เนื้อหาวันที่ : 2007-03-22 15:00:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6610 views

ริเริ่มโครงการด้วย BPM

แนวคิดและหลักการของ BPM นำมาประยุกต์ใช้โดยแบ่งออก 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงความไม่รู้มาสู่ความตระหนักถึง ช่วงที่ 2 เป็นการเริ่มการทำ BPM และช่วงที่ 3 คือ การก้าวเข้าสู่ภาวะใหม่ในกระบวนการก็คงจะไม่หยุดนิ่ง มีปัญหาใหม่มาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงและเป้าหมายหลักของการจัดการกระบวนการธุรกิจนั้น คือ การบริหารความเปลี่ยนแปลง

หลังจากรู้แนวคิดของ BPM (Business Process Management) กันมาพอสมควรแล้ว หลายท่านคงอยากจะมองเห็นภาพของการสร้างโครงงาน (Project Implementation) ของ BPM ผมได้แนวคิดและหลักการของ BPM จาก David Knight ประยุกต์ใช้และอธิบายเพิ่มเติมโดยแบ่งออก 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงความไม่รู้มาสู่ความตระหนักถึง ช่วงที่ 2 เป็นการเริ่มการทำ BPM และช่วงที่ 3 คือ การก้าวเข้าสู่ภาวะใหม่

.

ช่วงที่ 1 จากความไม่รู้สู่ความตระหนัก

ในช่วงระยะแรกนี้ของโครงงานส่วนใหญ่จะเป็นช่วงของการสำรวจตัวเองหรือประเมินตัวเอง ตามปกติในองค์กรทั่วไปโดยเฉพาะองค์กรใหญ่แล้วจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนในองค์กรได้ทราบโดยทั่วกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับองค์กรหรือระบบงาน การที่มีบางคนทราบแต่บางคนไม่รู้จะทำให้เกิดการไม่ประสานงานกันในดำเนินโครงการ เมื่อทุกคนได้รับทราบเรื่องแล้วก็ต้องมีการจัดกลุ่มสำรวจกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดของการจัดการกระบวนการ (BPM) แล้วกิจกรรมเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ? ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้จะต้องทำให้ผู้มีส่วนร่วมทุกคนมีความเข้าใจในเหตุและผลของกระบวนการ จากการทำงานหรือขั้นตอนการทำงานซึ่งแต่เดิมอาจจะอยู่ในรูปของซอฟต์แวร์ทางด้านไอทีที่มาช่วยกระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติ จึงต้องทำให้เจ้าของกระบวนการ (Process Owner) จะต้องเข้ามามีบทบาทในนำกิจกรรมตรงนี้เหมือนกับการรื้อกระบวนการเดิม ผลจากกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้มุมมองของการทำงานเปลี่ยนจากมุมมองเชิงข้อมูล (Data Centric) ไปสู่มุมมองเชิงกระบวนการ (Process Centric) ความเข้าใจที่ตรงกันนี้ คือ พื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะนำไปสู่การจัดการกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์จากการสร้างความเข้าใจจะมากำหนดรายการกิจกรรมของโครงงานหรือกิจกรรมที่ควรจะทำโดยการปรับปรุงโดยมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ (Process) โดยมีทุกฝ่ายหรือแผนกใด ๆ และบุคคลใดเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนาการทำงานโดยการเปรียบเทียบระหว่างแนวทางแบบต่างคนต่างทำกับแนวทางของการใช้ BPM รูปที่ 1 แสดงให้ถึงองค์ประกอบหลักและสนับสนุนในกระบวนการธุรกิจพร้อมทั้งภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก

.

.

รูปที่ 1 แผนผังองค์กรของ Rummler

.

จากการรวมรวมข้อมูลต่าง ๆ และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการทำให้เราสามารถกำหนดโครงการนำร่อง (Pilot Project) จุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผน กลุ่มของผู้บริหารจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการนี้ หนทางเดียวที่คุณจะได้องค์กรที่มีมุมมองเชิงกระบวนการ (Process-Centric Organization) คือ ถ้า CEO และกลุ่มผู้จัดการในกลุ่มกระบวนการหลัก (Core Process) ในแผนจะต้องให้คำมั่น (Commitment) ในการสร้างองค์กรในลักษณะนี้ แต่เราก็ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าแบบจำลองของการจัดการโดยทั่วไปในปัจจุบันจะเป็นประเภทแนวคิดเชิงฟังก์ชันการทำงาน (Functional) มีหลายคนหรือนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยอาจจะคุยกันถึงเรื่องแนวคิดแบบกระบวนการ (Process Thinking) แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการนำแนวคิดแบบกระบวนการในโซ่คุณค่า (Valve Chain) มาประยุกต์ใช้กันน้อยมาก เพราะยังคงใช้แนวคิดในการจัดการแบบดั้งเดิมอยู่ ปัญหาที่ตามมา คือ ผู้บริหารหรือผู้จัดการส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในลักษณะการทำงานซึ่งในกรณีทั่วไปเราจะต้องหาโอกาสที่จะต้องหลีกเหลี่ยงแนวคิดแบบฟังก์ชันหน้าที่การทำงานหรือแบบไซโล (Silo) ในลักษณะนี้ โดยการแนะนำแนวคิดของกระบวนการในโซ่คุณค่ามาใช้โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีส่วนร่วมได้เริ่มมีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการและสามารถที่จะบอกได้ถึงสิ่งที่จะต้องปรับปรุง แต่เราคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีโครงสร้างลักษณะองค์กรที่เป็นแบบไซโลและก็จะออกในรูปแบบของโครงสร้างองค์กรหรือ Organization Chart ในกรณีนี้เราจะเลือกบุคคลหลักจากกระบวนการหรือกิจกรรม และกำหนดลงไปในลูกศรขนาดใหญ่ซึ่งจะใช้แทนโซ่คุณค่าดังในรูปที่ 2 ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ รับรู้ถึงความรับผิดชอบในกระบวนการหลักหรือกระบวนการย่อย

.

รูปที่ 2 ไดอะแกรมขององค์กรที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโซ่คุณค่าและกระบวนการธุรกิจ

.

ช่วงที่ 2 เริ่ม BPM

หลังจากที่ทุกคนได้รับรู้และประเมินตัวเองและสร้างความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากมุมเชิงฟังก์ชันหน้าที่การทำงานไปสู่มุมมองเชิงกระบวนการ สิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลักดัน คือ คนหรือ บุคลากรที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองจากความเป็นมือใหม่ไปสู่ความเป็นนักปฏิบัติที่ช่ำชอง โดยการนำเอาผลสรุปจากกิจกรรมในช่วงแรกมาเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กรจากการมุ่งเน้นกระบวนการ (Process) โดยที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เมื่อทุกคนมีความพร้อมกิจกรรมโครงงานประเภทการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ควรจะเริ่มจากระดับบนสู่ระดับล่าง (Top-Down) เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายและการปฏิบัติร่วมกัน และต่อมาจะเป็นจากระดับล่างสู่ระดับบน (Bottom-up) เพื่อให้ผู้บริหารผู้นำได้ประเมินผลการปฏิบัติงานหลังจากที่นำเอากรอบการทำงานแบบ BPM มาเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมที่ปฏิบัติกันอยู่ว่าเป็นไปตามแนวทางหรือไม่

.

หลายองค์กรมองถึงกระบวนการต่าง ๆ เหมือนกับว่ากระบวนการเหล่านั้นอยู่แยกเป็นอิสระออกจากองค์กรซึ่งที่จริงแล้วกระบวนการเหล่านั้นยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่อาจจะง่ายขึ้นถ้าจะนึกถึงกระบวนการต่าง ๆ ตามรูปที่ 3 ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการและผู้จัดการที่มีความรับผิดชอบในกระบวนการ ผู้จัดการจะวางแผนและทำให้กระบวนการทำงานได้ตามคำนิยามและขั้นตอนของกระบวนการ รวมทั้งจัดเตรียมสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์และจัดจ้างบุคลากรเข้ามาทำงานในกระบวนการ ดังนั้นผู้จัดการจะต้องกำหนดเป้าหมายและวัดผลการปฏิบัติงานที่สามารถใช้เฝ้าตรวจสอบกระบวนการได้ เมื่อกระบวนการได้ถูกจัดการ (Managed) และดำเนินการ (Executed) ผู้จัดการจะต้องเฝ้าตรวจสอบผลลัพธ์และเข้าทำการแก้ไขเมื่อใดก็ตามที่กระบวนการไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

.

รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการและผู้จัดการที่มีความรับผิดชอบในกระบวนการ

.

ในการจัดการกระบวนการนั้น บริษัทจะต้องจัดการหรือปรับกระบวนการใหม่ จัดทำมาตรวัด (Measure) รวมทั้งตัวผู้จัดการเองให้เข้ากับโครงสร้างตามลำดับชั้นขององค์กร เป้าหมายขององค์กรก็จะถูกแบ่งย่อยออกมาและกระจายออกไปตามกระบวนการหลักและกระบวนการย่อย ดังนั้นเป้าหมายขององค์กรทั้งหมดจะต้องปรับให้เข้ากับโครงสร้างตามลำดับขั้น จึงทำให้การจัดการคงจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะบริษัทที่มีมุมมองการจัดการเชิงกระบวนการจะต้องพึ่งพาโครงสร้างแบบ Matrix กลุ่มผู้จัดการหนึ่งก็จะดูแลกระบวนการหลัก (Core Process) และกระบวนการย่อย (Sub Process) ส่วนอีกกลุ่มก็จะรับผิดชอบในเรื่องมาตรฐานในการทำงานให้คงไว้ อย่างไรก็ตามต่างบริษัทต่างองค์กรก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ความคิดหลัก คือ การปรับตัวให้เข้ากันเพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกคนจะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายขององค์กร บางครั้งอาจจะดูยากและสับสนไปว่าอะไรจะมาก่อน เพราะว่ากระบวนการการจัดการและการจัดการกิจกรรมเหล่านี้จะหมุนเวียนไปมาซึ่งกันและกัน

.

สำหรับแนวโน้มของ BPM นั้น ผมอยากแนะนำให้ใช้กรอบการทำงาน (Framework) การมีกรอบการทำงานที่ดีจะช่วยให้การเริ่มต้นเป็นไปอย่างราบรื่นบนโครงสร้างสถาปัตยกรรมของกระบวนการธุรกิจที่เป็นมาตรฐาน หนึ่งในแบบจำลองอ้างอิงของกระบวนการธุรกิจที่ใช้กันในการจัดการกระบวนการธุรกิจ คือ SCOR (Supply Chain Operation Reference Model) แล้วผมจะกล่าวถึง SCOR ในครั้งต่อ ๆ ไป (ความจริงผมเคยเขียนถึง SCOR มาก่อนในบทความของ คอลัมน์ Supply Chain Corner) รูปที่ 4 แสดงให้เห็นถึงภาพกว้างของสามระดับของกระบวนการธุรกิจที่นิยามด้วย SCOR

.
.

รูปที่ 4 แสดงถึงภาพกว้างของสามระดับของกระบวนการที่นิยามด้วย SCOR

.

ช่วงที่ 3 ก้าวข้ามสู่เป้าหมาย

หลังกระบวนการธุรกิจในปัจจุบันถูกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน (Stakeholders) แสดงสถานะของตนเองในกระบวนการแล้ว เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแบบจำลอง (Model) ของกระบวนการธุรกิจขององค์กร การสร้างแบบจำลองธุรกิจ (Business Process Modeling) จะเป็นการนำเอาข้อมูลของกระบวนการธุรกิจทั้งหมดมาจำลองเพื่อให้ทุกคนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการได้รับรู้ เปรียบเสมือนเป็นพิมพ์เขียวหรือ Blue Print ขององค์กรที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบหลักขององค์กร คือ กระบวนการธุรกิจ (Business Process)  คน (People) และเทคโนโลยี (Technology) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรเองสามารถบูรณาการ (Integrating) ทุกส่วนเข้าด้วยกัน เราสามารถพูดได้ว่าแบบจำลองกระบวนธุรกิจนั้นเป็นเสมือนมาตรฐานของการทำงานในภาพรวม โดยการนำเสนอหลายมิติของทรัพยากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการธุรกิจมาสู่รูปแบบในแบบจำลอง (Model) ที่ทุกคนในกระบวนการจะต้องเข้าใจเหมือนกันและทำงานตามคำนิยามและข้อกำหนดในแบบจำลอง

.

ประโยชน์ของแบบจำลองธุรกิจจะทำให้มีความสะดวกในการทดสอบผลของการออกแบบกระบวนการใหม่ (Redesign) หรือการใช้งานกระบวนการใหม่ (Implementing New Process) ขั้นตอนตรงนี้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจ ทำให้การออกแบบและการทดลองมีประสิทธิภาพและมีค่าใช้จ่ายลดลง ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT สำหรับ BPM นั้นมีประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์แบบจำลองของกระบวนการธุรกิจทั้งหมดให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทำให้การเชื่อมโยงแบบจำลองกระบวนการกับกระบวนการธุรกิจจริงทั้งหมดขององค์กรได้ง่ายและมีความถูกต้อง

.

สรุป

ขั้นตอนการนำเอา BPM มาใช้ปรับปรุงการทำงานที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดคงจะไม่จบลงที่ขั้นตอนสุดท้ายแต่คงจะหมุนวนเริ่มต้นกลับไปที่ขั้นตอนที่ 1 เป็นวัฏจักรของการบริหารความเปลี่ยนแปลงเพราะการจัดการนั้นไม่มีจุดจบ ตราบใดที่โลกยังมีพลวัตรอยู่ ปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการก็คงจะไม่หยุดนิ่ง มีปัญหาใหม่มาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงและเป้าหมายหลักของการจัดการกระบวนการธุรกิจนั้น คือ การบริหารความเปลี่ยนแปลง

.

เอกสารอ้างอิง

- Harmon, Paul, “Business Processes at a New Company: What Do You Do First ?”  Business Process Newsletter, Volume 2, No.9, October 2004

- David Knight’s Presentation on “Business Process Management 90 Days to Improved Process Execution”

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด