เนื้อหาวันที่ : 2011-06-01 18:10:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8642 views

การออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัย (Life Cycle Safety Design)

การออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นของงานออกแบบ ถึงแม้ว่าการออกแบบงานไฟฟ้าที่ดีจะไม่สามารถกำจัดการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของบุคลากรในหน่วยงานได้ทั้งหมด แต่การออกแบบให้มีมาตรการที่ปลอดภัยจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
kwanchai2002@hotmail.com

          การออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นของงานออกแบบ ถึงแม้ว่าการออกแบบงานไฟฟ้าที่ดีจะไม่สามารถกำจัดการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของบุคลากรในหน่วยงานได้ทั้งหมด แต่การออกแบบให้มีมาตรการที่ปลอดภัยจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ แต่สิ่งที่ท้าทายการออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยก็คือต้นทุน (Cost) จากกราฟรูปที่ 1 จะเห็นว่าเมื่อออกแบบงานไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นจะมีต้นทุนในการก่อสร้างของโครงการที่ลดลงเรื่อย ๆ

ขณะที่เมื่อมีการออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยในภายหลังจะมีต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินในการเปลี่ยนแปลงงานที่ทำไปแล้วให้สามารถรองรับมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง

           การปรับลดค่าใช้จ่ายของงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยในขั้นตอนของงานออกแบบจะช่วยลดต้นทุนของโครงการลง แต่ก็จะทำให้ความปลอดภัยของบุคลากรลดลงและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระยะยาวขึ้นจากกรณีที่ไฟฟ้าดับ มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบแก้ไขที่หน้างาน คนงานได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอื่น ๆ ที่ตามมา การปรับลดค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปโดยปรับลดแล้วปรับลดอีกจะทำให้เกิดต้นทุนที่แพงขึ้นภายหลังและเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นในระบบไฟฟ้าทั้ง ๆ ที่ได้กำหนดงบประมาณของโครงการในการออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยไว้แล้ว

รูปที่ 1 กราฟแสดงต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัย

ข้อพิจารณาในการออกแบบ (Design Consideration) 
          ถึงแม้ว่าในการออกแบบงานไฟฟ้า วิศวกรไฟฟ้ามีเรื่องที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก แต่การออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญที่วิศวกรไฟฟ้าต้องให้ความสนใจ โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

          1.  ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน (Operator Safety) 
          * การเข้าถึงอุปกรณ์ควบคุม (Accessibility of Control) อุปกรณ์ควบคุมในโรงงานหรือในห้องเครื่องงานระบบไฟฟ้าเครื่องกลมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงปุ่มหยุดเดินเครื่อง  (Stop Button) หรือ ปุ่มหยุดฉุกเฉิน (Emergency Stop Button) หรือสายดึงเพื่อหยุดเดินเครื่อง (Stop Cord) เป็นสิ่งสำคัญต้องสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและโดยทันที ต้องไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเดินอ้อมหรือเดินไกลเพื่อจะกดปุ่มหยุดเดินเครื่องหรือปุ่มหยุดฉุกเฉิน

          * การจัดวางอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงผล (Arrangement of Controls and Displays)  ต้องจัดวางอุปกรณ์ควบคุมและจอแสดงผลให้ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นข้อมูลที่แสดงได้อย่างชัดเจน สามารถแปลผลข้อมูลที่แสดงได้โดยง่าย

          * การเลือกอุปกรณ์ ควรคำนึงอุปกรณ์ที่เป็นโมเดลเดียวกัน หรือ มีโมเดลที่ต่างกันให้น้อยที่สุด เพราะจะไม่ทำให้ผู้ใช้งานสับสน

          2.  การบำรุงรักษาที่ปลอดภัย (Maintenance Safety)
          * ต้องพิจารณาให้มีที่ว่างเพื่อปฏิบัติงานที่เพียงพอและมีการส่องสว่างที่เพียงพอ เช่น ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานแสงสว่างเพื่อปฏิบัติงานที่เพียงพอ เช่น ช่างไฟฟ้าที่เข้าไปทดสอบทางไฟฟ้าภายในตู้ไฟฟ้าต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอในการปฏิบัติงาน และต้องเข้าออกได้อย่างปลอดภัย

          * การจัดวางชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในตู้ไฟฟ้าหรือสิ่งห่อหุ้ม (Enclosure) อย่างเหมาะสมสามารถเพิ่มความปลอดภัยทางไฟฟ้าได้ จัดวางชิ้นส่วนให้ตรวจวัด ตรวจติดตามและทดสอบได้ที่ความสูงที่สะดวกในการทำงาน (Convenient Height)

          3.  Fail–safe Design
          การออกแบบ Fail–safe Design เป็นการออกแบบที่เมื่ออุปกรณ์หรือระบบเสียหรือไม่ทำงานหรือ ใช้งานไม่ได้ หรือเมื่อไฟฟ้าดับ ต้องไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้กระบวนการผลิตเสียหาย การออกแบบ Fail–safe Design ควรเป็นหัวใจของการออกแบบระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบนิวแมติก และ/หรือระบบไฮดรอลิก

          4.  ที่ว่างเพื่อปฏิบัติงานและการส่องสว่างที่เพียงพอ (Adequate Spacing and Illumination)
          มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยได้กำหนดที่ว่างเพื่อปฏิบัติงานกับบริภัณฑ์ไฟฟ้าที่น้อยที่สุดตามตารางที่ 1-1 ความลึกต่ำสุดของที่ว่างเพื่อปฏิบัติงานกับบริภัณฑ์ไฟฟ้าระบบแรงต่ำ ตารางที่ 1-2 ความลึกต่ำสุดของที่ว่างเพื่อปฏิบัติงานกับบริภัณฑ์ไฟฟ้า ระบบแรงสูง และตารางที่ 1-3 ระดับความสูงของส่วนที่มีไฟฟ้าและไม่มีที่กั้น โดยต้องจัดให้มีที่ว่างและทางเข้าออกอย่างเพียงพอ เพื่อปฏิบัติงานและบำรุงรักษาบริภัณฑ์ไฟฟ้าได้โดยสะดวกและปลอดภัย ทั้งนี้ที่ว่างดังกล่าวห้ามใช้สำหรับเก็บของ

          5.  การต่อลงดินอย่างเหมาะสม (Proper Grounding) 
          การต่อลงดินเป็นสิ่งสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิต การออกแบบระบบต่อลงดินต้องเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย หรือ มาตรฐานนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับเช่นมาตรฐาน NEC Code หรือ มาตรฐาน IEEE ที่เกี่ยวข้อง การเกิดประจุไฟฟ้าสถิตสะสมที่อุปกรณ์หรือตัวบุคคลในพื้นที่ที่กำหนดไว้ว่าเป็นบริเวณอันตรายต้องออกแบบอย่างถูกต้อง วิศวกรไฟฟ้ามีความรับผิดชอบที่ต้องออกแบบวงจรแบะระบบไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดินให้เหมาะสมและถูกต้อง ไม่อาจจะปล่อยให้ดำเนินการโดยไม่มีการออกแบบไว้ก่อนที่หน้างาน

          6.  การล็อคระบบและอุปกรณ์ (System and Equipment Lockouts)
          มาตรฐาน NEC Code และมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ได้กำหนดให้ต้องมีเครื่องปลดวงจรสำหรับมอเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สายเมน สายป้อนหรือวงจรย่อย โดยต้องสามารถล็อคเครื่องปลดวงจรดังกล่าวในขณะที่มีผู้ปฏิบัติงานกับอุปกรณ์เหล่านี้

          7.  การทำเครื่องหมายอุปกรณ์และวงจร (Equipment and Circuitry Identification) 
          *  การทำเครื่องหมายอุปกรณ์และวงจรต้องมีมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) ต้องกำหนดเป็นความต้องการเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามโดยเด็ดขาด การจัดทำป้ายชื่อที่มีขนาดที่เหมาะสม และกำหนดรหัสสี (Color Coding) ให้ถูกต้องเพื่อให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัย

          *  การทำเครื่องหมายระบุเครื่องปลดวงจร เครื่องปลดวงจรที่ใช้สำหรับมอเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สายเมน สายป้อนหรือวงจรย่อยทุกเครื่องต้องทำเครื่องหมายระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนติดไว้ที่เครื่องปลดวงจรหรือใกล้กับเครื่องปลดวงจรนั้น นอกจากว่าตำแหน่งและการจัดเครื่องปลดวงจรนั้นชัดเจนอยู่แล้ว เครื่องหมายต้องชัดเจนและทนต่อสภาพแวดล้อม

          8.  Project/System Review 
          ต้องจัดให้มีการ Review งานออกแบบทุกขั้นตอนของการออกแบบ โดยมีวิศวกรออกแบบ ตัวแทนเจ้าของโครงการ และ ผู้ใช้งานและบำรุงรักษา (End User) โดยพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ได้แก่ 
          * Constructionability เป็นการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ และ ระบบฯสามารถติดตั้งหรือก่อสร้างได้จริงหรือไม่
          * 3–D Model Reviews
          * HAZOPS Review

          9.  จัดทำ Electrical Design Safety Consideration Checklist
          ในการออกแบบงานไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยในโครงการประเภทต่าง ๆ มีข้อพิจารณาด้านความปลอดภัยซึ่งสามารถสรุปได้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 Electrical Design Safety Consideration Checklist

สรุป
          ถึงแม้ว่ามาตรฐานและข้อกำหนดทางไฟฟ้าได้กำหนดความต้องการด้านความปลอดภัยไว้แล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของวิศวกรไฟฟ้าที่ต้องออกแบบงานไฟฟ้าให้มีความปลอดภัย การออกแบบงานไฟฟ้าที่ปลอดภัยต้องการข้อมูลจากผู้ใช้งานและบำรุงรักษาโดยต้องคำนึงถึงขั้นตอนการทำงาน (Operating Procedures) การทำเครื่องหมายอุปกรณ์และวงจร (Equipment and Circuits Identifications) การเข้าถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า (Accessibility) และ การล็อคอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า (Lockouts) เป็นต้น การพิจารณาความต้องการด้านความปลอดภัยข้างต้นตั้งแต่เริ่มต้นของการออกแบบงานไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยได้รวมอยู่ในโครงการ

เอกสารอ้างอิง
1. มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2545
2. NEC 2008 Handbook
3. Life Cycle Safety and the Design Engineer: EC&M March 2010


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด