อัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์ โดยปกติสารละลายชนิดที่นิยมใช้กันจะต้องผสมด้วยโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์อยู่อย่างน้อย 25% ในประเทศนอร์เวย์มีการผลิตไฮโดรเจนด้วยอัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์มานานแล้ว ซึ่งที่ Norsk Hydro ระหว่างปี ค.ศ. 19281988 มีการใช้อิเล็กโตรไลเซอร์ผลิตไฮโดรเจนเพื่อนำไปผลิตแอมโมเนียอีกที
สิริชนก จันทร์ใบ |
. |
. |
อิเล็กโตรไลเซอร์ที่ใช้งานกันในปัจจุบัน |
อัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์ |
อัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์จะอาศัยของเหลวเป็นสารละลายตัวกลาง โดยปกติสารละลายชนิดที่นิยมใช้กันจะต้องผสมด้วยโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์อยู่อย่างน้อย 25% ในประเทศนอร์เวย์มีการผลิตไฮโดรเจนด้วยอัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์มานานแล้ว ซึ่งที่ Norsk Hydro ระหว่างปี ค.ศ. 1928–1988 มีการใช้อิเล็กโตรไลเซอร์ผลิตไฮโดรเจนเพื่อนำไปผลิตแอมโมเนียอีกที |
. |
บริษัท Norsk Hydro Electrolysers (NHE) ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการผลิตอิเล็กโตรไลเซอร์แบบอัลคาไลน์ไปแล้ว อิเล็กโตรไลเซอร์บางชนิดของ NHE ให้ประสิทธิภาพสูงถึง 80% (High Heating Value) ประสิทธิภาพเป็นตังบ่งชี้สำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการอิเล็กโตรไลซิส เพราะว่าการใช้พลังงานแค่ประมาณ ~4.5 (kWh/NM3H2) กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อแอมโมเนียไฮดรอกไซด์มีผลอย่างมากกับราคาต้นทุนการดำเนินการของโรงผลิต |
. |
แล้วต้นทุนที่ให้กับค่าไฟฟ้าควรมีสัดส่วนมากน้อยเท่าไหร่กัน ? ทั้งนี้ทาง NHE ได้ประมาณสัดส่วนไว้ที่ 2/3 ของวงเงินในดำเนินการทั้งหมด อิเล็กโตรไลเซอร์อัลคาไลน์ จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทำงานในภาวะอัตราการผลิตต่ำ ๆ เพราะจะใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำ ดังนั้นในแง่เศรษฐศาสตร์แล้วความลงตัวคงขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ ราคาวัตถุดิบในการผลิต และปริมาณความต้องการของไฮโดรเจน |
. |
ค่าความจุความร้อน (High/Low Heating Values) และประสิทธิภาพ |
ค่าความจุความร้อน Heating Value คือพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงบ่งบอกเป็นค่าสูงและต่ำ ค่าสูงแสดงถึงความร้อนทั้งหมดของเชื้อเพลิงส่วนค่าต่ำจะถูกลบออกด้วยค่าความร้อนแฝงซึ่งเป็นพลังงานส่วนที่ใช้ไปในการกลั่นตัวของน้ำ ดังนั้นค่าประสิทธิภาพของเซลล์เชื้อเพลิงจะคำนวณจากค่าความจุความร้อนต่ำ เช่น กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้/ค่าความจุความร้อนต่ำ x 100 ได้ผลรับเป็น % แต่ในกระบวนการอิเล็กโตรไลซิสจะใช้ค่าความจุความร้อนสูงคำนวณ |
. |
กลุ่มบริษัท NHE และ GHW (Gesellschaft für Hochleistungwasserelektrolyseure) ได้ร่วมกันพัฒนาระบบอิเล็กโตรไลซิสขนาดกะทัดรัด ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนให้ได้ในปริมาณเทียบเท่ากับพลังงานจากน้ำมันที่จุได้ในปั๊มขนาดมาตรฐาน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะอยู่ภายใต้ความดัน 30 บาร์ (bar) |
. |
นอกจากนี้ยังมีบริษัท Stuart Energy หนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำอีกรายที่ได้ทำการพัฒนาต้นแบบอิเล็กโตรไลเซอร์ขนาดครัวเรือน ที่จุอุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในกล่องสีเทาขนาดเล็กพร้อมด้วยคอมเพรสเซอร์ |
. |
PEM อิเล็กโตรไลเซอร์ (Polymer Electrolyte Membrane Electrolysers) |
เป็นอิเล็กโตรไลเซอร์ที่ใช้เยื่อโพลิเมอร์ทำหน้าที่เป็นตัวอิเล็กโตรไลต์ เทคโนโลยีหลัก ๆ ของเซลล์เชื้อเพลิง PEM สามารถนำมาปรับใช้ได้กับอิเล็กโตรไลเซอร์ PEM ซึ่งได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการที่เซลล์เชื้อเพลิง PEM ได้เข้าสู่ส่วนการผลิตแบบ Mass Production แล้ว (การผลิตในปริมาณมากให้ราคาที่ถูกลง) |
. |
ถึงแม้ว่าอิเล็กโตรไลเซอร์ PEM จะเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่กว่าถ้าเทียบกับอัลคาไลน์อิเล็กโตรไลเซอร์ แต่ก็ทำยอดขายได้ดีระดับหนึ่ง และมีเฟกเตอร์ประสิทธิภาพสูงถึง 94% ทั้งนี้ยังเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ปัจจุบันนี้แฟกเตอร์ประสิทธิภาพของอิเล็กโตรไลเซอร์ PEM ยังต่ำกว่าอิเล็กโตรไลเซอร์อัลคาไลน์ชนิดที่ดีที่สุด แต่อิเล็กโตรไลเซอร์ PEM สามารถทำงานร่วมกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ดี |
. |
ถึงแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะกับโรงผลิตขนาดเล็กที่มีความต้องการปริมาณผลผลิตไม่คงที่ ในขณะที่อิเล็กโตรไลเซอร์อัลคาไลน์จะโดดเด่นกว่าและให้ประโยชน์มากกว่าเมื่อสร้างเป็นระบบขนาดใหญ่ซึ่งต่อตรงกับโรงไฟฟ้า |
. |
อิเล็กโตรไลเซอร์ไอน้ำ |
ชนิดที่สามของอิเล็กโตรไลเซอร์ที่เรียกกันว่า อิเล็กโตรไลเซอร์ไอน้ำจะใช้เซรามิกเป็นขั้วอิเล็กโตรดในการนำไอออน อิเล็กโตรไลเซอร์ไอน้ำให้แฟกเตอร์ประสิทธิภาพที่สูงมาก แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำเป็นเชิงการค้าได้ [Nytek 2000] |
. |
ทั้งนี้ อิเล็กโตรไลเซอร์ไอน้ำชนิดทรงกระบอกซึ่งสามารถต่อเพิ่มเซลล์เข้าไปได้เป็นชั้น ๆ ยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนาในห้องทดลองของ Lawrence Livermore National Laboratory สหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศเยอรมนีมีอิเล็กโตรไลเซอร์ไอน้ำอีกชนิดคือ “Hot Elly” ที่ให้ประสิทธิภาพสูงถึง 92% [NREL 2000] |
. |
อิเล็กโตรไลซิสด้วยแสง |
แทนที่จะต้องแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าก่อนแล้วจึงนำพลังงานไฟฟ้ามาผลิตไฮโดรเจนได้นั้น น่าจะมีวิธีการรวบสองขั้นตอนดังกล่าวเข้าด้วยกัน |
. |
เซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic Cell) น่าจะเป็นทางออก เพราะสาร Catalyst หรือตัวเร่งปฏิกิริยาภายใน ทำหน้าที่เสมือนเป็นอิเล็กโตรไลเซอร์ในการแตกตัวน้ำเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนได้ ณ บริเวณผิวหน้าของเซลล์โดยตรง จากหลักการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผลิตเป็นเชิงการค้าได้จริง |
. |
ระบบดังกล่าวจะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องการอิเล็กโตรไลเซอร์ ทั้งยังน่าจะให้ประสิทธิภาพในการผลิตที่สูง จากข้อมูลผลการทดลองจริงบนเซลล์ซิลิกอนกับแสงอาทิตย์ธรรมชาติได้ค่าประสิทธิภาพที่ 7.8% ดังนั้นงานวิจัยต่อยอดต้องเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มแฟกเตอร์ประสิทธิภาพให้สูงขึ้น และต้องออกแบบให้เซลล์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น [DOE 2000], [Turner 1999] |
. |
การแตกตัวโมเลกุลน้ำด้วยพลังงานความร้อน |
ในโรงผลิตพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ที่อาศัยตัวดักแสงอย่างเช่น Solar Two เป็นโรงผลิตที่มีขนาดกำลัง 10 MW ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย มีอุณหภูมิในการทำงานสูงถึง 3,000 ๐C สำหรับอุณหภูมิในการแตกตัวของน้ำต้องสูงกว่า 2,000 ๐C จึงจะทำให้น้ำเกิดการแตกตัวเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน การใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์นับว่าเป็นวิธีการผลิตไฮโดรเจนที่น่าสนใจและมีต้นทุนไม่สูงนัก |
. |
ทั้งนี้ในงานวิจัยมุ่งค้นหาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อช่วยปรับลดอุณหภูมิของการแตกตัวให้ต่ำลง แต่ปัญหาหลัก ๆ ของกระบวนการนี้คือ ขั้นตอนการแยกก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากกัน เพราะต้องทำ ณ ภาวะอุณหภูมิสูง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเกิดการรวมตัวกันใหม่ จะส่งผลให้ได้ค่าแฟกเตอร์ประสิทธิภาพไม่คงที่ |
. |
การแยกสกัดก๊าซจากไบโอแมสด้วยกระบวนแก๊สซิฟิเคชั่น |
ทั้งนี้ไฮโดรเจนยังสามารถแยกสกัดได้จากวัตถุดิบที่เป็นไบโอแมส เช่น ผลผลิตจากป่าไม้ เปลือกไม้ ขยะแห้งขยะเปียกจากชุมชน ด้วยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น |
. |
ในหนึ่งหน่วยน้ำหนักของไบโอแมสจะมีไฮโดรเจนผสมอยู่เพียง 6- 6.5% หรือเท่ากับปริมาณไฮโดรเจนที่สกัดได้จากก๊าซธรรมชาติที่หนักเพียง 1/4 ของหน่วยน้ำหนักไบโอแมส [PYNE 8/1999] กระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากไบโอแมสจะคล้ายคลึงกับกระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยภายใต้ภาวะอุณหภูมิสูง ๆ ไบโอแมสจะแตกตัวเป็นก๊าซไฮโดรเจน (H2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และ มีเธน (CH4) |
. |
หลังจากนั้นมีเทนจะถูกนำไปผ่านไอน้ำเพื่อแยกสกัดเป็นไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์อีกรอบ ส่วนคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่ได้จะถูกส่งไปยังกระบวนการ “Shift Process” อีกต่อ เพื่อสกัดให้ได้ปริมาณไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น จนได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่เป็นไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากวัตถุดิบไบโอแมสจะถือว่ามีความเป็นกลางต่อชั้นบรรยากาศเพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด |
. |
นอกจากนี้ยังสามารถนำก๊าซมาผสมเพื่อนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงได้อีกทอด ดังนั้นกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น สามารถต่อเพิ่มเข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าจากไบโอแมสหรือขยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าให้สูงขึ้นได้ถึง 30% ซึ่งระบบธรรมดาไม่สามารถทำได้ [Nytek 2000] |
. |
เตาปฏิกรณ์สำหรับกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่นได้รับการพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกเพื่อใช้ในการสกัดเมธานอลจากไบโอแมส ซึ่งเตานี้สามารถใช้ผลิตไฮโดรเจนได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเภทที่ใช้อากาศแทนออกซิเจนจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า [Ogden & Nitsch 1993] |
. |
หรืออีกกระบวนการหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นที่ NREL สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการสกัดน้ำมันชีวภาพจากไบโอแมส เป็นกระบวนการให้ความร้อนแก่ไบโอแมสในภาวะสุญญากาศ (ไพโรไลซิส) โดยน้ำมันชีวภาพสามารถนำไปแยกสกัดเป็นไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกที |
. |
ถ้าเปรียบเทียบน้ำมันชีวภาพกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ฟอสซิล) จะพบว่ามีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน เมื่อแตกตัวจะให้สารผลิตภัณฑ์ต่างชนิดกัน แต่ทั้งนี้จะให้ไฮโดรเจนออกมาเหมือนกัน ข้อดีอีกอย่างของการใช้น้ำมันชีวภาพคือ แทนที่จะต้องขนส่งไบโอแมสในปริมาณมาก ๆ ก็ขนส่งน้ำมันชีวภาพแทน ซึ่งสามารถขนส่งด้วยรถน้ำมันเพื่อนำไปส่งให้แก่สถานีย่อยเพื่อแปลงน้ำมันชีวภาพให้เป็นไฮโดรเจน |
. |
ดังนั้นน้ำมันชีวภาพนอกจากจะขายได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฮโดรเจนที่แข่งกับไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติได้สบาย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่โครงสร้างการขนถ่ายและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติยังไม่มีความพร้อม ไฮโดรเจนจากชีวภาพนี้อาจจะมีราคาถูกกว่าไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติก็เป็นได้ |
. |
การผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการชีวภาพ |
. |
กระบวนการสังเคราะห์แสงนับได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมากบนโลกใบนี้ โดยขั้นตอนแรกของกระบวนการสังเคราะห์แสงคือการแยกน้ำให้เป็นออกซิเจนกับไฮโดรเจน |
. |
ไฮโดรเจนเมื่อผสมกับคาร์บอนไดออกไซด์จะกลายสภาพเป็นคาร์โบไฮเดรตตามที่พืชต้องการ ดังนั้นแนวความคิดเรื่องการใช้แสงอาทิตย์แยกน้ำก็ไม่ใช่แนวความคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะกระบวนการนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อกำเนิดของชั้นบรรยากาศ และยังเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดบนโลกใบนี้ |
. |
แต่ลำพังแค่แสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถจะแยกน้ำได้เช่นกัน ต้องอาศัยส่วนประกอบเล็ก ๆ ในสิ่งมีชีวิตช่วยให้เกิดการสังเคราะห์แสง แต่กระบวนการนี้ในพืชจะแปรไฮโดรเจนเป็นคาร์โบไฮเดรตทันที ดังนั้นต้องค้นหาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่จะสร้างไฮโดรเจนออกมาได้โดยตรง และแล้วในปี ค.ศ. 1896 ก็มีการค้นพบสาหร่าย ฟ้า-เขียว (Blue-green algae: “Anabaena”) ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนได้เมื่อบรรจุในภาชนะแก้วปิดแล้วนำไปตากแดด |
. |
ในทางทฤษฎีแล้วสาหร่ายชนิดนี้สามารถผลิตไฮโดรเจนได้ค่าประสิทธิภาพสูงถึง 25% แต่ปัญหาก็คือไฮโดรเจนที่ได้มาพร้อมกับออกซิเจน ดังนั้นออกซิเจนจะรวมตัวกับไฮโดรเจนเป็นเอนไซม์ไฮโดรจีแนส (Enzyme Hydrogenase) จึงเหลือก๊าซไฮโดรเจนจริง ๆ ไม่มากนัก |
. |
ทีมนักวิจัยจากห้องทดลองของมหาวิทยาลัย Berkeley แคลิฟอร์เนีย ร่วมกับห้องทดลองเพื่อการพลังงานทดแทนแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า ถ้านำสาหร่ายเขียว (Chlamydomonas Reinhardt of Sulphates) มาอดอาหาร (จำกัดอาหาร) จะทำให้โครงสร้างโปรตีนของสาหร่ายเปลี่ยนไปและจะไม่ผลิตออกซิเจนในขณะสังเคราะห์แสง |
. |
แต่โครงสร้างโปรตีนใหม่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสังเคราะห์แสงที่ผลิตได้เฉพาะไฮโดรเจน สาหร่ายสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกัน จึงจะถึงเวลาที่ต้องนำสาหร่ายคืนสู่การสังเคราะห์แสงแบบปกติเพื่อให้โครงสร้างโปรตีนคืนตัว |
. |
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะสามารถใช้สาหร่ายได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกแต่ทั้งนี้เพื่อความสดใหม่และเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนถ่ายชุดของสาหร่ายอย่างสม่ำเสมอ หลังจากเลิกใช้สาหร่ายเพื่อการผลิตไฮโดรเจนแล้วสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ชั้นดีที่อุดมไปด้วยโปรตีน |
. |
ผลสำเร็จสูงสุดในขณะนี้ในการออกแบบและทดลองระบบการผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการชีวภาพให้ค่าประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 10% [Science 2000] ดังนั้นเป้าหมายถัดไปคือการพัฒนากระบวนการผลิตที่สมบูรณ์แบบ |
. |
ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมสำหรับการผลิต และอุปกรณ์ที่จะใช้คัดเลือกสาหร่ายที่มีขนาดพอเหมาะ เพื่อการพัฒนาระบบให้มีราคาย่อมเยาทั้งยังให้ประสิทธิภาพที่ดีจึงต้องมีการทดลองสร้างจริงนอกห้องทดลอง โดย 90%ของเงินลงทุนทั้งหมดคาดว่าจะครอบคลุมค่าติดตั้งและค่าดำเนินการ [Benemann 1998] |
. |
นอกจากจะใช้สาหร่ายแล้วยังมีความพยายามที่จะใช้แบคทีเรีย Rodobacter Speriodes เพื่อการผลิตไฮโดรเจนจากขยะสดจำพวกผลไม้และพืชผัก ทั้งยังได้ขยายการทดลองไปยังการผลิตจากขยะเปียกชนิดอื่น ๆ และได้ผลเป็นที่พอใจ กระบวนการนี้ถึงแม้ว่ายังเป็นเพียงการศึกษาและทดลองในห้องทดลอง แต่ก็ถือเป็นงานที่มีศักยภาพและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ทั้งในแง่การลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการผลิตจริงได้ |
. |
ในประเทศเยอรมนีที่สถาบันวิจัย The Institut für Bioverfahrenstechnik ณ มหาวิทยาลัย RWTH-Aachen ได้ทำการพัฒนาเตาปฏิกรณ์ชีวภาพเพื่อการผลิตไฮโดรเจนจากหางนม “Whey” ซึ่งเป็นผลผลิตที่เหลือจากการทำชีสและเนยแข็ง |
. |
แต่งานวิจัยบางส่วนของการสังเคราะห์แสงด้วยวิธีชีวภาพเพื่อการผลิตไฮโดรเจนนั้น มีผลทำให้โครงสร้างทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตถูกดัดแปลงซึ่งอาจจะมีผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม |
. |
การใช้ไฮโดรเจน |
ไฮโดรเจนถูกนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมในหลายกระบวนการผลิต เช่นอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้ไฮโดรเจนเพื่อการผลิตในปริมาณมาก |
. |
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฮโดรเจนที่น่าสนใจคือการนำไฮโดรเจนไปใช้เพื่อการพลังงานและการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์เชื้อเพลิง |
. |
ดังนั้นจะได้กล่าวอย่างย่อ ๆ ถึงเซลล์เชื้อเพลิงชนิดหลัก ๆ ที่สำคัญ ๆ และเทคโนโลยีที่น่าสนใจชนิดอื่นที่เกี่ยวกับไฮโดรเจน สุดท้ายจะเป็นส่วนของการเก็บและการขนถ่ายไฮโดรเจน |
. |
รูปที่ 5 หลักการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิง PEM |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cells) |
จากรูปที่ 5 เมื่อให้ความร้อนกับไฮโดรเจนจะเกิดปฏิกิริยารวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำในขณะเดียวกันจะคายพลังงานความร้อนออกมา (ฝั่งขวาของเซลล์) เป็นหลักการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิง ภายในเซลล์เชื้อเพลิงจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนซึ่งกั้นไว้ด้วยสารอิเล็กโตรไลต์ที่ทำหน้าที่ช่วยในการแยกก๊าซไว้คนละด้าน แต่จะยอมให้ไอออนคือโปรตอน (Proton) เท่านั้นวิ่งผ่าน |
. |
ส่วนประจุไฟฟ้าลบ หรือ “อิเล็กตรอน” (Electron) จะวิ่งไปยังวงจรไฟฟ้าภายนอกผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้า เสมือนเป็นการแปลงพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและได้ค่าประสิทธิภาพในทางทฤษฎีถึง 83% ถึงแม้ในความเป็นจริงประสิทธิภาพที่ได้จะมีค่าต่ำกว่านี้ แต่ก็ถือได้ว่าเซลล์เชื้อเพลิงดังกล่าวให้ค่าประสิทธิภาพที่ดีมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีด้านพลังงานอื่น ๆ |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงถูกค้นพบโดย เซอร์ วิลเลียม โกรฟ (Sir William Grove) และได้รับการจดสิทธิบัตรไปในปี ค.ศ. 1839 ในส่วนของการใช้ไฮโดรเจนเพื่อการขนส่งในตอนที่ 4 (ต่อไป) จะมีข้อมูลจากบริษัท Daimler Chrysler ที่ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการทำงานของรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง รถยนต์ดีเซล และรถยนต์เบนซิน ในโมเดลรถยนต์ทดสอบชนิดเดียวกัน คือ “Necar 4” นอกจากนี้ทาง Toyota ก็ได้มีการพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงที่จะได้กล่าวถึงต่อไปเช่นกัน |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงมีหลักการทำงานเหมือนกับแบตเตอรี่ธรรมดา ๆ แต่จะต่างกันตรงที่แบตเตอรี่จะไม่ผลิตไฟฟ้าถ้าพลังงานที่สะสมหมดลง แต่เซลล์เชื้อเพลิงจะทำหน้าที่ผลิตกระไฟฟ้าตราบเท่าที่ยังมีเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงอยู่ (อายุการใช้งานยาวนานกว่ามาก) ดังตัวอย่างการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิง PEM ต่อไปนี้ |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนพื้นฐานหลัก 4 อย่าง ดังนี้ |
. |
Cathode คาโถด ขั้วอิเล็กโตรดบวก ทำหน้าที่รับอิเล็กตรอนจากวงจรภายนอกมายังตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาการรวมตัวกันของออกซิเจนและไฮโดรเจนเป็นน้ำ |
. |
Electrolyte อิเล็กโตรไลต์ เยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอน ทำจากพลาสติก (โพลิเมอร์) เยื่อนี้มีความสามารถในการนำเฉพาะประจุบวก (โปรตอน) เท่านั้น แต่จะไม่ยอมให้ประจุลบวิ่งผ่านได้ |
. |
Catalyst หรือตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น แต่ตัวมันเองจะไม่ผสมอยู่ทั้งในสารผลิตภัณฑ์และสารตั้งต้น ที่ปกติจะเป็น ทองคำขาว (Platinum) โดยทองคำขาวจะถูกบดให้เป็นผงเพื่อการยึดเกาะตามอนุภาคคาร์บอนเล็ก ๆ ยิ่งผงละเอียดเท่าไรก็ยิ่งประหยัดปริมาณทองคำขาวที่ต้องใช้ เพราะผงละเอียดจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการทำปฏิกิริยาของทองคำขาวได้มากขึ้น |
. |
นอกจากชิ้นส่วนหลัก 4 ส่วนดังกล่าว ยังต้องมีวัสดุอื่น ๆ ที่ต้องประกอบเข้าไปด้วย เช่น ลวดหรือแผ่นตัวนำเพื่อนำอิเล็กตรอนเชื่อมต่อระหว่างขั้วอิเล็กโตรด |
. |
ภายในเซลล์เชื้อเพลิง PEM มีการทำงานเป็นลำดับดังต่อไปนี้ ดังรูปที่ 5 เริ่มที่โมเลกุลไฮโดรเจนจะเกิดปฏิกิริยาแตกตัวเป็นสองไอออนบวก (โปรตอน) และสองไอออนลบ (อิเล็กตรอน) เมื่อสัมผัสกับสารเร่งปฏิกิริยาที่เป็นทองคำขาว (ฝั่งซ้ายของเซลล์) ส่วนอิเล็กตรอนที่ได้จะถูกเหนี่ยวนำไปยังขั้วอิเล็กโตรดลบและส่งผ่านไปยังวงจรไฟฟ้าภายนอก ซึ่งเป็นแรงขับให้อุปกรณ์ภายนอกทำงาน เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า |
. |
หลังจากนั้นอิเล็กตรอนจะถูกส่งต่อไปยังขั้วคาโถด อีกด้านของสารอิเล็กโตรไลต์ ณ จุดนี้โปรตอนจะสัมผัสกับ อากาศ อิเล็กตรอน และ Catalyst เกิดการรวมตัวกันเป็นโมเลกุลของน้ำ เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้จะให้แรงดันไฟฟ้าออกมาเพียง 0.7 โวลต์ (Volts) |
. |
ดังนั้นโดยปกติเซลล์เชื้อเพลิงจะถูกนำมาเรียงต่อกันแบบอนุกรมเมื่อต้องการเอาต์พุตที่สูงขึ้น (เอาต์พุตคือแรงดันไฟฟ้าในกรณีนี้) โดยจะเรียกว่า “Stack” ของเซลล์เชื้อเพลิง |
. |
ระบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell System) |
ถ้าเป็นระบบขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 100 วัตต์ อาจจะไม่ต้องการระบบระบายความร้อน หรือปั๊มเพื่อเติมอากาศเข้าสู่ระบบ แต่ถ้าเป็นระบบขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 วัตต์ ขึ้นไปแล้ว จะต้องมีอุปกรณ์เสริมติดตั้งเข้าไป |
. |
คำว่าระบบ “System” ในที่นี้หมายถึงการประกอบกันของอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีส่วนทำให้ระบบเกิดการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างเช่นเครื่องยนต์ที่ต้องมีทั้งระบบเติมอากาศ ระบบเชื้อเพลิง ระบบระบายอากาศ และปั๊มลม ประกอบเข้าด้วยกันเป็นเครื่องยนต์มีการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ |
. |
ดังนั้นระบบเซลล์เชื้อเพลิงหรือ เครื่องยนต์เซลล์เชื้อเพลิงก็ต้องมีทั้ง ระบบระบายความร้อน ระบบป้อนอากาศ เป็นต้น โดยเซลล์เชื้อเพลิงปกติจะใช้ทั้งคอมเพรสเซอร์ (อัดอากาศ) และอินเตอร์คูลเลอร์ (ระบายความร้อน) ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปรับแต่ง (จูน) เพื่อให้ระบบทำงานได้ที่ค่าประสิทธิภาพสูงสุด |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ต่างกันทั้งในแง่โครงสร้างและการใช้งาน เซลล์เชื้อเพลิงโดยปกติจะสามารถจำแนกได้ตามประเภทของตัวอิเล็กโตรไลต์เซอร์ ดังสรุปในตารางที่ 1 |
. |
ตารางที่ 1 เซลล์เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ และการใช้งาน (CHP: Combined Heat and Power: ความร้อน + กำลัง) |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง AFC (Alkaline Fuel Cells: อัลคาไลน์) |
เซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์ เป็นเซลล์เชื้อเพลิงที่เคยใช้ในการขับเคลื่อนยานอวกาศอพอลโล (Apollo Flight) โดยในขณะนี้มีใช้งานอยู่ในสถานีอวกาศขององค์กร NASA |
. |
กลุ่มผู้พัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์หลัก ๆ ได้แก่ F.T.Bacon, Energy Conversions, และ Pratt Whitney and Elenco โดยเทคโนโลยีและสิทธิบัตรของ Elenco ถูกบริษัท Zetek ซื้อไปเพื่อการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงให้กับรถแท็กซี่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
. |
นอกจากนี้ Zetek ยังผลิตเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อใช้กับเรือรับส่งในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เซลล์เชื้อเพลิงตัวนี้มีราคาต่ำลงมากเพราะใช้นิกเกิลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแทนทองคำขาว |
. |
แต่ทั้งนี้เซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์มีข้อเสียตรงที่ไวต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ซึ่งถ้าจะใช้อากาศแทนออกซิเจนบริสุทธิ์ ต้องมีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศออกก่อน อีกทั้งสารอิเล็กโตรไลต์ที่เป็นของเหลวในเซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์จะทำให้เกิดการกัดกร่อนภายในระบบได้ |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง PAFC (Phosphoric acid fuel cells: กรดฟอสฟอริก) |
เซลล์เชื้อเพลิงฟอสฟอริกได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 และมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ตามชื่อบ่งบอกว่าใช้กรดฟอสฟอริกเป็นสารอิเล็กโตรไลต์ซึ่งมีความทนทานต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ให้ค่าประสิทธิภาพในการทำงานค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 35–40% เท่านั้น นอกจากนี้ปฏิกิริยาภายในจะสร้างความร้อนส่วนเกินขึ้น แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ |
. |
ซึ่งบริษัท IFE (International Fuel Cells) มีการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง PAFC ในเชิงพาณิชย์ และทำยอดขายไปกว่า 200 เครื่อง โดยเป็นระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่มีขนาดกำลังการผลิต 200 kW และมีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่า 4 ล้านชั่วโมง [King 2000] [IFC 2001] แต่ทั้งนี้ทาง IFC ได้หยุดการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง PAFC ไปแล้ว เพราะเปลี่ยนไปผลิตเซลล์เชื้อเพลิง PEM แทน ในปี ค.ศ. 2003 |
. |
รูปที่ 6 เซลล์เชื้อเพลิง PAFC 5 เครื่องที่ Alaska โดยทั้งระบบผลิตกำลังได้ 1 MW |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง SOFC (Solid Oxide Fuel Cells: ออกไซด์ของแข็ง) |
เซลล์เชื้อเพลิง SOFC เป็นเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำงาน ภายใต้สภาวะความร้อนสูง สารอิเล็กโตรไลต์ที่ใช้จะเป็นออกไซด์ของของแข็ง โดยปกติจะใช้ เซอโคเนียมออกไซด์ (Zirconium Oxide) แต่ในบางกรณีก็จะใช้ อิตเตรียมออกไซด์ (Yttrium Oxide) ซึ่งออกไซด์เหล่านี้จะนำไอออนของออกซิเจนได้ที่อุณหภูมิสูง ๆ |
. |
รูปที่ 7 เซลล์เชื้อเพลิงออกไซด์ของแข็งซึ่งต่ออยู่กับเทอร์ไบน์ ทำงานได้ค่าประสิทธิภาพที่สูงมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตกำลังแบบธรรมดา ในรูปเป็นเทอร์ไบน์ไฮบริดจ์เครื่องแรก ขนาด 220 kW ติดตั้งที่แคลิฟอร์เนีย |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ให้ค่าประสิทธิภาพสูงสุดโดยประมาณที่ 60% หรืออีกนัย คือมีความสามารถในการแปลงเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 60% |
. |
ปัญหาอีกอย่างของเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ก็คือ อิเล็กโตรดจะมีภาวะการนำไฟฟ้าได้ ณ อุณหภูมิสูงเกือบ 1000 ๐C เท่านั้น ซึ่งสร้างปัญหาให้กับวัสดุที่ต้องรับภาระความร้อนสูงขนาดนี้ ดังนั้นจึงมีความพยายามวิจัยและพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่มีเสถียรภาพสูงภายใต้ภาวะอุณหภูมิสูง ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาให้ระบบสามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิต่ำลง |
. |
หนึ่งในบริษัทผู้นำการผลิตด้านเซลล์เชื้อเพลิงออกไซด์ของแข็ง ได้แก่ บริษัท Siemens Westinghouse (SW) โดยในปี ค.ศ. 1997 บริษัท SW ได้ทำการติดตั้งระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 100 กิโลวัตต์ ณ เมือง Arnhem ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็น Stack หรือ ชุดของเซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซธรรมชาติและได้ดำเนินการไปกว่า 16,612 ชั่วโมง |
. |
ภายหลังการทำงานอย่างต่อเนื่องกว่าหมื่นชั่วโมงนั้นเมื่อมีการตรวจสอบความเสื่อมสภาพของระบบพบว่าไม่มีร่องรอยของการสึกหรอเลย ซึ่งเป็นจุดที่น่าประทับใจมาก |
. |
หลังจากนั้นเซลล์ชุดนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายต่อไปยังประเทศเยอรมนีและได้ดำเนินการต่อเนื่องอีกกว่า 20,000 ชั่วโมง ระบบนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 110 กิโลวัตต์ และให้ค่าประสิทธิภาพที่ 46% ขณะเดียวกันความร้อนส่วนเกินที่ได้จากระบบถูกส่งไปใช้ในเขตพื้นที่ที่โครงสร้างสาธารณูปโภคยังเข้าไปไม่ถึงด้วย |
. |
ในช่วงปี ค.ศ. 2002 บริษัท SW ได้ทดสอบระบบที่มีกำลังการผลิตขนาด 250 กิโลวัตต์ ซึ่งทางบริษัท Shell เตรียมสำหรับติดตั้ง ณ เมือง Kollsnes นอกเมือง Bergen ประเทศนอร์เวย์ ส่วนในปลายปี ค.ศ. 2003 บริษัท SW ได้ทำการสร้างระบบเซลล์เชื้อเพลิงแบบ SOFC ที่มีกำลังการผลิตขนาด 250 ถึง 5,000 กิโลวัตต์ เพื่อติดตั้งให้กับโรงไฟฟ้าที่เมือง Pittsburgh, USA [Westinghouse 2000] |
. |
นอกจากนี้ยังมีอีกสองบริษัทอย่าง Rolls Royce และ Sulzer ที่ได้พัฒนาและสร้างเซลล์เชื้อเพลิง SOFC เช่นกัน และมีโอกาสดูแลโครงการใหญ่ ๆ ถึงสองโครงการที่ติดตั้งที่เมือง Mjølner และ Norcell ประเทศนอร์เวย์ แต่สุดท้ายก็ได้ปิดตัวลงเมื่อหลายปีมาแล้ว |
. |
ส่วนบริษัท Prototech ในเมือง Bergen ยังคงเดินหน้าพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง SOFC ต่อไป ในส่วนของประเทศเดนมาร์กถือได้ว่ามีการลงทุนไปกับการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงชนิด SOFC ค่อนข้างสูง โดยเป็นงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มสหภาพยุโรปและได้ดำเนินการ ณ เมือง Risø และ Haldor Topsøe [Nytek 2000] |
. |
ทั้งนี้เซลล์เชื้อเพลิง SOFC ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่อย่าง Delfi และ BMW จึงได้ร่วมกันทำการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงออกไซด์ของแข็งเพื่อใช้แทนแบตเตอรี่สำหรับติดตั้งในรถ BMW รุ่นใหม่ในอนาคต โดยเซลล์เชื้อเพลิงจะใช้เชื้อเพลิงจากรถในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงมีค่าสูงขึ้นกว่าระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ทำงานร่วมกับระบบไดนาโมในปัจจุบันมาก |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง PEM (Proton Exchange Membrane: เยื่อนำโปรตอน) |
เซลล์เชื้อเพลิง PEM บ่อยครั้งจะถูกเรียกว่าเซลล์เชื้อเพลิง SPFC (Solid Polymer Fuel Cells: โพลิเมอร์แข็ง) แต่เราจะใช้คำว่า PEM เพราะว่าเป็นคำที่นิยมใช้กันมากกว่า |
. |
สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง PEM ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.1959–1982 โดยมีบริษัท GE (General Electric) เป็นผู้นำหลักในการพัฒนา แต่ก็ต้องปิดโครงการลงในท้ายที่สุด ดังนั้นในปี ค.ศ.1983 บริษัท Ballard ในแคนาดา จึงเป็นผู้รับช่วงพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง PEM ต่อจนกลายมาเป็นผู้พัฒนาที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ |
. |
การพัฒนาเน้นไปที่เยื่อแลกเปลี่ยนที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น การลดปริมาณการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นทองคำขาวในกระบวนการให้น้อยลง รวมทั้งปรับปรุงระบบน้ำทิ้งจากกระบวนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้เซลล์เชื้อเพลิง PEM ก้าวขึ้นมาเป็นเซลล์เชื้อเพลิงชั้นนำได้สำเร็จ |
. |
รูปที่ 8 อัตราการใช้ทองคำขาวในการเร่งปฏิกิริยาในเซลล์เชื้อเพลิง ในกราฟแสดงปริมาณทองคำขาวที่ใช้ต่อการผลิตกำลัง 1 กิโลวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง PEM ประกอบด้วยเยื่ออิเล็กโตรไลต์ที่ทำมาจากโพลิเมอร์แข็ง มีคุณสมบัติยอมให้อนุภาคโปรตอนเท่านั้นที่วิ่งผ่านจากด้านหนึ่งสู่อีกด้าน เซลล์เชื้อเพลิงจะทำงานที่อุณหภูมิ 80๐C ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะแก่การผลิตไฟฟ้า |
. |
อีกทั้งน้ำร้อนที่ได้จากกระบวนการยังเหมาะแก่ส่งจ่ายเพื่อใช้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ถ้าเทียบกับแบตเตอรี่ เซลล์เชื้อเพลิง PEM เหมาะแก่การใช้งานกับยวดยานและโตรศัพท์มือถือมากกว่า เพราะว่ามีน้ำหนักเบากว่าและทนทานกว่า รวมทั้ง PEM ยังใช้วัสดุที่เป็นของแข็งเป็นสารอิเล็กโตรไลต์ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าของเหลว |
. |
นอกจากนี้ PEM ยังสามารถปรับอัตราการทำงานตามภาระงาน (Load) ที่เปลี่ยนแปลงได้ดี จึงช่วยให้อัตราการเร่งของรถดีขึ้น ที่สำคัญเทคโนโลยีของเซลล์เชื้อเพลิง PEM สามารถทำการผลิตได้แบบแมสโปรดักชัน (Mass Production: การผลิตในปริมาณมาก ๆ และให้ต้นทุนที่ต่ำลง) แต่จะมีข้อเสียตรงที่ต้องใช้ทองคำขาวเป็นตัวคะตะลิสต์ แต่ในระยะหลัง ๆ สามารถปรับลดปริมาณทองคำขาวที่ต้องใช้ลงได้มาก ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดลงไปได้อีกมาก |
. |
รูปที่ 9 เซลล์เชื้อเพลิง PEM ในปัจจุบันที่ทั้งเบาและมีขนาดกะทัดรัด ในรูปเป็นเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 80 kW ซึ่งเปิดตัวออกมาในเดือน มกราคม ปี ค.ศ. 2000 |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง PEM สามารถทนต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี แต่จะไวต่อสภาวะที่มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ปนเปื้อน เพราะมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงต่ำลง ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เชื้อเพลิงใช้วัตถุดิบที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะสร้างก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปรบกวนระบบ |
. |
นอกเหนือจากบริษัท Ballard, Ford และ DaimlerChrysler ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเชื้อเพลิง PEM แล้วยังมีบริษัทหลักอื่น ๆ อีกที่ควรเอ่ยถึง ได้แก่ General Motors, Toyota, HPower, Panasonic, International Fuel Cells, NovArs, DeNora และ Plug Power |
. |
การเพิ่มประสิทธิภาพเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้อยู่ที่การเลือกใช้วัสดุในการเพิ่มอัตราส่วน ผลิตภัณฑ์/น้ำหนัก และ ผลิตภัณฑ์/ปริมาตร ทั้งนี้เซลล์เชื้อเพลิง PEM มีอนาคตที่ค่อนข้างสดใด เพราะว่าสามารถผลิตได้แบบแมสโปรดักชันทำให้มีราคาต้นทุนที่แข่งขันได้กับเทคโนโลยีอื่น และค่อนข้างเป็นที่แพร่หลายแล้วในขณะนี้ |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง MCFC (Molten Carbonate Fuel Cells: คาร์บอเนตหลอม) |
เซลล์เชื้อเพลิง MCFC จะใช้อัลคาไลน์คาร์บอเนตหลอมเป็นสารอิเล็กโตรไลต์ เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ได้รับการออกแบบขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 และได้ทดสอบจริงในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการเป็นไปอย่างเชื่องช้า [Blomen 93] แม้ว่าเซลล์เชื้อเพลิง MCFC จะถูกนำไปติดตั้งใช้งานอยู่หลายที่ |
. |
แต่พบว่าวัสดุที่ใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงนี้กลับมีปัญหาค่อนข้างร้ายแรง อย่างไรก็ตามผู้ผลิตชั้นนำทั้งในสหรัฐอเมริกาและในเยอรมนีอย่าง Motoren-und Turbinen-Union (MTU) ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี ค.ศ. 2004 จะต้องขจัดปัญหาดังกล่าวออกไปให้ได้ และจะผลักดันให้เซลล์เชื้อเพลิง MCFC เข้าแข่งขันในตลาดให้ได้ [Hyweb 2001][MTU2001] |
. |
โดยระบบของ MTU จะทำงานที่อุณหภูมิ 600 ๐C ช่วยให้อุณหภูมิในการทำงานลดลงส่งผลให้ความเครียด (Stress) ที่เกิดขึ้นภายในเนื้อวัสดุไม่สูงนัก ระบบนี้ให้ค่าประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่ 50% รวมทั้งยังให้ผลผลิตเป็นไอน้ำความดันสูงที่ 400 ๐C ส่วนอายุการดำเนินงานถูกประเมินไว้ที่ 20,000 ชั่วโมง [MTU 2001] |
. |
เซลล์เชื้อเพลิง DMFC (Direct Methanol Fuel Cells: เมธานอล) |
เป็นเซลล์เชื้อเพลิง PEM อีกชนิดที่ใช้เมธิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงแทนไฮโดรเจน มีการทุ่มเทความพยายามไปในงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มค่าประสิทธิภาพเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งให้ค่าต่ำมากในช่วงแรก และเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง Daimler Chrysler ก็เป็นเจ้าแรกที่ได้สร้างรถโกคาร์ตขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง DMFC |
. |
ปัญหาของเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้คือการใช้เมทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิง เพราะว่ามีส่วนผสมของคาร์บอนอยู่สูงจึงสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเมธิลแอลกอฮอล์มีความเป็นพิษสูง |
. |
เซลล์เชื้อเพลิงแบบ RFC (Regenerative Fuel Cells: แบบย้อนกลับ) |
เซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้อาศัยการเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับระหว่างการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน โดยมีชุดการทำงานอยู่เพียงชุดเดียวแต่จะทำสองหน้าที่ เป็นทั้งเซลล์เชื้อเพลิงและอิเล็กโตรไลเซอร์ในตัว ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์มีขนาดและน้ำหนักเบากว่าการแยกออกเป็นสองส่วน |
. |
การทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงแบบย้อนกลับนี้สามารถทำงานในฐานะที่เป็นเซลล์เชื้อเพลิงได้ดีพอ ๆ กับการเป็นอิเล็กโตรไลเซอร์ แต่ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดเดียวที่ใช้ในระบบอาจจะไม่ใช่ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะที่สุดกับการทำงานสองหน้าที่ หมายความว่าไม่ว่าจะทำงานเป็นเซลล์เชื้อเพลิงหรืออิเล็กโตรไลเซอร์ก็จะไม่ได้ค่าประสิทธิภาพสูงสุดที่ควรจะเป็น |
. |
ดังนั้นคะตะลิสต์ที่ถูกเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับความต้องการเป็นหลัก เช่นถ้าเป้าหมายของอุปกรณ์นี้คือการผลิตไฮโดรเจน ก็ต้องเลือกตัวคะตะลิสต์ที่ดีที่สุดสำหรับการทำหน้าที่เป็นอิเล็กโตรไลเซอร์เป็นสำคัญ โดยเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้จะอาศัยเทคโนโลยีของเซลล์เชื้อเพลิง PEM เป็นหลัก |
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด