หัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะอธิบายพร้อมกับแนวทางการปฏิบัติและความคาดหวัง
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com
หัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม
ในส่วนของหัวข้อหลัก (Core Subjects) ของมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน ISO 26000 นี้ จะประกอบด้วย
1. การกำกับดูแลกิจการที่ดี
2. สิทธิมนุษยชน
3. ข้อปฏิบัติทางด้านแรงงาน
4. การดูแลสิ่งแวดล้อม
5. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
6. ความใส่ใจต่อผู้บริโภค
7. การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน
รูปที่ 1 แสดงหัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม
โดยในแต่ละหัวข้อหลัก จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะอธิบายพร้อมกับแนวทางการปฏิบัติและความคาดหวัง ทั้งนี้ลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคมจะมีความเป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงพัฒนาการของความใส่ใจที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในการดำเนินการตามหัวข้อหลัก และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะอยู่บนหลักการพื้นฐานและแนวปฏิบัติของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในแต่ละหัวข้อหลัก องค์กรควรจะมีการระบุ และกำหนดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือมีความสำคัญต่อการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงจะต้องมีการนำวัตถุประสงค์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวขององค์กร มาประกอบการพิจารณาในการกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ องค์กรควรจะมีการมองหัวข้อหลักทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม โดยพิจารณาหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเชื่อมโยงกัน มากกว่าจะให้ความสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่ควรจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประเด็นอื่น ๆ หรือส่งผลกระทบในทางลบต่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย หรือห่วงโซ่คุณค่า
1. การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Organizational Governance)
ในมาตรฐาน ISO 26000 ได้ระบุถึงความหมายของการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Organizational Governance ไว้ว่า เป็นระบบงานที่องค์กรสร้างและใช้ในการตัดสินใจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร โดยการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะประกอบด้วยกลไกการกำกับดูแลที่เป็นทางการ จากโครงสร้างและกระบวนการที่กำหนดขึ้น และกลไกที่ไม่เป็นทางการ ที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร
ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากผู้นำขององค์กร โดยการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้องค์กรได้แสดงถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงช่วยในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
ทั้งนี้ ระบบการกำกับดูแลที่ดี จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทขององค์กร รวมถึงบริบททางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและสังคม ที่องค์กรปฏิบัติงานอยู่ โดยระบบต่าง ๆ นี้ จะถูกกำกับดูแลโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (เช่น เจ้าของ สมาชิก สถาบัน หรืออื่น ๆ) ที่มีอำนาจในการดำเนินการ และหน้าที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนองค์กรให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ในการดำเนินการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล จะขึ้นกับการเชื่อมโยงของหลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมต่าง ๆ เข้ากับการตัดสินใจและการนำไปปฏิบัติ โดยหลักการพื้นฐานนี้ จะประกอบด้วย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Accountability) ความโปร่งใสในการดำเนินการ (Transparency) การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior) การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholder Interests) การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law)
การยอมรับในหลักปฏิบัติสากล (Respect for International Norms of Behavior) และการเคารพในสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) นอกจากหลักการพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว องค์กรควรจะพิจารณาถึงหลักปฏิบัติ (Practice) หลักการที่สำคัญ (Core Subject) และประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อมีการจัดทำ และทบทวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance System) ด้วย
การนำองค์กร จะเป็นส่วนสำคัญของการกำกับกิจการที่ดีขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่เพียงแค่การตัดสินใจ แต่ยังรวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ในการดำเนินการความรับผิดชอบต่อสังคม และการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีกระบวนการ ระบบงาน โครงสร้าง หรือกลไกอื่น ๆ ในการนำหลักการพื้นฐานและแนวปฏิบัติของความรับผิดชอบต่อสังคมมาประยุกต์ใช้ เช่น
* การจัดทำกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคม
* การแสดงถึงความมุ่งมั่นในการนำองค์กร และความรับผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Accountability)
* การสร้างและดูแลสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ในการนำหลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมไปประยุกต์ใช้งาน
* ระบบการให้รางวัลทั้งในรูปของเงิน และไม่ใช่เงิน ที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
* การใช้ทรัพยากรทางด้านการเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ และบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ
* การส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียม สำหรับกลุ่มต่าง ๆ (Underrepresented Group) เพื่อให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในองค์กร
* การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการขององค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงความต้องการที่เกิดขึ้นทันที และในอนาคต
* การจัดทำกระบวนการสื่อสารแบบสองทาง กับผู้มีส่วนได้เสีย ในการระบุถึงประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน และที่เป็นข้อขัดแย้ง รวมถึงกระบวนการเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
* การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล สำหรับพนักงานในทุกระดับในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
* การรักษาสมดุลของอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ หน้าที่ความรับผิดชอบ และขีดความสามารถของบุคลากรที่ทำหน้าที่ตัดสินใจในฐานะตัวแทนขององค์กร
* การติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจดังกล่าว อยู่ในแนวทางของความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
* การทบทวน และประเมินผลกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กรเป็นระยะ ๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ของการทบทวน และการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงให้ได้รับรู้ทั่วทั้งองค์กร
2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
สิทธิมนุษยชน จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี โดยสามารถแบ่งสิทธิมนุษยชนออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรก เป็นสิทธิของความเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) รวมไปถึงสิทธิในการมีชีวิต และเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน และความเป็นอิสระในการแสดงออก ส่วนกลุ่มที่สองได้แก่ สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงสิทธิในการทำงาน สิทธิในการได้รับอาหาร สิทธิในการบริการทางด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐาน สิทธิในการได้รับการศึกษา และสิทธิในการได้รับความปลอดภัยทางสังคม
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับหลักนิติธรรม และต่อแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม โดยรัฐ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเคารพ ปกป้อง และรักษาสิทธิมนุษยชน ส่วนองค์กร ก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ที่อยู่ภายในขอบเขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ขององค์กร
ทั้งนี้ ลักษณะที่สำคัญของสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
* เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นของทุก ๆ คน โดยความเป็นมนุษย์
* ไม่สามารถโอนให้กันได้ รวมถึงไม่สามารถให้มีการยกเลิก หรือถูกยึดไปได้โดยรัฐ หรือโดยสถาบันใด ๆ ก็ตาม
* มีความเป็นสากล ที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด
* ไม่สามารถแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ได้
* เป็นสิ่งที่ต้องพึงพากัน โดยที่สิทธิหนึ่ง ๆ จะมีผลต่อสิทธิอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในบทบาทของรัฐ จะมีหน้าที่ในการปกป้องทั้งในระดับของปัจเจกบุคคล และกลุ่มบุคคลต่อการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้ความเคารพ และดูแลสิทธิมนุษยชนภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมให้องค์กรที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ให้มีการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
ในส่วนขององค์กร จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะดูแลในการปกป้องสิทธิเหล่านี้ โดยในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น จะต้องไม่มีการฝ่าฝืนสิทธิของผู้อื่น รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจได้ว่าองค์กรได้มีการหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนในการละเมิดสิทธิด้วย
ในบางกรณีองค์กรอาจจะเผชิญกับความคาดหวังของสังคม ซึ่งมากกว่าการให้ความเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่อาจรวมไปถึงการต้องการให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องสิทธิมนุษยชนจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งแนวคิดเรื่องของขอบเขตอิทธิพล หรือ Sphere of Influence จะช่วยองค์กรในการกำหนดขอบเขตของการดำเนินการ รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ถึงขีดความสามารถในการมีอิทธิพล หรือการส่งเสริมหน่วยงานต่าง ๆ
นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้มีความตระหนักในสิทธิมนุษยชนระหว่างผู้ถือสิทธิด้วยกัน รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการต่าง ๆ
ทั้งนี้ ในหัวข้อหลักเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ จะประกอบด้วย ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
2.1 การตรวจสอบสถานะขององค์กร
2.2 สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
2.3 การหลีกเลี่ยงการสมรู้ร่วมคิด
2.4 การแก้ไขข้อขัดแย้ง
2.5 การเลือกปฏิบัติและกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
2.6 สิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
2.7 สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
2.8 หลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน
2.1 การตรวจสอบสถานะขององค์กร (Due Diligence)
ในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน องค์กรจะต้องมีการดำเนินการในการตรวจสอบสถานะขององค์กร เพื่อระบุและหามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาสจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากกิจกรรมขององค์กร หรือจากกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่องค์กรมีความเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ การตรวจสอบสถานะ ยังรวมไปถึงการแจ้งเตือนให้กับองค์กร ถึงความรับผิดชอบในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมขององค์กรอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
การตรวจสอบสถานะ จะถูกนำมาใช้กับทุก ๆ หัวข้อหลัก รวมถึงในเรื่องของสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย โดยการสำรวจสถานะควรจะมีความเหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมขององค์กร รวมทั้งมีการพิจารณาถึง
* นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร เพื่อใช้เป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับบุคคลที่อยู่ภายในองค์กร หรือใกล้ชิดกับองค์กร
* แนวทางในการประเมินกิจกรรมทั้งที่ดำเนินการอยู่ และที่วางแผนไว้ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
* แนวทางในการบูรณาการนโยบายสิทธิมนุษยชน ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
* แนวทางในการติดตามผลการดำเนินงานตลอดเวลา เพื่อให้สามารถทำการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นในลำดับความสำคัญและแนวทางที่ใช้ และ
* การระบุถึงผลกระทบในทางลบ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร
2.2 สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
ในบางครั้งอาจจะมีสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่องค์กรมีโอกาสจะเผชิญกับความท้าทาย และเกิดความลำบากใจในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เช่น
* ความขัดแย้ง หรือความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ความล้มเหลวของระบบตุลาการและประชาธิปไตย การปฏิเสธสิทธิทางการเมืองและความเป็นพลเมือง
* ความยากจน ความแห้งแล้ง ปัญหาทางด้านสุขภาพอย่างรุนแรง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
* การมีส่วนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ ป่าไม้ หรือชั้นบรรยากาศ หรือความขัดแย้งของชุมชน
* ความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อชุมชนของกลุ่มคนพื้นเมือง
* กิจกรรมที่อาจมีผลกระทบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก
* วัฒนธรรมของการคอรัปชั่น
* ห่วงโซ่คุณค่าที่มีความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างไม่เป็นทางการ หรือนอกระบบ โดยปราศจากการคุ้มครองทางกฎหมาย
* ความจำเป็นสำหรับการดำเนินมาตรการ เพื่อความปลอดภัยของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ เป็นต้น
ซึ่งสิ่ง ๆ ต่างเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้น องค์กรจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบสถานะ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนขององค์กร ตัวอย่างเช่น การดำเนินการโดยใช้การประเมินอย่างเป็นอิสระถึงผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชน
ในกรณีที่พบว่ามีการดำเนินการภายใต้สภาพแวดล้อมที่อาจมีสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใดเกิดขึ้น โดยที่องค์กรอาจจะต้องเจอกับการตัดสินใจที่ยากและซับซ้อนในการดำเนินการ องค์กรควรจะทำการตัดสินใจบนความรับผิดชอบเบื้องต้นต่อการเคารพในสิทธิมนุษยชน รวมถึงควรทำการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาของการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุประสงค์ของการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน จะสามารถประสบความสำเร็จได้
2.3 การหลีกเลี่ยงการสมรู้ร่วมคิด
หากพิจารณาในขอบเขตของกฎหมาย การสมรู้ร่วมคิดจะเป็นการดำเนินการหรือการละเว้นการดำเนินการ ที่ทำให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น ทั้งในขณะที่รับรู้ หรือมีความตั้งใจที่จะกระทำผิดกฎหมายนั้น ๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ และยุยงให้เกิดการการกระทำดังกล่าว
ในขณะที่ภายใต้บริบทที่ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย การสมรู้ร่วมคิดจะเกิดขึ้นจากความคาดหวังของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมขององค์กร ซึ่งองค์กรอาจจะเข้าข่ายในการสมรู้ร่วมคิด เมื่อมีการช่วยเหลือบุคคลหรือองค์กรอื่น ให้มีการกระทำที่ไม่สอดคล้อง หรือเป็นการขัดต่อหลักปฏิบัติสากล ทั้งที่องค์กรรับรู้ หรือควรจะต้องรู้ ซึ่งนำไปสู่การเกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคม เศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ องค์กรอาจจะถูกพิจารณาว่าสมรู้ร่วมคิดได้ ถึงแม้ว่าจะวางเฉย หรือได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดดังกล่าว ดังนั้น องค์กรควรมีการดำเนินการตรวจสอบสถานะขององค์กร (Due Diligence) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวก หรือได้รับประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ทั้งนี้ รูปแบบของการสมรู่ร่วมคิด จะมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่
* การสมรู้ร่วมคิดโดยตรง (Direct Complicity) จะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรได้ให้การช่วยเหลือทั้งที่รู้ ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
* การสมรู้ร่วมคิดที่ได้ประโยชน์ (Beneficial Complicity) จะเกิดขึ้นเมื่อองค์กร หรือสาขาขององค์กร ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลหรือองค์กรอื่น ตัวอย่างเช่น การที่องค์กรยอมให้มีการใช้กำลังกับผู้ประท้วงอย่างสันติที่มีต่อการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร หรือการที่องค์กรได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการที่ผู้ส่งมอบได้มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติงาน
* การสมรู้ร่วมคิดโดยการวางเฉย (Silent Complicity) จะเกิดขึ้นจากความบกพร่องขององค์กรในการเสนอแนวทางที่เหมาะสมให้กับการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่แสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบในกฎหมายการจ้างงานกับเฉพาะกลุ่ม (Particular Group)
ในกรณีที่พบว่า มีการดำเนินการที่แสดงถึงโอกาสในการสมรู้ร่วมคิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน องค์กรควรจะมีการทวนสอบความถูกต้องของการเตรียมการด้านความปลอดภัย โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล และมาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น องค์กรควรจะมีการจัดฝึกอบรมที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบุคลากร (ทั้งที่เป็นลูกจ้าง ผู้รับจ้างช่วง) อย่างเพียงพอ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน และการร้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย
นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยแล้ว องค์กรควรจะมีการดำเนินการต่าง ๆ เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
* ไม่จัดหาผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ให้กับบุคคลหรือนิติบุคคล ที่นำไปใช้ในการดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชน
* ไม่เข้าร่วมในการเป็นคู่ความร่วมมือทั้งที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ หรือการทำสัญญาข้อตกลงกับหุ้นส่วน ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของความเป็นคู่ความร่วมมือ หรือในการปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้
* การดูแลให้มั่นใจว่าจะไม่มีการดำเนินการในการโยกย้ายประชากรจากที่ดินของตนเอง จนกว่าจะมีการดำเนินการสอดคล้องตามข้อกฎหมาย และแนวปฏิบัติสากล รวมถึงการหาทางเลือกอื่น ๆ และดูแลให้มั่นใจว่าหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ ได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอและเหมาะสม
* จัดทำแถลงการณ์ต่อสาธารณะ หรือการดำเนินการอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้อภัยกับการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
* หลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับการเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการต่อต้านสังคม
2.4 การแก้ไขข้อขัดแย้ง
ถึงแม้ว่าจะมั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสมที่สุดแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้งเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนจากการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ก็ยังอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น องค์กรควรจะมีการจัดทำกลไกในการแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างมีประสิทธิผลขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการรับรู้ และหาแนวทางในการแก้ไขหรือชดเชย ให้กับบุคคลที่เชื่อว่าได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ กลไกดังกล่าว ไม่ควรทำให้เกิดความเสียหาย หรือมีอคติต่อการเข้าถึงช่องทางทางกฎหมายที่มีอยู่ รวมถึงไม่ไปกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกทางด้านกระบวนการทางยุติธรรม แต่ควรเป็นการนำเสนอโอกาสหรือทางเลือกในการขอความช่วยเหลือ และการชดเชย
นอกจากนั้น องค์กรควรมีการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความพร้อมของกลไกในการแก้ไข ทั้งสำหรับใช้ในองค์กรเอง หรือสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย โดยกลไกที่มีประสิทธิผล ควรจะ
* ถูกต้องตามข้อกฎหมาย รวมไปถึงมีความชัดเจน โปร่งใสและมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นอิสระอย่างเพียงพอ ในการดูแลให้มั่นใจว่า ไม่มีหน่วยงานใดในกระบวนการแก้ไขข้อขัดแย้ง จะสามารถเข้าแทรกแซงต่อการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรมของกระบวนการดังกล่าว
* สามารถเข้าถึงได้ โดยจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ และเปิดเผยให้กับคู่กรณีที่ได้รับความเสียหาย ที่อาจจะมีอุปสรรคในการเข้าถึง เช่น ภาษา การไม่รู้หนังสือ การขาดการรับรู้หรือการเงิน ระยะทาง ความพิการ หรือความกลัวต่อการแก้แค้น
* สามารถคาดการณ์ได้ โดยจะต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับแต่ละขั้นตอน รวมถึงประเภทของกระบวนการ และผลลัพธ์ที่จะได้ และไม่ได้ และแนวทางในการเฝ้าติดตามการดำเนินการ
* ถูกต้องเป็นธรรม โดยผู้ที่ได้รับความเสียหาย จะต้องสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ได้รับคำแนะนำและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็น ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขข้อขัดแย้ง
* เข้ากันได้ โดยผลลัพธ์และการแก้ไข จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
* ชัดเจนและโปร่งใส ถึงแม้ว่าการรักษาความลับในบางครั้งจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่กระบวนการและผลลัพธ์ควรจะมีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ เพื่อการตรวจสอบสาธารณะ และคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะด้วย และ
* อยู่บนพื้นฐานของการสานเสวนา และการไกล่เกลี่ย โดยกระบวนการจะต้องมุ่งเน้นการหาทางออกที่เป็นที่ตกลงร่วมกันในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อต้องการคำวินิจฉัย หน่วยงานต่าง ๆ ควรจะได้สิทธิในการค้นหาผ่านกลไกที่เป็นอิสระและแยกออกมาต่างหาก
2.5 การเลือกปฏิบัติ และกลุ่มที่ต้องการการช่วยเหลือพิเศษ
การเลือกปฏิบัติ จะรวมไปถึงความดำเนินการที่แตกต่าง การกีดกัน หรือการได้รับสิทธิพิเศษ ที่มีผลกระทบต่อความเท่าเทียมในการได้รับการปฏิบัติ หรือโอกาสที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากความลำเอียงมากกว่าประเด็นทางข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ การดำเนินการที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ยังครอบคลุมถึง เชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษา ทรัพย์สิน สัญชาติหรือเชื้อชาติ ศาสนา แหล่งกำเนิดทางชาติพันธุ์หรือสังคม ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ความพิการหรือทุพพลภาพ การตั้งครรภ์ ความเป็นชนพื้นเมือง การเข้าร่วมกลุ่มการค้า การเข้าร่วมทางการเมือง หรือความคิดเห็นอื่น ๆ รวมไปถึงสถานภาพการแต่งงานหรือครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสถานะทางด้านสุขภาพ เช่น การติดเชื้อ HIV/AIDS ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ จะเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย
ดังนั้น องค์กรควรจะมีการดูแล เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีการเลือกปฏิบัติกับพนักงาน คู่ความร่วมมือ ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย สมาชิก หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีการติดต่อหรือได้รับผลกระทบ รวมถึงองค์กรควรจะมีการพิจารณาถึงการปฏิบัติงานขององค์กรเอง และขององค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายในขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ (Sphere of Influence) ขององค์กร ว่ามีการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงหรือทางอ้อมเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงการดูแลให้มั่นใจได้ว่า องค์กรไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกปฏิบัติผ่านความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมขององค์กร นอกจากนั้นควรมีการส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการป้องกันการเลือกปฏิบัติ ซึ่งหากไม่ประสบความสำเร็จ องค์กรก็ควรจะมีการพิจารณาทบทวนถึงความสัมพันธ์กับองค์กรดังกล่าวต่อไป
ตัวอย่างของกลุ่มที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมถึงการดำเนินการและความคาดหวังที่เกี่ยวข้อง
* ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก แต่บ่อยครั้งที่มักถูกปฏิเสธการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสที่เท่าเทียมกันกับผู้ชายและเด็กผู้ชาย ทั้งนี้ ผู้หญิงจะต้องมีสิทธิในประเด็นต่าง ๆ ของสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการได้รับการศึกษา การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสิทธิในการตัดสินใจแต่งงานและการมีครอบครัว ดังนั้น นโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ควรจะเน้นไปที่สิทธิของผู้หญิง และส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในขอบเขตทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
* บุคคลทุพพลภาพ หรือผู้พิการ ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เนื่องจากการขาดความเข้าใจในทักษะ และความสามารถของกลุ่มคนเหล่านี้ องค์กรควรจะมีส่วนในการดูแลให้มั่นใจว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีความพิการหรือทุพพลภาพ ได้รับเกียรติ มีความเป็นอิสระในการดูแลตนเอง และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม โดยมีการนำหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการจัดให้สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างสมเหตุผล
* เด็ก จะถือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะ เนื่องจากอยู่ในสถานะที่ต้องการการพึ่งพิง โดยในการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดกับเด็กเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งหลักการพื้นฐานในข้อตกลงด้านสิทธิของเด็ก ได้ระบุถึงการไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิในการดำรงชีวิตของเด็ก การอยู่รอด การพัฒนา และการแสดงออกอย่างเป็นอิสระที่จะต้องได้รับการดูแลและปฏิบัติตาม ทั้งนี้ องค์กรควรจะมีนโยบายในการป้องกันมิให้พนักงานได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศ และการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ จากเด็กด้วย
* ชนพื้นเมือง (Indigenous People) ที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากที่ผ่านมามักจะถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ทั้งการเข้ายึดเป็นอาณานิคม การบุกรุกเพื่อครอบครองที่ดิน การแยกสถานะออกจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งชนพื้นเมืองจะมีความต้องการในสิทธิของการรวมกลุ่ม (Collective Right) และสิทธิในการได้รับการปฏิบัติและโอกาสที่เท่าเทียม
โดยสิทธิของการรวมกลุ่ม จะประกอบด้วย การตัดสินใจด้วยตนเอง (หมายถึงสิทธิในการกำหนดตัวตน สถานะทางการเมือง และแนวทางในการพัฒนา) การเข้าถึงและการจัดการที่ดิน น้ำ และทรัพยากรดั้งเดิม การดูแลรักษาและมีความสุขในจารีตประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และความรู้ดั้งเดิม การเป็นอิสระจากการเลือกปฏิบัติ และการจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ องค์กรควรจะให้การยอมรับและเคารพในหลักของการไม่เลือกปฏิบัติ และสิทธิส่วนตัวของชนพื้นเมือง เมื่อดำเนินการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ
* ผู้อพยพ และแรงงานอพยพ รวมถึงครอบครัว อาจจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เนื่องจากความเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย หรือไม่มีเอกสารรับรอง องค์กรจะต้องเคารพต่อสิทธิ และมีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ แรงงานอพยพและครอบครัวเหล่านั้น
* บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการสืบเชื้อสาย รวมถึงชนชั้น ซึ่งยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หรือการสืบเชื้อสาย โดยรูปแบบของการเลือกปฏิบัติ จะอิงกับประวัติศาสตร์ของการละเมิดสิทธิ ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่ามีความสกปรก หรือไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดมาในกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น องค์กรควรจะมีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงควรจะหาแนวทางในการมีส่วนร่วมในการขจัดความมีอคติดังกล่าวด้วย
* บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติจากพื้นฐานของเชื้อชาติ โดยบุคคลจะถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อชาติ ความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรม และแหล่งกำเนิดชาติพันธุ์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของการละเมิดสิทธิ ที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า เพราะสีผิว หรือวัฒนธรรม การเหยียดผิว มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีประวัติในการใช้งานทาส หรือการกดขี่ข่มเหงกลุ่มคนเชื้อชาติหนึ่ง โดยอีกเชื้อชาติหนึ่ง
* กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ คนไร้ที่อยู่ คนยากจน คนไม่รู้หนังสือ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มศาสนา
2.6 สิทธิความเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
สิทธิความเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมือง จะประกอบด้วยสิทธิอย่างสมบูรณ์ต่าง ๆ เช่น สิทธิของการมีชีวิตอย่างมีเกียรติและสง่างาม สิทธิในการมีอิสระจากการทรมาน สิทธิในการได้รับความปลอดภัย สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เสรีภาพและบูรณภาพของบุคคล รวมถึงสิทธิในเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายและการรับฟังอย่างเป็นธรรม เมื่อถูกจับในข้อหากระทำการที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนั้นยังรวมถึงความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น ความเป็นอิสระของการรวมกลุ่มและการสมาคมอย่างสันติ ความเป็นอิสระในการนับถือและปฏิบัติตามหลักศาสนา ความเป็นอิสระในความเชื่อ ความเป็นอิสระจากการคุกคามโดยพลการต่อความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย ความเป็นอิสระจากทำลายชื่อเสียงหรือเกียรติยศ สิทธิในการเข้าถึงการบริการสาธารณะ และสิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง
ดังนั้น องค์กรจะต้องมีการปฏิบัติในการให้ความเคารพต่อสิทธิความเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น
* การเคารพในการมีชีวิตของแต่ละคน
* ความเป็นอิสระในการคิดและการแสดงออก โดยองค์กรไม่ควรมีเป้าหมายในการขัดขวางหรือห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองของบุคคลใด ๆ ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะแสดงออกถึงการวิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
* ความเป็นอิสระในการเข้าร่วม หรือรวมกลุ่มอย่างสันติ
* เสรีภาพในการค้นหา ได้รับ และสื่อข้อมูลสารสนเทศ รวมถึงแนวความคิดผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่จำกัดพรมแดนระหว่างประเทศ
* สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทั้งโดยตนเอง หรือการร่วมกับผู้อื่น และความเป็นอิสระจากการถูกยึดทรัพย์สินโดยไม่มีกฎเกณฑ์
* การเข้าถึงกระบวนการ และสิทธิในการรับฟังอย่างเป็นธรรม ก่อนที่มาตรการทางด้านวินัยภายในองค์กรจะถูกนำมาใช้
2.7 สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
บุคคลทุกคน ที่เป็นสมาชิกของสังคม จะมีสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่จำเป็นสำหรับศักดิ์ศรีและการพัฒนาตนเอง โดยจะรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและพึงพอใจ เสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม การได้รับการบริการด้านสุขอนามัยที่ได้มาตรฐานอย่างเพียงพอ
มาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับสุขภาพทางกายและทางใจ และการกินดีอยู่ดีของตนเองและครอบครัว ทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค รวมถึงความปลอดภัยทางสังคม เช่น ความปลอดภัยจากการว่างงาน การเจ็บป่วย การไร้ความสามารถและการทุพพลภาพ การหย่าร้าง วัยสูงอายุ หรือการขาดแคลนโอกาสอื่น ๆ ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ การปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรม และโอกาสในการมีส่วนร่วม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการตัดสินใจที่จะสนับสนุนการปฏิบัติที่ดี และขัดขวางการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องที่เกี่ยวกับสิทธิของบุคคลนั้น ๆ
ในการดูแลรักษาสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ องค์กรจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสถานะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ได้มีส่วนใด ๆ ในกิจกรรมขององค์กร ที่เป็นการละเมิด ขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวการมีอยู่ของสิทธิต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา โดยองค์กรควรจะมีการประเมินถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ที่มีต่อสิทธิดังกล่าว รวมถึงสิทธิของประชาชนในท้องถิ่นด้วย
นอกจากนั้น องค์กรจะต้องพิจารณาถึง
* การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง รวมถึงถ้าเป็นไปได้ ให้การสนับสนุนและจัดให้มีการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับสมาชิกในชุมชน
* การเข้าร่วมกับองค์กรอื่น ๆ และหน่วยงานของรัฐในการสนับสนุนการยอมรับในสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
* การแสวงหาแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลักขององค์กร ในการมีส่วนเติมเต็มในสิทธิต่าง ๆ และ
* การปรับเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการ ให้ประชาชนที่ยากจนสามารถซื้อหาได้
2.8 หลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน
ในประเด็นของหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงานในมาตรฐานนี้ จะเน้นไปที่ประเด็นด้านแรงงานเป็นหลัก ซึ่งมีการกำหนดองค์กรระหว่างประเทศว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และได้นำมารวมเข้าไว้ในหัวข้อของสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย ทั้งนี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ได้ระบุให้สิทธิขั้นพื้นฐานของการทำงานไว้ ประกอบด้วย เสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และการรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง การขจัดการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบต่าง ๆ การยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก และการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีการกำหนดไว้เป็นข้อกฎหมายแล้วก็ตาม แต่องค์กรก็ควรจะมีความเป็นอิสระในการดูแลเพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสเกิดขึ้น
* การมีเสรีภาพในการสมาคม และการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง โดยแรงงานและลูกจ้าง จะต้องมีสิทธิในการจัดตั้งกลุ่ม และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้แทนลูกจ้างควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล และอนุญาตให้สามารถดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยไม่มีการแทรกแซง ทั้งนี้การจัดทำข้อตกลงร่วม ควรครอบคลุมถึงการจัดให้มีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และผู้แทนลูกจ้างควรได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเจรจาที่เป็นประโยชน์ด้วย
* การบังคับใช้แรงงาน (Forced Labour) โดยองค์กรไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานที่ถูกเกณฑ์มา หรือที่บังคับมา จะต้องไม่มีการทำงานหรือการบริการ จากบุคคลที่อยู่ภายใต้การคุกคามหรือการลงโทษใด ๆ หรือเมื่อการทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ
รวมถึง องค์กรจะต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานนักโทษ จนกว่านักโทษเหล่านั้น จะได้รับการพิพากษาตามกฎหมาย และแรงงานนักโทษจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้น แรงงานที่เป็นนักโทษไม่ควรจะถูกใช้โดยหน่วยงานเอกชน จนกว่าจะเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งจะต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วย
* การได้รับโอกาสที่เท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ โดยองค์กรควรจะมีการยืนยันถึงนโยบายของการจ้างงาน ที่เป็นอิสระจากการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา เชื้อชาติ จุดกำเนิดทางสังคม ความคิดเห็นทางการเมือง อายุ หรือความพิการ ทุพพลภาพ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงสถานะการแต่งงานและครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสถานะทางด้านสุขภาพ เช่น สถานะของ HIV/AIDS
ทั้งนี้ นโยบายและแนวปฏิบัติการจ้างงาน การจ่ายเงินตอบแทน สภาพการจ้างงาน การได้รับการฝึกอบรมและความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงการเลิกจ้าง ควรอยู่บนข้อกำหนดของการทำงาน ซึ่งองค์กรควรมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการป้องกันการคุกคามในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยการ
- ประเมินอย่างสม่ำเสมอ ถึงผลกระทบของนโยบายและกิจกรรม ในการส่งเสริมให้เกิดโอกาสที่เท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ
- ดำเนินการที่เป็นประโยชน์ในการปกป้อง และพัฒนาร่วมกับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยรวมไปถึงการจัดให้มีสถานที่ปฏิบัติงานสำหรับบุคคลที่พิการ หรือทุพพลภาพ เพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการจัดให้มีโปรแกรมต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานแรงงานเยาวชนและแรงงานสูงอายุ การเปิดโอกาสในการจ้างงานอย่างเท่าเทียมสำหรับผู้หญิง และการมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงขึ้น เป็นต้น
แรงงานเด็ก โดยองค์กรจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็ก ในกรณีที่องค์กรพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กในการทำงาน หรือภายในขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ จะต้องมีการดำเนินการไม่เฉพาะการยกเลิกการใช้แรงงานเด็กในการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างทางเลือกที่เหมาะสมให้กับกลุ่มเด็กเหล่านั้นด้วย เช่น การจัดการศึกษา การทำงานเบา ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก หรือไม่กระทบต่อการเรียน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการของเด็ก
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด