เนื้อหาวันที่ : 2007-04-02 17:28:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6896 views

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรม

การอนุรักษ์พลังงาน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้นคือ การประหยัดพลังงานโดยการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตออกไปให้ได้มากที่สุด ความสูญเปล่าในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีอยู่ในทุกส่วนงาน ขึ้นกับว่าจะมีสัดส่วนอยู่มากน้อยเท่าไร โดยความสูญเปล่าในอุตสาหกรรมนี้หมายถึงความต้องการในการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม

การอนุรักษ์พลังงาน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้นคือ การประหยัดพลังงานโดยการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตออกไปให้ได้มากที่สุด ความสูญเปล่าในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีอยู่ในทุกส่วนงาน ขึ้นกับว่าจะมีสัดส่วนอยู่มากน้อยเท่าไร โดยความสูญเปล่าในอุตสาหกรรมนี้หมายถึงความต้องการในการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมนั่นเอง โดยความสูญเปล่าที่พบ จะมีอยู่ 3 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกันคือ

.

 

.

1. ความสูญเปล่าจากการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ

ความสูญเปล่านี้เกิดจากขาดการจัดการที่ดี เนื่องจากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแม้แต่การวางแผนด้านการจัดการ เช่น เครื่องจักรขัดข้องเนื่องจากขาดการบำรุงรักษา ของเสียที่เกิดในกระบวนการผลิต ไม่มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานในแต่ละแผนกโดยตรง  และพนักงานขาดจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานไม่มีแผนบำรุงรักษาที่สมบูรณ์ ฯลฯ  

 .

2. ความสูญเปล่าจากจากกรรมวิธีการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ

เป็นกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนมากเกินความจำเป็น กรรมวิธีผลิตที่มีการสูญเสียพลังงานสูง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ กระบวนการผลิตด้านไฟฟ้าไม่ดี มีปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต 

 .

3. ความสูญเปล่าที่เกิดจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขาดประสิทธิภาพ

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้วัสดุมากเกินความจำเป็น การออกแบบที่ผลิตได้ยาก การเลือกใช้วัสดุที่มีราคาแพงเกินไปโดยอาจมีวัสดุอื่นสามารถทดแทนได้โดยมีราคาถูกกว่า เป็นต้น ทั้ง 3 หลักใหญ่ ๆ นี้ถือว่าเป็นความสูญเสียในส่วนของต้นทุนการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรม และต่อไปนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการสูญเปล่า ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ

 .
 กรณีศึกษาที่ 1 อุตสาหกรรมการหล่อและชุบโลหะ
 .
1. สภาพปัญหาที่ทำให้เกิดความสูญเปล่า

 .

1.1 ด้านไฟฟ้า

1.1.1 กระบวนการผลิตด้านไฟฟ้าไม่ดี                                                                                   

1.1.2 ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่ำ      

 .
1.2 ด้านความร้อน/ความเย็น

1.2.1 น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่มีราคาสูง                                                 

1.2.2 ประสิทธิภาพของเตาหลอมต่ำ

 .
1.3 ด้านการบริหารจัดการพลังงาน

1.3.1 ไม่มีการกำหนดนโยบาย/วัตถุประสงค์ ด้านพลังงานอย่างชัดเจน

1.3.2 ไม่มีการอบรมและสร้างแรงจูงใจด้านการจัดการพลังงานแก่พนักงาน

1.3.3 การเลือกซื้อชนิดเชื้อเพลิง ปัจจัยวัตถุดิบและค่าขนส่งยังไม่เหมาะสม

1.3.4 ขาดทีมงานด้านอนุรักษ์พลังงาน

1.3.5 ไม่มีตารางการบำรุงรักษาอุปกรณ์การใช้พลังงาน

1.3.6 ไม่มีการจัดเตรียมสำรองผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า

 .
1.4 ด้านการลงทุน

1.4.1 ระบบแสงสว่าง ใช้บัลลาสต์จากชนิดแกนเหล็กธรรมดาที่ใช้กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ ทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างสิ้นเปลือง

1.4.2 เครื่องใช้ไฟฟ้า พัดลมเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีสภาพเก่าเพราะใช้งานมานานและใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างสิ้นเปลือง

1.4.3 เตาหลอม ไม่หุ้มฉนวนผนังเตาหลอม ทำให้เกิดการสูญเสียที่ผนังเตา ไม่มีฝาปิดเตาขณะหลอม ทำให้เกิดการสูญเสียจากการแผ่รังสีความร้อนจากปากเตา

 .
2. แนวทางและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดความสูญเปล่า
 .
2.1 แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ

2.1.1 ปรับปรุงกระบวนการผลิตของแต่ละสายการผลิต

2.1.2 ลดการสูญเสียความร้อนที่ปากเตาหลอม                                                                                                       

2.1.3 ศึกษาความเป็นได้ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

2.1.4 ลดของเสียจากระบวนการผลิต                                                                     

2.1.5 บริหารและจัดการให้เครื่องจักรทำงานต่อเนื่อง                                                            

2.1.6 เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน โดยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

2.1.7 คัดเลือกผู้ร่วมทีมงานอนุรักษ์พลังงานโดยความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารพร้อมกำหนดขอบเขตงาน                            

2.1.8 จัดทำตารางการบำรุงรักษาเครื่องจักร      

 .

2.2 วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพ  

2.2.1 ตรวจวัดภาระงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า                                                                                  

2.2.2 ศึกษาข้อมูลของน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นที่มีราคาถูกกว่า โดยสามารถใช้งานได้กับหัวฉีดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

2.2.3 ศึกษา วิเคราะห์และหาสาเหตุของตำแหน่งในกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสีย

2.2.4 ลดพื้นที่ปากเตาหลอม เพื่อลดการสูญเสียความร้อน                    

2.2.5 หลีกเลี่ยงภาวะไม่มีโหลดของมอเตอร์       

2.2.6 ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสม          

2.2.7 ศึกษาข้อมูลย้อนหลังของการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมสำรองผลิตภัณฑ์ไว้ล่วงหน้า

2.2.8 จัดการสภาพแวดล้อมของโรงงานให้เกิดความสบายและปลอดภัย

2.2.9 คัดเลือกมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมจากทีมงานอนุรักษ์พลังงานที่จัดตั้งขึ้น

2.2.10 จัดทำคู่มือการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์

 .
3.ผลลัพธ์ของการดำเนินการ-ตัวชี้วัด
3.1 ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนเฉลี่ย

        ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ (ธ.ค.2544-ก.ค.2545)     36,262 MJ/ตัน 

        หลังจากดำเนินโครงการ (ส.ค.-พ.ย.2545)            31,666 MJ/ตัน 

        ดัชนีที่ลดลง                                                                   12.7 %

 .

3.2 มีทีมงานด้านอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน

3.3 มีคู่มือปฏิบัติงานในการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์

 .
4. สรุปและข้อเสนอแนะ

- ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย เทียบจากก่อนและหลังดำเนินโครงการ ดัชนีลดลง 12.7 %

- มีทีมงานด้านอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน

- มีคู่มือปฏิบัติงานในการบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ 

- ควรมีโครงการพัฒนาอบรมพนักงานในด้านการผลิตในแต่ละหน่วยผลิต

- ควรมีการแบ่งขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้นและจัดกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน

- ควรมีโครงการอบรมพัฒนาเรื่องการปรับปรุงและการควบคุมคุณภาพ

- ควรมีโครงการอบรมพัฒนาเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร

 .

แนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

.

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรม

ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทั้ง โรงงานอุตสาหกรรมหรืออาคารที่มีการใช้ระบบแสงสว่าง ต่างก็จะมีความสูญเสียของการใช้พลังงานแบบเสียเปล่าเกิดขึ้นโดยมิได้คำนึงถึง จึงจำเป็นจะต้องลดความสูญเปล่าที่มีในกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยการ

 .

1. ผลิตและบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการผลิตที่อยู่ภายใต้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเป็นส่วนที่ใช้พลังงานโดยส่วนใหญ่ ฉะนั้นแล้วการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้งานอยู่ให้อยู่ในสภาพที่ดี เหมาะสม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

 .

การผลิตและการบำรุงรักษาระบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ยังรวมไปถึงการเสริมสร้างนิสัยประหยัดพลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น (Good Housekeeping) เพื่อลดความสูญเปล่าที่เกิดจากการจัดการไม่ดี วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้ในขั้นต้นของการรณรงค์อนุรักษ์พลังงานในบริษัท ทั้งภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทั่วทั้งองค์กร โดยสามารถนำแนวความคิดด้าน TQC โดยจัดกลุ่มคุณภาพ

Quality Control Circleและแนวทางการนำเสนอแนวคิดแบบ Bottom-Up System มาประยุกต์ใช้

 .
กรณีศึกษาที่ 2

โรงงานแห่งนี้ได้มีการดำเนินการโดยใช้หลักการ TQC คือให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน โดยใช้หลักการ Bottom-Up Suggestion System โดยมีการจัดให้มีทีมงานที่มาจากส่วนต่าง ๆ เช่น ส่วนงานซ่อมบำรุง ส่วนงานพลังงาน หน่วยงานวิจัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากภายนอกบริษัท ซึ่งการดำเนินที่ผ่านมาสามารถลดความสูญเสียในกระบวนการและเพิ่มกำลังการผลิตได้ อันส่งผลให้เกิดความต้องการพลังงานน้อยลง โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานสำหรับกระดาษไม่เคลือบผิวจาก 1,375 บาทต่อตัน เหลือ 1,374 บาทต่อตัน และกระดาษชนิดเคลือบผิวลดลงจาก 1,385 บาทต่อตัน เหลือ 1,345 บาทต่อตัน

 .

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการป้องกันการสูญเสียพลังงาน โดยการหุ้มฉนวนอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบจ่ายไอน้ำและซ่อมรอยรั่วของไอน้ำจากอุปกรณ์จ่ายไอน้ำ โดยงานหุ้มฉนวนต้องลงทุนประมาณ สี่หมื่นบาท และสามารถประหยัดได้ปีละห้าหมื่นบาท หรือคืนทุนได้ในสิบเดือน ส่วนการซ่อมรอยรั่วสามารถประหยัดได้มากถึง 774,368 บาทต่อปี

.

2. ให้ความสำคัญการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพต่ำมาใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง

เพื่อลดความสูญเปล่าที่เกิดจากการผลิตที่ไม่ดี ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางหลักที่สามารถทราบถึงเงินลงทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับค่อนข้างชัดเจน แต่มักขาดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง อีกทั้งมีกิจการจำนวนมากอยู่ระหว่างภาวะขาดสภาพคล่องทำให้โครงการประเภทนี้ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

.

กรณีศึกษาที่ 3

กรรมการบริหารได้มีนโยบายในการอนุรักษ์พลังงาน โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยโครงการดังกล่าวได้มีการพิจารณาด้านต่าง ๆ 3 ด้านคือ การเพิ่มกำลังการผลิต การลดการใช้พลังงาน และการปรับปรุงให้มีความคงทนมากขึ้น โดยแนวทางในการปรับปรุงพัฒนามาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น หนังสือ World Cement ที่ปรึกษา Suppliers โดยมีกิจกรรมที่ทางบริษัทได้ดำเนินงานแล้วดังนี้

1. การเปลี่ยน Variable Speed Motor มาใช้ Inverter

1.1 Separator C1-311 ลดความต้องการไฟฟ้า 4.738 KW หรือ 5,458 บาทต่อเดือน

1.2 Separator C2-15A ลดความต้องการไฟฟ้า 5.199 KW หรือ 5,989 บาทต่อเดือน

1.3 Separator C3-311 ลดความต้องการไฟฟ้า 7.634 KW หรือ 8,794 บาทต่อเดือน

1.4 Screw Feed ลดความต้องการไฟฟ้า 1.974 KW หรือ 2,274 บาทต่อเดือน

 .

2. โครงการเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5

เงินลงทุน 1,315,100 บาท ประหยัดได้ 11,825 บาทต่อเดือน คืนทุนใน 30 เดือน (คิดค่าไฟฟ้าและอะไหล่รวมกัน)
 .
3. เปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการทำงาน (Re-Think, Re-Process and Re-Design)

การลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การดัดแปลงปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และระบบพลังงานในกระบวนการผลิต รวมทั้งการเปลี่ยนมาใช้พลังงานรูปแบบอื่น เป็นการลดความสูญเปล่าที่เกิดจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบการผลิตที่ไม่ดี โดยการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานนี้อาจต้องอาศัยทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาร่วมกันดำเนินงาน จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ อาทิ วิศวกร นักเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายนี้เองทำให้อุตสาหกรรมจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หากแต่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถจัดสรรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งทีมงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาได้ จะสามารถเสริมความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี และยังจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต การออกแบบ ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

 .

กรณีศึกษาที่ 4

บริษัทได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยการออกแบบ Shoe Press สำหรับบีบกดน้ำออกจากเยื่อแทนลูกรีด Roller แบบเดิมที่ส่วนของ Press Part ดังรูป
.

.

ลักษณะของ Shoe Press นั้นทำให้เยื่อมีพื้นที่สัมผัสกับแรงกดที่มากข้นที่ Shoe Press เนื่องจากลูกรีดที่เป็นยางจะบีบกดให้เยื่อแนบติดกับ Shoe ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ลดปริมาณการใช้ไอจาก 33 ตันต่อชั่วโมง เหลือ 25 ตันต่อชั่วโมง

.

กรณีศึกษาที่ 5

โครงการ "การแก้ปัญหากระดาษยุบบน Roller Conveyor"

จากในขั้นตอนการผลิตกระดาษลูกฟูก การลำเลียงกระดาษออกจากสายพานนั้น กระดาษจะวิ่งอยู่บนลูกกลิ้งเหล็ก โดยใช้พนักงาน 1 คน คอยแยกและผลักกระดาษให้ออกมา แล้วกระดาษที่ออกมาแต่ละครั้งยังมีความร้อนสะสมจึงไม่แข็งแรงพอ เมื่อมาสัมผัสกับลูกกลิ้งเหล็ก ทำให้ขอบของลูกกลิ้งถูกกระดาษทับเป็นรอยยุบ ทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพ จึงเป็นเหตุจูงใจให้นำเอาหลัก VE ประยุกต์มาใช้ในการแก้ไขปัญหากระดาษยุบ โดยทำการปรับปรุงด้วยการทดลองใช้ฟองน้ำชนิดอ่อนพันลูกกลิ้งเหล็ก ซึ่งผลที่ได้รับนั้นสามารถแก้ปัญหากระดาษยุบได้ 100% และมีความสะดวกมากขึ้นในการแยกและลำเลียงกระดาษได้รวดเร็วขึ้น

 .

                สามารถประเมินเป็นจำนวนเงินที่ได้จากที่กระดาษไม่เสียหาย 216,666 บาท/ปี 

                ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อฟองน้ำในการหุ้มในปีนั้น = 1,200 บาท 

                ดังนั้น จุดคุ้มทุน                                                  = 1,200/216,666 ปี

                เท่ากับ 0.005 ปี หรือประมาณ 2 วัน

.

จากกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจบริการที่ได้จากผลการดำเนินการให้บริการปรึกษาแนะนำและให้ความช่วยเหลือด้านการประหยัดพลังงาน จำเป็นที่จะต้องนำแนวทางทั้ง 3 คือ 1) ผลิตและบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ, 2) ให้ความสำคัญการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพต่ำมาใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และ 3) ผลิตและบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ มาผสมผสานและพัฒนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับวิธีการต่าง ๆ ในเรื่องการลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจโดยรวม จึงจะเกิดการบริหารจัดการพลังงานสมบูรณ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมได้

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด