนื่องจาก
a) สภาวะขาดออกซิเจน (Oxygen-Deficient Atmospheres) โดยปกติแล้วในบรรยากาศทั่วไปจะประกอบไปด้วยออกซิเจนประมาณ 20.9% ไนโตรเจนประมาณ 78.1% และ 1% เป็นอาร์กอนและก๊าซอื่น ๆ ในกรณีที่ออกซิเจนมีปริมาณลดลงอาจมาจาก
- ปริมาณการใช้ออกซิเจนสูงเนื่องจากมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานมากหรือมีปริมาณของกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากในขณะที่ปริมาณออกซิเจนมีจำกัด
- ปฏิกิริยาของแบคทีเรียจากกระบวนการหมัก (Fermentation Process)
- ปฏิกิริยาการก่อตัวของสนิมบนพื้นผิวที่อับอากาศ (Iron Oxide)
- กิจกรรมการทำงาน เช่น การเชื่อม การตัด การบัดกรี งานที่เกี่ยวกับความร้อน ฯลฯ
- ออกซิเจนถูกแทนที่ด้วยก๊าซอื่น ๆ เช่น Helium, Argon, Carbon Dioxide และ Nitrogen เป็นต้น
โดยทั่วไปสภาวะขาดออกซิเจนจะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่า 19.5 % โดยปริมาตร ซึ่งไม่ควรจะเข้าไปโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจชนิด Self Contained Breathing Apparatus (SCBA) อันตรายที่เกิดขึ้นจากปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าปกติมีดังนี้
b) สภาวะบรรยากาศไวไฟหรือจุดติดไฟง่าย (Flammable Atmospheres) มี 2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ
* ปริมาณออกซิเจนในอากาศ ถ้ามีปริมาณมากเกิน (Oxygen-enriched Atmosphere) 21% โดยปริมาตร จะสามารถทำให้วัสดุที่จุดติดไฟได้ เช่น เสื้อผ้าและผม ลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อติดไฟ ดังนั้นไม่ควรใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ในการระบายอากาศในที่อับอากาศโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Hot Work) (กฎกระทรวงกำหนดโอกาสเสี่ยง คือ ปริมาณออกซิเจนมากกว่า 23.5% โดยปริมาตร)
* มีก๊าซ ไอ ละออง หรือฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้อยู่ในอัตราส่วนที่สามารถติดไฟขึ้นได้ ซึ่งก๊าซต่างชนิดกันก็จะมีช่วงของการลุกติดไฟต่างกันออกไป และถ้ามีแหล่งจุดติดไฟ (Ignition Source) อยู่ใกล้ ๆ เช่น ประกายไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องมือที่ใช้งาน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดบรรยากาศติดไฟง่ายและเกิดการระเบิดตามมาได้ โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่กำหนดถึงโอกาสเสี่ยง ก็คือค่าความเข้มข้นของก๊าซ ไอ ละออง ที่ติดไฟหรือระเบิดได้ มากกว่า 10% ของค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารเคมีแต่ละชนิดที่สามารถติดไฟได้หรือระเบิดได้ [Lower Flammable Limit (LFL)/Lower Explosive Limit (LEL)] และมีฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้
นอกจากนี้แล้วบรรยากาศลุกติดไฟได้ง่าย อาจมาจากหลายแหล่ง เช่น
- การตกค้างของก๊าซไวไฟอยู่ในที่อับอากาศเนื่องจากมีการระบายอากาศที่ไม่ดีหรือไม่เพียงพอ อาทิเช่น Acetylene, Butane, Propane, Hydrogen, Methane ,Natural or manufactured gases or vapor from liquid hydrocarbon และมีก๊าซหลายชนิดที่หนักกว่าอากาศจึงมักสะสมอยู่บริเวณระดับล่างของบ่อ/ถัง
- ผลผลิตจากกระบวนการทำงาน (Byproducts) เช่น การพ่นสีเปรย์หรือการเชื่อม ซึ่งจะปลดปล่อยก๊าซหรือไอที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้
- ปฏิกิริยาเคมีที่ก่อให้เกิดบรรยากาศไวไฟได้ เช่น กรดซัลฟูริกเจือจางทำปฏิกิริยากับเหล็ก (Iron) ก่อให้เกิดไฮโดรเจน หรือแคลเซียมคาร์ไบด์ทำปฏิกิริยากับน้ำก่อให้เกิดอะเซทีลีน หรือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองจากสารประกอบที่ไม่เสถียร เช่น Acetylene-metal Compound, Peroxides และ Nitrates เป็นต้น ซึ่งสารประกอบนี้เมื่ออยู่ในสถานะแห้งจะมีโอกาสเกิดการระเบิดได้หากเกิดการสั่นสะเทือนหรือสัมผัสกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
- การตกตะกอนของ Pyrophoric Substances เช่น Carbon, Ferrous Oxide, Ferrous Sulfate, Iron เป็นต้น ซึ่งมักจะพบในถังที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเลียม โดยตะกอนของสารเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการลุกติดไฟได้ด้วยตัวเองเมื่อสัมผัสกับอากาศ
- ฝุ่นที่มาจากการขนถ่าย หรือขนส่งเมล็ดพันธ์พืช ปุ๋ยไนเตรต ผลิตภัณฑ์เคมีละเอียด และจากวัตถุเผาไหม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งถ้าฝุ่นเหล่านี้มีปริมาณความเข้มข้นสูงประกอบกับมีความชื้นต่ำ (ต่ำกว่า 50% ) ก็จะสามารถสะสมไฟฟ้าสถิตและปล่อยพลังงานในปริมาณเพียงพอที่จะทำให้เกิดการสปาร์กและลุกติดไฟได้ในบรรยากาศไวไฟ และยังทำให้เกิดการระเบิดได้ถ้ามีส่วนผสมที่พอเหมาะกับอากาศหรือออกซิเจน
- การแทรกซึมของสารเคมีเข้าไปในพื้นผิวด้านในของที่อับอากาศและปลดปล่อยก๊าซไวไฟออกมา เช่น หลังจากการกำจัด Liquid Propane ในถังเก็บ อาจมีก๊าซหลงเหลืออยู่ตามรูพรุนของพื้นผิวได้
c) สภาวะบรรยากาศเป็นพิษ (Toxic Atmospheres) โดยมากแล้วสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของของเหลว ไอ ก๊าซ ฟูม ของแข็ง และฝุ่น มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นอันตรายในที่อับอากาศ โดยสารที่เป็นพิษอาจมาจาก
* ตกค้างอยู่ในที่อับอากาศ โดยสามารถแทรกซึมหรือถูกดูดซับตามผนัง และปล่อยก๊าซพิษออกมาในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานทำการกำจัดหรือทำความสะอาดสิ่งตกค้าง (Residue) ในแหล่งเก็บสารนั้น ๆ เช่น การกำจัด Sludge ในถังเก็บ ก็อาจมีการสลายตัวของสารอินทรีย์ซึ่งจะปล่อยก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกมาได้ เป็นต้น
* ผลของกิจกรรมในงานที่ทำในที่อับอากาศ เช่น การเชื่อม การตัด การบัดกรี การทาสี การขัด ฯลฯ ซึ่งสามารถที่จะเกิดบรรยากาศเป็นพิษได้ในหลาย ๆ กระบวนการ เช่น การเชื่อม (Welding) นั้น ออกไซด์ของไนโตรเจนและโอโซนถือเป็นตัวการหลักที่เป็นพิษ และเมื่อการออกซิเดชั่นไม่สมบูรณ์ก็จะเกิดผลพลอยได้ขึ้นมาคือคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือในกระบวนการทำความสะอาดนั้น ไอของตัวทำละลายหลายตัวที่ใช้เป็นสารทำความสะอาดหลายตัวก็เป็นพิษได้ในที่อับอากาศ เช่น Trichloroethylene, Methyl Chloroform และ Dichloromethane เป็นต้น
* มาจากกระบวนการผลิต เช่น การผลิต Polyvinyl Chloride, Hydrogen Chloride รวมถึง Polyvinyl Chloride Monomer ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
* มาจากพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อับอากาศ โดยก๊าซพิษอาจมาจากพื้นที่ทำงานที่อยู่ใกล้เคียงกับที่อับอากาศแล้วเข้าไปสะสมอยู่ในที่อับอากาศ
d) สภาวะบรรยากาศระคายเคือง/กัดกร่อน (Irritant/Corrosive Atmospheres) สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
* การระคายเคืองขั้นที่ 1 (The Primary Irritants) เป็นการระคายเคืองที่ยังไม่มีผลกระทบที่เป็นพิษต่อระบบร่างกาย เนื่องจากการจับตัวของสารบนเนื้อเยื่อของช่องทางเดินหายใจ (Respiratory Tract) ยังไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือผลกระทบจากการระคายเคืองยังสังเกตเห็นไม่เด่นชัดมากนัก เช่น Chlorine, Ozone, Hydrochloric Acid, Hydrofluoric Acid, Sulfuric Acid, Nitrogen Dioxide, Ammonia และ Sulfur Dioxide
* การระคายเคืองขั้นที่ 2 (The Secondary Irritants) เป็นการระคายเคืองที่เป็นพิษต่อระบบร่างกายและเนื้อเยื่อ เช่น Benzene, Carbon Tetrachloride, Ethyl Chloride, Trichloroethane, Trichloroethylene และ Chloropropane
ซึ่งก๊าซที่ระคายเคืองหรือกัดกร่อนมักถูกใช้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตพลาสติก เคมี
ภัณฑ์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ฟอกหนัง อุตสาหกรรมทำความเย็น สี และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น ในการสัมผัสกับกับก๊าซที่ระคายเคืองหรือกัดกร่อนเป็นระยะเวลานาน ๆ ในที่อับอากาศนั้น ยังอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทและระบบหายใจได้ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสอาจจะไม่รู้ตัว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอันตรายจากสารเคมีที่มีต่อร่างกายนั้น มีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและชนิดของสารเคมีที่ร่างกายได้รับ
2.2 สภาวะเสี่ยงต่ออันตรายทั่วไปหรืออันตรายทางกายภาพ (General/Physical Hazards)
* อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก (Temperature Extremes) ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทำงานหรือสภาพอากาศ หรือการระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งชุดที่สวมใส่ โดยความร้อนและความเย็นที่เพิ่มสูงมากสามารถทำให้เกิดปัญหาต่อผู้ปฏิบัติงานได้ เช่น ในพื้นที่ที่มีไอน้ำ อาจทำให้เกิดการลวกไหม้จากไอน้ำที่ร้อนได้ เป็นต้น
ซึ่งในที่อับอากาศนั้น ความชื้นและรังสีความร้อนเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก และเมื่อความร้อนในร่างกายสูงเกิน 38.3-39.4 ๐C ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายจะลดลงและเสี่ยงต่อการเป็นตะคริว หอบ และลมแพ้ร้อน (Heat Stroke) ได้ ส่วนเมื่อความเย็นมากขึ้นกลไกของร่างกายก็จะพยายามลดการสูญเสียความร้อน และเพิ่มความร้อนให้กับร่างกาย แต่เมื่ออากาศเย็นมาก ๆ กลไกก็จะถูกจำกัดทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานลดลง นอกจากนี้ความเย็นมาก ๆ ยังสามารถที่จะกัดเนื้อเยื่อของผิวหนัง (Frost Bite) ได้อีกด้วย
* อันตรายจากการท่วมทับ (Engulfment Hazards) วัสดุที่อยู่แบบหลวม ๆ เช่น เมล็ดพืชเม็ดเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ในไซโล หรือ ทราย ถ่านในถังเก็บนั้น สามารถที่จะทำให้เกิดการท่วมทับและทำให้ผู้ปฏิบัติงานหายใจไม่ออกได้
* เสียง (Noise) โดยปกติเสียงในที่อับอากาศจะดังจะเพิ่มขึ้นจากปกติซึ่งเป็นผลจากรูปแบบและคุณสมบัติของการได้ยินในที่อับอากาศ ซึ่งเสียงที่ดังเกินไป ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อระบบการได้ยิน หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อการสื่อสารด้วย เช่น ทำให้ไม่ได้ยินเสียงคู่สนทนาหรือการตะโกนเตือนภัยจากเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
* ลักษณะพื้นผิวที่เป็นมัน ลื่น หรือเปียก (Slick/Wet Surfaces) การลื่นและการล้มสามารถเกิดขึ้นได้เสมอถ้าพื้นผิวเปียก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อตในพื้นที่ที่มีวงจร อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้งานอยู่
* วัตถุร่วงหล่นใส่ (Falling Objects) ผู้ปฏิบัติงานควรที่จะคำนึงถึงโอกาสที่จะมีวัตถุร่วงหล่นใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีทางเข้าหรือช่องออกด้านบน หรือในสถานที่ซึ่งมีการทำงานบางอย่างอยู่เหนือหัวผู้ปฏิบัติงาน
* อันตรายจากไฟฟ้าและเครื่องจักรกล (Electrical/Mechanical Hazards) เนื่องจากที่อับอากาศอาจมีข้อจำกัดด้านเนื้อที่สำหรับการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวของผู้ปฏิบัติงาน จึงมีความเสี่ยงที่อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจะไปกระทบกับชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องจักรโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงของโลก ขดสปริง หรือแรงขับอื่น ๆ ที่ทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องจักรเคลื่อนไหวได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บได้ นอกจากนี้อาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ซึ่งเป็นผลมาจากผนังอาคารของที่อับอากาศเป็นสื่อนำ หรือการสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด เป็นต้น
* อันตรายจากความไม่สะดวกในการเคลื่อนที่ (Insufficient Maneuver Hazards) เนื่องจากเนื้อที่จำกัดในการปฏิบัติงาน จึงอาจส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หรืออาจมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปกระทบกับส่วนต่าง ๆ ของที่อับอากาศได้ เช่น เพดานห้องที่ต่ำ หรือขอบมุมแหลมคม เป็นต้น
* อันตรายจากการสั่นสะเทือน (Vibration) ขึ้นอยู่กับลักษณะของการสั่นสะเทือน โดยอาจเป็นทั่วร่างกายหรืออวัยวะบางส่วน เช่น เกิดการบาดเจ็บที่นิ้วหรือมือจากเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีความสั่นสะเทือน (เช่น Pneumatic Hammers หรือ Rotary Grinders) เป็นต้น
* อันตรายจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผงฝุ่นเข้าตา การตกจากบันไดขึ้น-ลง แสงสว่างไม่พอ ขาดทักษะ ความรู้ ความเข้าใจและความชำนาญในการปฏิบัติงาน การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎ สุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงานไม่พร้อมที่จะทำงาน การขาดการฝึกอบรมที่เพียงพอ การติดต่อสื่อสารขัดข้อง การประมาท เลินเล่อ ความไม่พร้อมของผู้ช่วยเหลือ ฯลฯ
ซึ่งพื้นที่อับอากาศแต่ละแห่งอาจมีลักษณะความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายแตกต่างกันออกไป บางแห่งอาจมีความเสี่ยงน้อย ในขณะที่บางแห่งมีลักษณะความเสี่ยงหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาแจกแจงความเสี่ยงออกมาให้ครบถ้วน ทั้งในส่วนของอันตรายที่ทราบแน่นอนและส่วนของอันตรายที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงอันตรายที่มีลักษณะเฉพาะแห่งด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้นำข้อมูลขั้นต้นมาวิเคราะห์ แล้วนำไปสู่การวางแผนงานในการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อที่จะกำจัด ลด ควบคุม และป้องกันอันตรายนั้น ๆ เพื่อให้มีความรุนแรงและความเสี่ยงน้อยลง หรืออยู่ในระดับที่รับได้
3. พิจารณาใช้มาตรการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยงให้คลอบคลุมและเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความเสี่ยงและลักษณะอันตรายต่าง ๆ ที่ได้แจกแจงมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติควรที่จะมีการทดสอบ ประเมินผลถึงประสิทธิภาพ และทบทวนแก้ไขข้อบกพร่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยตลอดจนย้ำเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจให้คุ้นเคยกับมาตรการที่นำมาใช้
3.1 การตรวจสอบสภาพบรรยากาศ (Testing the Atmosphere) ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง นั่นคือต้องมีการตรวจสอบสภาพบรรยากาศในที่อับอากาศ ทั้งก่อนเข้าและระหว่างทำงานอยู่เป็นระยะ ๆ โดยสิ่งที่ตรวจสอบ คือ ปริมาณออกซิเจน บรรยากาศไวไฟหรือสภาวะการจุดติดไฟง่าย และการปนเปื้อนต่าง ๆ ซึ่งในการตรวจสอบนั้น จะกระทำโดยผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอในเรื่องขั้นตอนหรือกระบวนการในการใช้เครื่องตรวจวัดที่เหมาะสม ตลอดจนมีความชำนาญในการวิเคราะห์ผลที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
การเลือกใช้เครื่องตรวจวัดนั้น ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น Combustible Gas Indicators ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วัดความเข้มข้นของก๊าซไวไฟหรือติดไฟง่าย (Flammable Gases) จึงไม่เหมาะที่จะใช้วัดหรือระบุถึงระดับความเป็นพิษของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปรากฏ เช่นเดียวกัน Carbon Monoxide Detector ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เท่านั้น
ส่วนในบ่อน้ำเสีย ถังดอง ถังหมักซึ่งจะเกิดก๊าซไข่เน่าก็ควรมีเครื่องตรวจวัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟล์ จึงควรมีพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งาน ซึ่ง Combustible Gas Indicators นั้นจะมีการตอบสนองที่แตกต่างจาก Flammable Hydrocarbons จึงควรตรวจวัดสำหรับการปนเปื้อนที่เฉพาะออกไป (ถ้าทราบ) โดยทั่วไปปริมาณของสารไวไฟจะมีหน่วยวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ LEL (Lower Explosive Limit) และหน่วยวัดปริมาณสารพิษจะเป็น PPM.(Part Per Million)
ในการตรวจสอบนั้นควรที่จะคลอบคลุมพื้นที่อับอากาศ และถ้าเป็นพื้นที่ที่ลึกในแนวดิ่งควรใช้เครื่องตรวจวัด (Remote Probes) วัดค่าในระดับที่ต่างกัน (ข้างบน กลาง ล่าง) เพราะก๊าซหรือไอแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหนัก เบาเทียบกับอากาศแตกต่างกันออกไป เช่น ก๊าซมีเธนจะเบากว่าอากาศก็จะตรวจพบที่ด้านบน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์หนักเท่ากับอากาศก็จะพบบริเวณกลาง ๆ ทั่วไป ในขณะที่ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่หนักกว่าอากาศก็จะสะสมอยู่บริเวณด้านล่าง เป็นต้น และที่สำคัญก่อนมีการตรวจวัดควรมีการทดสอบเครื่องตรวจวัด
ตลอดจนตรวจทานมาตราวัด (Calibration) เพื่อที่จะวัดถึงความเที่ยงตรงของเครื่องตรวจวัด (Respond Check) ตามระยะเวลาอันสมควรที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องตรวจวัดที่ใช้มีความเที่ยงตรงจริง ๆ ก่อนที่จะนำไปใช้งาน ไม่ใช่ทดสอบแค่ว่าเครื่องทำงานหรือไม่ทำงาน และพึงระลึกเสมอว่าอย่าพยายามแก้ไขดัดแปลงชิ้นส่วนใด ๆ ของเครื่องตรวจวัดที่ป้องกันการระเบิด (Explosion Proof) โดยพละการ เพราะจะทำให้หมดคุณสมบัตินี้ไปเลย
ในการเลือกซื้อเครื่องมือตรวจวัดควรพิจารณาถึงมาตรฐาน วัตถุประสงค์ในการใช้งานและฟังก์ชันในการทำงานของเครื่องมือให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพบรรยากาศในที่อับอากาศที่ปฏิบัติงานอยู่รวมทั้งควรคำนึงถึงการบริการหลังการขายด้วย
ในหลายครั้งเราพบว่า ค่าที่ได้จากผลการตรวจวัดไม่อยู่ในช่วงที่ปลอดภัย ก็จะมีวิธีการต่าง ๆ ในการทำให้สภาพบรรยากาศนั้นมีความเป็นอันตรายลดลง จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย และต้องมีการจดบันทึกผลที่ได้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงเก็บข้อมูลบันทึกนี้ไว้ทุกครั้งเพื่อใช้ในการพิจารณา ตรวจสอบ สอบสวนและทบทวนพัฒนาแผนงานต่อไป
ข้อควรพึงระวัง อย่าเชื่อหรือใช้ความรู้สึก (Sense) ของตัวเองในการตรวจวัดความปลอดภัยเพราะอากาศในที่อับอากาศนั้น อาจมีก๊าซพิษหรือไอที่ไม่สามารถมองเห็นหรือได้กลิ่น รวมถึงระดับออกซิเจนด้วย
- ถ้ามีช่วงพักที่มีการหยุดทำงานและรับประทานอาหาร ก่อนที่จะกลับเข้าไปทำงานอีกครั้งควรมีการตรวจสอบสภาพบรรยากาศอีกครั้งหนึ่งก่อนเข้าไปทำงานเพื่อความมั่นใจ
- การตรวจวัดความไวไฟหรือติดไฟง่าย (Flammability Measurement) อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ถ้าระดับหรือปริมาณออกซิเจนน้อยหรือมากกว่าความเข้มข้นของบรรยากาศปกติ (Normal Atmosphere Concentrations) ดังนั้นระดับหรือปริมาณออกซิเจนควรที่จะถูกพิจารณากำหนดก่อนเพื่อที่จะได้แก้ไขความถูกต้องในการวัดค่าความไวไฟหรือติดไฟง่าย ต่อไป
โดยทั่วไปแล้วสภาวะบรรยากาศที่ถือว่าอยู่ใน ช่วงที่ยอมรับได้ คือ
- ปริมาณออกซิเจนอยู่ในช่วง 19.5-23.5% โดยปริมาตร
- ค่าความเข้มข้นของก๊าซ ไอ ละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ง่ายน้อยกว่า 10 % ของค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ [Lower Flammable Limit (LFL)/Lower Explosive Limit (LEL)]
- มีฝุ่นที่ติดไฟ หรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นน้อยกว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารเคมีชนิดนั้น ๆ ในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้
- ปริมาณฝุ่นที่สามารถเผาไหม้ได้ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศต้องไม่บดบังทัศนวิสัยการมองเห็นในระยะ 1.5 เมตรหรือน้อยกว่านั้น
- ค่าความเข้มข้นหรือความเป็นพิษของสารต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนในที่อับอากาศ ต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่ระบุหรือกำหนดไว้ สำหรับความปลอดภัยของสารชนิดนั้น ๆ ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS)
- สภาวะบรรยากาศอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ได้มีมาตรการในการกำจัด ลด ควบคุม ป้องกันอันตรายเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเพียงพอต่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
3.2 การระบายอากาศ (Ventilation) จัดว่าเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน มีจุดประสงค์ที่จะเคลื่อนย้าย ขจัดหรือลดสภาวะการปนเปื้อนที่มีอยู่ ซึ่งการระบายอากาศนั้นอาจจะใช้เครื่องเป่าลม (Blower) หรือพัดลม (Fan) ในการจัดการกับก๊าซ ไอ ฝุ่น ที่เป็นอันตรายให้ออกไปจากพื้นที่ปฏิบัติงาน การระบายอากาศนั้นมีอยู่หลายวิธี
แต่ควรที่จะพิจารณาเลือกใช้วิธีและอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง ขนาดของพื้นที่ ลักษณะของการปนเปื้อนที่ปรากฏ (เช่น ก๊าซไวไฟ) แหล่งจ่ายอากาศ ประเภทของงานที่ทำในที่อับอากาศ และจำนวนผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงมีการป้องกันการไหลย้อนกลับของการปนเปื้อนหรือการเกิดอันตรายซ้ำเดิม ซึ่งวิธีการระบายอากาศโดยทั่วไปนั้นจะใช้ท่อระบายอากาศขนาดใหญ่ (Ventilating Hose) ที่มีปลายด้านหนึ่งติดเข้ากับพัดลมและปลายอีกด้านหนึ่งเข้าไปในที่อับอากาศ ตัวอย่างเช่น ช่องคนลอด (Manhole) จะมีท่อระบายอากาศวางทอดเข้าไปสู่ด้านล่างเพื่อที่จะเป่าเอาก๊าซและไอที่อันตรายออกไป (ดูตามรูป)
โดยอากาศที่นำเข้าไปในที่อับอากาศต้องมาจากแหล่งจ่ายอากาศที่บริสุทธ์เท่านั้น นอกจากนี้ก็อาจจะใช้การระบายอากาศโดยการดูดเอาอากาศเสียหรือไอเสียจากการเผาไหม้ออกไปจากในที่อับอากาศ (Local Exhaust Ventilation) แต่ไม่ว่าจะใช้การระบายอากาศแบบใดก็ตาม ควรที่จะทำจนกระทั่งบรรยากาศอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้หรือมีความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งมักจะกระทำก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเริ่มทำงานและอาจต้องกระทำต่อเนื่องในขณะที่ปฏิบัติงานอยู่ เพราะว่ามีหลายครั้งที่บรรยากาศอันตรายจะก่อตัวอีกครั้ง และมีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนขึ้นได้อีกเมื่อการไหลเวียนอากาศหยุดลง
ข้อควรพิจารณา ควรที่จะมีอุปกรณ์แจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานอยู่ให้ทราบได้ทันที เมื่อระบบระบายอากาศเกิดการขัดข้องหรือหยุดทำงานอย่างกะทันหัน
3.3 การไล่อากาศและการทำความสะอาด (Purging & Cleaning) เป็นการใช้วิธีแทนที่หรือไล่อากาศภายในที่อับอากาศด้วยของไหล (Fluid) หรือไอ เช่น ก๊าซเฉื่อย (Inert Gas) น้ำ ไอน้ำ หรือชำระล้างด้วยสารละลายทำความสะอาด (Cleaning Solution) ซึ่งการที่จะเลือกใช้วิธีใดนั้น ควรคำนึงถึงวัสดุภายในพื้นที่อับอากาศ และอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการไล่อากาศหรือทำความสะอาด เป็นต้นว่า เกิดไฟฟ้าสถิตจากการใช้เครื่องฉีดน้ำดับเพลิง อุณหภูมิของไอน้ำสูงเกินกว่าอุณหภูมิที่สามารถติดไฟได้ของสิ่งของที่ถูกเก็บไว้ หรือสารละลายทำความสะอาดอาจก่อให้เกิดก๊าซที่ติดไฟได้หรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้ใส่ชุดป้องกัน เมื่อทำการไล่อากาศหรือทำความสะอาดแล้วอาจมีความจำเป็นที่ต้องมีการระบายอากาศและตรวจวัดค่าอีกครั้งหนึ่ง
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในฉบับหน้า)
เอกสารอ้างอิง
* A Guide to Safety in Confined Spaces, U.S.Department of Labor Occupation Safety & Health Administration (OSHA)
* กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด