ศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่งเริ่มต้นนี้ เป็นช่วงเวลาที่องค์กรบริษัททั้งหลายกำลังเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที องค์กรทั้งหลายจึงได้เลิกล้มแนวทางเดิมคือ ทำทุกอย่างเอง (การบริหารที่มีทุกอย่างเอง) ไปสู่การบริหารที่มีการสร้างเครือข่ายกับบริษัทองค์กรอื่นและเปลี่ยนไปเป็นองค์กรยุคใหม่ โดยทำเองเท่าที่จำเป็น
สนั่น เถาชารี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, nutphysics@hotmail.com
ศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่งเริ่มต้นนี้ เป็นช่วงเวลาที่องค์กรบริษัททั้งหลายกำลังเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที องค์กรทั้งหลายจึงได้เลิกล้มแนวทางเดิมคือ ทำทุกอย่างเอง (การบริหารที่มีทุกอย่างเอง) ไปสู่การบริหารที่มีการสร้างเครือข่ายกับบริษัทองค์กรอื่นและเปลี่ยนไปเป็นองค์กรยุคใหม่ โดยทำเองเท่าที่จำเป็น (การบริหารที่ไม่เน้นการมีของตนเอง)
อีกด้านหนึ่ง จากความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ต ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างง่ายดาย ซึ่งช่วยให้ E-Business แพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้องค์กรบริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้เร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง นั่นคือ E-Business กลายเป็นตัวเร่ง (Enabler) ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่องค์กรยุคใหม่
ประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศชั้นนำทางด้านอุตสาหกรรมของโลก ก็หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ ERP เป็นพื้นฐานของระบบข้อมูลสารสนเทศขององค์กรสำหรับรองรับการบริหารจัดการที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time Management) เพื่อตอบสนองสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
แต่อัตราส่วนการใช้ ERP ในองค์กรบริษัทก็ยังค่อนข้างต่ำอยู่ จากนี้ไป เมื่อ E-Business ก้าวหน้ามากขึ้น ระบบสารสนเทศขององค์กรและระบบ ERP ซึ่งเป็นฐานรากจะได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นสิ่งต้องจับตามองและพิจารณาอย่างเร่งด่วน
แนวโน้มของ E-Business
• แนวคิดของ E-Business
ERP Research Promotion Forum ได้ให้คำจำกัดความของ ERP และ E-Business ไว้ดังนี้
- ERP เป็นวิธีบริหารจัดการห่วงโซ่ของมูลค่าภายในองค์กรให้มีประสิทธิผลสูงที่สุด
- ระบบ ERP เป็นวิธีการทาง IT ในการทำให้แนวคิดเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
- E-Business คือกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมโยงองค์กร ผู้ป้อนวัตถุดิบ หุ้นส่วนทางธุรกิจ และลูกค้า อย่างเป็นระบบเปิด เพื่อยกประสิทธิผลของการบริหารธุรกิจในทุก ๆ ขั้นตอนของห่วงโซ่ของมูลค่าให้สูงยิ่งขึ้น โดยเปรียบเทียบให้ ERP เป็นกลไกสำหรับการปฏิรูปให้ห่วงโซ่ของมูลค่าภายในองค์กรมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วน E-Business นั้นเป็นกลยุทธ์สำหรับการปฏิรูปห่วงโซ่ของมูลค่าทั้งหมดข้ามองค์กร ครอบคลุมตั้งแต่คู่ค้าไปจนถึงลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จะเห็นว่าเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นโดย ERP ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการหาประสิทธิภาพสูงสุดแบบแยกส่วน ไปสู่การหาประสิทธิภาพสูงสุดในระดับองค์กร ให้ขยายออกสู่นอกองค์กรอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
จากรูปที่ 1 ข้างล่างนี้ แสดงให้เห็นภาพของ E-Business ตามคำจำกัดดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับระบบสารสนเทศนั้นจำเป็นต้องใช้ระบบที่สามารถทำการประมวลผลแบบเรียลไทม์ โดยมีการเชื่อมต่อกับทุกองค์กรในห่วงโซ่ของมูลค่า (ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ขายปลีก)
รูปที่ 1 การ Optimize ห่วงโซ่ของมูลค่าทั้งหมด คือเป้าหมายของ E-Business
•เกาะกระแส E-Business
เวลากล่าวถึง E-Business สิ่งที่ลืมไม่ได้ของ E-Business คือ ปัจจัยผลักดันมิได้เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงอย่างเดียว จากช่วงปลายของทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการบริหารองค์กร คือ เกิดการเปลี่ยนจากระบบ ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ที่ใช้กำลังทุนขนาดมหึมาในการสร้างทรัพยากรทางธุรกิจทั้งหลาย เช่น ระบบการผลิตที่ใหญ่โต ฯลฯ ขึ้นในบริษัทตัวเอง
ในการดำเนินธุรกิจ ไปเป็นระบบ ไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ที่ใช้พลังแห่งเครื่องหมายยี่ห้อสินค้าและองค์ความรู้เป็นอาวุธ โดยกระบวนการผลิตใดที่สามารถจ้างทำภายนอกได้ก็จะพยายามใช้ทรัพยากรภายนอกให้มากที่สุด โครงสร้างการผลิตที่เกิดจากระบบทำทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นระยะเวลายาวนาน กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนแล้วในปัจจุบัน
ความสามารถที่จะมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและฉับไวระหว่างองค์กร ด้วยการใช้ E-Businessนั้นกำลัง เป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรให้ออกจากระบบทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมการผลิตเร็วยิ่งขึ้น
• แนวโน้มของ E-Business
ที่ผ่านมาแม้ว่าองค์กรที่ทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตแบบ B2C (ธุรกรรมระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค) อาจจะมีปัญหากันบ้างก็ตาม แต่ E-Business ก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ไปกระแสหลักของ E-Business จะไม่ใช่ B2C อีกต่อไป แต่จะเป็น B2B (ธุรกรรมระหว่างองค์กรบริษัท) ระหว่างองค์กรธุรกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่ง E-Business มีแนวโน้มที่จะมี 2 ลักษณะ ดังแสดงในรูปที่ 2 ข้างล่างนี้ กล่าวคือ
1. ตลาดอิเล็กทรอนิกส์แบบ Private B2B (แบบแนวตั้ง) ที่เน้นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรในกลุ่มเดียวกัน โดยมีองค์กรที่สำคัญมากสุดอยู่ตรงกลาง จะเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกันกับระบบ Supply Chain Management (SCM) ของบริษัทใหญ่ เพื่อการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและใช้ในการบริหารสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความลับของบริษัท
2. ตลาดอิเล็กทรอนิกส์แบบ Public B2B (แบบแนวนอน) ที่เน้นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ไม่มีการสร้างความแตกต่าง แต่เน้นการลดต้นทุน โดยพุ่งเป้าหมายไปที่สินค้าประเภททั่วไป
องค์กรบริษัทมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับระบบข้อมูล เพื่อตอบสนองการทำงานทั้งสองแบบนี้
รูปที่ 2 รูปแบบ E-Business ระหว่างกลุ่มบริษัท
กระแส ERP ใหม่ของประเทศอเมริกา (Extended ERP)
•กำเนิดของ Extended ERP
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 บริษัทต่าง ๆ ในอเมริกา ได้มีการนำ ERP มาใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมาได้ถูกบดบังโดยกระแสใหม่ที่เรียกว่า E-Business
ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ของอเมริกา มีแนวโน้มที่จะลงทุนด้าน IT ไปที่ E-Business มากกว่าเรื่องของการนำ ERP มาใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทในอเมริกาเลิกให้ความสำคัญกับ ERP ทั้งนี้เพราะว่าระบบ E-Business ที่หลายบริษัทกำลังนำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่มี Backbone หรือโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นมาจากระบบ ERP นั่นเอง
ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็น E-Business นั้น มีความจำเป็นต้องพัฒนาเครือข่ายระหว่างองค์กรกับคู่ค้าและลูกค้า ควบคู่กับการปรับธุรกรรมทั้งหมดภายในองค์กรให้เป็นระบบดิจิตอลด้วย และเพื่อการนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศอันเป็นหนึ่งเดียวขององค์กรทั้งหมด โดยการบูรณาการรวมระบบบริหารสมัยใหม่ทั้งหลาย เช่น SCM (Supply Chain Management), CRM (Customer Relationship Management), E-Commerce โดยมี ERP เป็นศูนย์กลาง
เพราะฉะนั้นสำหรับบริษัทของอเมริกาแล้ว ความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ ERP มิได้จางหายไป หากแต่ ERP ได้ถูกใช้เป็น “ฐาน” ของระบบสารสนเทศ และบนฐานนั้นก็จะทำการประยุกต์ต่าง ๆ เช่น SCM, CRM, E-Commerce ต่อยอดจากระบบ ERP ซึ่งเป็นแนวโน้มเพื่อการยกระดับขีดความสามารถของระบบสารสนเทศขององค์กรขึ้นไปอีก
ดังนั้นปัจจุบันการมุ่งสู่ E-Business จึงเกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Extended ERP ซึ่งก็คือ การบูรณาการรวมระบบงานต่าง ๆ ขององค์กรโดยมีระบบ ERP เป็นฐาน เพื่อให้มีความสามารถต่าง ๆ ต่อยอดขึ้นไปจากระบบ ERP เดิม
•ความเป็นมาของกำเนิดของ Extended ERP
ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดเป็นแนวคิดของ Extended ERP สามารถแสดงได้ดังรูปที่ 3 ข้างล่างนี้
รูปที่ 3 เบื้องหลังของการกำเนิด Extended ERP
1. การมาถึงของยุค E-Business
ท่ามกลางสภาวะแข่งขันอันรุนแรงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ องค์กรทั้งหลายได้ลงทุนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศระดับแนวหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการผลิตอย่างเต็มที่
กลยุทธ์ด้านสารสนเทศในองค์กรบริษัทที่ผ่านมานั้น จะเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ข้างต้นโดยทบทวนและปรับปรุงให้กระบวนการทางธุรกิจนั้นไม่ซับซ้อนและเป็นระบบ โดยการใช้ฐานข้อมูล ERP ซึ่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจไว้ ทำให้สามารถรู้ถึงสถานภาพของธุรกิจอย่างดีในระดับภาพรวมแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีประโยชน์มากในการสร้างกระบวนการตัดสินใจในเชิงบริหารที่รวดเร็ว และการวางแผนกลยุทธ์ในอนาคตขององค์กร
อย่างไรก็ตาม หลังจากกำเนิดของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้กลยุทธ์ด้านสารสนเทศขององค์กรซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภายในองค์กร ถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
การเกิดของร้านค้าออนไลน์ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายสินค้าบน Web ได้อย่างง่ายก็ดี การใช้เทคโนโลยี Web สำหรับการบูรณาการระบบ Back Office ก็ดี ล้วนเป็นการเข้าสู่ยุค E-Business ซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อเสริมอำนาจในการแข่งขันและเพิ่มกำไร และเป็นการสร้างสนามแข่งขันใหม่ทางการตลาดขององค์กรธุรกิจ
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและอย่างรวดเร็วนี้ และเพื่อส่งมอบสินค้าที่ลูกค้าพึงพอใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและราบรื่นกับผู้ป้อนวัตถุดิบและลูกค้าย่อมขาดเสียมิได้
ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่ายุคแห่งการใช้ ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กรได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคแห่งการพัฒนาเครือข่ายขนาดใหญ่ที่รวมทั้งผู้ป้อนวัตถุดิบและลูกค้า ฯลฯ เข้าด้วยกัน ภายใต้แนวโน้มนี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีระบบใช้งานร่วมกันของข้อมูล ระบบ ERP ซึ่งแต่เดิมใช้กันเฉพาะแต่ในองค์กร ให้กับคู่ค้าและลูกค้าด้วย
อีกทั้งการเกิดของ E-Business ทำให้เกิดความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์กับองค์กรภายนอกมากขึ้น และแนวโน้มเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทของ ERP อย่างมากต่อไปในอนาคต
ยิ่งกว่านั้น เพื่อการใช้ข้อมูลร่วมกับองค์กรภายนอก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีประมวลผลข้อมูล ต้องมีการพัฒนากระบวนการเชื่อมโยงอินเทอร์เฟสระบบ ERP กับภายนอก ต้องมีการบูรณาการระบบงานกับระบบของคู่ค้า ฯลฯ ทำให้เกิดงานใหม่ที่ต้องทำอีกมากมาย เพราะฉะนั้นก็จะเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ที่จะสนับสนุนระบบใหม่ตามมา
2. ผู้ผลิต ERP ต้องบุกเบิกสร้างตลาดใหม่
จากการมาถึงยุค E-Business ทำให้บทบาทหน้าที่ของระบบสารสนเทศที่อยู่บนฐานของ ERP ของบริษัทต่าง ๆ ในอเมริกาได้เปลี่ยนไป ซึ่งมีผลให้ผู้ผลิต ERP เองก็มาถึงจุดเปลี่ยนเช่นกัน
ในอเมริกานั้น ผู้ใช้ ERP กว่าครึ่งเป็นบริษัทใหญ่ซึ่งอยู่ลำดับต้น ๆ ในทำเนียบ 1,000 บริษัทของนิตยสารฟอร์จูน แสดงว่าบริษัทที่มีชื่อเสียงของอเมริกาส่วนใหญ่นั้นได้นำ ERP มาใช้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) นั้นก็มีงบประมาณด้าน IT จำกัด ไม่สามารถจัดหา ERP ไปใช้ได้ ทำให้ยอดขายของผู้ผลิต ERP ลดลง
ด้วยเหตุนี้ จึงถึงจุดจบของยุคทองที่เมื่อจำหน่าย ERP Package ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักได้ ยอดขายและกำไรก็จะเพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ Solution ใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทน
ดังนั้น ผู้ผลิต ERP ทั้งหลาย จึงเริ่มแสวงหาบทบาทใหม่ของ ERP สำหรับการบริหารจัดการองค์กร เพื่อพัฒนาบุกเบิกให้เกิดตลาดใหม่ขึ้น
3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การรวม ERP กับระบบอื่นเกิดขึ้นได้
เทคโนโลยีที่ทำให้การบูรณาการระหว่างระบบ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบภายนอกเกิดขึ้นได้ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการเข้าถึงข้อมูลแบบ Web Based ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภายนอกสามารถทำได้ง่ายดายขึ้นเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับระบบ EDI ที่ผ่านมา
ยิ่งกว่านั้น หากใช้เทคโนโลยี Thin Client ก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูล ERP ได้โดยใช้โปรแกรมบราวเซอร์เพียงตัวเดียว และหากใช้ร่วมกับระบบติดต่อกับผู้ใช้แบบ GUI (Graphic User Interface) พนักงานก็จะสามารถใช้ระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการอบรมวิธีใช้งานเป็นพิเศษเลย
ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายเหล่านี้ ทำให้ฐานของผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงข้อมูลของ ERP ได้ขยายตัวออกไปอย่างมากและรวดเร็ว ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปสู่พนักงานทั้งองค์กร
ในอีกด้านหนึ่ง ในการทำ E-Business นั้น จะทำให้ต้องทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย จึงเกิดความจำเป็นในการปรับปรุงระบบ ERP ที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนี้ จากการใช้ระบบที่มีโครงสร้างแบบคอมโพเนนต์ การมีซอฟท์แวร์ทูลสนับสนุนการเขียนโปรแกรม การเปิดเผยรายละเอียดของ API (Application Programming Interface) ฯลฯ ทำให้องค์กรผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนหรือขยายระบบ ERP ได้อย่างรวดเร็วขึ้น
• จุดเด่นของ Extended ERP
Extended ERP เป็นระบบสารสนเทศขององค์กรที่มีจุดเด่น 3 ประการ ดังแสดงในรูปที่ 4 ข้างล่างนี้ กล่าวคือ
รูปที่ 4 จุดเด่น 3 ประการของ Extended ERP
1. บูรณาการโดยมี ERP เป็นฐาน
Extended ERP เป็นระบบบริหารที่ใช้รากฐานของ ERP และมีการขยายฟังก์ชันการทำงานของ ERP ออกไปโดยการบูรณาการกับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น SCM, CRM, E-Commerce ฯลฯ
ดังนั้น นอกจากเรื่องความสามารถทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ด้วยการป้อนข้อมูลเพียงครั้งเดียว ข้อมูลจะสามารถถูกใช้ร่วมกันสำหรับซอฟต์แวร์ทั้งหมดได้ ซึ่งคือการบูรณาการของข้อมูลไปด้วยนั่นเอง
2. เชื่อมโยงห่วงโซ่ของมูลค่าทั้งภายในและภายนอก
Extended ERP เป็นระบบที่มีระบบ ERP ซึ่งบูรณาการกระบวนการทางธุรกิจขององค์กรอยู่ที่แกนกลาง และเชื่อมต่อระหว่างองค์กรกับผู้ป้อนวัตถุดิบด้วย SCM และบริหารลูกค้าองค์กรโดยระบบ CRM ซึ่งทำให้เกิดการต่อเชื่อมของกระบวนการทางธุรกิจของภายในกับภายนอก ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายในและภายนอก
3. IP Based Infrastructure และ Web Application
ระบบต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกสร้างบนฐานโครงสร้างเครือข่ายแบบ IP (Internet Protocol) จึงสามารถเข้าเรียกใช้ หรือป้อนข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายได้
อีกทั้งโดยการใช้ Web Application ยังช่วยให้ไม่เพียงแต่พนักงานขององค์กรเท่านั้น แม้แต่องค์กรลูกค้า องค์กรผู้ป้อนวัตถุดิบ องค์กรคู่ค้า ฯลฯ ก็สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลสารสนเทศขององค์กรแบบออนไลน์จากภายนอกได้ สิ่งนี้ทำให้สามารถทำธุรกิจต่าง ๆ แบบ E-Business ได้ ไม่เฉพาะในองค์กรตัวเองแต่รวมถึงระหว่างองค์กรด้วย เพราะสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้
และตลาดบนอินเทอร์เน็ตก็จะมิได้เป็นเพียงการค้าขายบนเน็ตเท่านั้น แต่ต้องมองว่าเป็นช่องทางในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ป้อนวัตถุดิบด้วย ซึ่งแน่นอน สำหรับตลาดบนอินเทอร์เน็ตก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกแยะระหว่างแบบปิด (Private) และตลาดแบบสาธารณะ (Public)
ผลทางการบริหารของการใช้ Extended ERP
สามารถแบ่งได้ 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1. การปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจขององค์กร 2. การปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ ดังแสดงในรายละเอียดด้วยรูปที่ 5 ข้างล่างนี้
รูปที่ 5 ผลของการใช้ Extended ERP
ซึ่งผลทางการบริหารของการใช้ Extended ERP ดังแสดงในรูปที่ 5 จะทำให้เกิดการปฏิรูปองค์กรดังแสดงในรูปที่ 6 ข้างล่างนี้
รูปที่ 6 การปฏิรูปองค์กรด้วย Extended ERP
ซึ่งจากรูปที่ 6 เราจะเห็นว่า แกนตั้ง คือ การปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจให้ดีที่สุด (เปลี่ยนจากปัจจุบันไปสู่ภาพที่ควรเป็น) และแกนนอน คือ การบริหารธุรกิจองค์กรให้ดีที่สุด จะเห็นว่าทั้งสองแกนนี้ คือ สองสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการปฏิรูปองค์กร การใช้งาน ERP ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจภายใต้โครงสร้างของธุรกิจที่ทำในปัจจุบัน แต่ Extended ERP นั้นจะทำให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจและปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจไปได้พร้อม ๆ กัน
แนวโน้มของ ERP ยุคหน้า
• กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ
รูปที่ 7 แสดงการมองภาพแบบมาโครของกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศองค์กร แนวนอนคือแกนเวลา โดยแบ่งคร่าว ๆ เป็นยุคของ E-Business และยุคก่อนหน้านั้น โดยในยุคก่อนหน้ายุค E-Business จะแบ่งเป็นสองช่วงคือ ช่วง non-ERP และช่วง ERP
แกนตั้งของรูปคือ 5 หัวข้อใหญ่ที่บ่งบอกลักษณะเด่นของกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยจะกล่าวในรายละเอียดตามลำดับดังนี้
หมายเหตุ งานหลังร้าน (Back Office) ได้แก่ งานที่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำให้เป็นอัตโนมัติได้ง่าย
งานหน้าร้าน (Front Office) ได้แก่ งานเฉพาะทางไม่มีรูปแบบตายตัว (การวางแผน การออกแบบ เป็นต้น)
BPR: ปฏิรูปกระบวนการธุรกิจ (Business Process Reform)
BSR: ปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ (Business Structure Reform)
รูปที่ 7 กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศองค์กร
1.ขอบเขตการบูรณาการ
ก่อนยุค ERP นั้น ระบบสารสนเทศขององค์กรถูกสร้างโดยแบ่งแยกกันในแต่ละงาน และเชื่อมโยงแต่ละงานด้วยวิธีแลกเปลี่ยนไฟล์ข้อมูลเป็นครั้งคราว ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการล่าช้าในการประสานบูรณาการข้อมูลตามแนวนอนของแต่ละงาน ยังผลให้การนำข้อมูลภายในองค์กรมาใช้ประโยชน์ในการบริหารนั้นล่าช้าไม่ทันการณ์ โดยจะเห็นได้จากมีหลายบริษัทที่กว่าจะได้รายงานสรุปผลของแต่ละเดือนต้องรอถึงปลายเดือนถัดไปเลยทีเดียว
ซึ่งระบบ ERP ขยายขอบเขตการบูรณาการสู่ระดับทั้งองค์กร และสามารถกำจัดการล่าช้าดังกล่าวได้
การบูรณาการของ Extended ERP มีขอบเขตครอบคลุมห่วงโซ่ของมูลค่าทั้งหมด ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลในแนวนอนข้ามองค์กรได้แบบเรียลไทม์
2. งานเป้าหมาย
การทำให้เป็นระบบงานนั้น โดยปกติแล้วเป้าหมายจะเริ่มจาก Back Office ซึ่งเป็นงานประจำที่มีรูปแบบตายตัว สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้ง่ายก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ Front Office ซึ่งเป็นงานเฉพาะทางที่ไม่มีรูปแบบตายตัว เช่น งานวางแผน งานออกแบบ
กระแสนี้มีลักษณะเดียวกันทั้งช่วง non ERP และช่วง ERP และในยุค E-Business ก็เช่นเดียวกัน คือเริ่มจาก Extended ERP ซึ่งมีศูนย์กลางของงานที่ Back Office ก่อน โดยในอนาคตคาดว่าจะขยายไปสู่งาน Front Office บนระดับสูงขึ้นที่ใช้วิธีการเช่น Concurrent Engineering ในห่วงโซ่ของมูลค่าต่อไป
3. วัตถุประสงค์หลัก
วัตถุประสงค์หลักของช่วง non ERP คือ การประหยัดและลดต้นทุนของทุกงานในองค์กร ส่วนช่วง ERP นั้น วัตถุประสงค์หลักคือ ปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ โดยการบูรณาการกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดขององค์กรรวมกัน เป็นการรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับกลยุทธ์ขององค์กร
ถัดมาสำหรับ Extended ERP นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจและปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน และกลายเป็นส่วนที่ไม่สามารถแยกออกจากกลยุทธ์ขององค์กรได้
4. โครงสร้างพื้นฐาน IT และเวลาที่ใช้ในการพัฒนาระบบ
โครงสร้างพื้นฐาน IT นั้นเปลี่ยนจากระบบเมนเฟรม (Mainframe) มาเป็นระบบ Client & Server และกลายมาเป็นระบบ IP Based หรือ Web Application ในยุคของ Extended ERP
เวลาในการพัฒนาระบบก็ลดลงจากหลักปี ลงมาเป็นเดือน และต่อไปจะกลายเป็นสัปดาห์ จากนี้ไปจะต้องมีระบบที่มีความสามารถในการสร้างระบบการปฏิรูปธุรกิจ และการปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจในเวลาที่สั้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เร็วยิ่ง ๆ ขึ้นทุกวัน
• แนวโน้มของ ERP ยุคหน้า
ยุคของ E-Business เพิ่งจะเริ่มขึ้น และหลังจากนี้ก็จะเติบโตต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอนว่าระบบ ERP ยุคหน้าซึ่ง E-Business จะรุ่งโรจน์เต็มที่ ก็จะได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นไปจาก Extended ERP เพื่อที่จะทำหน้าที่ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สามารถคาดเดาได้ว่า ERP ยุคหน้าจะมีบทบาทในการรองรับสิ่งต่อไปนี้
1. งานหน้าร้าน (Front Office)
Extended ERP นั้นสนับสนุนงานหลังร้าน (Back Office) ในห่วงโซ่ของมูลค่า แต่ต่อจากนี้จะครอบคลุมถึงงานหน้าร้าน (Front Office) ด้วย
สำหรับ ERP ยุคหน้า เป้าหมายของสิ่งที่จะเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจนั้น จะไม่ใช่เฉพาะการบริหารซัพพลายเชนของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงการวางแผน การออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกด้วย
2. ห่วงโซ่ของมูลค่าที่ไม่หยุดนิ่ง
ห่วงโซ่มูลค่าในปัจจุบันมีลักษณะปิด โดยประกอบด้วยสมาชิกหลักในกลุ่มหรือเครือข่ายบริษัทเดียวกัน ในอนาคตสมาชิกในกลุ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยแนวโน้มนี้ได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ความแน่นแฟ้นในกลุ่มบริษัทในเครือจะค่อย ๆ ลดลง และธุรกิจในลักษณะเปิดและข้ามกลุ่มบริษัทจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
อีกด้านหนึ่ง สามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตนั้น เทคโนโลยีการบูรณาการระบบข้ามองค์กรที่เรียกว่า “Dynamic B2B ระหว่างองค์กรใด ๆ” จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีความเป็นไปได้สูงมากที่สมาชิกในห่วงโซ่ของมูลค่าจะเปลี่ยนจากองค์กรในกลุ่มบริษัทเครือข่าย ไปสู่รูปแบบที่สมาชิกในห่วงโซ่ของมูลค่าถูกเลือกอย่างไดนามิกตามลักษณะของโครงการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด ดังนั้น ERP ยุคหน้าจะต้องสามารถตอบรับกับโครงสร้างสมาชิกองค์กรที่ยืดหยุ่นบนห่วงโซ่ของมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง
3. กลยุทธ์ธุรกิจเชิงรุก
ปัจจุบัน กุญแจของความสามารถในการแข่งขัน ได้เปลี่ยนจาก “กลยุทธ์เพื่อตอบสนองรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ” กลายมาเป็น “กลยุทธ์การที่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า” ดังนั้น ERP ยุคหน้าจะต้องมีความสามารถที่จะวางแผน ปฏิบัติ และประเมินผลการปฏิรูปโครงสร้างอย่างฉับพลันทันทีได้
เอกสารอ้างอิง
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. Enterprise Resource Planning [ออนไลน์] 2548 [อ้างเมื่อ 26 ตุลาคม 2549]. จาก http://it.egat.co.th/
2. วิชัย ไชยมี. การบริหารการผลิตและควบคุมสินค้าคงคลัง โดยใช้ระบบ ERP. กรุงเทพ ฯ: บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน); 2547.
3. อิทธิ ฤทธาภรณ์. สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP. กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.; 2546.
4. Karl M. Kapp, William F. Latham, Hester N. Ford-Latham. Integrated learning for ERP success: a learning requirements planning approach. Boca Raton: The St. Lucie Press; 2001.
5. Mahesh gupta, Amarpreet kohli. Enterprise resource planning systems and its implications for operations function. Technovation 2006; 687-696.
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด