เนื้อหาวันที่ : 2011-08-09 10:12:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17118 views

การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า

การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าจากใบแจ้งค่าไฟฟ้าหรือบิลค่าไฟฟ้าเป็นขั้นตอนแรกในการดำเนินการประเมินเบื้องต้นของขนาดการใช้ไฟฟ้า

วัชระ มั่งวิทิตกุล
Realyouenergy@yahoo.com

          การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าจากใบแจ้งค่าไฟฟ้าหรือบิลค่าไฟฟ้าเป็นขั้นตอนแรกในการดำเนินการประเมินเบื้องต้นของขนาดการใช้ไฟฟ้าและประเมินผลประหยัดหลังดำเนินการประหยัดพลังงานในขั้นตอนสุดท้าย ความเข้าใจค่าไฟฟ้าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ใบแจ้งค่าไฟฟ้า  
          ประกอบด้วย ค่าพลังงาน (kWh) ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด (kW) ค่าปรับเพาเวอร์แฟกเตอร์ (ที่ต่ำกว่า 0.85) ค่าต้นทุนผันแปร (FT) (สตางค์/kWh ใช้พลังงานมาก เสียค่า FT มาก)

 รูปที่ 1 ใบแจ้งค่าไฟฟ้า (1) อัตรา TOD

 รูปที่ 2 ใบแจ้งค่าไฟฟ้า (2) อัตรา TOU

          ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak Demand ในแต่ละเดือนคือ ค่าพลังไฟฟ้าเฉลี่ยสูงสุดใน 15 นาทีใด ๆ ในเดือนนั้น ๆ เช่นถ้าพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีแรกของวันแรกของเดือนใด ๆ เท่ากับ 100 kW และ 15 นาทีถัดไป เท่ากับ 80 kW มิเตอร์ก็จะบันทึกค่า 100 kW เป็นค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด แต่ถ้า 15 นาทีถัดไปเท่ากับ 120 kW มิเตอร์ก็จะบันทึกค่า 120 kW แทน เป็นต้น  

รูปที่ 3 การคิดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด

          จากรูปสรุปได้ว่า การหาค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (kW) = พลังงานที่ใช้ใน 15 นาที x 4 
          ตัวอย่าง จงหาค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ถ้าใช้ 625 kWh ภายในระยะเวลา 15 นาที
                         ค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด = 625 x 4 = 2,500 kW

ประเภทค่าไฟฟ้า 
          ประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมมี 3 แบบ ได้แก่ อัตราปกติ อัตราตามช่วงเวลาของวัน (Time of Day หรือ TOD) และอัตราตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use หรือ TOU)

* อัตราปกติ
          ได้แก่ โรงงานที่ขอมิเตอร์ใช้ไฟฟ้าก่อน ต.ค พ.ศ. 2543 ที่มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ตั้งแต่ 30 -999 kW และพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 250,000 kWh ต่อเดือน อัตราค่าไฟฟ้าฐานยังไม่รวมค่า FT ได้แก่

          ค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ ถ้าแรงดันไฟฟ้ายิ่งสูงยิ่งราคาถูก เนื่องจากผู้จำหน่ายไฟฟ้าไม่ต้องลงทุนสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยเพื่อลดแรงดัน ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดคิดที่ 15 นาทีใด ๆ ในเดือนนั้น ๆ และค่าพลังงานไฟฟ้าคิดตามหน่วยที่ใช้ในอัตราคงที่

* อัตรา TOD
          ได้แก่ โรงงานที่ขอมิเตอร์ใช้ไฟฟ้าก่อน ต.ค พ.ศ. 2543 ที่มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ตั้งแต่ 1,000 kW หรือ พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 250,000 kWh โดยแบ่งช่วงเวลาของวันออกเป็น 3 ช่วงดังนี้

          ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดจะมี 2 ช่วงเวลา On Peak และ Partial Peak โดย ช่วง On Peak จะคิดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด 15 นาทีใด ๆ ในช่วงเวลานี้ ในขณะที่ ช่วง Partial Peak จะคิดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดเฉพาะส่วนที่เกินจากค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดของช่วง Partial Peak ซึ่งถ้าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Partial Peak ไม่เกินค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง On Peak จะไม่คิดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Partial Peak เช่น ที่แรงดันไฟฟ้า 12 kV พลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง On Peak เท่ากับ 100 kW ช่วง Partial Peak เท่ากับ 120 kW

ดังนั้นค่าใช้จ่ายพลังไฟฟ้าสูงสุด Partial Peak = 20 kW x 58.88 บาท/kW เป็นต้น แต่ถ้าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Partial Peak = 80 kW จะไม่เสียค่าใช้จ่ายพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Partial Peak อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าคงที่ตลอดช่วงเวลาของวัน ตามระดับแรงดันไฟฟ้า

* อัตรา TOU
          ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าหลัง ต.ค. 43 ที่มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดตั้งแต่ 30 kW ขึ้นไป ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน ต.ค. 43 อัตราปกติ หรือ TOD สามารถเปลี่ยนมาใช้อัตรา TOU ได้ หรือ ใช้ประเภทเดิม แต่ประเภทโรงแรม บังคับให้เปลี่ยนมาใช้อัตรา TOU ทั้งหมด (เนื่องจากจะเสียค่าไฟฟ้าต่ำลง)


          อัตราค่าไฟฟ้าจะแบ่งตามช่วงเวลาการใช้ จันทร์- ศุกร์ 9:00 - 22:00 เป็นช่วง On Peak ต้องเสียค่าพลังงานไฟฟ้าแพง และยังต้องเสียค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดด้วย ส่วนเวลาที่เหลือจะเป็นช่วง Off Peak จะเสียค่าพลังงานไฟฟ้าถูก (ถูกกว่า TOD) และ ไม่ต้องเสียค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด

ทำไมมีอัตราค่าไฟฟ้าหลายประเภท
          เนื่องจากเพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ในอดีตมีเฉพาะอัตราปกติ การใช้พลังไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำ 18:30-21:30 จะสูงทำให้ต้องลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อมาเสริมความต้องการเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว (1MW = US$ 1 ล้าน หรือ 40 ล้านบาท) จึงมีอัตรา TOD ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าจะสูงสุดในช่วงหัวค่ำ เพื่อต้องการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบริหารจัดการลดพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงหัวค่ำ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี

แต่ความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนแตกต่างกันมาก จึงพยายามเพิ่มการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน และ/หรือ ลดการใช้พลังไฟฟ้าในช่วงกลางวันจึงมีอัตรา TOU แต่ในช่วงแรกไม่ค่อยนิยมใช้เนื่องจากวันเสาร์ยังเป็นช่วง On Peak ต่อมาจึงเปลี่ยนให้วันเสาร์เป็นช่วง Off Peak จึงนิยมใช้กันมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ต้องให้การใช้พลังไฟฟ้าเป็นดังรูปอุดมคติ บางประเทศใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามเวลาจริง (Real Time Pricing หรือ RTP) ผู้ผลิตไฟฟ้าจะแจ้งอัตราค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบล่วงหน้าเป็นรายชั่วโมง รายวัน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจัดการการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับผู้ผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด    

การบริหารจัดการค่าไฟฟ้าจากใบแจ้งค่าไฟฟ้า
          อัตราปกติ สำหรับโรงงานขนาดกลางและเล็ก ควรจะเพิ่มค่าโหลดแฟกเตอร์ให้ได้มากที่สุด หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งการใช้ไฟฟ้าให้คงที่ สม่ำเสมอ ตลอดเวลา จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (kWh) ต่ำที่สุด การเพิ่มค่าโหลดแฟกเตอร์สามารถทำได้โดย

          การลดค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด (เกลี่ยกิจกรรมการทำงาน) หรือ 
          การเพิ่มการใช้พลังงานในช่วงโหลดต่ำ
เช่น ขยายเวลาการผลิต 8 ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมง (ถ้าผลิตแล้วขายได้) จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อkWh ต่ำลง เช่น หากลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยได้ 20 สตางค์ต่อ kWh ซึ่งถ้าใช้พลังงานไฟฟ้า 100,000 kWhต่อเดือน จะลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ 20,000 บาท/เดือน      

          อัตรา TOD เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าช่วงเวลา On Peak มีราคาแพง และการควบคุมพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง On Peak เพียง 12 ครั้งต่อวัน (3 ชั่วโมงต่อวัน ชั่วโมงละ 4 ครั้ง) ซึ่งง่ายกว่าต้องควบคุมค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Partial Peak เพราะต้องควบคุมถึง 42 ครั้งต่อวัน (8:00-18:30) ส่วนค่าพลังงานไฟฟ้าคงที่จึงให้ความสำคัญในลำดับรองลงมา

ดังนั้นถ้าใช้อัตรา TOD ควรควบคุมพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง On Peak โรงงานที่มีกระบวนการผลิตเป็นช่วง (Batch Process) เช่น โรงงานประกอบชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (Assembly Line) จะเหมาะสมในการควบคุม แต่โรงงานทอผ้า โรงงานกระดาษ โรงงานฉีดพลาสติก ซึ่งมีการใช้พลังงานค่อนข้างคงที่ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และถ้าทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ก็ควรเปลี่ยนมาใช้อัตรา TOU จะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ 

          อัตรา TOU เนื่องจากช่วง On Peak ในวันจันทร์-ศุกร์ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนานกว่า อัตรา TOD ดังนั้นการควบคุมพลังไฟฟ้าสูงสุด (kW) ช่วง On Peak จะค่อนข้างยาก (52 ครั้งต่อวัน) ดังนั้นจึง ควรควบคุมค่าพลังงานไฟฟ้า (kWh) เป็นหลักซึ่งมีราคาแพงในช่วง On Peak โรงงานเหล็ก โรงงานผลิตซิเมนต์ โรงงานอาหาร จะเหมาะสมต่อการควบคุมพลังงานไฟฟ้าในช่วง On Peak แต่เพิ่มกำลังการผลิตในช่วง Off Peak แทน

สรุป
          การที่เราเข้าใจค่าไฟฟ้า ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด