การคำนวณผลแตกต่างต้นทุนไม่ว่าจะเป็นส่วนของวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรงหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตก็ตาม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารต้นทุน และเนื่องจากบัญชีผลแตกต่างนั้นมีลักษณะเป็นบัญชีชั่วคราว (Temporary Accounts) ดังนั้น เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ กิจการโดยส่วนใหญ่จึงทำการปิดบัญชีผลแตกต่างทั้งหมดเข้าสู่บัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย
วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา, wiwatapi@gmail.com
การปันส่วนผลแตกต่างต้นทุน (Proration of Cost Variances)
การคำนวณผลแตกต่างต้นทุนไม่ว่าจะเป็นส่วนของวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรงหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตก็ตาม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารต้นทุน และเนื่องจากบัญชีผลแตกต่างนั้นมีลักษณะเป็นบัญชีชั่วคราว (Temporary Accounts) ดังนั้น เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ กิจการโดยส่วนใหญ่จึงทำการปิดบัญชีผลแตกต่างทั้งหมดเข้าสู่บัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย
ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว อย่างไรก็ตามกิจการบางแห่งจะใช้วิธีการที่มีความถูกต้องมากกว่าในการจัดการผลแตกต่างที่เกิดขึ้น หลักการของวิธีนี้จะรับรู้ว่าต้นทุนการผลิตที่ประมาณการไว้สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขายเท่านั้น
เมื่อพิจารณารูปที่ 7 ต่อไปนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรงและค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างานไหลผ่านโดยตลอดทั้งบัญชีงานระหว่างทำ สินค้าสำเร็จรูปและต้นทุนสินค้าที่ขาย ดังนั้นบัญชีทั้ง 3 รายการควรจะต้องได้รับผลกระทบจากมูลค่าผลแตกต่างที่อาจมีเกิดขึ้นด้วย
รูปที่ 7 การสะสมต้นทุนการผลิต
เมื่อผลแตกต่างต้นทุนมีผลกระทบทั้ง 3 บัญชีจึงควรทำการปันส่วนผลแตกต่างต้นทุนที่คำนวณได้ให้กับบัญชีทั้ง 3 รายการ กระบวนการนี้เรียกว่า การแบ่งสรรปันส่วน (Proration) โดยจะใช้ข้อมูลต้นทุนมาตรฐานที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีสำหรับรอบระยะเวลานั้น ๆ เป็นฐานสำหรับกระบวนการปันส่วนผลแตกต่างต้นทุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นจะขอยกตัวอย่างที่ 8 ของร้านเปาเปา ประกอบการอธิบาย
ตัวอย่างที่ 8
ร้านเปาเปาทำการซื้อวัตถุดิบทางตรงมาใช้เพื่อการผลิตระหว่างเดือนสิงหาคม จำนวน 6,000 หน่วย การดำเนินการผลิตที่เกิดขึ้นตลอดเดือน นั้นพบว่ามีวัตถุดิบคงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม จำนวน 1,800 หน่วย และอีก 4,200 หน่วยนั้นถูกเบิกใช้ในกระบวนการผลิต รายละเอียดของวัตถุดิบดังกล่าวมีดังนี้
สำหรับปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ไปจริงซึ่งเกินกว่าปริมาณมาตรฐานที่ยอมให้จำนวน 1,200 หน่วยนั้นแสดงถึงการบริโภคทรัพยากรดังกล่าวอย่างไม่มีประสิทธิภาพและสะท้อนถึงผลแตกต่างเนื่องจากปริมาณการใช้วัตถุดิบที่ไม่น่าพอใจ จากรายละเอียดสัดส่วนวัตถุดิบที่กระจายไปในส่วนต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้นนั้นสามารถนำมาแสดงในรูปของสัดส่วนอัตราเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณวัตถุดิบที่ซื้อมาทั้งหมดในระหว่างเดือนได้ดังนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนมาตรฐานของต้นทุนการผลิตแต่ละรายการ รวมถึงผลแตกต่างของต้นทุนเหล่านั้นมีดังต่อไปนี้
สำหรับค่าแรงงานทางตรง จากการจดบันทึกข้อมูลเวลาการทำงานและงานที่เสร็จเรียบร้อยพบว่าชั่วโมงแรงงานทางตรงตามมาตรฐานที่ยอมให้มีความเกี่ยวข้องกันกับงานระหว่างทำประมาณ 20% ชั่วโมงแรงงานทางตรงตามมาตรฐานที่ยอมให้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับสินค้าสำเร็จรูปเท่ากับ 30% และแสดงอยู่ในส่วนของต้นทุนสินค้าที่ขายเท่ากับ 50%
จากข้อมูลที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้นสามารถนำมาคำนวณหาสัดส่วนผลแตกต่างต้นทุนของแต่ละรายการที่จะต้องนำไปปรับปรุงกับบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดังตารางต่อไปนี้
ตารางที่ 1 การปันส่วนผลแตกต่างเพื่อปรับกระทบยอดกับบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
จากการคำนวณสัดส่วนผลแตกต่างต้นทุนทั้ง 8 รายการในตารางข้างต้นนั้น ผลแตกต่างของต้นทุนได้ถูกทำการปันส่วนให้กับบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามสัดส่วนจำนวนมาตรฐานของปัจจัยนำเข้าที่มีอยู่ในบัญชีเหล่านั้นเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ เช่น วัตถุดิบที่ซื้อมาอยู่ในบัญชีวัตถุดิบคงเหลือที่ยังไม่ได้ทำการเบิกใช้ 30% ดังนั้นเมื่อมีผลแตกต่างราคาวัตถุดิบเกิดขึ้นจำนวน 1,800 บาท (ไม่น่าพอใจ)
ผลแตกต่างของการจ่ายซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐานดังกล่าว จึงถูกปันส่วนให้กับบัญชีวัตถุดิบคงเหลือทำให้ยอดคงเหลือของบัญชีดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 540 บาท (1,800 x 30%) เนื่องจากผลแตกต่างปริมาณวัตถุดิบทางตรงนั้นถูกคำนวณโดยใช้ราคามาตรฐาน ผลแตกต่างปริมาณวัตถุดิบจึงต้องทำการปรับปรุงเพื่อสะท้อนให้ทราบถึงราคาวัตถุดิบที่ซื้อจริง ก่อนที่จะทำการปันส่วนผลแตกต่างปริมาณวัตถุดิบให้กับบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดังนั้นต้นทุนของการใช้วัตถุดิบอย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้นจึงไม่ใช่ 1,200 บาท แต่จะต้องเท่ากับ 1,560 บาท (1,200 หน่วย ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้สูงกว่ามาตรฐาน x ราคาวัตถุดิบที่ซื้อจริง 1.30 บาท) เมื่อทำการปรับปรุงผลแตกต่างปริมาณวัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว จึงทำการปันส่วนให้กับบัญชีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (บัญชีงานระหว่างทำคงเหลือ สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ และต้นทุนสินค้าที่ขาย)
จะสังเกตได้ว่าผลแตกต่างปริมาณวัตถุดิบนั้นไม่ได้ถูกนำไปปันส่วนให้กับบัญชีวัตถุดิบคงเหลือ เนื่องจากการวัดประสิทธิภาพในส่วนนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นการวัดถึงการใช้ปริมาณวัตถุดิบในกระบวนการผลิตว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร ไม่ได้รวมถึงส่วนของวัตถุดิบคงเหลือที่ยังไม่ได้ถูกเบิกไปใช้
หลังจากทำการปันส่วนผลแตกต่างต้นทุนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว สามารถแสดงรายการบันทึกบัญชีเพื่อปรับปรุงมูลค่าบัญชีต่าง ๆ ได้ดังนี้
หลังจากทำการจดบันทึกรายการดังกล่าวแล้วบัญชีผลแตกต่างทั้งหมดจะถูกปิดให้หมดไป ส่วนบัญชีสินค้าคงเหลือต่าง ๆ และต้นทุนสินค้าที่ขายจะถูกปรับปรุงเพื่อสะท้อนให้ทราบถึงผลแตกต่างที่เกิดขึ้น
งบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรม (Activity–Based Flexible Budget)
งบประมาณยืดหยุ่นที่กล่าวมาข้างต้นในตัวอย่างที่ 3 ของร้านคิงคองนั้นเป็นงบประมาณที่มีฐานกิจกรรมเพียงอย่างเดียวเป็นตัวผลักดันต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการผลิตส่วนที่แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับชั่วโมงเครื่องจักรที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกจัดประเภทเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตผันแปร
ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการอื่น ๆ ที่มีค่าเท่ากันแม้ว่าจะชั่วโมงเครื่องจักรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปนั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกจัดเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตคงที่ วิธีการจัดทำงบประมาณยืดหยุ่นในลักษณะนี้กล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นระบบต้นทุนผลิตภัณฑ์ฐานปริมาณ (Volume-based Costing Systems)
ภายใต้วิธีการต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่มีความถูกต้องแน่นอนมากกว่าถูกเรียกว่า ต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-based Costing: ABC) ซึ่งจะรับรู้ฐานกิจกรรมในลักษณะที่หลากหลายเป็นตัวผลักดันต้นทุน ต้นทุนที่จะแสดงเป็นต้นทุนคงที่นั้นจะเป็นต้นทุนซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวผลักดันต้นทุนฐานปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว
ส่วนต้นทุนที่เป็นต้นทุนผันแปรนั้นสามารถจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวผลักดันต้นทุนในลักษณะอื่น ๆ ได้หลากหลายตามความเหมาะสม วิธีการของต้นทุนฐานกิจกรรมสามารถนำมาใช้ในการจัดทำงบประมาณยืดหยุ่นเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการวางแผนและการบริหารต้นทุนได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่ 9
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของงบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมโดยการนำข้อมูลของร้านคิงคองที่จัดทำงบประมาณยืดหยุ่นฐานปริมาณมาจัดทำใหม่แสดงได้ดังนี้
จากข้อมูลในงบประมาณยืดหยุ่นของค่าใช้จ่ายในการผลิตข้างต้นซึ่งจัดทำโดยฐานกิจกรรมเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในงบประมาณยืดหยุ่นของค่าใช้จ่ายในการผลิตซึ่งใช้ฐานปริมาณในตัวอย่างที่ 3 นั้นจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างที่สำคัญนั้นอยู่ในส่วนของต้นทุนซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของต้นทุนคงที่ตามรูปแบบงบประมาณยืดหยุ่นฐานปริมาณ ได้แก่
ค่าแรงงานทางอ้อม ในส่วนของการประกันคุณภาพ การติดตั้ง การขนย้ายวัตถุดิบ เนื่องจากต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่มีมูลค่ารวมคงที่ เพื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของชั่วโมงเครื่องจักร
แต่ต้นทุนเหล่านี้จะไม่เป็นต้นทุนคงที่เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวผลักดันต้นทุนในลักษณะอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมกับการเกิดต้นทุนเหล่านั้น เช่น ต้นทุนของค่าแรงงานทางอ้อมในด้านของการประกันคุณภาพ และการติดตั้งนั้นเป็นต้นทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกับจำนวนของรอบการเดินเครื่องจักรในการผลิตใหม่ในแต่ละครั้ง ตัวผลักดันในลักษณะนี้เป็นตัวผลักดันต้นทุนระดับกลุ่มการผลิต เป็นต้น
การจัดทำงบประมาณยืดหยุ่นต้นทุนกิจกรรมจะใช้ตัวผลักดันต้นทุนที่มีความหลากหลาย เช่น ตัวผลักดันต้นทุนที่ใช้กับการขนย้ายวัตถุดิบ บ่อยครั้งจะเป็นจำนวนกลุ่มการผลิตหรือปริมาณหรือน้ำหนักของวัตถุดิบ ตัวผลักดันต้นทุนที่เหมาะสมกับต้นทุนการซ่อมบำรุงอาจจะเป็นจำนวนชั่วโมงเครื่องจักร
ตัวผลักดันต้นทุนที่ควรจะเหมาะสมกับต้นทุนการจัดซื้อควรจะเป็นจำนวนของชิ้นส่วนในสินค้าคงเหลือ เป็นต้น ดังนั้นการนำระบบต้นทุนฐานกิจกรรมมาใช้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานในรูปแบบของงบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมจะทำให้ได้มาซึ่งการคาดการณ์ข้อมูลต้นทุนในอนาคตให้มีความถูกต้องแน่นอนได้มากกว่า และเป็นต้นแบบที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการควบคุมได้ดีกว่า
ตัวอย่างที่ 10
จากข้อมูลเดิมของร้านคิงคอง ถ้าสมมติว่าในเดือนต่อไปข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการผลิตมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำมาจัดทำงบประมาณยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายในการผลิตฐานปริมาณและงบประมาณยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายในการผลิตฐานกิจกรรม เปรียบเทียบกันได้ดังนี้
ข้อมูลของงบประมาณยืดหยุ่นที่เปรียบเทียบกันนั้นพบว่า ต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าโดยประมาณนั้นมีจำนวนที่เท่ากัน เนื่องจากงบประมาณทั้ง 2 ลักษณะนั้นใช้ตัวผลักดันต้นทุนที่เหมือนกันคือ ชั่วโมงเครื่องจักร ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีทรัพย์สินมีต้นทุนโดยประมาณที่ยังคงเหมือนกันทั้งคู่ เนื่องจากต้นทุนทั้งสองรายการนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นทุนคงที่ในระดับอำนวยการ
อย่างไรก็ตามต้นทุนของค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการอื่น ๆ นั้นมีความแตกต่างกันที่ระดับงบประมาณซึ่งมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากงบประมาณยืดหยุ่นฐานปริมาณแบบง่าย ๆ และงบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมนั้นใช้ตัวผลักดันต้นทุนที่มีความแตกต่างสำหรับต้นทุนแต่ละรายการ
งบประมาณยืดหยุ่นฐานปริมาณนั้นจัดให้ต้นทุนประเภทการประกันคุณภาพ การติดตั้ง การขนย้ายวัตถุดิบเป็นต้นทุนคงที่ แต่งบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมพิจารณาให้ต้นทุนดังกล่าวเป็นต้นทุนผันแปรโดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวผลักดันต้นทุนที่เหมาะสม
ความแตกต่างเหล่านี้มีความสำคัญต่อการรายงานผลการปฏิบัติงาน งบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นต้นแบบที่มีความถูกต้องแน่นอนมากกว่าเมื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ถ้าสมมติว่าต้นทุนการประกันคุณภาพที่เกิดขึ้นจริงสำหรับเดือนเท่ากับ 2,100 บาท
การใช้งบประมาณยืดหยุ่นฐานปริมาณจะมีผลทำให้เกิดผลแตกต่างต้นทุนที่ไม่น่าพอใจเท่ากับ 100 บาท (2,100 – 2,000) แต่ถ้าใช้งบประมาณยืดหยุ่นฐานกิจกรรมเป็นต้นแบบในการเปรียบเทียบจะได้ผลลัพธ์ของผลแตกต่างต้นทุนการประกันคุณภาพที่น่าพอใจเท่ากับ 100 บาท (2,200 – 2,100)
การวิเคราะห์ผลแตกต่างยอดขาย (Sales–Variance Analysis)
เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้นให้ความสนใจมุ่งไปที่การวิเคราะห์ผลแตกต่างต้นทุนซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการบริหารต้นทุน อย่างไรก็ตามความสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งมีผลกระทบเท่าเทียมกันกับต้นทุนในการดำเนินงาน คือ ยอดขาย ราคาขาย และปริมาณการขายของแต่ละผลิตภัณฑ์เนื่องจากมีความหมายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกิจการ กำไรส่วนเกิน และกำไรจากการดำเนินงาน
วิธีการปกติทั่วไปอย่างหนึ่งสำหรับการวิเคราะห์ยอดขายจากการดำเนินงาน คือการวิเคราะห์ผลแตกต่างยอดขาย วิธีการนี้จะทำการตรวจสอบผลต่างระหว่างยอดขายจริงจากการดำเนินงานกับยอดขายตามงบประมาณโดยการคำนวณชุดของผลแตกต่าง
ซึ่งผลแตกต่างแต่ละรายการจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับรายการใดรายการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับยอดขายจากการดำเนินงาน การวิเคราะห์ผลแตกต่างยอดขายสามารถเลือกที่จะพิจารณาในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ต่อไปนี้
1. การวิเคราะห์ผลแตกต่างยอดขายโดยมุ่งความสนใจไปที่รายได้จากการขาย (Focus on sales revenue)
วิธีการแรกซึ่งมุ่งความสนใจไปที่รายได้จากการขายนั้นทำได้โดยการวิเคราะห์ผลต่างระหว่างรายได้จากการขายจริงกับรายได้จากการขายตามงบประมาณ ในกรณีที่กิจการมีสินค้ามากกว่า 1 รายการ ผลแตกต่างงบประมาณรายได้จะเป็นผลรวมของผลแตกต่างงบประมาณรายได้แต่ละผลิตภัณฑ์ เขียนเป็นสูตรการคำนวณได้ดังนี้
ผลแตกต่างงบประมาณรายได้ = ผลรวมของผลแตกต่างงบประมาณรายได้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
ผลแตกต่างงบประมาณรายได้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ = รายได้จากการขายจริงสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ - รายได้จากการขายตามงบประมาณสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
เมื่อมุ่งความสนใจไปที่รายได้จากการขาย สามารถจำแนกผลแตกต่างที่เป็นองค์ประกอบย่อยของผลแตกต่างงบประมาณรายได้ ได้ดังรูปที่ 8 ต่อไปนี้
รูปที่ 8 การวิเคราะห์ผลแตกต่างงบประมาณรายได้
องค์ประกอบของงบประมาณรายได้แต่ละรายการจะเป็นผลแตกต่างที่น่าพอใจ (F) ถ้ารายได้จากการขายจริงสูงกว่ารายได้จากการขายตามงบประมาณ แต่ถ้ารายได้จากการขายจริงน้อยกว่ารายได้จากการขายตามงบประมาณผลแตกต่างที่เกิดขึ้นจะเป็นผลแตกต่างที่ไม่น่าพอใจ (U)
จากภาพที่ 8 จะสังเกตได้ว่าจะใช้คำว่ารายได้หรือราคาขาย หรือจากการขายควบคู่ไปกับชื่อผลแตกต่างย่อยทั้ง 6 ประเภท เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าผลแตกต่างเหล่านี้มุ่งความสนใจไปที่รายได้จากการขาย
ตัวอย่างที่ 11
ต่อไปนี้เป็นข้อมูลการดำเนินงานของร้านใบตอง ซึ่งทำการผลิตและขายสินค้า 3 ประเภท รายละเอียดของข้อมูลตามงบประมาณและข้อมูลจริงมีดังนี้
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ารายได้จากการขายรวมตามงบประมาณสำหรับปีเท่ากับ 2,487,500 บาท แต่รายได้จากการขายจริงสำหรับปีเท่ากับ 2,750,000 บาท สามารถนำมาคำนวณหาผลแตกต่างรายได้จากการขายตามงบประมาณของร้านใบตองได้ดังนี้
ผลแตกต่างงบประมาณรายได้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
จากผลการคำนวณเปรียบเทียบรายได้จากการขายจริงและรายได้จากการขายตามงบประมาณแล้วพบว่า เกิดผลแตกต่างงบประมาณรายได้ที่น่าพอใจเท่ากับ 262,500 บาท ผลแตกต่างดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องทำการวิเคราะห์ผลแตกต่างที่เป็นองค์ประกอบย่อยของผลแตกต่างงบประมาณรายได้ทั้ง 6 ประเภท ตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 8 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.1 ผลแตกต่างราคาขาย (Sales–price variance) เป็นผลต่างระหว่างราคาขายจริงกับราคาขายตามงบประมาณ ณ ระดับปริมาณการขายจริง ผลแตกต่างราคาขายนี้บางครั้งอาจเรียกว่าผลแตกต่างงบประมาณยืดหยุ่นของรายได้ (Flexible–budget variance in revenue) สำหรับสูตรการคำนวณผลแตกต่างราคาขายแสดงได้ดังนี้
ผลแตกต่างราคาขาย = ผลรวมของผลแตกต่างราคาขายสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
ผลแตกต่างราคาขายสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ = (ราคาขายจริง – ราคาขายตามงบประมาณ) x ปริมาณการขายจริง
ตัวอย่างที่ 12
จากข้อมูลในตัวอย่างที่ 10 และจากสูตรการคำนวณหาผลแตกต่างราคาขายข้างต้นนั้น สามารถนำมาคำนวณผลแตกต่างราคาขายได้ดังนี้
ผลแตกต่างราคาขายสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ใดที่มีราคาขายจริงสูงกว่าราคาขายตามงบประมาณ ผลแตกต่างที่เกิดขึ้นจะเป็นผลแตกต่างที่น่าพอใจ แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดที่มีราคาขายจริงต่ำกว่าราคาขายตามงบประมาณ ผลิตภัณฑ์นั้นจะมีผลแตกต่างที่ไม่น่าพอใจ สำหรับกรณีของร้านใบตองผลแตกต่างราคาขายโดยภาพรวมนั้นเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสินค้า 1 สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาขายตามงบประมาณ แม้ว่าสินค้าอีก 2 ชนิดที่เหลือนั้นจะขายได้ในราคาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก็ตาม
1.2 ผลแตกต่างปริมาณรายได้จากการขาย (Revenue Sales–Volume Variance) เป็นการวิเคราะห์โดยยึดระดับราคาขายตามงบประมาณให้มีค่าคงที่และมุ่งความสนใจไปที่ผลต่างระหว่างปริมาณการขายจริงกับปริมาณการขายตามงบประมาณ ผลแตกต่างนี้อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผลแตกต่างกิจกรรมการขาย (Revenue sales–activity variance) สูตรการคำนวณผลแตกต่างปริมาณรายได้จากการขาย เขียนได้ดังนี้
ผลแตกต่างปริมาณรายได้จากการขาย = ผลรวมของผลแตกต่างรายได้จากการขายสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
ผลแตกต่างปริมาณรายได้จากการขายสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ = (ปริมาณการขายจริง –ปริมาณการขายตามงบประมาณ) x ราคาขายตามงบประมาณ
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด