ปัจจุบันประเด็นเรื่องพลังงานทวีความร้อนแรงและมีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายในระดับสากล รวมถึงเป็นที่จับตามองจากสาธารณชนทั่วไป
กำเนิดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน
(Energy Management System Standard: ISO 50001)
ศิริพร วันฟั่น
นาทีนี้อาจจะไม่เกินเลยไปนักถ้าจะพูดว่า ไม่มีประเด็นใดที่จะร้อนแรงและมีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและระดับสากล รวมถึงเป็นที่จับตามองจากสาธารณชนทั่วไป มากเกินไปกว่าประเด็นเรื่องพลังงาน (Energy) และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องของ ราคาพลังงาน ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือความกังวลจากการที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศมากจนเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้สดับตรับฟังกันทุกเมื่อเชื่อวัน และอาจกล่าวได้ว่าเกือบจะทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไปได้เกิดความตระหนักมากขึ้น
ในเรื่องของพลังงาน มีการตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเริ่มจากหน่วยเล็ก ๆ คือ ที่บ้านหรือภายในครอบครัว ในขณะที่ในระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างก็มีความมุ่งมั่นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน และรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์พลังงานให้แพร่หลายมากขึ้นเช่นกัน ส่วนด้านผู้ประกอบการเองก็พยายามแสวงหาหนทางต่าง ๆ ที่จะช่วยประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทุก ๆ ภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและทำหน้าที่ของตัวเองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งการจัดการพลังงาน (Energy Management) ที่สัมฤทธิ์ผลนั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอันดับต้น ๆ ที่เราควรให้ความใส่ใจ เหตุผลก็เพราะว่าเป็นวิถีทางหนึ่งที่มีศักยภาพอย่างมีนัยสำคัญในการที่จะช่วยประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ทั่วโลกได้
และการที่จะตามให้ทันการการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบันได้นั้น วิธีหนึ่งที่เลือกใช้กันก็คือ การใช้มาตรฐานระบบการจัดการระดับสากล (International Management System Standards) ที่เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร (Organizational Efficiency) และผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Product Standards) นั้นได้มีการนำมาใช้กันเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่จะเป็นไปในทำนองที่ว่า จะจัดการกับภาระหน้าที่ขององค์กรได้อย่างไร มากกว่าที่จะมุ่งจัดการกับลักษณะโดยพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้หนึ่งในองค์กรแถวหน้าที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานระบบจัดการเหล่านี้ ก็คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO)
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานสากลที่มีใช้อยู่ในหมวดหมู่ของการจัดการด้านคุณภาพ (ISO 9000 Series) และระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14000 Series) ก็ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องขององค์กรทั่วโลก ซึ่งมาตรฐานทั้งสองนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการจัดการด้านความมั่นคง (Security Management) การจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety Management) ตลอดจนความรับผิดชอบร่วมที่มีต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
ด้วยความจำเป็นที่ต้องมีการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ผนวกกับความสำเร็จในการเจริญเติบโตของมาตรฐานระบบการจัดการที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องในระดับสากล ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ได้เวลากำเนิดของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System Standard) แล้ว ทั้งนี้ทางองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้บ่งชี้ว่าการจัดการพลังงานเป็นหนึ่งในห้าของประเด็นร้อน ๆ ที่สมควรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของมาตรฐานสากล และเป็นที่ชัดเจนด้วยเช่นกันว่าผู้ที่จะใช้มาตรฐานเช่นนี้เป็นลำดับแรก ๆ ก็คือภาคส่วนอุตสาหกรรม
โดยมาตรฐานการจัดการพลังงานถูกคาดหวังว่าจะเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรม และในระยะยาวจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ของสาธารณูปโภคในภาคส่วนอุตสาหกรรมได้ 20% หรือมากกว่านั้น นอกจากนี้แล้ว ความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมประสิทธิภาพ รวมไปจนถึงการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันหลักการและเหตุผลสำหรับการเดินหน้าพัฒนามาตรฐานใหม่นี้
จากความจำเป็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ก็ได้ก่อให้เกิดการตระหนักจากนานาประเทศ ดังเช่นในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็เข้ามามีส่วนร่วมกับแนวความคิดของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน โดยย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ก็มีการเปิดตัวมาตรฐานระบบจัดการสำหรับพลังงาน (Management System for Energy standard: MSE 2000) ซึ่งสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐฯ (ANSI) ก็ให้การรับรองมาตรฐานและตามด้วยเอกสารฉบับใหม่ 2 ชุดด้วยกัน ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศในหลายภูมิภาคก็มีการพัฒนามาตรฐานในทำนองนี้เช่นกัน รวมไปถึงประเทศจีน เกาหลีใต้
ขณะที่สหภาพยุโรปเองก็มีแนวมาตรฐานของตนเอง คือ PrEn 16001 ทั้งนี้มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) ก็ยังคงจะใช้วิธี Plan–Do–Check–Act (PCDA) เช่นเดียวกับที่ใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของมาตรฐานอื่น ๆ โดยแจกแจงได้ดังนี้ คือ Plan: Energy Data Management, Assessment/Do: Energy Purchasing, Design, Projects, Verification/Check: Monitoring, Management/Action: System Performance
ประวัติความเป็นมาของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ทางองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของภาคส่วนอุตสาหกรรมในการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมาตรฐานการจัดการพลังงานระดับชาติ โดยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ทาง UNIDO ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมของผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงตัวแทนจากสำนักงานเลขาธิการกลางขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (The ISO Central Secretariat) และตัวแทนจากนานาชาติที่จะนำเอามาตรฐานการจัดการพลังงานนี้ไปใช้
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้นำไปสู่การยื่นข้อเสนอของ UNIDO ที่สื่อสารไปยังสำนักงานเลขาธิการกลางขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เพื่อเรียกร้องให้ทาง ISO ได้พิจารณาเข้ามารับผิดชอบในการทำงานเกี่ยวกับการจัดตั้งมาตรฐานการจัดการพลังงานระดับสากลขึ้นมา
ทางกระทรวงพลังงานของประเทศสหรัฐฯ (The U.S. Department of Energy: DOE) และสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐฯ (ANSI) ก็ได้เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันและการใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อที่จะช่วยภาคส่วนอุตสาหกรรมในการพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจากที่ได้มีการส่งเสริมการใช้มาตรฐานระบบจัดการสำหรับพลังงาน (MSE 2000) อยู่แล้ว กระทรวงพลังงานของประเทศสหรัฐฯ จึงได้เข้ามามีบทบาทผู้นำในการรณรงค์ข้อเสนอ (Proposal) สำหรับมาตรฐาน ISO ใหม่นี้
ผลของการถกกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ และ ANSI ได้นำไปสู่ข้อเสนอที่เป็นทางการสำหรับ ISO ในการจัดตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานโครงการนี้ และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ได้ปรากฏว่าคณะกรรมการบริหารทางด้านเทคนิคขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (The Technical Management Board of ISO) ได้อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการสำหรับโครงการใหม่นี้ (Project Committee: PC) ที่เรียกว่า “ISO / PC 242–Energy Management” เพื่อที่จะพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการพลังงานใหม่ โดยจัดทำอยู่บนพื้นฐานของแนวทางการปฏิบัติที่ดีและก้าวล้ำหน้ามากที่สุด รวมถึงพิจารณาจากมาตรฐานระดับชาติหรือภูมิภาคที่มีอยู่เดิม
ในขณะที่ ANSI ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนเลขาธิการของคณะกรรมการโดยทำงานร่วมกับ Associa??o Brasileira de Normas T?cnicas (ABNT) ในการพัฒนา ISO / PC 242– Energy Management ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) นี้ จะเป็นการจัดตั้งเค้าโครงงานระดับสากลสำหรับอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือบริษัทโดยรวมทั้งหมด ในการที่จะจัดการทุกแง่มุมของพลังงานรวมไปถึงการจัดหาและการใช้พลังงานด้วย
ทำไมถึงต้องมีมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
มาตรฐานใหม่นี้จะช่วยจัดสรรด้านเทคนิค (Technical) และยุทธศาสตร์ทางการจัดการ (Management Strategies) ให้กับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy efficiency) และลดต้นทุน (Costs) รวมไปถึงการพัฒนาผลการปฏิบัติที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยอยู่บนพื้นฐานการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมเศรษฐกิจระดับชาติ โดยมาตรฐานนี้สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกได้กว่า 60%
ทั้งนี้มีการคาดหวังว่าบรรษัท (Corporations) หุ้นส่วนห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Partnerships) สาธารณประโยชน์ (Utilities) บริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงาน (Energy Service Companies) และภาคส่วนอื่น ๆ จะมีการใช้ ISO 50001 เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยลดความเข้มพลังงาน (Energy Intensity) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนในสถานประกอบการของตนเอง (รวมถึงของลูกค้าหรือผู้ส่งมอบของตนเอง) และใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเปรียบเทียบ (Benchmark) กับการบรรลุเป้าหมายของตนเอง และถึงแม้ว่าความตั้งใจแต่เดิมของมาตรฐานนี้จะนำมาใช้กับภาคส่วนอุตสาหกรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว มาตรฐานนี้ยังสามารถที่จะใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทที่มีความปรารถนาที่จะมีการจัดการอย่างสัมฤทธิ์ผลสำหรับวิธีการใช้พลังงานและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
ส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนามาตรฐานนี้ ทาง ISO/PC 242 จะเป็นผู้ให้คำจำกัดความศัพท์ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาข้อกำหนดสำหรับระบบการจัดการ (Management System Requirements) พร้อมกันกับจัดสรรแนวทางการใช้ (Guidance for Use) การประยุกต์ใช้ (Implementation) การตรวจวัด (Measurement) และมาตรวัด (Metrics) ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานนี้ ทั้งนี้ในการดำเนินการเพื่อความเข้ากันได้ (Compatibility) และโอกาสในการบูรณาการ (Integration) ก็เลยมีการคาดการณ์ว่ามาตรฐานนี้จะเอื้ออำนวยหลักการเดียวกันในการพัฒนาความต่อเนื่องของระบบการจัดการ และใช้วิธี Plan–Do–Check–Act (PCDA) เช่นเดียวกันกับที่ใช้ใน ISO 9001 และ ISO 14001
มีการจินตนาการกันไว้ว่า มาตรฐานที่จะเห็นในอนาคตข้างหน้าจะช่วยจัดสรรเค้าโครงงาน (Framework) สำหรับองค์กรที่จะผนวกเอาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) เข้ากับวิธีการจัดการขององค์กรนั้น ๆ และบรรดาองค์กรข้ามชาติที่มีสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ดำเนินการเฉพาะสาขา หรือใช้มาตรฐานที่สอดคล้องกันให้ทั่วทั้งองค์กรด้วยระเบียบวิธี (Methodology) ที่มีตรรกะอยู่บนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง และความสม่ำเสมอ สำหรับใช้ในการชี้บ่งและดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน นอกจากนี้แล้ว มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) ยังจะรวมไปถึงการจัดสรรในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น
* การช่วยเหลือองค์กรในการสร้างวิธีที่ดีกว่าสำหรับการใช้สินทรัพย์ประเภทที่ใช้พลังงานที่องค์กรมีอยู่
* ให้แนวทางดำเนินการในการใช้เกณฑ์มาตรฐานเปรียบเทียบ การตรวจวัด การจัดทำเอกสาร และการรายงานถึงการพัฒนาความเข้มพลังงาน และโครงการที่มีผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)
* สร้างความโปร่งใสและเอื้ออำนวยการสื่อสารการจัดการแหล่งพลังงาน
* ส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการพลังงานและเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีในการจัดการพลังงาน
* ช่วยเอื้ออำนวยในการประเมินและจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการสำหรับเทคโนโลยีทางด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
* จัดสรรเค้าโครงงานสำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน
* เอื้ออำนวยการพัฒนาสำหรับการจัดการพลังงานในบริบทของโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
* เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานขององค์กรโดยบูรณาการเข้ากับระบบการจัดการ ISO 14001 ที่องค์กรทำอยู่
* ให้องค์กรมีการดำเนินการด้านการจัดการพลังงานที่เป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติได้จริง ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
* ส่งเสริมให้องค์กรมีการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานให้คุ้มค่าการลงทุน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
* ส่งเสริมให้องค์กรควบคุมผู้ส่งมอบที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
การจัดประชุมครั้งแรกของ ISO/PC 242 เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 8–10 กันยายน 2551 ใกล้กับกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ที่เป็นผู้แทนประเทศ จำนวนกว่า 80 คน จาก 25 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งมาจากหลากหลายภูมิภาคของโลก และยังมีตัวแทนจากองค์กรความร่วมมืออื่น ๆ รวมถึงผู้แทนประเทศไทยจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าร่วมด้วย ความก้าวหน้าได้บังเกิดขึ้นในการถกกันในเรื่องทางเทคนิค และร่างมาตรฐานฯ ฉบับฝ่ายทำงานในครั้งแรก (Working Draft: WD) ก็ได้ถูกหมุนเวียนเพื่อขอความคิดเห็น
ซึ่งประเด็นสำคัญของการถกเถียง ก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องแน่ใจว่าสามารถที่จะเข้ากันได้ (Compatibility) กับชุดมาตรฐานระบบจัดการที่มีอยู่เดิม (Suit of ISO Management System Standards) ดังนั้นคณะกรรมการจึงต้องนำประเด็นสำคัญนี้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นฐานในการจัดทำร่างสำหรับองค์ประกอบทั่ว ๆ ไปที่พบในมาตรฐานระบบการจัดการทั้งหมดขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO)
ส่วนการจัดประชุมครั้งที่ 2 ของ ISO/PC 242 ได้จัดขึ้นที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนมีนาคม 2552 สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ถกกันแบบสืบค้นมากขึ้นในสาระสำคัญว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) มีลักษณะพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังมีการหารือกันถึงเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะของการใช้พลังงาน (Energy Performance) ความจำเป็นสำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และความจำเป็นสำหรับความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านพลังงาน ทั้งนี้หลังจากการประชุมในครั้งแรกนั้น ก็ได้มีการหมุนเวียนร่างมาตรฐานฯ 2 ครั้ง และหลังจากการประชุมที่ประเทศบราซิล ก็ตามมาด้วยร่างมาตรฐานฯ ฉบับคณะกรรมการ (Committee Draft: CD) ในช่วงเดือนเมษายน–มิถุนายน 2552
และด้วยธรรมชาติของมาตรฐาน ISO ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อกระบวนการเคลื่อนไปสู่ขั้นตอนร่างมาตรฐานฯ ฉบับคณะกรรมการ (Committee Draft: CD) บทบาทของคณะผู้แทนระดับชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าแต่ละชาติสมาชิกจะพัฒนาความคิดเห็นของตนบนร่างมาตรฐานฯ ที่ตามมา เช่นเดียวกับการลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับครั้งสุดท้ายที่จะมีขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2553 โดยผู้นำด้านพลังงานได้ถูกกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วมในประเทศของตนเองเพื่อที่จะสะท้อนภาพของคณะกรรมการ ซึ่งจะสอดประสานกับผู้แทนของประเทศในการเขียนมาตรฐาน
นับตั้งแต่จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ได้มีการกำหนดกรอบการทำงานที่จะให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี โดยมาตรฐานขั้นตอนสุดท้ายต้องพร้อมเผยโฉมสู่สาธารณชนในสิ้นปี พ.ศ. 2553 ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นงานที่ค่อนข้างจะข้ามผ่านไปได้ยาก เมื่อพิจารณาจากช่วงระยะเวลาที่กำหนดสำหรับการลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ (Balloting)
แต่อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับมาตรฐานระดับสากล ที่จะช่วยจัดสรรเครื่องมือการจัดการเพื่อดำเนินการกับประเด็นสำคัญของพลังงาน พร้อม ๆ ไปกับการประสานเข้ากันได้อย่างกลมกลืนกับกลุ่มมาตรฐานในระดับชาติที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการก้าวย่างอย่างรวดเร็วและความลื่นไหลของกระบวนการพัฒนามาตรฐาน
โดยปัจจัยสำคัญที่เท่าเทียมกันนั้นก็คือ ระดับความเป็นมืออาชีพอันน่าทึ่งของผู้เชี่ยวชาญ และเจตนารมณ์ของความร่วมมือกันที่แสดงออกมาของสมาชิกคณะกรรมการของโครงการ ซึ่งแต่ละบุคคลในคณะกรรมการจะนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญของตนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพลังงาน มาตรฐาน และอุตสาหกรรม มาผนึกรวมกันในความพยายามให้ได้มาซึ่งมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
เป็นที่คาดหมายกันว่า การเปิดตัวของ ISO 50001 จะยังผลให้เกิดการแพร่หลายของการยกระดับความเข้าใจในมาตรฐานนี้ในกลุ่มผู้ใช้พลังงานหลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละมาตรฐานระบบการจัดการที่ออกมาใหม่นั้นเป็นการพัฒนาขึ้นจากมาตรฐานก่อนหน้านี้ และอยู่บนบทเรียนของการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่มีเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้เอง มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) จึงมีความเข้มแข็งในการผนวกรวมการตรวจวัดสมรรถนะ (Performance Measurement) และข้อมูลไว้ด้วยเค้าโครงงานของระบบการจัดการ ดังนั้นพลังขับเคลื่อนของความสำเร็จของระบบการจัดการพลังงาน ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การจัดการกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และการใช้พลังงานอย่างรอบคอบมากขึ้นด้วย
ตารางที่ 1 แสดงแผนกำหนดการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
ข้อเปรียบเทียบระหว่าง ISO 14001 กับ ISO 50001
ISO 50001 (Energy Management System: EnMS) ถือเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ และได้ถูกยกร่างขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้คู่ขนานกับ ISO 14001 (Environmental Management System) ผลลัพธ์ก็คือ องค์กรที่มีการใช้ ISO 14001 อยู่แล้ว ก็ง่ายต่อการบูรณาการเอา ISO 50001 System เข้าไปในโครงสร้างขององค์กรที่มีอยู่เดิม ตัวอย่างเช่น The Identification of Energy Aspects และ Energy Update Methodology ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ใหม่ที่สุดของ ISO 50001 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังคงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการบูรณาการเพื่อให้เข้ากับ ISO 14001 Record Keeping System, Document Management System และ Training and Awareness Activities ด้วยเช่นกัน
ตารางที่ 2 แสดงองค์ประกอบหลักของ ISO 14001 System และ ISO 50001 System ตลอดจนเปรียบเทียบความเหมือนหรือแตกต่างของแต่ละองค์ประกอบระหว่าง 2 ระบบ
หมายเหตุ: (N) = New คือ เป็นของใหม่สำหรับ ISO 50001, (P) = Parallel คือ สามารถใช้คู่ขนานกับ ISO 14001, (F) = Fully Integrated คือ สามารถบูรณาการให้เข้ากับ ISO 14001 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยเพื่อรองรับมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
เมื่อทั่วโลกได้เล็งเห็นวิกฤติด้านพลังงานและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงได้ก่อให้เกิดวาระของการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) ขึ้นมา และในฐานะที่ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ดังนั้น ประเทศไทยก็ได้เข้าไปแสดงบทบาทในเวทีโลกนั้น พร้อมกับต้องเตรียมความพร้อมภายในประเทศในการรองรับมาตรฐานใหม่นี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจก็ตาม
สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านมาตรฐานของประเทศ ก็ได้เตรียมการจัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุง Energy Performance, Energy Efficiency และ Energy Intensity รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้กับองค์กรที่นำระบบนี้ไปใช้งาน ซึ่งสามารถใช้งานได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท อีกทั้งยังสามารถบูรณาการให้เข้ากับระบบอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ยังคงต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามหลักการ Plan–Do–Check–Act (PCDA) เช่นเดิม
ส่วน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้ามาสนับสนุนโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ร่างมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการมาตรฐานนี้ในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นการประชุมในครั้งแรก และได้มีการกำหนดโครงสร้างของมาตรฐาน มีการพิจารณาข้อเสนอร่างมาตรฐานจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงกำหนดแผนการจัดทำมาตรฐานและร่างมาตรฐาน ISO/WD 50001 ด้วย และต่อมาก็มีการประชุมครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องข้อคิดเห็นของ ISO/WD 50001 และปรับปรุงร่างเป็น ISO/ CD 50001 และการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ก็ได้พิจารณาข้อคิดเห็นที่ได้รับจาก ISO/ CD 50001 และมีการปรับปรุงร่างมาตรฐานเป็น IS/DIS 50001 ทั้งนี้เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำการกำหนดประกาศเป็นมาตรฐานต่อไป
นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้ ISO 50001 เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทาง สมอ. ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1037 ว่าด้วยมาตรฐานการจัดการพลังงานขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างมาตรฐานการจัดการพลังงานที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) รวมทั้งยังเตรียมความพร้อมในการผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐาน ISO 50001 และนำหลักการไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการพลังงานในองค์กรตนเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตารางที่ 3 แสดงแผนกำหนดการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001) สำหรับประเทศไทย
ประเทศไทยมีกฎหมายใดบ้างในขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการพลังงาน
ประเทศไทยได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 เม.ย. 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2535 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานและมีการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคารเป็นสำคัญ และต่อมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยออกเป็นพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 ธ.ค. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2551 ซึ่งถือได้ว่าเป็นฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่
นอกจากนี้ก็มีกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ คือ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงและประกาศกระทรวง ซึ่งปัจจุบันก็จะเป็นกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าวมีแนวทางการจัดทำโดยการอ้างอิงมาตรฐานต่าง ๆ ที่เป็นสากลดังเช่น ISO 9001:2000, ISO 14001, มอก.–18001, ANSI/MSE 2000 (A Management System for Energy) และ DA2403E:2001 (Energy Management–Specifications)
กลุ่มเป้าหมายตามกฎหมายข้างต้น ได้แก่ กลุ่มอาคาร กลุ่มโรงงาน และกลุ่มผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย (ที่มีเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน) โดยกลุ่มอาคารและกลุ่มโรงงาน จะมุ่งเน้นไปที่ที่มีการใช้พลังงานมาก มีศักยภาพในการประหยัดพลังงาน และมีความพร้อมของบุคลากร โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอาคารควบคุม/โรงงานควบคุม ซึ่งต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญครบถ้วนในการเข้าลักษณะเป็นอาคารควบคุม/โรงงานควบคุม ได้แก่ เรื่องบ้านเลขที่ และติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าตั้งแต่ 1,000 kW หรือติดตั้งหม้อแปลงรวมกันตั้งแต่ 1,175 kVA ขึ้นไป และจากข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่ามีจำนวนอาคารควบคุมทั้งสิ้น 1,953 แห่ง แบ่งเป็นของเอกชน 1,161 แห่งและราชการ 792 แห่ง ส่วนโรงงานควบคุมมีทั้งสิ้น 3,474 แห่ง
สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ มีดังนี้ คือ (1) การจัดการพลังงาน (2) ผู้ตรวจสอบพลังงาน (3) ผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน (4) การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยหน้าที่ของเจ้าของอาคารควบคุม/โรงงานควบคุมตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ (1) จัดให้มีการจัดการพลังงานตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (2) จัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานประจำอาคารควบคุม/โรงงานควบคุม ด้วยคุณสมบัติ จำนวนและหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้เจ้าของอาคารควบคุม/โรงงานควบคุมต้องดำเนินการตามนี้ คือ (1) พัฒนาและนำระบบการจัดการพลังงานมาใช้ (2) จัดทำรายงานการจัดการพลังงาน (3) จัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน โดยผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.) (4) ส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้ พพ. ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (ส่งรายงานฉบับแรกในเดือนมีนาคม 2553)
และจากข้อกำหนดตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม จำเป็นต้องเริ่มให้มีวิธีการจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยวิธีการจัดการพลังงานนั้นต้องมีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งมีการวางแผนการดำเนินการที่ดีและเหมาะสมกับองค์กร เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของการจัดการพลังงาน ซึ่งการดำเนินการนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ขั้นตอน ดังนี้คือ
(1) ตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
(2) การประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น
(3) นโยบายอนุรักษ์พลังงาน
(4) การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
(5) การกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(6) การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
(7) การตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน
(8) การทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน
จะเห็นว่า ประเทศไทยเราก็มีความพร้อมอยู่ไม่น้อย ที่จะรองรับ ISO 50001 ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ว่ามาตรฐานฉบับจริงจะออกมาทันใช้ภายในปลายปีนี้หรือไม่ ซึ่งถ้ามาตรฐาน ISO 50001 ออกมาในปลายปีนี้จริง ๆ ในปีหน้าเราก็คงมีมาตรฐาน ISO 50001 ฉบับภาษาไทยเป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดการพลังงานของเราได้อย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
* ISO 50001: Setting the Standard for Industrial Energy Management by Edwin Pinero, Summer 2009 Green Manufacturing News.
* The Aims of Energy Management System Standard: ISO 50001 by Edwin Pinero (ISO PC 242 Chairrman), Jan 26, 2010.
* บีโอไอ: สมอ.รักษ์โลกกับ ISO 50001 โดย สุนันทา อักขระกิจ (17 ม.ค. 2553)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด