เนื้อหาวันที่ : 2007-03-20 14:45:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4283 views

ตรวจวัดการใช้พลังงานให้ถูกต้องและถูกใจ (ตอน หม้อไอน้ำ)

การตรวจวัดการใช้พลังงานของอุปกรณ์หลักที่ใช้พลังงานในโรงงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าพลังงานถูกใช้ไปที่ไหนบ้าง เท่าไร เมื่อไร และ อย่างไร เหมาะสมหรือยัง การตรวจวัดการใช้พลังงานควรจะทำให้ถูกต้อง มิฉะนั้นข้อมูลที่ได้จะเป็นขยะข้อมูล ใช้งานไม่ได้ และหลายครั้งทำให้เกิดความเสียหายหากนำเอาไปใช้

ตอน : หม้อไอน้ำ

.

การตรวจวัดการใช้พลังงานของอุปกรณ์หลักที่ใช้พลังงานในโรงงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าพลังงานถูกใช้ไปที่ไหนบ้าง เท่าไร เมื่อไร และ อย่างไร เหมาะสมหรือยัง การตรวจวัดการใช้พลังงานควรจะทำให้ถูกต้อง มิฉะนั้นข้อมูลที่ได้จะเป็นขยะข้อมูล ใช้งานไม่ได้ และหลายครั้งทำให้เกิดความเสียหายหากนำเอาไปใช้ การตรวจวัดให้ถูกต้อง ประการแรก ต้องรู้ว่าจะตรวจไปทำไม เพื่อปรับปรุงการเดินเครื่องจักร เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อการวิจัยและพัฒนา วัตถุประสงค์ต่างกันระดับความถูกต้องอาจจะแตกต่างกัน ตรวจวัดเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรต้องตรวจให้ถูกต้องแม่นยำกว่าการตรวจวัดเพื่อปรับปรุงการเดินเครื่องจักร การตรวจวัดเพื่อการวิจัยและพัฒนาจะใช้เครื่องมือตรวจวัดแตกต่างจากการตรวจวัดเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่าตรวจวัดเพื่อปรับปรุงการเดินเครื่องให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นจะไม่สนใจเรื่องความถูกต้องเอาเสียเลย แต่หมายความถึงการตรวจให้ถูกต้องในระดับที่ยอมรับได้มากกว่า เช่นอาจจะผิดพลาด ±5% หรือ ±10% จากการตรวจวัดในห้องปฏิบัติการที่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้พลังงานได้ หรือ ผิดพลาดจากการสุ่มตรวจวัดเฉพาะจุด หรือบางช่วงเวลาการใช้งาน เป็นต้น การตรวจวัดให้ถูกต้องประการต่อมา คือ ต้องเลือกเครื่องมือตรวจวัดให้เหมาะสม เช่น ต้องการตรวจวัดอุณหภูมิในช่วง 5-15C ท่านก็ควรเลือกใช้หัวตรวจวัดให้เหมาะสม หรือต้องการวัดโหลดขนาดเล็กไม่เกิน 5 แอมป์ แต่ไปใช้แคลมป์แอมป์ขนาด 100 แอมป์ เป็นต้น

.

การตรวจวัดให้ถูกต้องประการต่อมา คือ ตรวจวัดในเวลาที่เหมาะสม เช่น ในช่วงที่มีการใช้งานจริง ไม่ใช่เห็นว่าเครื่องหยุดทำงาน ก็สั่งให้เดินเครื่องเพื่อตรวจวัด โหลดอาจจะไม่มี หรือ ต่ำเกินไป ผลก็ไม่ถูกต้อง

.

เนื่องจากการตรวจวัดต้องมีค่าใช้จ่าย การตรวจวัดถูกต้องอย่างเดียวไม่ใคร่จะประสบความสำเร็จสักเท่าไร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าค่าใช้จ่ายการตรวจวัดสูงเกิน ไม่รู้จะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ ทำให้การตรวจวัดการใช้พลังงานไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไหร่ ดังนั้นนอกจากจะตรวจวัดให้ถูกต้องแล้วเราต้องตรวจวัดให้ถูกใจด้วย การตรวจวัดให้ถูกใจคือ ตรวจวัดเท่าที่จำเป็นไม่ใช่ตรวจวัดอุปกรณ์ทุก ๆ ตัว ใช้เวลาตรวจวัดให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการหยุดเดินเครื่อง และใช้เครื่องมือประหยัดที่สุด และยิ่งถ้ามีประสบการณ์มาก ๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือได้ก็ยิ่งถูกใจ เช่น แค่ใช้สายตา อาศัยการสังเกต หรือฟังเสียงก็สามารถบอกได้แล้วว่ามีศักยภาพจะปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานหรือไม่ เช่น ใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าความส่องสว่างของแสงสว่างบ่อย ๆ จนกระทั่งมีความชำนาญพอที่จะบอกได้ด้วยตาเปล่าว่าความสว่างน่าจะประมาณเท่าไร หรือ ท่านอาจจะลองสำรวจตัวเองว่าเป็นคนช่างสังเกตหรือไม่ ง่าย ๆ ก็ลองคิดดูว่านาฬิกาข้อมือที่ท่านใส่อยู่ทุกวัน เป็นเวลาหลายปี ท่านดูเวลาวันหนึ่ง ๆ ก็หลายต่อหลายครั้ง รวม ๆ แล้วตั้งแต่ใช้มาอาจจะดูมากว่าหมื่นครั้งแล้ว ท่านพอจะบอกรายละเอียดได้หรือไม่ว่า นาฬิกาของท่านมีหน้าปัดสีอะไร เข็มนาฬิกาเป็นเหลี่ยม หรือ กลม มีเข็มวินาทีหรือไม่ สีอะไร ตัวเลขบอกเวลาเป็นเลขโรมัน เลขอารบิก หรือ เป็นขีด หรือ มีเฉพาะเลข 12 มีวันที่แสดงหรือไม่ ถ้ามี อยู่ที่ตำแหน่งเลข 3 หรือ เลข 6 เป็นเลขชนิดไหน เป็นต้น ถ้าท่านสามารถเขียนรายละเอียดปลีกย่อยของนาฬิกาท่านได้แสดงว่าท่านเป็นคนช่างสังเกต จะให้ผู้ ประกอบส่งเสริมสนับสนุนให้ตรวจวัดการใช้พลังงาน ต้องตรวจวัดให้ถูกต้องและถูกใจ

.

สำหรับในฉบับนี้ ขอเสนอการตรวจวัดการใช้พลังงานสำหรับ หม้อไอน้ำ ซึ่งหม้อไอน้ำเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้พลังงานสูงในอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อไอน้ำชนิดท่อไฟแบบแพ็กเกจใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมาก

.

.

รูปที่ 1  การตรวจวัดหม้อไอน้ำ

.

หม้อไอน้ำขนาด 15 ตัน/ชั่วโมง ความดัน 10 บาร์ ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง

จุดตรวจวัด Measuring Point ที่ 1 (M1) ตรวจวัดอุณหภูมิอากาศป้อนเข้าหม้อไอน้ำ Ta

M2 ตรวจวัดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง Ff
M3 ตรวจวัดอุณหภูมิ Tst และ ความดันไอน้ำที่ผลิต Pst
M4 ตรวจวัดอุณหภูมิน้ำป้อน Tw สารละลายในน้ำป้อน TDSw  ความเป็นกรด ด่าง PHw
M5 ตรวจวัดการเผาไหม้เชื้อเพลิง O2 SO2 NOx CO Tfg
M6 ตรวจวัดสารละลายในน้ำโบลวดาวน์ TDSblow ความเป็นกรด ด่าง PHblow 
M7 ตรวจสอบอุณภูมิผิวหม้อไอน้ำ  Tsurface
.

.

จากข้อมูลการตรวจวัด เราสามารถใช้สำหรับวิเคราะห์หาประสิทธิภาพการเผาไหม้ จากกราฟ รูปที่ 2

.

รูปที่ 2  กราฟวิเคราะห์การสูญเสียจากการเผาไหม้หม้อไอน้ำใช้น้ำมันเตา

.

ที่ O2 7% Tfg 300 C ความร้อนสูญเสีย 22% ถ้าปรับปรุงอัตราส่วนผสมระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ที่ O2 ในอากาศเสียไม่เกิน 4% และทำความสะอาดท่อไฟเพื่อลด Tfg ไม่เกิน 240 C จะลดความร้อนสูญเสียเหลือ 15%

.
ข้อมูลน้อยแต่ตรงประเด็น  มีประโยชน์กว่าข้อมูลมากแต่ใช้ไม่ได้

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด