ปัจจุบันโหลดที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังประกอบอยู่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง สรรถนะที่ดี และมีต้นทุนต่ำ แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นโหลดชนิดที่ไม่เป็นเชิงเส้นจึงก่อให้เกิดปัญหาของกระแสฮาร์มอนิกในระบบไฟฟ้า
สันติภาพ โคตทะเล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
ในปัจจุบันโหลดที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังประกอบอยู่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง สรรถนะที่ดี และมีต้นทุนต่ำ แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นโหลดชนิดที่ไม่เป็นเชิงเส้นจึงก่อให้เกิดปัญหาของกระแสฮาร์มอนิกในระบบไฟฟ้า โดยส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า หลายประการ เช่น ผลกระทบต่อระบบจำหน่าย และสายส่ง
ทำให้กำลังสูญเสียในสายจะสูงขึ้น หรือความต้านทานในสายสูงขึ้นจากปรากฏการณ์ทางผิว (Skin Effect) ผลกระทบต่อหม้อแปลงไฟฟ้าทำให้กำลังสูญเสียขณะมีโหลด (Copper Loss) และกำลังสูญเสียสเตรย์ฟลักซ์ (Stray Flux Loss) สูงขึ้น ทำให้หม้อแปลงร้อน และรับโหลดได้น้อยลง เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพลดลง อุปกรณ์ในระบบไฟฟ้าทำงานผิดพลาด หรืออาจเกิดความเสียหายได้
ดังเช่นในรูปที่ 1 แสดงให้เห็นความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้าในระบบจำหน่าย อันเนื่องมาจากความร้อนที่เกิดจากกระแสฮาร์มอนิก วงจรกรองกำลังจึงถูกนำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว เริ่มจากใช้วงจรกรองกำลังแบบพาสซีฟแต่มีความยุ่งยากในการออกแบบ และการจัดหาอุปกรณ์พาสซีฟให้ตรงกับที่ออกแบบไว้ จึงมีการพัฒนาใช้วงจรกรองกำลังแอกตีฟที่ใช้วงจรกรองกำลังอย่างง่าย สามารถชดเชยกระแสฮาร์มอนิกได้ทุกอันดับ และยังสามารถชดเชยกำลังงานรีแอกตีฟได้ด้วย
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกถือเป็นหัวใจสำคัญของวงจรกรองกำลังแอกตีฟ เพราะจะเป็นตัวกำหนดสมรรถนะ และการใช้งานของวงจรกรองกำลังแอกตีฟ เช่น เวลาของผลตอบสนองทรานเซียนต์ คุณภาพของสัญญาณในภาวะคงตัว ระบบเฟสของระบบไฟฟ้า ความสมดุลของแรงดันหรือกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
ดังนั้นการเลือกใช้วงจรกรองกำลังแอกตีฟเพื่อแก้ปัญหากระแสฮาร์มอนิกจึงจำเป็นที่จะต้องทราบด้วยว่าใช้วิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกแบบใดจึงจะเหมาะสมกับระบบไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่มากที่สุด นอกจากนี้ในบทความจะทำการจำลองการทำงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประกอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ และผลตอบสนองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโหลดฉับพลัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับวิศวกรที่จะเลือกใช้ หรือตรวจซ่อม และนักวิชาการที่สนใจที่จะพัฒนาสร้างวงจรกรองกำลังแอกตีฟเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
รูปที่ 1 หม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายเนื่องจากฮาร์มอนิก
ส่วนประกอบของวงจรกรองกำลังแอกตีฟแบบขนาน
วงจรกรองกำลังแอกตีฟแบบขนานถูกออกแบบมาใช้สำหรับแก้ปัญหากระแสฮาร์มอนิก โดยมีโครงสร้างดังรูปที่ 2 ด้วยการใช้คอนเวอร์เตอร์กำลัง (Power Converter) ทำการจ่ายกระแสเข้าสู่ระบบอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปวงจรกรองกำลังแอกตีฟ จะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
รูปที่ 2 โครงสร้าง และส่วนประกอบของวงจรกรองกำลังแอกตีฟ
1. ส่วนตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก (Harmonics Current Detector) เป็นส่วนสำคัญที่จะทำการหาขนาด และเฟสของกระแสฮาร์มอนิกด้วยหลักการ หรือเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
2. ส่วนควบคุมกระแสไฟฟ้า (Current Controller) จะทำหน้าที่ควบคุมให้กระแสฮาร์มอนิกที่จ่ายเข้าระบบมีขนาดที่ถูกต้องเป็นไปตามค่ากระแสฮาร์มอนิกจากส่วนการตรวจจับ
3. คอนเวอร์เตอร์กำลัง ทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายพลังงานสำหรับการจ่ายกระแสชดเชยฮาร์มอนิก ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นคอนเวอร์เตอร์ชนิดแหล่งจ่ายแรงดัน (Voltage Source Inverter: VSI) ที่ใช้สัญญาณควบคุมแบบเฉลี่ยซึ่งความกว้างของพัลส์ (Pulse Width Modulation: PWM)
4. ตัวเหนี่ยวนำกรองกระแสระลอก (Current Ripple Filter Inductor) ทำหน้าที่กรองกระแสระลอกที่เกิดจากความถี่ของการสวิตช์ ซึ่งตัวเหนี่ยวนำนี้จะมีขนาดต่ำ ๆ โดยค่าของตัวเหนี่ยวนำจะมีผลต่อความถี่สวิตช์ในกรณีที่ใช้การควบคุมกระแสแบบฮีสเตอรีซิส หรือแบงแบง (Hysteresis or Bang-bang Current Control
5. ส่วนควบคุมแรงดันไฟฟ้า ทำหน้าที่รักษาระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงเชื่อมโยงคร่อมตัวเก็บประจุ ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของคอนเวอร์เตอร์ โดยทั่วไปตัวควบคุมแบบพีไอจะถูกเลือกใช้ทำหน้าที่นี้
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกของวงจรกรองกำลังแอกตีฟแบบขนาน
วิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกแบ่งเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ โดยแบ่งตามโดเมนที่กระทำ คือวิธีในโดเมนความถี่ (Frequency Domain) หรืออาจเรียกว่าวิธีวิเคราะห์สเปกตรัม (Spectrum Analysis) และวิธีในโดเมนเวลา (Time Domain) ซึ่งส่วนใหญ่จะหาค่ากระแสฮาร์มอนิกด้วยการใช้วงจรกรอง (Filter Circuits) หรือใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยหลักการใหม่ (Adaptive Algorithm) ซึ่งในที่นี้จะทำการยกตัวอย่างวิธีที่นิยมใช้ พร้อมแสดงผลการจำลองการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม MATLAB/SIMULINK
1. การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีวิเคราะห์สเปกตรัม
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีวิเคราะห์สเปกตรัม จะทำการสุ่มตัวอย่าง (Sample) ของกระแสโหลดใน 1 คาบ หาค่าฮาร์มอนิกโดยใช้การแปลงของฟูเรียร์รวดเร็ว (Fast Fourier Transform: FFT) มีสมการการหาค่ากระแสฮาร์มอนิกดังสมการที่ 1 ด้วยรูปแบบที่ต่างกัน โดยสามารถลดจำนวนของการคำนวณลงได้ โดยหลักการที่ใช้นี้เรียกว่า เดซิเมชั่น (Decimation) และมีโครงสร้างการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก ดังรูปที่ 3
ด้วยเทคนิคเดียวกันนี้ อาจพัฒนาการคำนวณด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เป็นวิธีอื่น ๆ เช่น การแปลงฟูเรียร์ที่ไม่ต่อเนื่อง (Discrete Fourier Transform: DFT) การทำซ้ำของการแปลงฟูเรียร์ที่ไม่ต่อเนื่อง (Recursive Discrete Fourier Transform: RDFT) เป็นต้น
รูปที่ 3 โครงสร้างการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีฟูเรียร์รวดเร็ว
2. การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีแปลงเฟรมอ้างอิงเคลื่อนที่
โครงสร้างระบบการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีนี้มีโครงสร้างดังรูปที่ 4 โดยทำการแปลงค่าหลักมูลของเฟรมอ้างอิงดีคิว (Fundamental dq-frame) โดยนำกระแสโหลดแปลงสู่เฟรมอ้างอิงเคลื่อนที่ (Synchronous Reference Frame) ด้วยการแปลงของปาร์ค (Park’s Transformation) ตามสมการที่ 2 ปริมาณที่เป็นไฟฟ้ากระแสตรงในแกนดี (Direct-axis) จะถูกนำไปผ่านวงจรกรองแบบผ่านสูง (High-pass Filter: HPF) และทำการแปลงกลับจะได้ค่ากระแสฮาร์มอนิก
รูปที่ 4 การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการแปลงโคออร์ดิเนตเคลื่อนที่
รูปที่ 5 สัญญาณจากการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการแปลงเฟรมอ้างอิงเคลื่อนที่
จากการจำลองการทำงาน กรณีที่กระแสโหลดจากวงจรเรียงกระแส 3 เฟส ดังรูปที่ 5a เมื่อผ่านการแปลงสู่โคออร์ดิเนตที่เคลื่อนที่จะได้สัญญาณที่รวมอยู่กับค่าเฉลี่ยไฟฟ้ากระแสตรงในแกนดี ส่วนในแกนคิวเป็นค่ากระแสสลับที่เป็นรูปฟันเลื่อย และแกนศูนย์จะมีค่าเป็นจากผลของความสมดุล จากด้านบนสู่ด้านล่างของรูปที่ 5b
จากนั้นจะนำสัญญาณในแกนดี (D-axis) ผ่านวงจรกรองแบบผ่านสูง และนำสัญญาณทั้งสามแกนผ่านการแปลงกลับของโคออร์ดิเนตที่เคลื่อนที่ จะได้สัญญาณของกระแสฮาร์มอนิก ดังรูปที่ 5c ส่วนรูปที่ 5d จะแสดงผลตอบสนองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโหลดฉับพลัน โดยสัญญาณจากด้านบนสู่ด้านล่าง เป็นกระแสโหลด กระแสฮาร์มอนิกที่ได้จากการตรวจจับ และกระแสแหล่งจ่าย ตามลำดับ
3. การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการลบของสัญญาณไซน์
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการลบของสัญญาณไซน์ (Sinusoidal Subtraction: SS) มีโครงสร้างดังรูปที่ 6 โดยจะทำการสังเคราะห์สัญญาณไซน์ ให้มีเฟสตรงกับแรงดันของแหล่งจ่ายด้วยวงจรกรองกำหนดย่าน การตรวจจับแบบผ่านศูนย์ และกำหนดให้ความถี่คงที่ด้วยเฟสล็อกลูป และทำการประมาณหาค่าหลักมูลด้วยวงจรกรองแบบผ่านต่ำและตรวจสอบหาค่าสูงสุด เมื่อนำไปลบออกจากกระแสโหลด จะทำให้ได้ค่าของกระแสฮาร์มอนิก
รูปที่ 6 การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการลบของสัญญาณไซน์
รูปที่ 7 สัญญาณจากการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีการลบของสัญญาณไซน์
การจำลองการทำงานกรณีที่โหลดเป็นวงจรเรียงกระแส 1 เฟส จะมีสัญญาณไซน์จากการสังเคราะห์ดังรูปที่ 7a รูปที่ 7b แสดงกระแสโหลด และกระแสฮาร์มอนิกดังรูปที่ 7c ส่วนรูปที่ 7d แสดงผลตอบสนองเมื่อโหลดเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยจากด้านบนสู่ด้านล่างเป็น กระแสโหลด สัญญาณไซน์จากการสังเคราะห์ และกระแสฮาร์มอนิกที่ได้จากการลบกัน
4. การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีใช้ทฤษฎีกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟชั่วขณะ
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยการใช้ทฤษฎีของกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟชั่วขณะ (Instantaneous Reactive Power Theory) จะมีโครงสร้างดังรูปที่ 8 โดยทำการคำนวณกำลังไฟฟ้าชั่วขณะที่เกิดจากโหลด ซึ่งโดยทั่วไปจะกระทำในเฟรมอ้างอิงที่อยู่กับที่ (Stationary Reference Frame: ) ด้วยการแปลงของคลาร์ก (Clark’s Transformation) ซึ่งจะสามารถทำการคำนวณกำลังไฟฟ้าจริง (Active Power) และกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟ (Reactive Power) ได้โดยง่าย ดังสมการที่ 3
จากนั้นทำการกรองกำลังไฟฟ้าจริงที่ได้จากการคำนวณเพื่อหาค่ากำลังไฟฟ้าจริงที่เกิดจากกระแสฮาร์มอนิกด้วยการใช้วงจรกรองแบบผ่านสูง ส่วนกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟจะถูกนำมาใช้ทั้งหมดเพื่อการชดเชยค่าตัวประกอบกำลัง จากนั้นทำการคำนวณหาค่ากระแสชดเชยจากกำลังไฟฟ้าจริงที่เกิดจากฮาร์มอนิก และกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟ ด้วยวิธีการของเมตริกซ์ดังสมการที่ 4 และทำการแปลงกลับสู่เฟรมอ้างอิงปกติ จะทำให้ได้กระแสฮาร์มอนิกที่ใช้ในการชดเชยที่รวมการชดเชยกำลังงานรีแอกตีฟไว้ด้วย
รูปที่ 8 การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยหลักการของกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟชั่วขณะ
รูปที่ 9 สัญญาณจากการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยหลักการของกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟชั่วขณะ
การจำลองการทำงานกรณีโหลดวงจรเรียงกระแส 3 เฟส มีรายละเอียดดังนี้ รูปที่ 9a แสดงสัญญาณกระแสโหลด รูปที่ 9b แสดงสัญญาณกำลังไฟฟ้าที่ได้จากการคำนวณ และกำลังไฟฟ้าที่ผ่านวงจรกรองแบบผ่านสูง และในรูปที่ 9c แสดงสัญญาณของกระแสฮาร์มอนิกและรูปที่ 9d แสดงผลตอบสนองเมื่อโหลดเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยสัญญาณจากด้านบนสู่ด้านล่าง เป็นกระแสโหลด กระแสฮาร์มอนิกจากการตรวจจับ และกระแสแหล่งจ่าย ตามลำดับ
5. การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยโครงข่ายประสาทเทียมชนิดแพร่กลับ
โครงข่ายประสาทเทียมชนิดแพร่กลับ (Back-propagation Artificial Neural Network) เป็นโครงข่ายประสาทเทียมแบบเชิงเส้น โดยมีโครงสร้างของระบบดังรูปที่ 10 ใช้หลักการค่าเฉลี่ยต่ำสุด (Least Mean Square: LMS) เป็นหลักการในการเรียนรู้ (Learning Algorithm) เพื่อปรับปรุงค่าถ่วงน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก โดยมีค่าถ่วงน้ำหนักในรอบถัดไปที่ต้องมีการกำหนดค่าคงที่ของอัตราการเรียนรู้ (Learning Rate: )
ดังสมการที่ 5 และหาค่ากระแสฮาร์มอนิกตามสมการที่ 6 การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยวิธีนี้มีข้อได้เปรียบการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกวิธีอื่น ๆ คือมีโครงสร้างที่ง่าย ปรับตัวกับโหลดชนิดต่าง ๆ ได้ดี และใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อน
รูปที่ 10 โครงข่ายประสาทเทียมชนิดแพร่กลับอย่างง่ายที่ใช้ในการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก
เมื่อ
W(k+1) คือค่าถ่วงน้ำหนักในขั้นที่
W(k) คือค่าถ่วงน้ำหนักในขั้นที่ k
คืออัตราการเรียนรู้ (Learning Rate)
รูปที่ 11 สัญญาณจากการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยหลักการโครงข่ายประสาทเทียมชนิดแพร่กลับ
จากการจำลองการทำงาน ในรูปที่ 11a แสดงสัญญาณกระแสโหลดของวงจรเรียงกระแส 3 เฟส ที่มีตัวเก็บประจุกรอง (Filter Capacitor) รูปที่ 11 b แสดงสัญญาณของค่าถ่วงน้ำหนักที่ปรับปรุง (Weight Update) รูปที่ 11c แสดงสัญญาณกระแสฮาร์มอนิกที่ได้จากการประมาณค่าด้วยโครงข่ายประสาทเทียมชนิดแพร่กลับ และรูปที่ 11d แสดงผลตอบสนองเมื่อโหลดเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยสัญญาณจากด้านบนสู่ด้านล่าง เป็นกระแสโหลด กระแสฮาร์มอนิกที่ได้จากการตรวจจับ และกระแสแหล่งจ่าย ตามลำดับ
การเปรียบเทียบวงจรกรองกำลังแอกตีฟตามวิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก
จากเทคนิคต่าง ๆ ของการตรวจจับฮาร์มอนิกที่กล่าวมา สามารถประเมินคุณลักษณะ และสมรรถนะวงจรกรองกำลังแอกตีฟในแต่ละวิธีของการตรวจจับกระแส ได้ดังตารางที่ 1 โดยในแต่ละวิธีจะมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบที่แตกต่างกัน
การตัดสินใจว่าควรเลือกใช้วงจรกรองกำลังแอกตีฟที่ใช้วิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกวิธีใดควรคำนึงถึงความสามารถด้านสมรรถนะก่อน และความสอดคล้องกับโหลดที่มีอยู่ในระบบ หลังจากนั้นจึงพิจารณาถึงองค์ประกอบภายใน ที่จะเป็นดัชนีบอกถึงราคา หรือต้นทุนของวงจรกรองกำลังแอกตีฟ เช่น ถ้าใช้จำนวนตัวตรวจจับหลายตัว อาจมีราคาที่แพงกว่า เป็นต้น
ตารางที่ 1 การประเมินวงจรกรองกำลังแอกตีฟตามวิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิก
บทสรุป
การตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกเป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งของวงจรกรองกำลังแอกตีฟแบบขนานซึ่งมีอยู่หลายวิธี มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน สรุปได้ตามหลักการ ดังนี้ วิธีที่ต้องอาศัยหลักการแปลงเฟรมอ้างอิงจะไม่สามารถใช้ได้กับระบบไฟฟ้า 1 เฟส เวลาของผลตอบสนองทรานเซี้ยนจะไม่ขึ้นอยู่กับขบวนการในการคำนวณในหนึ่งรอบการทำงานเพราะโดยทั่วไปความถี่ที่ใช้ในการสุ่มค่าจะมีค่าสูงในระดับกิโลเฮิรตซ์
แต่จะขึ้นอยู่กับวิธีการหรือหลักการที่ใช้ คุณภาพของสัญญาณในภาวะคงตัวจะขึ้นอยู่กับความแม่นยำของวิธีเชิงเลขของการทดลองที่ใช้กระทำกับปริมาณทางกายภาพ ส่วนจำนวนของอุปกรณ์ตรวจจับจะเป็นตัวกำหนดราคาของวงจรกรองกำลัง และถ้ามีการใช้แรงดันในการคำนวณจะส่งผลทำให้สมรรถนะลดลงเมื่อแรงดันไม่สมดุล
วิธีการเลือกวิธีการตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกที่ดีสุดควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับระบบไฟฟ้าที่ใช้งานจริงโดยควรทำการตรวจสอบสภาพของโหลดว่ามีพฤติกรรมเป็นเช่นไร หรือสมรรถนะใดของวงจรกรองกำลังแอกตีฟที่โหลดต้องการมากที่สุด
ส่วนผู้ที่สนใจในการพัฒนาสร้างวงจรกรองกำลังแอกตีฟควรจะศึกษาเทคนิคพิเศษที่ต้องการของแต่ละวิธี และควรมีความรู้ในหลักการของโดเมนเวลาที่ไม่ต่อเนื่องเพื่อใช้ออกแบบวงจรกรอง และตัวควบคุมในการควบคุมกระแสหรือแรงดันไฟฟ้าในระบบดิจิตอล นอกจากนี้ควรใช้งานไมโครโปรเซสเซอร์ให้มีความชำนาญ
เอกสารอ้างอิง
1. สันติภาพ โคตทะเล, วิจิตร กิณเรศ และยุทธนา ขำสุวรรณ์, “การวิเคราะห์และออกแบบวงจรกรองกำลังแอกตีฟสามเฟสที่ใช้หลักการกำลังไฟฟ้ารีแอกตีฟชั่วขณะ”, การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้าครั้งที่ 28 (EECON-28), 2548, หน้า 545-548.
2. สันติภาพ โคตทะเล และวิจิตร กิณเรศ, “วงจรกรองกำลังแอกตีฟหนึ่งเฟสที่ตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกด้วยหลักการโครงข่ายประสาทเทียม”, การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้าครั้งที่ 29 (EECON-29), 2549. หน้า 173 – 176.
3. สันติภาพ โคตรทะเล, “วงจรกรองกำลังแอกตีฟหนึ่งเฟสที่ตรวจจับกระแสแหล่งจ่ายโดยใช้สัญญาณไซน์เทียบเท่า”, การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้าครั้งที่ 29 (EECON-29), 2549, หน้า 177 – 180.
4. สันติภาพ โคตทะเล, “วงจรกรองกำลังแอกตีฟสามเฟสที่ตรวจจับกระแสฮาร์มอนิกและควบคุมกระแสโดยใช้หลักการโครงข่ายประสาทเทียม”, การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้าครั้งที่ 31 (EECON-31), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, หน้า 537-540.
5. J.S.Tepper, J.W.Dixon, G.Venegas, and L.Moran, “A Simple Frequency-Independent Method for Calculating the Reactive and Harmonic Current in a Nonlinear Load,” IEEE Transaction on Industrial Electronics, Vol.43, No.6, 1996, pp.647-654
6. F.Z.Peng, and D.J.Adam, “Harmonic Sources and Filtering Approaches,” IEEE Industrial Application, Vol.7, No.4, 2001, pp.18-25.
7. H.H.Kuo, S.N.Yeh, and J.C.Hwang, “Novel Analytical Model and Implementation of Three-phase Active Power Filter Controller,” in Proc. IEEE Electric Power Application, Vol.148, No.4, July 2001, pp.369-383.
8. P.Verdelho, and G.D.Marques, “An Active Power Filter and Unbalance Current Compensator,” IEEE Transaction on Industrial, Electronics, 1997, pp.321-328.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด