เนื้อหาวันที่ : 2011-02-09 11:33:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4354 views

จากมาตรฐาน ISO9001 สู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 2)

การจัดการทรัพยากร องค์กรจะต้องทำการระบุถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาองค์กร รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานและการปรับปรุงงานของระบบ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

การจัดการทรัพยากร
องค์กรจะต้องทำการระบุถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาองค์กร รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานและการปรับปรุงงานของระบบ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรด้วย

1. การวางแผนและการจัดสรรทรัพยากร 
องค์กรจะต้องมีการพัฒนา นำไปปฏิบัติ และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของกระบวนการในการระบุ พัฒนา จัดให้มี เฝ้าติดตาม บำรุงรักษา และดูแลป้องกันทรัพยากร ทั้งนี้ขอบเขตของการดูแลรักษาที่จำเป็นสำหรับทรัพยากร จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนที่จะเกิดขึ้น นอกจากนั้นองค์กรจะต้องมีการทบทวนถึงความเหมาะสมของทรัพยากรอย่างต่อเนื่องด้วย

ผู้บริหารขององค์กรจะต้องจัดทำและดูแลรักษากระบวนการในการประเมินทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อทำการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรขององค์กร นอกจากนั้นจะต้องมีการทบทวน ในกรณีที่เกิดการขาดแคลนทรัพยากร และไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเวลาที่กำหนดได้

2. ทรัพยากรบุคคล
บุคลากรในทุกระดับขององค์กร ถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก และความสามารถของทุก ๆ คน จะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร ดังนั้น ในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร จะต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี สร้างให้เกิดความโปร่งใส และแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้เข้าใจถึงความสำคัญของความรับผิดชอบ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ และการจัดเตรียมคุณค่าสำหรับองค์กร รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร โดยในการสร้างความพึงพอใจให้กับบุคลากรในองค์กร จะต้องพิจารณาถึง

* การพัฒนากลไกในการแลกเปลี่ยน และการใช้ความรู้ของบุคลากร เช่น กิจกรรมข้อเสนอแนะ
* การสร้างระบบจูงใจสำหรับบุคลากร เช่น การให้รางวัล และการเลื่อนตำแหน่ง
* การพัฒนาระบบการรับรู้และการประเมินความสำเร็จของบุคลากร
* การจัดทำระบบการพัฒนาความสามารถของบุคลากรทางด้านทักษะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้วยตนเอง
* การทบทวนอย่างต่อเนื่องถึงความพึงพอใจและความต้องการของบุคลากร

นอกจากนั้น ในการกำหนดถึงความสามารถที่จำเป็น องค์กรจะต้องมีการทบทวนความสามารถในปัจจุบันของบุคลากร การวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการประเมินต่าง ๆ และระบุถึงความสามารถที่จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไป รวมถึง องค์กรจะต้องมีการจัดทำแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านความสามารถตามที่กำหนดไว้ โดยแผนการพัฒนาจะประกอบด้วยการฝึกอบรมและการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์

นอกจากนั้น องค์กรจะต้อง
* กำหนดความสามารถที่จำเป็นทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อสอดรับกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กร 
* เลือกใช้เทคนิคในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการพัฒนาความสามารถ
* กำหนดดัชนีวัดสำหรับการประเมินความมีประสิทธิผลของการเรียนรู้
* จัดให้มีการเรียนรู้ และเก็บบันทึกหลักฐานการดำเนินงาน
* ประเมินความมีประสิทธิผลของการเรียนรู้ เทียบกับจุดประสงค์ในช่วงเวลาที่กำหนด
* ประเมินความมีประสิทธิผลของการดำเนินการขององค์กร

3. โครงสร้างพื้นฐาน
องค์กรจะต้องมีการวางแผน จัดเตรียมและบริหารโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะประกอบด้วย อาคารสถานที่ เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลสารสนเทศ เครื่องจักรและอุปกรณ์

ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย ต้นทุน และผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ด้วย รวมถึงองค์กรจะต้องทำการทบทวนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และระบบบริหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานยังมีความสอดคล้องกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงข้อกำหนดทางด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย ในขณะเดียวกัน องค์กรจะต้องค้นหาแนวทางในการรักษาความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันโดยการเพิ่มผลผลิต การสร้างสรรค์ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้กับบุคลากรในองค์กร และบุคคลอื่น ๆ ที่มีโอกาสทำงานด้วย รวมถึงผู้มาติดต่อกับองค์กร เช่น ลูกค้า ผู้ส่งมอบ หุ้นส่วน เป็นต้น

4. การจัดการความรู้
องค์กรจะต้องมีการจัดการข้อมูล ความรู้และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร โดยจะต้องมีการพัฒนา นำมาปฏิบัติ และดูแลกระบวนการในการระบุ รวบรวม ดูแลรักษา การใช้ และประเมินถึงข้อมูล ความรู้ และเทคโนโลยีที่จำเป็น รวมถึงองค์กรจะต้องจัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ หรือเทคโนโลยีร่วมกับหุ้นส่วนหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ

5. ทรัพยากรทางการเงิน
องค์กรจะต้องทำการพยากรณ์ และพิจารณาถึงความจำเป็นทางด้านการเงิน รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทางการเงินที่จำเป็น เพื่อรองรับการดำเนินงานทั้งในปัจจุบันและการลงทุนในอนาคต ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะต้องกำหนดและดำเนินการสำหรับกระบวนการในการเฝ้าติดตามผล และการควบคุมการใช้ทรัพยากรทางด้านการเงิน รวมถึงการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

6. ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการช่วงชีวิต
องค์กรจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาถึงความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกี่ยวกับความพร้อมใช้ของทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน แหล่งน้ำ น้ำมัน แร่ธาตุ หรือวัตถุดิบ ที่จำเป็นสำหรับองค์กร ไม่เพียงแค่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทั้งในระยะกลางและระยะยาว นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบข้างเคียงจากการใช้งาน และการกำจัดทรัพยากรที่ยกเลิกหรือเหลือจากการใช้งานแล้วด้วย

ในการบริหารช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product life Cycle) จะเป็นกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ ต้นทุน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยจะครอบคลุมถึง ความไว้วางใจได้ (ความน่าเชื่อถือ ความพร้อมใช้ การบำรุงรักษา การสนับสนุนงานบำรุงรักษา) ความล้าสมัย และการยกเลิกการใช้งาน

การบริหารช่วงชีวิต จะให้ข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น การลดต้นทุน  โดยจะเป็นการพิจารณาในทุกช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงการทำลายในขั้นตอนสุดท้าย

ในกระบวนการออกแบบจะต้องพิจารณาถึงคุณลักษณะที่สำคัญ เช่น ระดับของอัตราการบกพร่องที่ต่ำ การบำรุงรักษาที่ง่าย และความพร้อมของชิ้นส่วนอะไหล่ (รวมถึงการสนับสนุนด้านการขนส่ง)  รวมถึงจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่น้อยที่สุด ทั้งในการออกแบบ การผลิตสินค้า การส่งมอบบริการ การกระจายสินค้า การใช้และกำจัดผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างของเครื่องมือที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อม ได้แก่ การประเมินช่วงชีวิต (Life Cycle Assessment: LSA) การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Design for Environment: DFE) และการเทียบเคียงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Benchmarking)

การจัดการกระบวนการ
องค์กรจะต้องใช้แนวทางในการจัดการกระบวนการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผล และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์และกระบวนการปฏิบัติงาน โดยประโยชน์ที่ได้จาการดำเนินการเป็นกระบวนการ ประกอบด้วย

1. เพื่อให้ได้ผลสำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้
2. เพื่อเป็นการปรับปรุงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร
3. สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เกี่ยวกับความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานขององค์กร
4. ความโปร่งใส และชัดเจนของการปฏิบัติงานในองค์กร
5. ต้นทุนที่ต่ำ และช่วงรอบเวลาที่สั้นกว่า จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล
6. ผลลัพธ์ที่ได้รับการปรับปรุง สม่ำเสมอ และสามารถคาดการณ์ได้
7. โอกาสในการปรับปรุงงาน
8. ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรและการแจกแจงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน

กระบวนการจะมีลักษณะเฉพาะในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาดและระดับของการพัฒนา ซึ่งกระบวนการจะสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

* กระบวนการบริหาร จะประกอบด้วยกระบวนการในการกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำนโยบาย วัตถุประสงค์ การสร้างระบบการสื่อสาร การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรที่จำเป็น การบริหารช่วงชีวิต และการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร

* กระบวนการทำให้เป็นจริง จะประกอบด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่วางไว้ขององค์กร เช่น กระบวนการออกแบบ กระบวนการผลิต การให้บริการ การบริการหลังการขาย

* กระบวนการสนับสนุน จะประกอบด้วยกระบวนการที่จำเป็นสำหรับการให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อกระบวนการทำให้เป็นจริง เช่น การฝึกอบรม การบำรุงรักษา การตลาด การขาย การบริหารคุณภาพ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดและจัดการกระบวนการต่าง ๆ ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงจะต้องมีการกำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการไว้อย่างชัดเจนด้วย

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องกำหนดบุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการ ดูแลรักษา และปรับปรุงในแต่ละกระบวนการ รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกระบวนการอื่น ๆ ซึ่งจะเรียกว่า เจ้าของกระบวนการ (Process Owner) และจะต้องมั่นใจว่าอำนาจหน้าที่ บทบาท พันธกิจ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของกระบวนการ ได้รับการสื่อสารให้เกิดการรับรู้ทั่วทั้งองค์กรด้วย


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด