ด้วยกระแสการเรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้มีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเป้าหมายขององค์กรธุรกิจจะมุ่งสร้างผลิตผลและผลกำไร
โกศล ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com
ด้วยกระแสการเรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้มีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเป้าหมายขององค์กรธุรกิจจะมุ่งสร้างผลิตผลและผลกำไร โดยละเลยหรือมองข้ามต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนและผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิตที่มีส่วนทำให้สังคมได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานมากที่สุด ดังนั้นความตื่นตัวต่อกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการขานรับกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม โดย “การให้” ผ่านรูปแบบกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน เช่น ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร กระแสการต่อต้านจากคนในพื้นที่ลดลง พนักงานได้มีส่วนร่วม รวมถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้อสินค้ากับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับขอบเขตการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมยังไม่มีการกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการที่ชัดเจน แต่ละอุตสาหกรรมจึงมีแนวทางแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works) หรือ CSR-DIW เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมนำไปปฏิบัติและพัฒนาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 26000 โดยมาตรฐานความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (CSR-DIW) มีหลักการอยู่ 10 ประการ คือ
1. การปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรตั้งใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ครอบคลุมถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกโรงงานอุตสาหกรรม
2. การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล ผู้ประกอบอุตสาหกรรมควรที่จะยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาสากลคำสั่ง คำประกาศ อนุสัญญา มติ และข้อแนะนำ ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม
3. การยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรยอมรับว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลอยได้ของกิจกรรมของตน โดยควรหารือและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม และรับทราบถึงนโยบายข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อข้อมูลต่าง ๆ เช่น นโยบาย ข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกำหนดวิธีการเหมาะสมในการสื่อสารและพิจารณาความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
4. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรแสดงและอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างชัดเจนและสมเหตุสมผลถึงหน้าที่ นโยบาย การตัดสินใจและการกระทำที่โรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบและผลกระทบที่มีหรืออาจมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรมควรแสดงถึงวัตถุประสงค์และความก้าวหน้า ความสำเร็จหรือความล้มเหลว อุปสรรคและโอกาสของโรงงานอุตสาหกรรม ควรมีการรายงานอย่างสม่ำเสมอด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงในแง่การค้าหรือความปลอดภัย
5. ความโปร่งใส ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความตั้งใจในการเปิดเผยโครงสร้างภายใน นโยบาย กฎระเบียบ วิธีป้องกันความรับผิดชอบ กระบวนการตัดสินใจ และข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมทันท่วงที
6. การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความพยายามอย่างต่อเนื่องใน “การบรรลุความต้องการในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ความต้องการของคนรุ่นอนาคตเสียไป” การพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจพิจารณาได้หลายมิติ ทั้งด้านสังคม (รวมถึงด้านวัฒนธรรม) สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เป้าหมาย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสังคมโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อการจัดการความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติ
7. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีการบริหารจัดการและดำเนินการกิจกรรมของตนในลักษณะที่มีศีลธรรมจรรยาและน่าชื่นชมยกย่อง ประกอบด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์และความซื่อตรง ตัวอย่างการปฏิบัติที่ไม่มีจริยธรรม เช่น คอร์รัปชัน ความไม่ซื่อสัตย์ การบิดเบือน การข่มขู่ การเลือกปฏิบัติ และการเล่นพรรคเล่นพวก
8. หลักการป้องกันล่วงหน้า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรทำการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างรอบคอบในการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและรักษาผลประโยชน์ของตน ในกรณีที่มีความเสี่ยงการป้องกันล่วงหน้าสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือความเสียหายร้ายแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อสุขภาพและทรัพย์สินของมนุษย์หรือต่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันล่วงหน้าควรพิจารณาผลลัพธ์ของการดำเนินการในเชิงวิทยาศาสตร์ ควรมีข้อมูลและองค์ความรู้ครบถ้วนมารองรับก่อนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมใด ๆ เครื่องมือสำคัญในการใช้หลักการนี้คือ การประเมินความเสี่ยงและทบทวนอย่างรอบคอบ
9. หลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประกาศจากองค์กรสากล
10. หลักการเคารพต่อความหลากหลาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรจ้างงานโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ เพศ หรือความคิดเห็นทางการเมือง
เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรไม่ใช่เพียงแค่การบริจาคหรือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการสร้างคุณค่าต่อสังคมและพัฒนาธุรกิจสู่ความเป็นองค์กรที่ยั่งยืน (Corporate Sustainability) เพราะองค์กรดังกล่าวมีการกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่มีความยั่งยืนและการเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับความเชื่อถือยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ เช่น ลูกค้า คู่ค้าและสังคม เพราะเป็นองค์กรที่มีคุณภาพและคุณธรรม โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะนำประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการมากขึ้น ตามผลสำรวจพบว่าชาวยุโรปราว 1 ใน 5 ยินดีซื้อสินค้าและบริการที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยความมั่นใจในการบริหารธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
อย่างปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยแสดงถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่มีสาเหตุหลักจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการขนส่ง ทำให้ธุรกิจที่ทำ CSR ติดตามวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก เรียกว่า รอยคาร์บอนหรือรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ถูกใช้ประมาณว่าตัวบุคคล ประเทศหรือองค์กรหนึ่งสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงใด
แนวทางรอยเท้าคาร์บอน คือ การประเมินปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและประเมินความมากน้อยในการส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดขององค์กรนั้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์หรือการปลูกป่า รอยเท้าคาร์บอนเป็นส่วนย่อยของรอยเท้าระบบชีวนิเวศ (Ecological Footprint) ที่รวมเอาความต้องการของมนุษย์ทั้งหมดในระบบชีวนิเวศเข้าไปด้วย โดยมีผู้นิยามรอยเท้าคาร์บอน หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ประเมินตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์(Life Cycle Assessment) ตั้งแต่ การได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน คำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (นิยมใช้หน่วยกิโลกรัมหรือตัน)
อย่างกรณี PG&E-Pacific Gas and Electric Company ผู้จำหน่ายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้รณรงค์โครงการประหยัดไฟฟ้าจากครัวเรือนตั้งแต่ปี 2550 พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเมื่อลูกค้าประหยัดไฟฟ้าได้จากที่ใช้จริง จะสามารถนำไปลดภาษีได้ราว US$5 ต่อเดือนหรือเกือบ 2,000 บาทต่อปี ทำให้ธุรกิจหลายแห่งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น British Airways ที่รณรงค์โครงการภายใต้ชื่อ Voluntary Passenger Carbon Offsetting มาตั้งแต่ปี 2548 หรือการบริจาคเพื่อปลูกป่าในออสเตรเลียเพื่อดูดซับ Carbon ที่ถูกปล่อยออกมา
โดยทั่วไปรอยเท้าคาร์บอนแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซทางตรง เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การขนส่ง และการใช้ไฟฟ้าในองค์กรหรือครัวเรือน
2. การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซทางอ้อม เกิดจากจากสินค้าและบริการที่ใช้ เช่น การใช้ถุงพลาสติก และภาชนะบรรจุอาหารที่ย่อยสลายยากหรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ทิศทางการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมให้ความสำคัญกับประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องปรับกระบวนทัศน์สู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) เพื่อมุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างศูนย์การค้าที่รณรงค์เพื่อต่อต้านโลกร้อนที่กำลังเป็นกระแสขณะนี้ด้วยการลดใช้ถุงพลาสติกเปลี่ยนเป็นถุงผ้า ผู้ประกอบการต่างส่งคอลเล็คชั่นถุงสวย ๆ ให้ทันกับกระแส นอกจากจะไม่ตกกระแสแล้วยังได้ภาพลักษณ์องค์กรด้วย เช่น ห้างคาร์ฟูร์เข้าร่วมโครงการ "ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกช่วยลดวิกฤติโลกร้อน"
เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับห้างคาร์ฟูร์, บริษัทยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เทรน ประเทศไทย จัดทำถุงผ้าจำนวน 30,000 ใบ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในการรณรงค์ใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาดเพื่อช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกหรือกรณีห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ให้ความสำคัญกับการทำโครงการ CSR ต่อเนื่องได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกลุ่มพันธมิตร เช่น ธนาคารกรุงเทพ บุญรอด บริวเวอรี่ เมืองไทยประกันชีวิต จัดทำถุงผ้าชนิดพิเศษหลากหลายรูปแบบ อาทิ กระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าผ้าดิบ เป้าหมายเดอะมอลล์ คือ การปลุกจิตสำนึกให้คนไทยร่วมช่วยกันลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยลูกค้าจะได้รับถุงผ้าฟรีเมื่อซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท ในแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต หลังจากนั้นหากนำถุงกลับมาใช้อีกครั้งจะได้รับสิทธิพิเศษ ของแถมพิเศษและใช้กรีนเลนเป็นช่องชำระค่าสินค้าพิเศษที่รวดเร็ว โดยไม่ต้องต่อคิว
การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับฉลาก Carbon Footprint บนผลิตภัณฑ์ได้แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน ดังนั้นการติดฉลาก Carbon Footprint เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมถือว่าเป็น CSR ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาปริมาณเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การติดฉลาก Carbon Footprint นี้เป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเริ่มใช้ ISO14025 ที่คาดว่าจะออกมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยจะบ่งบอกถึงผลกระทบต่อการสร้าง Carbon Footprint ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อได้เปรียบต่อการเจรจาในเวทีโลกเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ
ตัวอย่างการติดฉลากรอยเท้าคาร์บอน
ดังกรณีธุรกิจภาคบริการที่มีความโดดเด่นในการแสดงจุดยืนความเป็นธุรกิจที่ดีต่อสังคมตามหลักธรรมมาภิบาล (Good Corporate Citizenship) อย่างธนาคารเอชเอสบีซี (The Hong Kong and Shanghai Bangkok Corporation Limited) หลักการความยั่งยืนของธุรกิจ เป็นทั้งค่านิยม จิตสำนึก และการกระทำที่ธุรกิจธนาคารแห่งนี้ให้ค่ำมั่นสัญญาต่อสังคมโลก คำว่าความยั่งยืน? ธนาคารเอชเอสบีซี หมายถึง การบริหารจัดการธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ความใส่ใจให้มีผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การตัดสินใจทางธุรกิจที่มีคุณค่าต่อปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับต่อสังคมที่ส่งผลดีต่อความสำเร็จให้ธุรกิจระยะยาว ธนาคารได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่มีชื่อเป็นทางการว่า คณะทำงานด้านความรับผิดชอบของธุรกิจ (Corporate Responsibility Community) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 อยู่ในโครงสร้างการบริหารระดับคณะกรรมการกำกับนโยบายความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ หลักความยั่งยืนเป็นพันธสัญญาที่จะเชื่อมโยงความทุ่มเทให้กับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม 4 มิติ คือ
1. การจัดการลดรอยเท้าทางนิเวศ (Footprint Management) คือ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งโดยการกระทำของธนาคารเอง การส่งเสริมลูกค้า และสังคมตามแนวทางนี้ เอชเอสบีซีเป็นธนาคารระดับโลกแห่งแรกที่ประกาศว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศของธนาคารเป็น ศูนย์ เนื่องจากธนาคารได้ซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยเท่ากับคาร์บอนที่ปล่อยสู่บรรยากาศ
2. ความยั่งยืนของธุรกิจ (Sustainable Business) ฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ปล่อยกู้ และนักลงทุนมีการกระตุ้นให้ธุรกิจ และโครงการที่รับการสนับสนุนบริหารจัดการลดความเสี่ยง รวมถึงสร้างโอกาสในการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ อาทิ ธุรกิจป่าไม้ ปิโตรเคมี สาธารณูปโภค พลังงาน ต้องแน่ใจว่าลูกค้าดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม การปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจที่สร้างมลภาวะทางขยะ การปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ ต้องแน่ใจว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล หากพบว่าธุรกิจเหล่านั้นไม่ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ก็จำเป็นต้องยุติการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของธนาคาร ขณะเดียวกันก็จะปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจเทคโนโลยีที่พยายามลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เอชเอสบีซีเล็งเห็นโอกาส และศักยภาพในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้
3. ยอมรับบุคคล และความหลากหลายของสถานภาพ (People and Diversity) เป็นการให้ความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อย และผู้ด้อยโอกาส
4. การลงทุนเพื่อชุมชน (Community Investment) เป็นการสร้างสรรค์โครงการส่งเสริม และพัฒนาความยั่งยืนให้ชุมชน
เนื่องจากประเด็นความยั่งยืนของธุรกิจถือ คือความสำเร็จระยะยาวของธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกที่ลงนามในหลักการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยแนวทางโดยสมัครใจในการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการใหญ่ที่เสี่ยงต่อการสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างธุรกิจสาธารณูปโภคและปิโตรเคมี หลักปฏิญญานี้ได้วางหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและระบุธุรกิจหลักที่ต้องใช้การพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนในการปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจลูกค้าในกระบวนการ เช่น วิธีการจัดหา แหล่งวัตถุดิบ วิธีการผลิต การใช้แรงงานเด็ก ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตหรือไม่ การจัดการกับขยะจากกระบวนการผลิต
แม้ธนาคารไม่อาจจะเข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ทุกวัน แต่ได้จ้างองค์กรภายนอกเพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพื่อรายงานธนาคารเป็นประจำทุก 6 เดือน ลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจสอบดังกล่าว ผลการตรวจสอบลูกค้าใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อขอสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันกับคู่ค้าธุรกิจว่าเป็นบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่มีนโยบายซื้อสินค้าจากบริษัทที่ได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานสากลว่าด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นโยบายเอชเอสบีซีไม่ปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดเพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องการมองแค่เพียงผลกำไร ทำให้มุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมจะสามารถดำเนินธุรกิจในระยะยาวและรับความไว้วางใจจากลูกค้า ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีมากในการปฏิบัติตามมาตรฐานนี้จึงได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันก็พร้อมจะยุติความช่วยเหลือทางการเงิน หากลูกค้ารายนั้นไม่สามารถบริหารธุรกิจได้ตามมาตรฐานสากลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
ดังนั้นเพียงแค่พูดว่าเราเป็นองค์กรที่ดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงด้วยการการลงทุนระยะยาวและคำนึงถึงหลายฝ่ายไม่เพียงแค่ลูกค้า แต่ยังรวมถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้าธุรกิจ สื่อมวลชน รัฐบาล และองค์กรที่กำกับดูแลด้านกฎระเบียบ ในฐานะสถาบันการเงิน เอชเอสบีซีได้มีส่วนร่วมผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ เอชเอสบีซีพยายามจูงใจให้ลูกค้าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น สินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Eco Equipment Finance) อาทิ ลดปริมาณการใช้พลังงาน ลดปริมาณขยะที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม ส่วนอีกด้าน คือ ปัจเจกบุคคล โดยให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะลดการใช้พลังงานอย่าง การไม่อาบน้ำนานเกินไป การเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร เพื่อลดการใช้พลังงาน การปิดไฟเมื่อไม่ใช้ การใช้ขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว
นอกจากนี้การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตรเครดิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Credit Card) ในฮ่องกง เพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยทุกดอลลาร์ที่ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ธนาคารจะสมทบทุนบริจาคเพื่อสร้างโรงเรียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green School) การใช้จ่ายผ่านบัตรจึงเป็นการช่วยส่งเสริมการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทางอ้อม โดยเอชเอสบีซีได้รณรงค์แนวคิดนี้ผ่านเว็บไซต์ธนาคารเพื่อสื่อสารถึงลูกค้า ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทยยังทำงานใกล้ชิดกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้การศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความมีส่วนร่วมให้เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังผนวกมิติความยั่งยืนกับกลยุทธ์ธุรกิจ เช่น การพิจารณาออกบัตรเครดิตเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างดังกล่าวแสดงถึงธุรกิจสถาบันการเงิน หากมองถึงความยั่งยืนของธุรกิจทั้งฝั่งธนาคารและลูกค้า โดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน
สำหรับคนที่เคยเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในซุปเปอร์สโตร์ที่ประกาศตัวเป็นผู้นำธุรกิจสีเขียวอย่าง เทสโก้ โลตัส คงเข้าใจว่าเหตุผลหลักที่ซูเปอร์สโตร์แห่งนี้สามารถขายสินค้าได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นเพราะความที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่จึงมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าได้มากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่ง เนื่องจากกลยุทธ์ของเทสโก้ทั่วโลกที่ประกาศว่า "เราขายถูกกว่า" นั้นมีข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังด้วยว่า เทสโก้สามารถทำธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำกว่า โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน
ดังนั้นการลดต้นทุนพลังงานจึงเป็นอีกกลยุทธหลักที่เทสโก้พยายามผลักดันให้สอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวทั่วโลกที่กำลังวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อน เนื่องจากการบริโภคพลังงานเกินความจำเป็น เป็นต้นเหตุหลักของการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนออกสู่บรรยากาศโลก กลยุทธ์ลดการใช้พลังงานของเทสโก้ เป็นกลยุทธ์แบบ Win Win เมื่อต้นปี 2550 เซอร์เทอร์รี่ ลีฮี ประธาน Tesco PLC ประกาศวิสัยทัศน์ ว่าเทสโก้จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy)
วิสัยทัศน์ดังกล่าวได้ถูกแปลงเป็นพันธกิจการติดตามร่องรอยคาร์บอน (Carbon Footprint) เพื่อลดการแพร่กระจายคาร์บอน (Carbon Emission) ออกสู่บรรยากาศจากทุกกิจกรรมของเทสโก้ทั่วโลก โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2563 เทสโก้ทั่วโลกจะลดการแพร่กระจายคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศลงให้ได้ 50% ของตัวเลขที่เทสโก้ได้ปลดปล่อยออกไปในปี 2549 เป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควรสำหรับผู้บริหารเทสโก้ทั่วโลก แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่น่าหนักใจกับผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญ ต้นทุนพลังงานมานานแล้ว และมีนโยบายที่จะลดการใช้พลังงานในกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2543 โดยพยายามลดการใช้พลังงานลงให้ได้ปีละประมาณ 3-5% ของยอดการใช้แต่ละปี โครงการที่ถือเป็นหัวใจลดการใช้พลังงาน คือการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green Store) ที่สาขาพระราม 1 เปิดให้บริการไปเมื่อปี 2547 ถือเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นก่อนการประกาศวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ Low-Carbon Economy และพันธกิจ Carbon Footprint ถึง 2 ปีเต็ม
แม้ว่าเทสโก้ โลตัส พยายามลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติการของเทสโก้ ประเทศไทย จะไม่ตื่นตัวหรือตระหนักต่อพันธกิจ Carbon Footprint ตรงกันข้าม ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงให้เหลือเพียง 50% ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ยิ่งต้องพยายามหาวิธีการที่จะทำให้ปฏิบัติการเทสโก้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายหลังการประกาศพันธกิจ Carbon Footprint ทางเทสโก้ได้ว่าจ้างบริษัท Environmental Resource Management (ERM) เป็นบริษัทที่ปรึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ให้เข้าไปวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเทสโก้ทั่วโลกเพื่อใช้เป็นข้อมูลเทียบเคียง โดยมีการจัดตั้งเงินกองทุนขึ้นจำนวน 100 ล้านปอนด์ ให้กับเทสโก้ทั่วโลกนำไปใช้ในโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
สำหรับประเทศไทยผลการวัดของ ERM พบว่าในปี 2549 การดำเนินการของเทสโก้ โลตัส ทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาทุกแห่ง รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า 2 แห่ง และการขนถ่ายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขา ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 4 แสนตัน หมายถึง เทสโก้ โลตัส จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงให้เหลือเพียง 2 แสนตันภายในปี 2563
ส่วนสาขาที่สร้างใหม่จะต้องหาวิธีการที่จะบริโภคพลังงานให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของการบริโภคพลังงานของสาขาในรูปแบบเดียวกับในปี 2549 การให้ ERM เข้ามาตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากจะทำให้รู้ถึงตัวเลขเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่แน่นอนแล้ว ยังทำให้รู้ถึงเป้าหมายหลักของการดำเนินการที่จะลดการใช้พลังงานลงได้ตรงจุดมากที่สุด โครงสร้างการบริโภคพลังงานของ เทสโก้ โลตัส เป็นต้นเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่บรรยากาศถึง 4 แสนตันในปี 2549 ประกอบด้วย
1. การใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่าง และความเย็นภายในห้าง 70%
2. การใช้ไฟฟ้าเพื่อทำระบบความเย็น ให้กับตู้แช่อาหารภายในห้าง 13%
3. การขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขา 13%
4. การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจของพนักงานและผู้บริหาร 3%
5. แก๊ส LPG ที่ใช้กับศูนย์อาหารที่อยู่ ตามสาขาต่าง ๆ 1%
เมื่อเทสโก้ โลตัส รับรู้โครงสร้างการใช้พลังงาน (Baseline) ทำให้ทราบว่าจะต้องลดการบริโภคพลังงานกับกิจกรรมใดเป็นจุดแรกและวิธีการที่จะทำให้กิจกรรมดังกล่าวมีการบริโภคพลังงานลดลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการออกแบบให้เอื้อต่อการประหยัดการใช้พลังงาน และการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ การตัดสินใจเปิด Green Store ที่สาขาพระราม 1 ทำให้เทสโก้ โลตัส ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยี รวมถึงขั้นตอนทำงานที่ช่วยลดการบริโภคพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การออกแบบตัวอาคารให้เลือกรับแสงสว่างโดยตรงเฉพาะช่วงครึ่งวันเช้า
การนำกระจกเคลือบลามิเนต ที่ช่วยกรองความร้อนจากแสงแดดมาใช้ การออกแบบภายนอกอาคารให้มีส่วนบังแดด แต่คนภายนอกสามารถมองเห็นภายในตัวอาคาร ตลอดจนการนำระบบคอมพิวเตอร์ และตัวเซนเซอร์เข้ามาใช้ควบคุมการเปิด-ปิด และลดระดับไฟฟ้ากับเครื่องปรับอากาศ การลดความเร็วของมอเตอร์บันไดเลื่อน รวมถึงการเชื่อมต่อกระบวนการทำงานของหอผึ่งน้ำ (Cooling Towers) ระบบปรับอากาศแต่ละหน่วยเข้าด้วยกัน และลดความเร็วใบพัดหอผึ่งน้ำลงเพื่อให้สามารถระบายความร้อนจากระบบปรับอากาศได้ในปริมาณเท่าเดิม แต่ใช้พลังงานน้อยลง
กระบวนการและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากสาขาพระราม 1 เหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ในสาขาของเทสโก้ โลตัส แห่งอื่น ทางเทสโก โลตัส ได้ร่วมมือกับลินฟ็อกซ์ ทรานสปอร์ต (ไทยแลนด์) และอีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติกส์ เป็นบริษัทผู้รับเหมาขนส่งและกระจายสินค้าให้กับเทสโก้ โลตัสทั่วประเทศ ได้นำไบโอดีเซล ประเภทบี 5 มาใช้กับรถขนส่งสินค้าของเทสโก้ โลตัส ที่มีจำนวนกว่า 400 คัน วิ่งอยู่ทั่วประเทศ รถขนส่งสินค้าดังกล่าวทำหน้าที่กระจายสินค้าสู่สาขาของเทสโก้ โลตัส ตลอด 24 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทางวิ่งทั้งสิ้นกว่า 73 ล้านกิโลเมตร แต่ละปีรถเหล่านี้บริโภคน้ำมันดีเซลกว่า 20 ล้านลิตรต่อปี หรือ 53,000 ลิตรต่อวัน การเปลี่ยนมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 5 ทำให้บริษัทสามารถประหยัดการใช้น้ำมันลงได้ 5% ช่วยลดปริมาณการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณปีละ 3 ตัน จากปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนไทยอยู่ที่ 4.8 ตันต่อคนต่อปี
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการนำไบโอดีเซลเข้ามาใช้ในการขนส่งสินค้าของเทสโก้ โลตัสในปริมาณดังกล่าวนี้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 500 ต้นต่อ นอกจากนี้เทสโก้ โลตัสยังได้เตรียมการที่จะเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า โดยนำหลอด ฟลูออเรสเซนต์ ชนิด T5 ที่มีความประหยัดกว่าหลอดชนิดเดิมถึง 45% มาใช้ภายในสาขาทั้งหมด โดยเริ่มจากสาขาศาลายาที่เป็น Green Store แห่งที่ 2 เป็นสาขาแรก และออกแบบตู้แช่อาหารใหม่ให้มีกระจกปิด-เปิด เพื่อไม่ให้ความเย็นจากตู้แช่กระจายออกสู่ภายนอก
โครงการ เหล่านี้ถือเป็นความพยายามลดการบริโภคพลังงานโดยตรง โดยตั้งเป้าว่าจะลดการบริโภคพลังงานลงจากปีที่แล้วให้ได้อย่างน้อย 3-5% จากค่า Baseline ที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ นอกจากนี้เทสโก้ โลตัสพยายามสร้างความตระหนักให้กับชุมชนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า คู่ค้าที่ส่งสินค้าเข้ามาขายในเทสโก้ โลตัส หนึ่งในพันธกิจ Carbon Footprint คือ การวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศในสินค้ากว่า 35,000 รายการ ที่วางจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเกณฑ์สำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้าต่อไปในอนาคต นั่นคือ ในอนาคตสินค้าที่วางจำหน่ายในเทสโก้ โลตัส อาจถูกจัดเรตติ้งว่าชิ้นใดที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศมากน้อยกว่ากันเพื่อให้ผู้บริโภคพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก
แต่ถ้าเทสโก้ โลตัส เป็นผู้นำและพยายามทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง คู่ค้าต้องเข้าใจเป้าหมายและต้องมีส่วนร่วมกับ เทสโก้ โลตัส เพราะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย ตั้งแต่กลางปี 2549 สาขาของเทสโก้ โลตัสหลายแห่งได้เปลี่ยนสีอาคารและป้ายชื่อห้างจากเดิมใช้สีน้ำเงิน-แดงมาเป็นสีเขียว-ขาว รวมทั้งเครื่องแบบพนักงาน บรรยากาศภายในห้าง แม้กระทั่งที่จับรถเข็น การนำสีเขียวเข้ามาใช้มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แนวคิดสีเขียว (Green Concept) ที่เทสโก้ โลตัส ต้องการประกาศความเป็นผู้นำธุรกิจ สีเขียว และการบริโภคสีเขียว (Green Consumption) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง การลดบริโภคพลังงาน เป็นตัววัดผลทุกหน่วยงานแต่ละปีด้วยว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดเพราะการลดการบริโภคพลังงาน คือการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ผลลัพธ์ระยะยาวที่ได้รับย่อมคุ้มค่ากว่า
ดังนั้นการประกาศเปิดตัวโครงการร่องรอยคาร์บอนของเทสโก้โลตัสที่ผ่านมา ถือว่าน่าสนใจต่อการดำเนินการทางสิ่งแวดล้อมเชิงรุก เพราะไม่เพียงเป็นองค์กรเอกชนรายแรกของประเทศที่ดำเนินการเรื่องการวัดร่องรอย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร แต่ยังเป็นครั้งแรกที่ทำให้มีโอกาสได้เห็นจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนของผู้ค้าปลีกข้ามชาติที่มุ่งสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจสีเขียว โดยประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการดำเนินงานในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2563 เป็นผลจากการประกาศพันธกิจคาร์บอน (2020 Mission) ของบริษัทแม่
อย่างไรก็ตามภายใต้โครงการลดร่องรอยคาร์บอนที่สร้างกรีนสโตร์แห่งแรกที่ศาลายาและอาคารสีเขียวใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทำระบบความเย็นจากพลังงานแสงอาทิตย์ ปรับเปลี่ยนระบบจัดส่งสินค้าโดยใช้พลังงานไบโอดีเซล 98% ร่วมกับบริษัทฟิลิปส์คิดค้นหลอดไฟขนาด 5 ฟุต สามารถประหยัดพลังงานมากกว่า 40% ดังที่กล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นกลยุทธ์ขั้นต้นที่ทำเป็นต้นแบบ แต่กลยุทธ์ที่วางไว้ในก้าวต่อไปไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยให้ความรู้ต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพรินต์และทดลองใช้ฉลากคาร์บอนกับสินค้าที่วางจำหน่าย 4 ชนิด รวมทั้งจัดโครงการจูงใจให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้ถุงผ้าเพื่อสะสมแต้มเป็นส่วนลด การขับเคลื่อนครั้งใหญ่ของผู้ค้าปลีกรายนี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญทั้งกับคู่แข่งธุรกิจเดียวกัน คู่ค้าและผู้บริโภคซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เนื่องจากข้อมูลของ UK Emission ระบุชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มต้นที่การปฏิวัติความคิดผู้บริโภค เพราะกว่า 60% ของการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศเกิดจากผู้บริโภคโดยตรง 35% เกิดจากกิจกรรมประจำวันและอีก 25% เป็นอิทธิพลทางอ้อมที่ผู้บริโภคสร้างแรงกดดันให้ภาครัฐและธุรกิจเอกชนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ส่วนค่ายใหญ่อย่าง บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่ออกตัวทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท ทำโครงการธิงค์ กรีน เพื่อสร้างวัฒนธรรมสีเขียวนำสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการลดใช้พลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายในห้างและศูนย์การค้าในเครือทั้งเดอะมอลล์ ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน โดยรณรงค์ทั่วห้างให้ปรับเปลี่ยนการใช้ถุงกระดาษเป็นถุงกระดาษรีไซเคิลแทน ส่วนถุงพลาสติกให้ใช้เป็นถุงที่ย่อยสลายได้เร็ว รวมทั้งภาชนะใส่อาหารภายในโฮม เฟรชมาร์ทเน้นแพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในลักษณะโฟมฟรีที่ย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกลง 5% ต่อปี เช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้า 5% ต่อปีเช่นเดียวกัน
แต่รายที่ใช้งบลงทุนสูงสุดเท่าที่ผ่านมาเห็นจะเป็นเจ้าตลาดค้าปลีกอย่าง เครือเซ็นทรัลด้วยแนวคิด Leadership in Energy & Environmental Design หรือ LEED เป็นเทรนด์ใหม่ของการพัฒนาศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา เป็นแนวทางที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ได้นำมาใช้ในการออกอาคารศูนย์การค้า ดังตัวอย่างอาคาร The Office at Central Word เป็นต้นแบบอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน อาคารดังกล่าวสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 1,459,200 กิโลวัตต์ ชั่วโมงหรือเทียบเท่าการลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กว่า 1,000 ตัวต่อปี
ทางซีพีเอ็นนำนวัตกรรมระบบปรับอากาศขนาดใหญ่มาใช้กับศูนย์การค้ารวม 10 ศูนย์ ประกอบ ด้วยศูนย์การค้าเดิม คือ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว, บางนา, รามอินทรา, รัตนาธิเบศร์, เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งใช้ระบบในศูนย์การค้าใหม่ที่จะเปิดตัวอีก 4 ศูนย์ คือ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช, เซ็นทรัลพลาซ่า ชลบุรี และเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น นวัตกรรมปรับอากาศขนาดใหญ่ High Efficiency Chiller จากเทรน (ประเทศไทย) สามารถประหยัดพลังงานระบบปรับอากาศได้ถึง 16% เทียบได้กับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ กว่า 40,000 ตันต่อปี ถือเป็นโครงการติดตั้งระบบปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดของเทรนซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ได้ถึงปีละ 56 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
แนวทางดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวความคิด CPN Green Experience ของ ซีพีเอ็น นอกเหนือจากการปรับปรุงระบบปรับอากาศของศูนย์การค้าเซ็นทรัล แล้วยังมีการลงทุนอื่น อาทิ การใช้วัสดุก่อสร้างและการตกแต่ง เช่น กระจก หลอดไฟ และฉนวนกันความร้อน ในศูนย์ฯ ใหม่ทั้ง 4 ศูนย์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท แนวคิดการปรับระบบเครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานนั้นถือว่าเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการลดค่าไฟฟ้าของศูนย์การค้า โดยศูนย์การค้าจะมีการพยายามลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความรับผิดชอบต่อสังคมและประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังสามารถสร้างความภูมิใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายได้อีกว่าได้มาใช้บริการศูนย์การค้าที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม
องค์กรมหาชนที่ดำเนินธุรกิจสายการบินแห่งชาติอย่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้คำนึงถึงประเด็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อชั้นบรรยากาศและอากาศของโลก ผู้เชี่ยวชาญจึงตกลงกันไม่ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิน 450 ppm ทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซลง 50% ภายในปี 2593 ประเทศพัฒนาต้องลดลง 80% แต่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซลงได้ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มกำหนดมาตรการอย่าง สหภาพยุโรป (อียู) กำหนดว่าทุกสายการบินที่ทำการบินเข้า-ออกในสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2555 ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 3% การบินไทยตระหนักถึงการลดภาวการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50 ซึ่งการการบินไทยมีแนวทางปรับปรุงฝูงบิน การประหยัดเชื้อเพลิง โดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอากาศยาน รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับผู้โดยสารให้เข้ามามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อพิจารณาแล้วการบินไทยคงจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินจากระดับที่อียูกำหนดประมาณ 700,000 ตันต่อปี
ขณะนี้การบินไทยมีมาตรการประหยัดน้ำมัน ลดการใช้น้ำมัน การสั่งซื้อเครื่องบินใหม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การลดการปล่อยก๊าซจากธุรกิจการบินก็ยังมีอยู่ แนวทางที่การบินไทยจะทำได้ตามข้อกำหนดของอียูตอนนี้จึงถูกกำหนดเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ การซื้อคาร์บอนเครดิตหรือการใช้ EU Emission Allowance มีราคาประมาณ 500-700 บาทต่อตัน นำมาจากโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวมวล โครงการบำบัดน้ำเสีย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
แต่ความตั้งใจของผู้บริหารสายการบินแห่งชาติต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ซึ่งยังมีอุปสรรคอยู่ที่ประเทศไทยมีเพียง 2 โครงการเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจาก UNFCCC (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ให้ขายคาร์บอนเครดิตได้แก่โครงการบำบัดน้ำเสียจากแป้งมันสำปะหลังของโคราช เวสต์ และโรงไฟฟ้าแกลบขนาด 20 เมกะวัตต์ บริษัท เอที ไบไอ พาวเวอร์ ขายคาร์บอนเครดิตไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามในอนาคตมีความหวังว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศอีกหลายโครงการที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แล้วและอยู่ระหว่างการขอ CERT จาก UNFCCC สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 700,000 ตันต่อปีของการบินไทยในอนาคตได้
นอกจากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว การบินไทยยังมีแผนทำโครงการระบุคาร์บอนฟุตพรินต์หรือรอยเท้าคาร์บอนในอาหารร้อนที่บริการให้ผู้โดยสารรับประทานบนเครื่องบิน ด้วยการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตอาหารเปิดเผยให้ผู้โดยสารรับทราบว่า อาหารชุดหนึ่งที่รับประทานอยู่นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร นโยบายดังกล่าวเป็นที่มาของการนำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์มาประทับไว้บนเมนูอาหารของการบินไทยเพื่อให้ผู้โดยสารทราบว่าอาหารที่ทานเข้าไปก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใดและต้องการให้ผู้โดยสารทุกคนมีส่วนร่วมตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่าที่สุดอย่างอาหาร 3 รายการที่ให้บริการบนเครื่องบินการบินไทย ได้แก่ ฉู่ฉี่ปลาทับทิม พะแนงหมู และแกงเผ็ดเป็ดย่าง มีป้ายบอกตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซตั้งแต่การเลี้ยงปลา หมู เป็ดว่าใช้ธัญพืชเท่าไร มีการกำจัดมูลสัตว์อย่างไร มีไบโอแก๊สหรือไม่ ใช้เชื้อเพลิงเท่าไร รวมถึงการประกอบอาหารใช้พลังงานเท่าไร โดยพบว่าอาหารชุดหนึ่งปล่อยก๊าซออกมาประมาณ 1.3-1.4 กิโลกรัม ดังนั้นแผนงานต่อไป คือการทำคาร์บอนออฟเซตหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนแบบสมัครใจ ผู้โดยสารการบินไทยจะมีโอกาสเลือกจ่ายเงินเพิ่มจากการขึ้นเครื่องบินแล้วนำเงินจำนวนนี้ไปสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียน
การบินไทยทำร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศนานาชาติ (IATA) วิธีการคาร์บอนออฟเซต คือการให้ผู้โดยสารเลือกด้วยความสมัครใจว่าต้องการซื้อคาร์บอนออฟเซตหรือไม่ เช่น เที่ยวบินไป-กลับกรุงเทพ-ลอนดอน ผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง ชั้นประหยัดปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1.5 ตัน คิดเป็นเงิน ถ้าจะซื้อคาร์บอนออฟเซตประมาณ 1,000 บาท ซึ่งไม่มากถ้าเทียบกับราคาตั๋ว โดยเที่ยวบินจะมีรายการให้ผู้โดยสารเลือกว่าจะเลือกสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนประเภทใด ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้โดยสารและคนทำธุรกิจการบินชดเชยการปล่อยคาร์บอน โดยทำร่วมไปกับกิจกรรม CSR เป็นประโยชน์กับบริษัทการบินไทยทั้งการทำตามกฎของอียูและได้รับยกย่องจากภาคสาธารณะ ซึ่งเป็นแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมจากสายการบินแห่งชาติที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรสอดรับกับกระบวนทัศน์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอนาคต
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด