ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากทั่วโลกมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีราคาปรับสูงขึ้นต่อเนื่องขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็พุ่งขึ้นทุกขณะ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกบรรจุลงในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ธิระศักดิ์ เสภากล่อม
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เมื่อปี 2550 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการจัดงานบรรยายทางวิชาการและการเสวนางาน สิ่งแวดล้อม กฟผ.ปี 2550 ภายใต้หัวข้อเรื่อง การผลิตไฟฟ้ากับภาวะโลกร้อน โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มาให้ปาฐกถาพิเศษในเรื่อง ทำไมต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์.ซึ่งหัวข้อบรรยายได้มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับมติของแผนพัฒนาผลิตกำลังไฟฟ้า 2007 (Power Development Plan: PDP 2550-2564) ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ผ่านมา
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยช่วงปี 2563-2564 จำนวน 4,000 เมกะวัตต์ โดยกำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ และในปี พ.ศ. 2564 อีกจำนวน 2,000 เมกะวัตต์
นอกเหนือจากแผนที่จะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า จะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในด้านเชื้อเพลิงที่ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า
เนื่องจากในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากทั่วโลกมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยมีแหล่งก๊าซจากอ่าวไทยเพียงแห่งเดียว ก็เริ่มต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจุบัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกขณะ แปรผันตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
อีกทั้งจำนวนของประชากรและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราการใช้ไฟฟ้าของไทยมีปริมาณสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 1.1-1.2% ทุกปี ดังนั้นพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และยังสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
ทำความรู้จักกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์ (Nuclear Fission Reaction) ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูง แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ ซึ่งต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าและส่งต่อไปยังผู้บริโภคต่อไป
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีหลักการผลิตไฟฟ้าคล้ายกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป กล่าวคือ จะใช้พลังงานความร้อนไปผลิตไอน้ำ แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ต้นกำเนิดพลังงานความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดจากปฏิกิริยาแตกตัวของยูเรเนียม -235 ในเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ส่วนความร้อนจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไปนั้นได้จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ซึ่งได้แก่ ถ่านหินหรือลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า พบว่าหากใช้ยูเรเนียมธรรมชาติ (ความเข้มข้นของยูเรเนียม -235 ประมาณร้อยละ 0.7) จำนวน 1 ตัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 40 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ในขณะที่ต้องใช้ถ่านหินถึง 16,000 ตัน หรือใช้น้ำมันถึง 80,000 บาร์เรล (ประมาณ 13 ล้านลิตร) จึงจะผลิตไฟฟ้าได้เท่ากัน สำหรับปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดความร้อนเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้านั้นมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ปฏิกิริยาฟิวชัน และปฏิกิริยาฟิชชัน
ปฏิกิริยาฟิวชัน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในดวงอาทิตย์ จากการรวมตัวของธาตุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไฮโดรเจน ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมจนกลายเป็นธาตุใหม่และปลดปล่อยความร้อนออกมา อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันได้แต่เพียงจำลองปฏิกิริยาดังกล่าวให้เกิดขึ้นในเครื่องมือที่ซับซ้อนบนพื้นโลกได้เพียงระยะเวลาสั้นมาก จำเป็นต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปีเพื่อพัฒนาให้การเกิดปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องจนสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ในเชิงพานิช
ส่วนปฏิกิริยาฟิชชันนั้น เป็นปฏิกิริยาที่ใช้กันอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป ได้แก่ การนำอนุภาคนิวตรอนที่ได้มาจากสารรังสีเข้าไปกระตุ้นธาตุหนัก เช่น ยูเรเนียม ทำให้เกิดการแตกตัวกลายเป็นธาตุใหม่ ซึ่งจะมีการปลดปล่อยความร้อนพร้อมกับอนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อมีปริมาณยูเรเนียมหนาแน่นเพียงพอ และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม อนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้นใหม่จะกลับเข้าไปทำปฏิกิริยากับยูเรเนียมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ความร้อนออกมาอย่างมหาศาล ทั้งนี้เนื่องจากการแตกตัวของยูเรเนียม 1 อะตอม จะให้พลังงาน ประมาณ 200 MeV ในขณะที่การเผาไหม้ เชื้อเพลิงคาร์บอน 1 อะตอม จะให้พลังงานเพียง 2-3 MeV เท่านั้น
การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยใน พ.ศ. 2494 ได้มีการทดลอง เดินเครื่องปฏิกรณ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของโลกขึ้นที่สถานีทดลองพลังงานไอดาโฮ เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เมืองอาร์โค มลรัฐไอดาโฮ ประเทศสหรัฐอเมริกา
การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูงในเชิงพาณิชย์ขนาด 75 เมกะวัตต์ ได้เริ่มขึ้นที่ชิปปิงพอร์ต มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2497 และได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เมืองพิตต์สเบิร์ก ใน พ.ศ. 2500
ต่อมาใน พ.ศ. 2502 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดรสเดน (แบบปฏิกรณ์น้ำเดือด) ได้เดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่เมืองมอร์ริส มลรัฐอิลลินอยส์ หลังจากนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แบบได้ขยายตัวขึ้น และแพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ส่วนประกอบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ
1. อาคารปฏิกรณ์ ประกอบด้วย เครื่องปฏิกรณ์ เครื่องผลิตไอน้ำ เครื่องควบคุมความดัน ปั๊มน้ำระบายความร้อน อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น วัสดุกำบังรังสี ระบบควบคุมการเดินเครื่อง และระบบความปลอดภัยต่าง ๆ
2. อาคารเสริมระบบปฏิกรณ์ ประกอบด้วย เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการเดินเครื่องปฏิกรณ์ อุปกรณ์ความปลอดภัย บ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว
3. อาคารกังหันไอน้ำ ประกอบด้วย ชุดกังหันไอน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ
4. สถานีไฟฟ้าแรงสูง ประกอบด้วย ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์ประกอบ
5. อาคารฝึกหัดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย แบบจำลองสำหรับฝึกหัดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งสภาวะปกติและฉุกเฉิน
6. อาคารระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย ระบบอุปกรณ์/ข้อมูลสำหรับ การเดินเครื่องโรงไฟฟ้า
7. หม้อแปลงไฟฟ้า ประกอบด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าหลัก และหม้อแปลงไฟฟ้าสำรองสำหรับการเดินเครื่อง
8. อาคารอำนวยการ ประกอบด้วย สำนักงาน ห้องทำงานต่าง ๆ ห้องประชุม
9. อาคารสำนักงานและฝึกอบรม ประกอบด้วย ห้องทำงาน ห้องฝึกอบรม ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการทางเคมี ห้องอาหาร
10. อาคารรักษาความปลอดภัย เป็นอาคารทางเข้าบริเวณโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือของระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ
11. อาคารโรงสูบน้ำ เป็นอาคารที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติภายนอก เพื่อนำมาควบแน่นไอน้ำในระบบผลิตไอน้ำ ประกอบด้วย ชุดปั๊มน้ำ และอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ
12. ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และหอระบายความร้อน (ถ้าไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่)
หลักการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบ่งการทำงานออก เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. ส่วนผลิตความร้อน ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ระบบน้ำระบายความร้อน และเครื่องผลิตไอน้ำ
2. ส่วนผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบด้วย กังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยส่วนผลิตความร้อนจะส่งผ่านความร้อนให้กระบวนการผลิตไอน้ำ เพื่อนำไปใช้ผลิต ไฟฟ้าต่อไป
สำหรับส่วนผลิตไอน้ำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไอน้ำเช่นเดียวกับหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
* เชื้อเพลิง (Fuel) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเล็ก ๆ ทำจากยูเรเนียมออกไซด์ บรรจุในหลอดขนาดยาวที่เรียกว่า แท่งเชื้อเพลิงแล้วมัดรวมกันเป็นแกนปฏิกรณ์
* สารหน่วงนิวตรอน (Moderator) เป็นสารที่ทำหน้าที่ปรับพลังงานของอนุภาคนิวตรอนที่ใช้ทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้เหมาะสม สารเหล่านี้อาจจะใช้น้ำธรรมดา หรือน้ำมวลหนัก หรือกราไฟต์
* แท่งควบคุม (Control Rod) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณนิวตรอนที่เกิดขึ้นให้เหมาะสม สารที่ใช้ทำหน้าที่นี้ได้แก่ แคดเมียม ฮาฟเนียม หรือโบรอน แท่งควบคุมนี้นอกจากการควบคุมปริมาณนิวตรอนแล้วยังทำหน้าที่ระงับการเกิดปฏิกิริยาภายในแกนปฏิกรณ์ด้วย
* สารระบายความร้อน (Coolant) ซึ่งมีสภาวะเป็นของเหลวหรือก๊าซ ทำหน้าที่พาความร้อนที่เกิดขึ้นในแกนปฏิกรณ์ไปผลิตไอน้ำ
* หม้อปฏิกรณ์ (Pressure Vessel) มักจะทำมาจากโลหะพวกเหล็กกล้าที่แข็งแกร่งเป็นที่บรรจุมัดเชื้อเพลิง และสารหน่วงนิวตรอน
* เครื่องผลิตไอน้ำ (Steam Generator) เป็นอุปกรณ์ที่รับความร้อนจากปฏิกรณ์นิวเคลียร์มาเพื่อผลิตไอน้ำไปหมุนกังหัน
* อาคารปฏิกรณ์ (Containment) เป็นส่วนที่ก่อสร้างอย่างแข็งแรงเพื่อป้องกันรังสีจากภายในสู่ภายนอก และป้องกันการทำลายจากภายนอกมาถึงตัวปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ชนิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกและทางออกที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะแก้ปัญหาด้านพลังงานในระยะยาวได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาได้ใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันอย่างกว้างขวาง ปี 2548 ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ถึง 439 โรง มีกำลังผลิต 336,331 GW(e) และมีอีก 25 โรง ในประเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวีเดน เยอรมันและปากีสถาน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง
ถึงแม้จะมีนโยบายชะลอการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า แต่แทบทุกประเทศได้กำหนดให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกสำหรับประเทศในระยะยาว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีการพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มใช้กันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พอจะกล่าวได้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นิยมใช้มีอยู่ 3 แบบคือ
1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor: BWR)
โรงไฟฟ้าแบบนี้สามารถผลิตไอน้ำได้โดยตรงจากการต้มน้ำภายในถังซึ่งควบคุมความดันภายใน (ประมาณ 7 Mpa) ต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR ดังนั้นความจำเป็นในการใช้เครื่องผลิตไอน้ำและแลกเปลี่ยนความร้อน ปั๊ม และอุปกรณ์ช่วยอื่น ๆ ก็ลดลง แต่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างอาคารป้องกันรังสีไว้ในระบบอุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้า เนื่องจากไอน้ำจากถังปฏิกรณ์จะถูกส่งผ่านไปยังอุปกรณ์เหล่านั้นโดยตรง
รูปที่ 1 แสดงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำเดือด (BWR)
2. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูง (Pressurized Water Reactor: PWR)
โรงไฟฟ้าชนิดนี้น้ำจะถ่ายเทความร้อนจากแท่งเชื้อเพลิงจนมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 320 องศาเซลเซียสภายในถังขนาดใหญ่ที่อัดความดันสูงประมาณ 15 Mpa (ประมาณ 150 เท่า ของบรรยากาศ) ไว้เพื่อไม่ให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ และนำน้ำส่วนนี้ไปถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำหล่อเย็นอีกระบบหนึ่ง (ระบบผลิตไอน้ำซึ่งอาจเรียกว่าเป็นน้ำระบบทุติยภูมิ) ที่ควบคุมความดันไว้ต่ำกว่าเพื่อให้เกิดการเดือดผลิตไอน้ำออกมาเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำในถังปฏิกรณ์ (น้ำระบบปฐมภูมิ) ซึ่งมีสารรังสีเจือปนอยู่แพร่กระจายไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ
ตลอดจนป้องกันการรั่วของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม การทำงานของโรงไฟฟ้าชนิดนี้มีความซับซ้อนกว่าโรงไฟฟ้าแบบ BWR และมีข้อด้อยกว่าตรงที่ถังปฏิกรณ์มีราคาสูง เนื่องจากต้องมีระบบป้องกันการรั่วไหลของน้ำระบายความร้อนและอัตราการไหลของน้ำภายในถังสูงในสภาวะความดันและอุณหภูมิสูง เป็นผลให้เกิดปัญหาการสึกกร่อนตามมา
รูปที่ 2 แสดงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูง (PWR)
3. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบแคนดู (CANDU หรือ Pressurized Heavy Water Reactor: PHWR)
โรงไฟฟ้าแบบนี้มีการทำงานคล้ายคลึงกับแบบ PWR แต่แตกต่างกันที่มีการจัดแกนปฏิกรณ์ในแนวระนาบ และเป็นการต้มน้ำภายในท่อขนาดเล็กจำนวนมากที่มีเชื้อเพลิงบรรจุอยู่แทนการต้มน้ำภายในถังปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถผลิตได้ง่ายกว่าการผลิตถังขนาดใหญ่ โดยใช้ น้ำมวลหนัก มาเป็นตัวระบายความร้อนจากแกนปฏิกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการแยกระบบใช้น้ำมวลหนักเป็นตัวหน่วงความเร็วนิวตรอนด้วย
เนื่องจากมีการดูดกลืนนิวตรอนน้อยกว่าน้ำธรรมดา ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ง่าย จึงสามารถใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียมที่สกัดมาจากธรรมชาติซึ่งมียูเรเนียม -235 ประมาณร้อยละ 0.7 ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงให้มีความเข้มข้นสูงขึ้นทำให้ปริมาณผลิตผลจากการแตกตัว (Fission Product) ที่เกิดขึ้นในแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วมีน้อยกว่าเครื่องปฏิกรณ์แบบใช้น้ำธรรมดาและหากเกิดการรั่วของน้ำระบายความร้อน ก็จะมีการลดของความดันช้ากว่าเนื่องจากท่อระบายความร้อนมีขนาดเล็กกว่านั่นเอง
รูปที่ 3 แสดงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ CANDU
นอกจากโรงไฟฟ้าแบบที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการพัฒนารูปแบบของเครื่องปฏิกรณ์ที่มีอยู่แล้วและคิดต้นแบบขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการแข่งขันกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ทำให้หลายประเทศได้มีการวิจัยและพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ ๆ และมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักก็คือ
1. มุ่งเน้นให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืน โดยให้มีการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ จากการออกแบบให้มีการใช้วัฏจักรของเชื้อเพลิงเป็นแบบปิด ซึ่งเป็นการลดปริมาณกากกัมมันตรังสีอีกทางหนึ่งด้วย
2. มุ่งเน้นการออกแบบให้มีความปลอดภัยและความแน่นอนของการทำงานในระดับสูง
3. มุ่งเน้นถึงความคุ้มค่าและคุ้มทุนในการดำเนินโครงการ โดยมีการออกแบบให้อายุการใช้งานของโรงไฟฟ้ายาวนานขึ้น
โดยการพัฒนารูปแบบของปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยังคงดำเนินการโดยประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งผลิตไฟฟ้าโดยปฏิกรณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ ถูกจัดให้เป็นการพัฒนาในรุ่นที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องอย่างเร็วที่สุดใน พ.ศ. 2553 และถ้าประเทศไทยมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต คาดว่าเทคโนโลยีของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่จะกล่าวถึงนี้คงจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย
1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Gas-Cooled Fast Reactor System (GFR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ GFR เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้นิวตรอนย่านพลังงานสูง ในการทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชันและปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งการใช้นิวตรอนพลังงานสูงนี้ จะทำให้เครื่องปฏิกรณ์ลดปริมาณของสารหน่วงนิวตรอนลง เมื่อเทียบกับเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้นิวตรอนย่านพลังงานต่ำ
ระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ GFR นี้เป็นระบบปิด โดยระบบปฐมภูมิใช้ฮีเลียมเป็นตัวระบายความร้อน ส่วนระบบทุติยภูมิใช้ Supercritical CO2 เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ GFR เป็นส่วนผสมของ UPuC/SiC และวัฏจักรของเชื้อเพลิงเป็นแบบปิด
2. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Lead-Cooled Fast Reactor System (LFR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ LFR เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้นิวตรอนในย่านพลังงานสูง และใช้วัฏจักรของเชื้อเพลิงเป็นแบบปิดเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าแบบ GFR จะต่างกันตรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ LFR ใช้สารละลายตะกั่วเป็นตัวระบายความร้อน ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดกลืนและหน่วงนิวตรอนต่ำ ไม่เกิดปฏิกิริยารุนแรงกับน้ำและอากาศ มีจุดเดือดที่ 1700 ๐C
ดังนั้น ในการทำงานจึงไม่จำเป็นต้องใช้ถังปฏิกรณ์ เพื่อควบคุมความดันสูง สามารถวิ่งเข้าสู่กังหันไอน้ำได้โดยตรง ซึ่งเป็นการลดการสูญเสียความร้อน จากการถ่ายเทระหว่างระบบระบายความร้อนทั้งสองระบบ และระบบระบายความร้อน ใช้แบบการไหลเวียนด้วยแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ (Natural Circulation)
3. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Molten Salt Reactor System (MSR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ MSR ใช้นิวตรอนย่านพลังงานปานกลางในการทำปฏิกิริยาฟิชชันและปฏิกิริยาลูกโซ่ มีกราไฟต์เป็นสารหน่วงนิวตรอน เชื้อเพลิงและผลิตผลจากปฏิกิริยาฟิชชัน (Fission Product) ละลายอยู่ในสารละลายเกลือฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารระบายความร้อน
4. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Sodium-Cooled Fast Reactor System (SFR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SFR ใช้นิวตรอนย่านพลังงานสูงเป็นตัวทำปฏิกิริยาฟิชชันและปฏิกิริยาลูกโซ่ เชื้อเพลิงที่ใช้เป็นออกไซด์ของยูเรเนียมและพลูโทเนียม และใช้วัฏจักรของเชื้อเพลิงเป็นแบบปิด มีโซเดียมเหลวเป็นตัวระบายความร้อน
5. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Supercritical-Water-Cooled Reactor System (SCWR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SCWR ได้ออกแบบการใช้นิวตรอนในการทำปฏิกิริยาฟิชชันและปฏิกิริยาลูกโซ่เป็น 2 แบบ คือ นิวตรอนย่านพลังงานสูง หรือย่านพลังงานต่ำ การทำงานของโรงไฟฟ้าแบบ SCWR มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ BWR โดยใช้ยูเรเนียมออกไซด์เป็นเชื้อเพลิง มีน้ำเป็นตัวระบายความร้อนภายในแกนปฏิกรณ์ และออกแบบให้ทำงานในสภาวะ Supercritical จึงทำให้น้ำไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะในเครื่องปฏิกรณ์
6. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Very-High-Temperature Reactor System (VHTR)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ VHTR เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้นิวตรอนย่านพลังงานต่ำ ใช้กราไฟต์เป็นสารหน่วงนิวตรอน เชื้อเพลิงเป็นยูเรเนียมเสริมสมรรถนะและวัฏจักรของเชื้อเพลิงเป็นแบบเปิด ใช้ฮีเลียมเป็นตัวระบายความร้อน
สถิติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ย้อนหลังไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2538 การสำรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ทั้งหมดพบว่ามีการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชนิดต่าง ๆ รวม 437 โรง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR 203 โรง (46.5%) แบบ BWR 93 โรง (21.3%) แบบ CANDU 33 โรง (7.5%)
ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างมีจำนวน 39 โรง ซึ่งยังคงนิยมใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR ถึง 12 โรง (30.8%) แต่ได้หันมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบอื่นเพิ่มขึ้นโดย 10 โรง (25.6%) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ CANDU และ 2 โรง (5.1%) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ BWR นอกนั้นที่เหลืออีก 15 โรง (38.5%) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบอื่น ๆ
ส่วนในปัจจุบัน ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 438 โรงและกำลังก่อสร้างอยู่ 31 โรง (มกราคม 2544) ประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส โดย 75% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ตามด้วยประเทศลิธัวเนีย เบลเยียม บัลแกเรีย และสาธารณรัฐสโลวเกีย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ร้อยละ 73.1, 57.7, 47.1 และ 47 ตามลำดับ
สำหรับประเทศในทวีปเอเชียซึ่งมีการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (53 โรง กำลังก่อสร้าง 4 โรง) เกาหลีใต้ (16 โรง กำลังก่อสร้าง 4 โรง) อินเดีย (14 โรง) ไต้หวัน (6 โรง กำลังก่อสร้าง 2 โรง) จีน (3 โรง กำลังก่อสร้าง 7 โรง) ปากีสถาน (2 โรง) และอิหร่าน (กำลังก่อสร้าง 2 โรง)
นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซียได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเทศญี่ปุ่นให้ทำการศึกษาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยคาดว่าจะมีการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ได้หลังปี พ.ศ.2546 ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 650 เมกะวัตต์แล้วเสร็จแต่ได้ยกเลิกการใช้งานเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีแผนการที่จะนำโรงไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาใช้ใหม่โดยการให้สัมปทานแก่ผู้ก่อสร้างดำเนินการผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี
ตาราง แสดงสถิติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เดินเครื่องรวมทั้งสิ้น 438 อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 11 โรง มีกำลังการผลิตผลิตไฟฟ้า 351,327 เมกะวัตต์
หมายเหตุ ข้อมูลจาก IAEA BULLETIN vol.43 No.3, 2001 Vienna, Austria pp.49
อุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสภาวะปกติจะทำให้ประชาชนได้รับรังสีน้อยกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 1.5 เท่า เนื่องจากการเผาไหม้ถ่านหินจะทำให้สารกัมมันตรังสีในธรรมชาติที่ปะปนอยู่ในถ่านหินฟุ้งกระจายออกสู่บรรยากาศ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำงานภายใต้ระบบที่ปิดมิดชิด ป้องกันการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี
อย่างไรก็ตาม หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วอาจมีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี ซึ่งจะส่งผลกระทบทางรังสีอย่างรุนแรงถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ออกแบบและก่อสร้างให้มีความปลอดภัยสูงสุด (โดยค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สูงมากนั้นส่วนหนึ่งประมาณ 30% ใช้ในการติดตั้งระบบความปลอดภัยต่าง ๆ) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แต่อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ อาจมาจากความบกพร่องของอุปกรณ์หรือความประมาทเลินเล่อของผู้ปฏิบัติงาน อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงเหตุขัดข้องธรรมดาที่เกิดขึ้นตามโรงไฟฟ้าทั่วไปเช่น ท่อน้ำรั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น เนื่องจากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงทำให้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษทำให้รู้สึกเหมือนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
สถิติในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูจำนวน 9 ครั้ง โดยอุบัติเหตุทั้งหมดมีเพียงอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเท่านั้นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี พ.ศ.2529 เป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการเดินเครื่องไฟฟ้าตามปกติ แต่เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านความปลอดภัยเพื่อดำเนินการทดลองภายในโรงไฟฟ้า โดยตัดระบบความปลอดภัยทั้งหมดออกส่งผลให้เกิดระเบิด เนื่องจากไอน้ำความดันสูงและเพลิงลุกไหม้ มีเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 31 คนผู้บาดเจ็บเนื่องจากรังสี 203 คนและต้องอพยพประชาชนโดยรอบรัศมี 30 กิโลเมตร
ต่อมาในปีพ.ศ.2539 เมื่ออุบัติเหตุผ่านไปได้ 10 ปี องค์การอนามัยโลกได้สรุปผลการดำเนินงานการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็กเพิ่มขึ้นโดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน คาดว่าเป็นผลมาจากการได้รับไอโอดีนรังสีเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้หากอาการยังไม่ลุกลาม
ทั้งนี้ไม่พบความผิดปกติของการเกิดโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว แต่ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีผลกระทบทางรังสีมีอาการทางประสาทเพิ่มขึ้น เนื่องจากความหวาดกลัวอันตราย ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูดูแลให้หมดความวิตกกังวลต่อไป
ดังจะเห็นได้ว่านอกจากระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว มาตรการด้านการควบคุมความปลอดภัยจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การกำหนดมาตรการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลความปลอดภัย ดังนี้
1. ความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยรอบ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า
2. ความปลอดภัยต่อระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม
3. ความปลอดภัยต่อระบบการทำงาน ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก ทั้งนี้เพราะมีมาตรการ และ กระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ที่เข้มงวดและรัดกุมหลายขั้นตอน ทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม
ด้านนามธรรม ได้แก่ แนวคิดในการออกแบบให้ปฏิกรณ์มีความปลอดภัยในตัวเอง คือ
1. ใช้เม็ดเชื้อเพลิงทนความร้อนได้สูงมาก โดยมีจุดหลอมเหลวที่ประมาณ 2,800 องศาเซลเซียส
2. ใช้ยูเรเนียม -235 ในเชื้อเพลิงมีสัดส่วนต่ำประมาณร้อยละ 0.7-3 เท่านั้น
4. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สามารถหยุดยั้งปฏิกิริยาแตกตัวได้ด้วยตัวเอง เมื่อเกิดเหตุผิดปกติขึ้นในระบบ
4. ระบบถ่ายเทความร้อนในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นระบบปิด ไม่มีส่วนใดสัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ภายนอก
5. เครื่องมืออุปกรณ์ที่สัมผัสและปนเปื้อนรังสี จะติดตั้งรวมไว้ภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อความสะดวกในการควบคุม ตลอดจนปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
ด้านรูปธรรม ได้แก่ กฎระเบียบ อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัยต่าง ๆ หลากหลายชนิด และซ้อนกันหลายระบบประกอบด้วย
1. รายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัย รายงานนี้ต้องจัดทำขึ้นก่อนการลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ
2. การประกันคุณภาพ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของมาตรฐานความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ มาตรการประกันคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน คือ การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การออกแบบโรงไฟฟ้า การผลิตเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า การเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และการกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้า
3. เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น คือ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หลายชั้นที่ใช้กักกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล หรือแพร่กระจายจากเนื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกโรงไฟฟ้า เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของมาตรการความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
เกราะชั้นที่ 1 เม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (Fuel Pellet)
เกราะชั้นที่ 2 ท่อหุ้มเม็ดเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ (Fuel Clad)
เกราะชั้นที่ 3 น้ำระบายความร้อน (Coolant)
เกราะชั้นที่ 4 ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Reactor Vessel)
เกราะชั้นที่ 5 กำแพงคอนกรีตกำบังรังสี (Biological Concrete Shield)
เกราะชั้นที่ 6 แผ่นเหล็กกรุผนังด้านในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Steel Liner)
เกราะชั้นที่ 7 อาคารคลุมปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ (Reactor Containment)
4. ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรม คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์หลายระบบ ระบบละหลายชุด ที่ติดตั้งเพื่อตรวจวัดและตรวจสอบการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์โดยอัตโนมัติ ซึ่งแยกต่างหากจากระบบควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ชุดปกติ แต่จะทำงานควบคู่กันไป ในกรณีที่มีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรมจะเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ทันท่วงทีก่อนที่เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้น ประกอบด้วยชุดเครื่องมือ/อุปกรณ์หลายระบบ
5. ระบบเสริมความปลอดภัยอื่น ๆ คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสริมการทำงานให้แก่ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
6. มาตรการหลังเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การแจ้งข่าวสารโดยเร็ว การจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัย และเตรียมการอพยพ การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันรังสี การตรวจวัดระดับรังสี การควบคุมเส้นทางเข้าออกโรงไฟฟ้า การชำระล้างสิ่งเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสี
การจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม การควบคุมผลิตผลทางการเกษตร และการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณชน จากมาตรฐานและมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกส่วนมากมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงมากขึ้น ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งของบางประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากในอดีตไม่ได้มีการควบคุมและตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก กำลังจะหมดไปในไม่ช้า
พลังงานนิวเคลียร์และการใช้ประโยชน์
พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของพลังงานแสง เสียง ความร้อน แม่เหล็ก ไฟฟ้า หรือพลังงานชนิดอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ มีความจำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิสซึมในร่างกายของมนุษย์และสัตว์
พลังงานแสงมีความจำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช เป็นต้น บ่อเกิดของพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติใช้กันมาเป็นเวลายาวนาน ก็คือ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ ในดินมีถ่านหิน น้ำมัน ความร้อนใต้พิภพ พลังงานจากน้ำตก การสร้างเขื่อน กระแสน้ำ และจากความต่างระดับของน้ำขึ้นน้ำลง
พลังงานจากลมและก๊าซธรรมชาติ ไฟ คือ พลังงานความร้อนที่ได้จากการลุกไหม้หรือจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังมีพลังงานอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากธรรมชาติเช่นกัน แต่เพิ่งมีการค้นพบ จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ คือ พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่ตามทฤษฎี Big Bang และเป็นบ่อเกิดของพลังงานชนิดอื่นทั้งปวงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นอีกด้วย
พลังงานนิวเคลียร์จะถูกปล่อยออกมาในลักษณะพลังงานจลน์ของอนุภาคต่าง ๆ เช่น อนุภาค อัลฟา อนุภาคเบตา นิวตรอน รังสีแกมม่า หรือ รังสีเอกซ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ผลตามมาเป็นพลังงานในรูปอื่นอีกด้วย เช่น พลังงานแสง พลังงานความร้อน พลังงานของคลื่นแม่เหล็กและไฟฟ้าเป็นต้น
รูปแบบของพลังงานนิวเคลียร์
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะวิธีการปลดปล่อยพลังงานออกมา คือ
1. พลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในลักษณะเฉียบพลัน
เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrolled Reactions) พลังงานของปฏิกิริยาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้เกิดการระเบิด (Nuclear Explosion) สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้หลักการเช่นนี้ ได้แก่ ระเบิดปรมาณู (Atomic Bomb) หรือระเบิดไฮโดรเจน และหัวรบนิวเคลียร์ แบบต่าง ๆ
การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในโครงการด้านสันติ เช่นการขุดหลุมลึก (Cratering) ขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น เคยมีโครงการจะนำมาใช้ขุดคลองที่คอคอดกระ จังหวัดระนอง เพื่อทำเป็นคลองน้ำลึก สำหรับให้เรือสินค้า เรือเดินสมุทรแล่นผ่านโดยไม่ต้องอ้อมประเทศมาเลเซีย การขุด อ่างเก็บน้ำ การทำท่าเรือน้ำลึก และการตัดช่องเขา เป็นต้น การขุดทำโพรงใต้ดิน (Contained Explosion) สำหรับกระตุ้นแหล่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในชั้นหินลึก และในการผลิตแหล่งแร่ เป็นต้น
2. พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้
ในปัจจุบัน ปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งควบคุมได้ตลอดเวลา (Controlled Nuclear Reaction) ซึ่งมนุษย์ได้นำเอาหลักการมาพัฒนาขึ้น จนถึงขั้นที่นำมาใช้ประโยชน์ในระดับขั้นการค้า หรือบริการสาธารณูปโภคได้แล้ว มีอยู่แบบเดียวคือ ปฏิกิริยาฟิชชันห่วงโซ่ของไอโซโทปยูเรเนียม-235 และของไอโซโทปที่แตกตัวได้ (Fissile Isotopes) อื่น ๆ อีก 2 ชนิด (ยูเรเนียม-238 และพลูโตเนียม 239)
ส่วนปฏิกิริยาการรวมตัว (Fusion) ของไอโซโทปต่าง ๆ ของไฮโดรเจนหรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ นั้น มนุษย์ยังคงค้นพบวิธีควบคุมได้ เฉพาะในบรรยากาศพิเศษของห้องทดลอง
ดังนั้น จึงยังไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางสันติหรือในเชิงการค้าได้ สิ่งประดิษฐ์ซึ่งทำงานโดยหลักการของปฏิกิริยาฟิชชันห่วงโซ่ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (Nuclear Reactors) หรือที่บางท่านอาจนิยมเรียกว่า เตาปฏิกรณ์ ฯ หรือเตาปรมาณู
การที่มีผู้นิยมเรียกเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ว่าเตาปรมาณูนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตามแนวคิดที่ถูกทาง เพราะเมื่อมองในแง่ของการใช้งานแล้ว เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ก็คือ ระบบอุปกรณ์ที่ใช้ปลดปล่อยพลังงานที่ถูกกักไว้ในแกนกลาง (นิวเคลียส) ของปรมาณูของไอโซโทปที่แตกตัว ได้ให้ออกมาเป็นพลังความร้อนซึ่งเราอาจนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้นั่นเอง
3. พลังงานนิวเคลียร์จากสารกัมมันตรังสี
สารกัมมันตรังสี หรือสารรังสี (Radioactive Material) คือสารที่องค์ประกอบส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นไอโซโทปที่มีโครงสร้างปรมาณูไม่คงตัว (Unstable Isotope) และจะสลายตัวโดยการปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีอัลฟา รังสีเบตา รังสีแกมมา หรือรังสีเอกซ์ รูปใดรูปหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งรูปพร้อม ๆ กัน ไอโซโทปที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้เรียกว่า ไอโซโทปกัมมันตรังสี หรือ ไอโซโทปรังสี (Radioisotope)
คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งของไอโซโทปรังสี คืออัตราการสลายตัวด้วยค่าคงตัวที่เรียกว่า ครึ่งชีวิต (Half Life) ซึ่งหมายถึง ระยะเวลาที่ไอโซโทปจำนวนหนึ่ง จะสลายตัวลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิม ตัวอย่างเช่น ทอง-198 ซึ่งเป็นไอโซโทปที่ใช้รังสีแกมมารักษาโรคมะเร็ง มีครึ่งชีวิต 2.7 วัน หมายความว่า ถ้าท่านซื้อทอง-198 (ทองที่สามารถสลายตัวได้) มา 10 กรัม หลังจากนั้น 2.7 วัน ท่านจะมีทองเหลืออยู่เพียง 5 กรัม แล้วต่อไปอีก 2.7 วัน ก็จะเหลืออยู่เพียง 2.5 กรัม
ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์
1. ทางด้านอุตสาหกรรม
การใช้วัสดุกัมมันตรังสี และเทคนิคทางรังสีในทางอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกว่า เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ เป็นการนำพลังงานปรมาณูมาใช้ประโยชน์ในทางสันติ สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกิจการต่าง ๆ ดังนี้
* ใช้วัดระดับของไหล สารเคมีต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตในโรงงานเส้นใยสังเคราะห์ด้วยรังสีแกมมา
* ใช้ตรวจสอบระดับเศษไม้ในหม้อนึ่งภายใต้ความดันสูง ในการผลิตไม้อัดแผ่นเรียบด้วยรังสีแกมมา
* ควบคุมการไหลผ่านของส่วนผสมในการผลิตปูนซีเมนต์
* วัดความหนาแน่นของน้ำปูนกับเส้นใยหิน ในกระบวนการผลิตกระเบื้องกระดาษ
* วัดความหนาแน่นในการดูดสินแร่ในทะเล เพื่อคำนวณหาปริมาณแร่ที่ดูดผ่าน
* วัดและควบคุมความหนาแน่นของน้ำโคลนที่จะใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดิน
* ควบคุมกระบวนการผลิตเครื่องแก้วให้มีความหนาสม่ำเสมอ
* วัดหาปริมาณสารตะกั่วหรือธาตุกำมะถันในผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียม
* ควบคุมความหนาของเนื้อยางที่เคลือบบนแผ่นผ้าใบในกระบวนการผลิตยางรถยนต์
* ควบคุมน้ำหนักของกระดาษต่อหน่วยพื้นที่ในอุตสาหกรรมผลิตกล่องกระดาษ
* ใช้เป็นเครื่องขจัดประจุกระแสไฟฟ้าสถิตบนแผ่นฟิล์ม ฟิล์มภาพยนตร์ หลอดแก้วที่ใช้ บรรจุผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ
* ใช้ตรวจสอบความรั่วซึมในการผนึกแน่นวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ IC, Semiconductor Watch module ต่าง ๆ ด้วยก๊าซคริปตอน -85
* ใช้ตรวจสอบและถ่ายรอยเชื่อมโลหะ หาความสึกหรอโดยวิธีไม่ทำลายชิ้นงาน มีทั้งการใช้ X-rays, Gamma Rays, และ Neutron Radiography
* ใช้ในการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใต้ดิน ความชื้นใต้ดิน ฯลฯ ด้วยรังสีนิวตรอน
* ใช้ทำสีเรืองแสง
* ใช้วัดหาปริมาณเถ้าของลิกไนต์
* การวิเคราะห์แร่ธาตุด้วยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ สำหรับการสำรวจทรัพยากรในประเทศ (Neutron Activation and X-ray Fluorescence Analysis)
* การใช้รังสีแกมมาเพื่อห่าเชื้อในเครื่องมือเวชภัณฑ์ เช่น กระบวนการฉีดยาสายน้ำเกลือ ถุงเลือด ถุงมือ
2. ทางด้านการแพทย์และอนามัย
เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) คือการนำเอาสารรังสีหรือ รังสีมาใช้ในการตรวจ การรักษา และด้านการค้นคว้าศึกษาการทำงานของระบบอวัยวะในร่างกายเพื่อช่วยในการตรวจวิเคราะห์หรือรักษาโรค บรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และย่นระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล ตัวอย่างบางส่วนของการใช้สารรังสี หรือรังสีด้านการแพทย์ เช่น
* การรักษาโรคมะเร็งด้วย โคบอลต์ -60
* เม็ดทองคำ -198 ในการรักษามะเร็งผิวหนัง
* ลวดแทนทาลัม -182 ในการรักษามะเร็งปากมดลูก
* ไอโอดีน -131 ใช้ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคคอพอก และในรูป Labeled Compound ใช้ตรวจวิเคราะห์การทำงานของไต ระบบโลหิต
* เทคนีเชียม -99m ตรวจทางเดินน้ำดี ไต ต่อมน้ำเหลือง
* แทลเลียม -201ตรวจสภาพหัวใจเมื่อทำงานเต็มที่ ตรวจสภาพการไหลของโลหิตเลี้ยงหัวใจ และตรวจสภาพกล้ามเนื้อในหัวใจ
* แกลเลียม -67 ตรวจการอักเสบต่าง ๆ ที่เป็นหนอง เช่น ในช่องท้อง ตรวจมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
* อินเดียม -111 ใช้ติดสลากเม็ดเลือดขาว ตรวจหาแหล่งอักเสบของร่างกาย ตรวจการอุดตันของไขสันหลัง ตรวจมะเร็งเต้านม รังไข่ ลำไส้
* ไอโอดีน -123 ตรวจการทำงานของต่อมไธรอยด์
* คริปตอน -81m ตรวจการทำงานหัวใจ
* ทอง -195m ตรวจการไหลเวียนโลหิต
* การรักษาโรคมะเร็งในระดับตื้นของร่างกาย เช่น ลูกตา ด้วยรังสีโปรตอน
* การรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกในส่วนลึกของร่างกายด้วยรังสีนิวตรอน
3. ทางด้านการเกษตร ชีววิทยา และอาหาร
ประเทศไทยมีการเกษตรเป็นอาชีพหลักของประชากร โครงการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมกิจการเกษตร เป็นต้นว่าการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพ ของผลิตผลซึ่งกำลังแพร่ขยายออกไปสู่ชนบทมากขึ้น
* การใช้เทคนิคนิวเคลียร์วิเคราะห์ดิน เพื่อการจำแนกพื้นที่ปลูก ทำให้ทราบว่า พื้นที่ที่ศึกษาเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใด ควรเพิ่มปุ๋ยชนิดใดลงไป
* เทคนิคการสะกดรอยด้วยรังสีใช้ศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมแร่ธาตุ และปุ๋ยต้นไม้และพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
* การฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าแมลงและไข่ในเมล็ดพืช ซึ่งเก็บไว้ในยุ้งฉาง และภายหลังจากบรรจุในภาชนะเพื่อการส่งออกจำหน่าย
* การใช้รังสีเพื่อการกำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิดโดยวิธีทำให้ตัวผู้เป็นหมัน
* การถนอมเนื้อสัตว์ พืชผัก และผลไม้ โดยการฉายรังสีเพื่อเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ในการขนส่งทางไกล และการเก็บอาหารไว้บริโภคนอกฤดูกาล
* การใช้เทคนิครังสีเพื่อการขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยง และการเพิ่มอาหารนม อาหารเนื้อ ในโค และ กระบือ
* การนำเทคนิคทางรังสีด้านอุทกวิทยา ในการเสาะหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร
* การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ด้วยวิธีอาบรังสี วิเคราะห์สารตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้บริโภค
* การเอาพลังงานปรมาณูมาใช้ฉายพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (Induced Mutation)
4. ทางด้านสิ่งแวดล้อม
พลังงานนิวเคลียร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใน 2 ด้าน คือในด้านการรักษาและพัฒนาสภาพของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง คือ การตรวจตรา และควบคุมปริมาณรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ในสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมวลมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
* การใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ในน้ำทิ้งจากชุมชน และจากโรงพยาบาล เพื่อป้องกันโรคระบาด
* การใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคในขยะและตะกอน แล้วนำกลับมาทำเป็นปุ๋ยต่อไป
* การใช้รังสีอิเล็กตรอน ในการกำจัดก๊าซอันตราย (SO2, NO2) จากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาถ่านหิน
* การใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์วิเคราะห์สารพิษต่าง ๆ ในดิน พืช อากาศ น้ำ และอาหาร
* การใช้เทคนิคสารติดตามทางรังสีศึกษามลภาวะในสิ่งแวดล้อม
* การวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม เช่น ที่อยู่อาศัย และสถานที่ทำงาน
5. ทางด้านการศึกษาและวิจัย
พลังงานนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ โดยการใช้อนุภาคหรือรังสีที่มีพลังงานสูง วิ่งไปชนนิวเคลียสของธาตุต่าง ๆ การศึกษาวิจัยทั้งขั้นมูลฐานและขั้นประยุกต์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และการให้ประโยชน์ ดังต่อไปนี้
* แหล่งกำเนิดรังสี เช่น เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูหรือต้นกำเนิดรังสีแบบไอโซโทป เครื่องเร่งอนุภาค
* วิศวกรรมนิวเคลียร์เกี่ยวกับการสร้างเครื่อง ฯ การเดินเครื่อง ฯ และการบำรุงรักษาระบบของเครื่อง ฯ
* ลักษณะกายภาพของรังสีชนิดต่าง ๆ อันตรกิริยาของรังสีต่ออะตอมธาตุหรือต่อสสาร
* ผลของรังสีที่มีต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ประยุกต์ทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมืองแร่ยูเรเนียม การผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ การเดินเครื่องปฏิกรณ์ การจัดการเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและกากกัมมันตรังสี แต่ละขั้นตอนจะต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด ให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
1. ขั้นตอนการทำเหมือง
การทำเหมืองแร่ยูเรเนียมมี 2 แบบ คือ แบบเปิดและแบบปิด โดยจะมีฝุ่นละอองจาก ธาตุยูเรเนียม ธาตุทอเรียม และก๊าซเรดอน ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณเหมือง นอกจากนี้ยังมีตะกอนโลหะและสารกัมมันตรังสีปะปน อยู่บ้างเล็กน้อย ดังนั้น จึงอาจทำให้อากาศและพื้นที่บริเวณนั้นมีการปนเปื้อนรังสีและสารโลหะหนักได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง
2. ขั้นตอนการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
ทุกขั้นตอนการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ตั้งแต่การแต่งแร่ จนถึงการสร้างประกอบมัดเชื้อเพลิง จะมีสารกัมมันตรังสีปะปนอยู่ทุกขั้นตอน แต่ปริมาณสารรังสีจะต้องไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้
3. ขั้นตอนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ขณะเดินเครื่องปฏิกรณ์ ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดความร้อน สารกัมมันตรังสี และผลิตผลจากการแตกตัวตลอดเวลา ซึ่งสารกัมมันตรังสีและความร้อนจากเครื่องปฏิกรณ์ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมไว้ในอาคารคลุมปฏิกรณ์และอาคารกังหันไอน้ำ ซึ่งเป็นระบบปิดทั้งหมด ทั้งกากรังสีระดับต่ำ ปานกลาง และสูง กากแต่ละประเภทจะมีวิธีจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ อากาศ น้ำ พื้นดิน และสิ่งมีชีวิต (คน สัตว์ และพืช) น้อยที่สุด
4. ขั้นตอนการจัดเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว
เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะกลายสภาพเป็นสารกัมมันตรังสีระดับสูง ซึ่งต้องควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดรัดกุม เพื่อป้องกันกัมมันตรังสีรั่วไหล และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยมีวิธีการจัดการหลายขั้นตอน เช่น การเก็บไว้ในบ่อน้ำนิรภัย การใส่ในภาชนะป้องกันรังสีและฝังไว้ใต้ดินดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ปัจจุบัน มัดเชื้อเพลิงใช้แล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่มีระบบระบายความร้อนตลอดเวลา แต่บางแห่งเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วไว้ในถังเก็บพิเศษ (Dry Cask Storage) ซึ่งอยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้า
ข้อดีและปัญหาอุปสรรคของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีทั้งข้อดีและปัญหา อุปสรรคหลายประการที่จะต้องพิจารณาเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะใช้ พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไม่
* ข้อดี
1. ให้กำลังผลิตสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 เครื่อง มีกำลังผลิตสูงสุด 1,500 เมกะวัตต์ เทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก 730 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 1 เครื่อง 300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา/ก๊าซธรรมชาติที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 เครื่อง 600 เมกะวัตต์
2. ช่วยประหยัดทรัพยากรพลังงานอื่น ๆ และใช้พื้นที่ในการก่อสร้างไม่มาก
3. เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง สามารถเดินเครื่องได้อย่างต่อเนื่อง นานถึง 18 เดือน โดยไม่ต้องหยุดเครื่อง หากเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่จะเดินเครื่องต่อเนื่องได้นานขึ้นถึง 24 เดือน
4. ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำและมีเสถียรภาพ
5. เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ปลดปล่อยเขม่าควัน ก๊าซพิษ และของเสียออกมาสู่สิ่งแวดล้อม
6. มีอายุการใช้งานยาวนาน 40 ปี หากเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่จะมีอายุการใช้งาน ยาวนานถึง 60 ปี
7. ช่วยส่งเสริมในด้านการพัฒนาบุคลากรของชาติ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเทคโนโลยีนิวเคลียร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง
8. เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องขึ้นมากมาย
* ปัญหาอุปสรรค
1. การไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณ ชน เพราะเกรงกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะคำว่านิวเคลียร์ ทำให้คนส่วนมากนึกถึง ระเบิดนิวเคลียร์ อีกทั้งมีเหตุการณ์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมืองเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2529 ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชน ออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก มีพนักงานของโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้รับบาดเจ็บจากการได้รับรังสีเข้ารับการรักษาตัว จำนวนประมาณ 300 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 31 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ยิ่งตอกย้ำความน่าสะพรึงกลัวเพิ่มมากขึ้น
2. การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้ามีหลักเกณฑ์และมาตรการที่เข้มงวดรัดกุมมาก ทำให้หาสถานที่ก่อสร้างได้ยาก
3. เงินลงทุนสำหรับการก่อสร้างสูงมาก ทั้งนี้เพราะต้องเสริมระบบความปลอดภัยต่าง ๆ มากมาย
4. ใช้ระยะเวลาในการเตรียมงานและการดำเนินการยาวนาน 10 ปีขึ้นไป
5. ต้องการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อใช้ควบแน่นไอน้ำในระบบผลิตไอน้ำ
6. ยังไม่มีวิธีการจัดการกากกัมมันตรังสีระดับสูงให้หมดความเป็นสารรังสีได้ใน ระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงต้องเก็บรักษากากนิวเคลียร์ไว้ในสภาพที่ปลอดภัยเช่นที่กระทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น
พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันอย่างยิ่ง ทั้งภายในบ้านเรือนห้างร้าน สถานประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
พลังงานไฟฟ้าซึ่งใช้กันอยู่นี้ได้มาจากการแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น การแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติเป็นพลังงานดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อธรรมชาติมากน้อยต่างกันไป
ในปัจจุบันการดำเนินนโยบายและการจัดหาพลังงานต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องมีการวางแผนไว้เป็นระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดการขาดแคลนพลังงานขึ้นทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิดดังกล่าวข้างต้นมีขีดจำกัดในการขยายกำลังการผลิตและบางอย่างนับวันจะหมดไป
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อมาเสริมสร้างความมั่นคงการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต นั่นคือ พลังงานนิวเคลียร์ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทั้งในเรื่องความรู้ความเข้าใจ ความกังวลของสาธารณชนในเรื่องของความปลอดภัยและการจัดการกากนิวเคลียร์ ดังนั้นหากประเทศไทยมีแผนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต
ความสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลก็คือการเผยแพร่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้รับทราบถึงผลประโยชน์ทั้งข้อดีและข้อเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินใจ และนอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรและการวิจัยพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ไว้สำหรับรองรับกับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยต่อไปด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
* ชนิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (http://www.dede.go.th)
* โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (http://wikipedia.org)
* เอกสารประกอบการบรรยาย โรงไฟฟ้าพลังงานิวเคลียร์, ผศ.ดร.สมพร จองคำ (http://www.nst.or.th/article/article493/article493015.html)
* พลังงานนิวเคลียร์ สถานการณ์และการพัฒนาเทคโนโลยี, วารสาร Energy Plus ฉบับที่ 14 เมษายา-มิถุนายน 2550, กระทรวงพลังงาน (http://www.energy.go.th)
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด