ในมาตรฐาน ISO 26000 องค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ ในการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com
หลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม
หลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ตามมาตรฐาน ISO 26000 นี้ จะประกอบด้วย 7 หลักการที่สำคัญ ได้แก่
1. ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability)
2. ความโปร่งใส (Transparency)
3. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior)
4. การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholder Interests)
5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law)
6. การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล (Respect for International Norms of Behaviour)
7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights)
1. ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้
ในมาตรฐาน ISO 26000 ระบุว่า องค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ในการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อผลกระทบที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรควรให้การยอมรับต่อการตรวจสอบ และถือเป็นความรับผิดชอบขององค์กรในการตอบสนองต่อการตรวจสอบดังกล่าวอย่างเหมาะสมด้วย
ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ จะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารในการตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้รับขององค์กร และการตอบคำถามถึงอำนาจหน้าที่ตามข้อกฏหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงความสามารถในการตอบคำถามขององค์กร สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของผลกระทบ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
การมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ จะช่วยส่งผลในทางบวกต่อองค์กรและต่อสังคม โดยองค์กรจะต้องให้การใส่ใจดูแลต่อการตัดสินใจ การยอมรับในความรับผิดชอบของการกระทำผิดที่เกิดขึ้น การดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขสิ่งที่ได้กระทำผิดไป รวมถึงการดำเนินการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ดังนั้น โดยสรุปองค์กรควรจะมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ต่อ
• ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นในทางลบ
• การดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำของผลกระทบในทางลบที่ไม่ต้องการ และไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้
2. ความโปร่งใส
ในหลักการข้อนี้ ระบุให้องค์กรจะต้องมีความโปร่งใสในการตัดสินใจ และในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ที่มีผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจะต้องมีการเปิดเผยอย่างชัดเจน ถูกต้องสมบูรณ์ และในระดับที่เหมาะสม เกี่ยวกับนโยบาย การตัดสินใจ และกิจกรรมที่องค์กรรับผิดชอบอยู่ รวมถึงที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งที่รู้แล้ว และที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
นอกจากนั้น ข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ จะต้องพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงได้โดยตรง และสามารถเข้าใจได้ สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ หรือผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบที่สำคัญจากองค์กร นอกจากนั้น จะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ให้ทันสมัย และเป็นข้อเท็จจริง รวมถึงถูกนำเสนออย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถประเมินผลกระทบได้อย่างถูกต้อง จากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร ที่มีต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานของความโปร่งใสในข้อนี้ ไม่ได้ต้องการให้มีการนำข้อมูลที่สำคัญออกเปิดเผยสู่สาธารณะ หรือจะต้องกระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการละเมิดต่อข้อกฏหมาย ข้อตกลงทางการค้า การรักษาความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน
โดยสรุป องค์กรจะต้องแสดงถึงความโปร่งใสในประเด็นที่เกี่ยวกับ
• จุดประสงค์ รูปแบบ และสถานที่ของกิจกรรมนั้น ๆ
• การระบุถึงผลประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร
• รูปแบบของการตัดสินใจที่เกิดขึ้น การนำมาใช้ และการทบทวน รวมถึงบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ และอำนาจในการตัดสินใจ ระหว่างสายงานที่แตกต่างกันในองค์กร
• มาตรฐานและเกณฑ์เปรียบเทียบ ที่องค์กรนำมาใช้ในการประเมินผลการดำเนินการขององค์กรที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม
• ผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม
• แหล่งที่มา จำนวน และการนำไปใช้ของเงินทุน
• ผลกระทบทั้งที่รู้แล้ว และที่เป็นไปได้ของการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
• เกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ใช้ในการชี้บ่ง คัดเลือก และการมีส่วนร่วมสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย
ทั้งนี้ กระบวนการปฏิบัติที่โปร่งใส จะประกอบด้วย
• การสื่อสารถึงมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการประเมินผลงานขององค์กร
• การจัดหาข้อมูลให้มีอย่างเพียงพอ รวมถึงแบบฟอร์มและเครื่องมือต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการประเมินผลและคาดการณ์ผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
• การเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระตลอดเวลา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้สนใจในการดำเนินงานขององค์กร
• ข้อมูลจะต้องมีความทันสมัย สมบูรณ์ ไม่มีการตัดต่อบางส่วน และได้รับนำเสนออย่างถูกต้องชัดเจนถึงผลกระทบที่มีต่อคนในองค์กร เจ้าของ สมาชิก หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม
การปฏิบัติขององค์กร ควรจะอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าของความซื่อสัตย์ ความเท่าเทียม และความถูกต้อง ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ จะสะท้อนถึงความใส่ใจที่มีต่อผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดูแลผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย
ในการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่มีจริยธรรม องค์กรควรจะ
• ระบุถึงคุณค่าหลัก และหลักการพื้นฐานของการดำเนินการ
• พัฒนา และดำเนินการในการกำกับดูแล เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร จากการตัดสินใจ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
• ระบุ และนำมาตรฐานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับจุดประสงค์และกิจกรรมขององค์กร รวมถึงหลักการพื้นฐานที่ระบุไว้ในมาตรฐานสากลนี้
• ส่งเสริม และกระตุ้นให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานของการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม
• กำหนดและสื่อสารถึงมาตรฐานที่เกี่ยวกับการประพฤติอย่างมีจริยธรรมไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในโครงสร้างการกำกับดูแล บุคลากร ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วง เจ้าของและผู้บริหาร รวมถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่มีโอกาส ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อค่านิยม วัฒนธรรม ความเป็นเอกภาพ กลยุทธ์และการปฏิบัติการขององค์กร รวมถึงบุคลากรในองค์กร
• ป้องกัน หรือการแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
• จัดทำกลไก และการควบคุมในการเฝ้าระวัง สนับสนุน และบังคับให้มีการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม
• จัดทำกลไกในการรายงานพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง การปฏิบัติที่ผิดจริยธรรม โดยปราศจากความกลัวต่อการแก้แค้น
• ยอมรับ และพิจารณาถึงสถานการณ์ที่กฏหมายท้องถิ่นไม่มี หรือมีแต่ขัดแย้งกันกับการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม
• นำมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทางด้านการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมมาประยุกต์ใช้
• ให้ความเคารพในสวัสดิภาพของชีวิตสัตว์ เมื่อมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับ การเลี้ยงดู การผสมพันธุ์ การออกลูก การเคลื่อนย้าย และการใช้งานสัตว์
4. การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
องค์กรจะต้องมีการพิจารณา และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรอาจจะถูกจำกัดด้วยผลประโยชน์ของเจ้าของคนในองค์กร หรือลูกค้า แต่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีสิทธิ สามารถเรียกร้อง รวมถึงผลประโยชน์เฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่จะต้องได้รับการนำมาพิจารณา ซึ่งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร ดังนั้น องค์กรควรจะ
• มีการระบุถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร
• ให้การยอมรับ และคำนึงถึงผลประโยชน์ เช่นเดียวกับสิทธิทางกฏหมายของผู้มีส่วนได้เสีย และการตอบสนองต่อความกังวลต่าง ๆ
• รับรู้ไว้เสมอว่าผู้มีส่วนได้เสียบางราย อาจส่งผลกระทบที่สำคัญต่อกิจกรรมขององค์กร
• มีการประเมิน และคำนึงถึงขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้เสียในการติดต่อ มีส่วนร่วมและมีอิทธิพลต่อองค์กร
• คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อความคาดหวังของสังคมในวงกว้าง และต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงลักษณะของความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร
• พิจารณาถึงมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย ที่ผลประโยชน์จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจหรือกิจกรรม ถึงแม้จะไม่ได้มีบทบาทอย่างเป็นทางการ ในการกำกับดูแลองค์กรก็ตาม
5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม
หลักนิติธรรม (Rules of Law) จะเป็นหลักสูงสุดของกฏหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแนวคิดที่ไม่มีผู้ใด หรือองค์กรใดจะละเมิดข้อกฏหมายได้ รวมถึงรัฐบาลที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกฏหมายด้วย หลักนิติธรรมนี้ จะขัดแย้งกันกับการบังคับใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยทั่วไป นัยของหลักนิติธรรมคือ ข้อกฏหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จะถูกเขียนขึ้น นำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ และบังคับใช้อย่างเสมอภาค
ทั้งนี้ ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม การเคารพต่อหลักนิติธรรม จะหมายถึง การที่องค์กรจะต้องปฏิบัติตามข้อกฏหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักในข้อกฏหมายและระเบียบข้อบังคับที่นำมาประยุกต์ใช้ จากนั้นมีการแจ้งให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กรได้รับทราบ และนำไปปฏิบัติตามอย่างทั่วถึง
องค์กร จะต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกฏหมายภายใต้ขอบเขตของกฏหมายทั้งหมดที่องค์กรปฏิบัติงานอยู่ ถึงแม้ว่า ข้อกฏหมายดังกล่าวจะไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเพียงพอก็ตาม นอกจากนั้น จะต้องมีการดูแลให้มั่นใจว่าความสัมพันธ์และกิจกรรมมีความสอดคล้องตามกรอบของกฏหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอถึงการปฏิบัติตามข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
6. การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล
แนวปฏิบัติสากล หรือ International Norms of Behaviour ตามมาตรฐาน ISO 26000 จะหมายถึง ความคาดหวังในพฤติกรรมขององค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม ที่เกิดขึ้นจากกฏหมายจารีตประเพณีสากล หลักการของกฏหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป หรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นสากล โดยองค์กรจะต้องให้การยอมรับต่อแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงยึดมั่นในหลักการของการเคารพต่อหลักนิติธรรมด้วย
ในกรณีที่ข้อกฏหมาย หรือการนำไปปฏิบัติ ไม่สามารถจะปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมหรือสังคมได้อย่างเพียงพอ องค์กรควรจะยึดถือต่อแนวปฏิบัติสากลเป็นหลัก รวมถึง ในบางประเทศที่กฏหมายหรือการนำไปปฏิบัติมีความขัดแย้งกับหลักปฏิบัติสากล องค์กรควรจะยึดมั่นในการเคารพต่อหลักปฏิบัติสากลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือในสถานการณ์ที่ข้อกฏหมาย หรือการนำไปใช้งาน มีความขัดแย้งกับแนวปฏิบัติสากล และการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญ
องค์กรควรจะมีการทบทวนถึงลักษณะของความสัมพันธ์และกิจกรรม ภายใต้ขอบเขตอำนาจทางกฏหมาย โดยองค์กรควรจะมีการพิจารณาถึงโอกาสในการปฏิบัติตามข้อกฏหมาย และช่องทางในการโน้มน้าวองค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งดังกล่าว นอกจากนั้น ควรจะหลีกเลี่ยงการสมรู้ร่วมคิดในกิจกรรมขององค์กรอื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล
7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
คำว่าสิทธิมนุษยชนตาม พรบ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2542 ระบุว่าหมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฏหมาย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
ในมาตรฐาน ISO 26000 นี้ ได้ระบุให้องค์กรควรให้ความเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และให้การยอมรับถึงความสำคัญ และความเป็นสากลของหลักการนี้ โดยองค์กรควรจะ
• เคารพ และส่งเสริมสิทธิตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Bill of Human Rights)
• เคารพต่อความเป็นสากลของสิทธิต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแบ่งแยกนำไปใช้ในทุก ๆ ประเทศ วัฒนธรรม และสถานการณ์ได้
• ในสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการปกป้อง ให้ดำเนินการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว
• ในกรณีที่ข้อกฏหมาย หรือการนำไปใช้งาน ไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเพียงพอ ให้ยึดตามหลักการของเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล (Norm of Behavior) เป็นสำคัญ
ในตอนต่อไป จะได้อธิบายถึงองค์ประกอบในด้านต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เรียกว่า หัวข้อหลัก (Core Subjects) และประเด็นสำคัญของแต่ละหัวข้อหลัก ซึ่งจะระบุถึงสาระสำคัญ รวมถึงการดำเนินการและความคาดหวังสำหรับองค์กรเอาไว้
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด