เนื้อหาวันที่ : 2010-10-12 10:01:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8785 views

มอง IT อย่างแตกต่างในมุมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ปัจจุบันนี้ระบบ IT มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันและในกระบวนการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กอย่างร้านโชห่วยก็ยังต้องมีระบบ IT รองรับเช่นกัน ดังนั้น IT จึงได้รับบทบาทเหมือนเป็นพระเอกด้วยค่าตัวที่ค่อนข้างสูง สำหรับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้น IT มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานและการจัดการ แต่ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

ปัจจุบันนี้ระบบ IT มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันและในกระบวนการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กอย่างร้านโชห่วยก็ยังต้องมีระบบ IT รองรับเช่นกัน ดังนั้น IT จึงได้รับบทบาทเหมือนเป็นพระเอกด้วยค่าตัวที่ค่อนข้างสูงอยู่ แต่ขอให้สังเกตว่าผมใช้คำว่า “เหมือนเป็นพระเอก” แสดงว่าผมไม่ได้มอง IT เป็นพระเอกอย่างที่หลายคนคิดหรือให้ความสำคัญอย่างมาก หรือมีความคิดว่าถ้ามี  IT แล้วจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือมีผลกำไร

.

แต่ผมกลับมองว่า IT เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเป็นสิ่งจำเป็นก็หมายความว่าทุกคนต้องมี เมื่อทุกคนมีได้ก็หมายความว่า ไม่มีใครได้เปรียบใคร จึงมีการตั้งคำถามว่า Does IT Matter ? ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่ผมได้แปลไว้เป็นภาษาไทยที่ชื่อว่า ไอที ฤา สำคัญ สำหรับลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้น IT มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานและการจัดการ แต่ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

.
แล้ว IT หมายถึงอะไร ?

หลายคนมอง IT เป็นเครื่องมือหรือ Tools ในการให้ความสะดวกสบายในการสื่อสารและการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ จึงทำให้หลายคนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้าน Hardware และ Software เป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอัตโนมัติ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ บาร์โค้ด RFID GPS แม้แต่ PDA ที่ใช้เป็นทั้งโทรศัพท์มือถือและสมุดโน้ตเรื่องราวต่าง ๆ ประจำตัว จะเห็นได้ว่าชีวิตเราขาด IT ไม่ได้เลย 

.

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในกระบวนการธุรกิจหรือกิจกรรมที่เราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะมีเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมาย แต่เป้าหมายและขั้นตอนในการดำเนินงานอาจจะใกล้เคียงกันกับในอดีต ลองเปรียบเทียบ PDA กับสมุดโน้ตที่เป็นกระดาษ ถึงแม้ว่าคุณค่าและมูลค่าจะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันในการจัดเก็บข้อมูล  

.

ดังนั้นเป้าหมายของความต้องการของมนุษย์หรือลูกค้าไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันสำหรับกิจกรรมบางอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่เป้าหมายของกระบวนการธุรกิจก็ยังคงเหมือนเดิม

.

IT เป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่ให้ความสะดวกสบายและจัดการกับข้อมูลและข่าวสารเพื่อการจัดเก็บและแสดงผลรวมทั้งการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ดังนั้นไม่ว่าจะมี IT หรือไม่ก็ตาม มนุษย์ก็ยังต้องการจัดการกับข้อมูลอยู่ดี แต่ภาพลักษณ์ของ IT ที่ปรากฏอยู่ในชุมชนธุรกิจกลับเป็นสิ่งที่สัมผัสและจับต้องได้แบบเชิงวัตถุในลักษณะของการจัดเก็บ        

.

การแสดงผลและการติดต่อสื่อสารข้อมูลด้วยความสะดวกสบาย ทำให้เราหลงใหลไปกับความสะดวกของ IT ในรูปแบบของ Hardware และ Software สุดท้ายกลายเป็นแฟชั่นที่ต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับในทัศนะของผมแล้ว IT ได้ถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากการมุ่งเน้นไปที่ Hardware และ Software ในอดีตมาเป็นการจัดการกระบวนการธุรกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการจัดการกระบวนการธุรกิจ 

.

IT  ในปัจจุบันจึงเป็นในการนำเอาข้อมูลและสารสนเทศมาวิเคราะห์เพื่อจัดการกระบวนการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทของธุรกิจ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดในการนำเอา IT เฉพาะที่เป็น Hardware และ Software มาใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงผลต่อเนื่องจากการตัดสินใจด้วยข้อมูลหรือสารสนเทศนั้น ๆ การวางแผนงานหรือการศึกษาโครงการ IT ส่วนใหญ่มักจะเป็นการลงทุนของ Hardware และ Software เป็นส่วนใหญ่

.

แต่ผมกลับมองลึกลงไปมากกว่านั้น โดยคำนึงถึงคุณภาพข้อมูลและสิ่งที่ข้อมูลเหล่านั้นสื่อสารถึงผู้ตัดสินใจ IT ที่เป็น Hardware และ Software จะเป็นตัวช่วยในการจัดเก็บและการสื่อสารข้อมูลเท่านั้น และที่สำคัญคือ ข้อมูลเหล่านั้นควรจะถูกกำหนดออกมาจากองค์ประกอบและคุณสมบัติของกระบวนการ (Process)

.
IT สำคัญต่อลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างไร ?

ถ้าลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและสินค้าหรือทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า IT ก็เปรียบเสมือนกับลอจิสติกส์ของข้อมูลและสารสนเทศของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 

.

ดังนั้น IT ที่เราพูดถึงกันแต่ด้าน Hardware และ Software ก็จะเป็นแค่การจัดเก็บข้อมูลและการจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แล้ว IT ที่ลงทุนไปในระบบธุรกิจทั้งหลายเพื่อให้การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพขึ้นนั้นมีความสำคัญหรือไม่ จะคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ 

.

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสำคัญมากเพราะ IT กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการปฏิบัติการทางธุรกิจ IT ได้กลายเป็นเครื่องมือกล (Machine)ของการจัดเก็บข้อมูลและการสื่อสารข้อมูล ด้วยความสามารถในการจัดเก็บ การสืบค้น การแสดงผล และการส่งผ่านข้อมูล ทำให้ IT กลายเป็นสิ่งจำเป็นในธุรกิจไป แม้แต่ชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนก็คงไม่สามารถขาด IT ไปได้ 

.

แต่มุมมองที่สำคัญคือ ปัจจุบันทุกคนสามารถหา IT มาสนับสนุนกระบวนการหรือธุรกิจของตัวเองได้เหมือน ๆ กัน IT ประเภท Hardware หรือ Software หาได้ไม่ยากในตลาดทั่วไป แล้ว IT ประเภทไหนล่ะที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แล้วยังสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

.

IT ในทัศนะของผม คือ ตัวข้อมูลหรือสารสนเทศที่แสดงสถานะเชิงลอจิสติกส์ของการไหลของทรัพยากรในองค์กรหรือระบบ รวมทั้งข้อมูลหรือสถานะของการวางแผนการตัดสินและข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกของโซ่อุปทาน 

.

ข้อมูลเหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวขับเคลื่อนการไหลของทรัพยากรภายในองค์กร โดยเฉพาะการไหลของวัตถุดิบที่แปรสภาพไปเป็นวัตถุดิบหรือการบริการสำหรับลูกค้า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บและจัดส่งไปยังผู้ทำการตัดสินใจในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ (Operational) ระดับการจัดการ (Tactical) จนถึงระดับยุทธศาสตร์ (Strategic) เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรตามที่ต้องการ

.

ลักษณะข้อมูลและสารสนเทศเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะเกี่ยวข้องกับสถานะของสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ให้ดูที่  7R ที่ประกอบไปด้วย เวลา (Time) สถานที่ (Place) ชนิดของผลิตภัณฑ์ (Product) จำนวน (Quantity) สภาพ (Condition) ลูกค้า (Customers) และต้นทุน (Cost)

.

ข้อมูลและสารสนเทศเหล่านี้จะถูกใช้ในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดการไหลที่เหมาะสมไม่มากไปและไม่น้อยไป เมื่อมี IT เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะทำให้ผู้ตัดสินใจมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Real Time)

.

IT ที่ถูกนำเสนอกันในตลาดเวลานี้เป็นสินค้าประเภท Solutions แบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบทั้ง Hardware และ Software พร้อมทั้งวิธีการหรือ Best Practices บางอย่าง ซึ่งมักจะใช้ไม่ค่อยได้กับการปฏิบัติการของแต่ละองค์กร เพราะว่าคนขาย Solution ด้าน IT ก็จะเน้นไปทาง Hardware และ Software เป็นส่วนใหญ่

.

ใครจะมารู้กระบวนการทำงานดีเท่าตัวเราเอง แต่สุดท้ายแล้ว คนใช้ IT ก็ไม่รู้อะไรมากนักเช่นกัน ใช้ไม่เป็นเพราะระบบซับซ้อนเกินไป ส่วนความรู้ของกระบวนการของตัวเองก็ไม่ลึกซึ้งพอ ไม่สามารถปรับปรุงได้

.

ดังนั้น Solution ทางด้าน IT ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ให้อำนวยความสะดวกในด้านการติดต่อสื่อสาร การจัดเก็บข้อมูล การแสดงผล ในรูปแบบของการทำธุรกรรม (Business Transactions) ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ IT จึงมีบทบาททางด้านนี้โดยตรง แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกคนสามารถหาซื้อ Solutions เหล่านี้ได้ไม่ยากนัก IT ประเภทนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งบอกความได้เปรียบขององค์กร แต่ IT Solutions ก็ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการจัดการกระบวนการธุรกิจ

.
ข้อมูลใน IT คือ ภาพสะท้อนการไหลลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ถ้าผมมอง IT ไม่ใช่แค่ Hardware และ Software แล้ว IT ที่ผมบอกว่าให้เน้นที่ตัวข้อมูลของการจัดสรรทรัพยากรว่าจะช่วยสร้างให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันนั้นได้หรือไม่ ? ผมมองข้อมูลสถานะเชิงลอจิสติกส์ 7R เป็นภาพสะท้อนการไหลของทรัพยากรในช่วงเวลาที่มีการเก็บข้อมูลนั้น   

.

ถ้าเราใช้ IT ช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูลสถานะของลอจิสติกส์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอหรือมีมิติในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นข้อมูลตามเวลาจริงแล้ว (Real Time) ก็จะทำให้ผู้จัดการหรือผู้ตัดสินใจสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันทีทันใด

.

ที่จริงแล้วผมมองข้อมูลและสารสนเทศในองค์กรธุรกิจเป็นข้อมูลเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ข้อมูลการขาย   ข้อมูลสินค้าคงคลัง ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการซื้อ ข้อมูลการเงินและบัญชี ข้อมูลเหล่านี้บอกสถานะของการไหลของทรัพยากรขององค์กรธุรกิจ

.

ดังนั้นถ้าเรารู้วิธีการแปลความหมายหรือวิเคราะห์ของข้อมูลเหล่านี้โดยการบูรณาการให้เป็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้วางแผนทรัพยากรขององค์กรแล้ว จะทำให้เรารู้เรื่องราวขององค์กรในอดีต  ปัจจุบัน และความเป็นได้ของอนาคต  

.

ข้อมูลเรื่องราวเหล่านี้ยังสามารถบอกเรื่องราวต่าง ๆ ในมุมของสมรรถนะขององค์กรได้ด้วยทั้งในด้านประสิทธิพล ประสิทธิภาพ และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ความสามารถเหล่านี้ให้ผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ออกมาแตกต่างกับมิติกับตัวข้อมูลและเทคโนโลยีในการจัดการกับข้อมูล เพราะว่าถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลมากเพียงใด แต่ถ้าขาดการวิเคราะห์และตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นก็คือขยะดี ๆ นี่เอง

.

แล้วข้อมูลเหล่านี้อยู่ตรงไหนบ้างในระบบหรือในองค์กร ข้อมูลที่เราเก็บหรือบันทึกจะอยู่ในธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ การผลิต การจัดเก็บและจัดส่ง การขาย กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการธุรกิจเบื้องต้นที่เป็นองค์ประกอบหลักของกระบวนการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานขององค์กรอยู่แล้ว

.

ระบบ IT อย่าง ERP (Enterprise Resource Planning) จึงทำหน้าที่ในการติดตามสถานะของการไหลของทรัพยากรในองค์กรว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเชิงกระบวนการหรือไม่ มีการเชื่อมโยงกันแบบ End to End หรือไม่ และข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถถูกวิเคราะห์ออกมาเป็นสมรรถนะของกระบวนการได้อีกด้วย 

.
IT ยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยคิดวิเคราะห์อีกด้วย

หลายบริษัทได้นำเอา IT เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลและสารสนเทศขององค์กรในด้านธุรกรรม แต่ยังพบว่ามีการนำเอา IT มาช่วยในการตัดสินใจอยู่ไม่มากนัก สภาพขององค์กรที่ติดตั้งระบบ IT ที่ทันสมัยจะมีความสะดวกรวดเร็วและถูกต้อง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะสามารถอยู่ได้ตลอดไป องค์กรจะต้องสามารถปรับตัวได้  

.

ดังนั้น IT ที่มีบทบาทต่อความเป็นไปขององค์กรจะต้องเป็น IT ที่ช่วยสนับการวิเคราะห์และตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า Analytical IT ถ้าปราศจากการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจแล้ว องค์กรก็ไม่อาจจะดำเนินงานหรือปรับตัวได้ IT ที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้ยังต้องอาศัยข้อมูลและสารสนเทศจากระบบ IT ที่สนับสนุนการทำธุรกรรม หรือ Transactional IT ต่าง ๆ เช่น ระบบ ERP

.

เป้าหมายที่สำคัญของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คือ การจัดการการเปลี่ยนแปลง การจัดการทรัพยากรขององค์กรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางธุรกิจ  สิ่งที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรหรือโซ่อุปทาน คือ การตัดสินใจขององค์กร  

.

แต่ทรัพยากรในองค์กรที่มีความสามารถในการตัดสินใจได้ คือบุคคลเท่านั้น แต่การตัดสินใจในองค์กรนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ระดับการปฏิบัติการขึ้นไปจนถึงระดับยุทธศาสตร์ขององค์กร ยิ่งองค์กรมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ การตัดสินใจก็ต้องการข้อมูลและวิธีการตัดสินใจที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น 

.

สำหรับการตัดสินใจในระดับการปฏิบัติการทั้งหลายที่ไม่ซับซ้อนและเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและไม่ได้ใช้ข้อมูลมากนัก ระบบ IT ก็สามารถที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจพื้นฐานเป็นไปโดยอัตโนมัติรวดเร็วและถูกต้องได้ และใคร ๆ ก็สามารถที่จะปฏิบัติงานได้ IT จึงช่วยให้การดำเนินงานในระดับปฏิบัติการเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ    

.

ส่วนการตัดสินในระดับกลางที่เป็นการวางแผนและในระดับยุทธศาสตร์ที่เป็นการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อองค์กรในเชิงความสามารถในการแข่งขันขององค์กร กระบวนการวิธีการคิดและตัดสินใจ (Decision Making Process) ก็จะมีความซับซ้อน (Complexity) ขึ้นไปอีก

.

องค์กรธุรกิจทั่วไปอาจจะยังไม่มีการใช้เครื่องมือทางด้าน IT เข้าช่วยวิเคราะห์ ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสภาพที่เรียกว่า เหมาะสมที่สุด (Optimal) คือ คุ้มค่าที่สุดในการใช้ทรัพยากรนั่นคือ ระดับการให้บริการต่อลูกค้าและต้นทุนที่ลดลง ซึ่งหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น

.
วิเคราะห์อะไรและอย่างไร ?

เมื่อพูดถึงการวิเคราะห์แล้ว หลายคนคงจะคิดถึงการหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในสิ่งที่เราสนใจหรือปัญหาที่จะวิเคราะห์ สำหรับในระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้น เราก็คงจะวิเคราะห์การไหลของทรัพยากรในระบบหรือองค์กรธุรกิจ ซึ่งจะต้องพิจารณาในเชิงกระบวนการ (Process Oriented) และจากต้นชนปลาย (End to End) ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในกระบวนการและกระบวนการย่อยย่อมมีผลต่อผลลัพธ์ของกระบวนการ

.

ดังนั้นเมื่อจะคิดหรือวิเคราะห์ปัญหาก็ให้มองในเชิงกระบวนการมากกว่ามองเป็นจุด ๆ ให้จัดการความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในกระบวนการ ผลพวงจากระบบการศึกษาของเราทั้งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจก็มีการสอนกระบวนการคิดวิเคราะห์มากมายในหลายวิชา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบุคลากรที่ออกมาสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่สามารถที่จะนำเอาหลักคิดมาแปรสู่การปฏิบัติได้  

.

อย่างน้อยทุกคนควรจะสามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ หาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบได้หรือที่เรียกกันว่า การสร้างแบบจำลอง (Modeling) ที่สำคัญน่าจะสามารถสร้างทางเลือกและประเมินทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดได้จากแบบจำลองที่สร้างขึ้น 

.

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาในธุรกิจอาจจะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าที่เราคิด   ดังนั้น IT จึงสามารถช่วยให้เราในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ สร้างแบบจำลองและประเมินทางเลือกของปัญหาโดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยที่สุดและยังมีความแม่นยำมากกว่าในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการช่วยคิดเปรียบเสมือนเป็นเครื่องคิดเลข 

.

แต่ปัญหาในลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ได้มีอยู่แบบจำกัด มีความเป็นพลวัตร มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา   ดังนั้นผู้วางแผนและตัดสินใจจะต้องมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ในการสร้างแบบจำลองของปัญหา การวิเคราะห์ การสร้างทางเลือก และการประเมินทางเลือก กระบวนการเหล่านี้จะต้องใช้ประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือทางด้าน ITในการวิเคราะห์และการประเมินผล

.
IT สำหรับการตัดสินใจ

เมื่อความเข้าใจในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานถูกขยายผลต่อมาจากการจัดการแบบดั้งเดิมที่เน้นแต่ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานต้องมามุ่งเน้นที่การจัดการกระบวนการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นข้อมูลและสารสนเทศที่บ่งบอกสถานะการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งต่าง ๆ ตลอดกระบวนการจึงมีความสำคัญต่อการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างมาก

.

เหตุผลหนึ่งที่การจัดการและการใช้  IT ในการจัดการไม่ค่อยได้ผลก็เพราะขาดความตระหนักในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เราสามารถที่ติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการตั้งแต่ต้นชนปลายได้โดยการประเมินจากข้อมูลและสารสนเทศจากระบบ IT และวิเคราะห์ประเมินได้ด้วยเครื่องมือของ IT

.

แต่ในทัศนะของผมและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับธุรกิจต่าง ๆ ยังพบว่าความรู้ความเข้าใจในการใช้ IT กับการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานหรือการจัดการธุรกิจนั้นยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะขาดความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นพลวัตรนั่นเอง ถ้าธุรกิจหรือผู้นำองค์กรธุรกิจมีความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ผมรับรองว่าผู้นำองค์กรธุรกิจนั้นจะมอง IT แตกต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด