เนื้อหาวันที่ : 2011-01-20 17:57:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5460 views

Proactive Environmental Strategy กรณีศึกษาจาก Hewlett Packard (ตอนที่ 1)

โลกการค้ายุคศตวรรษที่ 21 การดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรับ เน้นการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
Sirirat2@yahoo.com

สำหรับโลกการค้ายุคศตวรรษที่ 21 การดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรับ (Reactive Environmental Strategy) ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ได้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้มีอิทธิพลต่อธุรกิจการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดหรือผู้บริโภคยุคใหม่มีความอ่อนไหวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยินดีที่จะอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้จะจ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้น ในส่วนของผู้เกี่ยวพันผลประโยชน์ (Stakeholders) อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมลงทุน ลูกจ้าง ชุมชน และกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็หันมาให้สำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน การยอมรับนับถือ รวมทั้งมอบความเชื่อมั่นให้กับบริษัท ห้างร้านที่ดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจ พร้อมกับแสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น องค์กรธุรกิจยุคใหม่จึงเริ่มหันไปปรับกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมของตนให้เป็นแบบเชิงรุกมากขึ้น (Proactive Environmental Strategy) โดยมุ่งเน้นการริเริ่มการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ โดยไม่รีรอให้มีกฎหมายบังคับ หรือไม่ต้องรอให้มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยมีการปฏิบัติตามทีหลัง ซึ่งนักบริหารยุคใหม่เองก็เชื่อว่า การดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุก จะช่วยหนุนให้ธุรกิจของตนสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสภาวะที่โลกกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นทุกวันนี้

แต่สำหรับองค์กรที่คุ้นเคยกับการดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรับมาโดยตลอด ครั้นจะปรับไปใช้กลยุทธ์แบบเชิงรุกบ้าง มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะยังมีอุปสรรคและความท้าทายหลายอย่างที่จะต้องคำนึงถึง เช่น วัฒนธรรมดั้งเดิมขององค์กรเอื้อต่อการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกหรือไม่ โครงสร้างการบริหารองค์กรเหมาะสมเพียงไร ผู้บริหารระดับสูงมีความเห็นชอบและมีความมุ่งมั่นเพียงพอหรือไม่

กลยุทธ์สิ่งแวดล้อมที่ ประดิษฐ์ ขึ้นมาใหม่มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์หลัก (Corporate Strategy) และความชำนาญหลัก (Core Competency) ขององค์กรมากน้อยเพียงใด เหล่านี้คือความท้าทายที่ผู้บริหารขององค์กรและนักบริหารสิ่งแวดล้อมร่วมกันพิจารณา แน่นอนว่า ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัวต่อโจทย์ปัญหาเหล่านั้น ไม่ได้มีกฎสากลที่กะเกณฑ์ว่าการดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุกนั้น จะต้องเริ่มที่จุดไหนและต้องไปจบที่จุดไหน

ความจริงก็คือ กลยุทธ์สิ่งแวดล้อมของแต่ละองค์กรล้วนเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ ความชำนาญ และบริบทของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์กรที่ไม่คุ้นเคยกับการดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุกมาก่อน การเรียนรู้จากกรณีศึกษา (Case Study) ก็อาจมีความจำเป็น เพื่อจะ จุดประกายความคิด และช่วยให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมของตนให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น บทความตอนนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอ กรณีศึกษา แนวทางในการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุกของบริษัทชั้นนำรายหนึ่งของโลก นั้นคือ Hewlett-Packard หรือ HP ที่เราคุ้นชื่อกันดี มาลองวิเคราะห์กันดูว่า ผู้นำในอุตสาหกรรม Hi-Tech เขามีวิธีขับเคลื่อนกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมได้แยบยลเพียงไร

รากฐานการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ HP
ถ้าพิจารณาย้อนกลับไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา วิวัฒนาการของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ HP สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ โดยช่วงทศวรรษที่ 1980 ถือเป็นระยะแรกเริ่ม ซึ่งประเด็นสนใจหลัก ๆ จะมุ่งไปที่การจัดการและควบคุมมลภาวะที่เกิดจากกระบวนการผลิตเป็นสำคัญ

และในระยะแรกนี้ HP ก็ได้สร้างความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมมลภาวะตามที่กฎหมายกำหนด โดยการนำหลักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาปรับใช้ร่วมกับการปรับปรุงสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สามารถลดการเกิดมลพิษลงได้มาก และยังสามารถจำกัดการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

จากนั้นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ HP ก็ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ในทศวรรษที่ 1990  ซึ่งตรงกับช่วงที่ทางการสหรัฐ ฯ มีการส่งเสริมแนวคิดเรื่อง ผู้พิทักษ์ผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) ให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากตัวผลิตภัณฑ์

แนวคิดนี้มุ่งให้ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบในการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยพยายามเพิ่มข้อได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผลิตภัณฑ์เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การทำให้ก่อมลภาวะน้อยลง การทำให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น หรือการทำให้เกิดการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง HP ก็ได้มีการจัดตั้งส่วนงาน “Product Stewardship” ขึ้นมารองรับงานด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมอบหมายให้รับผิดชอบการพัฒนา “ระบบสังเกตการณ์” ความเคลื่อนไหวของกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ๆ อย่างทันท่วงที

พร้อมกันนั้นก็รับผิดชอบการวางระบบในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการวางโปรแกรมการเก็บกู้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อป้อนกลับสู่กระบวนการผลิตใหม่และการรีใซเคิลอีกด้วย กระทั่งล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมตามวิถีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้กลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับวิสาหกิจทุกประเภท ซึ่ง HP ก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้และได้ลงมือดำเนินการจนเห็นผลสำเร็จต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละช่วง HP ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นระยะ โดยในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1990 งานด้านสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย (Environmental Health and Safety: EHS) ซึ่งมีหน้าที่ริเริ่มกิจกรรมและกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันมลภาวะ การตีความกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง

รวมถึงการติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และพอถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 ก็มีการจัดตั้งส่วนงาน Product Stewardship ขึ้น เป็นส่วนงานย่อยของ EHS เดิม เพื่อให้ดูแลงานด้าน Product Stewardship โดยเฉพาะ ทีมงาน Product Stewardship ทำงานเป็นเครือข่าย ประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า Product Steward ซึ่งมีมากว่า 70 คน แต่คนละคนจะดูแลหนึ่งสายผลิตภัณฑ์

พอถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เมื่อประชาคมโลกเริ่มมีการหารือกันในประเด็นของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เจ้าหน้าที่ของ EHS รวมทั้ง Product Stewardship ได้ร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการกับ HP Labs (เป็นส่วนงานด้านเทคนิคของ HP) ในการสำรวจแนวคิดและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำแนวคิดเหล่านั้นมาผนวกเข้ากับวิถีธุรกิจของ HP และในปี ค.ศ. 1998 ทีมงานทั้งสามก็ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” ขึ้น โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอก ลูกค้า และตัวแทนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมอภิปรายในครั้งนั้นด้วย

จุดมุ่งหมายคือการระดมความคิดเพื่อหาคำตอบว่า ความยั่งยืนมีส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจของ HP ในอนาคตอย่างไร ? ซึ่งถัดจากการสัมมนาครั้งนั้น ก็มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันในหมู่พนักงานของ HP ทั้งระหว่างสาขาของ HP ในภูมิภาคต่าง ๆ ระหว่างสายงานหรือสายผลิตภัณฑ์ และระหว่างระดับบริหารจนถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งโดยการนำเสนอในที่ประชุม การพูดคุยทางโทรศัพท์ และการติดต่อผ่านกลุ่มอีเมล์

การสนทนาหารือกันนี้ใช้เวลาร่วม 2 ปี จนความรู้ต่าง ๆ ถูกสั่งสมจนตกผลึกและสุกงอม ที่สุดก็มีการริเริ่มโครงการสำคัญขึ้นมา 2 โครงการที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ “The Would E-Inclusion” และ “Environmental Strategy Solution” โดยความริเริ่มอย่างแรกมุ่งเป้าหมายในเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืนด้านสังคม (Social Sustainability) ส่วนอย่างหลังมุ่งการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)

นิยาม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ของ HP
ในส่วนของโครงการ Environmental Strategy Solution หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ESS นั้น HP เริ่มต้นดำเนินการโดยการปรับโฉมส่วนงาน Product Stewardship เสียใหม่โดยอิงแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นพื้นฐาน จากนั้นทีมงาน Product Stewardship โฉมใหม่ก็เริ่มงานสำคัญชิ้นแรก คือการหาคำอธิบายที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของ HP เพื่อหาความกระจ่างว่า ความยั่งยืนมีอิทธิพลต่อแบบแผนการดำเนินธุรกิจอย่างไร ? และความยั่งยืนมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจของ HP อย่างไร ? และเพื่อหาคำอธิบายที่ชัดเจนให้กับคำถามนี้ HP ได้ว่าจ้างนักวิชาการภายนอกให้มาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การสร้างกลยุทธ์ใหม่ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนอย่างถูกต้องตามบริบทธุรกิจของ HP

งานวิจัยดังกล่าวดำเนินไปโดยการทบทวนงานวิจัยทางวิชาการหลาย ๆ ฉบับที่เคยมีรายงานมาก่อน ควบคู่กับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ การหารือกับที่ปรึกษาอิสระและตัวแทนจากกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จนได้ข้อสรุปที่หนักแน่นว่า ความยั่งยืน เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างขีดความสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจในโลกปัจจุบัน

จากนั้นก็มีการวางบทนิยามของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่า “โลกเป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งความต้องการของสังคมยุคใหม่กำลังประชิดขีดจำกัดนั้นแล้ว ขีดจำกัดด้านทรัพยากรนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ HP อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องนี้จะเป็นการพลิกวิกฤติไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ”

เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน HP ได้สร้างภาวะที่เรียกว่า “การก้าวกระโดดทางความคิด” เริ่มต้นโดยการนำคำว่า “Product Stewardship” ที่ HP คุ้นหูมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 กลับมานิยามใหม่ พร้อมกับการกำหนดวิถีธุรกิจขึ้นมาใหม่บนพื้นฐานของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

ในการณ์นี้ HP ได้นำหลักการของความยั่งยืนไปกำหนดเป็น กรณีธุรกิจ (Business Cases) ที่ชี้บ่งโอกาสทางธุรกิจว่า วิถีธุรกิจใหม่บนหลักแห่งความยั่งยืนมีความจำเป็นต่อโอกาสทางการตลาด และรักษาตำแหน่งการแข่งขันทางธุรกิจของ HP อย่างไร ซึ่งกรณีธุรกิจดังกล่าวประกอบด้วย 7 กรณี ได้แก่

1. การบรรลุถึงความคาดหวังของลูกค้าและตลาด (Meeting Customer and Market Expectation)
2. การปรับปรุงวิธีการเข้าสู่ตลาด (Improving Market Access)
3. การเพิ่มโอกาสในการประหยัดต้นทุน (Increasing Cost Saving)
4. การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาด (Creating Market Opportunity)
5. การเพิ่มพูนภาพลักษณ์ของตราผลิตภัณฑ์ (Enhancing Brand Image)
6. การยกระดับความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Leveraging Competitive Advantage)
7. การเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น (Increasing Shareholder Value)

ทีมงานหัวหอก
เมื่อกรณีธุรกิจถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว งานสำคัญถัดไปคือการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิถีธุรกิจใหม่รวมทั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม) ให้บุคลากรทั่วทั้งบริษัทได้รับรู้และเข้าใจ แต่เนื่องจาก HP เป็นองค์กรใหญ่การกระจายแนวคิดและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เป็นที่รับทราบและเข้าใจตรงกันทั่วทั้งองค์กรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย HP จึงต้องการบุคคลชั้น หัวกะทิ (Champions) ที่มีความเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องความยั่งยืนและวิถีธุรกิจใหม่ของ HP ให้เป็นผู้นำสารไปเผยแพร่ให้กับบุคลากรตามสายงานและสาขาที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้รับทราบทั่วกัน

โดย HP ได้ใช้เครือข่าย Product Steward ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นประโยชน์ และมีการจัดตั้ง สภาผู้นำ (Leadership Council) ซึ่งประกอบด้วย Product Steward ของแต่ละสายผลิตภัณฑ์และตัวแทนจากสายงานและจากสาขาต่าง ๆ โดยสภาผู้นำนี้จะเป็นเวทีประชุม หารือ และอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ด้านการบริหารความยั่งยืนโดยเฉพาะ

สมาชิกแห่งสภาผู้นำจะรับรู้แนวคิด หลักการ และวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของ HP จากการประชุมหารือ การนำเสนอ และการอภิปรายที่จัดขึ้นเป็นประจำ รวมถึงการหารือเป็นการส่วนตัวทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ระหว่างสมาชิก จากนั้น สมาชิกของสภาผู้นำแต่ละคนก็จะทำหน้าที่นำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เหล่านั้น ไปเผยแพร่ให้กับสายงานของตนได้รับทราบต่อไป
    
การกำหนดกลยุทธ์ใหม่
หลังจากการประชุมหารือกันหลายครั้ง ต่อมาสภาผู้นำก็ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่างแผนกลยุทธ์ ซึ่งระบุถึง พันธกิจ เป้าหมาย และแนวคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับ HP ในอนาคต ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนั้นนำไปสู่การสรุปพันธกิจใหม่ที่มีใจความว่า “To invent and deliver environmentally sustainable solution for the common good” และส่วนงาน Product Stewardship ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Environmental Strategies and Solutions หรือส่วนงาน ESS เพื่อให้สอดคล้องกับ พันธกิจใหม่และเพื่อสะท้อนถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่จะปรับให้เป็นเชิงรุกมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้นสภาผู้นำยังมีมติเห็นชอบกับเป้าหมายสุดยอด 2 ข้อ ได้แก่ 
1) การปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่ HP ผลิตและดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (to improve HP’s environmental performance in today products and processes) ซึ่งเป้าหมายนี้เป็นการต่อยอดภารกิจของ Product Stewardship เดิม คือการมุ่งปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอิงหลักการด้านความยั่งยืนมากขึ้น คือ เน้นการลดมลภาวะตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการใช้วัสดุและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) การประดิษฐ์ธุรกิจที่ยั่งยืนกว่าสำหรับวันพรุ่งนี้ (to invent tomorrow sustainable business) ซึ่งเป้าหมายนี้มุ่งเน้น การปรับโฉมธุรกิจให้สอดคล้องกับวิถีแห่งความยั่งยืน โดยพยายามปรับตำแหน่งธุรกิจของตนจากการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย สู่การเป็นผู้จำหน่ายบริการจากตัวผลิตภัณฑ์

ซึ่งตามวิสัยทัศน์นี้ HP มองว่าในอนาคตลูกค้าของ HP จะไม่ได้ซื้อตัวผลิตภัณฑ์ไปใช้แล้วทิ้งไปเมื่อหมดอายุใช้งาน แต่จะชื้อบริการจากตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ซื้อความสามารถในการพิมพ์ โดยมีพรินเตอร์เป็นตัวกลางในการส่งมอบบริการไปสู่ลูกค้า พอหมดอายุการใช้งาน พรินเตอร์ก็จะถูกส่งคืนแก่ HP เพื่อการอัพเกรด การประกอบใหม่ หรือการรีไซเคิล ซึ่งเป็นแนวทางที่ HP มองว่าเป็นวิถีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าวิถีธุรกิจแบบเดิม

เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายสุดยอดข้างต้นจะพบว่า HP สามารถบรรลุถึงเป้าหมายทั้ง 2 ประการนี้ได้ในสองแนวทางที่แตกต่างกันคือ การปรับปรุงแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Improvement) สำหรับเป้าหมายแรก และการปรับปรุงแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Improvement) ที่ต้องอาศัยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และการนำแนวคิดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับความยั้งยืนมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้าหมายที่ 2 ซึ่งทีมงาน ESS ก็ได้มีการวิจัยตลาดเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังมีการนำแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ตามลำความสำคัญและความต้องการของตลาด เริ่มจาก แนวคิดเรื่อง การออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์ (End–of–Life Product Solution) ประสิทธิภาพด้านพลังงาน (Energy Efficiency) และ การลดการใช้วัสดุ (Dematerialization) ตามลำดับ และยังมีการจัดตั้งทีมงานเพื่อรับผิดชอบกับแนวคิดริเริ่มแต่ละแนวคิดโดยเฉพาะ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด

และทั้งหมดนั้นก็คือ กรณีศึกษาเกี่ยวกับ ความพยายามในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ HP รวมทั้งกลวิธีในการปรับกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมแบบเชิงรับที่เน้นการฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไปสู่กลยุทธ์แบบเชิงรุก หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องก็คือ กลยุทธ์แบบยั่งยืน ซึ่งองค์กรจะต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม เป็นตัวตั้งตัวตีในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำเป็นต้องรอการบังคับใช้ของกฎหมาย

ซึ่ง HP ก็สามารถดำเนินการได้อย่างแยบยลสมกับเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี แต่กรณีศึกษาจาก HP ยังไม่จบแค่นี้ ในฉบับหน้ายังมีแง่มุมพิจารณาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมของ HP โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายสุดยอดที่วางไว้ โปรดติดตามต่อในฉบับหน้าค่ะ

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด