บทความนี้ เป็นการศึกษาความต้องการเบื้องต้น เพื่อพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสม สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดปราจีนบุรี
การศึกษาเบื้องต้น เพื่อพัฒนาระบบ ERP
ที่เหมาะสม สำหรับ SMEs ในจังหวัดปราจีนบุรี
กาญจนา กาญจนสุนทร
สาขาวิชาวิศวกรรมลอจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
kanchanasuntorn_k@yahoo.com
จากเนื้อหาบทความนี้ เป็นการศึกษาความต้องการเบื้องต้น เพื่อพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสม สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงความต้องการ และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการเบื้องต้นในการพัฒนาและจัดทำระบบ ERP สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม อันจะนำไปเป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสมในแต่ละกิจการต่อไป ผู้เขียนได้ใช้เครื่องมือสำรวจคือ แบบสอบถาม โดยใช้วิธีการส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 155 โรงงาน
ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่มีความต้องการใช้งานระบบ ERP คือ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการแนะนำให้ความรู้ และดูแลรักษาระบบ ERP ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำระบบ เนื่องจากซอฟต์แวร์ของระบบ ERP ที่มีการใช้งานอยู่ทั่วไป มีฟังก์ชันการทำงานมาก และซับซ้อนเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนของการจัดทำระบบค่อนข้างสูงและใช้งานยาก
ในส่วนของโมดูล ที่มีการนำเอามาใช้งานภายในองค์กร พบว่า โมดูล ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง มีการนำไปใช้งานในทุกองค์กร ระบบงานจัดซื้อ และระบบการผลิตและการวางแผนการผลิต มีการนำเอาไปใช้งานคิดเป็นร้อยละ 91.7 และ 83.3 ขององค์กรที่มีการใช้งานระบบ ERP อยู่ ตามลำดับ
กล่าวโดยสรุปคือ โมดูล หรือระบบงานหลักที่เกือบทุกองค์กรจากกลุ่มตัวอย่าง ต้องมีการนำไปใช้งานคือ ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ระบบการจัดซื้อ ระบบการวางแผนการผลิต และระบบงานขาย/งานวิเคราะห์งานขาย ระบบงานบัญชีการเงิน สำหรับ โมดูลอื่น ๆ มีการเลือกใช้งานตามความจำเป็นหรือความต้องการของแต่ละองค์กร แต่ไม่มีความสำคัญเท่ากับโมดูลหลักที่กล่าวมา
บทนำ
จังหวัดปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมการผลิตทั้งที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อยู่เป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งในประเทศไทยเช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมไม้แปรรูป อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น จากสภาวะปัจจุบันที่ในแต่ละองค์กรมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจกับการเพิ่มศักยภาพขององค์กร รวมไปถึงโซ่อุปทานมากขึ้น ทำให้มีการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการองค์กรเพิ่มขึ้น ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศจึงได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก
ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resources Planning: ERP) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรด้านต่าง ๆ ภายในองค์กร ซึ่งกำลังได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ระบบ ERP มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็ว การนำเสนอข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของธุรกิจอุตสาหกรรม การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจ ตลอดจนการลดต้นทุนทางการผลิต โดยในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้มีการนำระบบ ERP มาใช้กันอย่างแพร่หลาย
แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม ระบบ ERP ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจในระบบ ERP ผู้บริหารขาดแนวทางในการพัฒนาองค์กรไปสู่ระบบ ERP และระบบ ERP ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นระบบใหญ่ที่ซับซ้อนเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
จากปัญหาที่พบข้างต้น ผู้เขียนได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบ ERP ที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิต ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยงานศึกษานี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาความต้องการเบื้องต้นของระบบ ERP สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษา จะสามารถนำมาสรุปและวิเคราะห์ถึงระบบ ERP ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป
วิธีการวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Studies) โดยใช้แบบสอบถาม การสังเกตการณ์ในสถานประกอบการ รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ดูแลระบบที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบ ERP เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น
ผู้วิจัยได้ทำการออกแบบสอบถาม และส่งไปยังกลุ่มตัวอย่าง เพื่อนำข้อมูลจากแบบสอบถามมาวิเคราะห์โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรสำหรับการวิจัยนี้ ได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการผลิต ที่ตั้งอยู่ในเขต 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีจำนวน 155 โรงงาน ผู้วิจัยได้ออกแบบสอบถาม และส่งไปทั้งสิ้นจำนวน 155 โรงงาน เป็นวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling)
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
วิจัยได้ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ โดยแบ่งโครงสร้างของแบบสอบถามออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้คือ
ส่วนที่ 1 ข้อมูลเบื้องต้นของผู้กรอกแบบสอบถาม ซึ่งมีลักษณะคำถามเป็นแบบปลายปิด
ส่วนที่ 2 ข้อมูลทั่วไปขององค์กร ลักษณะคำถามเป็นคำถามแบบปลายปิด
ส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้งานระบบ ERP ในองค์กร เช่น การลงทุนในระบบ จำนวนเครื่องลูกข่าย (Work Station) โมดูล (Module) ที่ใช้งานอยู่ภายในองค์กร ประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการนำเอาระบบ ERP มาใช้งาน ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำระบบ ERP เป็นต้น โดยลักษณะเป็นทั้งคำถามแบบปลายปิดและแบบปลายเปิด
ส่วนที่ 4 เป็นคำถามเกี่ยวกับความต้องการใช้งานระบบ ERP เช่น ความรู้ความเข้าใจของบุคลากร ความต้องการใช้งานระบบ ERP เป็นต้น มีลักษณะคำถามเป็นทั้งแบบปลายปิดและปลายเปิด
- การวิเคราะห์ข้อมูล
ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS โดยแบ่งการวิเคราะห์ดังนี้ 1) ค่าร้อยละใช้อธิบายข้อมูลลักษณะส่วนบุคคล ข้อมูลทั่วไปขององค์กร ความต้องการใช้งานระบบ ERP และ 2) ค่าเฉลี่ย นำเสนอภาพรวมของตัวแปรที่มีการวัดแบบช่วง
2. การศึกษาข้อมูลเชิงลึกของการใช้งานระบบ ERP
เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานโมดูล (Module) ต่าง ๆ ที่องค์กรมีการใช้งานแยกตามประเภทของอุตสาหกรรม ผู้วิจัยได้ขอความอนุเคราะห์โรงงานอุตสาหกรรม ในการเข้าไปสังเกตการณ์กระบวนการทำงาน และสัมภาษณ์ผู้ดูแลระบบ ERP ในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท
- เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลเชิงลึก
ในการสร้างเครื่องมือเพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกนี้ ผู้วิจัยได้ทำการสร้างแบบสอบถาม แบบตรวจสอบรายการ (Check List) ซึ่งจะระบุถึงข้อมูลการใช้งานโมดูล (Module) ต่าง ๆ โดยแบ่งโมดูลการใช้งานเป็น 6 ระบบหลักดังนี้คือ
1. ระบบบัญชี แบ่งการทำงานออก เป็น 1) ระบบบัญชีการเงิน และ 2) ระบบบัญชีบริหาร
2. ระบบการผลิต แบ่งการทำงานออก เป็น 1) ระบบควบคุมการผลิต 2) ระบบควบคุมสินค้าคงคลัง 3) ระบบการออกแบบ 4) ระบบการจัดซื้อ และ 5) ระบบควบคุมโครงการ
3. ระบบบริหารงานขาย
4. ระบบลอจิสติกส์ (Logistics)
5. ระบบการบำรุงรักษา
6. ระบบบริหารงานบุคคล
- การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก
ภายหลังจากได้แบบสอบถามเชิงลึกกลับมาแล้ว ผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ และสัมภาษณ์ผู้ดูแลระบบ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงโมดูลที่องค์กรมีการใช้งานระหว่างอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และทำการสรุปผล
ผลการวิจัย
จากการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น และข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมตัวอย่างสามารถสรุปผลได้ดังนี้
1. ข้อมูลเบื้องต้นของโรงงานกลุ่มตัวอย่าง
จากแบบสอบถามโรงงานจำนวน 155 ชุด ได้รับผลตอบกลับมาจำนวน 40 ชุด พบว่าประเภทของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่สำรวจเป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป/เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ คิดเป็นร้อยละ 27 รองลงมา คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนโลหะและอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous Process) คิดเป็นร้อยละ 65 ที่เหลือคือกระบวนการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent Process) คิดเป็นร้อยละ 35 จากจำนวนโรงงานทั้งหมด มีองค์กรที่ยังไม่มีการใช้งานระบบ ERP อยู่จำนวน 28 แห่งคิดเป็นร้อยละ 70
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานระบบ ERP ในองค์กร
ผลจากแบบสอบถามโรงงานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีการใช้งานระบบ ERP อยู่ ได้ข้อสรุปดังนี้
1. มีการลงทุนในระบบ เฉพาะซอฟต์แวร์ และการขึ้นระบบ (Implementation) ส่วนใหญ่เป็นจำนวนเงินอยู่ระหว่าง 10,000,001– 50,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 50 และรองลงมาคือ 5,000,001–10,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 25 ส่วนการลงทุนในฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 10,000,001-50,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 33 รองลงมาคือน้อยกว่า 1,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 25
2. จำนวนเครื่องลูกข่ายที่ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 51 ถึง 100 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.3 รองลงมาคิดเป็นร้อยละ 25 มี จำนวนน้อยกว่า 10 เครื่อง
3. โมดูล (Module) ที่มีการนำไปใช้งานมากที่สุด คือระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งมีการนำไปใช้ถึงร้อยละ 100 ระบบงานจัดซื้อมีการนำไปใช้งานคิดเป็นร้อยละ 91.7 ระบบการผลิตและวางแผนการผลิต มีการนำเอาไปใช้งานคิดเป็นร้อยละ 83.3 กล่าวโดยสรุปได้ว่า โมดูล (Module) หรือระบบงานหลักที่เกือบทุกองค์กรจากกลุ่มตัวอย่าง ต้องมีการนำไปใช้งานคือ ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง ระบบการจัดซื้อ ระบบการวางแผนการผลิต และระบบงานขาย/งานวิเคราะห์งานขาย ระบบงานบัญชีการเงิน ซึ่งในส่วนของโมดูลอื่น ๆ มีการเลือกใช้งานตามความจำเป็นหรือความต้องการของแต่ละองค์กร
4. องค์กรที่มีการนำเอาระบบ ERP ไปใช้ ร้อยละ 83.3 พบว่าเวลาสูญเปล่า (Idle Time) ในการทำงานลดลง ร้อยละ 75 พบว่ามีความรวดเร็วในการบริหารงานมากขึ้น ร้อยละ 58.3 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ ร้อยละ 41.7 ปริมาณการผลิตสูงขึ้น ร้อยละ 33.3 ของเสีย หรืองานที่ไม่ได้คุณภาพลดลง
5. ระยะช่วงเวลาในการฝึกอบรมและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้ากับระบบใหม่ เวลาอยู่ระหว่าง 1-3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 33.3 มากกว่า 8 เดือน คิดเป็นร้อยละ 25 รองลงมาคือ น้อยกว่า 1 เดือน 6–8 เดือน และ 4-6 เดือน
6. ระยะเวลาที่วางแผนไว้เพื่อการฝึกอบรมในการเข้าสู่ระบบงานใหม่ของแต่ละองค์กร โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในองค์กร เวลาที่ไม่เพียงพอนั้นมีสาเหตุมาจาก ความรู้ความสามารถของพนักงานคิดเป็นร้อยละ 50 การขาดการประสานงานที่ดีทำให้การทำงานต้องล่าช้าออกไป คิดเป็นร้อยละ 41.7
3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการใช้งานระบบ ERP ในองค์กร
ผลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างของโรงงานที่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานระบบ ERP สามารถสรุปได้ดังนี้
1. องค์กรที่ยังไม่มีการใช้งานระบบ ERP มีความต้องการใช้ระบบ ERP คิดเป็นร้อยละ 21.4 และไม่มีความต้องการใช้ คิดเป็นร้อยละ 78.6
2. สรุปอันดับสาเหตุที่ทำให้องค์กรไม่มีความต้องการใช้งานระบบ ERP โดยเรียงตามลำดับความสำคัญมากที่สุดจนถึงความสำคัญน้อยที่สุด ได้ดังนี้คือ 1) ขาดบุคลากรที่มีความรู้และเข้าใจให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบ ERP 2) ใช้เงินลงทุนในการวางระบบค่อนข้างสูง และ3) กระบวนการทำงานภายในองค์กรไม่มีความซับซ้อน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้
3. โมดูลที่องค์กรมีความต้องการใช้งาน เรียงลำดับตามความสำคัญจากมากไปหาน้อย คือ ระบบการผลิตและการวางแผนการผลิต และ ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง
4. สาเหตุที่องค์กรยังไม่มีการนำเอาระบบ ERP มาใช้งาน ส่วนใหญ่คือ ใช้เงินลงทุนในการวางระบบค่อนข้างสูง รองลงมา คือขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบ ERP
4. การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการใช้งานโมดูลต่าง ๆ ในองค์กรแยกประเภทของอุตสาหกรรม
ในส่วนนี้ เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในองค์กรที่มีการใช้งานระบบ ERP เกี่ยวกับรายละเอียดการใช้งานโมดูลในระบบงานส่วนต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบในการนำเอาระบบ ERP มาใช้งานโดยในขั้นตอนนี้ ได้รับความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ยินดีให้ข้อมูลเชิงลึกจำนวน 2 โรงงาน คือ โรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอโลหะ และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีการเปรียบเทียบโมดูลที่มีการใช้งานอยู่ในอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท
1. โมดูลที่มีการใช้งานในอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท พบว่ามีการใช้งานที่เหมือนกันในบางโมดูลซึ่งเป็นหน้าที่หลัก ดังแสดงในตารางที่ 1 ได้แก่
- ระบบบัญชีการเงิน
- ระบบควบคุมการผลิต
- ระบบควบคุมสินค้าคงคลัง
- ระบบการจัดซื้อ
- ระบบริหารงานขาย
โดยในแต่ละโมดูลอาจมีความแตกต่างกันในฟังก์ชันการทำงานที่แยกย่อยออกมาตามความจำเป็นของการบริหารงานภายในองค์กร
2. ในส่วนของระบบบัญชีบริหาร และระบบควบคุมโครงการ อุตสาหกรรมอโลหะ ไม่มีการใช้งานในโมดูลนี้เนื่องจาก องค์กรที่ผู้วิจัยเข้าไปศึกษาเป็นลักษณะขององค์กรลูกข่าย (Partner) ที่มีการบริหารงบประมาณต่าง ๆ โดยองค์กรแม่ข่าย (Parents) ในส่วนของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นโรงงานเดี่ยว ที่ต้องบริหารงบประมาณและควบคุมโครงการไปยังฝ่ายต่าง ๆ เอง
3. ในระบบการผลิต ส่วนของฟังก์ชันของการออกแบบ อุตสาหกรรมอโลหะ ไม่มีการใช้งานเนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นการผลิตตามใบสั่งของลูกค้า (Make to Order) ซึ่งไม่มีขั้นตอนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะทำการผลิตโดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแบบผลิตภัณฑ์ของลูกค้า (Customer Drawing) หรือบางครั้งลูกค้าอาจต้องการให้โรงงานเป็นผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารที่แนบมา
4. ในระบบลอจิสติกส์ (Logistics) อุตสาหกรรมทั้งสองไม่มีการใช้งานเนื่องจากมีการว่าจ้างเหมาบริษัทอื่น (Outsourcing) ในการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า และส่งวัตถุดิบในการผลิตให้กับโรงงาน
ตารางที่ 1
สรุปโมดูล และฟังก์ชันการทำงานของระบบ ERP ที่มีการใช้งานทั้ง 2 องค์กร
5. ในระบบการบำรุงรักษา (Maintenance) อุตสาหกรรมทั้งสองประเภทไม่มีการใช้งานในโมดูลนี้เนื่องจาก การบำรุงรักษาเครื่องจักรส่วนใหญ่จะถูกรวมเข้าไปในความรับผิดชอบของฝ่ายผลิต (Production) ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบตามตารางการบำรุงรักษาประจำวันหรือสัปดาห์
6. ในระบบการบริหารงานบุคคล ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่มีการใช้งานเนื่องจากต้นทุนการขึ้นระบบค่อนข้างสูง และมีโปรแกรมสำเร็จรูปอื่นมาช่วยในการบริหารงานบุคคลอยู่ก่อนแล้ว เช่น การจ่ายค่าแรง การตรวจสอบเวลาทำงานของพนักงาน โดยที่โปรแกรมดังกล่าวยังไม่ถูกนำมารวม (Integrate) เข้าสู่ระบบ ERP
อภิปรายผล
จากการศึกษา วิเคราะห์ และสรุปผลการวิจัยดังที่ได้กล่าวมา ทำให้ทราบถึงปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการระบบสารสนเทศช่วยในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและวางแผนรูปแบบระบบสารสนเทศ หรือที่เรียกว่าระบบ ERP ที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิต ซึ่งมีดังนี้
1. ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ที่ไม่มีความต้องการใช้ระบบ ERP ก็เนื่องจากขาดผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จะให้คำแนะนำในเรื่อง การทำงานของระบบ ERP ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจในระบบ ERP บางองค์กรมีการวางระบบแล้วแต่ขาดบุคคลากรหรือเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลรักษาระบบ ทำให้ไม่สามารถใช้งานระบบ ERP ได้จึงเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า หรือบางองค์กรไม่เคยรู้จักกับระบบ ERP มาก่อนเลย
2. ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุนจัดทำระบบ เนื่องจากในการขึ้นระบบใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ค่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย (Work Station) การวางระบบ Network ที่เหมาะสม ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแห่งต้องเริ่มดำเนินการใหม่ทั้งหมด จึงถือเป็นเงินลงทุนจำนวนมาก นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาระบบที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
3. ปัญหาในการฝึกอบรม ในช่วงเริ่มต้นของการขึ้นระบบ พนักงาน ผู้ใช้งาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้เข้าใจในหลักการ และวิธีการทำงานของระบบ ERP โดยต้องมีการอบรมพร้อมกับการปฏิบัติงานจริงควบคู่กันไป รวมทั้งมีการทำงานแบบคู่ขนาน กล่าวคือมีการใช้งานของระบบเก่าควบคู่กับการใช้ระบบ ERP พบว่าในบางครั้ง ระยะการอบรมไม่เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากทักษะของผู้ปฏิบัติงาน และอาจเกิดผลเสียต่องานประจำ
4. ปัญหาในเรื่องความซับซ้อนในการใช้งานระบบ ERP เนื่องจากระบบ ERP ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการจึงเห็นว่ามีความยุ่งยากในการใช้งานระบบ จึงไม่มีความต้องการนำเอาระบบ ERP มาใช้
5. กระบวนการทำงานภายในองค์กรอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนใหญ่มีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการจึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้งานระบบ ERP ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ระบบ ERP จึงถูกพิจารณาว่ามีความจำเป็นมากกว่า
สรุป
งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเบื้องต้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบความต้องการในระบบสารสนเทศที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรขององค์กร หรือระบบ ERP รวมถึงศึกษาถึงผลประโยชน์ที่จะได้ และปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบ ERP กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
การศึกษาวิจัยใช้วิธีการสำรวจ และการสัมภาษณ์ ส่วนการวิเคราะห์ผล จะใช้วิธีการวิเคราะห์ผลเชิงสถิติ และการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและวางแผนรูปแบบระบบสารสนเทศที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตต่อไปได้
เอกสารอ้างอิง
• กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช, รายงานการศึกษาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย.กรุงเทพมหานคร : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, 2540
• ก้องเดชา บ้านมหิงษ์ และประทีป แก้วประดับ. การพัฒนาโปรแกรม ERP เพื่อวิสาหกิจยุคใหม่ วารสาร Industrial Technology Review (ฉบับที่ 114 กันยายน 2546): 153-156
• ชนะ สุพัฒสร และยงยุทธ ลิขิตพัฒนกุล. แนวทางในการเลือกระบบ ERP ที่เหมาะสมกับองค์กร วารสาร Engineering Solutions 1(2547): 86-88
• บัน คาซึมะ และอิโต ฮิโรชิ .สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP (Enterprise Resource Planning). แปลโดย อิทธิ ฤทธาภรณ์ และอื่น ๆ. กรุงเทพมหานคร: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย- ญี่ปุ่น), 2546.
• ปรีชา พันธุมสิชัย และ อุทัย ตันละมัย, บรรณาธิการ.ERP เผยวิธีทำจริง.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ TLAPS, สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต, 2547
• สุชาติ เด่นกิจกุล. “การสำรวจปัญหาการจัดการสินค้าคงคลังจากการนำระบบการวางแผนทรัพยากรทั่วทั้งองค์กร (ERP) ไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์ (วิทยาการจัดการอุตสาหกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, 2545
• วิทยา สุหฤทดำรง, ลอจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน อธิบายได้...ง่ายนิดเดียว. กรุงเทพมหานคร: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2546
• Duangpun Kritchanchai and Pranee Chawan.The study of ERP implementation for SMEs in Thailand The 4th EAN/TLPS/Thai VCML Industrial-Academic Annual Conference on Supply Chain and Logistics, Mahidol University Salaya
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด