เนื้อหาวันที่ : 2007-02-27 14:57:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6480 views

108 คำถาม ลอจิสติกส์ และโซ่อุปทาน (ตอนที่ 1)

โซ่อุปทานในอดีตเป็นอย่างไร ในปัจจุบันก็คงจะมีเค้าโครงเหมือนเดิม แต่จะมีรายละเอียดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามพัฒนาการ เปรียบเสมือนกับโครงสร้างของตัวเรา เมื่อตอนเด็กเป็นอย่างไร ตอนเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังคงมีโครงสร้างเหมือนเดิม แต่ผู้ใหญ่มีร่างกายใหญ่แข็งแรง มีความซับซ้อนของสติปัญญามากขึ้น

มาเปลี่ยนบรรยากาศสำหรับคอลัมน์นี้บ้าง ผมได้รวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อย ๆ มาตอบให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันในหลายหลากคำถาม ผมหวังว่าลักษณะบทความที่ถาม-ตอบ น่าจะอีกทางเลือก หนึ่ง ในการนำเสนอความรู้และความเห็นที่กระชับและหลากหลายในความรู้

.

ทำไมการจัดการโซ่อุปทานและการจัดการโลจิสติกส์ จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบันมากกว่าเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา ?

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปเพราะเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยนความคิดของคนก็เปลี่ยนตามการวิวัฒนาการขององค์รวมของโลกมนุษย์และธรรมชาติ การจัดการธุรกิจก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราต้องจัดการธุรกิจ 20 ปีต่อมาและอีก 20ปีข้างหน้าเราก็ยังคงต้องจัดการธุรกิจอยู่เหมือนเดิม แต่คงจะไม่ใช่แนวทางเดิม วิธีการเดิม คิดอย่างเดิม เพราะโจทย์ของธุรกิจนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสภาวะแวดล้อม ดังนั้นการจัดการธุรกิจแบบดั้งเดิมคงจะใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน แต่โครงสร้างหลักของธุรกิจก็ยังคงเดิม โซ่อุปทานในอดีตเป็นอย่างไร ในปัจจุบันก็คงจะมีเค้าโครงเหมือนเดิม แต่จะมีรายละเอียดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามพัฒนาการ เปรียบเสมือนกับโครงสร้างของตัวเรา เมื่อตอนเด็กเป็นอย่างไร ตอนเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังคงมีโครงสร้างของตัวเราเหมือนเดิม แต่ผู้ใหญ่มีขนาดของร่างกายใหญ่แข็งแรง มีความซับซ้อนของสติปัญญามากขึ้น มีความคิดความสามารถในการตัดสินใจที่ซับซ้อนมากกว่าเด็ก เมื่อ 20 ปีที่แล้วของธุรกิจยังเป็นแค่เด็ก 20 ปี ต่อมาธุรกิจในโลกเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การคิดการดำเนินธุรกิจก็ย่อมแตกต่างกันออกไปจากเดิม

.

แล้วร้านขายขนมครกเล็ก ๆ หรือ ร้านซ่อมรถจักรยานจะใช้ประโยชน์การจัดการโซ่อุปทานได้หรือไม่ ?

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะต้องกินอาหารเพื่อมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกันกับบริษัทเล็ก ๆ ก็ต้องการอยู่รอดและเติบโตในธุรกิจเหมือนบริษัทใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าบริษัทใหญ่หรือเล็กก็ย่อมใช้แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานเหมือนกัน เพราะทุกธุรกิจมีการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเหมือนกัน ทุกอย่างอธิบายได้เหมือนกันระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทเล็ก (ต้องลองย้อนกลับไปอ่านบทความเก่า ๆ ของผมดู) สิ่งที่จะแตกต่างกันก็คือ ขนาด ความซับซ้อนของธุรกิจ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินงาน ที่ทำให้บริษัทใหญ่และเล็กนั้นดูแตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริง ทั้งบริษัทใหญ่และเล็ก ต่างก็ดำเนินการในเรื่องเดียวกัน คือ การสร้างรายได้และผลกำไร

.

คุณคิดว่า บริษัทใหญ่จะประสบผลสำเร็จในการจัดการโซ่อุปทานได้ง่ายกว่าบริษัทเล็กหรือไม่ ?

บริษัทใหญ่มีการลงทุนสูง ก็ย่อมต้องการผลตอบแทนสูง กระบวนการธุรกิจมีความซับซ้อนตามลักษณะผลิตภัณฑ์ สำหรับบริษัทเล็กส่วนมากจะมีการลงทุนต่ำ ยอดขายไม่มากผลตอบแทนในเชิงปริมาณย่อมสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ แต่กระบวนการธุรกิจของบริษัทเล็กย่อมไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนเหมือนบริษัทใหญ่ อัตราผลตอบแทนอาจจะดีกว่าบริษัทใหญ่ด้วย ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น ส่วน หนึ่ง มาจากการจัดการโซ่อุปทาน และการจัดการโลจิสติกส์นั่นเอง แน่นอนครับบริษัทใหญ่ลงทุนสูง ทรัพยากรมีมากมาย มีความวุ่นวายซับซ้อนมากกว่า ย่อมจัดการยากกว่าอย่างแน่นอน ผลตอบแทนในเชิงปริมาณจะมากกว่า แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วอาจจะน้อยกว่าก็ได้ แต่บริษัทเล็กจะจัดการได้ง่ายกว่า ทรัพยากรทุกอย่างก็จะน้อยกว่า แต่ผลตอบแทนการลงทุนเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว อาจจะมากกว่าการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในบริษัทมีต้นทุนในการจัดการมากกว่าบริษัทเล็กมาก เช่น การลงทุนในบุคลากรและโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

.

คุณคิดว่าบทบาทใดที่ "ความไว้วางใจกัน" มีอยู่ในการปฏิบัติการของการจัดการโซ่อุปทาน ?

ธุรกิจในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนในความเป็นโซ่อุปทานมากขึ้นตามลักษณะผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการเชื่อมโยงกันระหว่างบริษัทในโซ่อุปทานก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ความไว้วางใจกันระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานจึงมีความสำคัญในแบ่งปันความรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างฟังก์ชันการทำงานในโซ่อุปทานภายในองค์กร และโซ่อุปทานระหว่างองค์กร ความไว้วางใจเหล่านี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานในการจัดการ การไหลของข้อมูลข่าวสารได้ทันทีและยังรวมถึง ความรู้เทคโนโลยีที่ถูกถ่ายทอดไปยังสมาชิกเพื่อการพัฒนาความสามารถให้ทัดเทียมและมีความสอดคล้องกันการทำงานร่วมกัน

.

คุณคิดว่าการจัดการโซ่อุปทานจะเป็นแต่คำพูดที่ฮิตแต่ชั่วคราว หรือจะอยู่ตลอดไป ?

ผมมีความเชื่อว่าการจัดการโซ่อุปทานคงจะไม่ใช่แค่คำพูดฮิตชั่วคราว แต่คราวนี้เป็นของจริงเพราะว่า การจัดการโซ่อุปทานไม่ได้เพิ่งจะมีใช้หรือปฏิบัติกันในธุรกิจ แต่ที่จริงแล้วมีการปฏิบัติกิจกรรมโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมานานก่อนที่จะมีการเรียกว่า การจัดการโซ่อุปทานเสียอีก และที่สำคัญ กลยุทธ์ธุรกิจในปัจจุบันต่างมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโซ่อุปทาน น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจ เพราะทุกความคิดในการพัฒนาธุรกิจจะต้องมีโซ่อุปทานเป็นตัวตั้งเสมอ

.

โลจิสติกส์ ในอดีตและปัจจุบันต่างกันอย่างไร ?

แน่นอนครับมีความแตกต่างกันอยู่มาก เพราะในอดีตกิจกรรมโลจิสติกส์จะหมายถึง การขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาได้เพิ่มเติมในส่วนของการจัดเก็บและการกระจายสินค้า แต่ปัจจุบันแนวคิดของโลจิสติกส์เปลี่ยนไปมาก โดยคำนึงของการไหลหรือการเคลื่อนย้ายของสำคัญผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าต่าง ๆ จนไปถึงมือลูกค้า จุดสำคัญที่แตกต่างกัน คือ ในอดีตกิจกรรมโลจิสติกส์จะถูกมองและถูกจัดการอย่างเป็นส่วน ๆ แยกออกจากกัน (Functional) แต่ในปัจจุบันการจัดการโลจิสติกส์ถูกมองอย่างเป็นองค์รวม (Holistic) หรือเป็น Integrated Logistics Management) การจัดการโลจิสติกส์ในเชิงบูรณาการเช่นนี้ เราเรียกกันว่า การจัดการโซ่อุปทาน ขอบข่ายของการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์นั้นอยู่ทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กร สำหรับการจัดการ โซ่อุปทานภายในองค์กรจะพิจารณาตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงลูกค้าของบริษัท ส่วนการจัดการโซ่อุปทานระหว่างองค์หรือ (Extended Supply Chain) จะครอบคลุมไปทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ไม่ใช่แค่ภายในบริษัท แต่จะพิจารณาตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ไปจนถึงการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานไปกำจัดทิ้ง

.

แล้วหน่วยงานการศึกษา ที่ไม่ได้แสวงหากำไร หรือ องค์กรของภาครัฐจะได้ประโยชน์จากการจัดการโซ่อุปทานได้อย่างไร

 ทุกการปฏิบัติการที่ต้องการผลลัพธ์ย่อมมีโซ่อุปทานและการจัดการโลจิสติกส์ สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือหน่วยงานภาครัฐนั้นผมถือว่าทำธุรกิจเหมือนกัน แต่เป็นธุรกิจที่ไม่แสวงกำไรหรือไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์ เพราะหน่วยงานเหล่านี้ใช้ทรัพยากรและต้นทุนการดำเนินงานเหมือนองค์กรเชิงพาณิชย์ทั่วไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะย้อนกลับสู่สังคมประชาชนเป็นส่วนใหญ่ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ส่วนบริษัทห้างร้านหรือองค์กรเชิงพาณิชย์นั้นผลกำไรที่ได้จะกลับคืนไปสู่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนและใช้ในการขยายธุรกิจ

.

แล้วลูกค้าได้ประโยชน์อะไรจากการจัดการโซ่อุปทาน ?

โจทย์หลักในการจัดการโซ่อุปทานก็ คือ การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเป้าหมายหลักของการจัดการโซ่อุปทาน คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจในโซ่อุปทานให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้เรียกได้ว่า ถูกกว่า เร็วกว่า และดีกว่า ดังนั้นใครที่เคยได้ยินมาว่า การจัดการโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุนนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเป้าหมายหลักของการจัดการโซ่อุปทานก็ คือ การสร้างรายได้และต้องมีต้นทุนต่ำกว่าเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น การมีต้นทุนในการผลิตตั้งแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียง ลูกค้าอาจจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ก็ได้ ทำให้บริษัทไม่มีรายได้ จะเป็นผลทำให้ไม่มีกำไร ดังนั้นการจัดการโซ่อุปทานจะมุ่งเน้นในการทำเกิดการขายและมีกำไร การที่จะทำให้เกิดการขายได้นั้นจะต้องผลิตสินค้า ซึ่งลูกค้ามีความต้องการในตัวสินค้านั้น ผลิตสินค้าออกมาด้วยต้นทุนต่ำแต่ลูกค้าไม่ซื้อก็ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อมีการจัดการโซ่อุปทานแล้วผลที่ตามมาก็คือ การพัฒนาปรับปรุงในการลดต้นทุนเพื่อทำกำไรเพื่อหลังจากได้คำสั่งแล้ว แต่ในบางกรณีเราจะต้องจัดการทั้งสองประเด็นพร้อม ๆ กัน คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์และต้นทุนต่ำด้วย

.

โซ่คุณค่า (Value Chain) กับ โซ่อุปทาน ต่างกันอย่างไร ควรจะเริ่มต้นทำสิ่งใดก่อน ?

โซ่คุณค่านั้นเราจะมองว่าจะดูคล้ายกับโซ่อุปทานก็ได้ จริง ๆ แล้วเราเริ่มจากโซ่คุณค่าก่อน นั่นหมายความว่า  เมื่อเราต้องการผลิตสินค้าหรือการบริการขึ้นมา 1 อย่าง เช่น ลูกค้าเราอยู่ที่เชียงใหม่ต้องการส่งออกสินค้าโดยส่งสินค้าจากเชียงใหม่มาแหลมฉบังแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ โซ่คุณค่าของการบริการนี้ ก็คือ การเสนอการบริการขนส่งทางบก และการขนส่งทางทะเล โดยสิ่งที่เราเสนอต่อลูกค้าได้ก็ คือ สองบริการนี้ แต่ถ้าเรามองว่าโซ่อุปทานของการบริการนี้คืออะไร ในที่นี้ก็คือบริษัทเราเองสามารถให้บริการขนส่งทางบก ส่วนการขนส่งทางทะเลจะเป็นของอีกบริษัท หนึ่ง คิดอย่างนี้เราเรียกว่า โซ่อุปทาน โดยที่เรามองเห็นความสามารถของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันในการสนับสนุนการบริการต่อลูกค้า ในโซ่คุณค่านั้นเรานึกถึงกระบวนการการเพิ่มคุณค่า (Value Added Process) ให้แก่สินค้าเป็นช่วง ๆ ส่งต่อกันมากกว่า แต่โซ่อุปทานนั้นเป็นการมองถึงว่าใคร แผนกไหน ความเป็นตัวตนมากกว่า แต่ก็จริงอยู่ โซ่คุณค่านั้นเป็นการเชื่อมโยงกันโซ่อุปทานที่มีความสามารถต่างกันเข้าด้วยกัน ซึ่งการเชื่อมโยงนั้นเราเชื่อมต่อกันด้วยกิจกรรมโลจิสติกส์ แล้วเราควรที่จะทำอะไรก่อน ? เราคงต้องคิดถึงโซ่คุณค่าก่อนเพราะโซ่คุณค่า เป็นตัวกำหนดว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร ใช้วัตถุดิบอะไร และจะขนส่งอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่าใครทำอะไร ส่วนการกำหนดว่าใครทำอะไร ก็คือ การกำหนดโซ่อุปทานนั่นเอง

.

โลจิสติกส์ใหญ่กว่า โซ่อุปทานใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ จะเป็นอย่างไร ?

จะคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันคือ ความเหมือนที่แตกต่าง ผมไม่อยากที่จะไปฟันธงว่ามันเหมือนกันหรือว่าอะไรเป็นส่วน หนึ่ง ของอะไร แต่จากที่ผมเคยอธิบายโซ่อุปทานไว้ว่าทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ ถ้าไม่มีโลจิสติกส์ก็ไม่สามารถที่จะสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ อย่างเช่น เราผลิตสินค้า เราต้องการผู้จัดส่งวัตถุดิบจำนวน 9 บริษัท ซึ่งผู้จัดส่งวัตถุดิบเหล่านี้และบริษัทเรานั้นก็คือ โซ่อุปทาน แต่ถ้าเราไม่มีโลจิสติกส์มาเชื่อมต่อก็ไม่สามารถที่จะส่งวัตถุดิบมาประกอบที่บริษัทเราได้ และกระจายสินค้าให้ลูกค้าโดยบริษัทขนส่งเพื่อที่ทำให้โซ่อุปทานสมบูรณ์  และถ้าไม่มีการจัดการข้อตกลงกันทั้งโซ่อุปทานในกิจกรรมโลจิสติกส์ระหว่างบริษัทของเรากับผู้จัดส่งวัตถุดิบทั้ง 9 บริษัทนั้นก็จะทำให้องค์กรของเราไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งผมไม่อยากจะบอกได้ว่าใช่หรือไม่ใช่  แต่ผมอยากจะบอกว่ามันอยู่คนละระดับกันเพราะโซ่อุปทานกำหนดกิจกรรมโลจิสติกส์ แล้วการจัดการโซ่อุปทานกำหนดการจัดการโลจิสติกส์อีกที หนึ่ง แล้วพบกันในฉบับหน้า !

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด