เนื้อหาวันที่ : 2011-01-10 17:58:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 106232 views

ความรู้พื้นฐานของระบบไฮดรอลิก (ตอนที่1)

อุปกรณ์ไฮดรอลิกถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในเครื่องจักรเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยอาศัยข้อดีของระบบที่ง่ายในการออกแบบ ใช้งาน และบำรุงรักษาในการทำงานของระบบไฮดรอลิกนั้นมีตั้งแต่ระดับที่ง่าย ไปจนถึงการควบคุมและอุปกรณ์ทำงานที่สลับซับซ้อน

อาจหาญ ณ นรงค์
แผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 

     อุปกรณ์ไฮดรอลิกถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในเครื่องจักรเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยอาศัยข้อดีของระบบที่ง่ายในการออกแบบ ใช้งาน และบำรุงรักษาในการทำงานของระบบไฮดรอลิกนั้นมีตั้งแต่ระดับที่ง่าย ไปจนถึงการควบคุมและอุปกรณ์ทำงานที่สลับซับซ้อน บทความต่อไปนี้จะนำเสนอความรู้เบื้องต้นของระบบไฮดรอลิกที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าวน่าที่จะรู้

ไฮดรอลิก (Hydraulic) คืออะไร
      ไฮดรอลิก เป็นเรื่องที่ว่าด้วยคุณสมบัติทางกลของของไหล ในทางวิศวกรรมนั้นจะเกี่ยวข้องกับกำลังของของไหล(Fluid power) แต่ไฮดรอลิกที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือเรื่องที่ว่าด้วย “การส่งถ่ายกำลังในเชิงกลด้วยของไหลที่เป็นของเหลวหรือน้ำมันไฮดรอลิก” การส่งกำลังในระบบไฮดรอลิกส่วนใหญ่นั้นอุปกรณ์ทำงาน (Actuator) จะมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
- กระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder) เป็นอุปกรณ์ทำงานที่เคลื่อนที่ในแนวเส้นตรง (Linear)
- มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor) เป็นอุปกรณ์ทำงานที่เคลื่อนที่ในแนวรัศมี (Radius)

        ในระบบไฮดรอลิกที่เราเห็นกันส่วนมากนั้นสิ่งที่เราจะนำไปใช้คืองาน (Work, W) หรือแรง (Force, F) ที่เกิดจากระบบไฮดรอลิก เช่น การเอาแรงจากกระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder) ไปกด อัด หรือตัดชิ้นงาน และการขับ เช่นการหมุนจากมอเตอร์ไฮดรอลิกไปหมุนขับให้เกิดการหมุนของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องจักร

 

รูปที่ 1 มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)

รูปที่ 2 กระบอกไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder)

ข้อดีของระบบไฮดรอลิก
      เครื่องจักรที่ใช้อุปกรณ์ไฮดรอลิกเป็นส่วนประกอบนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด ทั้งนี้เป็นเพราะข้อดีของอุปกรณ์ไฮดรอลิกบางตัวที่มีดังต่อไปนี้คือ

1. อุปกรณ์ทำงาน (Actuator)
     มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและกลไก อีกทั้งไม่มีความสลับซับซ้อนดังรูปที่ 3 และสามารถออกแบบให้ตัวเครื่องมีแรงมากได้เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเครื่องจักร โดยออกแบบให้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกสูง ในกรณีที่ต้องการแรงมาก ดังรูปที่ 4 เป็นตัวอย่างความคิดในการออกแบบระบบของแขนยกของเครนไฮดรอลิกที่ต้องการยกน้ำหนักด้วยลูกสูบไฮดรอลิก

รูปที่ 3 เปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์ไฮดรอลิกและอุปกรณ์ทางกล

รูปที่ 4 การใช้งานระบบไฮดรอลิก

2. มีความง่ายต่อการควบคุม (Easy to Control)
      เพราะว่าระบบการควบคุมในทางกลไกนั้นจะต้องมีจุดหมุน จุดต่อต่าง ๆ มาก อาจต้องใช้ข้อต่อและโซ่มากมาย ทำให้ยากต่อการสร้างแก้ไขและดัดแปลง แต่สำหรับระบบไฮดรอลิกแล้วต้องการแค่แหล่งกำเนิดแรงดัน (Pump Unit), วาล์วเปลี่ยนทิศทาง (Directional Control Valve), อุปกรณ์ทำงาน (Actuator), และท่อทาง (Hose and Piping) ซึ่งทำให้การควบคุมระยะไกลทำได้ง่ายมาก รูปที่ 5 แสดงอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบไฮดรอลิก

รูปที่ 5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบไฮดรอลิก

รูปที่ 6 เปรียบเทียบการควบคุมทางกลไกและไฮดรอลิก

3. ง่ายต่อการควบคุมโหลด (Easy to Load Control)
      ถ้าหากเราติดตั้งวาล์วปลดแรงดัน (Relief Valve) ลงไปในวงจรก็จะสามารถช่วยป้องกันแรงดันที่สูงผิดปกติในวงจรได้และยังทำให้การควบคุมแรงดันเป็นไปได้อย่างดี ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับอุปกรณ์ไฮดรอลิกที่เกิดจากแรงดันสูงและควบคุมแรงดันให้คงที่อันจะเป็นผลให้แรงที่ได้จากอุปกรณ์ทำงาน (Actuator) มีความคงที่

จากรูปที่ 7 คือวาล์วปลดแรงดันจะเป็นตัวที่ทำให้สามารถควบคุมแรงดันภายในระบบไม่ให้เกินไปจากที่ต้องการได้ ซึ่งจากโครงสร้างของอุปกรณ์แล้วสามารถที่จะสร้างและติดตั้ง ซ่อมและแก้ไขได้ง่ายกว่าอุปกรณ์ทางกล

 

รูปที่ 7 วาล์วปลดแรงดัน (Relief Valve)

4. ง่ายต่อการเพิ่มอุปกรณ์ทำงาน
       สามารถที่จะเพิ่มอุปกรณ์ทำงานได้ง่ายเพียงแค่เพิ่มจุดต่อพ่วงแล้วก็ใส่อุปกรณ์ (Actuator) ทำงานพ่วงไปก็สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขทั้งหมดของวงจรให้ยุ่งยากดังรูปที่ 8 

รูปที่ 8 จุดต่อพ่วงสำหรับใส่อุปกรณ์เพิ่ม

หลักการทำงานของระบบไฮดรอลิก (Hydraulic Principle of Operation)
1. แรงดันในระบบปิดจะมีค่าเท่ากันทุกทิศทาง
     แรงดันที่เกิดขึ้นกับของไหลที่ส่งผ่านไปกระทำยังผนังของภาชนะปิดจะมีค่าเท่ากันทุกทิศทุกทางไม่ว่ารูปทรงของภาชนะนั้นจะมีรูปง่าย ๆ หรือสลับซับซ้อนแค่ไหนดังรูปที่ 9 ถ้าเราใช้เข็มฉีดยาที่มีพื้นที่ 1 ตร.ซม. กดที่ลูกสูบของเข็มฉีดยาด้วยแรง 2 กก.แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกที่ได้จากการกระทำนี้คือ 2 กก./ตร.ซม. และถ้าแรงดันนี้ส่งผ่านท่อไปยังกระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่ลูกสูบของกระบอกไฮดรอลิก 30 ตร.ซม.จากการที่แรงดันในกระบอกสูบเท่ากันทุกทิศทางจะทำให้ลูกสูบมีแรงถึง 60 กก.

รูปที่ 9 แรงดันในระบบกระทำเท่ากันทุกทิศทาง

 

รูปที่ 10 แรงที่เกิดขึ้นในระบบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่กระบอกสูบ

     ดังรูปที่ 10 ดังนั้นในระบบไฮดรอลิกการที่เราต้องการแรงจากกระบอกไฮดรอลิกมากน้อยแค่ไหนก็สามารถทำได้โดยการออกแบบกระบอกสูบให้มีพื้นที่หน้าตัดมากน้อยตามต้องการหรือใช้ปั้มที่มีแรงดันสูง จากรูปความสัมพันธ์ระหว่างแรงของกระบอกสูบและเข็มฉีดยาจะอยู่ในรูป 
     P = F1A1 = F2A2 = ค่าคงที่  ……… (1)

     เมื่อ F1, A1 และ F2, A2 คือแรงที่กระทำกับก้านสูบ (F) และพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ (A) ในกระบอกเข็มฉีดยาตามตัวอย่าง และกระบอกสูบตามลำดับถ้าเราต้องการให้แรงที่เกิดขึ้นในกระบอกสูบมากกว่าเดิมก็ทำได้โดยการเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบให้มากกว่าเดิมหรือเพิ่มแรงกดตรงกระบอกฉีดยาตามตัวอย่าง

2. อัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิก (Flow Rate of Hydraulic System)
       อัตราการไหล (Flow Rate, Q) คือ อัตราการเคลื่อนที่ของน้ำมันไฮดรอลิกในอัตราส่วนปริมาตรหรือน้ำหนักต่อหน่วยเวลา ดังแสดงในรูปที่ 11 โดยทั่วไปจะวัดเป็นปริมาตรของการไหลต่อหน่วยเวลาเป็นนาทีหรือวินาที แต่ที่นิยมใช้คือ ลิตร/นาที ถ้ากระบอกสูบมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน กระบอกสูบที่มีอัตราการไหลมากกว่าจะเคลื่อนที่เร็วกว่า เราสามารถเปรียบเทียบความเร็วของที่มีอัตราการไหลแตกต่างกัน

รูปที่ 11 แสดงการไหลของของไหล

รูปที่ 12 เปรียบเทียบการเคลื่อนที่ของกระบอกสูบต่างขนาด

       จากรูปที่ 12 เป็นการเปรียบเทียบความเร็วในการเคลื่อนที่ของลูกสูบของสองกระบอกสูบที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเท่ากัน  แต่อัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกไม่เท่ากันจากสมการ 
      

       โดยที่  V คือความเร็วของกระบอกสูบ Q คืออัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกและ A คือพื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ

       ดังนั้นความเร็วของลูกสูบของกระบอกสูบเมื่ออัตราการไหลของกระบอกเท่ากับ10 ลิตร/นาที พื้นที่หน้าตัดของ   กระบอกสูบ 50 ตารางเซนติเมตร จะเท่ากับ 
                                  

     แต่ถ้าเราเพิ่มอัตราการการไหลเป็น 30 ลิตร/นาที เราจะได้ความเร็วของลูกสูบเป็น 
                                  

     ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราเพิ่มอัตราการไหลให้กับระบบจะทำให้ความเร็วของลูกสูบเพิ่มขึ้น

เปรียบเทียบระบบไฮดรอลิกกับร่างกายของคน
       ในร่างกายมนุษย์เรามีหัวใจเปรียบเสมือนปั้มตัวใหญ่ เรามีปอดที่เปรียบเป็นตัวฟอกเลือดเสมือนตัวกรองเลือดจากเลือดดำเป็นเลือดแดงที่สะอาด เรามีแขนมีขาที่สามารถหยิบจับสิ่งต่าง ๆ และทำงานต่าง ๆ เรามีสมองที่คอยคิดและสั่งการว่าจะให้แขนขาเคลื่อนที่ไปทางไหนอย่างไรเสมือนกับระบบของไฮดรอลิกดังรูปที่ 13

รูปที่ 13 เปรียบเทียบระบบไฮดรอลิกกับร่างกายของคนเรา

อุปกรณ์และส่วนประกอบของระบบไฮดรอลิก
      อุปกรณ์ไฮดรอลิกหรือส่วนประกอบของระบบไฮดรอลิก คือส่วนที่นำมาประกอบกันเป็นระบบไฮดรอลิกซึ่งที่สำคัญ ๆ ก็มีดังต่อไปนี้

1. ปั้มไฮดรอลิก (Hydraulic Pump)
     ปั้มไฮดรอลิกคือ อุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานจากการหมุนซึ่งขับโดยเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นแรงดันน้ำมันไฮดรอลิกเข้าสู่วงจรไฮดรอลิก ปั้มที่ใช้เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าขับโดยตรง เมื่อใดก็ตามที่เครื่องยนต์หรือมอเตอร์หมุนปั้มก็จะทำงานไปด้วยดังรูปที่ 14
 

รูปที่ 14 ปั้มไฮดรอลิก

ชนิดของปั้มไฮดรอลิก
* เกียร์ปั้ม (Gear Pump) เป็นปั้มที่นิยมใช้งานมากในปัจจุบัน จุดเด่นของปั้มชนิดนี้คือ
   -  มีโครงสร้างง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน
   -  มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา
   -  ไม่ค่อยเสีย และง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง มีหลายรุ่นให้เลือกตั้งแต่แรงดันน้อย ๆ จนไปถึงแรง ดันมาก ๆ และราคาไม่แพง
เกียร์ปั้มยังแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีกดังต่อไปนี้
   - External Gear Pump คือ ปั้มที่มีเกียรสองตัวโดยที่ฟันของเกียร์ทั้ง สองตัวนั้นขบกัน
   - Internal Gear Pump คือปั้มที่เกียร์จะขบอยู่กับตัวเรือนปั้มดังรูปที่ 15

 รูปที่ 15 เกียร์ปั้ม (Gear Pump) แบบต่าง ๆ

* ปั้มแบบลูกสูบ (Displacement Volume Pump) คุณลักษณะที่สำคัญของปั้มลักษณะนี้มีดังนี้
- มีประสิทธิภาพสูงเพราะว่าปั้มแบบนี้มีการรั่วที่เกิดขึ้นภายในน้อย
- ปั้มบางแบบสามารถที่จะปรับปริมาณการไหลได้โดยที่ใช้ความเร็วรอบเท่าเดิมเหมาะกับงานที่ต้องการแรงดันสูงและน้ำมันที่รั่วต่อรอบน้อยกว่า

รูปที่ 16 ปั้มแบบลูกสูบ (Displacement Volume Pump) แบบต่าง ๆ

* Cam Plate Pump
      จะมีใช้กับเครนไฮดรอลิกมาก หลักการทำงานของปั้มแบบนี้ก็เหมือนกับปั้มแบบลูกสูบธรรมดา ชิ้นส่วนที่บังคับให้ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นลงก็คือ แผ่นเอียงหรือ (Cam Plate) ซึ่งจะหมุนไปรอบ ๆ เมื่อส่วนที่สูงของแผ่นเอียงไปสัมผัสกับด้านล่างของลูกสูบมันก็จะดันลูกสูบขึ้น กลายเป็นจังหวะอัดของลูกสูบ เมื่อแผ่นเอียงหมุนต่อไปจนถึงส่วนที่ต่ำของแผ่นเอียงสัมผัสกับด้านล่างของลูกสูบ ก็จะทำให้ลูกสูบเริ่มเคลื่อนที่ลงกลายเป็นจังหวะดูดของลูกสูบ การทำงานก็จะสลับอย่างนี้เรื่อยไป

รูปที่ 17 Cam Plate Pump

* ปั้มแบบใบเวน (Vane Pump)
      คุณลักษณะที่สำคัญของปั้มลักษณะนี้มีดังนี้
      1. สามารถทำงานได้ที่ความเร็วรอบสูง
      2. เหมาะสำหรับงานที่ใช้แรงดันต่ำจนถึงแรงดันขนาดปานกลาง
      3. ราคาถูก

      หลักการทำงานของเวนปั้มก็คือเมื่อปั้มหมุนก็จะสลัดใบเวนให้ออกมาสัมผัสกับตัวเรือนปั้ม โดยที่แกนของใบพัดจะติดเยื้องศูนย์อยู่ภายในตัวเรือนปั้ม จากการที่แกนของใบพัดที่ติดตั้งอยู่อย่างเยื้องศูนย์จึงทำให้เวลาที่ใบพัดของปั้มหมุนไปรอบ ๆ เรือนปั้ม ปริมาตรช่องว่างระหว่างใบพัดของแต่ละช่วงไม่เท่ากัน โดยที่ในช่วงจังหวะดูดช่องว่างของใบพัดจะถูกขยายออกจนกระทั่งช่องว่างมากที่สุด หลังจากนั้นช่องว่างจะเริ่มลดลงก็เป็นจังหวะอัด การทำงานของปั้มชนิดนี้จะเงียบ ไม่มีเสียงดัง

รูปที่ 18 ปั้มแบบใบเวน (Vane Pump) แบบต่าง ๆ

อุปกรณ์ทำงาน (Actuator) 
     คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานจากแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกไปเป็นเคลื่อนที่ในเชิงเส้นดังรูปที่ 17 หรือการหมุนดังรูปที่ 18 อุปกรณ์ทำงานเป็นเสมือนกับกล้ามเนื้อแขนขาในร่างกายของคนเรา อุปกรณ์ทำงานในระบบไฮดรอลิกก็คือ กระบอกสูบ (Hydraulic Cylinder) และมอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)

 

รูปที่ 19 อุปกรณ์ทำงานที่มีการเคลื่อนที่เชิงเส้น (Hydraulic Cylinder)

รูปที่ 20 อุปกรณ์ทำงานที่มีการเคลื่อนที่เชิงมุมหรือหมุน (Hydraulic Motor)

2. กระบอกสูบไฮดรอลิก (Hydraulic Cylinder)
      กระบอกไฮดรอลิกนั้นเราสามารถที่จะแบ่งได้เป็นสองประเภทตามทิศทางของแรงที่กระทำบนลูกสูบคือ Single Acting Cylinder และ Double Acting Cylinder

* Single Acting Cylinder 
      กระบอกสูบไฮดรอลิกชนิดนี้มีรูทางเข้าและทางออกของน้ำมันไฮดรอลิกนั้นมีเพียงรูเดียวหรือมีรูที่ด้านเดียวของกระบอกสูบ แรงที่เกิดจากการกระทำของแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกนั้นเกิดในทิศทางเดียวดังรูป การกลับสู่ตำแหน่งเดิมของลูกสูบจะใช้แรงดันของสปริงหรือน้ำหนักของโหลดที่ดันกลับดังรูปที่ 21

* Double Acting Cylinder
      ลูกสูบชนิดนี้จะมีรูเข้าออกของน้ำมันไฮดรอลิกสองทางหรือทั้งสองด้านของลูกสูบ ทิศทางการเคลื่อนที่ไปมาของลูกสูบไฮดรอลิกในกระบอกสูบนั้นเป็นผลมาจากแรงดันของน้ำมันทั้งสองทางดังรูปที่ 22  ส่วนประกอบหลัก ๆ ของกระบอกสูบไฮดรอลิกนั้นจะประกอบด้วย ลูกสูบ, กระบอกสูบ, ก้านสูบ, Oil Seal, Packing, และตัวกันฝุ่น (Dust Seal) ดังรูปที่ 23


รูปที่ 21 กระบอกสูบแบบ Single Acting 

รูปที่ 22 กระบอกสูบแบบ Double Acting

* แรงที่เกิดจากลูกสูบไฮดรอลิก
       แรงที่ได้จากกระบอกสูบไฮดรอลิกนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการออกแบบของกระบอกสูบนั้น ๆ ในระบบที่มีแรงดันน้ำมันไฮดรอลิกเท่า ๆ กัน ถ้ากระบอกสูบลูกไหนมีพื้นที่หน้าตัดมากกว่าก็จะมีแรงมากกว่า จากสมการที่ 1 
        

     โดยที่  F  คือ แรงที่ได้จากกระบอกสูบ 
                  P คือ แรงดันในกระบอกสูบที่มาจากระบบหรือปั้ม
                  A คือ พื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ
      ดังนั้นในระบบที่มีแรงดันเท่า ๆ กันกระบอกสูบที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดมากกว่าจะมีแรงมากกว่า

ตัวอย่าง
       กระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่หน้าตัด 1 ตารางเซนติเมตร (A = 1 cm2) ทำงานอยู่กับระบบที่มีแรงดัน 100 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (P = 100 kg/cm2) แรงที่เกิดขึ้นกับลูกสูบก็จะเท่ากับ F =1 cm2 x 100 kg/cm2, = 100 kg

       เช่นเดียวกัน ถ้าหากเราใช้กระบอกสูบที่มีพื้นที่หน้าตัด 10 ตารางเซนติเมตร (A = 10 cm2) ทำงานในระบบเดียวกัน แรงที่ได้จากลูกสูบคือ F =10 cm2 x 100 kg/cm2 = 1,000 kg

* ความเร็วของลูกสูบ
       ความเร็วที่ได้จากการเคลื่อนที่ของลูกสูบนั้น จะขึ้นอยู่กับอัตราการไหล (Flow Rate: Q) ของน้ำมันในระบบ จากสมการที่ 2 คือ Q = AV โดยที่ Q คืออัตราการไหลของน้ำมัน (Liters/Min), A คือ พื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบ (cm2) และ V คือความเร็วของการเคลื่อนที่ของลูกสูบ (cm/Sec) จากสมการจะเห็นว่ายิ่งพื้นที่หน้าตัดของลูกสูบยิ่งมาก หรือลูกสูบยิ่งมีขนาดใหญ่จะทำให้การเคลื่อนที่ของลูกสูบนั้นช้าลง     

ตัวอย่าง
      กระบอกไฮดรอลิกที่มีพื้นที่หน้าตัด 1 ตารางเซนติเมตร (A = 1 cm2) มีอัตราการไหลที่ 100 ลิตร/นาที ความเร็วของลูกสูบก็จะเป็น 
    

     แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นกระบอกสูบที่มีพื้นที่หน้าตัดเป็น 10 ตารางเซนติเมตร (A = 10 cm2) ความเร็วที่ได้ก็จะเป็น 
     

     จะเห็นว่ายิ่งกระบอกสูบมีพื้นที่หน้าตัดยิ่งมากความเร็วของลูกสูบจะลดลงตามสัดส่วนในกรณีที่ระบบมีอัตราการไหลที่เท่า ๆ กัน

 

รูปที่ 23 ส่วนประกอบหลักของกระบอกสูบไฮดรอลิก

3. มอเตอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Motor)
     มอเตอร์ไฮดรอลิกคือ อุปกรณ์ทำงานที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกไปเป็นการหมุน ส่วนโครงสร้างภายในจะเหมือนกันกับปั้มไฮดรอลิก แต่การทำงานจะกลับด้านหรือตรงกันข้ามมอเตอร์ไฮดรอลิกคือจะเปลี่ยนแรงดันเป็นพลังงานกล แต่ปั้มไฮดรอลิกเปลี่ยนพลังงานกลเป็นแรงดัน
  

รูปที่ 24 มอเตอร์ไฮดรอลิกแบบต่าง ๆ

4. ถังน้ำมันไฮดรอลิก
      คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำมันไฮดรอลิกเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบ
หน้าที่ของถังน้ำมันไฮดรอลิก
      1. กักเก็บน้ำมันไฮดรอลิกไว้เพื่อจ่ายให้แก่ระบบอย่างเพียงพอกับความต้องการ
      2. กำจัดสิ่งสกปรกและสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำมันไฮดรอลิก
      3. กำจัดน้ำออกจากระบบไฮดรอลิก ระบายความร้อนให้กับน้ำมันไฮดรอลิก
ในระบบขนาดเล็กปริมาณของน้ำมันจะมากขึ้นเมื่อก้านสูบหดตัว  และจะลดลงเมื่อก้านสูบหดตัว

รูปที่ 25 ถังน้ำมันไฮดรอลิก

       อุปกรณ์ตัวหนึ่งที่จะต้องมีควบคู่กับถังน้ำมันไฮดรอลิกคือตัวระบายอากาศ (Air Breathe) มีไว้เพื่อให้อากาศเข้าและออกเพื่อทดแทนกับปริมาณน้ำมันที่ลดลงและเพิ่มขึ้นตามจังหวะการทำงานของลูกสูบและลดแรงต้านทานการเคลื่อนที่ของลูกสูบ

สรุป
       จากบทความที่กล่าวมาในรายละเอียดของระบบไฮดรอลิกเบื้องต้น หลักการทำงานของระบบ อุปกรณ์ที่สำคัญ ๆ ในบางส่วนในฉบับหน้าจะกล่าวถึงเรื่องอุปกรณ์ที่สำคัญของระบบไฮดรอลิกที่เหลือ เช่น กรอง วาล์วชนิดต่าง ๆ ตลอดจนน้ำมันไฮดรอลิก

เอกสารอ้างอิง
     [1] Hydraulic Advance, TADANO LTD., Japan

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด