เนื้อหาวันที่ : 2010-10-08 17:29:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 31220 views

วิศวกรรมคุณค่า (VE) กับการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม

การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กรโดยมุ่งหวังในการปรับปรุงการใช้พลังงานที่ประหยัดต้นทุนมากที่สุด เป็นวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมด้านการประหยัดพลังงาน หรือเรียกว่า การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation) ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางการบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่มุ่งหวังในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบการ สามารถแข่งขันกับการประกอบธุรกิจในยุคเศรษฐกิจใหม่

บูรณะศักดิ์  มาดหมาย
Buranasak_madmaiy@yahoo.com

.

.

การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กรโดยมุ่งหวังในการปรับปรุงการใช้พลังงานที่ประหยัดต้นทุนมากที่สุด เป็นวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมด้านการประหยัดพลังงาน หรือเรียกว่า การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation) ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางการบริหารธุรกิจแบบใหม่ที่มุ่งหวังในการลดต้นทุนการผลิต 

.

เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบการ สามารถแข่งขันกับการประกอบธุรกิจในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยการจัดการพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ ที่สามารถดำเนินการได้ทั้ง มาตรการที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (Non-Investment Measurement)

.

โดยการใช้วิธีการบริหารการจัดการพลังงาน (Energy Management) ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการ จัดระบบ สร้างวินัยและความร่วมมือ ของพนักงานในองค์กร โดยอาศัยวิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เช่น Preventive Maintenance, Quality Control, Total Quality Management, Productivity-let Energy Saving via OEE ฯลฯ

.

มาตรการที่ไม่ต้องทุน (Non-Investment Measurement) ถือว่าเป็นขั้นแรกของการบริหารจัดการพลังงานที่ถูกต้อง เพราะถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานเริ่มต้นในการดำเนินกิจกรรมการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก ของการอนุรักษ์พลังงานขึ้นภายในองค์กร โดยอาจใช้หลักการ ของ 5ส คือ ระบบการจัดการเบื้องต้นแบบง่าย ๆ ที่มุ่งจะพัฒนาองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ

.

องค์กรสามารถที่จะพัฒนาโดยการนำระบบต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเข้าสู่การเป็นองค์กรคุณภาพ สามารถปรับตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นองค์กรระดับมาตรฐานสากลได้ โดยใช้หลักการในเรื่องของ SHITSUKE (S5) หรือ สร้างนิสัย คือการรักษาสิ่งที่กำหนดไว้แล้วอย่างถูกต้องจนเป็นนิสัย

.

เป็นกิจกรรมที่จะคงให้การทำกิจกรรม 5ส ให้คงอยู่จนเกิดเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในองค์กรสำนึก ตระหนักที่จะปฏิบัติเป็นงานประจำ ในการที่จะดำเนินการตามการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละส่วนว่าทำตรงไหน

.

โดยจัดให้มีการหยิบจับมาใช้งานได้อย่างง่าย มีความสะดวก สบาย ซึ่งสิ่งของเหล่านั้นจะต้องมีการรักษาความสะอาดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อการรักษาสภาพให้สามารถใช้งานได้ดีเป็นปกติ เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

.

สิ่งเหล่านี้ถ้าได้ปฏิบัติ อย่างเป็นนิสัยจะทำให้การดำเนินกิจกรรมด้านการนอนุรักษ์พลังงานเกิดความสำเร็จได้ การประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินการด้านการบริหารการจัดการพลังงานจะให้ได้ผลดีนั้น จะต้องมีการกระตุ้นให้พนักงานหรือคนงานในองค์กรได้เกิดความตระหนักโดยการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน

.

โดยการทำการประชาสัมพันธ์ ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดทำข่าวสาร บอร์ดกิจกรรมพลังงาน ป้ายประกาศ สติกเกอร์ โปสเตอร์ หรือจัดให้มีการประกวดคำขวัญ ความคิด ด้านพลังงาน ประกวดร้องเพลงที่เกี่ยวกับกิจกรรมพลังงาน โดยมีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศ หรือมีการกำหนดมาตรฐานการประเมินผลการทำงาน

.

โดยมีเกณฑ์การประเมินผลที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย และมีบุคคลที่มีการยอมรับเป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่อง การรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานได้จึงขอนำเสนอแนวทางการจัดแผนการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน (Awareness Activity) ทัศนคติเพื่อความสำเร็จด้านการอนุรักษ์พลังงานดังนี้

.

การจัดกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานในอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานตามระยะเวลาที่ต้องทำการบำรุงรักษา เป็นกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรอุปกรณ์ในแต่ละอุปกณ์ว่า เวลาใดที่จะต้องมีการบำรุงรักษา เพื่อเพิ่มศักยภาพของเครื่องจักรให้เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาที่นานขึ้นด้วย

.

การกำหนดกิจกรรมนี้ สามารถกำหนดได้จากพนักงานในฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบดีทั้งข้อดีและข้อเสียของการดำเนินการ ซึ่งเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับเครื่องจักรมาตลอด โดยในแต่ละอุปกรณ์จะต้องกำหนด อุปกรณ์ รายละเอียดที่จะดำเนินการ ความถี่ และตลอดจนผู้รับผิดชอบ 

.

การจัดระเบียบการใช้พลังงานในโรงงาน เช่น มาตรการการบริหารพลังงานด้วยตัวเองตามพื้นที่ให้มีการปิดสวิตช์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เมื่อเลิกใช้งานแล้ว สร้างให้เป็นนิสัยในการดับไฟทุกครั้ง ก่อนออกจากห้องทำงานสามารถช่วยลดการประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมาก การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ใช้หลอดผอมจอมประหยัดแทนหลอดอ้วน ใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ หรือใช้หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์

.

การใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟ หรือบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์คู่กับหลอดผอมจอมประหยัด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดไฟได้อีกมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีอยู่มากมายตามท้องตลาดอุปกรณ์ไฟฟ้า

.

การใช้โคมไฟแบบมีแผ่นสะท้อนแสงในห้องต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แสงสว่างจากหลอดไฟ กระจายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้หลอดไฟฟ้าวัตต์สูง ช่วยประหยัดพลังงาน และใช้หลอดไฟที่มีวัตต์ต่ำ สำหรับบริเวณที่จำเป็นต้องเปิดทิ้งไว้ทั้งคืน ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือข้างนอก เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า เป็นต้น

.

.

ส่วน การดำเนินตามมาตรการที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (Investment Measurement) โดยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระบบประสิทธิภาพระบบการทำงานของเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ ลดการขับเคลื่อนเครื่องจักรอุปกรณ์เกินความต้องการ ที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้วก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

.

.

การพิจารณาลงทุนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นแนวทางในของการลดต้นทุนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมอีกแนวทางหนึ่ง ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละชนิด มีมากมายหลายอย่างที่สามารถเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของกิจการได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของโรงงาน

.

ดังตัวอย่างเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่มีการเลือกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์  (Variable Speed Drive Control: VSD), มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Efficient Motor: HEM), อุปกรณ์ควบคุมดีมานด์ (Demand Controller), อุปกรณ์ปรับระดับแรงดันไฟฟ้า (Voltage Regulator), อุปกรณ์ควบคุมการใช้พลังงานในระบบแสงสว่างสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lighting Control),

.

บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Ballast), เครื่องทำความเย็นระบบดูดซึม (Vapour Absorption Chillers), อุปกรณ์ปรับความเข้มแสงหลอด HID (High-Intensity Discharge Lamp), อุปกรณ์ความคุมภาระการใช้งานของมอเตอร์ (Motor Load Control), เครื่องทำความร้อนโดยใช้พลังงานความร้อนที่เหลือจากระบบปรับอากาศ (Water Heater Using Waste Heat From A/C), เครื่องเชื่อมประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Welding Machine),

.

แผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน (Plate Heat Exchanger), มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Efficient Motor: HEM), อุปกรณ์ควบคุมดีมานด์ (Demand Controller), อุปกรณ์ปรับระดับแรงดันไฟฟ้า (Voltage Regulator), อุปกรณ์ควบคุมการใช้พลังงานในระบบแสงสว่างสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lighting Control), บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Ballast), เครื่องทำความเย็นระบบดูดซึม (Vapour Absorption Chillers),

.

อุปกรณ์ปรับความเข้มแสงหลอด HID (High-Intensity Discharge Lamp), อุปกรณ์ความคุมภาระการใช้งานของมอเตอร์ (Motor Load Control), เครื่องทำความร้อนโดยใช้พลังงานความร้อนที่เหลือจากระบบปรับอากาศ (Water Heater Using Waste Heat From A/C), เครื่องเชื่อมประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Welding Machine), แผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน (Plate Heat Exchanger)

.

ในเรื่องของอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ แล้วถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพลังงานโดยรวมของประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญ ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งการสนับสนุนการให้เกิดโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษาหรือค้นคว้าวิจัยให้เกิดการคิดค้น อุปกรณ์หรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ

.

อย่างไรก็ดีแนวทางการลดต้นทุนหลังจากการได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมยังสามารถปรับปรุง ดัดแปลงประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องจักร อุปกรณ์เหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์หลังจากมีการใช้งานมาในระยะหนึ่งที่จะต้องมีการปรับปรุง ตัวอย่างของการดัดแปลง หรือปรับปรุง

.

เช่น การปรับปรุงโคมไฟฟ้าเดิมโดยวิธีการลดจำนวนหลอด การปรับปรุงการลดการรั่วไหลของอากาศอัด การปรับขนาดระบบปรับอากาศให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วน โดยใช้เครื่องแบบรวมศูนย์ การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วนเป็นเครื่องแบบชุด การปรับเปลี่ยนบัลลาสต์ชนิดสูญเสียหลังจากปลดหลอด ฯลฯ

.

การลดต้นทุนการผลิตทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางจากแนวความคิดของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจและเพิ่มความคล่องตัวของสภาพโดยรวมของประเทศในระยะเวลาอันสั้นนั้น

.

จำเป็นต้องเลือกมุ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการจัดการในสถานประกอบการไปยังประเด็นที่ส่งผลสำเร็จอย่างรวดเร็วต่อตัวชี้วัด ความอยู่รอดของธุรกิจ อาทิเช่น ต้นทุน ยอดขาย รายได้ กำไร ค่าใช้จ่าย

.

การจัดการพลังงาน (Energy Management) ในโรงงานอุตสาหกรรม

ในภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม ต่างก็มุ่งหวังที่จะดำเนินเรื่องการผลิตสินค้าและบริการของตน ให้ได้ปริมาณมากและดีที่สุด นั้นคือ แนวคิดที่มุ่งจะผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อจักให้ได้เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจ คือ การได้รับกำไรสูงสุดจากการประกอบการ โดยมิได้คิดถึงเรื่องของการเพิ่มศักยภาพของการผลิต และต้นทุนของกิจการมากเท่าไหร่นัก

.

การเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เป็นรายการหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจการได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานให้มีความเหมาะสมถูกต้องแล้วผลจากการประหยัดที่เกิดขึ้นย่อมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดีภายในระยะเวลาเร่งด่วนที่ธุรกิจและประเทศชาติต้องการ ในขณะนี้

.

ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการ จัดระบบ สร้างวินัยและความร่วมมือ ของพนักงานในองค์กร

.

โดยอาศัยวิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เช่น Preventive Maintenance, Quality Control, Total Quality Management, Productivity-let Energy Saving via OEE ฯลฯ หรือด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ที่เหมาะสมกับการประกอบการของแต่ละประเภทของอุตสาหกรรม นอกจากนี้สามารถวัดผลของการปรับปรุงได้อย่างชัดเจนจากผลการประหยัดที่เกิดขึ้นเป็นรายเดือน

.

การลดต้นทุนการผลิตทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถดำเนินการได้หลายแนวทางจากแนวความคิดของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจและเพิ่มความคล่องตัวของสภาพโดยรวมของประเทศในระยะเวลาอันสั้นนั้น จำเป็นต้องเลือกมุ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการจัดการในสถานประกอบการไปยังประเด็นที่ส่งผลสำเร็จอย่างรวดเร็วต่อตัวชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจ

.

อาทิเช่น ต้นทุน ยอดขาย รายได้ กำไร ค่าใช้จ่าย เป็นต้น การบริหารการจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมได้       

.

การบริหารการจัดการพลังงาน (Energy Management) คือ แนวคิดเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานได้ โดยการมุ่งบริหารจัดการ เพื่อที่สามารถลดต้นทุนของธุรกิจ หรือลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ ในกระบวนการผลิตและการทำงานของโรงงาน

.

โดยการบริหารจัดการด้านพลังงานที่ดี จะต้องมีส่วนช่วยในการลดปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีแนวทางการดำเนินกิจกรรม ในโรงงานอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้

.
1.  การกำหนดนโยบายด้านพลังงาน

เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมการประหยัดพลังงานขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการเนื่องจากเห็นว่า เป็นงานที่พนักงานและคนงานจะต้องทำเพิ่มขึ้นมา ซึ่งก็ยังได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม แถมยังเหนื่อยอีกด้วย บ่อยครั้งที่มีการเกิดการต่อต้านกันขึ้นมาเมื่อมีการประกาศนโยบายเรื่องการประหยัดพลังงาน

.

นอกเหนือจากนั้นผู้บริหารระดับสูงสุดยังเห็นความสำคัญของเรื่องการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน เป็นส่วนที่จะต้องดำเนินการในลำดับหลัง ๆ หรือน้อยมาก แต่หาคิดไม่ว่า มีการสูญเสียเกิดขึ้นโดยเราสามารถที่จะดำเนินการจัดการให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนทางด้านพลังงานได้

.

ฉะนั้น ผู้บริหารจะต้องตระหนังถึงความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ให้เกิดขึ้นในธุรกิจของตน โดยการกำหนดเป็นนโยบายของหน่วยงานด้วย ดังตัวอย่าง นโยบายการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงาน

.

.

2.  การจัดตั้งคณะกรรมการ/กลุ่มอนุรักษ์พลังงาน

การจัดตั้งคณะกรรมการเป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อมุ่งหวังจะให้เกิดผลเรื่องการบริหารการจัดการด้านพลังงานเป็นรูปธรรม ทำหน้าที่ในการร่วมกำหนดนโยบายพลังงานและแผนการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้มีผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการพลังงานด้วย และสามารถร่วมกันกำหนดรูปแบบและวิธีสร้างการจูงใจให้มีส่วนร่วมให้แก่บุคลากรในองค์กร

.

สร้างระบบสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จ คือ การประหยัดพลังงาน รายงานต่อผู้บริหารระดับสูงได้ สามารถพิจารณาจากโครงสร้างคณะกรรมการเพื่อใช้เป็นแนวทาง ตามรูปภาพ

.

.
3.  การกำหนดแผนการปฏิบัติงานด้านการจัดการพลังงาน

เมื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว ก็จะต้องมีแผนการปฏิบัติงานด้านการจัดการพลังงานที่มีความชัดเจนด้วย โดยในแผนปฏิบัติดังกล่าวต้องระบุถึงเรื่องดังต่อไปนี้

.

•  ผู้รับผิดชอบในแผน การปฏิบัติงาน นั้นคือ การเพียงแต่บอกว่าให้นายสกุลเกียรติ หัวหน้าฝ่ายผลิต ให้ดูแลเครื่องจักร ในโซนเอ คงไม่ดีเป็นแน่แท้ ซึ่งนายสกุลเกียรติ จะทำแต่จะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้เขาทำอะไร  ซึ่งการให้มีการกำหนดว่าให้ ใครทำอะไร (Work Assignment) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความชัดเจนในการกำหนดการทำงานว่าทำอะไร

.

•  พื้นที่ที่รับผิดชอบ เมื่อทราบว่าใครทำอะไร แล้ว สิ่งสำคัญต่อไป ก็จะต้องทราบว่าทำส่วนไหน การกำหนดให้ดูแลเครื่องจักร ในโซนเอ เครื่องจักรในบริเวณโซนเอนี้มีถึงจำนวน 20 เครื่อง การกำหนดให้ดูแลเพียงคนเดียวคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำอย่างแน่นอน

.

•  ระยะเวลาการดำเนินการ นั้นคือการกำหนดว่าในแต่ละขั้นตอนจะต้องทำเมื่อไหร่ และแล้วเสร็จเมื่อไหร่ (Work Schedule) การกำหนดตารางของการทำงาน แต่ละขั้นตอนจะต้องทำเมื่อไหร่ และแล้วเสร็จเมื่อไหร่ (Work Schedule) เป็นสิ่งที่สำคัญอีกเช่นกัน เป็นการกำหนดงานให้ทราบว่าจะต้องทำเมื่อไหร่ เสร็จเมื่อไหร่ 

.

อาทิเช่น การดูแลรักษาเครื่องจักรโดยการทำความสะอาด และดูแลการหล่อลื่นของน้ำมันเครื่อง ซ่อมบำรุง (Maintenance) หลังจากเครื่องจักรหยุดการผลิต และจะต้องแล้วเสร็จในวันเดียวกัน เพื่อที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้ในวันถัดไป

.

•  ขอบเขตการดำเนินการ นั้นคือ ต้องทำถึงแค่ไหน (Scope of Work) คงเป็นไปไม่ได้ที่นายสกุลเกียรติ จะสามารถทำงานทุกอย่างได้คนเดียวทั้งหมด ฉะนั้นจะต้องมีการกำหนดขอบเขตของการทำงานว่า ต้องทำถึงแค่ไหน (Scope of Work) ซึ่งจะให้การทำงานนั้นเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 

.

เช่น การกำหนดให้วิศวกรประจำโรงงานดูแลในส่วนของเครื่องจักร ในการซ่อมบำรุง ซึ่งวิศวกรนี้จะต้องมีความรู้ในเรื่องของเครื่องจักรเหล่านี้พอสมควร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เบื้องต้นจะสามารถแก้ไขได้ โดยขอบเขตของการทำงานนั้นการกำหนดน่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะงานที่คนนั้น ๆ ทำอยู่ ณ ปัจจุบันด้วย

.

•  ระยะเวลาการดำเนินการ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน เราคงไม่สามารถทำงานได้ตลอดระยะเวลาในช่วงเวลาของการทำงาน ฉะนั้นจะต้องกำหนด ระยะเวลานานเท่าไหร่ (Period) ในการทำงานของแต่ละวัน

.

•  ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการ (Procedure) ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดำเนินการด้านการผลิต หรือการอนุรักษ์พลังงาน ล้วนแล้วแต่จะต้องมีการกำหนด ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการเป็นอย่างไร (Procedure) เพื่อที่จะสามารถทำในสิ่งนั้น ๆ ได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาดเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ฉะนั้นเรื่องนี้ จะต้องมีการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินการให้ถูกต้องและชัดเจน

.
4.  การสร้างระบบข้อมูลด้านพลังงาน และวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงาน

ในขั้นนี้ จะทำให้เราทราบถึงสถานภาพของกิจการว่าปัจจุบัน และอดีตสถานภาพการใช้พลังงานเป็น อย่างไร โดยจะต้องแสดงถึง ข้อมูลเบื้องต้นของกิจการ (Company Profile) ว่าเป็นอย่างไร และข้อมูลการใช้พลังงานในภาพรวมเป็นอย่างไร โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากใบเสร็จรับเงินค่าพลังงานประเภทต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ

.

เช่น ใบเสร็จค่าไฟฟ้า ใบเสร็จค่าเชื้อเพลิง ใบเสร็จค่าน้ำ ปริมาณการผลิต และปริมาณวัตถุดิบย้อนหลัง 12 เดือน เป็นต้น ผลการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้นทำให้เราทราบถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการใช้พลังงาน ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปกำหนดเป็นเป้าหมายในการอนุรักษ์พลังงานได้ 

.

นอกจากนั้น ระบบข้อมูลพลังงานที่จัดทำขึ้นจะต้องทราบว่า เครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ความร้อนของกิจการ มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบันว่ามีศักยภาพเหมาะสมเพียงใด เพื่อหาแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ให้สามารถลดต้นทุนได้ 

.

ตัวอย่างเช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านไฟฟ้า ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า และระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ  ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบอากาศอัด และเครื่องอัดอากาศ  มอเตอร์ ฯลฯ เครื่องจักรและอุปกรณ์ความร้อน ได้แก่ หม้อไอน้ำระบบส่งจ่ายไอน้ำ และเครื่องจักรที่ใช้ไอน้ำ  หม้อน้ำมันร้อน  เตาเผา เตาหลอม  เตาอบ พัดลมดูดอากาศ พัดลมเครื่องดักฝุ่น เป็นต้น

.
5.  การประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการจัดการพลังงาน

การดำเนินการด้านการบริหารการจัดการพลังงาน จะให้ได้ผลดี จะต้องมีการกระตุ้นให้พนักงานหรือคนงานในองค์กรได้เกิดความตระหนักโดยการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน โดยการทำการประชาสัมพันธ์ ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดทำข่าวสาร บอร์ดกิจกรรมพลังงาน ป้ายประกาศ สติกเกอร์ โปสเตอร์ หรือจัดให้มีการประกวดคำขวัญ ความคิด ด้านพลังงาน ประกวดร้องเพลงที่เกี่ยวกับกิจกรรมพลังงาน

.

โดยมีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศ หรือมีการกำหนดมาตรฐานการการประเมินผลการทำงาน โดยมีเกณฑ์การประเมินผลที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย และมีบุคคลที่มีการยอมรับเป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่อง การรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานได้

.
6.  การดำเนินการตามแผนการปฏิบัติ

การดำเนินการเรื่องการบริหารการจัดการพลังงาน เป็นเรื่องที่จะต้องมีการจัดทำกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะต้องมีการประเมินผลว่าสำเร็จตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ใช้สำหรับการทำงานในโครงการด้านพลังงานขององค์กรต่อไป โดยระหว่างการปฏิบัตินั้น จะต้องมีการประเมินผลการทำงาน ทุก ๆ เดือนเพื่อจะทำให้เราทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขให้ทันการณ์ต่อไป

.

นอกเหนือจากนั้นจะต้องมีการจดบันทึกการทำงานทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลอ้างอิง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรายงานผลให้กับคณะกรรมการพลังงานในฝ่ายทราบ จะสามารถทราบถึงข้อมูลทั้งก่อน และหลังการดำเนินการเพื่อที่จักได้หาแนวทางปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ สามารถนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพนักงานคนอื่นในกลุ่มในการอนุรักษ์พลังงาน ให้สามารถจัดทำแผนงานอนุรักษ์พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.
7.  การจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงาน

แผนการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation Plan) ถือเป็น Master Plan แผนแม่บทด้านพลังงานขององค์กร เป็นการกำหนดแผนที่จะให้เกิดการประหยัดพลังงานในองค์กร เพื่อที่จะให้บุคลากรสามารถเตรียมตัวและสร้างความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรมของพนักงานอีกด้วย โดยมีแนวทางการจัดทำ ดังนี้

.

• เก็บรวบรวมข้อมูลจากการจัดระบบข้อมูลด้านพลังงาน (Energy Information System) และวิเคราะห์การใช้พลังงาน (Energy Audit) จากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อมาวิเคราะห์เป็นภาพรวมทั้งหมดของหน่วยงาน

.

• จัดทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุน (Feasibility Study) เพื่อศึกษาถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อมีการลงทุนและดำเนินการสำเร็จแล้ว ว่าคุ้มหรือเหมาะสมหรือไม่

.

• แผนการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation Plan) จะต้องมีการพิจารณาถึงความสำคัญ ในการปฏิบัติก่อน–หลัง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากการดำเนินการบางเรื่องไม่ต้องลงทุนทางการเงิน ก็สามารถทำได้เลย แต่บางแนวทางนั้นจะต้องมีการลงทุนถึงจะเห็นผลการประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเกิดขึ้น บางอุปกรณ์จะต้องใช้เงินในการลงทุนค่อนข้างสูง 

.

• โครงสร้างแผนการอนุรักษ์พลังงาน จะประกอบด้วยหลักการและเหตุผลโครงการ วัตถุประสงค์ โครงการ ระยะเวลาของโครงการ งบประมาณในการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรม ประโยชน์ขแงโครงการและผลตอบแทนที่จะได้รับ ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผล

.

การจัดการพลังงานนั้น เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องตระหนัก และรณรงค์ให้เกิดขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่มุ่งทำกันอย่างจริงจัง และพยายามผลักดัน และทำอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำเร็จของการดำเนินการ เรื่องการบริหารการจัดการพลังงานนั้น  คือ ผลการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน หนทางในการคืนทุนให้กับธุรกิจ

.
การจัดการพลังงานด้วยเทคนิค VE 

เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานให้มีความเหมาะสมถูกต้องแล้วก็จะส่งผลทำให้เกิดการประหยัดในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการพลังงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

.

ปัจจุบันจึงได้มี เทคนิคการจัดการในเชิงวิศวกรรมที่ใช้ในการลดต้นทุน บางครั้งอาจเรียกเทคนิคนี้ว่า เทคโนโลยีการจัดการทางวิศวกรรม  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering, IE) การควบคุมคุณภาพ (Quality Control, QC) วิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering, VE) เป็นต้น การใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อการลดต้นทุนนั้นในทางปฏิบัติแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้วยกัน 

.

เพราะ IE เน้นเรื่องการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และ QC เน้นเรื่องการควบคุมคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดของเสียเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ ทำให้ไม่ต้องมีการผลิตของเสียออกมา อันเป็นการผลิตที่สูญเปล่า ส่วน VE นั้นเน้นประโยชน์ใช้งานและต้นทุน ทำให้เกิดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และวิธีการผลิตได้

.

อย่างไรก็ตาม เทคนิคการจัดการเพื่อการลดต้นทุนนี้ จำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมหรือเทคนิคเฉพาะด้าน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางวิศวกรรมจะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ถ้ามีการลดต้นทุนด้วยเทคนิคการจัดการที่เหมาะสมแล้วย่อมทำให้เกิดการลดต้นทุนอย่างแน่นอน

.

โดยในปัจจุบัน ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังการซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ จะไม่สามารถขายสินค้าได้ในปริมาณมาก ต้องลดกำลังการผลิต เป็นผลทำให้ต้นทุนในการผลิต สูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าไม่สามารถขยับตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้

.

วิธีการลดต้นทุนต่าง ๆ เช่น การนำเอาวัสดุอื่น ๆ ที่มีราคาต้นทุนถูกกว่ามาใช้ทดแทน หรือการลดค่าแรง อาจทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะวัสดุที่จะนำมาใช้อาจมีจำกัด หรือไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุได้ ส่วนค่าแรงงานก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น

.

ฉะนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการนำเอาวิศวกรรมคุณค่ามาใช้ จะช่วยการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มปริมาณการขายได้ โดยเน้นเรื่องประโยชน์จากการใช้งานเป็นเกณฑ์ในการปรับปรุง และลดประโยชน์รองอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่เกินจำเป็นลง เช่น การเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เผื่อความปลอดภัยไว้สูงเกินไป 

.

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็นออกไป โดยยังคงคุณค่าและประโยชน์ใช้งานที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์เอาไว้ เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า และเพื่อชักจูงให้ลูกค้าหันมาใช้สินค้ามากขึ้น โดยแนวคิดของวิศวกรรมคุณค่า เป็นเทคนิคในการลดต้นทุนวิธีหนึ่งที่ต่างจากเทคนิคการลดต้นทุนอื่น ๆ โดยมีแนวคิดที่สำคัญ 3 ประการ คือ 

.
1. มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก 

โดยทั่วไป การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้ซื้อ ไม่ได้มองเพียงรูปร่างหน้าตาของสินค้าเท่านั้น แต่ยังมองที่คุณค่าของสินค้าด้วย กล่าวคือ ผู้ซื้อจ่ายเงินซื้อสินค้า เพื่อประโยชน์จากการใช้งานนั่นเอง หากสินค้าที่ซื้อมานั้น เมื่อถึงคราวใช้งานแล้วไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ หรือการใช้งานยุ่งยากซับซ้อน เสียง่าย รวมทั้งไม่มีความปลอดภัยในการใช้ ก็อาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีคุณค่า

.

วิธีการแก้ปัญหาโดยวิศวกรรมคุณค่านั้นอยู่ที่การค้นหาว่า ลูกค้าพิจารณาคุณค่าของสินค้าอย่างไร ต้องการประโยชน์จากการใช้งานแบบใด และทำการปรับปรุงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด

.
2. ยึดถือประโยชน์จากการใช้งานเป็นเกณฑ์

ประโยชน์จากการใช้งานมีทั้งประโยชน์จากการใช้งานพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี และประโยชน์อื่น ๆ รองลงไป รวมถึงประโยชน์จากการใช้งานที่ไม่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เผื่อความปลอดภัยมากเกินไป หรือออกแบบตามใจผู้ออกแบบ หากในการออกแบบสามารถลดสิ่งที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ แต่คงไว้ซึ่งประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็น ก็จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อีกทาง โดยไม่ทำให้คุณค่าของผลิตภัณฑ์เสียไป 

.
3. ออกแบบเป็นทีม 

ในการออกแบบสินค้า โดยมากผู้ออกแบบมักจะคำนึงถึงสมรรถนะของสินค้าและเวลาที่ใช้ในการออกแบบที่ต้องเสร็จให้ทันเวลาเป็นอย่างแรก โดยคำนึงถึงต้นทุนและประโยชน์การใช้งานเป็นลำดับท้าย ๆ ฉะนั้นในระบบวิศวกรรมคุณค่าจึงควรมีการออกแบบเป็นทีม เพื่อให้มีผู้ช่วยเหลือการออกแบบในด้านต้นทุนและประโยชน์จากการใช้งาน วิธีนี้จะเป็นการระดมความรู้จากฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันในการลดต้นทุน และส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นทีมอีกด้วย 

.

โดยการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้นั้น จะต้องพิจารณาในเรื่องการนำเอาวิศวกรรมคุณค่ามาใช้ในหน่วยงาน ควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดต้นทุน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายลอย ๆ ว่าลดต้นทุนให้มากที่สุด แต่ควรตั้งเป้าหมายเป็นรูปธรรม เช่น ลดให้ได้จำนวนเท่าใด จึงจะสามารถสะท้อนผลจากการนำเอาวิศวกรรมคุณค่ามาใช้ได้ 

.

ในการพิจารณาประโยชน์การใช้งานของผลิตภัณฑ์ ควรมีการเก็บข้อมูลความต้องการใช้งานที่แท้จริงของผู้ซื้อสินค้า โดยอาจทำแบบสอบถาม หรือดูจากข้อร้องเรียนที่ลูกค้าส่งเข้ามา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ในโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการนำเทคนิคการจัดการต่าง ๆ มาใช้มากมายอยู่แล้ว  

.

แต่จากการนำเอาหลักคิดของ VE มาสอนคนในโรงงานในลักษณะเป็น Workshop Seminar แล้วไปตรวจวินิจฉัยเพื่อฝึกให้ค้นพบความสูญเปล่าด้านพลังงานและการลดต้นทุน ในสิ่งที่ทุก ๆ คนเคยมองข้าม ปรากฏว่าสามารถประหยัดพลังงานและลดต้นทุนกันเองได้มากมาย ทั้งที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงทุนน้อย 

.

การนำเอาหลักคิดของ VE ที่เดิมใช้วิเคราะห์ Function ของ Products และ Services เท่านั้น มาวิเคราะห์ “คน” จึงเป็นการประยุกต์ที่แตกต่างออกไป จากคำจำกัดความเดิมและคิดว่าจะช่วยให้ “คน” คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อย่างสร้างสรรค์ และสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเทคนิคอื่น 

.

.

ในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่การผลิตให้ได้ตามจุดประสงค์ 3 ประการ คือ คุณภาพ (Quality, Q) ต้นทุน (Cost, C) และทันกำหนดส่ง (Delivery, D) รวมทั้งมีการนำระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9000 และเทคนิคต่าง ๆ ของการจัดการ หรือการบริหารการผลิตอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิต เครื่องจักร วัตถุดิบ เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนกับว่ากำลังไปด้วยดี

.

แต่เมื่อหันมามองในแง่ของการใช้พลังงานอย่างประหยัด ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการลดต้นทุน ยังพบว่ามีความสูญเปล่าต่าง ๆ เกิดขึ้นที่สามารถจัดการได้โดยง่ายแต่ก็ถูกมองข้ามไป เช่น การเปิดไฟส่องสว่างในส่วนที่ได้รับแสงธรรมชาติอย่างพอเพียง การเดินเครื่องตัวเปล่า การใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ที่มีขนาดเกิดความต้องการ มีของเสียเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างไม่ประหยัด

.

ปัญหาที่ตามมา คือ ต้นทุนการผลิตสูงโดยไม่รู้ตัว ความสูญเปล่าเหล่านี้สามารถค้นพบได้ด้วยแนวคิดของ VE ที่ว่า “ประโยชน์การใช้งานที่จำเป็น” ซึ่งเป็นการประยุกต์เทคนิควิศวกรรมคุณค่า มาใช้ในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม และประสบความสำเร็จอย่างสูงจนกระทั่งองค์กรต่าง ๆ ได้นำไปดำเนินการขยายผลในโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าทีมงาน หรือ “คน” ของโรงงานต่าง ๆ นั้นแท้จริงแล้วสามารถวิเคราะห์ปัญหาพลังงานได้ด้วยตนเอง 

.

โดยพิจารณา Function ของ 5 Ms และทีมงานเหล่านี้สามารถใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เทคนิคทางด้านการจัดการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งในปัจจุบันสามารถนำมาใช้ในการจัดการพลังงาน คือ วิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

.

โดยทุ่มเทให้กับการวิเคราะห์ถึงประโยชน์การใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในการใช้งานที่จำเป็นด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่ยังสามารถสนองความพึงพอใจของลูกค้า หรือผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี วิศวกรรมคุณค่าจึงเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีคุณค่า ขณะที่มีต้นทุนการผลิตต่ำลง

.

VE เป็นเครื่องมือที่ดีในการค้นพบปัญหาทางด้านพลังงานและสามารถนำไปสู่กระบวนการคิดแก้ไขปัญหา แต่ในการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานนั้น ยังขาดความรู้ทางด้านวิศวกรรมหรือทางด้านเทคนิคเฉพาะทางมารองรับอยู่บ้าง 

.

รวมทั้งเทคโนโลยีการจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็น ทำให้บางปัญหาที่มีความซับซ้อนสูงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและมีอุปสรรค ดังนั้นการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมหรือเทคนิคควบคู่กับการใช้ VE              

.

โดยมีการสร้างทีมงานประหยัดพลังงานของโรงงานขึ้นมา เพื่อให้เกิดการรวมตัวและสร้างพลังความคิดและผลักดันให้เกิดโครงการ หรือข้อเสนอการประหยัดพลังงานที่มีความชัดเจนและทีมงานเหล่านี้ควรจะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและเทคนิคในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถทำให้เข้าใจและแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีความซับซ้อนมากได้ดีขึ้น

.
ขั้นตอนการนำเทคนิควิศวกรรมคุณค่า (VE) มาใช้ในการกิจกรรมประหยัดพลังงาน 

เมื่อเทคนิควิศวกรรมคุณค่า (VE) คือ การจัดการโดยเน้นที่คนในการดำเนินการซึ่งเป็นแนวคิดเน้น ประโยชน์การใช้งานที่จำเป็น จึงสามารถนำพื้นฐานการจัดการพลังงานมาประยุกต์ใช้โดยมีขั้นตอนการนำเทคนิคการจัดการพลังงาน ด้วยวิศวกรรมคุณค่า (VE) มาใช้ในการกิจกรรมประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้

.
• การผู้บริหารและการจัดตั้งทีมงาน

การนำวิศวกรรมคุณค่า (VE) มาประยุกต์ใช้กับการจัดการพลังงานในโรงงานอุตสากรรม สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของผู้บริหาร เมื่อการจัดการพลังงานเกิดขึ้นในองค์กร ผู้บริหารจะต้องประกาศนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน   

.

ดังตัวอย่างข้างต้น ผู้บริหารต้องสนับสนุนการนำเครื่องมือ VE มาใช้ในกิจกรรมการจัดการพลังงานในโรงงาน โดยจะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการอนุรักษ์พลังงาน  มีการประกาศเจตนารมณ์ด้วยนโยบาย มีการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ด้วยการจัดหาทรัพยากรให้พอเพียงกับการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานได้

.

ในที่นี้ทรัพยากรที่สำคัญก็คือ ความคิดของทีมงานและเวลาที่ทีมงานใช้ไปเพื่อคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานเหล่านี้ล้วนต้องเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การประชุม เป็นต้น ถ้าคิดเป็นจำนวนวัน (Man-days) แล้ว จะทำให้สามารถคำนึงถึงสิ่งที่องค์กรนั้นจะได้รับด้วย นั่นก็คือ เมื่อทำการปรับปรุงแล้วจะต้องเกิดคุณค่า (Value) มาก รวมทั้งอธิบายผลประหยัดควรเป็น 15–30% 

.

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม เพื่อมาเป็นทีมงาน VE นอกจากนี้แล้วยังต้องวางกลไกการบริหารให้ทีมงาน VE รายงานความก้าวหน้า หรือเพื่อให้ผู้บริหารสามารถติดตามความก้าวหน้าได้ การจัดตั้งทีมงาน VE ที่มารองรับการทำงานอย่างครบถ้วน                           

.

ทีมงาน VE จะต้องมีการทำงานที่มากขึ้นกว่าเดิมเพราะปกติแล้ว แต่ละคนย่อมมีหน้าที่ความรับผิดชอบประจำ แต่ให้ระลึกเสมอว่าการทำงานที่ไม่ประสานงานกัน ย่อมทำให้กิจการดำเนินไปอย่างยากลำบาก เช่น ประสบปัญหาต้นทุนสูง การทำงานผิดพลาดอยู่เสมอแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ต้องมีการผิดพลาดซ้ำซาก เป็นต้น 

.

ในการทำงานที่ถูกต้องแล้ว ย่อมต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุง เพื่อให้เกิดผลกำไรและธุรกิจอยู่รอดนั่นเอง ในการประชุมแต่ละครั้งย่อมต้องการความคิดสร้างสรรค์จากการระดมสมอง ถ้าความเห็นนั้นไม่สามารถสรุปได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ก็ย่อมจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม

.

นอกจากนั้น ทีมงาน VE ต้องได้รับการส่งเสริมความรู้แก่ทีมงานเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเข้าใจเกี่ยวกับวิศวกรรมคุณค่าเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ในการสำรวจการใช้พลังงาน 

.

การทำแผนงานอนุรักษ์พลังงานและการปรับปรุงการติดตามผลการปรับปรุงเพื่อการประหยัดพลังงาน เพื่อที่สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้อง โดยการนำฝึกอบรม VE เชิงปฏิบัติการให้แก่ทีมงานของโรงงานหรือสำนักงาน เพื่อปลูกฝังหลักคิดของเทคนิค VE ก่อนการประยุกต์ ณ สถานประกอบการจริงตามขนาดของโรงงาน

.
• การวางแผนงาน 

การดำเนินการจัดการพลังงาน โดยใช้เทคนิค VE การวางแผนการงานการดำเนินกิจกรรมประหยัดพลังงาน โดยใช้เครื่องมือ วิศวกรรมคุณค่า จะต้องมีการวางแผนตามนโยบายพลังงานขององค์กรเป็นหลักเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายการประหยัดพลังงาน 

.
• การสำรวจการใช้พลังงาน 

อย่างไร การดำเนินกิจรรมการจัดการพลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมจะต้อง ในการ จำเป็นต้องมีการดำเนินการตรวจสอบ  และวิเคราะห์หาสภาพการใช้พลังงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของโรงงานที่เรียกว่า Energy Audit เสียก่อน การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานดังกล่าวจะให้ทราบถึงสภาพการใช้พลังงาน และการสูญเสียพลังงานที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปมีการปฏิบัติอยู่ 3 ขั้นตอนคือ

.

1. การตรวจสอบวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น (Preliminary Audit) เป็นการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลด้านการผลิตระบบการใช้พลังงานในปีก่อน ๆ ที่ทางโรงงานจดบันทึกไว้เพื่อทราบปริมาณการใช้พลังงานทุกรูปแบบ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผลผลิตที่ได้ต่อพลังงานที่ใช้ ตัวแปรของการใช้พลังงานในแต่ละช่วงตลอดจนรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

..

2. การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยการสำรวจแผนผังโรงงานเพื่อทราบลักษณะทั่วไปของโรงงาน กระบวนการผลิตและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ พิจารณาบริเวณที่มีการใช้พลังงานสูง ระบบการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ และบริเวณที่เกี่ยวข้อง 

.

ในขั้นตอนต่อมาคือ การเข้าสำรวจในโรงงานเพื่อหาสาเหตุการสูญเสียพลังงาน โดยการสำรวจใช้พลังงานทุกระบบทั้งในช่วงทำการผลิต และช่วงหยุดการผลิต รวมทั้งทำการตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทำให้ได้ข้อมูลสภาพการใช้พลังงานของโรงงานนั้น

.

3. การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานอย่างละเอียด (Detailed Audit) ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น นำข้อมูลมาสร้างรูปแบบการใช้พลังงานว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียด

.

โดยการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่องหรือเป็นช่วงเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้ทราบสภาพการทำงานและวิเคราะห์การสูญเสียพลังงานโดยจัดทำสมดุลพลังงาน เพื่อหาประสิทธิภาพของระบบ และของอุปกรณ์ที่สำคัญ และหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ในแต่ละมาตรการลงทุนเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้

.
• การวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งานที่จำเป็น

ในการวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งานที่จำเป็นของการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงานนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนของการผลิต ซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่ต้องการของแต่ละขั้นตอนการผลิต

.

ทั้งนี้จากในขั้นตอนการสำรวจการใช้พลังงานจะเป็นการทบทวนถึงกิจกรรมที่บริษัทกระทำอยู่ว่ากระบวนการผลิตสามารถผลิตให้ได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสูญเสีย หรือมีความสูญเปล่าเกิดขึ้นหรือไม่เมื่อพบแล้ว ในขั้นตอนต่อไปก็จะต้องทำการวิเคราะห์เพื่อหาวิธีปรับปรุงให้ได้วิธีการที่ดีกว่าเดิม การวิเคราะห์ในที่นี้ก็คือการวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งานที่จำเป็นหรือที่ต้องการของกระบวนการผลิตในขั้นตอนนั้น

.

โดยการวิเคราะห์นี้ มีความต่อเนื่องจากการสำรวจการใช้พลังงานและจำเป็นต้องมีการใช้กิจกรรมอื่นเข้าช่วยได้แก่ การรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การประเมินโครงการ ฯลฯ เป็นรายละเอียดโดยสังเขปของการวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับขั้นตอนต่าง ๆ

.

1)  การศึกษาข้อมูลจากการสำรวจการใช้พลังงานเบื้องต้น และการสำรวจการใช้พลังงานอย่างละเอียดจะเป็นการทบทวนของกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้ทราบถึงขั้นตอนการผลิตที่วิกฤติและมีแนวโน้มที่คาดหวังว่าขยายผล เป็นโครงการเป้าหมายที่สามารถให้ผลประหยัดได้

.

2)  กระบวนการผลิตที่วิกฤติ จะถูกนำมาวิเคราะห์ถึงประโยชน์การใช้งานที่จำเป็นหรือต้องการ รวมทั้งต้นทุนตลอดวงจรชีวิตของกระบวนการผลิตนั้น ซึ่งในขั้นตอนการวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งาน จะต้องผ่านการกำหนดคำจำกัดความของประโยชน์การใช้งาน ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดขั้นตอนการกำหนดคำจำกัดความของประโยชน์การใช้งานในภายหลัง 

.

ส่วนต้นทุนตลอดวงจรชีวิต จะหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้ประโยชน์การใช้งานที่ต้องการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรก ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ในบางครั้งอาจคิดถึงค่าเสื่อมราคา และมูลค่าซากของเครื่องจักร

.

3) การคัดเลือกกระบวนการผลิต เพื่อเป็นโครงการเป้าหมายจะต้องคำนึงถึงคุณค่า โดยกระบวนการผลิตที่มีคุณค่าต่ำ (V=F/C) จะสามารถมีความเป็นไปได้หรือมีแนวโน้มที่จะทำการปรับปรุงให้มีคุณค่าสูงได้ นั่นคือ ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานที่ต้องการนั้น เป็นต้นทุนที่ต่ำลง โดยที่ให้ประโยชน์การใช้งานตามที่ต้องการ

.

การคัดเลือกกระบวนการผลิตที่สมควรทำการวิเคราะห์การใช้งานต่อไปนั้น ควรคำนึงถึงอัตราการประหยัดที่จะได้รับเป็นสำคัญ เพราะมิฉะนั้นแล้วการต้องทุ่มเวลาให้กับการวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งานอาจได้รับผลตอบแทนน้อย      

.

4) เมื่อกระบวนการผลิตได้ผ่านการคัดเลือกมาแล้วจะถูกนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับประโยชน์การใช้งาน ในทางปฏิบัติของการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตที่ทำกันมามักคิดจากกระบวนการผลิตเดิมเป็นฐาน แล้วทำการปรับปรุงในส่วนที่มองเห็นด้วยกันในขณะนั้น ซึ่งก็พบว่าอาจให้ผลการประหยัดได้เช่นกัน แต่แนวคิดของการปรับปรุงจะมีขอบเขตที่จำกัด  

.

ดังนั้นวิธีการปรับปรุงมักจะแคบและมักยึดติดกับวิธีการเดิม แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ โดยคิดจากประโยชน์การใช้งานที่ต้องการเป็นฐานก็จะทำให้ได้วิธีการที่จะบรรลุประโยชน์การใช้พลังงานที่มีอยู่จำนวนมากและถ้าทำการทบทวนให้ดีก็จะได้วิธีการที่ต้นทุนถูกกว่าและตรงกับประโยชน์การใช้งานที่ต้องการได้รวมทั้งขยายผลการปรับปรุงได้

.

ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่การวิเคราะห์เท่านั้น แต่ต้องมีการสังเคราะห์ด้วยโดยการใช้คำถามเป็นแนวทาง นอกจากจะถามหาเพียงว่าสิ่งนั้น (หรือวิธีการ) คืออะไร (หรือวิธีการ) นั้นต้องทำอะไร เป็นต้น ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้นเท่านั้น แต่ควรต้องถามด้วยว่า มีสิ่งนั้น (หรือวิธีการ) อื่นที่สามารถทำงานได้เช่นเดียวกันหรือมีคุณลักษณะ เช่นเดียวกันหรือไม่ 

.
• การนำไปปฏิบัติและการติดตามผล 

การประยุกต์และติดตามผลในขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนการนำไปปฏิบัติและการติดตามผลที่ได้จากโครงการที่นำไปปฏิบัติแล้ว เป็นภาพรวมแสดงขั้นตอนของการประยุกต์และการติดตามผล

.

ในขั้นของการนำโครงการที่ได้ไปปฏิบัติ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งคือ การที่ฝ่ายบริหารควรให้ความสนับสนุน ในขั้นตอนปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงาน ในเรื่องให้ความช่วยเหลือ แก้ข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดเจน และช่วยแก้ปัญหาอาจเกิดในช่วงการนำไปปฏิบัติ การลดการล่าช้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแผนงาน โดยเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ทีมงาน VE ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีเอกสาร คู่มือให้รายละเอียดต่าง ๆ 

.

รวมถึงขอบเขตการเปลี่ยนแปลง พิมพ์เขียว และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกสารนี้จะช่วยให้แนวคิดของทีมงานถูกต้อง ทีมงานจะต้องทบทวนแผนการนำไปปฏิบัติได้และเพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อความหมายและการแปลแนวความคิดของทีมงานถูกต้อง ทีมงานจะต้องทบทวนแผนการนำไปปฏิบัติทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปลงมือปฏิบัติจริง

.

ส่วนการติดตามผลการดำเนินการ ในกิจกรรมจะต้องทำอย่างมีระเบียบ ฝ่ายบริหารต้องดูแลว่าการนำไปปฏิบัตินั้นได้ผลจริง ซึ่งควรต้องมอบหมายให้บุคคลใดบุคลหนึ่งรับผิดชอบที่จะคอยควบคุมให้เป็นไปตามแผนงาน

.

การติดตามจะทำให้สามารถรับผลงานโครงการที่นำไปปฏิบัติได้เรียบร้อยแล้ว สามารถเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับที่คาดหวังไว้ครั้งแรก สรุปผลที่ประหยัดได้จริงส่งรายงานไปยังฝ่ายบริหารเพื่อให้ทราบ เสนอปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งหาทางแก้ไขสำหรับโครงการ VE ที่จะทำต่อไป

.

.

ในการดำเนินการตามแผนและการตรวจสอบผลการดำเนินงานไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ต้องควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีกลไกของการควบคุม ทำให้เกิดการดำเนินตามแผนกลไกของการควบคุมนี้จะเกิดจากการติดตามผลและตรวจสอบผลการดำเนินงานว่า บรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่

.
ข้อมูลอ้างอิง

• กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (2546)  “แนวทางใหม่ในการบริหารจัดการพลังงานในภาคอุตาสาหกรรม” กรุงเทพมหานคร นานาสิ่งพิมพ์
• สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (2545)  “การจัดระบบการจัดการพลังงาน” กรุงเทพมหานคร  อุดมศึกษา
• ศราวณีย์ ศรีเนาวรัตน์ ( 2549 ) “รายงานการศึกษา Small Group Activity สำหรับการจัดการพลังงาน” กรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
• บูรณะศักดิ์ มาดหมาย (2546) "การบริหารการจัดการพลังงาน (Energy Management) แนวทางการคืนทุนให้ธุรกิจ SMEs" For Quality  9, 62 (ธันวาคม): 110-112
• บูรณะศักดิ์ มาดหมาย (2551) "ระบบการจัดการพลังงาน( Energy Management  )ตามแบบ PDCA"  Industrial Technology Review
• บูรณะศักดิ์ มาดหมาย (2553) "ลดต้นทุนพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยวิศวกรรมคุณค่า ( VE )" MM Machine Market Vol6 No01: 64-68
• กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (2548) "รายงานกิจกรรมการศึกษาดูงานและการติดตามความก้าวหน้า โครงการ TEM" (มกราคม)
• ระบบสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (
www.teenet.chula.ac.th)
• วารสารสายใจไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พฤษภาคม 2545
• 
www.thai-interelectric.com
• http://www.projacs.com/

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด