ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้หลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 เพิ่มเข้ามาในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ผลิตต่างแข่งขันกันผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ผลิตภัณฑ์ย่อมมีอายุการใช้งาน โทรศัพท์มือถือก็มีวันเสื่อมเช่นกัน
จิรประภา ขจรบุญ
นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
และ น.ศ. หลักสูตร MS. in Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม
ปัจจุบันโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลไปกว่าจะคาดเดาได้ วันนี้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะสิ่งที่ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 เพิ่มเข้ามาในการดำรงชีวิตนั่นคือ โทรศัพท์มือถือ ที่ผู้ผลิตหลายค่ายต่างผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมาแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคเองมีหลายทางเลือกในการซื้อโทรศัพท์มือถือให้ตรงตามความต้องการทั้งด้านคุณภาพ ฟังก์ชันการใช้งานและราคา แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตขึ้นย่อมต้องมีอายุการใช้งาน โทรศัพท์มือถือก็เช่นกันที่ย่อมมีการเสื่อมประสิทธิภาพไปตามอายุการใช้งานหรือตามแต่ใจผู้บริโภคที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่เสมอ และมักจะซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่มาครอบครองแทนเครื่องเก่า
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ผู้บริโภคจัดการกับโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าอย่างไร? ซึ่งพบข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการเลิกใช้โทรศัพท์มือถือของโนเกียพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกส่วนใหญ่มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันในการเก็บโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าไว้หลังเลิกใช้งานโดยไม่คิดจะรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ ถึงร้อยละ 74 มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่นำมือถือเข้ากระบวนการรีไซเคิล (โนเกียแก๊ง, 2552) แต่มีอีกวิธีการหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้เป็นอย่างมากและปฏิบัติมานานแล้ว คือการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนโดยการนำโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าที่ยังคงมีสภาพดีไปขายเป็นโทรศัพท์มือสอง เผื่อแผ่ให้กับผู้บริโภครายอื่นที่มีทุนทรัพย์ต่ำ อีกทั้งเพิ่มทุนในการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย (ปรารถนา ฉายประเสริฐ, 2551)
อย่างไรก็ตามโทรศัพท์มือถือจะต้องเข้าสู่กระบวนการกำจัดในที่สุด เมื่อโทรศัพท์มือถือกลายเป็นของเสียโดยผ่านกระบวนการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ สาเหตุหลักในการจัดการของเสียนี้ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือจัดเป็นของเสียทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wastes) ที่มีองค์ประกอบอันเป็นอันตรายและมีพิษ สามารถแพร่กระจายปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมได้ หากไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม (Geraldo T.R.Silveira et al, 2010) มีการศึกษาผลกระทบขององค์ประกอบที่เป็นพิษของโทรศัพท์มือถือแล้วพบว่า โทรศัพท์มือถือประกอบด้วยธาตุมากกว่า 40 ธาตุ และมี 20 ธาตุที่เป็นธาตุจำพวกโลหะ (Metallic Element) ในจำนวนนี้มีถึง 12 ธาตุที่มีความเป็นพิษร้ายแรง และยังมีปริมาณถึงร้อยละ 35-40 โดยน้ำหนักของโทรศัพท์มือถือ (StEP, 2009; G.F.Protomastro, 2009; B.Y.Wu et al., 2008) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารตะกั่ว (Lead: Pb) ซึ่งใช้เป็นตัวเชื่อม (Solder) ในโทรศัพท์มือถือ
สารตะกั่วเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อมีปริมาณสารตะกั่วในเลือดที่ความเข้มข้นอย่างน้อย 2.5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลต่อไต ทำให้ทำงานผิดปกติ (EPA, 2009a) ซึ่งกล่าวได้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นแหล่งของสารตะกั่วที่สำคัญแหล่งหนึ่งทีเดียว นอกจากนี้แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือประกอบด้วย Nickel-Cadmium: Ni-Cd หรือ Lithium-ion หรือ Nickel-metal Hydride ยังประกอบด้วยธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษเช่น โคบอลต์ (Cobalt: Co) สังกะสี (Zinc: Zn) และทองแดง (Copper: Cu) ผู้ใช้หลายคนที่ไม่รู้วิธีกำจัด จึงนำไปทิ้งโดยการฝังกลบและเผาทิ้งถึงร้อยละ 73 ของประชากรสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้โลหะหนักจากแบตเตอรี่เหล่านี้มีการปลดปล่อยสู่ดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดินและสิ่งแวดล้อมได้ (EPA, 2009b)
อีกประการหนึ่งคือกระบวนการรีไซเคิลสามารถเปลี่ยนของเสียเหล่านี้ ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าสูงได้ โดยโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งสามารถกลับกลายเป็นวัตถุดิบได้ถึงร้อยละ 90 (Geraldo T.R. Silveira et al, 2010) ยกตัวอย่างโครงการรณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือใช้แล้วทั่วโลก Nokia Loves Earth ระบุว่าโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล มีส่วนประกอบภายในตัวเครื่องที่สามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 80 ประกอบด้วยวัสดุประเภทพลาสติกมากที่สุด ที่เหลือเป็นทองแดง เซรามิก อะลูมิเนียม ทองและวัสดุอื่นที่ไม่ใช่โลหะ ส่วนที่เป็นชิ้นส่วนพลาสติก โลหะ และเซรามิกนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด หากโทรศัพท์มือถือถูกนำไปรีไซเคิล 1 ล้านเครื่องจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12,585 ตัน ซึ่งชิ้นส่วนวัสดุเหล่านี้จะถูกนำมาทำการแปรรูปเป็นส่วนประกอบของรถจักรยาน กาต้มน้ำ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องดนตรี เป็นต้น แม้กระทั่งแหวนที่ทำจากแพลตินัม (Platinum: Pt) ก็เป็นผลผลิตของการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือเก่านั่นเอง นอกจากนี้ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการรีไซเคิล หรือนำเศษชิ้นส่วนที่เหลือไปบดเป็นชิ้นส่วนของวัสดุก่อสร้าง หรือนำไปถมถนน
รูปที่ 1 โครงการ Nokia Loves Earth (ธัชสรัญ แก้วศรี, 2553)
ในฐานะที่ Nokia เป็นธุรกิจที่มีโครงการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมใหญ่ที่สุดในโลก Nokia จึงให้ผู้ใช้นำโทรศัพท์มือถือเก่ามาร่วมโครงการรีไซเคิลได้ใน 85 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยตั้งกล่องรับรีไซเคิลที่ Nokia Shop และ Nokia Care ทุกสาขา ในร้าน Power Buy และห้าง Central ทุกสาขา เพียงนำโทรศัพท์มือถือเก่าและอุปกรณ์เสริมทุกยี่ห้อไปหย่อนลงกล่องตามจุดดังกล่าว (อุณา ตัน, 2551) นอกจากนี้ค่ายมือถืออื่น ๆ ก็มีโครงการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือเช่นกันได้แก่ Sony Ericsson มีโครงการ Take-back เชิญชวนให้นำโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่า หรือ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ใส่ลงในกล่องรีไซเคิลที่ศูนย์บริการ Sony Ericsson หรือที่ร้านค้าที่ได้รับการแต่งตั้ง
ค่าย Samsung มีโครงการ Samsung Green Planet โดยเปิดตัว Samsung Recycling Box ที่รองรับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล รวมถึงอุปกรณ์ชิ้นส่วนดิจิตอลต่าง ๆ เพื่อนำไปรีไซเคิล ณ ร้าน Samsung Brand Shop และศูนย์บริการลูกค้า Samsung ทั่วประเทศ ค่าย Motorola เองก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยมีที่ตั้งในกรุงเทพฯ 3 จุดได้แก่ สำนักงานใหญ่ ชั้น 22 ตึก Two Pacific หรือ Motorola Shop ที่ชั้น 1 Seacon Square สำหรับต่างจังหวัดที่ Motorola Service Center (Akanek, 2550) นอกจากนี้ค่าย Apple ก็มีโครงการ i-Pod and Mobile Phone Recycling สามารถส่งไป Recycle ผ่านทางไปรษณีย์หรือร้านตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Apple ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ผู้ใช้ที่นำผลิตภัณฑ์มารีไซเคิลจะได้รับส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ถึงร้อยละ 10 (Geraldo T.R. Silveira et al, 2010)
รูปที่ 2 กระบวนการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ (สุภาภรณ์ นิลยกานนท์, 2552)
จะเห็นได้ว่าผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดการของเสียอันตรายจากโทรศัพท์มือถือแท้จริงแล้วคือผู้ผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ซึ่งนโยบายในการจัดการของเสียของผู้ผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือจัดเป็นหลักการสำคัญในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างหนึ่ง ที่มีประสิทธิผลในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ขององค์กรหรือเรียกว่า Green Logistics and Supply Chain Management (GLSCM) (นิลวรรณ ชุ่มฤทธิ์ และทศพล เกียรติเจริญผล, 2551) หลักการที่เกี่ยวข้องในการจัดการของเสียนั้นจะอยู่ในกิจกรรมโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในทุกอุตสาหกรรมการผลิต
โดยไชยยศและมยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง (2550) ให้รายละเอียดว่า เป็นปฏิบัติการส่งคืนสินค้าและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีความสำคัญทั้งด้านการบริการลูกค้าและด้านสิ่งแวดล้อม สินค้าส่งคืนบริษัทอาจเกิดจากสินค้ามีความบกพร่อง หมดอายุ ส่งผิด แลกเปลี่ยน (Trade-ins) ส่งซ่อมตามระยะเวลาการประกันคุณภาพ ส่งคืนเพื่อเปลี่ยนใหม่หรือนำมาแปรสภาพใหม่ (Recycle) นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุขัยหรือหมดสภาพใช้งานหรือวัสดุเหลือใช้จากการผลิต การจำหน่ายหรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว
นอกจากนี้ The Council of Logistics Management ได้นิยาม Reverse Logistics ว่าเป็นกระบวนการวางแผน ปฏิบัติการ ควบคุมต้นทุนในการไหลของวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต ผลิตภัณฑ์ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมตั้งแต่ผู้บริโภคกลับมายังจุดเริ่มต้นการผลิต เพื่อใช้ประโยชน์ในมูลค่าสินค้าที่ยังมีอยู่หรือเพื่อทำลายทิ้งอย่างเหมาะสม หรือหากกล่าวอย่างเจาะจง Reverse Logistics ก็คือกระบวนการเคลื่อนของสินค้าจากจุดหมายปลายทางในทิศทางย้อนกลับเพื่อใช้ประโยชน์ในมูลค่าสินค้าที่ยังมีอยู่หรือเพื่อทำลายทิ้งอย่างเหมาะสมนั่นเอง (Dale S. Rogers and Ronald S.Tibben-Lembke, 1998) ซึ่งพบได้ในองค์ประกอบของโซ่อุปทานในแต่ละองค์กรที่ต้องประกอบไปด้วยโลจิสติกส์ไปข้างหน้า (Forward Logistics) และโลจิสติกส์แบบย้อนกลับ (Reverse Logistics) ได้ดังแสดงในรูปที่ 3
รูปที่ 3 กระบวนการโลจิสติกส์ไปข้างหน้าและย้อนกลับ (Yi Mei Zhang et al., 2011)
โลจิสติกส์ย้อนกลับถือเป็น 1 ใน 6 วัตถุประสงค์โลจิสติกส์เชิงปฏิบัติการของสถานประกอบการที่ต้องบรรลุเพื่อวัดการปฏิบัติงานโลจิสติกส์ (Operating Logistics) ให้สำเร็จในเรื่องการตอบสนองที่รวดเร็ว (Rapid Response) มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด (Minimum Variance) มีสินค้าคงคลังน้อยที่สุด (Minimum Inventory) มีการรวบสินค้าเป็นหน่วยใหญ่เพื่อเคลื่อนย้าย (Movement Consolidation) มีคุณภาพ (Quality) และสนับสนุนโลจิสติกส์ย้อนกลับและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Reverse Logistics and Product Life Cycle Support)
โดยวัตถุประสงค์ข้อนี้มุ่งเน้นให้องค์กรมีข้อผูกพันและความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ เช่น การรับประกันสินค้า เมื่อสินค้าบกพร่องหรือเสียหายระหว่างช่วงอายุการประกันก็จะต้องนำกลับมาซ่อมแซม การเรียกสินค้ากลับคืนอันเนื่องจากสินค้ามีข้อบกพร่อง สินค้าหมดอายุ ขยะและบรรจุภัณฑ์ การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับจะต้องออกแบบให้มีต้นทุนต่ำ สินค้ามูลค่าสูงเช่นเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ต้องการการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาว การบำรุงรักษาจะต้องมีอะไหล่และบริการสนับสนุน บริการสนับสนุนหลังการขายเป็นหน้าที่ของฝ่ายโลจิสติกส์ในการนำสินค้ากลับมาซ่อมแซม สต็อกอะไหล่อย่างเพียงพอและให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ บริการหลังการขายทำให้สินค้ามีอายุการใช้งานยาวนานซึ่งเป็นการสนับสนุนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (ไชยยศและมยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง, 2550) ตลอดจนหน้าที่ในการกำจัดของเสียเมื่อหมดอายุการใช้งานด้วย
โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์จัดเป็นของเสียที่เป็นของแข็ง (Solid Wastes) ที่มีการจัดการของเสียที่จำเพาะเจาะจง ดังนั้นหากกล่าวถึงโลจิสติกส์ย้อนกลับสำหรับการกำจัดของเสียที่เป็นของแข็ง อาจกล่าวได้ว่าประกอบด้วยการวางแผนการขนส่ง (Transportation) และคลังสินค้า (Inventor) ในการรวบรวมของเสีย (Waste Collection) การจัดส่ง (Delivery) และการกำจัด (Disposal) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ (Yi Mei Zhang et al, 2011) ดังรูปที่ 4 ได้แก่
รูปที่ 4 โซ่อุปทานของกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นของแข็ง (Solid Waste Management)
(Yi Mei Zhang et al, 2011)
1) หน่วยรวบรวมของเสีย (Solid Waste Collection Stations) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการรับและรวบรวมของเสียทั้งหมดที่มีการผลิต คัดแยก และจัดส่งของเสียที่สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไปสู่ผู้ผลิตใหม่ (Remanufacturer)
2) ศูนย์กลางกระจายของเสีย (Waste Distribution Centers) ซึ่งจะทำการจัดเก็บและส่งต่อของเสียหน่วยรวบรวมของเสียไปยังหน่วยกำจัดต่อไป
3) หน่วยกำจัดและบำบัดของเสีย (Waste Disposal/Treatment Facilities) ตัวอย่างเช่น นำไปถมที่ เผาทิ้ง หรือเป็นปุ๋ยให้กับพืช
ยกตัวอย่างการจัดการของเสียโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาซึ่งนำเสนอโครงการรีไซเคิลของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ดังรูปที่ 5 จากแผนภาพดังกล่าวยืนยันได้ว่าองค์กรผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือวางกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับขององค์กรออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 หน่วยรวบรวมของเสีย (Solid Waste Collection Stations) ได้แก่ Collection point Partner store และ Manufacturer Store ดังเช่นปรากฏในประเทศไทยที่มีกล่องรับโทรศัพท์มือถือสำหรับรีไซเคิลที่ร้านตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ส่วนที่ 2 ศูนย์กลางกระจายของเสีย (Waste Distribution Centers) ซึ่งก็คือตัวแทนแต่ละค่ายโทรศัพท์มือถือในแต่ละประเทศ และส่วนที่ 3 หน่วยกำจัดและบำบัดของเสีย (Waste Disposal/Treatment Facilities) ได้แก่ บริษัทรับ Recycle ของเสียเพื่อแยกชิ้นส่วน ผลิตซ้ำใหม่ นำมาปรับปรุงและขายซ้ำ หรือนำไปบริจาค
รูปที่ 5 การรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกา
(Geraldo T.R.Silveira et al, 2010)
ตัวอย่างโลจิสติกส์ย้อนกลับอื่น ๆ ที่พบเห็นได้ในปัจจุบันโดยเฉพาะการเรียกคืนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นในกรณีแบตเตอรี่โทรศัพท์ยี่ห้อ Nokia รุ่น BL-5C ที่มีการตรวจสอบพบว่ามีสินค้าล็อตที่ไม่ได้มาตรฐานหลุดออกมาจำหน่าย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยทางศูนย์ Nokia ได้เซ็ตระบบทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าไปตรวจสอบหมายเลขแบตเตอรี่ของตนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และสามารถเอากลับไปเปลี่ยนคืนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จากกรณีก็จะเห็นได้ว่าทาง Nokia ได้วางแนวทางแก้ไขเมื่อประสบปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถจัดการในเรื่องโลจิสติกส์ย้อนกลับให้ลูกค้าเกิดความสะดวกสบายในการใช้บริการ ซึ่งจะช่วยรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าให้คงอยู่ได้ (Logistics Thai Club, 2550)
หรือตัวอย่าง บริษัท โฮย่ากลาสดิสต์ ซึ่งผลิต Substrate (แผ่นแก้ว) เพื่อนำไปเคลือบ Media อันเป็นส่วนประกอบหนึ่งใน Hard Disk โดยสินค้าจะมีข้อกำหนดคุณสมบัติที่ค่อนข้างละเอียด ทั้งในเรื่องขนาด ลักษณะของผิวแก้ว และความสะอาด บ่อยครั้งที่บริษัทจะได้รับคืนสินค้ากลับจากลูกค้าอันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผลการตรวจสอบ Incoming แล้วพบข้อบกพร่อง ลูกค้าจะทำการส่งกลับสินค้าล็อตนั้นทั้งหมดกลับมาเปลี่ยน หรือเมื่อลูกค้านำสินค้าที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตของตนแล้วเกิดปัญหา หรือส่งผลให้คุณภาพผลิตภัณฑ์สุดท้ายมีความแปรปรวนสูง ซึ่งลูกค้าเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากวัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็น Substrate ดังนั้นลูกค้าจะส่งตัวอย่างในล็อตนั้นกลับมาให้วิเคราะห์หาสาเหตุร่วมกัน หรืออีกกรณีที่ทางบริษัทได้ตรวจพบปัญหาคุณภาพหลังจากได้ทำการ Shipping สินค้าไปแล้ว ทางบริษัทจะเข้าไปชี้แจงเพื่อขอเรียกคืนสินค้าล็อตนั้น ๆ แล้วทำการจัดส่งสินค้าล็อตใหม่ให้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการจัดการทางด้าน Reverse Logistics ทั้งสิ้น โดยในหลาย ๆ ครั้งที่ทางบริษัทไม่สามารถหาเหตุผลที่รับฟังได้ให้กับลูกค้า ก็จะส่งผลในการลดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าได้ (Logistics Thai Club, 2553)
ในการผลิตสินค้ารายการหนึ่ง ๆ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหลุดรอดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพไปยังมือลูกค้ามีอยู่เสมอ การจัดการ Reverse Logistics ที่ดีจะช่วยในเรื่องความเชื่อมั่นของลูกค้าได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการออกแบบและควบคุมการผลิตที่ดีขึ้น ช่วยลดการซ่อมแซมที่ไม่เกิดมูลค่าและเพิ่มความเคร่งครัดในการตรวจสอบเพื่อจัดส่งสินค้าที่ไม่พบข้อบกพร่องกลับออกสู่ตลาด แต่อย่างไรก็ตามการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับมักจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าใช้จ่ายการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า การเคลื่อนย้ายสินค้าจากผู้บริโภคคืนบริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าจากบริษัทไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะสินค้าอยู่กระจัดกระจายห่างไกลกัน มีจำนวนน้อย การเก็บรักษา เคลื่อนย้ายและขนส่งยุ่งยาก ทำให้ค่าใช้จ่ายการขนส่งต่อหน่วยสูง กิจกรรมโลจิสติกส์ย้อนกลับจึงยังขาดระบบที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือนั้นถือเป็นวิธีการกำจัดขยะทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจและกำลังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นนโยบายหลักในการบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทานขององค์กรที่เรียกว่า โลจิสติกส์ย้อนกลับ ที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือผ่าน 3 หน่วยงานหลักคือหน่วยรวบรวมของเสีย ศูนย์กระจายของเสีย และหน่วยกำจัดและบำบัดของเสียแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีการเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ไม่ได้นำไปขายหรือทำประโยชน์ใดต่อ ให้นำมารีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านทางช่องทางหน่วยรวบรวมของเสียไม่ว่าจะเป็นกล่องรับรีไซเคิล ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ หรือแม้แต่การส่งไปรษณีย์คืนไปยังบริษัทผู้ผลิตก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้การบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วให้กับประเทศโลกที่สามที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจนก็เป็นอีกทางหนึ่งในการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือด้วย นอกจากนี้โลจิสติกส์ย้อนกลับยังรวมถึงการจัดการเรียกคืนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานคืนซึ่งองค์กรจะต้องกำหนดเป็นมาตรการในการดำเนินการเพื่อแก้ไขและจัดการกับของเสียที่เกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด
นอกจากนี้หากจะทำให้การดำเนินการด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับของการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือประสบความสำเร็จมากที่สุด รัฐบาลเองควรเข้ามามีบทบาทในการออกระเบียบหรือกฎหมายบังคับใช้ (Enforcement) โดยระบุความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นผู้สร้าง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัด ครอบคลุมถึงประชาชนทุกคนต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้การกำจัดของเสียอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้เป็นไปอย่างถูกต้องและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยอาจกำหนดช่วงอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือ (Shelf Life) สูงสุดสำหรับการกำจัด อนึ่งปัจจุบันผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแต่ละค่ายล้วนแต่มีนโยบายสนับสนุนการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถืออย่างเป็นรูปธรรม ขาดเพียงการสนับสนุนจากภาครัฐและประชาชนในการสนองนโยบายนี้ อีกทั้งภาครัฐควรกระตุ้นให้การศึกษาแก่ประชาชน มุ่งปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักวิธีการกำจัดโทรศัพท์มือถือด้วยการรีไซเคิลแทนการเก็บไว้หรือทำลายด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกวิธีดังได้กล่าวมาแล้ว
อย่างไรก็ตามโทรศัพท์มือถือจะมีอายุการใช้งานมากหรือน้อยและทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างรวดเร็วหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละคนและคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์มือถือ ดังนั้นจึงอยากขอเสนอแนะเคล็ดลับง่าย ๆ ในการประหยัดพลังงานของโทรศัพท์มือถือเพื่อให้คงอายุการใช้งานของโทรศัพท์ได้ยาวนานได้แก่ ถอดสายชาร์จแบตเตอรี่ออกเมื่อเต็มแล้ว ลดความสว่างหน้าจอลง ตั้งค่าสแตนด์บายไว้ให้ต่ำที่สุด ปิดเสียงที่ไม่ต้องการใช้ เช่น ปุ่มกด ปิดฟังก์ชันบลูทูธไวร์เลสเมื่อไม่ได้ใช้งาน แต่ถ้าโทรศัพท์มือถือพังเกินจะเยียวยาหรือไม่ต้องการจะเยียวยาเพราะมีใจให้ของใหม่ก็ควรจะนำมารีไซเคิลแทนการเก็บรักษาไว้ไม่ได้ใช้งาน
เอกสารอ้างอิง
o ไชยยศ ไชยมั่นคง และมยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง. 2550. กลยุทธ์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อแข่งขันในตลาดโลก. นนทบุรี: ซี.วาย.ซิซเทิม พริ้นติ้ง จำกัด.
o ธัชสรัญ แก้วศรี. 2553. ค้นหาทูตโนเกีย รณรงค์การรีไซเคิลมือถือ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://news. siamphone.com/news-01716/html.htm
o นิลวรรณ ชุ่มฤทธิ์ และทศพล เกียรติเจริญผล. 2551. การจัดการ Green Supply Chain และ Reverse Logistics ของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารประกอบการนำเสนอออนไลน์).
o เข้าถึงได้จาก: http://www.thaieei.com/eeidownload/newiuceo_forum3/255104/green-supply-chain-revers-logistics.pdf
o โนเกียแก๊ง. 2552. We recycle บริการ recycle มือถือจากโนเกีย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.nokiagang.com/forums/we-recycle-t5699.html
o ปรารถนา ฉายประเสริฐ. 2551. มือถือเก่าเบื่อแล้วอย่างทิ้ง (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://sawangpattaya.org/sawangschool/index.php?topic=405.0
o สุภาภรณ์ นิลยกานนท์. 2552. บุกโรงงานรีไซเคิลมือถือ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.kroobannok.com/blog12873.htm
o อุณา ตัน. 2551. โครงการ Nokia loves Earth รณรงค์การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือใช้แล้วทั่วโลก (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://sawangpattaya.org/sawangschool/index.php?topic=405.0
o Akanek. 2007. Recycle มือถือของคุณ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.community.akanek.com/B. Y. Wu, Y.C. Chan, A. Middendorf, X.Gu and H.W.Zhong. 2008. Assessment of toxicity potential of metallic elements in discarded electronics: a case study of mobile phone in China. Journal of Environmental Sciences 20, pp. 1403-1408.
o Dale S. Rogers and Ronald S.Tibben-Lembke. 1998. Going backwards: Reverse Logistics Trends and Practices. Reno, Nevada: Reverse Logistics Executive Council.
o Environmental Protection Agency (EPA). 2009a. Concentrations of Lead in Blood. Available at: http://yosemite.epa.gov/OCHP/OCHPWEb.nsf/content/bloodlead.concentrations.htm
o Environmental Protection Agency (EPA). 2009b. Batteries. Available at: http://www.epa.gov/osw/Conserve/materialsbattery.htm
o Gerald T.R. Silveira, Shoou-Yuh Chang. 2010. Cell phone recycling experiences in the United States and potential recycling options in Brazil. Waste Management 30, pp. 2278-2291.
o G.F. Protomastro. 2009. Management of Electronic Scrap in Argentina. Third BOKU Waste Conference 2009. Available at: http://waste-conference.boku.ac.th/start/php.
o Logistics Thai Club. 2010. Reverse Logistics. Available at: http://www.logisticsthaiclub.com/index.php?mo=3&art =443050
o StEP – Solving the E-Waste Problem. 2009. Available at: http://www.step-initiative.org/initiative/what-is-e-Waste.php
o Yi Mei Zhang, Guo He Huang and Li He. 2011. An inexact reverse logistics model for municipal solid waste management systems. Journal of Environmental Management 92, pp. 522-530.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด