เนื้อหาวันที่ : 2011-04-08 14:39:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 15787 views

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

จุดเริ่มต้นของกระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้านั้นเริ่มจากคำสั่งซื้อของลูกค้าที่อยู่ปลายน้ำจะถูกส่งผ่านหน่วยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้ากลับขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งถึงโรงงานผู้ผลิตที่อยู่ต้นน้ำ

ยศนันท์ ศุภพิบูลย์กุล
วท.ม (การจัดการโลจิสติกส์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยได้ยินและเข้าใจคำว่าการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management) กันมาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ทั้งนี้ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “โซ่อุปทาน (Supply Chain)” และ “โลจิสติกส์ (Logistics)” เสียก่อน

โดยในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอเป็นภาพกว้าง ๆ ไม่ลงรายละเอียดมากนักเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจแนวคิด (Concept) เนื่องจากเรื่องของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นเป็นเรื่องที่กว้างรวมทั้งมีรายละเอียดมาก การทำความเข้าใจแนวคิดซึ่งเปรียบเสมือนพื้นฐานของเรื่องนั้น ๆ จะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการศึกษาเรื่องดังกล่าวในรายละเอียดต่อไป

การเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโซ่อุปทานนั้นผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยตัวอย่างแผนภาพที่มักจะถูกยกมาอธิบายเสมอในวิชาการจัดการโซ่อุปทาน แผนภาพดังกล่าวนี้มีการเรียงลำดับของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ผลิตหรือโรงงานผลิตสินค้า (Factory) ผู้ที่มีหน้าที่กระจายสินค้าหรือตัวแทนจัดจำหน่าย (Distributor) ร้านค้าส่ง (Wholesaler) ร้านค้าปลีก (Retailer) และท้ายสุดคือลูกค้า (Customers) ในกรณีนี้คือธุรกิจการขายเบียร์ซึ่งแสดงดังต่อไปนี้


รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างระบบโซ่อุปทาน (อย่างง่าย) ในธุรกิจขายเบียร์

พิจารณาจากแผนภาพเราสามารถกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของกระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้านั้นเริ่มจากคำสั่งซื้อของลูกค้า (Flow of Orders) ที่อยู่ปลายน้ำ (Downstream) จะถูกส่งผ่านหน่วยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้ากลับขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งถึงโรงงานผู้ผลิตเบียร์ที่อยู่ต้นน้ำ (Upstream)

จากนั้นโรงงานผลิตเบียร์จึงส่งสินค้า (Flow of Beer) กลับลงมาตามลำดับจนกระทั่งลูกค้าได้รับสินค้าตามที่ต้องการในที่สุด ทั้งนี้คำสั่งซื้อของลูกค้า (ความต้องการของลูกค้า) และกระบวนการจัดส่งสินค้าจะถูกส่งผ่านไป-มาเป็นลำดับกล่าวคือ
- ลูกค้าสั่งซื้อเบียร์จากร้านค้าปลีก
- ร้านค้าปลีกสั่งซื้อเบียร์จากร้านค้าส่ง
- ร้านค้าส่งสั่งซื้อเบียร์จากตัวแทนจัดจำหน่าย
- ตัวแทนจัดจำหน่ายสั่งซื้อเบียร์จากโรงงานผลิต
- เบียร์จะถูกส่งจากโรงงานผลิตมาที่ตัวแทนจัดจำหน่าย
- เบียร์จะถูกส่งจากตัวแทนจัดจำหน่ายมาที่ร้านค้าส่ง
- เบียร์จะถูกส่งจากร้านค้าส่งไปยังร้านค้าปลีก
- ร้านค้าปลีกขายเบียร์ให้กับลูกค้า

ท่านผู้อ่านลองจินตนาการว่าหากลูกค้าคือจุดสุดท้ายที่อยู่ปลายน้ำ และผู้ส่งมอบวัตถุดิบ สินค้า หรือการบริการคือจุดเริ่มต้นที่อยู่ต้นน้ำ เราจะพบว่าระหว่างทางจากจุดทั้งสองจุดจะประกอบไปด้วยหน่วยต่าง ๆ อาจจะเป็นบุคคลหรือบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบ (Element) เปรียบเสมือนห่วงโซ่แต่ละข้อและถูกร้อยเรียงประกอบขึ้นมาเป็นสายโซ่ (Chain)

โดยสายโซ่ดังกล่าวนี้จะประกอบด้วยห่วงโซ่กี่อันและสายโซ่นี้จะสั้นจะยาวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละธุรกิจว่ามีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตอบสนองความต้องการลูกค้านั้นมากหรือน้อยแค่ไหน และสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมานี้คือแนวคิด (Concept) ของคำว่า “โซ่อุปทาน” นั่นเอง

ผู้เขียนขอแนะนำว่าการเรียนรู้หรือการให้ความหมายตลอดจนทำความเข้าในเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาบริบท (Context) ของเรื่องรวมทั้งวางกรอบในการศึกษาให้ชัดเจน เนื่องจากเรื่องของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นเรื่องที่กว้างมาก ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนจะขยายภาพจากตัวอย่างแผนภาพโซ่อุปทานที่ได้อธิบายข้างต้นให้กว้างมากขึ้น

กล่าวคือ มีการพิจารณาโซ่อุปทานในส่วนของผู้ที่ส่งมอบวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตเบียร์ที่อยู่ทางต้นน้ำที่ไม่ได้ถูกแสดงในแผนภาพ ซึ่งอาจจะเป็นเกษตรกรชาวไร่ ชาวนาที่ปลูกข้าวชนิดต่าง ๆ เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเบียร์ รวมทั้งพิจารณาย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้นอีกคือ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนาเหล่านั้นเอาเมล็ดข้าวมาจากใคร ที่ไหน และผู้ที่ส่งเมล็ดข้าวให้เกษตรกร ชาวไร่ชาวนาเหล่านั้น เอาเมล็ดข้าวต่าง ๆ มาจากใคร ที่ไหน ฯลฯ

รวมทั้งเมื่อมาพิจารณาในส่วนลูกค้า (Customers) ที่อยู่ปลายน้ำอาจจะซื้อเบียร์ไปขายต่ออีกเป็นทอด ๆ จนกระทั่งถึงลูกค้าคนสุดท้ายที่มีการบริโภคเบียร์นั้นในที่สุด ดังนั้นหากไม่กำหนดกรอบการวิเคราะห์โซ่อุปทาน จะยิ่งทำให้การวิเคราะห์โซ่อุปทานนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ในเรื่องของโซ่อุปทานจะมีคำศัพท์เฉพาะ (Terminology) เรียกผู้ส่งมอบคนแรกที่แท้จริงซึ่งอยู่จุดเริ่มต้นจุดแรกสุด (ต้นน้ำ) ว่า “Initial Supplier” และจะเรียกลูกค้าคนสุดท้ายที่มีการบริโภคหรือใช้สินค้าตลอดจนรับการบริการที่อยู่จุดสุดท้าย (ปลายน้ำ) ว่า “End User” (หรือ Ultimate Customer) และบุคคล หน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบซึ่งเปรียบเสมือนโซ่แต่ละห่วงที่มาร้อยเรียงกันระหว่างจุดแรกไปยังจุดสุดท้ายให้เกิดเป็นสายโซ่เส้นเดียวกันก็จะเรียกว่า “ลูกค้าของลูกค้า” (Customer’s Customer) หรือ “ผู้ส่งมอบของผู้ส่งมอบ (Supplier’s Supplier) ขึ้นอยู่กับบริบทว่าเราจะวิเคราะห์โซ่อุปทานจากปลายน้ำกลับไปยังต้นน้ำหรือวิเคราะห์โซ่อุปทานจากต้นน้ำกลับลงไปยังปลายน้ำ ตัวอย่างเช่น จากแผนภาพโซ่อุปทานข้างต้นหากลูกค้า (Customers) มีการสั่งเบียร์จากร้านค้าปลีก (Retailer) และร้านค้าปลีกได้สั่งซื้อเบียร์จากร้านค้าส่ง (Wholesaler) ในกรณีนี้

- ลูกค้าคือ ลูกค้าของร้านค้าปลีกและร้านค้าปลีกคือลูกค้าของร้านค้าส่ง (Customer’s Customer)
- ร้านค้าส่งคือ ผู้ส่งมอบ (ผู้ขาย) สินค้าให้ร้านค้าปลีกและร้านค้าปลีกคือผู้ส่งมอบ (ผู้ขาย) สินค้าให้ลูกค้า (Supplier’s Supplier)

หากพิจารณากรอบหรือขอบเขตของโซ่อุปทานที่แสดงเฉพาะแค่ในภาพตัวอย่างสามารถกล่าวได้ว่า
- โรงงานผลิตเบียร์ ณ กรณีนี้คือ Initial Supplier
- ลูกค้า (Customers) ณ กรณีนี้คือ End User

นอกจากนี้ เราสามารถแบ่งหน่วยงานหรือบริษัทที่เป็นส่วนประกอบของโซ่อุปทานออกเป็นระดับชั้น (Tier หรือ Stage) ต่าง ๆ กล่าวคือ หากเราคือโรงงานผลิต ดังนั้น...

- ผู้ส่งมอบวัตถุดิบที่ติดต่อกับโรงงานผลิตโดยตรงจะเรียกว่า “ผู้ส่งมอบระดับที่ 1” (1st Tier Supplier) ส่วนผู้ส่งมอบถัดไปที่ติดต่อผู้ส่งมอบระดับที่ 1 โดยตรง จะเรียกว่า “ผู้ส่งมอบระดับที่ 2” (2nd Tier Supplier) เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึง “ผู้ส่งมอบระดับที่ n หรือผู้ส่งมอบเริ่มต้น” (n-Tier Supplier หรือ Initial Supplier) ซึ่งอยู่ลำดับแรกสุดที่ต้นน้ำ และในทำนองเดียวกัน...

- ลูกค้าที่ติดต่อกับโรงงานผลิตโดยตรงจะเรียกว่า “ลูกค้าระดับที่ 1” (1st Customer) ส่วนลูกค้าถัดไปที่ติดต่อลูกค้าระดับที่ 1 โดยตรง จะเรียกว่า “ลูกค้าระดับที่ 2” (2nd Tier Customer) เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึง “ลูกค้าระดับที่ n หรือลูกค้าคนสุดท้าย” (n-Tier Customer หรือ End User) ซึ่งอยู่ลำดับท้ายสุดที่ปลายน้ำ ดังแผนภาพที่แสดงต่อไปนี้

รูปที่ 2 แสดงระบบของโซ่อุปทาน (ทั่วไป)

จะเห็นได้ว่าถ้ามีจำนวน Tier มากเท่าไหร่ จะทำให้แผนภาพโซ่อุปทาน ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้นอกจาก ผู้ส่งมอบ (Supplier) ตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ผู้ขายส่ง (Wholesaler) และ ผู้ขายปลีก (Retailer) ที่มักจะถูกจัดเป็น Tier ระดับต่าง ๆ

แล้วหากธุรกิจบางธุรกิจที่มีตัวกลางหรือนายหน้า (Broker) ไม่ว่าจะเป็นด้านผู้ส่งมอบที่คอยจัดหาวัตถุดิบตลอดจนการบริการส่งผ่านลงมาเป็นทอด ๆ จากผู้ส่งมอบเริ่มต้นที่อยู่ต้นน้ำจนกระทั่งมาถึงโรงงานผลิต (ในวิชาโซ่อุปทานเราอาจจะเรียกโรงงานผลิตว่า “กลางน้ำ”) หรือจะเป็นตัวกลางหรือนายหน้าด้านของลูกค้าที่คอยจัดหาสินค้าตลอดจนการบริการส่งผ่านลงไปเป็นทอด ๆ จนกระทั่งไปถึงลูกค้าคนสุดท้ายที่อยู่ปลายน้ำ

รวมทั้งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Providers) ได้แก่ ตัวแทนส่งออกของกรมศุลกากร (Customs Broker) บริษัทรถขนส่ง บริษัทประกันภัย ฯลฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในโซ่อุปทาน ในการทำให้วัตถุดิบ สินค้า และการบริการเกิดการเคลื่อนจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้ายของโซ่อุปทาน กลุ่มบริษัททั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของ Tier ระดับต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงเริ่มเข้าใจแนวคิดของโซ่อุปทานบ้างไม่มากก็น้อยแล้วนะครับ ทั้งนี้หากไม่กล่าวถึงเรื่องที่เปรียบเสมือนเงาที่ติดตามเรื่องโซ่อุปทานคงนำเสนอแนวคิดให้ท่านผู้อ่านได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็คือ “โลจิสติกส์” (Logistics) นั่นเอง

เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่าน (รวมทั้งผู้เขียน) คงจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าโลจิสติกส์ก็คือการขนส่ง หรือการขนส่งก็คือโลจิสติกส์ ดังจะเห็นได้จากชื่อบริษัทที่รับขนส่งสินค้าที่มักจะมีลงท้ายด้วยคำว่า “โลจิสติกส์” เสมอ แม้กระทั้งภาครัฐเองยังเคยกล่าวว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์หรือต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ”

ทั้งนี้ในทรรศนะของผู้เขียนเองอาจจะเห็นต่างจากคำกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับนิยามของคำว่าโลจิสติกส์ โดยอยากจะเสนอให้ท่านผู้อ่านเริ่มต้นทำความเข้าเกี่ยวกับ โลจิสติกส์ด้วยแนวคิดที่ว่า “โลจิสติกส์ไม่ใช่การขนส่ง แต่การขนส่งคือส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์”

จากแนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเริ่มเข้าใจว่าเรื่องของโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับการขนส่งเท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (ทั้งนี้การขนส่งคือหนึ่งในกิจกรรมหลักของกิจกรรมโลจิสติกส์ หรือ Logistics Activities ซึ่งมีต้นทุนที่ใช้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมโลจิสติกส์อื่น ๆ) ดังนั้นในทางปฏิบัติหากเราสามารถดำเนินการลดต้นทุนค่าขนส่งได้ (ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งวัตถุดิบหรือค่าขนส่งสินค้า) ก็จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนรวมของโลจิสติกส์ที่ต่ำลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ในเรื่องของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยต้นทุนรวมที่เหมาะสม (Optimal Total Costs) และสามารถบริหารจัดการได้ โดยคำว่า “ต้นทุนรวมของโลจิสติกส์” ที่กล่าวมานั้นหมายถึง ต้นทุนที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตอบสนองความต้องการลูกค้าใช้ดำเนินการในการส่งผ่านข้อมูลความต้องการของลูกค้า (Customer Demand หรือ Information Flow) จากปลายน้ำกลับขึ้นมาที่จุดเริ่มต้น (Initial Supplier) ที่อยู่ต้นน้ำและใช้นำส่งสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้น (Physical Distribution)

จากต้นน้ำกลับลงไปยังจุดสุดท้ายหรือลูกค้าคนสุดท้าย (End User) ที่อยู่ปลายน้ำของระบบโซ่อุปทานนั้นด้วยแผนการดำเนินงานรวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้กระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดรวมทั้งสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายต้องการร่วมกันได้

พิจารณารูปที่ 2 ที่แสดงถึงระบบโซ่อุปทาน (ทั่วไป) ท่านผู้อ่านจะเห็นเครื่องหมายลูกศร  ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แสดงการไหล (Flow) ของข้อมูลความต้องการลูกค้าจากปลายน้ำกลับขึ้นไปยังต้นน้ำรวมทั้งการไหลของสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (Physical Distribution) จากต้นน้ำกลับลงมายังปลายน้ำ

ทั้งนี้เครื่องหมายลูกศรที่แสดงการไหลกลับไป-กลับมาก็คือส่วนที่เป็นโลจิสติกส์นั่นเอง แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจหรือสรุปไปว่ากระบวนการไหลที่กลับไป-กลับมาระหว่างแต่ละ Tier จากจุดสุดท้ายมาที่จุดเริ่มต้นและจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้ายนั้นแสดงการเคลื่อนที่ (Movement) หรือการขนส่งเท่านั้นแต่ต้องรวมถึง “การจัดเก็บ (Storage)” การรวบรวม (Consolidation) และ ”การกระจาย” (Distribution) ของวัตถุดิบ (Raw Material) สินค้า (Goods) การบริการ (Services) ตลอดจนข้อมูลข่าวสาร (Information) ด้วย

กล่าวโดยสรุปโลจิสติกส์ คือ ส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทานที่เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานรวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้วัตถุดิบ (Raw Material) สินค้า (Goods) การบริการ (Services) ตลอดจนข้อมูลข่าวสาร (Information) เกิดการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจายจากจุดเริ่มต้น (ต้นน้ำ) ไปยังจุดสุดท้าย (ปลายน้ำ) ของโซ่อุปทานซึ่งช่วยสนับสนุนให้กระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุดด้วยต้นทุนรวมของทุกฝ่ายในระบบโซ่อุปทานที่เหมาะสมรวมทั้งสามารถบริหารจัดการได้

เนื่องด้วยเหตุที่โลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทานนี้เองจึงเรียกรวมกันว่า “การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management)” ผู้เขียนแนะนำว่าการเริ่มต้นเพื่อสร้างแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวท่านผู้อ่านลองตั้งคำถามดังต่อไปนี้

- ใคร (Who) หมายถึง ลูกค้า
- ต้องการอะไร (What)
- ต้องการเมื่อไหร่ (When)
- สิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นต้องเอามาจากที่ไหนและนำไปให้ลูกค้าที่ไหน (Where)
- แล้วทำไมถึงต้องการสิ่งนั้น (Why)
- มีใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Whom) ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้สิ่งที่ต้องการ
- แล้วจะนำสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นมาอย่างไรและด้วยวิธีใด (How to)
- อีกทั้งสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นมีจำนวนหรือปริมาณเท่าไหร่ รวมทั้งมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ (How much) ในท้ายที่สุดเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา

กลุ่มคำถามข้างต้นจะเป็นการเริ่มต้นแนวคิดของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จากนั้นท่านผู้อ่านลองหาคำตอบของแต่ละคำถาม โดยบางคำถามอาจจะมีมากกว่าหนึ่งคำตอบซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกต่าง ๆ หรือวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ทั้งนี้การหาคำตอบที่ดีที่สุดควรจะเกิดจากกระบวนการคิด การพิจารณา การสื่อสาร การให้ความร่วมมือร่วมใจ

ตลอดจนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภายในหน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด อีกทั้งสามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้

ในเรื่อง “7-Right ของการจัดการโลจิสติกส์” กล่าวว่า หากการจัดการโลจิสติกส์เป็นไปอย่างประสิทธิภาพจะช่วยให้ลูกค้าสามารถ
1. ได้สินค้าที่ต้องการ (Right Item)
2. เป็นไปตามปริมาณตามที่สั่งซื้อ (Right Quantity)
3. ภายในเวลาที่กำหนด (Right Time)
4. ส่งถึงสถานที่ที่ถูกต้อง (Right Place)
5. อยู่ในบริบทของต้นทุนและราคาที่เหมาะสม (Right Cost)
6. อยู่ในสภาพที่ดี ไม่เสียหาย (Right Condition)
7. ส่งไปถึงลูกค้าอย่างถูกราย (Right Customer)

หากกระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ “7-Right” ข้างต้นแล้วก็จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ในที่สุด คำถามที่สำคัญคือ แล้วจะทำอย่างไรหรือมีวิธีการใดบ้างเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของคำถามข้างต้นแต่ละข้อได้ คำตอบก็คือ “การจัดการโลจิสติกส์”

อย่างไรก็ดีการที่กระบวนการตอบสนองความต้องการลูกค้าจะเกิดประสิทธิภาพมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเริ่มต้นจากการ (พยายาม) รู้ความต้องการลูกค้า (Customer Demand) ให้ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งก็คือข้อมูลที่ถูกส่งผ่าน (Information Flow) จากปลายน้ำผ่านแต่ละฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับขึ้นมายังจุดเริ่มต้นที่อยู่ทางต้นน้ำนั่นเอง

โดยข้อมูลดังกล่าวอาจจะกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุด เนื่องจากจะนำไปสู่กระบวนการวางแผนจัดซื้อ-จัดหาวัตถุดิบ การวางแผนการผลิต การจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า การขนส่งสินค้า (รวมทั้งจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิตตอนแรก) ฯลฯ โดยกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เรียกว่ากิจกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำส่งสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากต้นน้ำกลับลงไปหาลูกค้าที่อยู่ปลายน้ำในที่สุด

ทั้งนี้ทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการจะต้องมีการวางแผนตลอดจนการบริหารจัดการร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดทั้งทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน (Internal Supply Chain) หน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงาน (External Supply Chain)

ทั้งนี้เห็นได้ว่าการพยายามรู้ถึงความต้องการลูกค้าให้ได้อย่างแม่นยำนั้นเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งนี้หากเราสามารถรู้ถึงความต้องการลูกค้าได้อย่างแม่นยำแล้ว ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานด้วยเช่นกัน เราจะเรียกกระบวนการนี้ว่าการจัดการโซ่อุปสงค์ (Demand Chain Management) หรือก็คือ “การพยากรณ์ความต้องการ” (Demand Forecast) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ที่สำคัญที่สุดนั่นเอง

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเกิดคำถามขึ้นมาว่าจากแนวคิดการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ผู้เขียนนำเสนอมาจนถึงตรงนี้เหมือนกับว่าจะเกี่ยวข้องเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเท่านั้นหรือเป็นเรื่องที่ใหม่แต่อย่างไร เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งเข้านอนอยู่แล้ว ดังตัวอย่างที่แสดงดังต่อไปนี้

- การจัดตารางงาน (Work Scheduleing) ตัวอย่างเช่น เรามีการวางแผนว่าจะวันพรุ่งนี้จะต้องตื่นกี่โมง ต้องทำอะไรก่อน-หลังจากนี้ ต้องเดินทางออกไปที่ไหนบ้างและไปทำไม มีวิธีการเดินทางอย่างไรเพื่อให้ไปถึงที่หมายนั้นได้ตามกำหนด และจะกลับมาที่บ้านกี่โมง หลังจากกลับถึงบ้านแล้วทำอะไรต่อ จนกระทั่งเข้านอน

- การขนส่ง (Transport) และการจัดเส้นทางการเดินรถ (Routing) ตัวอย่างเช่น เรากำลังขับรถอยู่บนถนนสายหนึ่งที่มีรถติดมากและต้องรีบไปให้ถึงที่หมายโดยเร็วจึงทำให้ต้องตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวหรือหาเส้นทางอื่นหรือหาทางลัด หรือกรณีนั่งรถโดยสารประจำทางแล้วทำให้การเดินทางช้า เราอาจจะจะลงไปต่อรถ Taxi แทนหรือขึ้นมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพื่อให้ไปถึงที่หมายให้ทันตามกำหนด

- การจัดซื้อ-จัดหา (Procurement Management) การวางแผนการผลิต (Production Planning) การจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า (Inventory and Warehouse Management) ตัวอย่างเช่น ก่อนที่แม่บ้านจะออกไปจ่ายตลาดหาซื้อวัตถุดิบมาทำกับข้าวจะต้องวางแผนว่าวันนี้อยากจะทำอะไรให้คนที่บ้านรับประทาน (เปรียบเสมือนความต้องการลูกค้า) จะซื้อวัตถุดิบอะไร ซื้อจากที่ไหน มีวิธีการเดินทางไปซื้ออย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ เพื่อนำมาประกอบอาหารให้คนที่บ้านรับประทานอย่างเพียงพอไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป

หากวัตถุดิบที่ซื้อมารวมทั้งอาหารที่ทำนั้นเหลือมากเกินไปนั้นจะต้องมีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร หรือหากไม่เพียงพอจะต้องทำอย่างไรต่อ เช่น จะออกไปซื้อวัตถุดิบมาทำกับข้าวหรือซื้อกับข้าวที่ร้านอาหารตามสั่งมาเพิ่มเพื่อให้คนที่บ้านได้ทานข้าวครบทุกคนและอิ่มทุกคน เป็นต้น

- โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (ภายในหน่วยงาน) ตัวอย่างเช่น การทำงานในบริษัทหนึ่ง ๆ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดขชอบออกเป็นแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ โดยแต่ละฝ่ายจะต้องมีการรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองรวมทั้งมีการติดต่อประสานงานกันระหว่างฝ่ายเพื่อส่งมอบงานให้กันและกัน โดยการทำงานร่วมกันจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการติดต่อสื่อสาร (Communication) ตลอดการให้ความร่วมมือร่วมใจกัน (Collaboration) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกันในที่สุด และอื่น ๆ

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเริ่มเข้าใจแนวคิดของคำว่าโลจิสติกส์และโซ่อุปทานรวมทั้งบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ตลอดจนทำให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องดังกล่าวในรายละเอียดต่อไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด