เนื้อหาวันที่ : 2011-01-19 16:25:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4268 views

จากมาตรฐาน ISO9001 สู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบันองค์กรโดยส่วนใหญ่ ต่างก็ทำการพัฒนาระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO9001:2000 จนได้รับการรับรองกันเป็นจำนวนมาก ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ทั้งภาคธุรกิจและภาคราชการ รวมถึงทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

ในปัจจุบันองค์กรโดยส่วนใหญ่ ต่างก็ทำการพัฒนาระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO9001:2000 จนได้รับการรับรองกันเป็นจำนวนมาก ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ทั้งภาคธุรกิจและภาคราชการ รวมถึงทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ

คำถามคือเมื่อได้รับการรับรองแล้ว องค์กรจะเดินไปในทิศทางใดต่อ การได้รับการรับรองสามารถสร้างความมั่นใจได้ถึงความอยู่รอด หรือการเติบโตที่ชัดเจน โดดเด่นขององค์กรหรือไม่ หลาย ๆ องค์กรถึงแม้จะได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างที่ตั้งใจไว้ หรือไม่สามารถแข่งขันได้ จนต้องเลิกกิจการกันไปก็หลายองค์กร ส่งผลให้บางครั้ง ทำให้เข้าใจผิดไปว่ามาตรฐาน ISO9001 ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว องค์กรจำนวนมากสามารถนำมาตรฐาน ISO9001 มาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้น สร้างความมั่นใจและความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001 ถือเป็นข้อกำหนดในระดับพื้นฐานสำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพในการทำงานเท่านั้น เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งองค์กรขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ องค์กรธุรกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ดังนั้นข้อกำหนดต่าง ๆ จึงเน้นถึงในสิ่งที่จำเป็น และใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดสำหรับการพัฒนาระบบคุณภาพขององค์กรต่อไป

ดังนั้นองค์กรที่ได้รับการรับรองแล้ว หากปฏิบัติเพียงแค่ตามข้อกำหนดมาตรฐาน ISO9001 ก็จะสามารถพัฒนาองค์กรได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาจจะเพียงพอสำหรับในช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจจะเพียงพอสำหรับในธุรกิจบางประเภท ในขณะที่ธุรกิจบางประเภท จะกำหนดว่ามาตรฐาน ISO9001 ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดมาตรฐานใหม่ ๆ เฉพาะอุตสาหกรรมตามมา โดยจะมีรายละเอียดที่มากกว่ามาตรฐาน ISO9001 เช่น มาตรฐาน ISO/TS 16949 สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ มาตรฐาน ISO/TS 29001 สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือมาตรฐาน AS9100 สำหรับอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น ซึ่งทิศทางในการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพขององค์กรภายหลังการได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001จะมุ่งเน้นที่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร

ความยั่งยืน (Sustainability) ขององค์กร จะหมายถึงความสามารถขององค์กร ในการรักษาและพัฒนาผลการปฏิบัติงานไว้ได้ในระยะยาว โดยเป็นผลมาจากความพึงพอใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้ที่มีส่วนได้เสียกับองค์กร ซึ่งจะหมายถึงทั้งองค์กร บุคคลหรือสถาบันต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหน้าที่งาน และสร้างให้เกิดคุณค่ากับองค์กร

ขั้นตอนการบริหารเพื่อความเป็นเลิศขององค์กร
ในการพัฒนาองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวองค์กรเองในการติดตามสิ่งแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาส การเปลี่ยนแปลง แนวโน้ม และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน องค์กรเองจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ การจัดการต่อความเปลี่ยนแปลง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับองค์กรอย่างต่อเนื่องด้วย

องค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากต่อการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร ประกอบด้วย
* การกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ที่ชัดเจน
* การพัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดขึ้น
* การจัดทำระบบสนับสนุนต่อแผนกลยุทธ์ให้เป็นจริง

ทั้งนี้ขั้นตอนสำหรับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จะประกอบด้วย
1. การวางแผน (Plan)
ในขั้นตอนของการวางแผน จะประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน การจัดกระบวนการ โครงสร้างองค์กร และการบริหารทรัพยากร โดยการแสดงถึงความมุ่งมั่น จะสะท้อนผ่านการกำหนดกลยุทธ์ ที่พัฒนาขึ้นจากความต้องการขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร รวมถึงมีการกำหนดกระบวนการ และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนกับเป้าหมายต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงมีการวางแผน และจัดให้มีทรัพยากรพร้อมใช้สำหรับการปฏิบัติงาน

2. การปฏิบัติ (Do)
ในการลงมือปฏิบัติ จะต้องมีการดูแลให้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ โดยกระบวนการต่าง ๆ จะต้องมีการเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการอื่น ๆ ในองค์กรด้วย

3. การตรวจสอบ (Check)
ขั้นตอนของการตรวจสอบ จะประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
* การวัด ซึ่งจะเป็นการติดตามผลของการทำงานที่เกิดขึ้น ซึ่งการวัดนี้จะช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานต่อไป
* การตรวจสอบ โดยเป็นการประเมินถึงกระบวนการและโครงสร้างที่กำหนดขึ้น ได้ถูกนำไปปฏิบัติหรือมีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงทรัพยากรได้ถูกจัดสรรและจัดเตรียมไว้ตามแผน
* การวิเคราะห์ จะเป็นการดำเนินการเพื่อพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และอะไรคือองค์ประกอบที่สำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงอะไรที่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง
* การเรียนรู้ จะเป็นการกำหนดว่าการเรียนรู้ประเภทใดที่องค์กรจำเป็นจะต้องมี

4. การดำเนินการ (Act)
เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการดำเนินการจากผลการวัด และการตรวจสอบที่เกิดขึ้น โดยขั้นตอนจะประกอบด้วย 
* การแก้ไข เป็นการพิจารณาว่าจะต้องทำการแก้ไขในประเด็นใด เพื่อให้แน่ใจได้ว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรจะประสบความสำเร็จ
* การปรับปรุง เป็นการพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับปรุงอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ โครงสร้างและระบบขององค์กร
* การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

สภาพแวดล้อมขององค์กร
องค์กรทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก หรือจะมีเป้าหมายในการสร้างผลกำไรหรือไม่แสวงหากำไร ล้วนแต่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมจากภายนอกองค์กร ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องมีการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่องค์กรปฏิบัติงานอยู่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กร รวมถึงรักษาและปรับปรุงผลการปฏิบัติงานขององค์กร

การติดตามสภาพแวดล้อมขององค์กร จะประกอบด้วยการรวบรวม และการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อ
* กำหนดและทำความเข้าใจในสภาพปัจจุบันและอนาคต ของความคาดหวังและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า หุ้นส่วนและสังคม
* การรับรู้ถึงภาวะอันตรายและโอกาสของทางเลือก รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้
* การประเมินภาวะอันตรายและโอกาสของตลาดที่เกิดขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอโดยองค์กร
* ความเข้าใจในแนวโน้ม ความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า
* การรับรู้ถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
* ความเข้าใจในตลาดแรงงานและผลกระทบที่มีต่อพนักงาน
* ความเข้าใจในแนวโน้มของเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์กร
* การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
* ความเข้าใจในความสามารถและกระบวนการขององค์กรในปัจจุบัน
* การระบุและเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จากภายนอกองค์กร โดยเฉพาะในกระบวนการหลัก ๆ ซึ่งมีความคล้ายกันกับที่มีอยู่ในองค์กร

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากภายนอกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ โดยข้อมูลและสารสนเทศที่รวบรวมขึ้นเพื่อนำมาทำการวิเคราะห์ จะประกอบด้วย
* ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรได้รับการตอบสนองตามแผนหรือไม่
* ความต้องการและความคาดหวังของทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียองค์กรได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างไร
* หน้าที่ใดของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันขององค์กรที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา
* ผลิตภัณฑ์ใดในองค์กรที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียที่เปลี่ยนแปลงไป
* ผลกำไรและสภาพตลาดของผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน ทั้งในระยะกลางและระยะยาวเป็นอย่างไร
* โอกาสทางการตลาด รวมถึงตลาดใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น
* ความเสี่ยงอะไรที่จะเกิดขึ้น
* การเปลี่ยนแปลงทางด้านข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อองค์กร
* สภาพการแข่งขันที่เกิดขึ้นทั้งในระยะกลางและระยะยาว
* ความแตกต่างขององค์กรที่สามารถนำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้กับตลาด

กลยุทธ์ นโยบาย และการสื่อสาร
1. วิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission)
ผู้บริหารขององค์กรจะต้องทำการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจ โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งนี้วิสัยทัศน์จะหมายถึงอะไรที่เราอยากจะเป็น และพันธกิจจะบอกว่าทำไมเราถึงต้องเป็น ซึ่งในการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร จะต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และความสามารถขององค์กรเองด้วย

2. การกำหนดกลยุทธ์
องค์กรจะต้องมีการพิจารณาถึงความสามารถที่จำเป็นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ผ่านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้ในการกำหนดกลยุทธ์จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเติมเต็มช่องว่างระหว่างความสามารถในปัจจุบันขององค์กร กับความความสามารถที่จำเป็นในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นองค์กรจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้องค์กรจะต้องมีการทบทวนกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมองค์กร รวมถึง องค์กรจะต้องทำการพัฒนากลยุทธ์ เพื่อตอบสนองต่อทั้งวิสัยทัศน์และพันธกิจ โดยจะพิจารณาจาก
* สภาพแวดล้อมภายนอกขององค์กร รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น
* ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร
* ความสามารถและทรัพยากร
* บทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต

3.  นโยบายและวัตถุประสงค์
นโยบายและวัตถุประสงค์ จะเป็นการระบุผลที่คาดหมายให้เกิดขึ้นกับองค์กร และช่วยองค์กรในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดผลสำเร็จ ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีการกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานขององค์กร และสร้างความมั่นใจว่าแผนงานได้รับการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และทั่วถึง

นโยบายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นกรอบในการจัดทำและทบทวนวัตถุประสงค์ โดยวัตถุประสงค์จะเป็นการนำนโยบายที่กำหนดขึ้นมาสู่การปฏิบัติ เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อเติมเต็มนโยบายที่กำหนดขึ้น ดังนั้น วัตถุประสงค์จะต้องสอดคล้องกันกับนโยบาย และจะต้องสามารถวัดได้ เพื่อสามารถประเมินได้ถึงผลสำเร็จ ทั้งนี้ความสำเร็จในวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้น จะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ ความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน ผลการทำงานทางด้านการเงิน รวมถึงความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นและความภักดี ที่มีต่อองค์กร

4. การวางแผนกลยุทธ์
ในการจัดทำกรอบการทำงาน เพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร ผู้บริหารจะต้องมั่นใจว่าการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร ได้มีการพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ 
* สภาพแวดล้อมขององค์กร
* โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ
* ตลาดและลูกค้าเป้าหมาย
* ผลิตภัณฑ์
* ความสามารถขององค์กร
* การจัดสรรทรัพยากร และ
* การวิเคราะห์ความเสี่ยง

5. การบริหารความเสี่ยง
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อวัตถุประสงค์คุณภาพขององค์กร จะถูกกำหนดให้เป็นความเสี่ยง (Risk) ที่มีต่อองค์กร แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบในทางบวกต่อวัตถุประสงค์คุณภาพขององค์กร เราจะเรียกว่าโอกาส (Opportunity) เพื่อทำการปรับปรุงและการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ในการระบุความเสี่ยง จะไม่พิจารณาเฉพาะความเสี่ยงที่อยู่ในรูปของตัวเงิน เวลาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ชื่อเสียงขององค์กร การรักษาความปลอดภัย ความไว้วางใจ ความเป็นมืออาชีพ เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยในการพิจารณาความเสี่ยง จะต้องพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ประกอบด้วย

* แนวโน้มของเทคโนโลยี
* ความต้องการของสังคม
* รูปแบบของความสามารถ รวมถึงความสามารถที่จำเป็นสำหรับการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ในอนาคต
* การจัดสรรทรัพยากร

6. การทบทวนกลยุทธ์
องค์กรจะต้องกำหนดให้มีการทบทวนกลยุทธ์ขององค์กร โดยในการทบทวน จะพิจารณาถึง
* ความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความสามารถในการแข่งขันของระบบบริหาร
* การแปลงกลยุทธ์สู่วัตถุประสงค์ที่สามารถวัดได้ รวมถึงแนวทางในการดำเนินการ
* ความเหมาะสมของโครงสร้างและกระบวนการขององค์กรสำหรับกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น และความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้จะต้องมั่นใจได้ว่ากลยุทธ์ยังมีความเหมาะสม และระบบบริหารได้มีการกำหนดวิธีการที่เป็นประโยชน์สำหรับการเรียนรู้จากภายนอก รวมถึงการสร้างกระบวนการเปรียบเทียบและทำความเข้าใจในผลการดำเนินงานขององค์กรเทียบกับคู่แข่ง หรือระดับโลก หรือที่ดีที่สุดในธุรกิจ

7. การสื่อสาร
องค์กรจะต้องมีการกำหนดนโยบาย และกระบวนการในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก สำหรับข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ นโยบาย วัตถุประสงค์ ข้อมูลการปฏิบัติงาน และข้อมูลป้อนกลับที่เกิดขึ้น

การสื่อสารภายใน จะประกอบด้วย 
* การให้ข้อมูลกับบุคลากรในองค์กร
* การรวบรวมมุมมองที่มีต่อองค์กร และผลการปฏิบัติงาน
* การรับรู้และส่งต่อข้อมูลป้อนกลับ รวมถึงแนวความคิดต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม
* ความสอดคล้องตามข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

การสื่อสารภายนอก ประกอบด้วย 
* การให้ข้อมูลกับผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร รวมถึงการรับรู้ข้อมูลป้อนกลับ
* การส่งเสริมให้เกิดอัตลักษณ์ (Identity) ขององค์กร
* การสร้างช่องทางในการติดต่อกับองค์กรอื่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
* การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ของเครือข่าย
* ความดูแลสอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

นอกจากนั้น ยังต้องมีการประเมินและทบทวนถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วย โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความมีประสิทธิผลของการสื่อสาร ได้แก่
* การวางแผนและระยะเวลา
* เป้าหมายของการสื่อสาร เพื่อให้แน่ใจว่าผู้รับจะได้รับข้อมูลตามที่ต้องการ
* การคัดเลือก ความเพียงพอ และความชัดเจนของข้อมูลที่จะทำการสื่อสาร
* ทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อสนับสนุนช่องทางในการสื่อสารและเทคโนโลยีการสื่อสาร
* การยืนยันว่าจากผู้รับข้อมูลได้รับและเข้าใจในข้อมูล
* ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจและความปลอดภัย
* การส่งผ่านของการสื่อสารด้วยภาษาและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด