ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์มากมายหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือแม้แต่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเลย
ทนงศักดิ์ วัฒนา
thanongsak.wattana@hotmail.com
ดวงอาทิตย์ถือได้ว่าเป็นแหล่งพลังงานและแหล่งความร้อนขนาดใหญ่ของโลกมนุษย์ ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์มากมายหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หอรวมแสงเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือแม้แต่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเลย เช่น การตากแห้งโดยตรงจากแสงอาทิตย์ ดังแสดงในรูปที่ 1 การอบแห้งหรือการตากแห้ง ถือได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่เก่าแก่มากวิธีการหนึ่งและมักจะใช้กันอย่างกว้างขวาง
แต่อดีตมนุษย์ มักจะไม่คำนึงรูปแบบ หรือต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการอบแห้ง ทำให้พืชผลทางการเกษตร หรือวัตถุดิบที่ต้องการตากแห้ง ต้องใช้เวลานานกว่าจะใช้ประโยชน์ได้ และบางครั้งอาจเกิดความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรเสียด้วยซ้ำ และบางฤดูกาลไม่สามารถตากแห้งได้ ก่อเกิดความเสียหายให้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น การพัฒนาระบบการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย ลงทุนน้อย หรือแม้แต่ใช้งานได้ทุกฤดูกาล จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ผู้ผลิต หรือเกษตรกรของไทยได้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ และขายได้ราคา และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทยด้วยหลักการอบแห้ง (Drying)
รูปที่ 1 การตากแห้งโดยตรง
การอบแห้ง เป็นกระบวนกำจัดความชื้น หรือน้ำ ในผลิตภัณฑ์ ให้ลดลงในค่าที่ยอมรับได้ ซึ่งอาหารหรือผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีค่าไม่เท่ากัน การกำจัดความชื้นในผลิตภัณฑ์ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีการ และเครื่องอบแห้ง ของผู้ออกแบบ กระบวนการอบแห้งเพื่อลดความชื้นของผลิตภัณฑ์โดยทั่วไปจะเป็นไปตามกราฟของการอบแห้ง (Drying Curve) ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการอบแห้งคงที่ เช่น มีอุณหภูมิ ความชื้น และความเร็วลมคงที่ การเปลี่ยนแปลงมวลและอุณหภูมิของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการอบแห้งจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และส่วนใหญ่เป็นไปตามกราฟของการอบแห้ง ดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงเส้นกราฟของการอบแห้ง (ที่มา http://www.process-heating.com)
จากกราฟ ในรูปที่ 2 การอบแห้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการให้ความร้อนเบื้องต้นแก่วัสดุ (Initial Period) ช่วงการอบแห้งความเร็วคงที่ (Constant Rate Period) และช่วงการอบแห้งความเร็วลดลง (Falling Rate Period)
ช่วงการให้ความร้อนเบื้องต้นแก่วัสดุ (Initial Period) ของการอบแห้ง ช่วงนี้ วัสดุที่ใช้ในการอบแห้งมีปริมาณความชื้นอยู่มาก ผิวของวัสดุจะมีลักษณะเปียกชื้นมาก อุณหภูมิพื้นผิวของวัสดุจะมีค่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิกระเปาะเปียกของกระแสลมร้อน ดังนั้น ช่วงเวลานี้ ความร้อนที่ใช้ในการอบแห้งจึงไปเพิ่มอุณหภูมิให้กับวัสดุ ทำให้วัสดุมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ช่วงการอบแห้งความเร็วคงที่ (Constant Rate Period) จะเป็นช่วงที่สองของการอบแห้งอุณหภูมิของวัสดุจะมีค่าคงที่ ประมาณอุณหภูมิกระเปาะเปียกของกระแสลม พลังงานความร้อนที่วัสดุได้รับจะใช้ในการะเหยความชื้นของวัสดุเท่านั้น ทำให้อัตราส่วนความชื้นเฉลี่ยของวัสดุจะลดลงเป็นสัดส่วนกับเวลาในการอบแห้ง ดังนั้น ช่วงนี้อัตราการระเหยจะคงที่ (Constant Drying Rate) การคำนวณอัตราการอบแห้งในช่วงนี้ สามารถเขียนเป็นสมการได้ ดังนี้
เมื่อ RC คือ อัตราการอบแห้งในช่วงความเร็วคงที่
hv คือ สัมประสิทธิ์การเทความร้อน, w/m2 OC
Tv คือ อุณหภูมิของลมร้อน, OC
Ti คือ อุณหภูมิที่ผิวขิงวัสดุ เท่ากับ TW, OC
จุดสุดท้ายของช่วงการอบแห้งความเร็วคงที่ อัตราเร็วในการอบแห้งจะเริ่มลดลง ความชื้นของวัสดุ ณ เวลานี้ เราเรียกว่า ความชื้นวิกฤต
ช่วงการอบแห้งความเร็วลดลง (Falling Rate Period) ช่วงนี้ความชื้นที่ผิวของวัสดุจะเริ่มค่อย ๆ หมดไป เพราะ การถ่ายเทความชื้นจากด้านในของวัสดุเกิดขึ้นไม่ทันกับการระเหยของความชื้นที่ผิวของวัสดุ ดังนั้น ที่ผิวของวัสดุจะเริ่มค่อย ๆ แห้งและอุณหภูมิของวัสดุจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการอบแห้งของช่วงนี้จะค่อย ๆ ลดลงนั่นเอง การอบแห้งจะสิ้นสุดลงเมื่อความชื้นของวัสดุลดลงถึงค่าความชื้นสมดุล ซึ่งความชื้นของวัสดุจะไม่ลดลงอีก ถึงแม้จะใช้เวลาในการอบแห้งนานเท่าไดก็ตาม
การอบแห้งด้วยแสงอาทิตย์ (Solar Drying)
เนื่องจากประเทศไทยอยู่บริเวณศูนย์สูตร ซึ่งมีศักยภาพด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 18.2 MJ/m2-day และสืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม พืชผลทางการเกษตรมากมาย ส่วนหนึ่งก็จำหน่ายในรูปของสด และบางส่วนก็ทำการอบแห้ง หรือตากแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่า ยืดอายุการจัดเก็บ หรือความสะดวกต่อการขนส่ง การอบแห้งหรือตากแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นทางเลือกที่ของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเลือกใช้ เนื่องจาก ต้นทุนต่ำ และง่าย มีอุปกรณ์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
ปัจจุบันประเทศไทย หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์พลังงาน และลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มีรูปแบบพัฒนาหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เครื่องอบแห้งแบบธรรมชาติ แบบบังคับ หรือแบบมีตัวรับรังสี แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในระดับเกษตรกร ครัวเรือน หรือระดับชุมชน
เนื่องจากปริมาณการอบยังมีปริมาณน้อย ขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และความไม่แน่นอนของปริมาณแสงอาทิตย์ แต่อย่างไรก็ตาม การอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ก็ยังข้อดีกว่าการใช้แหล่งความร้อนจากเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งสามารถแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ตารางเปรียบเทียบการใช้การอบแห้งด้วยแสงอาทิตย์และแหล่งความร้อนจากเชื้อเพลิงอื่น
กระบวนในการอบแห้งหรือตากแห้งเป็นการระเหยน้ำที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ออกไปให้เหลือปริมาณที่เหมาะสมซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีค่าความชื้นสุดท้ายไม่เท่ากัน โดยอาศัยพลังงานความร้อนเพื่อทำให้น้ำระเหย หรืออาจกล่าวได้ว่า พลังงานจากดวงอาทิตย์มีความร้อนอยู่ในแสงอาทิตย์ โดยปกติแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นโลกจะประกอบด้วยรังสีต่าง ๆ 3 ช่วง คือ อัลตราไวโอเลต (UV) เป็นช่วงรังสีที่ฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้ ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ และจะทำให้สีซีดจาง อัตราไวโอเลตมีประมาณ 3% ของแสงแดด
ช่วงที่สอง คือ แสงสว่าง ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ และช่วงสุดท้าย คือ อินฟราเรด (Infrared) เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการอบแห้งหรือตากแห้ง เพราะช่วงนี้จะทำให้เกิดความร้อนขึ้น ซึ่งมีปริมาณมากถึง 53% ของแสงแดด พลังงานที่ปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์และเคลื่อนที่มายังบรรยากาศนอกโลกอันที่จริงมีปริมาณสูงมากแต่จะถูกบรรยากาศเหนือพื้นโลกดูดซับบางส่วนและเหลือประมาณ 800-1000 วัตต์ต่อตารางเมตร ดังแสดงในรูปที่ 3
รูปที่ 3 แสดงพลังงานของดวงอาทิตย์นอกโลกและที่กระทบบนพื้นโลกที่ความยาวคลื่นต่าง ๆ
เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
มนุษย์รู้จัก และเรียนรู้การตากแห้ง หรือใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์มาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าเป็นการตากผลผลิตทางการเกษตร การตากเสื้อผ้า การทำนาเกลือ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการตากแห้งแบบโดยตรง ซึ่งประสบปัญหามากมาย ทั้งความไม่แน่นอนของธรรมชาติ และบางครั้งยังอาจก่อให้เกิดความไม่สะอาดของผลผลิต หรือวัตถุดิบ เช่น ฝุ่นละออง แมลงวัน เชื้อโรคต่าง ๆ
ดังนั้น การพยายามหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว ก็ถูกพัฒนาขึ้น ในรูปของเครื่องอบแห้ง เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ที่มนุษย์พยายามคิดค้น และพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร และลดความเสียหายในการตากแห้ง
โดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ เป็นหลัก ปัจจุบันเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านรูปแบบ วิธีการ ทำให้สามารถแยกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ลักษณะ คือ การอบแห้งแบบ Passive การอบแห้งแบบ Active และแบบ Hybrid
1. การอบแห้งแบบ Passive เป็นระบบแบบไม่อาศัยระบบขับเคลื่อนอากาศ เช่น พัดลม มาช่วยในการหมุนเวียนกระแสอากาศร้อนที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ อาศัยการเคลื่อนที่แบบธรรมชาติ เครื่องอบแห้งด้วยระบบนี้ ยังแบ่งย่อยได้อีก 4 ชนิด คือ เครื่องอบแห้งโดยธรรมชาติ เครื่องอบแห้งที่รับแสงอาทิตย์โดยตรง (Direct Type) และแบบใช้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Indirect Type) และแบบผสม (Mixed Mode Type)
รูปที่ 4 แสดงการอบแห้งแบบ Passive แบบต่าง ๆ
การตากแห้งแบบธรรมชาติ เป็นแบบที่นิยมใช้กันในระดับครัวเรือนในพื้นที่ชนบทเป็นส่วนใหญ่ มีผลผลิตที่จะตากแห้งไม่มากนัก ประสิทธิภาพต่ำ ใช้ระยะเวลาในการตากแห้งนาน และมักพบสิ่งปนเปื้อนมาก อาศัยวัตถุดิบรับแสงอาทิตย์โดยตรง และอากาศร้อนจะเคลื่อนที่พาความชื้นออกจากวัตถุดิบโดยวิธีธรรมชาติ การตากแห้งแบบธรรมชาติมักจะประกอบด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง เช่น ใช้ไม้กระดานเป็นพื้นรองวัตถุดิบ พื้นปูน หรือตะแกรง ดังแสดงในรูปที่ 5
รูปที่ 5 การตากแห้งด้วยแสงอาทิตย์แบบธรรมชาติ
เครื่องตาก/อบแห้งแบบโดยตรง (Direct Type) การอบแห้งด้วยวิธีนี้อาศัยวัตถุดิบรับพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง วัตถุดิบที่อบแห้งมักจะอยู่ในวัสดุโปร่งใส อากาศภายในเครื่องอบแห้งจะเคลื่อนตัวจากการขยายตัวเมื่อได้รับความร้อนและจะพาความชื้นออกจากวัตถุดิบและหมุนเวียนเพื่อถ่ายเทความชื้นภายในเครื่องอบแห้ง เครื่องอบแห้งแบบนี้อุณหภูมิภายในค่อนข้างสูงอาจสูงกว่า 60 OC ทำให้เวลาในการอบแห้งจะสั้นลง วัตถุดิบที่อบแห้งสะอาดไม่มีสิ่งบนเปื้อนจากมลภาวะภายนอก รวมถึงแมลงวันและแมลงพาหะต่าง ๆ
ปัจจุบันเครื่องอบแห้งแบบนี้ได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบและวัสดุโปร่งใสให้มีประสิทธิภาพสูง เช่น วัสดุที่ใช้ทำหลังคา ต้องโปร่งใส ทนทานรังสี UV แสงผ่านเข้าง่ายและสะท้อนออกยาก ทำให้เก็บสะสมความร้อนได้เป็นอย่างดี และมีน้ำหนักเบาเพื่อลดน้ำหนักโครงสร้าง ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาปัจจัยหนึ่งคือ ราคาของวัสดุที่เลือกใช้ กระจกถือได้ว่าเป็นวัสดุที่มีการเลือกใช้กันมาก เนื่องจาก มีคุณสมบัติที่ดี ราคาถูก แต่มีปัญหาเรื่องการแตกหักง่าย
เครื่องอบแห้งแบบโดยตรงที่มีใช้ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบดัวยกัน เช่น แบบตู้อบแห้ง อุโมงค์หลังคาโค้ง หรืออาจเป็นหลังคาทรงจั่ว ดังแสดงในรูปที่ 6 และรูปที่ 7
ก) แสดงการเคลื่อนที่ของอากาศของตู้อบแห้ง
ข) ส่วนประกอบของตู้อบแห้ง
รูปที่ 6 เครื่องอบแห้งแบบรับแสงอาทิตย์โดยตรงชนิดตู้
รูปที่ 7 เครื่องอบแห้งแบบรับแสงอาทิตย์โดยตรง ชนิดอุโมงค์หลังคาโค้ง
แบบใช้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Indirect Type) เครื่องอบแห้งแบบนี้วัสดุอบแห้งไม่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง จะมีแผงรับแสงอาทิตย์ (Solar Collector) ภายในจะมีวัสดุสำหรับดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์และถ่ายเทไปยังอากาศจนทำให้อากาศร้อนและเคลื่อนที่ไปยังห้องอบแห้งซึ่งภายในบรรจุวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการอบแห้ง
ผนังห้องสำหรับอบแห้งมักจะหุ้มฉนวนไว้เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนออกภายนอก ภายในห้องอบแห้งอาจทำเป็นชั้น หลาย ๆ ชั้น เพื่อให้บรรจุผลิตภัณฑ์ในการอบแห้งได้มากขึ้น ลักษณะทั่วไปของเครื่องอบแห้งแบบนี้สามารถแสดงในรูปที่ 8
รูปที่ 8 เครื่องอบแห้งแบบใช้แผงรับแสงอาทิตย์ (Indirect)
เครื่องอบแห้งแบบผสม (Mixed Mode Type) เครื่องอบแห้งแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายกับแบบใช้แผงรับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ต่างกันตรงห้องอบแห้งจะทำด้วยวัสดุโปร่งใสด้วยเพื่อให้ห้องอบแห้งสามารถรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าเครื่องอบแห้งแบบนี้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์สองแหล่งคือจากแผงรับแสงและจากห้องอบแห้ง ดังแสดงในรูปที่ 9
รูปที่ 9 เครื่องอบแห้งแสงอาทิตย์แบบผสม
2.การอบแห้งแบบ Active เป็นระบบหรือเครื่องอบแห้งที่มีเครื่องช่วยให้อากาศเคลื่อนที่ หมุนเวียนในทิศทางที่ต้องการ เช่น พัดลม โดยพัดลมจะทำหน้าที่ดูดอากาศจากภายนอกให้เคลื่อนที่ผ่านอุปกรณ์รับความร้อนจากดวงอาทิตย์และมีการถ่ายเทความร้อนไปยังอากาศให้อากาศเคลื่อนที่ผ่านวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการอบแห้งเพื่อลดความชื้นให้เหลือตามต้องการ โดยรูปแบบของเครื่องอบแห้งจะมีลักษณะคล้ายกับแบบ Passive เพียงแต่เพิ่มระบบขับเคลื่อนกระแสอากาศเข้าไปในเครื่องอบแห้ง ซึ่งสามารถแสดงในรูปที่ 10 และรูปที่ 11
รูปที่ 10 เครื่องอบแห้งแบบใช้แผงรับความร้อนโดยใช้พัดลมดูดอากาศร้อนเพื่อลดความชื้นของผลิตภัณฑ์
รูปที่ 11 เครื่องอบแห้งแบบอุโมงค์โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นพลังงานขับพัดลม
รูปที่ 12 เครื่องอบแห้งแบบอุโมงค์แบบแผงรับแสงอาทิตย์
3. เครื่องอบแห้งแบบ Hybrid เป็นเครื่องอบแห้งที่อาศัยพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ร่วมกับแหล่งความร้อนอื่นในกรณี ที่แสงอาทิตย์ไม่สม่ำเสมอ หรือในบางฤดูที่มีปริมาณแสงแดดน้อย เพื่อให้กระบวนการอบแห้งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการอบแห้งให้สูงขึ้น หรือลดระยะเวลาในการอบแห้งลง พลังงานความร้อนที่มักใช้ร่วมกับแสงอาทิตย์ คือ พลังงานไฟฟ้า พลังงานเหลือทิ้งจากแหล่งอื่น พลังงานความร้อนจากชีวมวล หรือแม้แต่แก๊สชีวภาพ แล้วแต่การประยุกต์ใช้งาน ดังแสดงในรูปที่ 13
รูปที่ 13 ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับหัวเผาความร้อน
รูปที่ 14 ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับชีวมวล
รูปที่ 15 ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมฮีตเตอร์ไฟฟ้า
การประยุกต์ใช้เครื่องอบแห้งแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน
จากกระแสการอนุรักษ์และการประหยัดพลังงานมาแรง ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคการผลิตหันมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นอีกแนวทางที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาให้ความสนใจในการพัฒนาเพื่อสามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพสูง
ตัวอย่าง เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประสบความสำเร็จในการทดลองและใช้งานจริง เช่น เครื่องอบแห้งยางแผ่นดิบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยยางสงขลา ซึ่งมีขนาดความจุ 372 แผ่น นำยางเข้าอบสูงสูดไม่เกิน 125 แผ่น เหมาะกับเกษตรกรที่สวนยางไม่เกิน 50 ไร่ สามารถทำอุณหภูมิได้สูงถึง 49-52 OC ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ในการอบยางแผ่นให้เหลือชื้นต่ำกว่า 1% ถ้านำยางแผ่นดิบไปรมควันจะใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ประหยัดมากกว่าการทำยางแผ่นรมควันถึง 3 เท่า
รูปที่ 16 เครื่องอบแห้งยางแผ่น โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์
นอกจากเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหลังคารูปโดม ซึ่งเหมาะสำหรับการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร อาหารทะเล เครื่องอบแห้งแบบนี้ถือว่าเป็นแบบที่ง่าย ลงทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง ซึ่งเหมาะกับเกษตรกรของไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องอบแห้งแบบแบบเรือนกระจกอบแห้งกล้วย
รูปที่ 17 เครื่องอบแห้งแบบเรือนกระจกอบแห้งกล้วย
เอกสารอ้างอิง
1. คู่มือเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์, สำนักงานพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมกับภาคฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร
2. ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, ยางแผ่นอบแห้ง, หนังสือพิมพ์กสิกรไทย ปีที่ 82 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด