การจำแนกต้นทุนตามลักษณะเป็นการพิจารณาจากลักษณะพื้นฐานของต้นทุนในทางกายภาพ
ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
การจำแนกต้นทุนตามลักษณะ
การจำแนกต้นทุนตามลักษณะเป็นการพิจารณาจากลักษณะพื้นฐานของต้นทุนในทางกายภาพ โดยทั่วไปส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต มีต้นทุนดังต่อไปนี้
1. วัตถุดิบทางตรง (Direct Material) วัตถุดิบทางตรงเป็นต้นทุนในส่วนของวัตถุดิบที่มีลักษณะซึ่งสามารถสังเกตได้โดยง่ายและระบุถึงมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเข้าสู่หน่วยผลผลิตที่เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างวัตถุดิบทางตรง เช่น ผ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ น้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ดีเซล เหล็กที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์
2. แรงงานทางตรง (Direct Labor) แรงงานทางตรงเป็นแรงงานของพนักงานผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำการผลิตโดยตรงต่อการแปรสภาพวัตถุดิบที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิต จนได้เป็นสินค้าสำเร็จรูป ตัวอย่างแรงงานทางตรง เช่น พนักงานควบคุมเครื่องจักรในกระบวนการผลิต พนักงานในการประกอบชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม ค่าแรงงานที่จ่ายให้พนักงานคนหนึ่ง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานทางตรง แต่บางส่วนเป็นแรงงานทางอ้อมด้วย เนื่องจากทำงานในลักษณะงานสนับสนุนที่ช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรในกระบวนการผลิต แต่หลังจากภาระงานในส่วนการผลิตเสร็จแล้ว พนักงานคนดังกล่าวอาจทำหน้าที่ในส่วนของการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้วย งานการซ่อมบำรุงเป็นงานสนับสนุนที่ช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาติดขัดในระหว่างกระบวนการผลิต ค่าจ้างแรงงานในส่วนของการควบคุมเครื่องจักรในการผลิตเป็นแรงงานทางตรง แต่ค่าจ้างแรงงานส่วนที่เป็นการซ่อมบำรุงจะเป็นแรงงานทางอ้อม
3. ค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct Expenses) ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะรวมถึงรายจ่ายลงทุนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากวัตถุดิบทางตรงและแรงงานทางตรงที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งโดยเฉพาะ หรืองานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น
1. ต้นทุนของการเช่าเครื่องจักรที่ใช้เฉพาะกับงานใดงานหนึ่ง หรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งโดยเฉพาะ
2. ต้นทุนของแม่พิมพ์ที่ใช้ในการออกแบบ วาดแบบ หรือต้นแบบของงานหนึ่ง ๆ หรือผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ
3. ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับสถาปนิก ช่างสำรวจ หรือที่ปรึกษาในลักษณะอื่น ๆ
4. ต้นทุนการขนส่งไปยังสถานที่การดำเนินงานในส่วนงานหนึ่งโดยเฉพาะ
5. ต้นทุนของแก้ไขงานเสีย การทดสอบ หรือการทดลองที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นกระบวนการดำเนินงานจริงในครั้งหนึ่ง ๆ
6. ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
7. ค่าเช่าเครื่องมือ อุปกรณ์ โรงงานที่ใช้เพื่อการทำงานใด หรือผลิตภัณฑ์ใดโดยเฉพาะ
8. ส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่ใช้กับงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ
9. ค่าเบี้ยประกันภัยที่ทำสำหรับการทำงานใดโดยเฉพาะ
รายการต้นทุนที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นจะถูกจัดเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง เมื่อใช้แนวคิดต้นทุนที่สามารถระบุเข้าสู่งานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะได้อย่างชัดเจน รายการต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นต้นทุนทางตรงหรือไม่นั้น จะตัดสินใจที่ความสามารถในการติดตาม หรือระบุปริมาณทรัพยากร เพื่อการระบุมูลค่าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นแต่ละหนึ่งหน่วยต้นทุนได้อย่างชัดเจนหรือไม่ คำว่าหน่วยต้นทุนนั้นเป็นไปได้ทั้งแผนกงาน หน้าที่งาน เขต สาขา ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เงินเดือนผู้จัดการสาขา ค่าเสื่อมราคา หรือค่าเช่าอาคาร ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นต้นทุนทางตรงที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับสาขา แต่เป็นต้นทุนทางอ้อมเมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องกันต่อการเกิดหน่วยผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย หรืองานใดงานหนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่กล่าวถึงข้างต้นก่อให้เกิดประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ หรืองาน มากกว่าหนึ่งขึ้นไป
ต้นทุนรวมขององค์ประกอบต้นทุน 3 รายการแรกได้แก่ วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายทางตรง คือ ต้นทุนขั้นต้น (Prime Costs) อย่างไรก็ตาม The Chartered Institute of Management Accountants (London): CIMA สถาบันดังกล่าวให้นิยามของต้นทุนขั้นต้น ว่าประกอบด้วยรายการวัตถุดิบทางตรงและแรงงานทางตรงเท่านั้น ค่าใช้จ่ายทางตรงจึงไม่ถูกรวมไว้ในต้นทุนขั้นต้นตามคำนิยามของสถาบัน CIMA เนื่องจากเห็นว่า ต้นทุนทางตรงจะต้องสามารถระบุได้ว่าเข้าสู่หน่วยต้นทุนหนึ่ง ๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ได้อย่างชัดเจน
4. ค่าใช้จ่ายในโรงงาน (Factory Overhead) หรือค่าใช้จ่ายในการผลิต (Manufacturing Overhead) เป็นต้นทุนส่วนของวัตถุดิบทางอ้อม แรงงานทางอ้อม และค่าใช้จ่ายทางอ้อม คำว่า วัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Material) สามารถจะอธิบายได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการผลิตที่ทำให้ได้ผลผลิตแต่ละหน่วยอย่างสมบูรณ์ แต่การใช้ทรัพยากรส่วนที่เป็นวัตถุดิบทางอ้อมในแต่ละหน่วยผลผลิตจะมีจำนวนที่ไม่มากนัก ทำให้การคำนวณมูลค่าที่เป็นตัวเงินที่มีความถูกต้องเหมาะสมทำได้ยาก หรือมีความซับซ้อนจนประโยชน์ที่ได้รับจากความชัดเจนดังกล่าวอาจจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูญเสียไป ตัวอย่างเช่น น้ำมันเครื่องที่ใช้ในการหล่อลื่นเครื่องจักรที่เดินเครื่องในการผลิตสินค้าแต่ละหน่วย ด้ายที่ใช้ไปในการตัดเย็บ เครื่องเขียนที่ใช้ในระหว่างการทำงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ (ดินสอ ยางลบ ปากกา)
แรงงานทางอ้อม (Indirect Labor) เป็นต้นทุนในส่วนของแรงงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิต ซึ่งไม่สามารถจะระบุได้โดยง่ายว่าใช้ไปเท่าใด คำนวณมูลค่าที่เป็นตัวเงินอย่างชัดเจนถูกต้อง หรือแน่นอนได้ยาก หรือไม่สามารถสังเกตได้ง่าย ตัวอย่างเช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย เสมียน ผู้ควบคุมงาน พนักงานซ่อมบำรุงและบริการทั่วไป
ค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect Expenses) ครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มต้นกระบวนการผลิต จนกระทั่งโอนสินค้าสำเร็จรูปที่ได้จากกระบวนการผลิต หรือคลังสินค้าออกไป ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ไม่สามารถจัดประเภทเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงได้จะถูกจัดประเภทเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม
การรวมวัตถุดิบทางตรงกับแรงงานทางตรงเข้าด้วยกันเรียกว่าต้นทุนขั้นต้นดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และถ้าทำการรวมรายการแรงงานทางตรงกับค่าใช้จ่ายในโรงงาน หรือค่าใช้จ่ายในการผลิตเข้าด้วยกันจะเรียกว่าเป็นต้นทุนแปรสภาพ (Conversion Costs) การแปรสภาพที่เกิดขึ้นนี้เป็นการแปรสภาพวัตถุดิบที่นำเข้ากระบวนการผลิตให้ได้เป็นสินค้าสำเร็จรูปออกมา
5. ค่าใช้จ่ายในการขาย การจัดจำหน่าย และการบริหาร (Selling, Distribution and Administrative Expenses) ค่าใช้จ่ายในการขายและการจัดจำหน่ายนั้นโดยปกติจะเริ่มต้นเมื่อต้นทุนการผลิตได้เสร็จสิ้นลง ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าสำเร็จรูปที่ได้ถูกขายออกไปก่อให้เกิดรายได้จากการขาย หรือยอดขาย ซึ่งครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในระหว่างการขาย การบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง การจัดส่ง ค่าโฆษณา ค่าจ้างพนักงานขาย ค่านายหน้า ค่าใช้จ่ายคลังสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารงานขาย
ค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการวางแผนการดำเนินงาน การควบคุมการบริหารงานโดยทั่วไป โดยปกติค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะไม่สามารถคิดเข้าสู่แผนกงานการผลิตผลิตภัณฑ์ แผนกงานขายได้ จึงจัดมาเข้าประเภทเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ตัวอย่างรายการค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เช่น เงินเดือนประธานบริษัท ค่าตอบแทนคณะกรรมการบริหารงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบัญชีการเงิน และแผนกงานอื่น ๆ บ่อยครั้งที่เงินเดือนผู้จัดการจะถูกปันส่วนเข้าไว้ในค่าใช้จ่ายโรงงานคิดเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต
ผลรวมของต้นทุนทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นเรียกว่า ต้นทุนการผลิตเพื่อขาย หรือต้นทุนรวม การจัดประเภทต้นทุนตามลักษณะดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นแสดงได้ดังรูปที่ 1 ต่อไปนี้
รูปที่ 1 การจำแนกต้นทุนตามลักษณะต้นทุน
การจำแนกต้นทุนตามพฤติกรรมต้นทุน
การจำแนกต้นทุนในกลุ่มนี้จะจำแนกออกเป็น ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร ต้นทุนผสม โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของต้นทุนที่กล่าวถึงทั้ง 3 ประเภทย่อยข้างต้นนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมต้นทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของผลผลิต หรือกิจกรรม หรือปริมาณ กิจกรรมอาจจะอยู่ในรูปของหน่วยผลผลิต ชั่วโมงการทำงาน ยอดขาย และอื่น ๆ
* ต้นทุนคงที่
ต้นทุนคงที่เป็นต้นทุนรวมสำหรับรอบระยะเวลาหนึ่งที่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผลผลิต หรือปริมาณของกิจกรรมจะมีการผันผวนขึ้นลงไปบ้าง ต้นทุนเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักกันชื่อว่า ต้นทุนงวดเวลา ซึ่งมีกำลังการผลิตที่เตรียมพร้อมให้สามารถใช้ได้ในทันที่ที่ต้องการ หรือเมื่อมีความจำเป็น เรียกว่าเป็นกำลังการผลิตสูงสุดที่พร้อมใช้ ตัวอย่างของต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่า ค่าภาษีทรัพย์สิน ค่าเสื่อมราคา ค่าสาธารณูปโภค ค่าโฆษณา ค่าเบี้ยประกันภัย ต้นทุนคงที่ดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นเช่นเดิมตามระยะเวลาที่ผ่านไป แม้ว่าจะไม่มีผลผลิต หรือไม่มีงานเกิดขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมจึงเรียกว่าเป็นต้นทุนคงที่เมื่อสะท้อนถึงเวลาที่ผ่านไป ๆ ในแต่ละวัน เดือน หรือปี ลักษณะของต้นทุนคงที่ใด ๆ สามารถแสดงได้ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 ต้นทุนคงที่
อย่างไรก็ตามคงจะไม่ถูกต้องนักที่ต้นทุนคงที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเลย แนวคิดพื้นฐานของการพิจารณาว่า “คงที่” เป็นการอ้างอิงถึงว่าจะยังคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์ที่มีต่อปริมาณในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ (ช่วงที่มีความหมาย) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเสมอในทุกสถานการณ์ ถ้าเกินกำลังที่จะสามารถทำได้ ต้นทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณที่เกินกว่าจะทำได้จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายถึงว่าช่วงที่มีความหมายต่อการพิจารณา หรือต่อการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนในลักษณะหลังนี้ แสดงได้ดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 ต้นทุนคงที่เป็นช่วง
เมื่อพิจารณาลักษณะพฤติกรรมในรูปที่ 3 แล้วจะเห็นได้ว่าต้นทุนคงที่ในแต่ละช่วงระดับกิจกรรมจะมีจำนวนที่แตกต่างกันไปที่ระดับกิจกรรมในช่วงที่ต่างกัน จากรูปที่ 3 กล่าวได้ว่า
1. ต้นทุนคงที่ยังคงเท่ากับ 100,000 บาทในช่วงกิจกรรมการผลิตจำนวน 40,000–80,000 หน่วย
2. ต้นทุนคงที่ยังคงเท่ากับ 150,000 บาทในช่วงกิจกรรมการผลิตที่เกินกว่า 80,000 หน่วย โดยถ้ามีความต้องการผลิตมากกว่า 80,000 หน่วย จะต้องจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาระงานส่วนที่เกินกำลังการผลิต เช่น ต้นทุนในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพจะต้องเพิ่มขึ้น ต้นทุนของการควบคุมกระบวนการให้มีประสิทธิภาพจะต้องเพิ่มขึ้น
3. ต้นทุนคงที่จะเท่ากับ 50,000 บาทถ้าระดับกิจกรรมผลิตเท่ากับ 0–20,000 หน่วย อธิบายตรงนี้ได้ว่าเมื่อปริมาณการผลิตน้อยกว่า 20,000 หน่วย ต้นทุนคงที่บางรายการอาจจะไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าปิดโรงงานชั่วคราว หรือปริมาณการผลิตลดลง ต้นทุนหลาย ๆ รายการอาจไม่จำเป็นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยงานบัญชีต้นทุน พนักงานบางคนในส่วนคลังวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามการจะเลิกจ้างบุคลากรในส่วนงานผลิตทุกคนออกไปอาจจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้นส่วนที่ยังคงจำเป็นต้องรักษาไว้เพื่อรองรับปริมาณการผลิตที่ไม่เกินไปกว่า 20,000 หน่วย จึงทำให้ต้นทุนคงที่บางส่วนยังคงต้องเกิดขึ้นต่อไป
* ต้นทุนผันแปร
ต้นทุนผันแปรเป็นต้นทุนทุกรายการที่มียอดรวมของต้นทุนผันแปรไปตามระดับกิจกรรมการดำเนินงาน และเป็นสัดส่วนโดยตรงกับผลผลิตที่ได้ โดยทั่วไปจะพบว่ารายการวัตถุดิบทางตรงและแรงงานทางตรงเป็นต้นทุนผันแปร เช่น ถ้าสินค้าสำเร็จรูปหนึ่งหน่วยมีความต้องการใช้วัตถุดิบเป็นจำนวนเงิน 50 บาท การผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นทุก ๆ หนึ่งหน่วยจึงจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับหน่วยละ 50 บาท สินค้าสำเร็จรูปจำนวน 10 หน่วยจึงมีวัตถุดิบทางตรงรวมเท่ากับ 500 บาท (50 บาท x 10 หน่วย) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาต้นทุนผันแปรต่อหน่วยผลผลิตจะพบว่ามีจำนวนเท่ากันสำหรับทุก ๆ หนึ่งหน่วยที่ผลิตเพิ่มขึ้นในที่นี้คือ หน่วยละ 50 บาท
ค่าใช้จ่ายในการผลิตผันแปร หรือค่าใช้จ่ายโรงงานผันแปร ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองโรงงาน วัตถุดิบทางอ้อมใช้ในการผลิต ค่านายหน้าพนักงานขาย วัสดุสิ้นเปลืองใช้ไปในสำนักงาน ค่าขนส่งออก ลักษณะเส้นกราฟของต้นทุนผันแปรแสดงได้ดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 ต้นทุนผันแปร
* ต้นทุนผสม
ต้นทุนผสมมีลักษณะของต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรรวมอยู่ด้วยกัน ต้นทุนผสมเหล่านี้อาจเป็นต้นทุนกึ่งผันแปร หรือต้นทุนกึ่งคงที่ เนื่องจากถ้าพิจารณาเฉพาะส่วนที่มีพฤติกรรมเป็นต้นทุนผันแปรเพียงอย่างเดียว จะพบว่ามูลค่าต้นทุนรวมจะผันแปรเป็นสัดส่วนเดียวกันกับปริมาณ หรือระดับกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่การที่มีต้นทุนคงที่จำนวนขั้นต่ำเป็นส่วนประกอบร่วมกับต้นทุนผันแปรจึงทำให้ยอดรวมของต้นทุนผสมหรือต้นทุนรวมไม่ผันแปรเป็นสัดส่วนเดียวกันกับระดับกิจกรรม
ลักษณะของพฤติกรรมต้นทุนกึ่งคงที่จะพบว่าต้นทุนจะคงที่ ณ ช่วงระดับกิจกรรมหนึ่ง แต่ถ้าเกินกว่าช่วงกิจกรรมนั้นแล้วต้นทุนจะผันแปรไปตามระดับกิจกรรมส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นแสดงได้ดังรูปที่ 5 ตัวอย่างรายการต้นทุนผสมที่มีพฤติกรรมเป็นกึ่งผันแปร เช่น เงินเดือนพนักงานเท่ากับ 2,500 บาทต่อสัปดาห์บวกโบนัส 10 บาทต่อหน่วยผลิตเสร็จ
รูปที่ 5 ต้นทุนกึ่งคงที่
ถ้าต้นทุนผสมที่มีลักษณะพฤติกรรมในช่วงแรกเป็นต้นทุนผันแปร กล่าวคือเมื่อระดับกิจกรรมเปลี่ยนต้นทุนรวมจะเปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนเดียวกันกับระดับกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การผันแปรไปตามระดับกิจกรรมหรือ หรือผลผลิตนั้นจะมีจุดสูงสุด ณ ขั้นใดขั้นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าเกินไปกว่านั้น ต้นทุนส่วนที่เกินกว่าระดับกิจกรรมสูงสุดนั้นจะมีพฤติกรรมเป็นต้นทุนคงที่ ต้นทุนผสมที่มีลักษณะของต้นทุนกึ่งผันแปรนี้สามารถแสดงได้ดังรูปที่ 6
รูปที่ 6 ต้นทุนกึ่งผันแปร
สมการต้นทุนผสม หรือต้นทุนรวม สามารถแสดงได้ดังนี้
ต้นทุนผสม = ต้นทุนคงที่รวม + (หน่วยผลผลิต x ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด