ในช่วงแรก ความรับผิดชอบต่อสังคม จะเน้นไปที่กิจกรรมของการให้ หรือการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ ในเวลาต่อมาจึงได้มีการขยายการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบคลุมไปถึงประเด็นต่าง ๆ
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com
ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม
คำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility (SR) ได้มีการนำมาใช้กันตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะนำมาใช้กันในภาคธุรกิจ จึงทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) มากกว่าคำว่า SR (Social Responsibility) โดยในช่วงแรก ความรับผิดชอบต่อสังคม จะเน้นไปที่กิจกรรมของการให้ หรือการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ ในเวลาต่อมาจึงได้มีการขยายการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบคลุมไปถึงประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นด้านการปฏิบัติต่อแรงงาน การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การปกป้องผู้บริโภค และการต่อต้านทุจริตและคอรัปชัน ซึ่งอาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นได้อีก ตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ จากกระแสโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนารูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัย ส่งผลให้การตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถรับรู้ได้โดยบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่อยู่ในระยะใกล้ และระยะไกลจากสถานที่ตั้งขององค์กร รวมถึงนโยบาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่องค์กรได้มีการนำมาใช้ ก็จะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งโดยบุคคลและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรในการเข้ามามีบทบาทต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น ความคาดหวังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของสังคมที่มีต่อสมรรถนะขององค์กร การที่ชุมชนมีสิทธิในการรับรู้ถึงข้อกฏหมาย รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้โดยละเอียด เกี่ยวกับการตัดสินใจและกิจกรรมของบางองค์กร นอกจากนั้น ความจำเป็นในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Report) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานขององค์กร
คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือความเต็มใจขององค์กรที่จะดำเนินการต่าง ๆ โดยมีการนำประเด็นทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มาประกอบการตัดสินใจและการดำเนินการ การแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีจริยธรรม นอกจากนั้น จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวปฏิบัติสากลที่เป็นที่ยอมรับด้วย
ความรับผิดชอบต่อสังคมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีการเผยแพร่แนวความคิดนี้ ในปี 1987 จากรายงานของคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า Our Common Future ระบุว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของคนในรุ่นถัดไปในการตอบสนองต่อความต้องการในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (ดังแสดงในรูปที่ 1) ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีการเชื่อมโยงและมีผลกระทบซึ่งกันและกันด้วย
รูปที่ 1 แสดงองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แนวความคิดทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ ยังได้รับการเน้นย้ำมาอย่างต่อเนื่อง ในวงสัมมนาหรือการประชุมระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ ในปี 1992 และการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2002 ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม และโลกใบนี้ ไม่ใช่ความยั่งยืนหรือความอยู่รอดของบุคคล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น
ส่วนความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นสิ่งที่องค์กร มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใกล้เคียงกันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จะแสดงถึงความคาดหวังของสังคมที่องค์กรจะต้องนำมาพิจารณาในกำหนดวัตถุประสงค์โดยรวมของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
แนวปฏิบัติพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม
ในส่วนของแนวปฏิบัติพื้นฐานของความรับผิดต่อสังคม ตามมาตรฐาน ISO 26000 นี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม และการระบุและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม
การยอมรับในความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม จะประกอบด้วย การระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น กับการมีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังครอบคลุมไปถึงการเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยองค์กรจะต้องเคารพและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรด้วย
รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ขององค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคม
จากรูปที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ 3 รูปแบบ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม องค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย และผู้มีส่วนได้เสียกับสังคม
องค์กรกับสังคม โดยองค์กรจะต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าใจในความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้น โดยการพิจารณาจากหัวข้อหลัก (Core Subjects) และประเด็นสำคัญต่าง ๆ (Issues) ของความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยองค์กรจะต้องตระหนักถึงความหลากหลายของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร
ผู้มีส่วนได้เสียกับสังคม โดยองค์กรจะต้องทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากองค์กร กับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ถึงแม้ว่าผู้มีส่วนได้เสียจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่ต้องการก็อาจจะไม่สอดคล้องกันกับความคาดหวังของสังคมก็ได้
ดังนั้น ในการยอมรับถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม องค์กรจะต้องมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ทั้ง 3 รูปแบบเป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ผู้มีส่วนได้เสียและสังคม ต่างก็มีความต้องการและมุมมองทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไป
นอกจากนั้น ความมีประสิทธิผลของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจะเกิดขึ้นได้ เมื่อองค์กรได้มีการศึกษา และทำความเข้าใจถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 7 หัวข้อหลัก (Core Subjects) ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี สิทธิมนุษยชน ข้อปฏิบัติทางด้านแรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ความใส่ใจต่อผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยหัวข้อหลักต่าง ๆ เหล่านี้ จะครอบคลุมถึงผลกระทบหลัก ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่กำหนดขึ้นโดยองค์กร
ในแต่ละหัวข้อหลัก จะมีการระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรจะดำเนินการและคาดหวังถึงแนวทางที่องค์กรควรจะมี ดังนั้น องค์กรควรจะมีการทบทวนหัวข้อหลักทั้งหมด เพื่อระบุถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการโดยการประเมินความสำคัญของผลกระทบขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การยอมรับในความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของการตัดสินใจและกิจกรรม โดยเฉพาะในขั้นตอนของการวางแผนของกิจกรรมใหม่ ๆ ส่วนกิจกรรมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็ควรจะได้รับการทบทวนตามความจำเป็นด้วย
ขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ
ขอบเขตอิทธิผลและผลกระทบ หรือ Sphere of Influence จะหมายถึง ขอบเขตของความสัมพันธ์ทางการเมือง ข้อสัญญา เศรษฐกิจและอื่น ๆ ที่องค์กรมีขีดความสามารถในการสร้างผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือกิจกรรมของบุคคลหรือองค์กรอื่น
ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรม ผ่านการควบคุมทั้งอย่างเป็นทางการ และโดยพฤตินัย ซึ่งการควบคุมโดยพฤตินัย จะหมายถึง สถานการณ์ที่องค์กรหนึ่ง ๆ มีขีดความสามารถในการชี้นำการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจทางกฏหมาย หรืออำนาจอย่างเป็นทางการก็ตาม
โดยขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ จะประกอบด้วยความสัมพันธ์ทั้งภายในองค์กร และที่เหนือกว่าห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่ทั้งหมดของห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิผล และผลกระทบเสมอไป นอกจากนั้น อาจจะรวมไปถึงกลุ่มที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรข้างเคียง หรือคู่แข่งด้วย
เมื่อทำการประเมินถึงขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบ รวมถึงพิจารณาหน้าที่ความรับผิดชอบได้แล้ว องค์กรควรจะมีการดำเนินการตรวจสอบสถานะปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบในทางลบจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ทั้งนี้ องค์กร ยังต้องรับผิดชอบในการแจ้งเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้รับทราบ และดำเนินการในการหลีกเลี่ยง หรือบรรเทาผลกระทบในทางลบที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับองค์กรดังกล่าวด้วย
การระบุผู้มีส่วนได้เสีย
ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ตามมาตรฐาน ISO 26000 จะหมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดจากการตัดสินใจหรือกิจกรรมขององค์กร ด้วยผลประโยชน์ดังกล่าว จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงลักษณะของผลกระทบที่มีต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จะสามารถช่วยองค์กรในการระบุถึงผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดได้
องค์กรอาจจะมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากที่มีความหลากหลาย และบางครั้งมีความต้องการที่ขัดแย้งกันด้วย ตัวอย่างเช่น ผลประโยชน์ของคนในชุมชนสามารถเป็นผลกระทบในทางบวกจากองค์กร เช่น เกิดการจ้างงาน รวมถึงผลกระทบในทางลบจากองค์กรเดียวกัน เช่น การปล่อยมลพิษออกสู่ชุมชน
ในขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียบางราย อาจจะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากสำหรับองค์กร เช่น สมาชิก พนักงานหรือเจ้าของขององค์กร ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อจุดประสงค์ และความสำเร็จขององค์กร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้จะเหมือนกันทั้งหมด
ผู้มีส่วนได้เสียบางส่วน อาจจะมีการรวมกลุ่ม โดยมีจุดประสงค์ในการนำเสนอผลประโยชน์ของตนเองให้กับองค์กรได้รับทราบ แต่ก็ยังมีผู้มีส่วนได้เสียอีกมากที่ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม เพื่อแจ้งให้องค์กรได้รับทราบถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้อาจถูกมองข้ามหรือละเลยได้ เช่น กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ หรือคนในรุ่นถัดไป นอกจากนั้น กลุ่มที่ให้การสนับสนุนต่อประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรได้ ถ้าการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลกระทบที่สำคัญกับประเด็นเหล่านั้น
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จะเป็นการสานเสวนาที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะช่วยองค์กรในการกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เริ่มต้นโดยองค์กรเอง หรือเกิดขึ้นจากการตอบสนองขององค์กรจากการเริ่มต้นของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การประชุม การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชาพิจารณ์ การประชุมโต๊ะกลม คณะกรรมการที่ปรึกษา การให้ข้อมูลและคำปรึกษาอย่างเป็นระบบและเป็นประจำ การร่วมเจรจาต่อรอง และการแสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ควรจะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จะช่วยให้ประโยชน์ในหลายประเด็นกับองค์กร เช่น
• การสร้างความเข้าใจให้กับองค์กร ถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร
• การหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ในการทำให้เกิดประโยชน์จากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร รวมถึงการเรียนรู้จากผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้น
• การสร้างให้เกิดการรับรู้ ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อความน่าเชื่อถือขององค์กร
• การทบทวนสมรรถนะเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง
• การแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และความคาดหวังของสังคม
• การเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมในภาพใหญ่
• การสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร
• การปฏิบัติตามข้อกฏหมาย
• การระบุถึงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย หรือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียด้วยกันเอง
• การได้รับประโยชน์จากมุมมองที่หลากหลาย
• ความโปร่งใสในการตัดสินใจ และกิจกรรมขององค์กร
• ความร่วมมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ในตอนต่อไป จะอธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญทั้ง 7 ประการ ของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการดำเนินการขององค์กรตามหัวข้อหลัก และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคม
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด