เนื้อหาวันที่ : 2010-12-10 16:57:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 27618 views

การตรวจสอบสภาพและความผิดปกติของแบริ่ง (ตอนที่ 1)

แบริ่งเป็นอุปกรณ์ลดแรงเสียดทานที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายและถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงกับการทำงานและประสิทธิภาพของเครื่องจักร การที่แบริ่งเกิดความผิดปกติหรือชำรุดเสียหายนั้นนอกจะทำให้เครื่องจักรต้องเสียเวลาและมูลค่าในการผลิตที่เกิดจากการหยุดเพื่อซ่อมแล้ว ในอุปกรณ์บางอย่างที่เกี่ยวกับความปลอดภัยอาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลได้

อาจหาญ  ณ นรงค์
แผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์  แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 

..

แบริ่งเป็นอุปกรณ์ลดแรงเสียดทานที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายและถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงกับการทำงานและประสิทธิภาพของเครื่องจักร การที่แบริ่งเกิดความผิดปกติหรือชำรุดเสียหายนั้นนอกจะทำให้เครื่องจักรต้องเสียเวลาและมูลค่าในการผลิตที่เกิดจากการหยุดเพื่อซ่อมแล้ว ในอุปกรณ์บางอย่างที่เกี่ยวกับความปลอดภัยอาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลได้ เช่น แบริ่งที่เป็นส่วนประกอบของยานยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ

.
แบริ่งชิ้นส่วนที่ไม่มีการซ่อมตลอดอายุการทำงาน

แบริ่งเป็นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของเครื่องจักร ในการใช้งานแบริ่งนั้นเมื่อติดตั้งแบริ่งเข้ากับเครื่องจักรแล้วก็จะใช้งานแบริ่งไปจนแบริ่งนั้นเสื่อมสภาพ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปใช้แบริ่งตัวใหม่ แบริ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้

.

แต่การติดตั้งอย่างถูกวิธี ใช้งานอย่างถูกต้องถูกกับประเภทและชนิดของแบริ่ง ตลอดจนการหล่อลื่นและบำรุงรักษาแบริ่งอย่างถูกต้องและถูกวิธีก็จะสามารถทำให้อายุการใช้งานของแบริ่งยาวนานและส่งผลให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ 

.

รูปที่ 1 ความเสียหายแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง

.

สำหรับอายุการใช้งานของแบริ่งนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างเช่น ความเร็วรอบ ภาระ (Load) ของแบริ่ง อุณหภูมิแวดล้อมของแบริ่ง การหล่อลื่นและการบำรุงรักษา ดังนั้นเพื่อที่จะให้อายุการใช้งานของแบริ่งยาวนานและป้องกันความเสียหายที่เกิดกับเครื่องจักรเนื่องจากความเสียหายของแบริ่งในรายละเอียดต่อไปของบทความนี้จะนำเสนอถึงรายละเอียดในการตรวจสอบ บำรุงรักษาแบริ่งและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.
การเลือกใช้สารหล่อลื่นสำหรับแบริ่ง (Lubricant Selection)

ประโยชน์ของสารหล่อลื่นสำหรับแบริ่งก็คือเป็นตัวเคลือบเม็ดลูกปืนและรางวิ่ง ตลอดจนชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ของแบริ่งลักษณะเป็นฟิล์มเพื่อป้องกันการสัมผัสกันโดยตรงของโลหะดังกล่าวเพื่อลดการสึกหรอและลดแรงต้านทานจากการเสียดสีกันของชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งโดยสรุปประโยชน์ของสารหล่อลื่นสำหรับแบริ่งมีดังนี้คือ

.

- ลดการขัดสีกันระหว่างชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ ลดแรงเสียดทาน
- ถ่ายเทความร้อนการเสียดทานที่เกิดขึ้นในแบริ่ง
- ป้องกันการกัดกกร่อนและการเกิดสนิม
- ป้องกันวัตถุที่ไม่ต้องการเช่นฝุ่นและสิ่งปกปรกไม่ให้เข้าไปในแบริ่ง
- ช่วยให้แบริ่งใช้งานได้นานขึ้น

.
เกณฑ์การตัดสินใจเลือกใช้สารหล่อลื่นชนิดต่าง ๆ กับแบริ่ง

ในการพิจารณาเลือกใช้สารหล่อลื่นกับแบริ่งนั้น จะพิจารณาที่ความเร็วในการเคลื่อนที่แบบเชิงเส้นของเม็ดลูกปืน หมายความว่าถ้าหาเม็ดลูกปืนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำถึงความเร็วในระดับปานกลางจะใช้จาระบี (Grease) เป็นสารหล่อลื่น ส่วนการเคลื่อนที่ของเม็ดลูกปืนที่ความเร็วระดับปานกลางไปจนถึงความเร็วสูง ๆ จะใช้น้ำมัน (Oil) เป็นสารหล่อลื่น

.

ค่าที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใช้สารหล่อลื่นคือ ผลคูณระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางของแบริ่ง (Diameter, ?)ในหน่วยมิลลิเมตร กับควมเร็วรอบ (Revolution) ในหน่วยรอบต่อนาที (rpm) ของแบริ่งหรือค่า dn Value (d = Bearing Diameter, n = Revolution,)  

.

ในการพิจารณานั้นเราจะใช้เกณฑ์ดังนี้คือ
- ถ้าหากผลคูณระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางและความเร็วรอบของแบริ่ง (dn Value) มีค่าต่ำกว่า 16,000 ให้ใช้จาระบี (Grease) เป็นสารหล่อลื่น

.

- ถ้าถ้าหากผลคูณระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางและความเร็วรอบของแบริ่ง (dn Value) มีค่ามากกว่า 16,000 ให้ใช้น้ำมัน (Oil) เป็นสารหล่อลื่น ซึ่งในรายละเอียดของการใช้จาระบีและน้ำมันเป็นสารหล่อลื่นนั้นจะกล่าวถึงในรายละเอียดหลังจากนี้

.
ซึ่งในการหล่อลื่นด้วยจาระบีและน้ำมันนั้นมีข้อดีของสารหล่อลื่นทั้งสองชนิดดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงข้อดีของการหล่อลื่นด้วยจาระบีและน้ำมัน

.

* การหล่อลื่นด้วยจาระบี (Grease Lubricant) 
โดยปกติเราจะใช้จาระบีในการหล่อลื่นเนื่องจากง่ายต่อการใช้งานอีกทั้งจาระบีก็ยังสามารถใช้งานได้ดีกับแบริ่งที่หมุนด้วยความเร็วรอบต่ำ ๆ และที่ความเร็วรอบปานกลางดังที่กล่าวมาแล้วในรายละเอียดของค่า dn Value

.

โดยทั่วไปแล้วในการเลือกใช้จาระบีนั้นเราจะพิจารณาถึง ชนิดของสบู่จาระบี (Thicknecker) ชนิดของน้ำมันฐาน (Base Oil)  ตลอดจนความแข็งของจาระบีเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมในการหล่อลื่นที่นำไปใช้ ชึ่งโดยทั่วไปแล้วเกณฑ์ในการพิจารณาเบื้องต้นจะเป็นดังแสดงในตารางที่ 2

.

ตารางที่ 2 แสดงเกณฑ์การพิจารณาในการใช้งานจาระบี

.

สำหรับการหล่อลื่นแบริ่งด้วยจาระบีนั้นคำถามที่เราจะพบบ่อย ๆ ก็คือ “ปริมาณจาระบีที่ใช้ในการหล่อลื่นต้องใช้เท่าใหร่” และ “ช่วงเวลาในการอัดจาระบีซ้ำ (Relubricant) นั้นควรจะเป็นระยะเวลาเท่าไหร่” จริง ๆ แล้วคำถามเหล่านี้มีคำตอบอยู่แล้วในคู่มือการใช้แบริ่งหรือแคทตาลอกของแบริ่งที่ผู้ผลิตแนะนำมาซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

.

* ปริมาณจาระบีที่ต้องใช้ (Quantity of Grease for Use)
ปริมาณจาระบีที่ต้องใช้หรือต้องอัดจะขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปืนซึ่งถ้าหากเป็นลูกปืนลูกใหญ่หรือมีปริมาตรมากก็ต้องใช้ปริมาณจาระบีมาก ซึ่งจะเป็นไปตามสมการดังนี้คือ

.

- ปริมาณจาระบีที่จะต้องอัดในครั้งแรก (Initial Grease Fill) ซึ่งจาระบีบางแบบจะถูกเติมหรืออัดมาจากโรงงานหรือผู้ผลิตแล้ว
     ลูกปืนเม็ดกลม (Ball Bearing)             

      Roller Bearing                                              
.

- ปริมาณจาระบีที่ต้องอัดครั้งต่อไปตามกำหนดเวลา (Relubrication or Added at Service) ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้ทำการเติมหรืออัดจาระบีเอง
                 Qr = 0.005 x D x B …… (3)

.

รูปที่ 2 แสดงตัวแปรตามสมการที่ 1, 2 และ 3

.

โดยที่   Qi  คือ ปริมาณจาระบีที่จะต้องอัดครั้งแรก (Initial Grease Fill) มีหน่วยเป็นซีซี
             Qr คือ ปริมาณจาระบีที่จะต้องเติมเครั้งต่อไปตามระยะเวลา (Relubrication) มีหน่วยเป็นซีซี
             d คือ เส้นผ่าศูนย์กลางเพลา (Bore) ของแบริ่ง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
             D คือ เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก (Out Side Diameter) ของแบริ่ง  มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
             B คือ ความกว้างของรางในของแบริ่ง (Inner Ring Width) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ดังมิติต่าง ๆ ของแบริ่งในรูปที่ 2

.
* ระยะเวลาในการอัดจาระบีซ้ำ (Period of Relubricant)

เป็นคำถามที่ถูกถามกันมากว่าในการอัดจาระบีซ้ำ (Relubricant) นั้นมีระยะเวลาเท่าไหร่หลังจากการอัดครั้งก่อน ในบางครั้งเราสังเกตว่าในแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร จะมีรายการอัดจาระบีอยู่ด้วยในแผนทุกครั้ง บางที่อาจมีการอัดจาระบีแบริ่งกันทุกเดือน        

.

หรือทุกครั้งที่มีการบำรุงรักษาเครื่องจักรตามแผน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ต้องเสียเวลา เสียกำลังคนและเสียเงินค่าจาระบีโดยใช่เหตุ มิหนำซ้ำอาจทำให้แบริ่งและซีลเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติด้วยเนื่องจากความร้อนของแบริ่งจากกการที่มีจาระบีอยู่ภายในแบริ่งมากเกินไป  

.

สำหรับระยะเวลาในการอัดจาระบีซ้ำนั้นจะขึ้นอยู่กับ ขนาดของแบริ่งและความเร็วรอบในการหมุน ซึ่งทางผู้ผลิตแบริ่งได้แนะนำมาอยู่ในรูปของแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะการทำงานของแบริ่ง คือความเร็วรอบในการหมุน (Rotating Speed) และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพลา (Bore Diameter) กับระยะเวลาในการอัดจาระบีซ้ำในหน่วยชั่วโมง (Hours, h) ดังรูปที่ 3

.

รูปที่ 3 แผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะการทำงานของแบริ่งกับระยะเวลาในการอัดจาระบีซ้ำ

.
* การหล่อลื่นด้วยน้ำมัน (Oil Lubrication) 

จะใช้ในการหล่อลื่นแบริ่งที่ทำงานด้วยสภาวะการทำงานที่ความเร็วรอบและอุณหภูมิสูง ๆ เพราะการทำงานที่ความเร็วสูง ๆ นั้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในแบริ่งจะเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็ว น้ำมันหล่อลื่นสามารถแทรกตัวเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของแบริ่งและให้การหล่อลื่นได้ดีกว่า        

.

ในทำนองเดียวกันในสภาวะที่อุณหภูมิสูงน้ำมันจะเป็นตัวที่นำความร้อนออกจากชิ้นส่วนของแบริ่งดีกว่า ในบางระบบที่ต้องทำงานด้วยอุณหภูมิสูงเป็นเวลาต่อเนื่องนาน ๆ ก็จะมีชุดระบายความร้อนน้ำมันหล่อลื่น (Oil Coolers) เพื่อนำความร้อนออกจากระบบอีกทีหนึ่ง  

.

ในการพิจารณาเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นกับแบริ่งนั้น เราจะพิจารณาที่ความเร็วรอบและอุณหภูมิการทำงานของแบริ่งเพื่อเลือกใช้ชนิดและความหนืดของน้ำมันให้ถูกต้องเหมาะสมตามชนิดของแบริ่ง ดังตารางที่ 3 แสดงความหนืดของน้ำมันที่เหมาะสมกับแบริ่งชนิดต่าง ๆ และรูปที่ 4 แสดงระดับความหนืดของน้ำมันที่อุณหภูมิต่าง ๆ

.

ตารางที่ 3 แสดงความหนืดของน้ำมันที่เหมาะสมกับแบริ่งชนิดต่าง ๆ

.

รูปที่ 4 แผนภูมิแสดงระดับความหนืดของน้ำมันที่อุณหภูมิต่าง ๆ

.

สำหรับแนวทางในการเลือกน้ำมันให้เหมาะสมกับสภาวะของเครื่องจักรนั้น ในส่วนของผู้ใช้นั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้ตามที่ผู้ผลิตแนะนำมา ซึ่งจะใช้น้ำมันแบบไหนเบอร์อะไรนั้นก็จะผ่านการพิจารณาจากผู้ผลิตแล้ว

.

แต่ในกรณีที่เป็นเครื่องจักรที่ไม่มีรายละเอียดในการใช้น้ำมันหล่อลื่นจากผู้ผลิตก็สามารถพิจารณาใช้น้ำมันจากตารางที่ 4 ตัวอย่างการพิจารณาเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่น โดยจะพิจารณาจาก อุณหภูมิที่ใช้งาน, ความเร็วรอบของแบริ่ง, การรับภาระ (Load) ของแบริ่ง, ซึ่งจะแบ่งเป็นการรับภาระแบบเบาและภาระหนัก (Heavy Duty Load) และการรับภาระแบบกระแทก (Impact Load)

.
ตารางที่ 4 แสดงแนวทางการเลือกความหนืดของน้ำมันหล่อลื่นสำหรับแบริ่ง

.

รูปที่ 5 การใช้จาระบีหล่อลื่นจากศูนย์กลาง (Centralize)

.

รูปที่ 6 แบริ่งที่ใช้งานที่รอบและอุณหภูมิสูงต้องใช้การหล่อลื่นด้วยน้ำมัน

.

นอกจากการเลือกใช้น้ำมันที่ถูกต้องแล้วและหลังจากที่น้ำมันหล่อลื่นถูกใช้งานไปนานที่สภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น  ในที่ที่มีความร้อนสูง มีความชื้นหรือฝุ่นมากและสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นผลดีกับน้ำมันหล่อลื่นอื่น ๆ คุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นนั้น ๆ จะเปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับเครื่องจักรที่ใช้แบริ่งขนาดเล็กราคาไม่สูงและการหยุดเครื่องจักรไม่ได้กระทบต่อการผลิตมากนักก็ไม่มีปัญหา 

.

สำหรับแบริ่งที่มีความสำคัญเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรที่มีราคาสูง และเป็นเครื่องจักรที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการผลิตมากหากหยุดเครื่อง ในกรณีนี้เราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นมาก  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บอกถึงสภาพของน้ำมันหล่อลื่นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะใช้ต่อไปได้หรือเปล่าคือสภาพและสิ่งเจือปนในน้ำมันดังแสดงในตารางที่ 5

.

ตารางที่ 5 แสดงคุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่นในการพิจารณาอายุการใช้งาน

.
การตรวจสอบสภาพของแบริ่ง (Condition Monitoring of Bearing) 
การตรวจสอบสภาพของแบริ่งนั้นจะแบ่งการตรวจสอบออกเป็นสองแบบคือ
* การตรวจสอบสภาพของแบริ่งขณะทำงาน (Check of Bearing in Operation)  

เป็นการตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่งในขณะที่แบริ่งกำลังทำงานเพื่อติดตามสภาพของแบริ่ง เป็นการหาความผิดปกติและเตรียมการแก้ใขปัญหาหากมีความปกติเกิดขึ้นกับแบริ่ง ในการตรวจสอบแบริ่งขณะทำงานนั้นจะตรวจสอบอุณหภูมิ (Temperature) การสั่นสะเทือนและเสียงผิดปกติ (Vibration and Noise) ที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง นอกจากนั้นจะต้องตรวจสอบสภาพการหล่อลื่นของแบริ่งด้วยว่าเพียงพอหรือมากเกินไปหรือไม่

.
รายละเอียดในการตรวจสอบสภาพแบริ่งขณะที่เครื่องจักรทำงาน (Inspection When Machine Running) 
* อุณหภูมิในการทำงานของแบริ่ง (Bearing Temperature)

โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิของแบริ่งจะเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิห้องที่แบริ่งทำงานหรืออุณหภูมิของชิ้นส่วนที่ทำงานร่วมกันหรือติดกับแบริ่งนั้นหลังจากที่เริ่มทำงานไประยะหนึ่ง ประมาณ 10–40 ๐C ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ความเร็วรอบในการทำงานรับโหลด (Load) และก่อนมีโหลด (Pre-Load) ของแบริ่ง              

.

การหล่อลื่นและการกระจายอุณหภูมิหรือความร้อนจากอุปกรณ์ข้างเคียง ซึ่งเมื่อแบริ่งทำงานไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้นถ้าแบริ่งอยู่ในสภาวะการทำงานที่ปกติอุณหภูมิของแบริ่งจะต้องคงที่และโดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิของแบริ่งจะต้องไม่เกิน 100 C ในกรณีที่อุณหภูมิของแบริ่งสูงผิดปกติอาจมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

.

  1. การหล่อลื่นไม่เพียงพอหรือมากเกินไป
   2. การติดตั้งไม่ดี  หรือแบริ่งเสียหายขณะที่ติดตั้ง
   3. แบริ่งมี Clearance น้อยเกินไปหรือแบริ่งรับภาระ (Load) มากเกินไป
   4. เกิดการเสียดทานกันระหว่างขอบแบริ่งกับร่องซีล
   5. ใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง
   6. เกิดรอยแตกที่ผิวแบริ่ง

.

* การตรวจสอบการสั่นสะเทือนของแบริ่ง (Vibration of bearing)
ความเสียหายและความผิดปกติ เช่นการไม่ได้ศูนย์ (Misalignment) การไม่สมดุล (Imbalance) หรือสภาพการจับยึดไม่ดีหรือการหลุดหลวมของเครื่องจักรที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรจะส่งผลกระทบโดยตรงกับแบริ่ง ตลอดจนความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการวัดการสั่นสะเทือน ขนาดของการสั่นสะเทือน (Amplitude) ที่มากหรือน้อยที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเสียหายหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง  

.
* การตรวจสอบเสียงผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง (Operating Sound of Bearing) 

เสียงผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความเสียหายและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง  สำหรับความผิดปกติของแบริ่งที่แสดงออกมาในรูปเสียงที่ผิดปกตินั้นมีรายละเอียดของสาเหตุ และการแก้ใขแสดงในตารางที่ 6 

.

ในการวิเคราะห์เสียงที่เกิดจากความผิดปกติของแบริ่งนั้น อันดับแรกเราต้องมองภาพการทำงานของส่วนประกอบต่าง ๆ ของแบริ่งให้ออกก่อนว่าในขณะที่แบริ่งต้องรับภาระ (Load) และหมุนไปด้วยนั้นชิ้นส่วนแต่ละชิ้น เช่น รางนอกและรางใน (Inner and Outer Race) รัง (Retainer) แบริ่ง หรือเม็ดลูกปืน (Ball or Roller) เคลื่อนที่ในลักษณะอย่างไร สัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ หรือไม่อย่างไร และลักษณะเสียงผิดปกติที่ดังออกมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง

.

เช่น ระดับความดังของเสียง ลักษณะของเสียงดังที่เกิดขึ้น ความถี่ของเสียงที่เกิดขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของเสียงกับควมเร็วรอบในการหมุนของลูกปืนเป็นต้อน  เมื่อเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้วก็นำมาวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากส่วนใหนของลูกปืนที่ชำรุด

.

ตารางที่ 6 แสดงลักษณะและสาเหตุของเสียงผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแบริ่ง

.
สรุป

จากบทความเกี่ยวกับแบริ่งเบื้องต้นที่นำเสนอนั้นผู้เขียนหวังว่าท่านจะสามารถเข้าใจในรายละเอียดต่าง ๆ ของแบริ่งในเรื่องของ ความสำคัญของแบริ่ง ตลอดจนแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้ชนิดของสารหล่อลื่นและความหนืดให้เหมาะสมกับชนิดและสภาวะการทำงานของแบริ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีแนวทางในการพิจารณาปริมาณในการใช้สารหล่อลื่น

.

เช่น จาระบีตลอดจนช่วงเวลาที่จะต้องอัดจาระบีซ้ำ (Re Lubricant) กับแบริ่งชนิดและขนาดต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามชนิดและสภาวะการทำงานของแบริ่งได้เช่นกัน และในตอนท้ายของบทความเป็นรายละเอียดและแนวทางในการตรวจสอบความผิดปกติของแบริ่งขณะทำงาน ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการตรวจสอบแบริ่งที่หมดสภาพการใช้งานว่าการเสียหายที่เกิดขึ้นกับแบริ่งในลักษณะต่าง ๆ มีสาเหตุมาจากอะไรและวิธีการแก้ใขเป็นอย่างไร

.

เอกสารอ้างอิง
[1]   Bearing Technical Information, NACHI-FUJIKOSHI CORP.
[2]   NTN Rolling Bearing Handbook, NTN Corporation.
[3]   Care and Maintenance of Bearings, NTN Corporation.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด