เนื้อหาวันที่ : 2011-02-03 11:54:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9083 views

การผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (ตอนที่ 1)

พลังงานจากแสงอาทิตย์มีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ทำให้เกิดความแตกต่างของสภาพอากาศทั่วโลก ทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ หรือแม้แต่ให้พืช สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตเป็นอาหาร

การผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (ตอนที่ 1)
รู้จักดวงอาทิตย์ ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์

ทนงศักดิ์ วัฒนา
thanongsak.wattana@hotmail.com

พลังงานจากแสงอาทิตย์นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ทำให้เกิดความแตกต่างของสภาพอากาศทั่วโลก ทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ หรือแม้แต่ให้พืช สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตเป็นอาหาร ดังแสดงในรูปที่ 1และยังเป็นพลังงานที่ยั่งยืนของมนุษย์

ปัจจุบัน มนุษย์มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากมาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตความร้อนจากแสงอาทิตย์ และด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันมนุษย์ได้ค้นคิดการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ มากมายเพิ่มเติมจากอดีต เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง เพื่อลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้มนุษย์อยู่บนโลกนี้อย่างยั่งยืน   
   
   

   
รูปที่ 1 แสดงการสังเคราะห์แสงของพืช (ที่มา http://school.obec.go.th)

รู้จักดวงอาทิตย์ ขุมพลังงานแห่งอนาคต
พลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม น้ำขึ้น น้ำลง หรือแม้แต่พลังงานจากชีวมวล ล้วนเกิดจากพลังงานจากดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น ซึ่งรูปแบบการเกิดแตกต่างกันออกไป พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยออกมาซึ่งดวงอาทิตย์ห่างออกไปจากโลก 149.6 ล้านกิโลเมตร

ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ โดยมีดาวเคราะห์ทบริวารโคจรอยู่รอบ ๆ มากมาย เช่น ดาวพุธ ดาวศุกร์ และโลก ดวงอาทิตย์มีมวล 1.9891x 1030 กิโลกรัม ความหนาแน่นเฉลี่ย 1,409 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ดวงอาทิตย์ประกอบด้วย ไฮโดรเจน ร้อยละ 74 โดยมวล ฮีเลียมร้อยละ 25 โดยมวล และธาตุอื่น ๆ อีกร้อยละ 1 ดวงอาทิตย์ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแกนปฏิกิริยา หรือใจกลางดวงอาทิตย์ ส่วนการแผ่รังสี ส่วนการพาความร้อน ส่วนโฟโตสเฟียร์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนบรรยากาศของดวงอาทิตย์

ส่วนแกนของดวงอาทิตย์ (Core) เป็นส่วนที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ (Nuclear Burning Core) ปฏิกิริยาที่เกิดเป็นปฏิกิริยาฟิวชั่น เป็นการทำปฏิกิริยาของไฮโดรเจน เพื่อเกิดเป็นฮีเลียม และปลดปล่อยพลังงานออกมาในทุกวินาที 383 x 1024 จูล ซึ่งเป็นไปตามสมการของไอสไตน์ คือ E = mC2 เมื่อ E คือ จำนวนพลังงาน, m คือ มวลสาร และ C คือ ความเร็วแสง (300,000 m/s) จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ทำให้บริเวณแกนกลางของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิสูงถึง 13.6 ล้านเคลวิน ส่วนแกนกลางของดวงอาทิตย์ มีขนาดหนึ่งในสี่ของรัศมีดวงอาทิตย์ มีความหนาแน่นสูงถึง 150,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนการแผ่รังสีความร้อน (Radiation Zone) เป็นบริเวณที่อยู่ถัดมาจากส่วนแกนกลางของดวงอาทิตย์ มีระยะ 25-70% ของระยะรัศมีดวงอาทิตย์ ในชั้นนี้จะมีการพาความร้อนเกิดขึ้น เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิเมื่อเทียบกับระยะทางมีน้อยมาก ในบริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนที่ของอนุภาคโฟตอนจากแกน ไปยังโซนการพาความร้อน โดยใช้เวลากว่า หนึ่งล้านปี

ส่วนการพาความร้อน (Convection Zone) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากส่วนการแผ่รัศมี มีระยะ 70-100% ของรัศมีดวงอาทิตย์ ส่วนนี้เป็นการถ่ายเทความร้อนผ่านแท่งความร้อน หมุนวนจากด้านในไปยังด้านนอก

ชั้นโฟโตสเฟียร์ ในชั้นนี้จะเกิดการวิ่งชนของอิเล็กตรอนกับไฮโดรเจน อุณหภูมิจะลดต่ำลงตามระดับความสูงที่เพิ่มมากขึ้น

ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ประกอบด้วย 5 ชั้นย่อย คือ Temperature Minimum, Chromosphere, Transition Region, Corona และ Heliosphere ตามลำดับจากต่ำไปสูง

รูปที่ 2 แสดงส่วนประกอบของดวงอาทิตย์ (ที่มา http://en.wikipedia.org)

จากการสันนิฐานว่าดวงอาทิตย์เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 4,570 ล้านปี และจะมีอายุต่อไปอีกประมาณ 5,000 ล้านปี นั้นหมายถึงดวงอาทิตย์มีอายุเกือบครึ่งชีวิตของมันแล้ว หลังจากที่ดวงอาทิตย์ใช้เพลิงหมด ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวแดงยักษ์ และท้ายที่สุดจะกลายเป็นดาวแคระดำ เป็นอันสิ้นสุดชีวิตของดวงอาทิตย์ขุมพลังงานของระบบสุริยะ

อิทธิพลของพลังงานแสงอาทิตย์ต่อโลกมนุษย์
ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแสงอาทิตย์ออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีระดับพลังงานทั้งหมด 6 แถบ ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งแต่ละแถบจะมีระดับพลังงานแตกต่างกัน ได้แก่ คลื่นวิทยุ (คลื่นไมโครเวฟ เป็นคลื่นวิทยุพลังงานสูง) รังสีอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ และรังสีแกรมมา เรียงจากระดับพลังงานต่ำไปสูง ตามลำดับซึ่งแถบพลังงานเหล่านี้มีความยาวคลื่นแตกต่างกันด้วย ดังแสดงในรูปที่ 4
   

รูปที่ 3 แสดงแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 6 แถบ   
  

รูปที่ 4 แสดงความยาวคลื่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้ง 6 แถบ

แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นโลกจะประกอบด้วยรังสี 3 ช่วง คือ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสี UV จะให้สีซีดจางและเกิดมะเร็งผิวหนังได้ แต่รังสี UV มีคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรีย ซึ่งเหมาะสำหรับตากอาหารบางชนิดเพื่อยืดอายุให้ยาวนานขึ้น และยังมีข้อดีอีก คือ ช่วยให้ร่างการมนุษย์สังเคราะห์วิตามินดีขึ้นได้ รังสีช่วงที่ 2 คือ แสงสว่าง ช่วงในทางมองเห็นสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลก

และสุดท้าย คือ รังสีอินฟราเรด (Infrared) เป็นรังสีที่ทำให้เกิดความร้อน พลังงานแสงอาทิตย์ที่เดินทางมายังชั้นบรรยากาศนอกสุดของโลกจะมีความเข้มสูงถึง 1,370 วัตต์ต่อตารางเมตร แต่พลังงานที่ตกมายังพื้นโลกจะเหลือเพียง 800-1,000 วัตต์ต่อตารางเมตรเท่านั้น เพราะบรรยากาศโลกสกัดกั้นเอาไว้

โดยส่วนประกอบของแสงแดดที่ลงมายังพื้นโลกจะประกอบด้วย รังสีอัลตราไวโอเลต ประมาณ 3% รังสีอินฟราเรด 53% และแสงสว่าง 47% ถึงแม้ระดับพลังงานแสงอาทิตย์จะลดลงเมื่อตกกระทบพื้นโลก แต่ก็มากเพียงพอที่มนุษย์จะใช้ประโยชน์ และทำให้เกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติมากมาย ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืชบนพื้นโลก อย่างยั่งยืนอีกห้าพันล้านปี ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถกล่าวได้ ดังนี้

1. ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก 
พื้นที่ต่าง ๆ บนพื้นโลกมีความแตกต่างกันออกไปตามเขตละติจูด ซึ่งมีผลมาจากการได้รับพลังงานแสงอาทิตย์หรือรังสีจากดวงอาทิตย์ตกกระทบไม่เท่ากัน รวมถึงระยะเวลาที่รับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เท่ากันด้วย ซึ่งมีผลทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน เช่น เขตภูมิอากาศร้อน (Tropic Zone) ภูมิอากาศบริเวณนี้จะอยู่ในเขตภูมิอากาศต่ำ ระหว่างละติจูดที่ 23 องศาเหนือ ถึง 23 องศาใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือนสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส เป็นเขตมีอากาศร้อนทั้งปี ไม่มีฤดูหนาว ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็น

2. ทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ
การเกิดการหมุนวนของกระแสอากาศ เกิดจากพื้นผิวโลกได้รับปริมาณความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละละติจูด ในเขตร้อนจะได้รับพลังงานความร้อนที่มากว่า เขตหนาว จึงทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอากาศเพื่อรักษาลมดุล

โดยจะมีการเคลื่อนที่จากของอากาศร้อน บริเวณศูนย์สูตรไปยังขั้วโลก และอากาศเย็นบริเวณขั้วโลกไปยังศูนย์สูตร การเคลื่อนที่ของอากาศมีเกิดขึ้น 2 แนว คือ กระแสอากาศที่เคลื่อนที่ในแนวนอน เรียกว่า ลม ส่วนกระแสอากาศ จะเคลื่อนที่ในแนวตั้ง ลักษณะการหมุนวนของกระแสอากาศที่เกิดขึ้นรอบโลก ตามแบบจำลอง 3 วงจร  ดังแสดงในรูปที่ 5

รูปที่ 5 การหมุนเวียนทั่วไปของอากาศแบบจำลอง 3 วงจร (ที่มา http://winds-energy.blogspot.com)

3. การหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร
กระแสน้ำในมหาสมุทร เกิดจากการที่ผิวน้ำของมหาสมุทรรับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้มีอุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น และขยายตัวใกล้เส้นศูนย์สูตรสูงกว่าละติจูดตอนกลาง ทำให้น้ำเกิดการเคลื่อนที่ของน้ำจากที่สูงไปยังที่ต่ำ หรือจากที่อุณหภูมิอุ่นกว่าไปยังบริเวณที่เย็นกว่า เราอาจแบ่งชนิดของกระแสน้ำพวกนี้เป็นกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น ขึ้นกับแหล่งกำเนิด และความแตกต่างของอุณหภูมิของมันกับของมวลน้ำข้างเคียง ทั้งสามมหาสมุทรจะประกอบด้วยวงใหญ่ ๆ ดังรูป 6

รูป 6 กระแสน้ำที่ผิววงใหญ่ ๆ

4.  ทำให้เกิดวัฏจักรของน้ำ
พลังงานแสงอาทิตย์จากดวงอาทิตย์ นอกจากทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติมากมายหลายอย่าง ปรากฏการณ์อย่างที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตมนุษย์ พืช สัตว์ คือ การทำให้เกิดวัฏจักรน้ำ ที่น้ำเปลี่ยนแปลงถานะระหว่าง ของเหลว ของแข็ง และก๊าซ โดยจะมีลักษณะเปลี่ยนกลับไป กลับมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีวันสิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเกิดทั้งในบรรยากาศ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน หรือแม้แต่ในพืช การเปลี่ยนแปลงนี้แยกได้ 4 ประเภท คือ การระเหยกลายเป็นไอ หยาดน้ำฟ้า การซึม และ การเกิดน้ำท่า
     

     รูปที่ 7 แสดงการเกิดวัฏจักรน้ำ

 
5. ทำให้เกิดแสงสว่างบนพื้นโลก
พลังงานแสงอาทิตย์ที่เดินทางมาตกกระทบบนพื้นโลก ประกอบด้วย รังสี 3 ช่วง คือ อัลตราไวโอเลต หรือ UV แสงสว่าง ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นวัตถุต่าง ๆ บนพื้นโลก ส่วนรังสีสุดท้าย คือ รังสีอินฟราเรด ซึ่งทำให้เกิดความร้อน

6. ทำให้เกิดพลังงานชีวิตรูปแบบต่าง ๆ
พลังงานแสงอาทิตย์ทำให้พืชต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยใช้แสงและคาร์บอนไดออกไซด์ ในการสังเคราะห์แสง และสะสมพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานชีวมวล เป็นต้น

ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์
ศักยภาพการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นที่ ถ้าปริมาณรังสีตกกระทบมาก ย่อมหมายถึงการใช้ประโยชน์ได้มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณรังสีอย่างเดียวคงไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ศักยภาพสูงสุด

ถ้าอุปกรณ์เครื่องมือในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานรูปแบบอื่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มีประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้น การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์การแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ย่อมเป็นเรื่องสำคัญและควรตระหนักในการพัฒนาอย่างยิ่งยวด

สำหรับศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย สามารถแสดงด้วยแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปี ดังแสดงในรูปที่ 8 จากแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์พบว่า บริเวณทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อยุธยาและลพบุรี ส่วนทางภาคใต้อยู่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ถ้าพิจารณาตามเปอร์เซ็นต์พื้นที่ของไทยเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ดังแสดงในรูปที่ 9

จากกราฟแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยค่อนข้างสูงคือ ประมาณ 18.2 MJ/m2-day หรือถ้ากล่าวเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่พบว่า 14.3% ของพื้นที่ทั้งประเทศมีความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์อยู่ที่ 19-20 MJ/m2-day และ 50.2% ของพื้นที่ทั้งประเทศมีความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์อยู่ที่ 18-19 MJ/m2-day ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง ดังนั้น การคิดค้นเพื่อพัฒนานำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล หรือเชื้อเพลิงจากน้ำมัน ซึ่งนับวันมีแต่ลดลง และหมดไปในอนาคต ป

รูปที่ 8 ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย
(ที่มา: สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์)

                                    

รูปที่ 9 เปอร์เซ็นต์พื้นที่ของไทยแยกตามความเข้มรังสีแสงอาทิตย์
(ที่มา: สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์)

เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
ปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องทั้งประเทศไทยและทั่วโลก เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตความร้อน

เทคโนโลยีพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง โดยการใช้อุปกรณ์ที่รียกว่า เซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นจากสารกึ่งตัวนำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงและพลังงานไฟฟ้าที่ได้เป็นกระแสตรง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาดและไม่มีวันหมด รูปแบบเซลล์แสงอาทิตย์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง ดังแสดงในรูปที่ 10

รูปที่ 10 โซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง (ที่มา http://www.csa.com )

เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน เทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อนและนำพลังงานความร้อนไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปแบบอื่น ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น เทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี โดยใช้หลอดสุญญากาศร่วมกับฮีตไปป์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับพลังงานแสงอาทิตย์ ดังแสดงในรูปที่ 11 และ รูปที่ 12 เทคโนโลยีการการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการอบแห้งมีค่าไม่คงที่เท่าไร ทำให้มีการพัฒนาการใช้การอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแหล่งความอื่น ๆ ดังแสดงรูปที่ 13 เทคโนโลยีการทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการประยุกต์ใช้ระบบทำความเย็นแบบดูดซึม ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะประหยัดการใช้พลังงานได้มากในระบบทำความเย็น รูปแบบของการทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  ดังแสดงในรูปที่ 14

รูปที่ 11 แสดงเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้เทคโนโลยีหลอดสุญญากาศร่วมกับ Heat Pipe

                  
รูปที่ 12 แสดงหลอดสุญญากาศและการทำงานของหลอดสุญญากาศร่วมกับ Heat Pipe

 รูปที่ 13 แสดงเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล


รูปที่ 14 แสดงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความเย็นในระบบปรับอากาศ
     (ที่มา: http://www.solarthermalsystems.com)
    
และนอกจากที่กล่าวมาแล้ว เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน ยังมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากจานรวมแสง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า ดังแสดงในรูปที่ 15 และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มนุษย์พยายามพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุด แต่ในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน
  

รูปที่ 15 แสดงเทคโนโลยีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากจานรวมแสง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา

ซึ่งจากข้อมูลเรื่องศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยซึ่งมีค่าสูง และเทคโนโลยีในประเทศไทยได้รับการพัฒนา ประเทศไทยคงลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือน้ำมันลงได้อย่างมากมายต่อปี อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่ไม่มีวันหมดและเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงควรหันมาพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนและตลอดไป

และในตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึง เทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยละเอียด ซึ่งนับวันการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงแรม หรือ รีสอร์ต ที่มีความต้องการใช้น้ำร้อนอย่างต่อเนื่อง

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด