เนื้อหาวันที่ : 2007-03-07 10:15:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7755 views

ทำไมต้องสนใจ BPM ?

มีหลายองค์กรธุรกิจที่นำเอาแนวคิด BPM ไปใช้ แต่มีมุมมองของ BPM ที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลย ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง ส่วน IT นั้นจะเป็นตัวกระตุ้น และตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารบริษัทบางท่านกล่าวว่า ความล้มเหลวที่ผ่านมากับการปรับปรุงกระบวนการ เป็นเพราะมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีมากจนเกินไป

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี ค.ศ. 1931 นักสถิติที่ชื่อ  Walter Shewheart ได้พัฒนากรอบการทำงาน (Framework)  สำหรับการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นคำพูดติดปากของผู้บริหารธุรกิจทั่วไปในนามของวงจร  Shewheart ที่มีอยู่ 4 ขั้นตอนสำหรับการปรับปรุงกระบวนการ คือ Plan–Do-Check–Act (PDCA) แผนนั้นถูกพัฒนาและนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการ ส่วนผลลัพธ์จะต้องถูกทดสอบ การปรับเปลี่ยนกระบวนการจะต้องเกิดขึ้น  และวงจรดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนศิษย์คนหนึ่งของ Shewheart คือ Edward Deming ได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาปรับปรุงการผลิตให้กับประเทศญี่ปุ่น จนทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาระบบการผลิตจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และจากนั้นโลกแห่งการผลิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

.

การปฏิวัติแนวคิดของ Deming นั้นถูกสร้างตามแนวคิดของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และการจัดการสินค้าคงคลังแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Inventory) ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากมายต่อการผลิตระดับโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมตัวของกลุ่มซอฟต์แวร์ในระดับวิสาหกิจ (Enterprise Software) เพื่อจะนำเอาแนวคิดของ Deming ที่เคยใช้ได้ผลมาประยุกต์ใช้งานกับกลุ่มกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ความจริงแล้วแนวคิดของการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process  Management) นั้นกระตุ้นแนวคิดใหม่ให้คนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ บุคคลที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) หรือที่เรียกกันในวงการว่า SA ซึ่งในปัจจุบันคงจะแปลงสภาพตัวเองไปเป็น (Business Process Analyst) ไปในที่สุด สำหรับคนกลุ่มนี้มองที่ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในกระบวนการ และใช้เครื่องมือการจัดการธุรกิจ (Business Process Management Tool) เข้ามาช่วย

.

ส่วนคนอีกกลุ่มก็จะเป็นคนที่พยายามบูรณาการทั้งระบบ (System Integration) ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์รวมทั้งระบบ Workflow ผมมองว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้อยู่คนละฝั่งความคิดกัน แต่จริง ๆ แล้ว ทั้งสองกลุ่มเปรียบเสมือนเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน (Complimentary) ของภาพ BPM ทั้งหมด เมื่อพูดถึง BPM แล้วเราเองอาจจะนึกถึงอะไรสักอย่างที่เป็นซอฟต์แวร์ยุคใหม่ที่จะมาช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ ERP ที่กำลังมีตลาดโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า BPM นั้นคงไม่ได้แค่เปลี่ยนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่เปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเลยก็ว่าได้

.

ในวงการซอฟต์แวร์นั้นคิดว่า BPM นั้นคือ กระบวนทัศน์ใหม่ของการเขียนโปรแกรมของวิสาหกิจที่นำเอาการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศเช่น Web,  E-mail การเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาเป็น  EAI (Enterprise Application Integration) เพื่อที่จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการธุรกิจ ดังนั้นจึงมีการรวมกันหรือผสมผสานกันระหว่าง Work Flow,  EAI และการพัฒนาโปรแกรมหรือ Applications ต่าง ๆ จึงทำให้ BPM กลายเป็นคำตอบใหม่ในการสร้างโปรแกรม IT สำหรับกระบวนการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการทำให้กระบวนการเป็นอัตโนมัติ (Process Automation) การเฝ้าระวังและตรวจสอบสมรรถนะ (Monitoring and Analysis) และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกระบวนการอยู่ตลอดเวลา

.

แต่ในอีกมุมมองของผมคือ ก่อนที่นักวิเคราะห์  IT จะมาสร้างแผนภูมิการไหลของงานในกระบวนการธุรกิจภายในองค์กร ภาพของการไหลของงาน (Work Flow) จะถูกแสดงอยู่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ให้ความสะดวกในการวิเคราะห์การไหลของงาน ในภาวะของการตัดสินใจในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานโดยพนักงานขององค์กร พร้อม ๆ กับข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องในแต่ละงาน การนำเสนอการไหลของงานในลักษณะนี้ได้ถูกพัฒนาจากบนกระดาษที่ใช้ในการสื่อสารให้ทุกคนในกระบวนการได้รับทราบได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่บนสื่อคอมพิวเตอร์ (Computer Visualization) ที่สามารถทำข้อมูลให้ทันสมัยได้อยู่ตลอดเวลาผ่านโครงสร้างแบบ Web-Applications

.

แต่กิจกรรมเหล่านี้นักวิเคราะห์  IT คงจะต้องทำงานร่วมกับนักวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจ (Business Process Analyst) ซึ่งจะเป็นคนนำข้อมูลของโครงสร้างกระบวนการธุรกิจและการวัดสมรรถนะของกระบวนการธุรกิจมาทำการประเมินและปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แล้วตั้งเป้าหมายของกระบวนการธุรกิจรวมถึงการวางแผนการดำเนินงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น นักวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจจะใช้เครื่องมือประเภท Business Process Modeling ในการวิเคราะห์และประเมินทางเลือกต่าง ๆ ของกระบวนการธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์

.

ถึงแม้บุคคลทั้งสองประเภทที่กล่าวมานั้นจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ปรับปรุงกระบวนการธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรให้กับองค์กรแต่ก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน และใช้เครื่องมือทาง IT ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำบทบาทของทั้งสองมารวมกันแล้วจะกลายเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ดี ทำให้นักวิเคราะห์ IT นั้นสามารถออกแบบการใช้ทรัพยากร IT ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นกระบวนการธุรกิจที่เป็นอยู่จะถูกวิเคราะห์และออกแบบใหม่โดยนักวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจ ผลจากการวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการจะถูกนำไปใช้งานให้เกิดขึ้นจริงโดยนักวิเคราะห์ทางด้าน IT อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าภาพการทำงานของทั้งสองบทบาทนี้ไม่ได้ถูกสื่อออกไปในวงการการจัดการธุรกิจและวงการ IT ได้อย่างถูกต้องมากนัก ส่วนมากจะถูกกระแสของ IT ในภาพใหญ่ที่เป็นเรื่องการลงทุนทางซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์กลบเกลื่อนไป ทำให้แนวคิดของ BPM บิดเบือนไป 

.

ในส่วนของนักวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจนั้นคงจะมีภาพใหญ่ในเชิงการจัดการอยู่แล้วสำหรับแผนของการปรับปรุงและการประยุกต์ใช้งาน แต่ในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิเคราะห์ (Change Analysis) นั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่จับต้องไม่ได้ และค่อนข้างเป็นนามธรรม ทำให้ยากต่อการทำให้ผู้บริหารคล้อยตาม (Buy-in) เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้วย IT ที่มีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แล้วง่ายต่อการพิจารณามากกว่า เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า แต่โดยกรณีทั่วไปแล้วความล้มเหลวของโครงการซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทั้งหลายเกิดจากขาดการวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจ (Business Process Analysis) ก่อนที่จะเอา IT เข้ามาติดตั้งและใช้งาน

.

มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าคุณอยากจะนำเสนอ  BPM Solutions ให้แก่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง คุณจะเข้าไปเสนอแนวคิดนี้ให้กับใคร ระหว่างทีม ฝ่าย IT หรือทีมฝ่ายธุรกิจ ผมว่าเป็นเรื่องที่ยังมีความสับสนมาก แม้กระทั่งบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์ BPM เองก็ตามยังไม่มีความเข้าใจในภาพใหญ่ของธุรกิจในแนวคิดใหม่ตรงนี้ว่ามี 2 องค์ประกอบใหญ่คือ ฝ่ายหนึ่งเน้นวิธีการปรับปรุงกระบวนการธุรกิจซึ่งจับต้องไม่ได้ และอีกฝ่ายหนึ่งเน้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้กระบวนการธุรกิจดีขึ้น ถ้าทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ก็จะดีมาก ประโยชน์จะเกิดกับลูกค้า แต่ส่วนมากที่เห็นคือ ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างนำเสนอ   

.

BPM เป็นการทำงานที่ช่วยให้บริษัทได้พัฒนา และประยุกต์ใช้กระบวนการที่ปรับปรุงดีขึ้นแล้วไปทั่วทั้งองค์กร BPM ได้รวบรวมเอาคุณลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการ การสร้างแบบจำลอง การบูรณาการกระบวนการ และการประยุกต์ใช้งาน จนถึงการเฝ้าตรวจสอบและวิเคราะห์กระบวนการ แต่สิ่งที่สำคัญของ BPM คือการช่วยให้บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ การลดต้นทุน และที่สุดแล้วคือ การสร้างความคล่องตัว

.

มีหลายองค์กรธุรกิจที่นำเอาแนวคิด BPM ไปใช้ แต่มีมุมมองของ BPM ที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลย ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง ส่วน IT นั้นจะเป็นตัวกระตุ้น (Catalyst) และตัวที่ทำให้เกิด (Enabler) การเปลี่ยนแปลง  ผู้บริหารบริษัทบางท่านกล่าวว่า ความล้มเหลวที่ผ่านมากับการปรับปรุงกระบวนการ เพราะไปมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีมากจนเกินไปก่อนที่จะมีการวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจ บริษัทที่ถามตัวเองว่าทิศทางใดที่บริษัทควรจะเดินไป และมีพนักงานผู้ซึ่งพยายามจะหาวิธีการทำงานที่ดีกว่า คือ บริษัทที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จ บริษัทเหล่านี้คงจะไม่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้แค่ครั้งเดียวแล้วโครงการก็จบลง แต่บริษัทเหล่านี้ดำเนินการอยู่ตลอดเวลาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ปัญหาก็คือว่าคุณจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ลงไปในบริษัทหรือองค์กรได้อย่างไร และสุดท้ายก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนกระบวนการอยู่ดี ถ้าการวิเคราะห์ และการปรับปรุงนั้นได้ผลก็ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

.

ความสำคัญของ BPM นั้นได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ความต้องการของธุรกิจรวมเอาการบูรณาการ กิจกรรมธุรกิจเข้าด้วยกัน ตลอดหน่วยงานในองค์กรธุรกิจ การขยายผลของการจัดการกระบวนการในแนวตั้งไปสู่โซ่อุปทานหรือโซ่ของการกระจายสินค้า และการจัดเตรียมความสามารถในการบูรณาการให้เป็น E-Business กิจกรรมเหล่านี้ที่จะเป็นตัวผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ได้ตอบรับเอา BPM มาเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร

.

BPM จำเป็นสำหรับทุกคนหรือ ?

ทุกบริษัทสามารถได้ประโยชน์จากการสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นของกระบวนการธุรกิจหลัก การวิเคราะห์ กระบวนการธุรกิจสำหรับจุดที่สามารถที่จะปรับปรุงได้ และการนำเอาแนวคิดไปปรับปรุงใช้ BPM สามารถใช้ได้กับบริษัททั้งใหญ่ กลาง และเล็ก BPM Solutions ที่ถูกนำไปใช้ที่ประสบความสำเร็จในบริษัทต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ และทีมผู้บริหารจะต้องมีความจริงใจในการสร้างความคิดใหม่ แนวทางใหม่ และรวมถึงวัฒนธรรมใหม่ด้วย BPM Solutions ที่จริงแล้วจะถูกผลักดันไปได้โดยกระบวนการธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและผู้นำบริษัทเองด้วย BPM Solutions ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำให้ผู้นำบริษัทจัดการมุมมองเชิงเทคโนโลยีผ่านกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ (Business Rules) ที่พวกเขาได้พัฒนามาและทำการรักษาไว้ (Maintain) บริษัทต่าง ๆ ที่ไม่สามารถสนับสนุนหรือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กรควรจะคิดอย่างรอบคอบในการลงทุน BPM เพราะว่า BPM อย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหากระบวนการธุรกิจได้

 .

ถ้าบริษัทหรือองค์กรธุรกิจคิดจะนำเอา BPM มาใช้ก็ควรตระหนักว่ามีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องในการนำเอาไปปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้โครงการล้มไปอย่างไม่เป็นท่าคือ การบริหารการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลย แต่ผลสำเร็จที่ได้รับจาก BPM ก็คือ สถาปัตยกรรมใหม่ของธุรกิจและแนวทางในการจัดการกระบวนธุรกิจ และทำให้มีการดำเนินการเชิงรุกและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

.
สรุป

BPM ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ไขกระบวนการธุรกิจที่ขาดตอนไปและไม่มีประสิทธิภาพ แล้วธุรกิจและคนพร้อมแล้วหรือ ที่จะทำให้กระบวนการธุรกิจอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดเพื่อใช้ประโยชน์เต็มที่ในสิ่งที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ช่วยให้การทำงานของเรามีความสะดวกมากขึ้น ถึงที่สุดแล้วเทคโนโลยีก็ต้องพึ่งพามนุษย์เราในการพัฒนาอยู่ดี พบกันฉบับหน้า !

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด