เนื้อหาวันที่ : 2007-03-08 16:40:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5586 views

การปรับปรุงเพื่อลดระยะเวลาการพัฒนารถยนต์ของ General Motor

ในอุตสาหกรรมรถยนต์อาจกล่าวได้ว่า รถยนต์แต่ละรุ่น คือปัจจัยผลักดันบริษัทสู่ความสำเร็จในการดำเนินงาน ลูกค้าไม่เพียงแต่ต้องการรถยนต์ที่มีความไว้วางใจและมีคุณภาพสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ยังต้องการความสวยงามและน่าสนใจในตัวรถยนต์เช่นกัน

 ในอุตสาหกรรมรถยนต์อาจกล่าวได้ว่า รถยนต์แต่ละรุ่น คือปัจจัยผลักดันบริษัทสู่ความสำเร็จในการดำเนินงาน ลูกค้าไม่เพียงแต่ต้องการรถยนต์ที่มีความไว้วางใจและมีคุณภาพสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ยังต้องการความสวยงามและน่าสนใจในตัวรถยนต์เช่นกัน ภายใต้สภาพแวดล้อมของปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ความรวดเร็วในการนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะเป็นผู้กำหนดแนวโน้มความต้องการของลูกค้าได้

.

Ralph Szygenda ได้ถูกแต่งตั้งในปี 1996 ให้ดำรงตำแหน่ง Chief Information Officer คนแรกของ General Motor หรือ GM ในช่วงเวลาที่บริษัทต้องใช้เวลาที่บริษัทต้องใช้เวลาในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่นานถึง 4 ปี ทำให้ GM มีความจำเป็นต้องลดระยะเวลาที่บริษัทต้องใช้เวลาที่ใช้นี้ เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นตลอดเวลา

.

เป้าหมายที่สำคัญของ Szygenda คือทำให้ GM สามารถเสริมสร้างความโดดเด่นในการปฏิบัติงานที่เคยมีมาก่อนในด้านวิศวกรรมและรูปแบบการปฏิบัติงาน โดยผสมผสานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรแห่งนี้ ในช่วงเวลานั้น GM ได้ริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ในการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นบริษัทที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในด้านการปฏิบัติงานและกระบวนการต่าง ๆ เช่นกัน ซึ่งผู้บริหารของ GM ได้เห็นว่าบริษัทมีความจำเป็นที่จะมุ่งความสนใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยวิศวกรรมชั้นเลิศออกสู่ตลาดในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ดังนั้น กระบวนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ของบริษัทจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปรับเปลี่ยน GM ไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท

.

ในช่วงแรกของการปรับปรุงกระบวนการพัฒนารถยนต์ GM ได้มุ่งปรับปรุงภายในบริษัทในด้านการประสานรวมการปฏิบัติงานของ ศูนย์วิศวกรรมทั่วโลก (Global Engineering Center) โดยได้กำหนดเป้าหมาย 2 ประการ คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการออกแบบ และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยประหยัดเวลาและอำนวยความสะดวกในการทำงานมาใช้ในบริษัท และเมื่อการปรับปรุงในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก้าวหน้าไปด้วยดี GM ก็ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงพัฒนา Supply Chain ในระดับวงกว้างของบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งได้นำไปสู่การปรับปรุงที่สำคัญยิ่งในระยะที่ 2 โดยขยายขอบเขตการประสานการปฏิบัติงานไปยัง Supplier ต่าง ๆ ของบริษัท ระยะที่ 2 ได้เริ่มต้นในปี 1999 อันเป็นจุดสำคัญในการพยายามทั้งหมดของการปรับเปลี่ยนนี้ ซึ่งความพยายามปรับปรุงกระบวนการพัฒนาในขั้นแรก มีเป้าหมายเพื่อดำรงรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเป็นสำคัญ แต่ในขั้นที่ 2 ได้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ GM กลับมาเป็นผู้นำและผู้คิดค้นนวัตกรรมในการออกแบบยานยนต์ของอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง

.

ความพยายามเหล่านี้ได้สร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ต่อ GM เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากรอบระยะเวลาในการพัฒนารถยนต์ได้ลดลงถึง 70% และลดต้นทุนลงได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ นอกจากนี้แล้ว จากการทำงานประสานกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีสนับสนุนการปฏิบัติงานระหว่าง GM และ Supplier ต่าง ๆ ทำให้สามารถเชื่อมโยงเป้าหมาย มาตรฐาน และการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นเช่นกัน

.

การมุ่งสู่การประสานงานภายนอกองค์กร

ในช่วงแรกของการปรับปรุงกระบวนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ GM ยังมิได้ให้ความสำคัญต่อการประสานการปฏิบัติงานต่อ Supplier ต่าง ๆ จนกระทั่งปี 1999 ที่การปรับปรุงพัฒนาภายในบริษัทได้ก้าวหน้าไปสู่จุดที่ต้องเกิดการเชื่อมโยงกับ Supplier ของบริษัท และนับตั้งแต่ปี 2000 การเริ่มใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการปรับปรุงด้านการประสานงานร่วมกับ Supplier ก็ได้เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการเริ่มต้นแผนการทำงานใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ของ GM

.

ในช่วงเริ่มต้นของการปรับปรุงภายในบริษัท GM ได้จัดตั้งกลุ่มทำงานการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางปรับปรุงการปฏิบัติงานของกระบวนการที่สำคัญให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมุ่งลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนอันนำไปสู่การลดรอบระยะเวลาการทำงานได้ และในเวลานั้น GM ได้ตรวจสอบว่า องค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการปรับปรุงกระบวนการ จะมีวิธีอย่างไรในการเชื่อมโยงโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการพิจารณายกเลิกการใช้งานโปรแกรมประยุกต์ในบางส่วนที่ไม่จำเป็นด้วย

.

เมื่อ GM ได้เริ่มนำเสนอกระบวนการพัฒนารถยนต์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนให้รวมประสานมากขึ้นต่อ Supplier โดย GM ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบรรดา Supplier ในทุกระดับชั้น ถึงข้อบกพร่องที่อาจมีในกระบวนการออกแบบที่ได้ปรับปรุงใหม่นี้ เพื่อให้ทราบถึงจุดที่ทำให้มีการทำงานร่วมกันได้ง่าย หรือ จุดที่ทำให้ทำงานร่วมกันไม่สะดวก วิธีการที่จะสามารถรับรู้ข้อมูลสารสนเทศจาก Supplier หรือส่งไปยัง Supplier ได้อย่างทันเวลาที่เหมาะสม และให้ได้ทราบถึงวิธีการที่จะรวบรวมประสานการทำงานของ Supplier ต่าง ๆ เข้าเป็นกระบวนการออกแบบที่เป็นรูปแบบร่วมกันเพียงหนึ่งเดียวได้ ซึ่งจากการประชุมปรึกษาร่วมกับ Supplier ทำให้ GM สามารถกำหนดส่วนต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณา ดังนี้

.

1. GM มีกระบวนการที่มีลักษณะเป็นกลุ่มงานที่ควรจะมีการโต้ตอบระหว่างฝ่ายทำงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่องมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในช่วงเวลานั้น ข้อมูลสารสนเทศและการออกแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น แนวคิดของผลิตภัณฑ์ ข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ ข้อมูลการออกแบบที่ได้จากคอมพิวเตอร์ และการเปลี่ยนแปลงด้านวิศวกรรม ได้ถูกส่งไปมาระหว่างทีมวิศวกรของ GM และ Supplier ในรูปแบบไฟล์หรือเทปข้อมูล ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องเปิดดูข้อมูลที่ได้รับ นำไปวิเคราะห์การปรับเปลี่ยนตามที่ได้รับแจ้งว่าจะเกิดผลกระทบในชิ้นส่วนและระบบใดบ้าง จากนั้นต้องรวบรวมและแจ้งกลับไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องดำเนินการในลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกันสำหรับข้อมูลการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดเป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่ใช้ระยะเวลาทำงานเป็นอย่างมาก ทั้งฝ่าย GM และ Supplier จึงเห็นพ้องกันว่า ควรจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยให้เกิดการประสานงานเหล่านี้พร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ โดยมีการได้รับรู้ข้อมูลการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ พร้อมกันทั้งในส่วน GM และ Supplier ได้

.

2. GM จำเป็นต้องแน่ใจว่า มีความสมดุลเหมาะสมระหว่าง ระบบความปลอดภัยของข้อมูล และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่ง GM ต้องการให้ข้อมูลสารสนเทศและการออกแบบต่าง ๆ ที่ถูกส่งให้หรือเข้าถึงได้โดย Supplier ต่าง ๆ ได้ถูกป้องกันการลักลอบเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้องได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแน่ใจว่าจะไม่เป็นการขัดขวางสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ต่อ Supplier ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

.

3. GM จำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการประสานการทำงานและส่งผ่านข้อมูลสารสนเทศกับ Supplier ต่าง ๆ ให้มีการปฏิบัติที่ไม่แทรกแซงกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ Supplier เหล่านี้มีอยู่เช่นกัน กระบวนการสำคัญที่ปฏิบัติงานกับผู้จัดส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ บางครั้งมีความยุ่งยากซับซ้อน และสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย เป้าหมายสำคัญในการปรับปรุง คือ เพื่อพยายามลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อ Supplier ของ GM

.

การสื่อสารในภาษาเดียวกันต่อทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงเริ่มแรก สิ่งที่ต้องทำ คือ  การทำให้ข้อมูลการออกแบบระหว่าง GM และ Supplier มีความสอดคล้องตรงกันในทุกช่วงเวลา ซึ่ง GM ต้องการทำให้แน่ใจได้ว่า ทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิบัติงานอยู่บนข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องตรงกันเป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา ซึ่งก่อนการปรับปรุง ข้อมูลจะถูกส่งในรูปเทปข้อมูล ระหว่าง GM และ Supplier ซึ่งจะใช้ระยะเวลาหลายวันในการปรับปรุงข้อมูล อันทำให้ข้อมูลที่ Supplier รับรู้อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว และเกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลที่เกี่ยวข้อง GM ได้ปรับปรุงโดยการใช้โปรแกรม Unigraphic ในการจัดการด้านการส่งข้อมูลการออกแบบจากระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ทำให้การประสานงานการออกแบบ สามารถทำได้ในทันทีทันใดบนข้อมูลที่สอดคล้องตรงกันตลอดเวลา

.

ภายใน GM ได้เคยพบกับปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน ในปี 1996 ซึ่งก่อนหน้าการปรับปรุง GM ได้มีกระบวนการและระบบที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนารถยนต์อยู่มากมาย อันส่งผลให้เกิดปัญหาการมีแหล่งข้อมูลอยู่กระจัดกระจายตามแหล่งต่าง ๆ อย่างไม่เป็นหนึ่งเดียวร่วมกันระหว่างศูนย์การออกแบบที่มีมากถึง 16 แห่งทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ จากสภาพที่เกิดขึ้น GM ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีหลักร่วมกันระบบหนึ่ง ที่สามารถรวบรวมประสานระบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ตามแหล่งต่าง ๆ ของบริษัท และเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง รวมทั้งทำการปรับปรุงข้อมูลสำหรับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ GM ต้องกำหนดให้มีระบบ CAD/CAM ที่ใช้ร่วมกันเพียงหนึ่งระบบ สำหรับสำนักงานสาขาต่าง ๆ ของ GM และบริษัทที่ร่วมลงทุนในทั่วโลก ซึ่ง GM ได้เลือกใช้ Unigraphics เป็นระบบดังกล่าว GM ยังได้จัดตั้งระบบจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า TeamCenter ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยจัดการรวบรวมและปรับปรุงไฟล์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ให้มีความถูกต้องสอดคล้องกันในทุก ๆ ส่วนงานที่ครอบคลุมทั้งในส่วนการออกแบบ วิศวกรรม การจัดซื้อ การผลิต การวิเคราะห์ การบริการ และการทดสอบรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

.

และในปี1999 GM ได้เริ่มการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้กับ Supplier ต่าง ๆ โดยผ่านเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะ Virtual Private Network (VPN) และเครือข่ายที่ Supplier มีอยู่ที่เรียกว่า Supply Power ในขั้นแรก GM ได้กำหนดให้ Supplier สามารถเชื่อมโยงถึงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น โดยผ่านเครือข่าย VPN ของ GM ในขั้นต่อมา GM ได้ขยายขอบข่ายไปสู่การเชื่อมโยงเข้าสู่ส่วนอื่น ๆ เช่น มาตรฐานในการออกแบบ และข้อมูลการออกแบบต่าง ๆ โดยผ่านเครือข่าย Supply Power และ GM ก็ได้ขยายการเชื่อมโยงของ Supplier ไปสู่ระบบงานทางธุรกิจ และเทคนิค เช่น กำหนดการของโครงการ การปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรม ข้อกำหนดทางเทคนิค ข้อกำหนดทางการทดสอบ และด้านการควบคุมคุณภาพ

.

ในการสร้างความร่วมมือประสานการทำงานในเครือข่ายของ Supplier ในระดับทั่วโลกของ GM มิใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับ Supplier ที่อยู่ในกลุ่มระดับที่ 1 (Tier-One) ที่จะจัดส่งชิ้นส่วนโดยตรงต่อ GM ที่ต้องมุ่งออกแบบกระบวนการปฏิบัติงานระหว่าง GM และ Supplier ให้มีความคล่องตัวเป็นอย่างมาก ซึ่ง GM ต้องกำหนดจุดเชื่อมต่อกับ Supplier เหล่านี้และกำหนดว่า ข้อมูลอะไรที่มีความจำเป็นในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงานที่จำเป็นอย่างแท้จริงระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะช่วยทำให้ Supplier ได้รับข้อมูลในปริมาณที่เหมาะสมตามความจำเป็น อันป้องกันมิให้ลดทอนความคล่องตัวของกระบวนการได้

.

ในด้านการประสานรวมเทคโนโลยีและกระบวนการ ได้บรรลุผลสำเร็จในระดับที่ทำให้ Supplier ของ GM ได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่สอดคล้องตรงกัน โดยสามารถเรียกดูข้อมูลการออกแบบในลักษณะเสมือนจริงใน 3 มิติ เช่นเดียวกับวิศวกรฝ่ายออกแบบของ GM ได้รับทราบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น GM สามารถประสานงานและปรับปรุงข้อมูลการออกแบบที่สร้างเป็นไฟล์ได้ทุกวันกับ Supplier รายสำคัญ และสำหรับ Supplier รายอื่น ๆ ที่มีความสำคัญอันดับรองลงไป จะสามารถปรับปรุงข้อมูลได้เป็นรายสัปดาห์ โดยการปฏิบัติเช่นนี้ จะช่วยขจัดปัญหาบางประการที่มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบในที่แห่งหนึ่ง แต่มิได้ถูกแจ้งให้ส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทราบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงพอ และในปัจจุบันที่ GM สามารถทำให้ข้อมูลการออกแบบต่าง ๆ มีความถูกต้องตรงกันในทุก ๆ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้พยายามก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไปที่สามารถร่วมมือปฏิบัติงานกันได้ในรูปแบบการร่วมมือออกแบบในลักษณะ  Real time ซึ่งได้ดำเนินการแล้วกับ Supplier ที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของบริษัท โดยอาศัยเทคโนโลยี Internet ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งวิศวกรของ GM สามารถตรวจสอบการออกแบบต่าง ๆ ที่ Supplier ของ GM ได้กำลังดำเนินการอยู่ได้ในทันทีตลอดเวลา และในลำดับขั้นต่อไป GM ก็พยายามขยายขอบเขตการปฏิบัติเช่นนี้สำหรับ Supplier ในกลุ่มลำดับรองลงไป ซึ่งเป็นกลุ่ม Supplier ที่จัดส่งชิ้นส่วนให้กับ Supplier ในกลุ่ม Tier-One เช่นกัน

.

การใช้เทคโนโลยีในลักษณะนี้ สามารถสร้างดุลยภาพระหว่างความปลอดภัยและการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้ โดยการจัดเตรียมลำดับชั้นที่แตกต่างกันในความสามารถของการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในระดับที่แตกต่างกันสำหรับ Supplier ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละรายจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการออกแบบได้เฉพาะในชิ้นส่วนที่แต่ละรายรับผิดชอบอยู่เท่านั้น แต่เมื่อการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่นั้น ได้ก้าวหน้าไปสู่ระยะต่าง ๆ ที่ใกล้ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดแล้ว ก็อาจลดระดับการควบคุมข้อมูลการออกแบบต่าง ๆ และสามารถให้ข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ต่อ Supplier ได้อย่างมีอิสระมากขึ้นเช่นกัน

.

การโน้มน้าวให้ Supplier ร่วมมือในการปรับเปลี่ยน

ในช่วงแรก Supplier ของ GM เกิดความสงสัยต่อการปรับเปลี่ยนของ GM นี้ โดยเฉพาะความกังวลว่า ตนจะต้องเป็นผู้ลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ แต่เมื่อได้รับฟังคำอธิบายจาก GM เรื่องกลยุทธ์ที่เป็นพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนนี้ ก็ทำให้ Supplier เข้าใจมากขึ้น และเริ่มมีความเห็นสอดคล้องและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานในการออกแบบที่อาศัยเทคโนโลยี Online และปฏิบัติได้พร้อมเพรียงในเวลาเดียวกัน

.

Supplier อาจต้องลงทุนบางส่วน ซึ่ง GM ได้ให้ Supplier ได้เข้าร่วมในการทดลองการออกแบบ โดยผ่านระบบต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ซึ่งทำให้ GM ได้ทราบปัญหาของกระบวนการเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก และได้ช่วยสร้างความเข้าใจในกระบวนการพัฒนารถยนต์ใหม่ที่กำหนดขึ้น และทำให้ได้ทราบถึงการปฏิบัติงานในความเป็นจริง สำหรับการเชื่อมต่อและปฏิบัติงานโต้ตอบภายในระบบ Real time ในการออกแบบรถยนต์ ซึ่งในหลายกรณีจะทำให้ Supplier ต้องฝึกอบรมบุคลากรของตนให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเหล่านี้ และ GM ก็ได้ให้การสนับสนุนโดยการจัดเตรียมการฝึกอบรมให้ Supplier โดยการจัดทีมฝึกอบรมให้ไปทำการอบรมแก่ Supplier ตลอดจนการฝึกอบรมผ่านเว็บไซต์ หรือจัดทำ CD การฝึกอบรม เพื่อให้ Supplier ได้ใช้เช่นกัน

.

ด้วยความพยายามเหล่านี้ GM สามารถก้าวหน้าในการประสานรวม Supplier ต่าง ๆ เข้าสู่ระบบเหล่านี้ ซึ่งในปี 1998 มี Supplier 35 รายที่สามารถเข้าร่วมกระบวนการออกแบบที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในช่วงสิ้นปี 2002 GM ได้รวบรวม Supplier ได้ 1,000 รายในทวีปอเมริกาเหนือ และ 1,000 รายในทวีปยุโรป ภายในช่วงระยะเวลา 4 ปี GM ก็สามารถสร้างความก้าวหน้าในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับโลก ที่ถูกรวบรวมประสานโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างมาก

.

สิ่งที่มิใช่เป็นเพียงการออกแบบผลิตภัณฑ์

สำหรับ GM แล้ว กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบรถยนต์เท่านั้น มันมีความหมายที่ครอบคลุมถึงการออกแบบกระบวนการผลิตรถยนต์ด้วยเช่นกัน GM จึงได้ให้คำนิยามของการพัฒนารถยนต์ว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เพียงแต่เป็นการออกแบบ สรรสร้างรูปแบบ และวิศวกรรมของยานยนต์เท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมถึงวิศวกรรมการผลิต วิศวกรรมด้านแม่พิมพ์ การออกแบบผังโรงงานและองค์ประกอบ และการกำหนดการผลิตด้วยเช่นกัน เมื่อ GM จะเริ่มต้นกระบวนการผลิตภัณฑ์ กิจกรรมในส่วนต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ก็จะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกัน จนกระทั่งการออกแบบเสร็จสิ้นลง การปฏิบัติเช่นนี้ มักจะส่งผลให้เกิดการแก้ไขงาน หรือต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ เมื่อดำเนินการพัฒนารถยนต์ไปสู่ลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การออกแบบรถยนต์ที่กำหนดขึ้นนั้น อาจสร้างปัญหาต่อการผลิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานในลำดับขั้นตอนถัดไปในกระบวนการพัฒนารถยนต์ ซึ่งเป้าหมายหลักสำคัญสิ่งหนึ่งในการริเริ่มนำระบบดิจิตอลมาใช้ใน GM ก็คือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติงานในเวลาเดียวกัน สำหรับงานในแต่ละส่วนที่กล่าวมา เนื่องจากระบบข้อมูลสารสนเทศที่นำมาใช้ จะครอบคลุมการปฏิบัติงานตั้งแต่การออกแบบ วิศวกรรม ตลอดจนการออกแบบเครื่องมือผลิต วิศวกรรมการผลิต และการทำการผลิต

.

ในปี 2001 GM ได้ขยายขอบเขตการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ครอบคลุมไปยัง Supplier ระดับต่าง ๆ ของระบบการพัฒนารถยนต์ของตน ตัวอย่างเช่น เมื่อ Supplier รายหนึ่งที่รับผิดชอบการออกแบบเครื่องมือสำหรับ GM จะสามารถคัดลอกไฟล์ข้อมูลการออกแบบได้ทันที หลังจากที่การพัฒนารถยนต์ได้เสร็จสิ้นในขั้นตอนการออกแบบแล้ว เพื่อที่จะเริ่มต้นการออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือและการจัดวางรูปแบบต่าง ๆ ได้ทันทีในช่วงเริ่มต้นของขั้นตอนดังกล่าว และการที่ Supplier ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น จะทำให้สามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการผลิตได้ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

.

เทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศที่นำมาปรับให้เป็นรูปแบบ e-Factory ในด้านนี้ ทำให้ Supplier สามารถร่วมกันออกแบบกระบวนการผลิตในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมเรื่องการออกแบบสถานที่ทำงานการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ ระบบวิศวกรรมการผลิต และเครื่องมือในกระบวนการผลิต โดยผ่านเครือข่ายการปฏิบัติงานด้านการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้าที่ GM จะปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ จะต้องอาศัยแรงงานและเวลาในการออกแบบเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ e-Factory ยังช่วยประสานรวมการออกแบบรถยนต์เข้ากับการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยทำให้มั่นใจได้ว่า การออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ในแต่ละส่วน จะมีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน การประสานรวมนี้ ทำให้ GM และ Supplier สามารถพิจารณาร่วมกันในสิ่งต่าง ๆ เช่น ปัญหาทางการผลิตที่อาจเกิดขึ้น และต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรกของกระบวนการออกแบบรถยนต์ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ GM ได้พยายามขยายจำนวน Supplier ที่จะเข้าร่วมในเครือข่ายการออกแบบนี้ต่อไป

.

ประโยชน์ที่สำคัญประการหนึ่งจากการปฏิบัติงานการออกแบบตามแนวทางนี้ คือ GM สามารถใช้ทรัพยากรและการออกแบบร่วมกันระหว่างโรงงานของบริษัทและ Supplier ที่ตนสามารถเชื่อถือไว้วางใจได้เช่นกัน สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยเร่งรัดกระบวนการออกแบบการผลิตต่อไปเช่นกัน โดยที่ในปัจจุบัน GM และบรรดา Supplier สามารถนำการออกแบบที่เคยมีอยู่กลับมาใช้ใหม่ และกำหนดมาตฐานการออกแบบต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นออกแบบสิ่งต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมดในแต่ละครั้ง ทำให้รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่เริ่มทำการผลิตในโรงงานของ GM และ Supplier สามารถปฏิบัติงานได้ราบรื่นมากกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว การใช้งานในสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงงาน และกระบวนการผลิตยังมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งในส่วน GM และ Supplier มากขึ้น อันนำไปสู่ความสม่ำเสมอของคุณภาพผลิตภัณฑ์และช่วยลดสัดส่วนข้อบกพร่องทางการผลิตในระบบเช่นกัน

.

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับเปลี่ยน

ผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้นี้ คือ GM และบรรดา Supplier สามารถสื่อสารกันได้ในแนวทางเดียวกัน นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นกระบวนการออกแบบ จนกระทั่งสำเร็จกระบวนการ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่กำหนดใช้ร่วมกันกับบรรดา Supplier เหล่านี้ ทำให้เป้าหมายการทำงานของบรรดา Supplier และกระบวนการออกแบบ เกิดผลสอดคล้องต่อเป้าหมายของ GM ได้ดีมากขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า GM และ Supplier ต่างก็ได้ร่วมกันใช้ความสามารถต่าง ๆ ร่วมกันออกแบบ กำหนดเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างการประสานงานระหว่าง GM และ Supplier ในกลุ่ม Tier-One ของตน

.

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการจัดเตรียมชิ้นส่วนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น มันยังช่วยสร้างความสามารถในการติดตามการปฏิบัติงาน และความก้าวหน้าของงานต่าง ๆ ในโครงการออกแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งวิศวกรของ GM ได้อาศัยโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนในด้านนี้ และการร่วมมือกับ Supplier ในการติดตามและตรวจสอบการออกแบบของ Supplier ได้อย่างรวดเร็ว

.

ในปัจจุบัน GM ยังได้พยายามปรับปรุงการประสานรวมการปฏิบัติงานกับ Supplier ให้พัฒนามากขึ้นไปอีก ซึ่งจะมีการพัฒนาโปรแกรมช่วยสนับสนุนที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น และจะใช้สนับสนุนการประสานงานกับ Supplier ในกลุ่ม Tier-One เพื่อให้กระบวนการออกแบบและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งการนำเสนอทางเลือกสำหรับการออกแบบได้รวดเร็วมากขึ้น

.

ความพยายามในทุก ๆ ส่วนที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้ GM สามารถลดรอบระยะเวลาในการพัฒนารถยนต์รุ่มใหม่ได้อย่างมากมาย ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 ซึ่งสามารถลดรอบระยะเวลาลงได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอถึงเกือบ 70% จาก 48 เดือนในปี 1996 ลงมาเหลือเพียง 24 เดือน ในปี 2000 และ 18 เดือนในปี 2002 การมีส่วนร่วมของ Supplier นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการลดรอบระยะเวลาของกระบวนการพัฒนารถยนต์ให้ต่ำกว่า 24 เดือน และจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อเป้าหมายความพยายามลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 18 เดือนต่อไปในอนาคต

.

เทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ได้ทำให้ GM สามารถลดรอบระยะเวลาได้ในหลายแนวทาง ดังเช่น การประสานงานผ่านระบบ Online ได้ทำให้ลดการเสียเวลาในการเดินทางเพื่อการประชุม ซึ่งสามารถจัดการประชุมผ่านระบบทางไกลได้ทั้งด้านภาพและเสียง และยังช่วยให้ได้ข้อสรุปในการปฏิบัติงานต่อไปได้อีกด้วยเช่นกัน

.

การมีระบบการจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีเอกภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการลดรอบระยะเวลาที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการออกแบบที่เคยมีอยู่ได้ดีมากขึ้น โดยการดึงข้อมูลผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ มาใช้อ้างอิงออกแบบ และทำให้เกิดการทำงานที่ดีมากขึ้นระหว่างวิศวกรของ GM และ Supplier ต่าง ๆ

.

การลดรอบระยะเวลาการพัฒนารถยนต์ ได้ส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการพัฒนารถยนต์ได้อย่างชัดเจน GM สามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ จากกระบวนการออกแบบพัฒนาที่เร็วขึ้นนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั่วโลกลงได้มากกว่า 35% นอกจากนี้แล้ว นับตั้งแต่การเริ่มพัฒนากระบวนการดังกล่าวมา GM สามารถเพิ่มจำนวนแผนงานการพัฒนายานยนต์ทั่วโลกได้ จาก 16 แผนงานไปสู่ 30 แผนงาน และยังสามารถเพิ่มผลิตภาพทางวิศวกรรมได้มากกว่า 10% ต่อปี

.

GM ยังสามารถพัฒนาด้านคุณภาพของรถยนต์ได้เช่นกัน โดยที่นับจากการเริ่มปรับปรุงกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ GM ได้รับตำแหน่งที่ 3 จาก J.D. Power and Associates Initial Quality Study ซึ่งได้เป็นผลจากที่ GM ได้เพิ่มสัดส่วนการใช้ข้อมูลการดำเนินงานร่วมกัน อันส่งผลให้สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขงานและลดการปรับเปลี่ยนทางด้านวิศวกรรมลงได้ ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการนี้ ได้ช่วยทำให้มองเห็นถึงความสูญเปล่าที่เกิดขึ้น และขจัดออกไปจากรระบบ

.

คุณภาพของผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นสิ่งที่ GM มุ่งความสนใจต่อไป ซึ่งระยะเวลากระบวนการออกแบบที่รวดเร็วมากขึ้นนี้ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ปราศจากความผิดพลาดในการออกแบบ และเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันในการออกแบบรถยนต์ต้องมิให้เกิดข้อผิดพลาดตั้งแต่ในขั้นแรกของกระบวนการ และเพื่อให้การลดรอบระยะเวลาต่ำลง แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงรักษาระดับคุณภาพของรถยนต์ไว้ได้นั้น GM จำเป็นต้องให้ Supplier เข้ามามีส่วนร่วมในหลาย ๆ ส่วนงาน ตั้งแต่การทดสอบการออกแบบก่อนสร้างรถยนต์ต้นแบบจริง การสร้างรถยนต์ต้นแบบ และการผลิตของ GM ด้วยเช่นกัน

.

.

ก้าวต่อไปของการพัฒนาในอนาคต

การปรับปรุงกระบวนการได้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำสำเร็จตามแผนงานแล้ว 30-40% ในช่วง 23 ปีข้างหน้า GM ยังคงมุ่งลงทุนอย่างต่อเนื่องกับการพัฒนาการทำงานร่วมกับ Supplier เพื่อพยายามหาวิธีการปฏิบัติงานที่สะดวกมากขึ้นในการประสานงานร่วมกัน

.

นับจากปี 2003 ถึงปี 2004 GM ได้ขยายขอบเขตความพยายามปรับปรุงกระบวนการไปสู่พันธมิตรธุรกิจในเอเซียแปซิฟิก และ ละตินอเมริกา ในขณะเดียวกัน GM ก็ได้พยายามขยายขอบข่ายการประสานงานร่วมกับ Supplier ในกลุ่มระดับรองลงไปจากกลุ่มระดับที่ 1 (Tier-One) ของตน เพื่อที่จะให้ Supplier เหล่านี้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

.

นอกจากนี้แล้ว GM ยังคงมุ่งมั่นสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศและโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานที่มีความสามารถในการใช้ข้อมูลร่วมกัน สำหรับ Supplier ต่าง ๆ ที่จัดหาชิ้นส่วนให้ตน เช่น Computer-Aided Engineering (CAE) โดยพยายามพัฒนาโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้น และเหมาะสมกับการใช้งานสำหรับ Supplier รายเล็กที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถประสานความร่วมมือกับ GM ในการออกแบบในลักษณะโต้ตอบกันได้ดีมากขึ้น ซึ่งการลงทุนการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบรรดา Supplier รายเล็กเหล่านี้ได้ในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญก็คือ เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลการออกแบบต่าง ๆ นี้ร่วมกันตลอดทั่วทั้ง Supply Chain โดยที่จะสามารถบรรลุถึงต้นทุนเป้าหมายที่ต้องการได้

.

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในช่วงเวลาเริ่มต้นการปรับปรุงนี้ GM ได้เล็งเห็นหนทางที่จะสามารถลดรอบระยะเวลาและช่วงเวลาที่ต้องการล่วงหน้า สำหรับการพัฒนารถยนต์ของตนได้ เพื่อที่จะสามารถดำรงความสามารถทางการแข่งขันของตนในกลุ่มผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ไว้ได้ และเมื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้ได้คืบหน้าไป GM มีความมั่นใจว่า จะสามารถผลักดันตนเองให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ ในด้านนวัตกรรมการพัฒนาการออกแบบและการกำหนดรูปแบบของยานยนต์ กุญแจสำคัญในขั้นต่อไปของการพัฒนาที่ GM ได้วางไว้คือ การประสานงานร่วมกันกับ Supplier อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดกระบวนการออกแบบที่ประสานองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และครอบคลุมการประสานงานร่วมกันตลอดทั่วทั้ง Supply Chain ของตน ให้ดีมากขึ้นต่อไปในอนาคต

.

แปลและเรียบเรียงจาก 

Kirk Gutmann, How GM is accelerating vehicle development ?, Supply Chain Management Review, May/June 2003.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด