เนื้อหาวันที่ : 2011-07-08 11:59:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14394 views

การผลิตไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีรางพาราโบลิก

ดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญมากของโลก พลังงานที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์มีค่ามหาศาล นั้นหมายความว่า พลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยและเดินทางมายังพื้นโลกย่อมมีค่ามากมายเช่นกัน

ทนงศักดิ์ วัฒนา

          เป็นที่ทราบกันดีว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญมากของโลก รวมถึงการสร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ ให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งมนุษย์ ดวงอาทิตย์มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.4 ล้านกิโลเมตร อยู่ห่างจากโลก 150 ล้านกิโลเมตร มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ พลังงานที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์มีค่ามหาศาล หรือประมาณ 3.9x1029 ล้านวัตต์ นั้นหมายความว่า พลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยและเดินทางมายังพื้นโลกย่อมมีค่ามากมายเช่นกัน

พลังงานแสงอาทิตย์ที่เดินทางมายังชั้นบรรยากาศนอกสุดของโลกจะมีความเข้มสูงถึง 1,370 วัตต์ต่อตารางเมตร และตกมายังพื้นโลกจะเหลือ 800-1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร ซึ่งมีค่ามากพอที่มนุษย์จะใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนดวงอาทิตย์ได้ มนุษย์รู้จักใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์มาช้านานแล้วในรูปแบบต่าง ๆ มากมายโดยไม่ใช้เทคโนโลยีมากมาย ต่อมาเริ่มมีการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากพลังงานของดวงอาทิตย์มากขึ้น เช่น การผลิตไฟฟ้าโดยเซลล์แสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ เป็นต้น หรืออาจแสดงรูปแบบการใช้ประโยชน์จากพลังงานของอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 ภาพรวมของเทคโนโลยีพลังงานจากดวงอาทิตย์ (ที่มา: www.stirlingenergy.com)

เทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์
          เทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ สำหรับประเทศไทยมีการใช้หรือเทคโนโลยีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรงในการตากแห้งผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความร้อนในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีหลอดสุญญากาศในอุตสาหกรรมเครื่องทำน้ำร้อน หรือเทคโนโลยีการใช้ความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยใช้อุปกรณ์รวมแสง (Concentrating Solar Technology) ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความหลากหลายในการใช้งาน หรือให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาการใช้ความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยใช้อุปกรณ์รวมแสงเพื่อการผลิตไฟฟ้า (Concentrating Solar Power Plant) ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการใช้งานใน 3 รูปแบบ คือ การใช้รางพาราโบลิกในการรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Parabolic Trough) หอคอยรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Power Tower) และเทคโนโลยีจานรวมแสง (Parabolic Dish Power Plant) ดังแสดงในรูปที่ 2 รูปที่ 3 และรูปที่ 4
 

  

รูปที่ 2 การใช้รางพาราโบลิกในการรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Parabolic Trough Power Plant)

รูปที่ 3 การใช้หอคอยรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Power Tower)

รูปที่ 4 เทคโนโลยีจานรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Parabolic Dish Power Plant)

          จากที่กล่าวมารูปแบบของการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์เพื่อการผลิตไฟฟ้ามีหลายรูปแบบ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวเฉพาะการใช้รางพาราโบลิกในการรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า (Parabolic Trough Power Plant) เท่านั้น

เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากรางพาราโบลิก
          เทคโนโลยีการเพิ่มความเข้มของแสง (Concentrated Solar) ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบ คือ Parabolic Trough, Fresnel Lens, Dish Sterling และ Solar Tower ซึ่งประสิทธิภาพของทั้งสี่แบบขึ้นอยู่กับความเข้มของแรง (Radiation Properties) และประสิทธิภาพของตัวรับแสง (Solar Receiver), ซึ่งไปตามสมการที่ 1

 
 
          เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแบบรางพาราโบลิก (Parabolic Troughs) มักจะใช้แผ่นกระจกหรือวัสดุสะท้อนแสงโค้งหน้าตัดรูปพาราโบลามีลักษณะเป็นรางยาว ทำหน้าที่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังท่อหรือวัสดุรับแสงยาวขนานกับรางตรงตำแหน่งโฟกัสของรางพาราโบลา เพื่อถ่ายเทพลังงานความร้อนให้กับของเหลวซึ่งเป็นสารทำงาน เพื่อทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและสามารถนำพลังงานความร้อนไปใช้งานได้ ดังรูปที่ 5 และรูปที่ 6 โดยการทำความร้อนด้วยวิธีนี้สามารถทำอุณหภูมิสูงถึง 400 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิสูงมากทำให้น้ำในท่อกลายเป็นไอน้ำ ต่อจากนั้นจะถูกส่งไปยังกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ซึ่งแกนต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าไปใช้งานต่อไป

  รูปที่ 5 แสดงลักษณะแผ่นรับแสงแบบรวมแสง ชนิด Parabolic Troughs

 

รูปที่ 6 การประยุกต์ใช้งานระบบแผ่นรับแสงแบบรวมแสง ชนิด Parabolic Troughs

รูปที่ 7 แสดงไดอะแกรมของโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยใช้รางพาราโบลิก SEGS VIII กำลังการผลิต 80 MVe

          ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยรางพาราโบลิก ในรูปที่ 7 ถูกออกแบบโดยใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จากพาราโบลิกร่วมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเป็นระบบเสริมในกรณีที่แสงอาทิตย์มีความเข้มแสงไม่พอ หรือในเวลากลางคืน ซึ่งไม่มีแสงอาทิตย์ ระบบจะทำงานโดย ปั๊มน้ำมัน Hot Oil จะส่งน้ำมันร้อน ซึ่งเป็นสารทำงานไปตามท่อ และผ่านไปยังท่อดูดซับรังสี (Receiver) ซึ่งวางในตำแหน่งโฟกัสของรางพาราโบลิก มีลักษณะเป็นรางโค้งรูปทรงพาราโบลา น้ำมันร้อนจะรับพลังงานความร้อนจากการรวมแสงของรางพาราโบลิก จนมีอุณหภูมิสูง อาจสูงถึง 400 OC และเคลื่อนที่ไปยังอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งใช้น้ำเป็นสารรับพลังงานความร้อนทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำ และจะถูกส่งผ่านไปยังเครื่องจักรไอน้ำ (Steam Turbine) ทำให้ใบพัดของเครื่องยนต์กังหันไอน้ำหมุน ซึ่งมีแกนต่อไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ไอน้ำส่วนที่ผ่านใบกังหันไอน้ำจะถูกส่งให้กลั่นตัวในเครื่องควบแน่น (Condenser) ก่อนจะถูกปั๊มน้ำส่งเข้าระบบผลิตไอน้ำอีกครั้ง การทำงานในช่วงการผลิตไอน้ำ จำทำงานด้วยวัฏจักร Rankine

          เทคโนโลยีการผลิตความร้อนและไฟฟ้าจากรางพาราโบลิก ระบบจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก (Solar Field), ส่วนวัฏจักรแรงคิน (Rankine Cycle) รวมทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

รูปที่ 8 แสดงส่วนประกอบของระบบผลิตความร้อนและไฟฟ้าจากรางพาราโบลิก

          1. ส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก (Solar Field) ทำหน้าที่ในการเพิ่มความเข้มของแสงมักใช้กระจกโค้งเป็นวัสดุรวมแสงไปยังตำแหน่งจุดโฟกัสของกระจกโค้ง ซึ่งที่ตำแหน่งโฟกัสจะมี Absorber Tube ภายในบรรจุสารทำงาน โดยทั่วไปมักใช้น้ำเป็นสารทำงาน ส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๆ ดังนี้

รูปที่ 9 แสดงส่วนประกอบทั่วไปของส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก

          1.1) กระจกโค้งรูปพาราโบลา รูปทรงพาราโบลาจะมีลักษณะโค้ง จะประกอบด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน คือ จุดโฟกัส จุดยอดของพาราโบลา แกนพาราโบลา ไดเร็กตริก และลาตัสเรก ส่วนประกอบต่าง ๆ ของพาราโบลา ดังแสดงในรูปที่ 7 รูปแบบของพาราโบลา จะมี 2 รูปแบบคือ มีแกน X และแกน Y เป็นแกนพาราโบลา สมการทั่วไปของพาราโบลา ในกรณีแกน X เป็นแกนพาลาโบลา คือ  เมื่อ และในกรณีจุดยอดพาราโบลาอยู่ที่ตำแหน่ง (0, 0) พาราโบลามีแกน X เป็นการสมมาตร พาราโบลาจะตะแคงขวา มีรูปสมการดังสมการที่ 2 รูปกราฟพาราโบลา สามารถแสดงได้ดังรูปที่ 10 

รูปที่ 10 แสดงส่วนประกอบของพาราโบลา

รูปที่ 11 แสดงรูปพาราโบลาที่มีแกน x เป็นแกนสมมาตร มีจุด (c, 0) ตำแหน่งโฟกัส

ตัวอย่างที่ 1 ให้หาสมการพาราโบลา ที่มีจุดยอดอยู่ที่จุดกำเนิด มีจุดโฟกัสอยู่ที่ (2, 0)
จากข้อมูลที่ให้ พาราโบลา จะมีลักษณะตะแคงขวา มีค่า c = 2 แทนค่าในสมการที่ 2

   
  และสามารถเขียนเป็นกราฟพาราโบลาได้ ดังรูปที่ 12

รูปที่ 12 กราฟพาราโบลา มีรูปสมการ

          1.2) โครงสร้างรับกระจกโค้ง เป็นโครงสร้างที่ออกแบบเพื่อรับน้ำหนัก เพิ่มความแข็งแรงให้กับแผ่นกระจกโค้ง และต้องออกแบบให้มีโครงสร้างรับท่อดูดซับ ดังแสดงในรูปที่ 12 รูปแบบของโครงสร้างโดยทั่วไปขึ้นรูปกับกระจกโค้ง หรือการออกแบบกำลังกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุอาจทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม หรืออะลูมิเนียม เพื่อลดน้ำหนักให้โครงสร้าง


 
รูปที่ 13 แสดงโครงสร้างรับแผ่นกระจกโค้งและท่อดูดซับ

          1.3) ท่อดูดซับรังสี (Receiver) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากต่อประสิทธิภาพของระบบ ท่อดูดซับรังสีจะทำหน้าที่นำสารทำงานหรือของเหลวไหลผ่านเพื่อรับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ที่เกิดจากการรวมแสงของรางพาราโบลิก โดยปกติท่อซับรังสีทำจาก ท่อโลหะอาจเป็นท่อทองแดงเคลือบด้วยสารดูดความร้อน โดยทั่วไปท่อโลหะจะบรรจุภายในหลอดแก้ว โดยทำให้ช่องว่างระหว่างท่อโลหะและหลอดแก้วเป็นสุญญากาศ เพื่อลดการสูญเสียความร้อน โดยการพาความร้อน ลักษณะของท่อดูดซับรังสี (Receiver Tube) แสดงในรูปที่ 13 และรูปที่ 14

รูปที่ 14 แสดงลักษณะ ส่วนประกอบของท่อดูดซับรังสี (Receiver Tube)

รูปที่ 15 แสดงลักษณะของท่อดูดซับรังสี (Receiver Tube)

ค่าประสิทธิภาพของท่อดูดซับรังสี (Absorber Tube) สามารถคำนวณได้ด้วยสมการที่ 3 


 ดังนั้น พลังงานความร้อนที่สารทำงานได้รับเมื่อไหลผ่านท่อดูดซับรังสี สามารถคำนวณได้ จากสมการที่ 4  

 
          1.4) สารทำงานในส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก เนื่องจากรางพาราโบลิกสามารถรวมแสงอาทิตย์ให้มีอุณหภูมิสูงมาก ประมาณ 400 OC ดังนั้น สารทำงานที่เลือกในระบบท่อดูดซับรังสี (Absorber Tube) ต้องมีจุดเดือดสูงเช่นกัน โดยทั่วไปจะเลือกใช้ น้ำมันร้อน (Thermal Oil) เป็นสารทำงาน ตัวอย่างคุณสมบัติของน้ำมันร้อนของ Multitherm แสดงในตารางที่ 1 และ ตารางที่ 2

ตารางที่ 1 แสดงคุณสมบัติทั่วไปของน้ำมันร้อน IG-4 (Thermal Oil) ของ Multitherm


(ที่มา: http://www.multitherm.com)

ตารางที่ 2 แสดงคุณสมบัติของน้ำมันร้อน Multither IG-4 (Thermal Oil) ของ Multitherm

(ที่มา: http://www.multitherm.com)
     
          ตัวอย่าง ไดอะแกรมของระบบผลิตไฟฟ้าแบบรางพาราโบลิก โดยใช้น้ำมันร้อนในระบบท่อดูดซับรังสี ของโรงงานผลิตไฟฟ้า SEGS VIII กำลังการผลิต 80 MVe ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังแสดงในรูปที่ 7

          1.5) ระบบติดตามดวงอาทิตย์และระบบควบคุม (Solar Tracking System) เนื่องประสิทธิภาพของระบบทำความร้อนด้วยแสงอาทิตย์ รังสีตกกระทบ หรือความเข้มรังสีตรงของดวงอาทิตย์มีความสำคัญมาก ดังนั้น การทำให้แผงรับแสงอาทิตย์ หรือรางพาราโบลิก เคลื่อนที่ตามดวงอาทิตย์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้มากว่า 25-45% ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาลด้วย

รูปที่ 16 แสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในแต่ละเวลาและและแต่ละฤดูในรอบปี

รูปที่ 17 แสดงการเปรียบเทียบค่าพลังงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน เมื่อใช้และไม่ใช้ ระบบติดตามดวงอาทิตย์

          ระบบติดตามดวงอาทิตย์ แบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ คือ แบบถ่วงน้ำหนัก แบบใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุม และแบบใช้อุปกรณ์ตรวจวัดแสงร่วมกับวงจรควบคุม นอกจากนี้ระบบติดตามดวงอาทิตย์ยังแบ่งตามจำนวนแกนหมุนติดตามดวงอาทิตย์ เช่น แบบ 1 แกน (Single Axis Tracking Systems) หรือ 2 แกน (Dual Axis Tracking Systems) เป็นต้น

          ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนัก ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบนี้อาศัยการเปลี่ยนสถานะของของเหลวของระบบติดตามดวงอาทิตย์ โดยอาศัยความร้อนจากดวงอาทิตย์ในการทำให้ของเหลวระเหย และมีการถ่ายเทมวลไปมา ระหว่างด้านบนและด้านล่าง ดังแสดงในรูปที่ 18 ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบนี้ มีข้อดีคือ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทำให้ระบบเคลื่อนที่ และยังมีการบำรุงรักษาน้อย แต่ข้อเสียของระบบคือ ความแม่นยำในการติดตามค่อนข้างต่ำ 

รูปที่ 18 แสดงระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักในช่วงเวลาต่างๆ
(ที่มา: http://zomeworks.com/products/pv-trackers/how-trackers-work)

          ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการช่วยการเคลื่อนที่ หรือขับเคลื่อนระบบ ซึ่งอาจเป็นแบบ 1 แกน หรือ 2 แกน ดังแสดงในรูปที่ 18 ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบนี้ จะมี 2 แบบ คือ

          1. แบบใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุม (Microprocessor Controlled Unit) ระบบแบบนี้จะใช้ ไมโครโปรเซสเชอร์เป็นตัวประมวลผล และส่งสัญณาณไปยังชุดขับเคลื่อน อาจเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อทำให้แผงรับแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ติดตามดวงอาทิตย์ ส่วนสัญณาณที่ส่งไปยังไมโครโปรเซสเชอร์อาจมาจากสมการหรือทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับดวงอาทิตย์ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับตำแหน่งดวงอาทิตย์ หรือกล้องถ่ายภาพ ระบบแบบนี้จะมีความแม่นยำในการติดตามดวงอาทิตย์สูง  แต่ข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบและการบำรุงรักษา ค่อนข้างสูง และต้องใช้ผู้ชำนาญการในการควบคุมดูแลระบบอีกด้วย

          2. ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบใช้อุปกรณ์ตรวจวัดแสงอาทิตย์ร่วมกับวงจรควบคุม เป็นการอาศัยอุปกรณ์ที่มีความไวต่อความเข้มแสงมาตรวจจับความเข้มของแสงอาทิตย์ เช่น โฟโต้ไดโอด หรือโฟโต้ทรานมิสเตอร์ และใช้วงจรควบคุมในการสั่งให้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนแผงรับแสงอาทิตย์
 

รูปที่ 19 แสดงลักษณะการเคลื่อนที่ของระบบติดตามดวงอาทิตย์
(ที่มา: http://www.solar-tracking.com)

รูปที่ 20 ตัวอย่างส่วนประกอบของระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบ Dual Axis Tracking System

          จากที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนของ ส่วนรวมแสงด้วยรางพาราโบลิก (Solar Field) ในระบบผลิตไฟฟ้าด้วยรางพาราโบลิก ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์หลายชนิด นอกจากนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยรางพาราโบลิกยังประกอบด้วยส่วนสำคัญอีกส่วนคือ ส่วนที่เป็นส่วนกำเนิดไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือเรียกว่า ส่วน วัฎจักรแรงคิน (Rankine Cycle) รวมทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบ และนำไปใช้งานต่อไป วัฎจักรแรงกิน (Rankine Cycle) สำหรับการผลิตไฟฟ้า จะกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ เครื่องกำเนิดไอน้ำ (Steam Generator) เครื่องจักรกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เครื่องควบแน่นไอน้ำ (Condenser) และปั๊มน้ำ (Pump) สามารถแสดงอุปกรณ์และไดอะแกรมอย่างง่ายได้ในรูปที่ 21 ซึ่งในส่วนรายละเอียดจะขอกล่าวในโอกาสต่อไป

รูปที่ 21 แสดงส่วนประกอบและอุปกรณ์ของวัฏจักรแรงคินอย่างง่าย
(ที่มา: http://www.mae.wvu.edu)

เอกสารอ้างอิง
          * ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนแบบรวมแสงในเทศไทย,กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมกับห้องปฏิบัติการวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
          * ธนภัทร พรหมวัฒนภักดี, เอกชัย ดีศิริ, ระบบติดตามดวงอาทิตย์จากอุปกรณ์ตรวจจับตำแหน่งเชิงดิจิตอลด้วยพีซีแอลดี, คณะภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด