โลกทุกวันนี้เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจนลุกลามเป็นภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ทำให้องค์กรทั่วโลกและผู้ประกอบการไทยเองต่างให้ความร่วมมือแก้ปัญหา
โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com
โลกทุกวันนี้เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจนลุกลามเป็นภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ทำให้องค์กรทั่วโลกและผู้ประกอบการไทยเองต่างให้ความร่วมมือแก้ปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นคู่กับสังคมโลกอีกนาน อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคชาวจีนกว่า 3,000 คน โดยมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) พบว่ากว่า 73% ของผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีศีลธรรมและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม กว่า 50% เห็นว่าบริษัทท้องถิ่นในประเทศ (Domestic) มีระดับความรับผิดชอบต่อสังคมระดับพอใช้ได้
ขณะที่ 30% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าบริษัทท้องถิ่นในประเทศจีนมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ระดับที่น่าพอใจ ส่วนบริษัทข้ามชาติถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบและคืนกำไรให้สังคมมากกว่าบริษัทท้องถิ่น ศาสตราจารย์ Zhao Shuguang แห่ง Tsinghua Media Survey Lab เปิดเผยว่า บริษัทข้ามชาติมักได้เปรียบบริษัทจีนทั้งในแง่การจัดการ เทคโนโลยี เงินทุนและการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่บริษัทจีนจะตามทันการทำ CSR ของบริษัทเหล่านี้
ความปลอดภัยของสินค้าเป็นประเด็นทาง CSR สำคัญอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคจีนคำนึงถึงและมีผลต่อภาพลักษณ์เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าผู้ผลิตจีนอย่างมาก ตามมาด้วยเรื่องผลกระทบจากการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความสนใจในเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงานนั้นมาเป็นอันดับสาม ดังนั้นสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง P&G และผู้ผลิตน้ำดำอย่าง Coca-Cola เป็นสองแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคจีนเห็นว่าใช้หลักความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด หากกล่าวถึงสินค้ากลุ่มยานยนต์พบว่า Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันมีความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่น่าสนใจคือ องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งในเอเชียกำลังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและตั้งเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทิศทางกิจกรรม CSR มุ่งประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและส่งผลให้องค์กรต้องพัฒนากระบวนการที่สอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้สนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ผลการพัฒนาดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและเกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่มา ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมมลพิษและของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน เช่น การลดไอเสียจากรถขนส่ง การขนส่งช่วงเวลากลางคืน (เพื่อไม่ให้เกิดจราจรติดขัด) รวมถึงการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อขจัดขยะและลดของเสีย เป็นต้น
รูปที่ 1 กรอบแนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว
การบริหารจัดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวจึงเป็นแนวคิดใหม่เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้องค์กรดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับคู่ค้า สะท้อนว่าสิ่งที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่ผลกำไรหรือส่วนแบ่งการตลาดแต่ยังมุ่งรักษาสมดุลของโลกและสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกันระหว่างคู่ค้ากับผู้ส่งมอบต้องดำเนินการสอดคล้องกับแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอาจแสดงด้วยการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่าง ISO14001 ให้กับผู้ผลิตหรือคู่ค้า ดังกรณีโตโยต้าผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและกลุ่มผู้ให้บริการกับโตโยต้าดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมบำรุงรักษาจึงผลักดันให้ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายดำเนินการพัฒนาให้ได้ใบรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 โดยทั่วไปองค์กรมีความพยายามลดความสูญเปล่าเพื่อสร้างผลกำไรและความสามารถการแข่งขันที่มีผลต่อการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การลดความสูญเปล่าจะส่งผลโดยตรงต่อการลดมลภาวะอากาศ น้ำและที่ดิน โดยมุ่งแนวคิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการใช้งานหรือเรียกว่านิเวศวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) เช่น การใช้วัสดุที่เป็นพิษหรือวัสดุที่ใช้พลังงานแปรรูปน้อยที่สุด การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สะดวกต่อการซ่อมแซมอย่างกรณี BMW ได้ออกแบบรถยนต์โดยชิ้นส่วนย่อยตลอดทั้งคันสามารถทำการถอดแยกและถูกนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งส่งผลต่อการลดความสูญเปล่า แนวคิดการลดความสูญเปล่าจึงครอบคลุมทุกกระบวนการตั้งแต่ การออกแบบ การผลิต การกระจายสินค้าและดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางประหยัดการใช้วัสดุและพลังงานด้วยการนํากลับมาใช้ใหม่ กระบวนการลดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
รูปที่ 2 ปัจจัยสร้างความสูญเสียให้สิ่งแวดล้อม
* การรีไซเคิล (Recycle) คือการแยกชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ออกตามประเภทวัตถุดิบและนำวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยกระบวนการแปรรูปซึ่งนอกจากลดปริมาณขยะแล้วยังลดการใช้พลังงานและมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิลเครื่องพิมพ์ (Printer) โดยทั่วไปเครื่องพิมพ์ 1 เครื่องประกอบด้วยพลาสติกราว 48% โลหะเหล็ก 33% โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก 9% และวัสดุอื่น ๆ ราว 10% ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจำหน่ายประเทศเครือสหภาพยุโรป จะต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลกและบรรเทาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นการช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิโลก โดยมีความพยายามนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการผลิต ดังกรณี JVC ตั้งเป้าหมายการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลพลังงานที่สูญเปล่าในกระบวนการผลิตราว 99%
ผลิตภัณฑ์ทุกหมวดถูกออกแบบและผ่านกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่าว่าผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เป็นการนำวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาผลิตใหม่เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งส่วนของอะไหล่และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตทางเจวีซี (JVC) ได้กำหนดนโยบายการกำจัดขยะถึง 6 ขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทางเจวีซีควบคุมการผลิตตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำและผ่านกระบวนการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารชั้นนำอย่างริโก้ (RICOH) มุ่งมั่นที่จะลดปริมาณการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งลดการใช้วัสดุในกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Packaging) ที่ใช้กระดาษแข็งแบ่งเป็นชั้นและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ถึง 98% ด้วยการนำไปรีไซเคิลในส่วนโครงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก
* การใช้ซ้ำ (Reuse) หมายถึง การนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกใช้งานแล้วและพร้อมเข้าสู่ช่วงการนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำถุงพลาสติกมาใส่ของหรือใช้เป็นถุงขยะ การนำยางรถยนต์มาทำเก้าอี้ การนำขวดพลาสติกมาดัดแปลงเป็นที่ใส่ของ เป็นต้น แนวคิดการออกแบบเพื่อการนำกลับมาใช้ซ้ำ(Design for Reuse) ได้มุ่งออกแบบให้ผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นมีชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันได้ นั่นคือ เมื่อผลิตภัณฑ์รุ่นแรกหยุดการผลิตแล้วยังสามารถเก็บคืนและนำบางชิ้นส่วนมาใช้ในการผลิตรุ่นต่อไปได้
ส่วนสายการประกอบรถยนต์นั้นถุงมือผ้าจัดเป็นของเสียซึ่งการนำไปกำจัดนั้นยังคงเป็นการส่งไปเป็นพลังงานทดแทนเสริมในเตาปูนซิเมนต์ แต่ทางผู้ผลิตรถยนต์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณถุงมือผ้านี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสายการผลิตและการทำงานของพนักงานจึงได้ทดลองนำถุงมือผ้าไปซักในโรงงานที่ได้มาตรฐานและผ่านกระบวนการทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาให้พนักงานใช้ใหม่ ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการใช้ถุงมือผ้าใหม่ถึง 36%
รูปที่ 3 กระบวนการนำกลับมาใช้
* การนำมาผ่านกระบวนการผลิตใหม่ (Remanufacturing) คือ กระบวนการที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานหรือชิ้นส่วนที่ล้าสมัยเพื่อนำมาถอดแยก (Disassembly) และเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยผลิตผลหรือชิ้นส่วนที่ผ่านกระบวนการจะถูกนำมาตบแต่งและประกอบใหม่ (Reassembly) ที่ยังคงรูปแบบผลิตภัณฑ์เดิม แนวทางดังกล่าวแตกต่างกับการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ โดยเฉพาะการไม่ลดคุณค่าชิ้นงานหลังผ่านกระบวนการ (Value-Added Recovery)
รูปที่ 4 ขั้นตอนกระบวนการผลิตใหม่ (Remanufacturing)
ด้วยเหตุนี้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวได้สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประเด็นการพิจารณาจัดซื้อและการบริหารความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้ส่งมอบซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อนตามแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนประเด็นการบริหารธุรกิจมองว่าระบบห่วงโซ่อุปทานสีเขียวสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันและภาพลักษณ์ให้กับองค์กรธุรกิจ (Corporate Image) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจและสามารถลดต้นทุนห่วงโซอุปทาน ปัจจุบันองค์กรชั้นนำทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนเริ่มดำเนินโครงการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยจำแนกแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1. การสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว โดยให้ความสําคัญกับบทบาทผู้ส่งมอบเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และดําเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังกรณีบริษัทปูนซีเมนต์ไทยสนับสนุนให้ธุรกิจในเครือผ่านการรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดทำโครงการนำร่องห่วงโซ่อุปทานสีเขียวเพื่อช่วยพัฒนาปรับปรุงศักยภาพให้กับผู้ส่งมอบขนาดกลางและขนาดเล็กให้ดำเนินการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนและดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) เพื่อประเมินการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก
2. การปรับปรุงผลการปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ความสําคัญกับผลการปฏิบัติงานภายในของผู้ส่งมอบและลดความเสี่ยงของลูกค้าในการซื้อสินค้า รวมทั้งลดต้นทุนรวม ทำให้มีความจำเป็นที่องค์กรผู้ผลิตหลัก (Maker) และเครือข่ายผู้ส่งมอบต้องคำนึงถึงการรับรองมาตรฐาน ISO14000 เพื่อให้เกิดกระบวนการที่มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
รูปที่ 5 แนวคิดประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA)
กรณีบริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ CSR ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและแนวคิดนวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว (Green Innovation for White World) เป็นไปตามกระแสการตื่นตัวทั่วโลกที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในตัวสินค้าให้มีความทันสมัยและคุณภาพการใช้งาน กิจกรรม CSR ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ การปลูกป่าให้ครบ 150 ล้านต้นภายในปี 2010 เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ให้คงอยู่
การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต โทรทัศน์ทางไกลเพื่อการศึกษาร่วมกับพระราชวังไกลกังวลและกิจกรรมเพื่อเด็ก โตชิบาใช้งบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อทยอยปรับสายการผลิตสินค้าใหม่ โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้แคมเปญ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว" ผลิตภัณฑ์โตชิบาจะยึดหลัก 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อนำไปแปรสภาพกลับมาใช้ได้อีก ตัวอย่างสินค้าสีเขียวของโตชิบา เช่น ตู้เย็นรุ่นลลิมเลดี้มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนพิเศษที่บางลงทำให้มีการใช้วัสดุพื้นผิวตู้เย็นลดลงเมื่อถูกทิ้งก็จะก่อขยะน้อยกว่าตู้เย็นทั่วไป
ขณะเดียวกันยังคงมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าไฟหรืออย่างแอลซีดีทีวี Regza ได้มีการพัฒนาให้เบาลง 30% นอกจากจะลดวัสดุที่ใช้ผลิตแล้วยังลดวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์และกินไฟลดลง 30% ขณะที่เครื่องซักผ้ามีฟังก์ชัน Zero Standby Power สามารถตัดระบบไฟฟ้าออกจากวงจร เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ขณะที่เสียบปลั๊กเครื่องซักผ้าทิ้งไว้โดยเครื่องไม่ทำงาน หากเป็นเครื่องซักผ้าธรรมดาเมื่อไม่ใช้งานแต่เสียบปลั๊กไว้จะกินไฟหรืออาจเกิดความร้อนทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้
ส่วนบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) ยึดถือหลักการบริหารจัดการ โดยขอเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และได้รับความไว้วางใจจากคนในสังคมที่ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ เมื่อบริษัทเด็นโซ่ เข้ามาตั้งกิจการในประเทศไทยจึงมีแนวคิดที่จะอุทิศให้กับสังคมไทย แนวคิดการทำ CSR ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและสร้างให้เกิดผลกระทบอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมไทย บริษัท เด็นโซ่ มีแนวคิดว่าหากไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยจะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นไม่สามารถทำกิจกรรม CSR อย่างยั่งยืนได้ เพราะอาจได้เพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ระยะสั้น แต่ไม่สร้างให้เกิดจิตสำนึกปลูกฝังในจิตใจ ทำให้การทำ CSR ไม่ยั่งยืนอย่าง การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจภาคการผลิต บริษัท เด็นโซ่ จำแนกแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) เป็นโครงการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระในการร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อสังเกตแต่ละโครงการของบริษัท เด็นโซ่ ในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัท เด็นโซ่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยทำโครงการผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชน เช่น โครงการเยาวชน เด็นโซ่ ผู้พิทักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม (DENSO YOUTH for EARTH Action Project) มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับโครงการทศวรรษแห่งการศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างสังคมที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน
โครงการปีแรกมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจำนวน 20 คน จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้ผ่านการรับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนของชาติเห็นความสำคัญการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างการคัดแยกขยะและนำผลกำไรจากธนาคารขยะรีไซเคิลเป็นทุนสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป นอกจากนั้นยังสนับสนุนศูนย์ฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนากระบวนการ เรียนรู้ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชน ณ โรงเรียนวัดสระจระเข้ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อเผยแพร่ความรู้และปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อม
2. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Eco Management) เป็นโครงการขยายผลสู่คู่ค้าโดยใช้นโยบายการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ผู้ส่งมอบจัดตั้งระบบจัดการสิ่งแวดล้อม เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมเรียกว่า “Eco Stage” เพื่อเป็นแนวทางให้คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบ (Supplier) ดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย การจัดการของเสีย อันตราย เป็นต้น โดยใช้ประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบวัตถุดิบด้วย หลังประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางเด็นโซ่ได้เชิญตัวแทนของผู้ส่งมอบเยี่ยมชมระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ ทำให้ผู้ส่งมอบของเด็นโซ่ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการผ่านข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่ (Eco Stage) ในปี 2006 กำหนดให้ผู้ส่งมอบเลิกใช้สารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน
เด็นโซ่ได้กำหนดนโยบายและกรอบเวลาให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยกเลิกใช้สารอันตราย คือ ปรอท ตะกั่ว โครเมียม และแคดเมียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัตถุดิบและอุปกรณ์ชิ้นส่วนภายในปี 2010 ทำให้การพิจารณาจัดซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ต้องคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกเฉพาะผู้ส่งมอบที่ผ่านเกณฑ์ของเด็นโซ่เท่านั้น นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็นโซ่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าบริษัทเด็นโซ่ต้องการคู่ค้าที่มีนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเพื่อแสดงให้ลูกค้าทราบว่าวัตถุดิบที่เด็นโซ่นำมาผลิตสินค้ามาจากแหล่งผลิตที่มีระบบจัดการที่มีคุณภาพและปราศจากสารพิษ
3. โรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Factory) โดยทำโครงการที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตอย่าง โครงการปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Emission) ที่นำของเสียจากกระบวนการผลิตไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์แทนการฝังกลบ (Landfill) อย่างการนำของเสียไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงหรือวัสดุทดแทน โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจึงกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เด็นโซ่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกากของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและลดผลกระทบที่เกิดต่อสุขอนามัยของพนักงาน โดยเฉพาะสารระเหยประเภท Xylene, Toluene ที่อยู่ในสีทินเนอร์
บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดกากของเสียอันตรายให้ได้ 75% การลดใช้น้ำเนื่องจากคาดการณ์ถึงแนวโน้มความต้องการทรัพยากรน้ำของภูมิภาคเอเชียในอนาคต บริษัทจึงคำนึงถึงความจำเป็นในการประหยัดใช้น้ำ โดยกำหนดเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15% ภายในปี 2010 (เทียบกับปี 2005) ด้วยหลักการ Reduce และ Reuse
4. โลจิสติกส์ (Rationalization Logistics) โดยปรับปรุงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Returnable Box) แทนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกล่องกระดาษที่ใช้ได้ครั้งเดียว เด็นโซ่ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001 เมื่อปี 2005 กลุ่มบริษัท เด็นโซ่ สามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษหรือไม้ทั้งหมด ประมาณ 107 ตัน
5. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) เด็นโซ่มีนโยบายลดสารอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสารอันตราย 4 ชนิดได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว, โครเมียม (6+) และแคดเมียม บริษัทกำหนดเป้าหมายการยกเลิกสารอันตรายทั้งหมดในปี 2007 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม สายผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย ระบบปรับอากาศรถยนต์ ระบบควบคุมเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนจักรยานยนต์และเครื่องจักรในงานก่อสร้าง โดยจัดหาชิ้นส่วนให้กับลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ รวมถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุที่สามารถนำไปรีไซเคิลและไม่ใช้วัตถุมีพิษ
รูปที่ 6 แนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Design for Environment)
องค์กรที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจระยะยาวอย่าง โคคา-โคลา ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ระดับโลก ประกาศว่า "Water Stewardship" (การพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ) คือ หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เนื่องจากน้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญที่สุดของโคคา-โคลา ใช้น้ำปริมาณมหาศาลจากแหล่งน้ำทั่วโลก (300,000 ล้านลิตรต่อปี) ถ้าหากไม่สนใจหรือมองข้ามปัญหาทรัพยากรน้ำร่อยหรอที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะโลกร้อน นั่นคือ อนาคตข้างหน้าโคคา-โคลา อาจไม่สามารถทำธุรกิจเดิมได้เมื่อไม่มีน้ำหรือราคาน้ำอาจแพงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะผลิตน้ำอัดลมขายได้ ด้วยเหตุนี้โคคา-โคลา ได้ส่งเสริมและอุดหนุนมาตรการพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วโลกทุกระดับตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น โดยมีมาตรการให้ชุมชนมีบทบาทร่วมดูแลรักษาแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตที่ดี
เนื่องจากหากชุมชนต้นน้ำในชนบทอยู่ไม่ได้ที่สุดแล้ว"ชุมชนปลายน้ำ" ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือบริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะโคคา-โคลา เป็นบริษัทที่อยากทำดีเพื่อสังคมโดยไม่คิดถึงตัวเอง แต่เป็นเพราะตระหนักแล้วว่าความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อความอยู่รอดระยะยาว อันที่จริงหนทางของโคคา-โคลายังอยู่อีกยาวไกลก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ชุมชนท้องถิ่นและเอ็นจีโอส่วนใหญ่ว่าเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่มุ่งแต่สร้างภาพเท่านั้น ในปี 2007 บริษัทประกาศเป้าหมายที่จะเป็นบริษัท "Water Neutral" หมายถึงชดเชยน้ำที่ใช้ไปในการผลิต 100% กลับคืนสู่แหล่งน้ำ โดยสร้างมาตรการต่าง ๆ ด้วย 3R ได้แก่ Reduce, Recycle, Replenish ร่วมกับ World Wildlife Fund (WWF)
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่านั้น คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ปัญหาระดับโลกเหมือนกับปัญหาการปล่อยคาร์บอน นั่นคือ บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนมากสามารถไปซื้อ Carbon Offset เมืองอื่นหรือประเทศอื่นเพื่อเป็น Carbon Neutral ได้ เพราะการบรรเทาปัญหาขึ้นอยู่กับผลรวม เช่น ทั้งโลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ x ตันแต่ละปี เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดว่าจะไปลดคาร์บอนที่ไหนบ้างแต่ทำแบบนี้กับเรื่องน้ำไม่ได้ ถ้าโรงงานบรรจุขวดของโคคา-โคลา ในรัฐเคราลาประเทศอินเดียใช้น้ำมากจนเบียดบังชาวบ้าน ทำให้พวกเขาเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำใช้ โคคา-โคลา ต้องชดเชยน้ำที่โรงงานนั้นเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไม่สามารถไปชดเชยน้ำที่ประเทศอื่นเพื่อแก้ปัญหาของชาวอินเดียได้
ปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาลในเคราลาหลังจากที่โคคา-โคลา เปิดโรงงานบรรจุขวด รวมทั้งผลการตรวจสอบพบสารฆ่าแมลงในผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นสาเหตุหลักที่รัฐบาลประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคคา-โคลา เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2006 ก่อนที่จะถูกศาลตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งในปลายเดือนเดียวกันหลังจากที่บริษัทยื่นประท้วงต่อศาล แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักก่อนที่โคคา-โคลา จะสามารถพิสูจน์ความจริงใจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การมองความรับผิดชอบดังกล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อธุรกิจระยะยาวจัดเป็นแนวคิดที่ดีกว่าการอ้างตัวว่าเป็นบริษัทที่ดีตามระเบียบหรือกฎหมายข้อบังคับ
แม้ว่าประเด็นการจัดซื้อสีเขียว (Green Purchasing) เป็นประเด็นที่กล่าวถึงไม่นาน ผลสำรวจการจัดซื้อสีเขียวในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีองค์กรราว 30% เริ่มดำเนินการจัดหาจัดซื้อที่มุ่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หากการจัดซื้อสีเขียวเชื่อมโยงกับปัจจัยเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจย่อมนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจัดซื้อสีเขียว การสร้างกระบวนการจัดซื้อสีเขียวต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและครอบคลุมถึงผลกระทบการตัดสินใจทั้งระบบ คงไม่ใช่เพียงคิดแค่การกดราคาผู้ส่งมอบเท่านั้น ดังกรณีหลอดประหยัดไฟแบบ 23 วัตต์ ราคาประมาณ 180 บาทแพงกว่าหลอดธรรมดา 100 วัตต์ที่มีราคาเพียง 20 บาท
แต่หากมองเรื่องความคุ้มค่าแล้วหลอดประหยัดไฟซึ่งมีอายุใช้งานมากกว่าหลอดธรรมดาถึงราว 10 เท่า ขณะที่ค่าไฟถูกกว่าราวสามเท่าย่อมทำให้การเปลี่ยนมาเป็นหลอดประหยัดไฟย่อมถูกกว่าหลอดธรรมดามาก หากพิจารณาราคาอย่างเดียวย่อมทำให้การตัดสินใจกระบวนการจัดซื้อสีเขียวสวนทางกับเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์? ถ้าคิดถึงผลกระทบทั้งระบบจะพบว่าเกิดค่าใช้จ่ายแฝงในการกำจัดของเสีย รวมทั้งการจัดซื้อสีเขียวยังสนับสนุนการสร้างภาพพจน์องค์กรหรือตราสินค้าด้วย
อย่างกรณีร้านกาแฟสตาร์บัค เดิมกาแฟกับสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่สตาร์บัค มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟตลอดและผนวกความพยายามดังกล่าวไว้ในการสร้างแบรนด์อย่างเป็นระบบ โดยล่าสุดได้มีการใช้ถุงขยะที่บางลงซึ่งสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปสู่แหล่งถมขยะ (Landfills) ถึง 750,000 ตันต่อปี เป็นการลดค่าใช้จ่ายราว 500,000 เหรียญสหรัฐต่อปี การตั้งเป้าหมายการจัดซื้อสีเขียวที่วัดผลได้และกระจายเข้าไปในระบบการจัดซื้ออย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วการจัดซื้อสีเขียวย่อมจะเป็นเพียงแค่การทำตามกระแส
กรณีศึกษาน่าสนใจอย่างวอลมาร์ท (Wal-Mart) ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้จัดส่งสินค้าแต่ละราย เช่น อัตราส่วนปริมาณสินค้าต่อหีบห่อ อัตราส่วนการนำมาใช้ใหม่ของสินค้า อัตราการรีไซเคิล เพื่อนำข้อมูลไปตั้งเป้าหมายและดำเนินการจัดซื้อสีเขียวอย่าง การลดจำนวนหีบห่อสินค้าลง 5% ภายในปี 2013 โดยมีสินค้ากว่า 97,000 รายการเข้าร่วมระบบประเมินดังกล่าวและเลือกผู้ส่งสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะให้ผู้ผลิตสินค้าพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมลงทุนสนับสนุนคู่ค้าให้ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรขนาดขนาดกลางและเล็กที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงาน
กรณี เบนแอนด์เจอรี่ ไอศกรีมยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา ได้ยึดมั่นแนวทางบริหารด้วยการเป็นผู้ให้กับสังคมมากกว่าเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากผู้บริโภค อาทิ รับซื้อผลผลิตจากชาวไร่โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อเงินจะถูกส่งถึงมือเกษตรกรโดยตรงหรือรับซื้อส่วนผสมไอศกรีมจากองค์กรสาธารณกุศล ไม่รวมถึงการบริจาคผลกําไรก่อนหักภาษี 7.5 เปอร์เซ็นต์ให้มูลนิธิเบนแอนด์เจอร์รี่ เพื่อนำดอกผลมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เบน แอนด์ เจอร์รี่ ได้ประกาศแผนทดลองนำตู้แช่เย็นปลอดสารเอชเอฟซีมาใช้เป็นครั้งแรกในอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน ตู้แช่ไอศกรีมแบบใหม่ที่เบน แอนด์ เจอร์รี่ นำมาใช้ ประหยัดไฟฟ้ามากกว่าตู้เย็นทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์
ตู้แช่ปลอดสารเอชเอฟซีที่นำมาใช้นี้จะใช้ไฮโดรคาร์บอน เช่น โพรเพน (Propane) และบูเทน (Butane) เป็นสารให้ความเย็น แต่เดิมการผลิตตู้เย็นจะใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) เป็นสารให้ความเย็น ต่อมานักวิทยาศาสตร์พบว่าสารชนิดนี้ทำลายชั้นโอโซน ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเครื่องทำความเย็นหันมาใช้ เอฟก๊าซ เช่น HCFCs และ HFCs ทำลายโอโซนน้อยกว่า หากสำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) อนุญาตให้เบน แอนด์ เจอร์รี่ ขยายการทดลองต่อไป คาดว่าบริษัทจะเปลี่ยนตู้แช่ไอศกรีมกว่า 100,000 ตู้ ภายใน 8-10 ปี ส่วนกรีนพีซหวังว่าการทดลองครั้งนี้จะเปิดประตูการใช้สารทำความเย็นแบบธรรมชาติอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา
สำหรับแมคโดนัลด์ดำเนินกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้ส่งมอบวัตถุดิบMcDonald's works with its suppliers to promote socially responsible practices in its supply chain as part of its supply chain strategy.เพื่อส่งเสริมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมระดับห่วงโซ่อุปทานที่เป็นหนึ่งในกรอบความรับผิดชอบต่อสังคม (This is part of its wider Framework for Corporate Social Responsibility)
อย่าง การรับซื้อถั่วเหลืองที่ปลูกตามธรรมชาติเพื่อเป็นอาหารไก่ในฟาร์ม เนื่องจากผู้บริโภคชาวยุโรปต่อต้านอาหารที่เปลี่ยนถ่ายหน่วยพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO) แต่กลายเป็นว่าถั่วเหลืองจากบริษัทคาร์กิลล์ (Cargill) ผู้ส่งมอบวัตถุดิบของแมคโดนัลด์ปลูกถั่วรุกพื้นที่ป่าอะเมซอน เมื่อกรีนพีซทราบปัญหาจึงรวมกลุ่มประท้วงที่หน้าร้านแมคในยุโรปและเผยแพร่บทความชื่อ McAmazon (เมษายน 2006) บอกกล่าวเรื่องราวการทำลายป่าไม้ของแมคโดนัลด์จนแพร่หลายไปทั่วโลก
ไม่น่าเชื่อว่าคู่กรณีจะมาร่วมรณรงค์ประเด็นดังกล่าวด้วยกันได้ บ๊อบ แลงเกิร์ต รองประธานฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมของแมคโดนัลด์ กล่าวยอมรับตั้งแต่ทราบเรื่องนี้ก็ประกาศงดซื้อถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากเขตป่าอะเมซอน พร้อมให้เวลาผู้ส่งมอบในการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ 4 เดือนให้หลัง (วันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2006) กรีนพีซเผยแพร่เรื่อง McVictory ลงในเว็บไซต์ พร้อมประกาศว่ากรีนพีซและแมคโดนัลด์ได้จับมือร่วมกันทำงานเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง ปรากฏว่าปีนั้นแมคโดนัลด์ทำรายได้รวม 21.5 พันล้านดอลลาร์และกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์ถือเป็นผลสะท้อนที่รวดเร็วต่อนโยบายสีเขียวดังกล่าว
ความจริงแล้วการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแมคโดนัลด์ไม่ได้เพิ่งทำ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1989 แมคโดนัลด์ร่วมกับ Environmental Defense Fund (EDF) องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพันธมิตรร่วมกัน ทำให้เกิดโครงการดี ๆ เช่น การพิมพ์รายงานประจำปีด้วยกระดาษรีไซเคิลจากผลิตภัณฑ์ของแมคเอง การเลิกใช้กล่องโฟม โดยแมคโดนัลด์และ EDF แสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมสามารถทำไปด้วยกันได้เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
แมคโดนัลด์มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ การลดของเสียและรีไซเคิลกว่า 83% ของแพ็คเกจที่ทำจากกระดาษหรือไม่ก็เยื่อไม้และกำจัดส่วนที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออก ทำให้ลดปริมาณกล่องเฟรนช์ฟรายแมคโดนัลด์ในอเมริกาถึง 1,100 ตัน ในปี 2007 ได้ลดน้ำหนักถ้วยลงเหลือเพียง 32 ออนซ์ ทำให้ใช้พลาสติกเรซินน้อยลง 650 ตันและพยายามใช้วัสดุธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภารกิจลดก๊าซเรือนกระจกเป็นอีกหนึ่งที่แมคโดนัลด์ทำอย่างแข็งขันด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น เพิ่มฉนวนกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ออกแบบอาคารประหยัดพลังงานให้ได้มาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) นอกจากนี้แมคโดนัลด์ยังสนับสนุนการประมงอย่างยั่งยืน(Filet-O-Fish)
ในปี 2001 แมคโดนัลค์ทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (Conservation International) หรือ CI เพื่อพัฒนาโปรแกรมตัวชี้วัดการทำประมงอย่างยั่งยืน ทำให้ประมงกว่า 18,000 เมตริกตันหรือ 1 ใน 3 ของการซื้อขายปีนั้น โดยมีแนวโน้มเป็นประมงแบบยั่งยืนมากขึ้น CIยังช่วยแมคโดนัลด์พัฒนาระบบวัดผล การรักษาสิ่งแวดล้อมของผู้ส่งมอบแต่ละรายด้วยทั้งการใช้น้ำ การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ผู้ส่งมอบใส่ใจกับปัญหามากขึ้น ทำให้ CI ชื่นชมว่าแมคโดนัลด์เป็นหนึ่งในผู้นำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยมุ่งดูแลให้คู่ค้าและร้านสาขาทั่วโลกปฏิบัติตามนโยบายสีเขียวของแมคโดนัลด์
กรณีศึกษาที่น่าสนใจของธุรกิจสีเขียวระดับโลก คือ The Body Shop มีแนวคิดการทำตลาดไม่เพียงยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แต่ยังคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ The Body Shop แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด Beauty & Cosmetics นับตั้งแต่ก่อตั้งมา The Body Shop ได้นำแนวคิดความใส่ใจกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมมาสร้างสรรค์เป็นแคมเปญการตลาด โดยใช้ปัญหาสังคมเป็นประเด็นหลักไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการทดลองกับสัตว์(Against Animal Testing) ผลักดันให้เกิดแนวคิดการช้อปปิ้งอย่างมีจริยธรรม (Ethical Shopping) ทาง Dame Anita Roddick ได้ประกาศเป็นพันธกิจกว่า 30 ปีมาแล้วว่า “การดำรงตนเป็นธุรกิจสีเขียว คือ DNA ของ The Body Shop” โดยมุ่งบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำภายในองค์กร
โครงการสิ่งแวดล้อมได้ถูกจัดทำเพื่อรองรับแนวคิดและสนับสนุนกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือกับองค์กรอย่าง Greenpeace สร้างแคมเปญ “Save the Whale” จนเกิดภาพลักษณ์การเป็นตัวแทน “Protect the Planet” และเกิดเป็นมูลนิธิเพื่อสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ จนกระทั่งปี 2001 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ The Body Shop หยิบยกประเด็นความเปลี่ยนแปลงบรรยากาศมาเป็นเป้าหมายในงานสิ่งแวดล้อม โดยจับมือกับพันธมิตรอย่างกรีนพีซ (Greenpeace) ให้ร้านค้าและสำนักงานในประเทศอังกฤษของ The Body Shop เปลี่ยนมาใช้รูปแบบพลังงานเรียกว่า Ecotricity ผลิตมาจากพลังงานทดแทนพร้อมกับบุกเบิกแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล โดยขวด PET บรรจุผลิตภัณฑ์ทั้งหมดทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100%
ทาง The Body Shop ถือเป็นแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกแบรนด์แรกที่สามารถเสนอทางเลือกแนวคิดสีเขียวกับผู้บริโภค ในปี 2008 ทาง The Body Shop ได้สั่งให้สาขาร้านค้าทั่วโลกเปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกมาเป็นถุงกระดาษ พนักงานร้านจะประชาสัมพันธ์ถุงผ้า (Bag For Life) ที่ใช้ได้นานกว่าไปด้วย โดยจะถามลูกค้าทุกครั้งที่ซื้อสินค้า เพราะมองว่า “แม้ว่าถุงกระดาษจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องทิ้งถุงเลย นั่นคือ หนทางที่ดีที่สุด”
ความท้าทายครั้งสำคัญของ The Body Shop คือ การประกาศเป็น “Carbon Neutral Retailer” ภายในปี 2010 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและหาทางออกให้ทุกกระบวนการทำงานใช้พลังงานทดแทนมากที่สุด โดยมุ้งเน้นไปที่ประเด็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในร้านจำหน่ายสินค้า สำนักงาน โกดังจัดเก็บสินค้า ระบบจัดส่งสินค้าและการเดินทางโดยเครื่องบิน ส่วน “ประสิทธิภาพ” เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ The Body Shop ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลข 93% ของระบบการจัดส่งทางรถยนต์ได้ใช้รถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก แต่ทาง The Body Shop กลับไม่หยุดอยู่ที่การหันมาใช้รถไฮบริดเท่านั้น เพราะเป้าหมายการลดพลังงาน คือ ลดการใช้พลังงานโดยที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการเป็น Carbon Neutral Retailer ภายในปี 2010 น่าจะเป็นอีกความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญสำหรับธุรกิจ Beauty & Cosmetics อย่าง The Body Shop ที่มุ่งปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมโลก การทำ CSR แบบยั่งยืนจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่าการแสวงหาผลกำไรหรือยอดขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ที่ดีอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
2. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.
3. Toyota Motor Corporation, Green Purchasing Guideline, March 2006.
4. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.
5. http://www.bangkokbiznews.com
6. http://www.brandage.com
7. http://www.businessthai.co.th
8. http://www.csrthailand.net
9. http://www.denso.co.th/
10. http://www.green.in.th
11. http://www.mbanewsthailand.com/2010/05/mba-csr-china/
12. http://mba.nida.ac.th
13. http://www.mcthai.co.th/
14. http://www.positioningmag.com
15. http://www.prachachat.net
16. http://www.thailca.com
17. http://www.toyota.co.jp/en/environment/vision/green/pdf/all.pdf
18. http://www.toyota.co.th/sustainable_plant/sustainable.html
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด